วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เหลือแก๊สใช้ได้นานอีกเท่าไหร่ (การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๔๖) MO Memoir : Thursday 30 May 2556

"อย่าใช้ความกลัวบอกว่ามันไม่พอซิ ทำไมไม่ใช้ความรู้ที่มีอยู่คำนวณออกมาล่ะว่ามันยังเหลืออยู่อีกเท่าไหร่"
  
ผมบอกกับสาวโชเฟอร์สิบล้อเมื่อเช้าวันวาน ไม่รู้ว่าเขาจะฟังข้อความได้หมดหรือเปล่า เพราะดูเหมือนว่าตอนนั้นเขาจะคุมสติไม่ค่อยจะอยู่

เรื่องมันเริ่มจากการที่เขาเปิดเครื่อง GC-2014 ECD & PDD ไปสักพัก แล้วค่อยมาเห็นว่าเข็มวัดความดันภายในถังของมันไม่กระดิกขึ้น แต่ความดันด้านขาออกนั้นยังปรับขึ้นได้อยู่ (รูปที่ ๑) ก็เลยจะปิดเครื่อง GC แล้วทำท่าออกอาการเหมือนกับจะตายเอาว่าอุตสาห์มาทำแลปแต่เช้า แต่ดันไม่มีแก๊สให้ทำแลป

รูปที่ ๑ เกจวัดความดันของ pressure regulator ถังแก๊สฮีเลียมที่เป็นปัญหาเมื่อเช้าวันวาน

เกจวัดความดันในถังของ pressure regulator มันออกแบบมาวัดความดันสูง จากรูปจะเห็นว่ามันไปได้ถึง 270 bar แต่ในความเป็นจริงแก๊สที่ส่งมามักจะบรรจุมาเพียง 125 bar หรือเทียบเท่าแก๊สประมาณ 6 m3 ที่ความดันบรรยากาศ 
   
ทีนี้พอใช้งานไปเรื่อย ๆ จนความดันในถังลดลงเหลือประมาณ 10 bar เข็มแสดงความดันภายในถังมันก็แทบจะไม่กระดิกให้เห็นแล้ว ถ้าอยากรู้ว่าความดันในถังเหลือเท่าไรก็ทำได้โดยการปิดวาล์วด้านขาออก แล้วลองหมุน pressure regulator ไปเรื่อย ๆ เราก็จะเห็นเข็มชี้วัดความดันด้านขาออกมันเพิ่มขึ้น มันเพิ่มได้แค่ไหนก็แสดงว่าความดันในถังมันเหลือแค่นั้น
  
เราสามารถประมาณได้ว่าเราเหลือแก๊สในถังให้ใช้ได้อีกเท่าไรโดยคำนวณจากค่าความดันในถังและปริมาตรของถัง ค่าความดันในถังหาได้อย่างไรก็ทำตามย่อหน้าข้างบน ส่วนปริมาตรภายในถังก็ดูที่บริเวณหัวถังจะมีการตอกตัวเลขเอาไว้ ดังที่แสดงในรูปที่ ๒ ข้างล่าง

รูปที่ ๒ ที่แต่ละถังจะมีการตอกตัวเลขแสดงค่าต่าง ๆ เอาไว้ ที่ถ่ายรูปมาตัว V คือตัวระบุปริมาตรภายใน หน่วยเป็นลิตร สำหรับถังนี้คือ 47.5 ลิตร ส่วนตัว W ระบุน้ำหนักของถังเปล่า หน่วยเป็นกิโลกรัม สำหรับถังนี้คือ 54.2 กิโลกรัม

สำหรับถังที่มีปริมาตร 47.5 ลิตร ที่ความดันภายในถังประมาณ 10 bar เราก็จะมีแก๊สใช้งานคิดเป็นปริมาตรประมาณ 475ลิตรที่ความดันบรรยากาศ สำหรับเครื่อง GC-2014 ECD & PDD นั้น ในขณะนี้เราตั้งความดันด้านขาออกของ pressure regulator ไว้ที่ 5 bar แต่ตัวเครื่องนั้นจะมี pressure regulatorปรับความดันเพื่อไว้สำหรับปรับอัตราการไหลของ carrier gas ซึ่งในขณะนี้เราตั้งไว้ที่ประมาณ 1.5 bar ส่วนตัว PDD นั้นต้องการ purge gas ที่การอัตราไหลขั้นต่ำ 30 ml/min แต่ตรงนี้ตัวเครื่องจะมี restriction orifice ติดตั้งอยู่กับท่อ purge gas ของ PDD ซึ่งจะจำกัดการไหลไว้ที่ประมาณ 30 ml/min ส่วนตัวคอลัมน์ที่ต่ออยู่กับ PDD นั้นเป็นชนิด micro packed columne (OD 1/8") ผมประมาณค่าอัตราการไหลสูงสุดจากความดันที่ตั้งเอาไว้เผื่อเอาไว้ให้อย่างมากไม่เกิน 20 ml/min ดังนั้น GC เครื่องนี้จึงน่าจะใช้แก๊สฮีเลียมในอัตราประมาณ 50 ml/min หรือ 72 ลิตรต่อวันที่ความดันบรรยากาศ (ถ้าเปิดเครื่องทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง)
  
ถ้าเราจะใช้แก๊สจนความดันในถังลดลงเหลือ 5 bar เราก็ต้องดึงแก๊สออกมาคิดเป็นปริมาตร 475/2 = 237.5 ลิตรที่ความดันบรรยากาศ ดังนั้นเราจะสามารถใช้แก๊สต่อไปได้อีก 237.5/72 = 3.3 วันหรือต่อเนื่องเป็นเวลา 79 ชั่วโมง ซึ่งก็เป็นเวลาที่เหลือเฟือสำหรับการสั่งแก๊สถังใหม่และได้ถังใหม่มาเปลี่ยน และโดยปรกติเรามักจะเปิดเครื่องประมาณ 12 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นเราจะยังสามารถใช้แก๊สในถังดังกล่าวต่อไปได้อีกร่วมสัปดาห์

เรื่องตรงนี้มันไม่มีอะไรซับซ้อนเลย เพียงแต่ตั้งสติและใช้ความรู้พื้นฐานที่ได้เรียนมาแล้วก็จะหาคำตอบเองได้

วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ท่อ - Pipe - Tube MO Memoir : Wednesday 29 May 2556

คำว่า pipe และ tube ในภาษาอังกฤษ ถ้าแปลเป็นไทยก็คือ "ท่อ" และในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะท่อที่ทำจากโลหะ
 
ในทางวิศวกรรม pipe และ tube นั้นแม้ว่าจะเป็นท่อ แต่ก็สร้างขึ้นตามข้อกำหนดที่แตกต่างกัน มันมีความแตกต่างกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการผลิต การระบุขนาด วิธีการเชื่อมต่อ ฯลฯ

tube นั้นผลิตขึ้นโดยมีข้อกำหนดเรื่องความคลาดเคลื่อนที่เข้มงวดมากกว่า pipe และตัว tube เองก็จะมีความอ่อนตัวมากกว่า pipe ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปรกติที่เราจะทำการดัด tube ให้โค้งเพื่อเปลี่ยนทิศทางการวางท่อได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการใช้ข้องอหรือข้อต่อโค้งต่าง ๆ ช่วย 
   
ตัวอย่างการใช้ tube ที่เห็นได้ชัดตามบ้านเรือนคือท่อน้ำยาแอร์ จะเห็นว่าช่างสามารถดัดท่อทองแดงดังกล่าวให้โค้งไปมาตามแนวผนังอาคารได้โดยไม่ต้องใช้ข้อต่อช่วย ท่อแก๊ส CNG ในรถยนต์ที่เคยเห็นก็ใช้ tube ทำจาก stainless สำหรับ pipe ถ้าถามว่าสามารถดัดมันให้โค้งได้ไหม คำตอบก็คือพอทำได้เช่นท่อไอเสียรถยนต์ที่ทำจากท่อผนังบาง แต่รัศมีความโค้งต้องมากหน่อย แต่โดยปรกติก็จะไม่ทำกัน จะนิยมใช้ข้องอแบบต่าง ๆ ช่วยในการเปลี่ยนทิศทางการวางท่อมากกว่า เช่นท่อประปาที่เป็นท่อผนังหนา

การระบุขนาดนั้นถ้าเป็น tube จะใช้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก (Outside diameter - OD) และความหนา กล่าวคือถ้าบอกว่า tube ขนาด 1/2 นิ้ว ถ้าเอาเวอร์เนียร์มาวัด OD ของ tube นี้ก็จะได้ 1/2 นิ้ว ส่วนจะมีความหนาเท่าไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าจะให้มันรับความดันเท่าใดที่อุณหภูมิเท่าใด การระบุความหนาของ tube จะระบุไปเลยว่าหนากี่นิ้วหรือกี่มิลลิเมตร ตัวอย่างขนาด tube และความหนาดูได้จากรูปที่ ๑

การระบุขนาดของ pipe นั้นจะใช้ Nominal pipe size (NPS) ตัวเลขนี้มักทำให้ใครหลายต่อหลายคนสับสน
 
ค่า NPS เป็นค่าประมาณของเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน (Inside diameter - ID) ของ pipe ที่ผนังท่อมีความหนามาตรฐาน (Schedule number 40 เดี๋ยวจะอธิบายอีกทีว่ามันคืออะไร) ค่า ID = OD - (2 x t) เมื่อ t คือความหนาของผนังท่อ ถ้าลองเอาตัวเลขขนาด NPS ของ pipe ในรูปที่ 2 มาคำนวณดูโดยใช้ช่องความหนาตรงช่อง Schedule 40 หรือ 40S/STD สำหรับ pipe ขนาด NPS ตั้งแต่ 1 ถึง 12 นิ้วก็จะพบว่าเป็นไปตามนี้ สำหรับ pipe ขนาดตั้งแต่ 14 นิ้วขึ้นไป ตัวเลข NPS จะเท่ากับขนาด OD ของ pipe นั้น
 
การระบุความหนาของ pipe นั้นไม่ได้บอกออกมาตรง ๆ แต่จะใช้ตัวเลขที่เรียกว่า Schedule number (Sch. no.) ค่า Schedule number คือค่าประมาณที่คำนวณได้จากสมการ

Sch. no. = 1000(P/S)

เมื่อ P = ความดันใช้งานภายใน (internal working pressure หน่วยเป็นแรงต่อพื้นที่ เช่น psig kg/cm2g)
S = ความเค้นสูงสุดที่ยอมให้ได้สำหรับวัสดุที่ใช้ทำ ณ ภาวะที่ใช้งาน (allowable stress for the material of construction at the conditions of use มีหน่วยเดียวกันค่า P 

รูปที่ ๑ ตารางแสดงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอกและความหนาของ tube (จากคู่มือของ Swagelok) พึงสังเกตอย่างหนึ่งนะว่าไม่มีการผลิต tube ขนาดใหญ่มากเหมือน pipe (ขนาด pipe ดูในรูปที่ ๒ ถัดไป)




รูปที่ ๒ ตารางขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอกและเส้นผ่านศูนย์กลางภายในของ steel pipe ขนาดต่าง ๆ และน้ำหนักต่อหน่วยความยาว จะเห็นว่าสำหรับ pipe ขนาด OD ตั้งแต่ 14 นิ้วขึ้นไป ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอกจะเท่ากับขนาดท่อที่เรียก แต่สำหรับ pipe ขนาดตั้งแต่ 12 นิ้วลงมา ขนาด OD จะใหญ่กว่าขนาดท่อที่เรียก แต่ขนาดท่อที่เรียกนั้นจะประมาณใกล้เคียงกับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน (ID) ของท่อที่มีความหนา Sch. 40 (ID = OD - (2 x ความหนา)) ยกเว้นพวก pipe ขนาดเล็กกว่า 2 นิ้ว จะมีความแตกต่างกันมากหน่อย

ตามมาตรฐาน ANSI (The American National Standards Institute) แบ่ง Sch. no. เอาไว้ 11 ค่าด้วยกันคือ 5, 10, 20, 30, 40, 60, 80, 100, 120, 140, และ 160
  
ที่ผมเคยเจอนั้นสำหรับท่อที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มากส่วนใหญ่จะเริ่มใช้ที่ Sch. no. 40 (บางทีเขาเรียกท่อสเก็ต 40) แม้ว่าจะสามารถใช้ท่อที่บางกว่านี้ได้ก็ตาม และถ้าต้องรับความดันมากขึ้นก็จะขยับไปใช้ท่อที่ Sch. no. 80 หรือ 160 เลย เหตุผลหนึ่งก็เป็นเพราะจะได้ลดความวุ่นวายในการก่อสร้างและเก็บสำรอง
  
ชื่อเดิมสำหรับท่อที่มีความหนา Sch. no. 40 คือ "standard" สำหรับท่อที่มีความหนา Sch. no. 80 จะเรียกว่า "strong" และสำหรับท่อที่มีความหนา Sch. no. 160 จะเรียกว่า "extra strong"

ข้อต่อของ pipe และ tube นั้นมีทั้งที่เหมือนกัน (เช่นเชื่อม หน้าแปลน) และที่แตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้วข้อต่อของ tube จะไม่ไปยุ่งอะไรกับผนังของ tube มากนั้น เราพอจะประมาณได้ว่าความหนาของผนังท่อที่ทำหน้าที่รับแรงก็คือความหนาของ tube นั่นเอง แต่สำหรับ pipe นั้นถ้ามีการใช้ข้อต่อเกลียว ที่ตัวข้อต่อเป็นเกลียวตัวเมีย และต้องมาขึ้นรูปเกลียวตัวผู้บนตัว pipe การขึ้นรูปเกลียวตัวผู้จะทำให้ผนังของ pipe บางลงตรงตำแหน่งร่องเกลียว ดังนั้นความหนาของผนังตรงตำแหน่งร่องเกลียวนี้จะเป็นตัวกำหนดว่า pipe นั้นจะรับความดันได้ไม่เกินเท่าใด (รูปที่ ๓)


รูปที่ ๓ ในกรณีของ pipe ถ้าใช้ข่อต่อเกลียว จะมีการทำเกลียวบนผิวนอกของ pipe ความหนาของผนัง pipe ส่วนที่รับความดันนั้นต้องหักความลึกของเกลียวออกไปก่อน ดังนั้นความหนาที่เป็นตัวกำหนดความดันที่รับได้จะน้อยกว่าความหนาที่แท้จริงของ pipe

สำหรับผู้ที่ผ่านวิชา mechanics of materials มาแล้วคงจะได้เรียนมาแล้วว่าเวลาที่ภาชนะทรงกระบอกนั้นต้องรับความดัน จะเกิดความเค้น (stress) บนพื้นผิวในสองทิศทางด้วยกัน คือในทิศทางเส้นรอบวงหรือที่เรียกว่า Hoop stress และในทิศทางความยาวหรือที่เรียกว่า Longitudinal stress ที่ค่าความดันภายในใด ๆ นั้น Hoop stress จะมีค่าเป็นสองเท่าของค่า Longitudinal stress ดังนั้นถ้าภาชนะทรงกระบอก (เช่นท่อ) รับความดันไม่ได้ ผนังก็จะฉีกออกตามแนวยาวก่อน (เพราะ Hoop stress ดึงให้ผนังแยกออกจากกัน) ไม่ได้ขาดเป็นสองท่อนออกจากกันตามแนวเส้นรอบวง
 
รอยเชื่อมนั้นจะมีความแข็งแรงต่ำกว่าผิวโลหะปรกติ ดังนั้นถ้าต้องการรับความดันสูงก็มักจะใช้ท่อที่ไม่มีรอยเชื่อมที่เรียกว่า seamless ที่จะรับความดันได้ดีกว่าท่อที่ขึ้นรูปจากการนำเอาแผ่นโลหะมาม้วนเป็นรูปท่อแล้วใช้การเชื่อมไฟฟ้าเชื่อมต่อรอยชนของแผ่นโลหะนั้น


รูปที่ ๔ ความเค้นที่เกิดขึ้นในภาชนะทรงกระบอกเมื่อมีความดันอยู่ภายใน
เมื่อพูดถึงpipe แล้วก็มีอีกคำหนึ่งที่ก่อความวุ่นวายคือ rating หรือ class ซึ่งเป็นตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการรับความดันของหน้าแปลน (flange)
 
pipe ส่วนใหญ่ที่ใช้กันในโรงงาน (ยกเว้นพวก pipe ขนาดเล็กหรือสำหรับสารไม่อันตราย เช่น น้ำ อากาศ) มักจะต่อด้วยข้อต่อชนิดเชื่อม และเพื่อให้สามารถถอดแยกจากกันได้ก็จะใช้ข้อต่อชนิดหน้าแปลน (flange) ซึ่งมีหลายแบบ ระบบท่อแบบนี้ถ้าจะเกิดปัญหาการรั่วไหลที่ความดันสูงก็มักจะเกิดตรงตำแหน่งหน้าแปลนที่ประกบกันอยู่ก่อนที่ท่อจะฉีกขาด ดังนั้นจึงมีการกำหนดตัวเลขที่เป็นตัวบ่งบอกว่าหน้าแปลนนั้นรับความดันได้สูงสุดเท่าใด ตัวเลขนี้คือ flange rating
  
flange rating มีหน่วยเป็น "ปอนด์" ที่เห็นกันทั่วไปคือ 150 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุด ถัดไปก็เป็น 300 400 600 900 1500 และ 2500 ปอนด์

ที่มันเกิดปัญหาก็คือคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าตัวเลข rating นี้บอกว่ามันรับความดันได้สูงสุดเท่าใด ซึ่งไม่ใช่ เพราะในความเป็นจริงนั้นมันมีเรื่องของอุณหภูมิและวัสดุที่ใช้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย


รูปที่ ๕ Pressure-Temperature rating สำหรับ Carbon steel และ Stainless steel flange class ต่าง ๆ
  
มีคนให้นิยมของ flange rating ไว้ว่า "maximum allowable non-shock pressure at the tabulated temperatures" ซึ่งก็บอกไว้ชัดเจนว่าค่า flange rating หนึ่งนั้นจะรับความดันได้เท่าใดให้ไปดูค่าในตารางที่อุณหภูมิต่าง ๆ ตัวอย่างของตารางนี้แสดงไว้ในรูปที่ ๕ จะเห็นว่าสำหรับค่า flange rating เดียวกัน โลหะต่างชนิดกันก็รับความดันได้ไม่เท่ากัน และที่อุณหภูมิสูงขึ้นความดันที่รับได้ก็จะลดลง ส่วนจะใช้งานได้ที่อุณหภูมิสูงเท่าใดนั้นก็ขึ้นกับชนิดของโลหะ
  
ลองพิจารณาค่า flange rating ค่าใดค่าหนึ่งในรูปที่ ๕ จะเห็นว่าในช่วงอุณหภูมิต่ำนั้น carbon steel จะรับความดันได้สูงกว่า stainless steel แต่พอเพิ่มอุณหภูมิสูงขึ้นกลับพบว่าตัวเลขความดันของ carbon steel หายไปดื้อ ๆ แต่ของ stainless steel ยังคงมีอยู่ นั่นแสดงว่าที่อุณหภูมิสูงขึ้นไม่ควรใช้ carbon steel (เป็นเรื่องปรกติที่โลหะจะอ่อนตัวที่อุณหภูมิสูง แต่จะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับชนิดโลหะ)

วิศวกรรุ่นพี่คนหนึ่งอธิบายผมเอาไว้ว่า flange rating คือความดันสูงสุดที่หน้าแปลนยังรับเอาไว้ได้ ณ อุณหภูมิสูงสุดที่มันยังคงใช้งานได้ ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็เข้าเค้าอยู่ แต่ถ้าดูจากตัวเลขในตารางแล้วก็จะเห็นว่าแสดงว่ามีการใช้งานที่อุณหภูมิที่สูงจนกระทั่งความดันที่หน้าแปลนรับได้นั้นมีค่าต่ำกว่าตัวเลข ratinge ของหน้าแปลน

ที่เขียนมานี้ก็หวังว่าผู้ที่เป็นวิศวกรเคมีที่จะเข้าไปทำงานเกี่ยวกับงานท่อต่าง ๆ ของโรงงานจะได้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องพื้นฐานบางเรื่องของงานท่อบ้าง
  
เว็บหนึ่งที่เห็นว่าอธิบายเรื่องระบบ piping ไว้ง่าย ๆ และอ่านเข้าใจได้ดีคือ http://www.wermac.org ใครสนใจก็ลองไปอ่านต่อเอาเองก็แล้วกัน

วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ไฟฟ้าดับในภาคใต้ อังคาร ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖ MO Memoir : Tuesday 28 May 2556

เรื่องนี้เขียนให้คนที่กำลังเรียนวิศวกรรมเคมีอ่านนะ

เหตุการณ์ไฟฟ้าดับใน ๑๔ จังหวัดภาคใต้เมื่อคืนวันอังคารที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมานั้น อธิบายได้ด้วยเหตุผลทางเทคนิค และก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์นี้ในประเทศ ตอนหัวค่ำที่ไฟฟ้าดับก็มีคนเขียนถามมาบน facebook ซึ่งผมก็ได้อธิบายเขาไปตอนเช้าวันถัดมา แต่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่พวกคุณด้วยเลยขอนำมาเรียบเรียงเขียนใหม่เพื่อเล่าสู่กันฟัง
  
ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ของประเทศไทยนั้นเกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๒๑ หรือเมื่อ ๓๕ ปีที่แล้ว ตอนนั้นดับกันทั้งประเทศเป็นเวลาหลายชั่วโมงกว่าจะกลับคืนสู่ภาวะปรกติ เรื่องราวเป็นอย่างไรก็ลองใช้ google หาเอาเองนะ (ลองใช้คำค้นหา "ไฟฟ้าดับ 2521") ปีนั้นผมยังเป็นเด็กอยู่แต่ก็จำเหตุการณ์นั้นได้ว่ามันเคยเกิดขึ้น
  
ในภาวะปรกตินั้น กำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่หนึ่งควรจะต้องสนองความต้องการของระบบในพื้นที่นั้นได้ และควรมีกำลังผลิตสำรองเอาไว้ด้วย เผื่อไว้สำหรับกรณีที่ระบบมีความต้องการสูงขึ้น หรือในกรณีที่หน่วยผลิตหน่วยใดหน่วยหนึ่งในพื้นที่นั้นมีปัญหาไม่สามารถจ่ายไฟเข้าระบบได้
  
กำลังผลิตไฟฟ้าในที่นี้หมายถึงกำลังผลิตที่ได้จากโรงไฟฟ้าต่าง ๆ รวมทั้งไฟฟ้าที่ดึงมาจากภายนอกพื้นที่ (เช่นไฟฟ้าที่ไทยซื้อมาจากลาวและมาเลเซีย ไฟฟ้าที่ภาคใต้นำลงมาจากภาคกลาง)
  
สมมุติว่าเริ่มแรกนั้นกำลังการผลิตสามารถสนองความต้องการของระบบได้ โดยที่ยังมีกำลังผลิตสำรองเหลืออยู่ เมื่อระบบมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงมากขึ้น ก็จะไปดึงเอากำลังผลิตสำรองที่มีอยู่ออกมาใช้ และตราบเท่าที่กำลังผลิตสำรองยังถูกดึงเอามาใช้ไม่หมด ระบบไฟฟ้าก็จะยังไม่มีปัญหา
  
ที่นี้ถ้าหากว่าดึงกำลังการผลิตสำรองมาใช้หมดแล้ว แต่ความต้องการพลังงานไฟฟ้ายังเพิ่มมากขึ้นไปอีก สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือระบบจ่ายไฟฟ้าจะเกิดภาวะทำงานเกิดกำลังหรือที่เราเรียกว่า overload ถ้าเป็นเครื่องจักรก็หมายถึงเรากำลังให้เครื่องจักรเดินเครื่องเกินกว่าความสามารถที่มันได้รับการออกแบบมา หรือถ้าเป็นสายไฟก็หมายถึงเรากำลังผ่านกระแสในปริมาณที่มากเกินกว่าที่มันจะรับได้ ถ้าปล่อยให้ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นต่อเนื่อง เครื่องจักรหรือสายไฟฟ้าก็จะเกิดความเสียหายได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการจำกัดความเสียหาย สิ่งที่ทำได้คือ "ตัดการจ่ายไฟฟ้า" ที่จ่ายให้กับบางพื้นที่ออกไป เพื่อให้กำลังการผลิตนั้นสามารถรองรับความต้องการของพื้นที่ส่วนที่เหลือได้

การที่ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจนสูงกว่ากำลังการผลิตนั้นเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ล่วงหน้า (โดยการเฝ้าตรวจปริมาณการใช้ไฟฟ้าเปรียบเทียบกับกำลังการผลิต) และไม่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกระทันหันโดยไม่คาดคิด ซึ่งแตกต่างจากกรณีที่เครื่องจักรผลิตไฟฟ้าหรือระบบสายส่งที่นำไฟฟ้าเข้าพื้นที่เกิดเหตุขัดข้องที่ทำให้ไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้กระทันหัน ในกรณีเช่นนี้แม้ว่าความต้องการพลังงานไฟฟ้าจะยังคงที่ แต่กำลังการผลิตไฟฟ้ากลับลดต่ำลงกว่าความต้องการอย่างกระทันหัน ทำให้การตัดไฟฟ้าในบางพื้นที่ออกไปเพื่อให้กำลังการผลิตที่เหลืออยู่เพียงพอกับพี้นที่ส่วนที่เหลือนั้นกระทำไม่มัน ผลที่ตามมาคือหน่วยผลิตไฟฟ้าที่เหลืออยู่จะเกิดภาวะ overload ทำให้เครื่องจักร/อุปกรณ์ทำการตัดตัวเองออกจากระบบเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเครื่องจักร/อุปกรณ์นั้นได้รับความเสียหาย
  
ผลที่ตามมาจะเป็นลูกโซ่ เพราะพอหน่วยผลิตไฟฟ้าที่เหลืออยู่บางหน่วยหยุดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ความต้องการไฟฟ้าก็จะย้ายไปดึงจากหน่วยผลิตที่เหลือที่มีจำนวนน้อยลง ก็จะทำให้หน่วยผลิตที่เหลือเกิดการ overload และทำการตัดตัวเองออกจากระบบ และเกิดเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ทำให้ไฟฟ้าดับขยายไปเป็นบริเวณกว้าง

เพื่อให้เห็นภาพสมมุติว่าพื้นที่หนึ่งมีความต้องการไฟฟ้า 1000 MW โดยมีโรงไฟฟ้า ๔ โรง แต่ละโรงผลิตได้เต็มที่ 200 MW และต้องนำเข้าจากแหล่งผลิตภายนอกอีก 200 MW ดังนั้นในขณะนี้ความสามารถในการจ่ายพลังงานไฟฟ้าจะพอดีกับความต้องการพลังงานไฟฟ้า
  
ที่นี้สมมุติว่าแหล่งจ่ายไฟจากภายนอกเกิดมีปัญหา ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าให้ได้กระทันหัน กำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่นั้นจะเหลือเพียง 800 MW จากโรงไฟฟ้า ๔ โรง ในขณะที่ความต้องการยังคงเป็น 1000 MW อยู่ ในกรณีนี้ถ้าหากตัดการจ่ายไฟฟ้าให้กับพื้นที่บางพื้นที่ออกไป โดยให้ความต้องการไฟฟ้าในพื้นที่ที่เหลือมีไม่เกิน 800 MW ก็จะทำให้เกิดไฟดับในบางพื้นที่
  
แต่ถ้าตัดพื้นที่จ่ายไฟให้ไม่ทัน ความต้องการ 1000 MW นั้นก็จะไปดึงไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า ๔ โรง ทำให้โรงไฟฟ้าทั้ง ๔ โรงนั้นเกิดภาวะ overload และถ้าโรงไฟฟ้าที่เหลือนั้นโรงใดโรงหนึ่งรับภาระ overload นี้ไม่ได้ มันก็จะตัดตัวเองออกจากระบบเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ตัวโรงไฟฟ้าเอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความต้องการ 1000 MW จะย้ายไปลงที่โรงไฟฟ้า ๓ โรงที่เหลือที่ผลิตรวมได้แค่ 600 MW ทำให้โรงไฟฟ้าที่เหลือ ๓ โรงต้องรับภาระ overload ที่หนักมากขึ้นไปอีก ผลก็คือโรงไฟฟ้า ๓ โรงที่เหลือจะทยอยกันตัดตัวเองออกจากระบบ ทำให้ในพื้นที่นั้นไม่มีไฟฟ้าทั้งบริเวณ

ทีนี้เมื่อทำการกู้ระบบ อยู่ดี ๆ จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าความต้องการไฟฟ้าของระบบเป็นเท่าไร (ก็บอกไม่ได้ว่ามีอุปกรณ์ไฟฟ้าที่สวิตช์เปิดค้างอยู่เป็นจำนวนเท่าใด) ดังนั้นจึงต้องทยอยจ่ายไฟให้กับพื้นที่ทีละส่วนเพื่อไม่ให้ความต้องการไฟฟ้าเกินกำลังการผลิตที่มีอยู่

เหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งในแลปเรา เกิดกับ glove box ที่มีการใช้ปั๊มสุญญากาศหลายตัว วันหนึ่งไฟฟ้าดับแต่ไม่มีใครไปปิดสวิตช์ปั๊มสุญญากาศ ปล่อยให้มันค้างอยู่ที่ตำแหน่ง "เปิด" พอกระแสไฟฟ้ากลับมาอีกครั้ง ปั๊มสุญญากาศทุกตัวก็เริ่มทำงานพร้อม ๆ กัน เกิดการดึงกระแสในปริมาณมากจน UPS ของ golve box นั้นไหม้ก่อนที่ circuit breaker จะทำงาน ครั้งนั้นเป็นบทเรียนให้หลายคนรู้ว่าเมื่อไฟฟ้าดับจะอยู่เฉยไม่ได้ ควรต้องไปปิดสวิตช์อุปกรณ์ที่มันเปิดใช้งานอยู่ด้วย

ทีนี้ขอกลับมาที่สายส่ง
  
สำหรับคนที่มีพื้นฐานไฟฟ้ากำลังมาบ้างแล้วคงจะจำได้ว่าพลังงานในการส่งไฟฟ้า (P) นั้นเท่ากับผลคูณระหว่าง กระแส (I) กับความต่างศักย์ (V) หรือ P = IV ดังนั้นที่พลังงานไฟฟ้าเท่ากัน ถ้าส่งด้วยความต่างศักย์ที่สูง จะมีกระแสไหลผ่านสายไฟ "ต่ำกว่า" การส่งด้วยความต่างศักย์ที่ต่ำกว่า
  
ส่วนความร้อนที่เกิดจากการไหลของกระแสไฟฟ้าผ่านสายไฟที่เป็นตัวนำนั้น (P-loss) แปรผันตามความต้านทานของสายไฟที่เป็นตัวนำและปริมาณกระแสไฟฟ้า "ยกกำลังสอง" หรือ P-loss = I2R
  
ดังนั้นถ้าส่งไฟฟ้าด้วยความต่างศักย์ 500 kV ก็จะมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านสายไฟในปริมาณเพียงครึ่งเดียวของการส่งด้วยความต่างศักย์ 230 kV และการสูญเสียพลังงานไปเป็นความร้อนของสายส่ง 230 kV ก็จะสูงกว่าของสายส่วน 500 kV ประมาณ ๔ เท่า
  
บางคนอาจคิดว่าการส่งพลังงานไฟฟ้าด้วยความต่างศักย์ที่สูงนั้นอันตรายสูงกว่าการส่งด้วยความต่างศักย์ที่ต่ำกว่า ส่วนเรื่องความร้อนที่เกิดขึ้นเนื่องจากการมีกระแสไหลเพิ่มขึ้นนั้นก็แก้ได้ด้วยการใช้สายไฟฟ้าขนาดโตขึ้น ซึ่งเรื่องการใช้สายไฟโตขึ้นนี้คงไม่เป็นปัญหามากถ้าเป็นการวางไปบนพื้น แต่สำหรับสายไฟที่ขึ้นพาดบนเสาแล้ว น้ำหนักของสายไฟต่อความยาวนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาด้วยว่าจะวางเสาได้ห่างกันเท่าใดเพราะสายไฟฟ้ายังต้องรับน้ำหนักของตัวมันเองด้วย ดังนั้นเมื่อต้องการพลังงานไฟฟ้ามากขึ้นจึงมักใช้วิธีเพิ่มจำนวนสายไฟหรือเพิ่มความต่างศักย์ เพื่อไม่ให้สายไปแต่ละเส้นรับกระแสมากเกินไปละไม่ต้องใช้สายไฟเส้นใหญ่เกินไป

ในประเทศไทยนั้นเครือข่ายจ่ายกระแสไฟฟ้ามีการเชื่อมโยงต่อถึงกันหมด และเชื่อมโยงต่อกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย ในส่วนของพื้นที่ภาคกลาง (รวมภาคตะวันออก) ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น การเชื่อมโยงกับระบบไฟฟ้าของภาคอื่นนั้นมีหลายตำแหน่ง ดังนั้นโอกาสที่สายส่งที่เชื่อมโยงภาคนั้นเข้ากับภาคอื่น ๆ จะมีปัญหาพร้อม ๆ กันคงเป็นไปได้ยาก
  
แต่สำหรับภาคใต้นั้นแตกต่างไปจากภาคอื่นตรงที่สภาพทางภูมิศาสตร์บังคับให้การเชื่อมโยงกับภาคอื่นนั้นมีอยู่เพียงเส้นทางเดียวคือทางเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ และที่สำคัญคือกำลังการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ไม่เพียงพอต่อความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้เอง จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากเขตอื่นเข้ามาเสริม ดังนั้นสายส่งจากทางภาคกลางลงไปสู่ภาคใต้จึงมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ และพอมันเกิดปัญหาดังเช่นที่เกิดในสัปดาห์ที่แล้ว ผลก็คือไฟฟ้าก็ดับทั้งภาคใต้ (ดูแผนที่สายส่งในรูปที่ ๑)


รูปที่ ๑ แผนที่ระบบสายส่งไฟฟ้า ตัดมาเฉพาะส่วนของภาคใต้
(ฉบับเต็มทั้งประเทศดูได้ที่ http://www.egat.co.th/images/stories/mapegat/map-system.pdf)
การป้องกันไม่ให้ปัญหาเช่นนี้เกิดได้อีกก็คือต้องทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้นั้นเพียงพอต่อความต้องการของภาคใต้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากภาคกลาง ซึ่งอาจทำโดย
 
(ก) การลดความต้องการไฟฟ้าลง ซึ่งก็คงจะทำไม่ได้ หรือไม่ก็
(ข) ผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นทางออกด้วยเหตุผลทางเทคนิคที่ดีที่สุด แต่จะมีปัญหาด้านการเมืองแทน

ในการสร้างโรงไฟฟ้านั้น กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการทำประชาพิจารณ์กับประชาชน "ในท้องถิ่น" ที่จะทำการตั้งโรงไฟฟ้า ซึ่งตรงนี้ความเห็นส่วนตัวนั้นคิดว่ายังไม่ค่อยเพียงพอสักเท่าไรนั้น ควรจะต้องครอบคลุมไปถึงประชาชน "นอกท้องถิ่น" นั้นด้วย อย่างเช่นในกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ถ้าคนทางภาคใต้ไม่ยอมให้สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่จะให้เพิ่มการจ่ายไฟฟ้าจากภาคกลางลงมาให้มากขึ้นแทน ถ้าเช่นนี้ก็ต้องถามด้วยว่ามันเป็นธรรมสำหรับคนราชบุรีที่เขาต้องรับผลกระทบจากการผลิตไฟฟ้ามากขึ้นเพื่อให้คนใต้ใช้ไฟฟ้าได้อย่างสบายหรือเปล่า และมันเป็นธรรมกับคนเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ที่เขาต้องสูญเสียโอกาสในการใช้ที่ดินเพื่อให้การไฟฟ้าเดินสายไฟฟ้าให้มากขึ้นเพื่อให้มีไฟฟ้าเพียงพอสำหรับจ่ายให้คนในภาคใต้ใช้ไฟฟ้าได้อย่างสบายหรือเปล่าด้วย
  
งานนี้ถ้าคนภาคใต้ประท้วงไม่ยอมให้สร้างโรงไฟฟ้า ผมว่าคนทางราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ก็มีสิทธิที่จะประท้วงเหมือนกันว่าทำไมเขาต้องแบกรับภาระแทนคนภาคใต้ด้วย

เรื่องตรงนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่แต่ละฝ่ายจะต้องคิดพิจารณาให้ดี และควรพิจารณาด้วยเหตุผลหาทางออกด้วยการแก้ปัญหา การชดเชยและการตอบแทนผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสมด้วย (ไม่ใช่แบบโยนเงินไปก้อนและถือว่าจบสิ้นกัน) ไม่ใช่ว่าจะประท้วงแต่อย่างเดียวโดยไม่ฟังเหตุผล หรือจะเอาเฉพาะประโยชน์ส่วนตัวเพียงอย่างเดียวโดยไม่ดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนอื่น

อีกเรื่องหนึ่งที่มีการคุยกันทาง facebook ในวันนั้นคือการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ซึ่งผมได้ยกตัวอย่างว่าทางภาคอีสานของไทยมีการซื้อไฟฟ้าจากลาว และลาวก็มีการซื้อไฟฟ้าจากไทย เรื่องหนึ่งที่เป็นปัจจัยในการพิจารณาคือเรื่องสายส่ง
  
อีสานตอนบนใกล้กับเขื่อนผลิตไฟฟ้าของลาว ไทยก็ซื้อไฟฟ้าจากลาวมาใช้เพื่อให้พอกับความต้องการ
 
อีสานตอนล่างใกล้กับลาวตอนใต้ ถ้าลาวจะเดินสายไฟจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าตอนเหนือมาตอนใต้ ก็จะมีค่าใช้จ่ายด้านการเดินสายส่ง แต่ฝั่งไทยมีระบบสายส่งทั้งภาคอีสานอยู่แล้ว ดังนั้นแทนที่จะเดินสายส่งเอง ก็ใช้ระบบสายส่งด้านฝั่งไทยดีกว่า ด้วยการซื้อไฟฟ้าจากฝั่งไทยทางตอนใต้ แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้เห็นมีข่าวว่าระบบสายส่งของลาวพัฒนาไปมากแล้ว และอีกไม่นานก็คงไม่ต้องซื้อไฟฟ้าจากฝั่งไทย โดยสามารถใช้สายส่งฝั่งลาวได้เอง

เรื่องนี้เหมือนกับที่เขาพูดกันว่าจะขับรถไปเบตงให้ขับเข้ามาเลเซียก่อนแล้วค่อยวกเข้ามาใหม่

รูปที่ ๒ แผนที่ระบบสายส่งไฟฟ้า ตัดมาเฉพาะส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
(ฉบับเต็มทั้งประเทศดูได้ที่ http://www.egat.co.th/images/stories/mapegat/map-system.pdf)

วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

หัวกระสุนจากฟากฟ้า MO Memoir : Monday 27 May 2556

เย็นวันวานคุณน้าบ้านติดกันเอาสิ่งของที่เก็บได้ตอนกวาดบ้านตอนเช้ามาให้ดู คือหัวกระสุนปืน ๒ หัวกับเศษกระเบื้องหลังคา
  
แกบอกว่าไปแจ้งความแล้ว ร้อยเวรบอกว่าบอกไม่ได้ว่าเป็นกระสุนขนาดใด เรียกตำรวจอีก ๒ คนมาช่วยดูก็บอกว่ายังบอกไม่ได้ว่าเป็นกระสุนขนาดใด
  
แต่พอผมเห็นหัวกระสุนที่แกเอามาให้ดูก็บอกได้ว่านัดหนึ่งนั้นน่าจะเป็น 9 มม. อีกนัดหนึ่งที่เล็กกว่านั้นน่าจะเป็นขนาด .32 (หรือ 7.65 มม) ผมก็ไปเอากระสุนที่มีอยู่มาเปรียบเทียบ ส่วนคุณน้าแกก็ไปเอาเวอร์เนีย์มาวัด ซึ่งก็สรุปได้ว่าเป็นไปตามที่คาด
 
รูปที่ ๑ (ซ้าย) หัวกระสุนขนาดคาลิเบอร์ 9 มม. ที่เก็บได้และเศษกระเบื้องหลังคา และหัวกระสุนขนาดคาลิเบอร์ .32 นิ้ว (หรือ 7.65 มม) ทั้งสองหัวเป็นชนิดตะกั่วล้วน แสดงว่าน่าจะยิงมาจากปืนพก ส่วนนัดกลางเป็นกระสุนขนาด9 มม. หัวตะกั่วล้วน (Lead Round Nose - LRN) ที่นำมาเปรียบเทียบ (ขวา) ในวงกลมเหลืองคือรอยที่ทะลุหลังคาลงมา

ที่แปลกใจคือการที่ตำรวจ ๓ นายที่โรงพักบอกว่าไม่สามารถระบุขนาดได้ ผมว่ามันแปลก เพราะกระสุนขนาด 9 มม. นี่ตำรวจก็ใช้กันเกลื่อน คนทั่วไปก็มีใช้กันเยอะ ถ้าตำรวจจะบอกว่าไม่เคยเห็นหัวกระสุนขนาด 9 มม. นี่ก็ไม่รู้ว่าจะว่ายังไงแล้ว (ผมว่ามันควรจะอยู่ในวิชาเรียนด้วยซ้ำ) หรือว่าเขารู้แต่ทำเป็นไม่รู้ อันนี้ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่หัวกระสุนทั้งสองนัดนั้นมีรอยเกลียวลำกล้องชัดเจน
  
หัวกระสุน 9 มม. นั้นเขาเก็บได้เช้าวันวานตอนออกมาเดินกวาดโรงรถ ส่วนขนาด .32 นั้นเก็บได้ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ตรงกระเบื้องที่แตกนั้นเป็นตำแหน่งที่กระเบื้องซ้อนกันสองแผ่นด้วย ตำแหน่งรูกระเบื้องที่แตกและตำแหน่งที่หัวกระสุน 9 มม. ตกกระทบพื้นแสดงว่ากระสุนถูกยิงในมุมค่อนข้างเฉียง เป็นไปได้ว่าถูกยิงขึ้นฟ้ามาจากตำแหน่งที่ค่อนข้างไกล (เดาว่าอาจจะเกินกว่า ๑๐๐ เมตร เว้นแต่ว่าจะเป็นการยิงจากที่สูง) ผมเห็นความเสียหายแล้วเดาว่าถ้าลงศีรษะใครก็สามารถเจาะกระโหลกเข้าไปได้
  
บ้านคุณน้าหลังนี้เขาเจออย่างนี้มา ๕ ครั้งแล้ว หนึ่งในนั้นเป็นตอนปีใหม่ ตอนนั้นผมก็นั่งคุยกับเขาอยู่ที่บ้านเขาในโรงรถ พอเที่ยงคืนก็มีเสียงปืนดังมาจากแฟลตตำรวจของโรงพัก (อยู่ใกล้ ๆ กัน ห่างไม่กี่สิบเมตร) รัวเป็นชุด ๆ ประมาณ ๖-๗ นัด สักพักหนึ่งก็มีเสียงดังปังที่หลังคาโรงรถห่างจากโต๊ะที่ผมนั่งคุยกับเขาไม่กี่เมตร ปรากฏว่ามีหัวกระสุน 9 มม. ตกลงมาหนึ่งนัด ทะลุหลังคาตกลงมาบนกระโปรงหน้ารถที่จอดอยู่ ทำเอากระโปรงหน้ารถบุบเป็นรอยไป

พฤติกรรมยิงปืนขึ้นฟ้าเวลามีงานต่าง ๆ นี่รู้สึกว่าจะมีเป็นประจำในต่างจังหวัด จัดเป็นพฤติกรรมที่ทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น และทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตได้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็มีเด็กเสียชีวิตจากกระสุนปืนที่เกิดจากการยิงขึ้นท้องฟ้าหลายราย แถวบ้านผมแม้จะอยู่ในกรุงเทพ แต่อาจเป็นเพราะไม่ได้มีบ้านคนอยู่หนาแน่นติดกันเป็นบริเวณกว้าง จึงอาจทำให้คนยิงคิดว่าโอกาสที่จะไปตกลงบ้านคนหรือถูกคนอื่นเข้าคงจะน้อย แต่จะว่าไปแล้วคนคิดที่จะยิงปืนขึ้นฟ้าในเมือง แสดงว่าเขาไม่ได้สนใจว่าจะทำให้ใครเดือดร้อน

แถมตอนท้ายหน่อยเรื่องขนาดหัวกระสุน หัวกระสุนปืนนั้นจะบอกเป็นคาลิเบอร์ (calibre) ถ้าเป็นตัวเลขมีจุดทศนิยมข้างหน้าแสดงว่าหน่วยเป็นนิ้ว เช่น .380 ACP .32 ACP .45 ACP ถ้าเป็นตัวเลขที่มีตัวเลขนำหน้าจุดแสดงว่าหน่วยเป็นมิลลิเมตร เช่น 9 mm Luger 7.65 mm 11 mm ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวเลขขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหัวกระสุนที่แท้จริงเสมอไป เพราะเป็นเรื่องปรกติที่หัวกระสุนที่ยิงผ่านรูลำกล้องขนาดเดียวกันจะมีชื่อเรียกต่างกัน เช่นกระสุนขนาด .38 special .357 magnum .380 ACP และ 9 mm Luger ต่างใช้ลำกล้องที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากัน กระสุน .22LR .222 Remington .223 Remington 5.56 x 45 mm NATO ต่างใช้ลำกล้องที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากัน กระสุนขนาด .45 ไปจนถึง .458 ก็ใช้ลำกล้องขนาดเดียวกัน เหตุผลหนึ่งในการที่เขาเรียกกระสุนที่อยู่ในคาลิเบอร์เดียวกันด้วยตัวเลขที่แตกต่างกันนั้นก็เพื่อเป็นการระบุว่าเป็นกระสุนต่างชนิดกัน
  
โดยปรกติหัวกระสุนจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าลำกล้องเล็กน้อย เพื่อกันไม่ให้แก๊สที่เกิดจากการเผาไหม้ดินปืนนั้นรั่วไหลออกไปได้ จะได้มีแรงดันหัวกระสุนได้เต็มที่ ผิวของหัวกระสุนจึงต้องทำจากโลหะที่อ่อนกว่าลำกล้องปืน ส่วนใหญ่ก็เป็นตะกั่ว หรือไม่ก็หุ้มแกนตะกั่วไว้ด้วยเปลือก (jacket) ที่ทำจากโลหะทองแดงอีกที

ผมเล็งดูแนวจุดที่กระสุนตกกระทบพื้นและรูที่กระเบื้องมุงหลังคาแล้ว พบว่ามีความเป็นไปได้ว่ากระสุนดังกล่าวมาจากที่เดิมที่มันเคยมา

วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๔๖) MO Memoir : Sunday 26 May 2556

ผมเห็นชื่อเขาครั้งแรกในหนังสือ "The Colonel of Tamarkan" ที่ซื้อมาจากร้านหนังสือลดราคาชั้นใต้ดินอาคารจามจุรีสแควร์ ในหนังสือเล่มนั้นกล่าวถึงคนชื่อ "Boon Pong" ไว้หลายแห่ง และมีรูปภาพลงประกอบอยู่ ๑ ภาพ แต่ผมไม่แน่ใจว่าชื่อภาษาไทยเขาออกเสียงที่ถูกต้องอย่างไร
  
เมื่อราว ๆ ต้นเดือนได้เห็นสปอตโฆษณาละครโทรทัศน์เรื่องใหม่ เรื่องเกี่ยวกับคนชื่อ "บุญผ่อง" ที่ได้ให้ความช่วยเหลือเชลยศึกทหารสัมพันธมิตรที่จังหวัดกาญจนบุรีสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ละครเรื่องนี้เริ่มฉายแล้วในเดือนนี้ และกำลังฉายอยู่ จากละครเรื่องนี้ก็เลยได้รู้ว่าบุคคลในภาพนั้นมีชื่อไทยว่า "บุญผ่อง"

รูปที่ ๑ หนังสือเรื่อง "The colonel of Tamarkan : Philip Toosey and the bridge on the river Kwai" ซึ่งแปลเป็นไทยว่า "พันเอกแห่งท่ามะขาม Philip Toosey และสะพานข้ามแม่น้ำแคว หนังสือดังกล่าวเขียนโดยJulie Summers ผู้เป็นหลานของพันเอก Toosey
  
ในบรรดาหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่เป็นภาษาอังกฤษกว่า ๔๐ เล่มที่ผมมีนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการรบในยุโรป มีบางเล่มที่กล่าวถึงการรบในพม่าและในมหาสมุทรแปซิฟิก เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เป็นสมรภูมิการรบของทหารราบ ดังนั้นเรื่องเกี่ยวกับการรบทางบกจึงไม่มีการกล่าวถึง เรื่องที่พอจะมีการกล่าวถึงประเทศไทยบ้างคือการสร้างทางรถไฟไปพม่า
 
ในบรรดาคนไทยที่ถูกกล่าวถึงในหนังสือที่ชาวต่างชาติเขียนนั้น ถ้าไม่นับกลุ่มผู้ปกครองประเทศในขณะนั้นก็ไม่เห็นมีการกล่าวถึง "เสรีไทย" แต่กลับมีการกล่าวถึงบุคคลธรรมดาคนหนึ่งที่ชื่อ "Boon Pong"
  
ในหนังสือ The Colonel of Tamarkan ในส่วนของเนื้อหาจำนวน ๓๖๙ หน้านั้น มีชื่อ Boon Pong ปรากฏอยู่ถึง ๑๑ หน้าที่ผมได้สแกนเอามาให้ดู ผมคงจะไม่ขอแปลเนื้อหาทั้งหมดออกมา เพียงแต่จะขอดึงเอาบางเรื่องออกมา เผื่อว่าใครได้มีโอกาสดูละครเรื่องดังกล่าวจะได้เทียบได้ว่าสิ่งที่ปรากฏในละครกับสิ่งที่ทางพันเอก Toosey บันทึกไว้นั้นตรงกันหรือเปล่า ส่วนที่เหลือก็ขอให้อ่านเอาเองก็แล้วกัน 
   
ในหน้า ๒๐๐-๒๐๒ เป็นการเล่าเหตุการณ์ที่ทางเชลยได้พบกับคุณบุญผ่อง และประวัติของคุณบุญผ่องโดยสังเขป ในหน้า ๒๘๖-๒๘๗ และ ๒๙๔ กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อสงครามสิ้นสุด เนื่องจากในช่วงสงครามนั้นไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม คนจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยก็ถือว่าตนเองอยู่ในฝ่ายผู้ชนะสงครามในขณะที่คนไทยที่เป็นเจ้าของประเทศเดิมนั้นฝ่ายแพ้สงคราม ทำให้เกิดการจลาจลขึ้นระหว่างคนจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยและคนไทยที่เป็นเจ้าของประเทศ
  
เหตุการณ์ที่เกือบคร่าชีวิตคุณบุญผ่องถูกบันทึกไว้ในหน้า ๓๐๒-๓๐๓ เมื่อคุณบุญผ่องถูกยิงโดย "ตำรวจไทย" และเป็นการยิงจาก "ทางด้านหลัง" ด้วย (ไม่รู้ฉากนี้จะผ่านการเซนเซอร์หรือเปล่า แต่ก็บอกให้รู้ว่าตำรวจไทยมีพฤติกรรมอย่างไรมาตั้งแต่สมัยไหน) แต่รอดชีวิตมาได้ด้วยความช่วยเหลือของทีมแพทย์อังกฤษ
  
หลังสงครามสิ้นสุดคุณบุญผ่องได้มาทำกิจการรถเมล์ในกรุงเทพ (รถเมล์สาย ๖ หน้า ๓๓๘-๓๔๐) แต่ประสบปัญหาด้านการเงิน เมื่อทางพันเอก Toosey ทราบเรื่องจึงได้ทำการระดมทุนและรวมรวมเงินได้ ๓๘,๐๐๐ ปอนด์ส่งมาช่วยเหลือ ทำให้ดำเนินการมาได้จนกิจการรถเมล์ถูกรวมกิจการเข้าเป็นของรัฐ คุณบุญผ่องจึงได้ไปดำเนินกิจการซ่อมแซมตัวถังรถในชื่อ "Dents Done by Boong Pong" (ผมเดาว่าปัจจุบันคือบริษัทเดนซ์ดัน)

คุณบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ ถึงแก่กรรมในวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๕

นิยายที่มีตัวละครที่เป็นทหารญี่ปุ่นสมมุติมีการนำมาสร้างกันไม่รู้กี่รอบ เปลี่ยนดาราไปไม่รู้กี่คน ทั้ง ๆ ที่ตัวละครดังกล่าวต่างไม่มีตัวตนจริง แต่สำหรับผู้ที่มีบทบาทจริงในประวัติศาสตร์ มีการบันทึกวีรกรรมของเขาเอาไว้โดยเชลยศึกผู้รอดชีวิต ต้องรอหลังการเสียชีวิตของเขาผ่านไป ๓๑ ปี จึงมีผู้นำเอาเรื่องราวของเขามาสร้างเป็นละครให้คนทั่วไปได้รู้จักกัน

ที่ค้นเจอใน youtube มี ๒ คลิปนี้ที่มีการกล่าวถึงคุณบุญผ่อง คลิปทั้งสองมีก่อนที่จะมีการสร้างละคร

Boonpong - Legend of the River Kwai
http://www.youtube.com/watch?v=B3ixrls3s58


The Quiet Lions - Story of Weary Dunlop
http://www.youtube.com/watch?v=ukiGHoPDzJU