วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๔ MO Memoir : Tuesday 21 December 2553

สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๔

ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์โปรดอวยพรท่านและครอบครัว

มีแต่ความสุข สมปราถนา สุขภาพแข็งแรง ตลอดปีและตลอดไป

คำอวยพรข้างบนผมขอยืมมาจากคำอวยพรที่ "เขา" ส่งมาเป็น SMS ให้ผมเมื่อปีที่แล้วจากเบอร์ 08-1753-7xxx เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๒ พอเอามาใช้ในปีนี้ก็เลยต้องแก้ปีพ.. เป็น ๒๕๕๔ เพื่อให้เข้ากับปัจจุบัน

ผมได้รับส.ค.ส. หรือไม่ก็ SMS จากเขาเป็นประจำ แต่ก็ไม่ได้ส่งกลับไปสักที เพราะไม่รู้ว่าตอนนั้นเขาไปอยู่ที่ไหนของประเทศบ้าง

ปีนี้ผมรู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน แต่ก็คงไม่ได้ส่งการ์ดหรือ SMS ไปให้เขาเหมือนเดิม

ที่นำคำอวยพรดังกล่าวมาส่งต่อให้พวกคุณ เพราะผมเชื่อว่า "เขา" ที่ส่งคำอวยพรดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่ออกมาจากใจของเขาเขียนจริง ๆ ที่อยากให้ทุก ๆ คนมีแต่ความสุข เพราะการกระทำของเขาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว

ท้ายคำอวยพรดังกล่าวลงชื่อ


..ร่มเกล้า ธุวธรรม







(หมายเหตุ : ถ้าหากมีการออก Memoir ใด ๆ นับจากวันนี้ไปจนถึงสิ้นปี จะยังไม่นำขึ้น blog จนกว่าจะพ้นสิ้นปีไปแล้ว เพื่อให้ Memoir ฉบับนี้คงอยู่เป็นหน้าแรกของ blog ไปจนถึงสิ้นปี ๒๕๕๓ นี้)

วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สำนักพระอานนท์ MO Memoir : Saturday 18 December 2553


เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาได้ยินว่ามีหลายคนสงสัยว่าป้าย "ยินดีต้อนรับสู่สำนักพระอานนท์" ที่จู่ ๆ ที่โผล่มาบนบอร์ดของแลปมีที่มาที่ไปอย่างไร

แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับพระอานนท์ก่อนดีไหม

จากหนังสือพระอานนท์ฉบับการ์ตูนของสำนักพิมพ์อมรินทร์คอมมิกส์ พิมพ์ปีพ.ศ. ๒๕๕๐ เล่าไว้ว่า เจ้าชายอานนท์และเจ้าชายสิทธัตถะประสูตรในวันเวลาเดียวกัน ถ้านับลำดับเครือญาติแล้วเจ้าชายอานนท์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับเจ้าชายสิทธัตถะ โดยเจ้าชายอานนท์มีศักดิ์เป็นน้อง

หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ออกบวชและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เจ้าชายอานนท์ก็ได้ออกบวชตาม ต่อมาพระอานนท์ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพระอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า หมายถึงเป็นผู้คอยรับใช้พระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด แต่ก่อนที่พระอานนท์จะรับตำแหน่งดังกล่าวได้ขอพร ๘ ประการจากพระพุทธเจ้า โดยพรข้อที่ ๘ คือ "เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องอะไรในขณะที่ข้าพระองค์ไม่ได้ฟังอยู่ด้วย ขอให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรมนั้นแก่ข้าพระองค์อีกครั้งหนึ่ง"

พระอานนท์ได้รับการยกย่องว่าเป็น "พหูสูตร" คือสามารถจำพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ เรียกว่าอาจารย์พูดอะไรออกไป ลูกศิษย์ก็จำได้หมดทุกตัวอักษร

แต่พระอานนท์ก็ไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์

พระอานนท์ได้อยู่รับใช้พระพุทธเจ้าเป็นเวลาถึง ๒๕ พรรษาจนถึงวันเสด็จดับขันธปรินิพาน

หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพานแล้ว ก็ได้มีการประชุมเพื่อสังคายนาพระธรรมคำสอน ซึ่งในงานดังกล่าวมีการเชิญพระภิกษุสงฆ์ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ถึง ๔๙๙ รูป และพระอานนท์ซึ่งในขณะนั้นยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แต่ได้รับการเสนอชื่อให้เข้าร่วมเนื่องจากเป็น "พหูสูตร"

โชคดีที่พระอานนท์สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในคืนก่อนเริ่มการประชุม

เมื่อบ่ายวันพฤหัส (ที่ ๑๖) ระหว่างเข้าไปนั่งกินกาแฟในห้องพักคนชรา (ห้องปริญญาเอก) ผมได้ยินนิสิตปริญญาเอกรายหนึ่งกำลังให้นิสิตปริญญาเอกอีกรายหนึ่งสอนเรื่องเกี่ยวกับตัวเร่งปฏิกิริยาตระกูลหนึ่งอยู่ ผมก็เลยถามไปว่าทำไมไม่อ่านเอาเองล่ะ เขาก็ตอบกลับมาในทำนองที่ว่าได้ฟังจากผู้รู้ดีกว่าการต้องไปเสียเวลาอ่านเอง ผมก็เลยตอบกลับไปว่าเดี๋ยวนี้เขานิยมเรียนหนังสือกันแบบพระอานนท์ คืออาจารย์สอนอะไรก็จำได้หมดทุกคำพูดทุกตัวอักษร เอาไปเล่าต่อให้คนอื่นฟังได้เป็นฉาก ๆ แต่ก็ไม่เข้าใจในสิ่งที่พูดออกไป ดูเผิน ๆ เหมือนคนพูดจะรู้เรื่องดี แต่ถ้าซักเข้าจริง ๆ ก็จะพบว่าไม่รู้อะไรเลย เหมือนกับพระอานนท์ซึ่งได้อยู่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามากที่สุด จดจำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้ทุกตัวอักษร แต่กว่าจะบรรลุและเข้าใจในคำสั่งสอนนั้นได้ ก็ต้องรอให้อาจารย์ตายก่อน ถ้าคิดเราเรียนหนังสือกันแบบนี้หมดทุกคน ก็ควรเปลี่ยนชื่อจากห้องแลปตัวเร่งปฏิกิริยาเป็นสำนักพระอานนท์


พอเช้าวันรุ่งขึ้นก็มีคนเอาป้ายยินดีต้อนรับเข้าสู่สำนักมาติดให้เห็นเลย ไม่รู้ว่าต้องตั้งให้เป็นตำแหน่งลูกศิษย์อุปัฏฐากของพระอาจารย์หรือเปล่า :)

วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๒ (ตอนที่ ๑๘) MO Memoir : Thursday 16 December 2553

เอกสารนี้แจกจ่ายเป็นการภายในเฉพาะกับสมาชิกของกลุ่ม ไม่นำเนื้อหาลง blog

เนื้อหาในบันทึกนี้เป็นการบันทึกผลการทดลองส่วนหนึ่งของสาวน้อยร้อยห้าสิบเซนติเมตร และแนวทางการทำการทดลองเพื่อเตรียมบทความสำหรับส่งไปร่วมการประชุมวิชาการที่ต้องส่งภายในสิ้นเดือนนี้

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์และคีโตน MO Memoir : Tuesday 14 December 2553

ดูเหมือนว่าจะเป็นเดือนตุลาคม ๒๕๔๔ ที่เกิดการระเบิดขึ้นที่โรงงานผสมสีแห่งหนึ่ง ณ อ.พานทอง จ.ชลบุรี รายละเอียดความเสียหายและสาเหตุที่เป็นข่าวที่พอจะหาได้จาก google ในปัจจุบันได้แสดงไว้ในข่าวข้างล่าง ๒ ข่าว ยังไงก็ลองอ่านดูก่อนก็แล้วกัน


จาก http://www.cabinet.thaigov.go.th/pol44_1106.htm (จากการค้นทาง Google ในวันอาทิตย์ที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๓)

มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๔

เรื่อง รายงานสถานการณ์กรณีเหตุระเบิดโรงงานผสมสี จี เอฟ ประเทศไทย จำกัด อ.พานทอง จ.ชลบุรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์กรณีเหตุระเบิดโรงงานผสมสี จี เอฟ ประเทศไทย จำกัด อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและ สวัสดิการสังคม (นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์) เสนอเพิ่มเติมเกี่ยวกับจำนวนผู้เสียชีวิต ๑๖ คน ผู้บาดเจ็บ ๑๘ คน และบ้านเรือนของประชาชนที่ได้รับความเสียหาย ๑๐๖ หลังคาเรือน รวมทั้งแนวทางปฏิบัติในการป้องกันอุบัติภัย และให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ) เสนอ โดยให้หน่วยงานรับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยกระทรวงกลาโหมต้องเข้มงวดการขออนุญาตนำเข้าเก็บรักษาและใช้สารเคมีตามพระ ราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๓๐ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมต้องควบคุมและลดมลพิษจากสารอันตราย กากของเสีย กระทรวงอุตสาหกรรมเข้มงวดในการขออนุญาตจัดตั้งโรงงาน การควบคุมสารเคมีวัตถุอันตราย และการวางระบบความปลอดภัยและสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญทางสารเคมีเข้าไปร่วมในการ ป้องกันและระงับภัยที่เกิดขึ้น และให้รายงานคณะรัฐมนตรีทราบด้วย ทั้งนี้ ให้ตรวจสอบกฎหมายด้วย หากกฎหมายฉบับใดมีช่องโหว่ ให้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมด้วย นอกจากนี้ โดยที่กระทรวงแรงงาน ฯ เคยตั้งอาสาสมัครแรงงานในการตรวจสอบสถานประกอบการ ซึ่งการดำเนินงานได้ผลเป็นอย่างดี ขอให้กระทรวงแรงงาน ฯ ได้พิจารณาทบทวนเรื่องนี้ด้วย


จาก http://www.teenet.chula.ac.th/forum/allmsg.asp?ID=565 (จากการค้นทาง Google ในวันอาทิตย์ที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๓)

เนื้อหา : จากการสรุปรายงานเหตุการณ์ระเบิดของโรงงานผสมสี บริษัท จี เอฟ (ประเทศไทย) จำกัด ของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดชลบุรี สรุปว่า เพลิงได้ลุกไห้มโรงงานทั้ง 3โรง และขณะเกิดเหตุมีลูกจ้างมาทำงานทั้งสิ้น 23 คน เป็นลูกจ้างสัญชาติพม่า 1คน สัญชาติไทย 22 คน ในเบื้องต้นมีผู้ประสบเหตุทั้งสิ้น 43 คน ได้รับบาดเจ็บ 23 คน เสียชีวิต 13 คน และสูญหาย 8 คน

รายงานข่าวแจ้งว่า นายสวัสดิ์ ลิขิตประยูรพงศ์ หัวหน้าฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ทำหนังสือรายงานการตรวจสอบโรงงาน จี เอฟ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2544 ถึงอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (นายวิระ มาวิจักขณ์) สรุปผลการตรวจสอบ ว่า บริเวณที่คาดว่าเป็นจุดเกิดเหตุระเบิด ปรากฏหลุมขนาดกว้างประมาณ 10-12 เมตร ลึกประมาณ 4-5 เมตร ในอาคาร 3 ที่ทางโรงงานต่อเติมขึ้นมาใหม่จากเดิมที่ได้รับใบอนุญาต ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 13 ราย บาดเจ็บ 19 ราย

สาเหตุการระเบิดคาดว่า จะเกิดจากการประกอบกิจการผสมสารเคมี 2 ชนิด อันได้แก่ Methyl Ethyl Ketone กับ Hydrogen Peroxide เนื่องจากตรวจพบภาชนะบรรจุสารทั้งสองชนิดแยกจากกันเป็นสัดส่วน ซึ่งจากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญ ทราบว่าหากมีการผสมสารทั้งสองชนิดในอัตราส่วนของ Hydrogen Peroxide เกิน 10% โดยน้ำหนักแล้วจะเกิดปฏิกิริยาระเบิดได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ตามปกติสารผสมทั้งสองชนิดมีจำหน่าย แต่กรณีนี้คาดว่าผู้ประกอบการจะดำเนินการผสมเอง โดยใช้คนงานที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้สารผสมทั้งสองชนิด ดังกล่าว


ใน Memoir ฉบับวันจันทร์ที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๓ (ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๐๕) เรื่อง "เมื่อขวดทิ้งสารระเบิด" ผมก็ได้เล่าเรื่องและแนบภาพที่เกิดเหตุที่สงสัยกันว่าน่าจะเกิดจากการผสมกันระหว่าง H2O2 กับสารอินทรีย์บางชนิดที่มีการนำไปทิ้งในขวดทิ้ง waste โชคดีที่ครั้งนั้นความเสียหายจำกัดอยู่เพียงแค่สิ่งของเท่านั้น ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ

ใน Memoir ฉบับวันพุธที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๒ (ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๕๙) เรื่อง "ปฏิกิริยาการออกซิไดซ์" ผมก็ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า "ปฏิกิริยาการออกซิไดซ์" ที่ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่ามีความหมายอย่างไรก่อนที่จะไปอ่านตำราเคมีอินทรีย์ ซึ่งคำว่า "ถูกออกซิไดซ์ได้" ตามความหมายของเคมีอินทรีย์นั้นจะหมายความว่า "กลายไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนออกซิเจนในโมเลกุลสูงขึ้น (เช่นจากอัลดีไฮด์ไปเป็นกรดคาร์บอกซิลก) หรือมีสัดส่วนไฮโดรเจนในโมเลกุลลดลง (เช่นจากแอลกอฮอล์ไปเป็นอัลดีไฮด์หรือคีโตน) โดยที่ "จำนวนอะตอมคาร์บอนในผลิตภัณฑ์ที่ได้ยังคงเท่าเดิม" (ไม่มีการตัดโมเลกุลสารตั้งต้นออกเป็นโมเลกุลที่เล็กลง)

เวลาที่เราเรียนเคมีอินทรีย์นั้น เราได้เรียนกันว่า primary alcohol ถูกออกซิไดซ์ไปเป็น aldehyde secondary alcohol ถูกออกซิไดซ์ไปเป็น ketone และ primary alcohol ไม่ถูกออกซิไดซ์ aldehye ถูกออกซิไดซ์ไปเป็น carboxylic acid แต่ ketone ไม่ถูกออกซิไดซ์ ฯลฯ แต่ก็มีปฏิกิริยาอีกประเภทหนึ่งที่จัดว่าเป็นปฏิกิริยาการออกซิไดซ์ แต่ไม่ (หรือแทบไม่) ปรากฏอยู่ในตำราเคมีอินทรีย์เลยคือปฏิกิริยาการออกซิไดซ์ไปเป็นสารประกอบ "เปอร์ออกไซด์"

สารประกอบ อีเทอร์ คีโตน และหมู่คาร์บอกซิลนั้นสามารถถูกออกซิไดซ์ต่อไปเป็นสารประกอบเปอร์ออกไซด์ได้ ปฏิกิริยาการออกซิไดซ์อีเทอร์ไปเป็นสารประกอบเปอร์ออกไซด์มักมีปรากฏในตำราเคมีอินทรีย์ เพราะอีเทอร์สามารถทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศกลายเป็นสารประกอบเปอร์ออกไซด์ที่ไม่เสถียรและระเบิดได้ เรื่องนี้จึงมักปรากฏในเรื่องข้อควรระวังในการใช้และเก็บรักษาอีเทอร์ ส่วนปฏิกิริยาการออกซิไดซ์คีโตนหรือหมู่คาร์บอกซิลไปเป็นคีโตนเปอร์ออกไซด์หรือกรดเปอร์ออกไซด์นั้นมักไม่ถูกกล่าวไว้ในตำราเคมีอินทรีย์ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะปฏิกิริยาดังกล่าวไม่ได้มีใช้กันกว้างขวาง หรือในการเกิดปฏิกิริยานั้นต้องมีตัวออกซิไดซ์ตัวหนึ่งเข้ามาร่วมวง ซึ่งตัวออกซิไดซ์ตัวนั้นก็คือ H2O2 Memoir ฉบับนี้ก็เลยถือโอกาสแนะนำให้รู้จักกับสารประกอบคีโตนเปอร์ออกไซด์สัก ๒ ตัว โดยตัวแรกเป็นตัวที่คาดว่าทำให้เกิดการระเบิดที่โรงงานตามข่าวข้างต้น ส่วนตัวที่สองยังสงสัยอยู่ว่าจะเกี่ยวข้องกับการระเบิดที่เล่าไว้ใน Memoir ฉบับที่ ๒๐๕ หรือเปล่า


Methyl ethyl ketone peroxide (จาก http://en.wikipedia.org)

ในเว็บของ wikipedia ให้คำอธิบายสาร Methyl ethyl ketone peroxide (MEKP) ไว้แค่ประมาณ ๑๐ บรรทัดเท่านั้น โดยบอกว่าเป็นวัตถุระเบิดแรงสูงเช่นเดียวกันกับ Acetone peroxide ความเร็วในการระเบิดอยู่ที่ประมาณ ๕๒๐๐ เมตรต่อวินาที (ความเร็วเสียงอยู่ที่ประมาณ ๓๓๐ เมตรต่อวินาที) MEKP มีลักษณะเป็นของเหลวคล้ายน้ำมันที่ไม่มีสี สารละลายเจือจางร้อยละ ๓๐-๖๐ ใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในการพอลิเมอร์ไรซ์พอลิเอสเทอร์เรซิน (แต่ผมคิดว่ามันน่าจะเป็น initiator มากกว่าเป็น catalyst)


รูปที่ ๑ รูปโมเลกุล Methyl Ethyl Ketone peroxide ซึ่งดาวน์โหลดมากจาก http://commons.wikimedia.org/wiki/ File:Methyl-ethyl-ketone-peroxide-2D-skeletal.png แต่ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไปพอจะเข้าไปที่หน้านี้ก็พบข้อความว่า "ขออภัยในความไม่สะดวก กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้มีคำสั่งให้ระงับการเผยแพร่เว็บไซด์ที่ท่านต้องการเข้าชม เนื่องจากมีรูปภาพ ข้อความ และ เนื้อหาบางส่วนที่ไม่เหมาะสม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โทร 0 2141 6950" ทั้ง ๆ ที่ยังสามารถเข้าชมหน้าของ Methyl Ethyl Ketone peroxide ได้ตามปรกติ


Acetone peroxide (จาก http://en.wikipedia.org)

Acetone peroxide เป็นวัตถุระเบิดแรงสูงตัวหนึ่งที่เตรียมได้จากปฏิกิริยาระหว่าง acetone กับ H2O2 โดยมีกรดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา สารนี้ว่องไวต่อความร้อน แรงขัดสี และแรงกระแทก ในเว็บของ wikipedia นั้นได้ให้ข้อมูลของสารนี้เอาไว้ยาวทั้งนี้อาจเป็นเพราะมีการสังเคราะห์ขึ้นและนำไปใช้ในทางที่ผิดกันมาก ตัวอย่างกลไกการสังเคราะห์สารนี้ได้แสดงไว้ในรูปที่ ๒ ในหน้าถัดไป

รูปที่ ๒ ภาพกลไกการเกิด Actone peroxide ที่มีเผยแพร่ใน http://www.sciencemadness.org หัวข้อ Peroxide Water gel โครงสร้างที่เป็น trimer ถูก "เชื่อกันว่า" เป็นโครงสร้างที่เสถียรกว่าโครงสร้างอื่น (แต่อย่าลองเล่นเป็นดีที่สุด)


สารตัวนี้ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุระเบิดในการก่อการร้ายหลายครั้ง อาจเป็นเพราะการที่มันสามารถเตรียมได้ง่าย และการที่ไม่มีไนโตรเจนเป็นสารประกอบอยู่ในโมเลกุล ทำให้สามารถผ่านการตรวจของเครื่องตรวจระเบิดที่ใช้หลักการวัดการมีอยู่ของธาตุไนโตรเจนไปได้ (วัตถุระเบิดส่วนใหญ่จะมีไนโตรเจนอยู่ในรูปของหมู่ไนเทรตหรือไนโตร ซึ่งเป็นหมู่ที่จ่ายออกซิเจนให้กับการเผาไหม้)


ผมยกเรื่องนี้มาก็เพราะว่าในแลปเราเคยมีคนทดลองผสม acetone กับ H2O2 ในภาวะที่มีกรดร่วมอยู่ด้วย ซึ่งยังคงสงสัยอยู่ว่าจะเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ที่เล่าไว้ใน memoir ฉบับที่ ๒๐๕ หรือเปล่า แต่เหตุการณ์ในครั้งนั้นมีแต่แรงดันเพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่มีการเกิดเพลิงไหม้แต่อย่างใด (แต่ที่ไม่มีไฟไหม้ก็อาจเป็นเพราะว่าขวดทิ้งสารขวดนั้นบรรจุของเสียที่เป็นสารละลายในน้ำ จึงทำให้ไม่เกิดการลุกไหม้) จึงทำให้ไม่สามารถตัดประเด็นที่ว่า H2O2 สลายตัวกลายเป็นแก๊สสะสมอยู่ในขวดที่ปิดฝาแน่น (ตรงนี้ยังคงสงสัยอยู่ว่าขวดนั้นปิดฝาแน่นหรือไม่) เมื่อขวดรับแรงดันไม่ได้ก็เลยระเบิดออก

นอกจากนี้ในการทดลองดังกล่าวก็มีการเติม Fe2+ เข้าไปในสารละลาย H2O2 ด้วย สารละลาย H2O2 ที่มี Fe2+ ละลายอยู่มีชื่อว่า Fenton's reagent ในสารละลายนี้ไอออนของเหล็กและ H2O2 จะทำปฏิกิริยากันได้ hydroxyl radical (HO·) และ peroxide radical (HOO·) ดังสมการ

Fe2+ + H2O2 ---> Fe3+ + HO· + OH-

Fe3+ + H2O2 ---> Fe2+ + HOO· + H+

อนุมูลอิสระทั้งสองต่างเป็นตัวออกซิไดซ์ที่แรงที่สามารถทำปฏิกิริยากับสารอินทรีย์ตัวอื่นได้อีก ส่วนจะเกิดอะไรนั้นก็ไม่สามารถบอกได้ เพราะไม่รู้ว่ามีการทิ้งสารอะไรลงไปในขวดนั้นบ้าง

เว็บ wikipedia นั้นรวมรวมความรู้ต่าง ๆ เอาไว้เยอะ แต่เวลาอ่านก็ต้องระวังบ้างเหมือนกัน เพราะข้อมูลในเว็บสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ที่สำคัญคือโดยใครก็ได้ และเราก็ไม่รู้ว่าคนเขียนเนื้อหานั้นเป็นใคร เชื่อถือได้แค่ไหน ดังนั้นถ้าจะนำเอาข้อมูลใด ๆ จากเว็บ wikipedia ไปใช้ก็ควรที่จะตามไปให้ถึงต้นตอของข้อมูลที่ wikipedia ไปคัดลอกมา เพื่อเป็นการยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวมีความถูกต้อง


ส่วนที่ว่าใครเป็นคนทำการทดลองที่มีการผสม acetone กับ H2O2 และมีการใช้ Fe2+ ด้วยนั้น ลงไปค้นหาวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในหัวข้อ "Liquid phase hydroxylation of benzene by hydrogen peroxide over V, Fe, Cu on support and reaction-extraction-regeneration system of phenol production" ก็จะรู้เอง

วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๒ (ตอนที่ ๑๗) MO Memoir : Saturday 11 December 2553

เอกสารนี้แจกจ่ายเป็นการภายในเฉพาะกับสมาชิกของกลุ่ม ไม่นำเนื้อหาลง blog

เนื้อหาในบันทึกนี้เป็นการบันทึกผลการทดลองของสาวน้อยผมยาวจากนราธิวาสเรื่องการละลายของโทลูอีนเข้าไปในเฟสน้ำ ที่ส่งผลมาให้ผมเมื่อเย็นวานนี้ ส่วนผมพึ่งจะเปิดเมล์อ่านในเช้าวันนี้

เนื้อหาเป็นตอนต่อจาก Memoir ฉบับเมื่อวาน (ตอนที่ ๑๖)

วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๒ (ตอนที่ ๑๖) MO Memoir : Friday 10 December 2553

เอกสารนี้เผยแพร่ลงใน Blog ด้วยเนื่องจากเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นที่ผ่านเข้ามาเห็นด้วย

เนื้อหาในบันทึกนี้เป็นการบันทึกความก้าวหน้าในการทำงานในช่วงวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

ใน Memoir ฉบับวันอังคารที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เรื่อง "ควรใช้สารตัวอย่างในปริมาณเท่าใด" ผมได้กล่าวถึงปัญหาในการทำการทดลอง "ที่ไม่ได้มีการระบุรายละเอียดวิธีการ" เอาไว้ครั้งหนึ่งแล้ว ประสบการณ์ที่ผ่านมานั้นอาจทำให้กล่าวได้ว่านิสิต "ทุกคน" ไม่เคยมีประสบการณ์ทำการทดลองที่ต้องออกแบบการทดลองด้วยตนเอง แม้ว่านิสิตเหล่านั้นจะเคยเข้าค่ายวิชาการต่าง ๆ (เช่นโอลิมปิกวิชาการ) พอมาเจอเข้ากับการทดลองที่ต้องหาเทคนิคการทดลองด้วยตนเองก็เลยทำการทดลองต่อไปไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไรดี

ในการทดลองหาอัตราเร็วในการละลายน้ำของเบนซีน (ซึ่งเป็นงานของสาวน้อยหน้าใสจากบางละมุง) และของโทลูอีน (ซึ่งเป็นงานของสาวน้อยผมยาวจากนราธิวาส) นั้นมีปัญหาอยู่อย่างหนึ่งคือไม่รู้ว่าต้องเก็บตัวอย่างบ่อยครั้งแค่ไหน และต้องทำการทดลองไปนานสักเท่าใด ผลการทดลองของสาวน้อยหน้าใสจากบางละมุง (ซึ่งต้องทำการทดลองใหม่นั้น) ผมได้ให้ดูไปแล้วใน Memoir ฉบับที่แล้ว (พุธ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓) ฉบับนี้ก็เลยเอาของสาวน้อยผมยาวจากนราธิวาสที่พึ่งจะได้รับมาเมื่อเช้ามาให้ดูกันดังแสดงในรูปข้างล่าง


รูปที่ ๑ ผลการทดลองของสาวน้อยผมยาวจากนราธิวาส จุดสีแดงคือข้อมูลที่ได้จากการทดลอง ส่วนเส้นสีเขียวคือเส้นแนวโน้มผลการทดลอง

ก่อนที่จะเริ่มทำการทดลองนั้นสิ่งแรกที่เราต้อง "ประมาณ" ให้ได้ก่อนคือควรเก็บตัวอย่างบ่อยครั้งเท่าใด สิ่งที่ผมบอกไปคือในช่วงแรกคงต้องเก็บบ่อยครั้ง (ทุก ๑ ๒ ๓ หรือ ๕ นาทีก็ตามแต่) เพราะเราคาดไว้ว่าในช่วงแรกไฮโดรคาร์บอนคงจะละลายเข้ามาในชั้นน้ำได้เร็ว จากนั้นจึงค่อยทิ้งระยะห่างในการเก็บให้นานขึ้น (เช่นเป็น ๕ ๑๐ ๒๐ หรือ ๓๐ นาทีก็ตามแต่) คำถามก็คือ "แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าควรเก็บตัวอย่างบ่อยครั้งเป็นเวลานานเท่าใด และเมื่อไรจึงค่อยปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ แล้วค่อยเก็บตัวอย่าง"

คำตอบก็คือ "ให้เขียนกราฟผลการวิเคราะห์กับเวลาไปพร้อม ๆ กันกันเวลาที่ทำการทดลอง"

ข้อแนะนำข้อหนึ่งของผมที่มักจะไม่ได้รับการปฏิบัติ (ไม่ว่าจะรุ่นไหนก็ตาม) จนดูเหมือนเป็นเรื่องปรกติคือ "ให้ทำการวิเคราะห์ผลการทดลองไปพร้อม ๆ กับการทำการทดลอง ไม่ใช่ทำการทดลองให้เสร็จก่อนแล้วค่อยเอาผลมาวิเคราะห์" เคยมีเหตุการณ์ที่นิสิตปริญญาเอกรายหนึ่งอดหลับอดนอนทำการทดลองเป็นเดือน โดยเก็บผลการทดลองเอาไว้เยอะ ๆ พอคิดว่าทำการทดลองครบทุกพารามิเตอร์แล้วก็เอาผลการทดลองมาคำนวณ ซึ่งผมดูผลไม่ถึง ๕ วินาทีก็บอกเขาไปเลยว่าผลการทดลองของ "ผิด" ทั้งหมด

ในการทดลองของเรานั้นเนื่องจากต้องรอผลการวิเคราะห์จาก GC เราจึงจำเป็นต้องหาวิธีเก็บตัวอย่างโดยไม่ให้ตัวอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลงระหว่างการเก็บ (ซึ่งเราก็ได้ทำไปแล้วโดยการเก็บตัวอย่างเอาไว้ในเข็มฉีดยา) แต่เมื่อได้ผลการวิเคราะห์ออกมาเรื่อย ๆ ก็ควรที่จะนำผลการวิเคราะห์นั้นมาเขียนกราฟพื้นที่พีคกับเวลา ส่วนกราฟจะออกมาเป็นรูปใดนั้น "อย่าไปดูเส้นเชื่อมระหว่างจุด" แต่ให้ "ดูเส้นที่ลากแล้วออกมาดูเข้าได้กับจุดข้อมูลมากที่สุด" ซึ่งก็คือเส้นแนวโน้มนั่นเอง

จากผลการทดลองของสาวน้อยผมยาวจากนราธิวาสที่แสดงด้วยจุดสีแดงในรูปที่ ๑ นั้นจะเห็นได้ว่าปริมาณโทลู อีนที่ละลายในเฟสน้ำค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นจนเกือบอิ่มตัวเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ ๑๒๐ นาที ถ้าดูที่เส้นแนวโน้ม (เส้นสีเขียว) ที่ผมลากขึ้นก็จะดูเหมือนว่าพอพ้น ๑๒๐ นาทีไปแล้วก็ละลายเข้าไปในน้ำจนอิ่มตัวแล้ว แต่ที่ผมไม่ชอบคือจุดข้อมูล ๓ จุดสุดท้าย (ที่เวลา ๑๓๐ ๑๕๐ และ ๑๗๐ นาที) มีลักษณะที่ตกลงตลอด ซึ่งอาจทำให้คิดไปได้ว่าความเข้มข้นของโทลูอีนในน้ำนั้นลดลง ซึ่งถ้าหากความเข้มข้นคงที่แล้ว เมื่อทำการฉีดตัวอย่างที่เก็บจากเวลานานกว่า ๑๒๐ นาทีก็ควรที่จะเห็นจุดพื้นที่พีคที่วัดได้นั้นจะขึ้นบ้างลงบ้างอยู่รอบ ๆ ค่า ๆ หนึ่ง (ผมไม่ได้บอกว่าต้องคงที่นะ เพราะมันทำไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าดูจากค่าเฉลี่ยก็จะเห็นว่าคงที่)

ผลการทดลองตามรูปที่ ๑ นั้นผมเห็นว่าถ้าหากทำการทดลองต่อไปอีกสัก ๖๐ นาที (วัดอีก ๒ จุด ห่างกันจุดละ ๓๐ นาที) ก็จะสามารถยืนยันได้เลยว่าโทลูอีนละลายเข้าไปในน้ำจนอิ่มตัวแล้วหรือยัง และความเข้มข้นที่อิ่มตัวนั้นเท่ากับเท่าใด เพราะพอมีจุดข้อมูลมากขึ้นเราก็จะสามารถลากเส้นแนวโน้มได้ดีขึ้น (จากจุดข้อมูลที่มีอยู่นั้นถ้าลากเส้นแนวโน้มโดยให้โปรแกรม Excel ลากเส้น Exponential ก็จะเห็นว่าเส้นที่ลากนั้นไม่ค่อยเข้ากับจุดข้อมูลเท่าใดนั้น ส่วนที่ว่าทำไปมันควรต้องเป็นเส้น Exponential นั้นไม่ทราบว่าพวกคุณพอจะบอกได้ไหม ฝากไปคิดกันเล่น ๆ ก่อนก็แล้วกัน) ผมก็เลยบอกให้เขาไปทดลองทำมาใหม่อีกครั้ง (ซึ่งหมายถึงต้องเสียเวลาอีก ๕-๖ ชั่วโมงเพราะต้องรวมเวลาในการเปิด-ปิดเครื่อง GC ด้วย) ซึ่งถ้าหากเขาวิเคราะห์ผลไประหว่างทำการทดลอง หรือติดต่อให้ผมช่วยดูผลการทดลองให้ก่อนที่จะยุติการทดลอง เขาก็คงจะเสียเวลาเพิ่มอีก ๑ ชั่วโมงแค่นั้น

พวกคุณต่างก็รู้ว่าผมมีสอนเวลาไหนบ้าง ดังนั้นถ้ามีผลการทดลองเมื่อใดก็ไม่ต้องรอวันประชุม (ซึ่งเราไม่มีการประชุมเหมือนบางกลุ่มที่เขาประชุมทุกสัปดาห์ และจะนั่งดูผลการทดลองเฉพาะในวันประชุมเท่านั้น) พยายามหาโอกาสพบผมให้ได้ ไม่ต้องรอให้ผมเดินมาที่แลป เดินไปหาผมที่ห้องทำงานก็ได้ หรือไม่อย่างน้อยถ้าผมกลับบ้านไปแล้วก็ส่งอีเมล์ให้ผม หรือไม่ก็ก่อนที่จะปิดเครื่องต่าง ๆ นั้นควรที่จะหาโอกาสรายงานผลให้ผมดูก่อน เพราะบ่อยครั้งที่ผมพบว่าผลการทดลองนั้นมีปัญหา แต่ยังสามารถแก้ไขได้โดยทำการวิเคราะห์ซ้ำ แต่กลับได้รับคำตอบว่าปิดเครื่องมือไปแล้ว

ถ้าทำตามสิ่งที่แนะนำไปนี้ ปัญหาเรื่องการที่พวกคุณต้องกลับมาทำการทดลองซ้ำก็จะลดน้อยลงไป

วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๒ (ตอนที่ ๑๕) MO Memoir : Wednesday 8 December 2553

เอกสารนี้แจกจ่ายเป็นการภายในเฉพาะกับสมาชิกของกลุ่ม ไม่นำเนื้อหาลง blog

เนื้อหาในบันทึกนี้เป็นการบันทึกความก้าวหน้าในการทำงานในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553

in situ MO Memoir : Wednesday 1 December 2553

พจนานุกรม Oxford Advanced Learner's Dictionary ของสำนักพิมพ์ Oxford University press พิมพ์ปีค.ศ. ๑๙๙๑ ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า "in situ" ไว้ดังนี้

in situ (Latin) = in its original or proper place

ส่วนพจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ของศ.ดร.วิทย์ ได้ให้คำแปลไว้ดังนี้

in situ (อ่าน อินไซ'ทู) (adv) (ลาติน) ในแหล่งแรกเริ่ม, ในจุดแรกเริ่ม


การวิเคราะห์ทางเคมีนั้นอาจแบ่งออกไปเป็น ๓ รูปแบบคือ (๑) off-line (๒) on-line และ (๓) in situ

ตัวอย่างเช่นในระหว่างการทำปฏิกิริยาเคมี และเราต้องการทราบปริมาณผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้น

ถ้าเราเก็บตัวอย่างออกมาจากระบบ และนำตัวอย่างที่เก็บมานั้นส่งไปวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการ (ซึ่งตัวอย่างอาจต้องไปตั้งรอเวลาตรวจ) การวิเคราะห์แบบนี้ก็เป็นแบบ off line

แต่ถ้าเราต่อท่อจากระบบส่งตัวอย่างตรงเข้าไปยังเครื่องมือวิเคราะห์เลย เช่นต่อท่อแก๊สด้านขาออกจากเครื่องปฏิกรณ์ตรงเข้าไปยังเครื่อง GC ซึ่งเมื่อป้อนตัวอย่างเข้าเครื่องวิเคราะห์แล้ว ก็ต้องรอผลการวิเคราะห์เป็นช่วงเวลาหนึ่งกว่าจะทราบผล การวิเคราะห์แบบนี้ก็เป็นแบบ on-line (ยังมี delay time ในการวิเคราะห์)

แต่ถ้าเราสามารถวัดปริมาณผลิตภัณฑ์ได้โดยที่ไม่ต้องเสียเวลารอ เช่นเราอาจต่อท่อป้อนสารตัวอย่างเข้า cell ที่มีแสง UV หรือ IR ส่องผ่าน โดยเลือกวัดในช่วงความยาวคลื่นที่แสงต้องการวัดนั้นดูดกลืน เราจะสามารถทราบปริมาณผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นได้ทันทีโดยดูจากปริมาณการดูดกลืนคลื่นแสงในช่วงความยาวคลื่นที่เลือก ซึ่งไม่มี delay time ในการรอผลการวิเคราะห์ การวัดแบบนี้ก็เป็นแบบ in situ


ถ้าเราเอาตัวอย่างตัวเร่งปฏิกิริยาไปวัดพื้นที่ผิว การวัดนั้นก็เป็นการวัดคุณสมบัติอย่างหนึ่งของตัวเร่งปฏิกิริยานั้น ไม่ได้เป็นการวัดแบบ in situ

ถ้าเราเอาตัวอย่างตัวเร่งปฏิกิริยาไปวัดการดูดกลืนรังสีอินฟราเรดเพื่อดูหมู่ฟังก์ชันบนพื้นผิว การวัดนั้นก็เป็นการวัดคุณสมบัติอย่างหนึ่งของตัวเร่งปฏิกิริยาเช่นเดียวกัน ไม่ได้เป็นการวัดแบบ in situ

ถ้าเราเอาแก๊สบางชนิด (เช่นแอมมอเนียหรือไพริดีน) ให้ตัวเร่งปฏิกิริยาดูดซับเอาไว้ และวัดรูปแบบการสั่นของโมเลกุลแก๊สเพื่อตรวจสอบว่ากรดบนพื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยาเป็นกรดชนิดใด (บรอนสเตดหรือลิวอิส) การวัดนั้นก็เป็นการวัดคุณสมบัติอย่างหนึ่งของตัวเร่งปฏิกิริยาเช่นเดียวกัน ไม่ได้เป็นการวัดแบบ in situ

แต่ถ้าเราผ่านสารตั้งต้นไปบนพื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยา แล้วใช้การดูดกลืนรังสีอินฟราเรดติดตามว่าในระหว่างการเกิดปฏิกิริยาบนพื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยานั้น มีพันธะไหนบ้างถูกทำลาย และมีการสร้างพันธะใดบ้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นการติดตามการเปลี่ยนแปลงในขณะที่เกิดปฏิกิริยา การวัดนั้นเป็นแบบ in situ


ในแลปของเรานั้นมีอุปกรณ์ที่สามารถติดตามการเกิดปฏิกิริยาแบบ in situ ได้ แต่ไม่เคยมีใครทดลองวัดในรูปแบบดังกล่าว ทั้งนี้เป็นเพราะต้องมีการเตรียมตัวอย่างและระบบให้เหมาะสมกับตัวอย่างและปฏิกิริยาของแต่ละคน แต่ที่ผ่านมานั้นพอบอกว่าต้องหาภาวะการวัดที่เหมาะสมกับตัวอย่างของตัวเอง (ซึ่งต้องเสียเวลาในการหาภาวะนั้น ซึ่งอาจเป็นหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน) ต่างก็หลีกเลี่ยงที่จะทำ คิดเพียงอย่างเดียวว่ารอให้คนอื่นมาทำก่อน ระหว่างนี้ก็เอาเวลาไปทำอย่างอื่นก่อน พอมีใครสักคนรู้ว่าต้องทำการวิเคราะห์ที่ภาวะใด ก็จะได้นำข้อมูลของคน ๆ นั้นมาใช้เลย โดยที่ตัวเองไม่ต้องเหนื่อยกับการค้นหา ที่ผ่านมาจึงทำการวิเคราะห์เพียงแค่ชนิดของตำแหน่งที่เป็นกรด-เบส (แบบบรอนสเตดหรือลิวอิส) บนพื้นผิว


มีอยู่ช่วงหนึ่งมีนิสิตกลุ่มหนึ่งได้รับคำสั่งจากอาจารย์ให้ทำการวิเคราะห์ความเป็นกรดของพื้นผิวด้วยเครื่องมือดังกล่าว นิสิตกลุ่มนั้นเลยติดต่อรุ่นพี่ที่จบไป ๑๐ ปีก่อนหน้านั้น (เขาเป็นคนแรกที่ใช้เทคนิคนี้ในการวิเคราะห์และทำให้เทคนิคนี้ใช้งานได้จริงในห้องแลป) ขอให้มาช่วยสอน ผมมารู้เรื่องตอนที่เห็นรุ่นพี่คนนั้นเขามาที่แลป ก็เลยถามเขาว่ามาทำอะไรหรือ เขาก็ตอบว่ารุ่นน้องขอให้มาสอนการใช้เครื่องมือ ผมก็รู้สึกแปลกใจ แต่ก็ไม่ว่าอะไร

ที่รู้สึกแปลกก็เพราะว่าผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษารุ่นพี่คนนั้น เป็นคนควบคุมการทำวิทยานิพนธ์ของเขา และเป็นคนที่ออกแบบและคุมการประกอบเครื่องมือดังกล่าวกับนิสิตอีกคนหนึ่งก่อนหน้า แต่แทนที่นิสิตปัจจุบันในแลปจะมาถามผม (คงกลัวผมมั้ง) กลับไปโทรเรียกรุ่นพี่ที่จบไปนานแล้วให้มาอธิบาย ซึ่งเขาเองก็จำไม่ได้เหมือนกันว่าต้องทำอย่างไรบ้าง

ไป ๆ มา ๆ ก็มีรายการมาขอให้ผมอธิบายวิธีใช้ให้ฟัง ผมก็อธิบายจบภายในไม่ถึง ๕ นาที ก็รายละเอียดมันมีอยู่แค่นั้นจริง ๆ พอถึงเรื่องการเตรียมตัวอย่าง ผมก็บอกว่าต้องมาทดลองทำเอง ของใครของมัน จะลอกวิธีการกันไม่ได้ และการเตรียมนั้นเป็นศิลป ไม่ใช่ศาสตร์ มันเหมือนกับการที่ยืนดูอาจารย์ศิลปสอนวาดรูป ซึ่งถ้านิสิตไม่ลงมือทำเองก็จะวาดรูปออกมาได้เหมือนอาจารย์ได้อย่างไร ผลก็คือนิสิตเหล่านั้นก็หายหัวไปหมด

เรื่องนี้เข้าที่ประชุมอาจารย์ มีคนถามผมว่าเรื่องเป็นอย่างไรบ้าง ผมก็ตอบกลับไปว่าไม่เห็นมีใครเดือดร้อนต้องใช้นี่ เพราะบอกไปแล้วว่าถ้าใครอยากใช้ก็ให้มาหา จะสอนให้ แต่ดูเหมือนนิสิตเหล่านั้นไม่ต้องการทำเอง ต้องการให้คนอื่นทำให้ (ผมเป็นอาจารย์พวกเขานะ มีหน้าที่สอนพวกเขาทำแลป ไม่ใช่ลูกจ้างทำแลปให้พวกเขา แล้วเรื่องอะไรจะต้องไปอาสาทำให้ คำขอบคุณสักคำก็ไม่คาดว่าจะได้) ผมก็บอกต่อไปว่าตอนนี้นิสิตทุกคนในกลุ่มนั้นก็ต่างดำน้ำแข่งกันอยู่ ต่างคนต่างก็ไปทำอย่างอื่นแทนก่อน เพราะไม่มีใครยอมเสียเวลามาจัดการปรับตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว เพราะหมายถึงไม่มีผลแลปส่งให้อาจารย์ที่ปรึกษาอย่างน้อยก็ ๒-๓ สัปดาห์ ซึ่งนิสิตรู้ว่าสัปดาห์ไหนถ้าไม่มีผลแลปให้อาจารย์ที่ปรึกษาก็โดนด่า เพราะตัวอาจารย์ที่ปรึกษาเองก็ไม่สนใจว่านิสิตมีปัญหาอย่างไรกับเครื่องมือวิเคราะห์ สนแต่ว่ามีผลแลปให้หรือเปล่า (จริง ๆ แล้วไม่สนด้วยว่าผลเหล่านั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร มีการทดลองจริงหรือเปล่าด้วย หรือเป็นการเขียนตัวเลขขึ้นมาเองจากความคิดของนิสิต เพื่อให้ผลเป็นไปดังที่อาจารย์ที่ปรึกษาต้องการ)