วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

MO ตอบคำถาม ปฏิกิริยา pyrolysis MO Memoir : Tuesday 30 July 2556

ในช่วงระหว่างที่พักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาล มีอีเมล์มาถามคำถามเกี่ยวกับปฏิกิริยา pyrolysis ซึ่งในระหว่างนั้นผมก็ได้ตอบคำถามของเขาไปแล้วส่วนหนึ่งเท่าที่จะมีแรงตอบ (มันนอนอยู่เฉย ๆ ทั้งวันทั้งคืนบนเตียงโดยไม่มีอะไรทำก็น่าเบื่อเหมือนกัน) ในที่นี้ก็เลยขอเอาคำถามที่เขาถามมา (มีการจัดย่อหน้า แก้ไขข้อความ และเว้นวรรคใหม่เล็กน้อย) มาให้อ่านกัน ส่วนคำตอบส่วนที่ผมตอบเขาไปนั้นเป็นคำตอบแบบคนที่ทำ pyrolysis อยู่แล้วอ่านแล้วคงเข้าใจ แต่คนที่ไม่มีพื้นความรู้อาจจะไม่รู้เรื่อง ผมก็เลยขอเอามาเขียนใหม่เพื่อให้คนอื่นได้ประโยชน์ด้วย

อีเมล์ฉบับแรกมาเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ใจความดังนี้

วันที่ : จันทร์ 15 กรกฎาคม 2556, 22:53
เรื่อง : ขอรบกวนสอบถามเรื่อง ตัวเร่งปฏิกิริยาออกไซด์ค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ (ขออนุญาตเรียกอาจารย์นะคะ) หนูได้ติดตามอ่านบล็อกของอาจารย์เป็นครั้งคราว ซึ่งให้ความรู้ด้านเคมีเยอะมาก ๆ ๆ ค่ะ แต่ตอนนี้หนูมีข้อสงสัยเกี่ยวตัวเร่ง ปฏิกิริยาออกไซด์น่ะค่ะ

คือว่า ในการนำเอาขยะ มาใช้กระบวนการไพโรไลซิส ซึ่งจะเกิด Tar (Tar ที่มีออกซิเจนเป็นองค์ประกอบ) ออกมาด้วย แล้วมีการใช้ Calcined Dolomite (CaOMgO) ในงานวิจัยบอกว่า ช่วยให้เกิดการ cracking และ deoxygenation ของ tar ได้มากขึ้น

หนูอยากทราบว่า CaOMgO มีบทบาทในทางเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาซึ่งช่วยให้เกิด cracking และ deoxygenation อย่างไรคะ ถ้าตามความเข้าใจของหนูนะคะ Tar มีการดูดซับ บนผิวของ CaOMgO แล้วมีเวลาอยู่ใน reactor นานขึ้น จึงเกิดการ Cracking และ deoxygenation ได้มากขึ้นใช่ไหมคะ หรือว่านี่เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่เกิดปฏิกิริยาอย่างอื่นด้วย
หนูพยายามหาอ่าน เปเปอร์ที่ใช้ Dolomite เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา แต่ก็กล่าวเพียงว่าใช้แล้ว Tar ลดลง แต่ไม่ได้บอกว่าเกิดอะไรขึ้นจึงทำให้น้อยลง หนูจึงได้อีเมลล์หาอาจารย์มาด้วยเหตุนี้ค่ะ ขอความกรุณาด้วยนะคะ แล้วที่นำ Dolomite ไป calcine ให้ CO2 ออกมา นี่เพื่อเพิ่ม active sites ในการดูดซับใช่ไหมคะ

ขอขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

หลังจากตอบฉบับแรกไปก็มีอีเมล์ฉบับที่สองมาอีกเมื่อวันพุธที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ใจความดังนี้

วันที่ : 17 กรกฎาคม 2556, 17:49
เรื่อง : RE: ขอรบกวนสอบถามเรื่อง ตัวเร่งปฏิกิริยาออกไซด์ค่ะ
ขอขอบคุณอาจารย์มากนะคะ แล้วก็ต้องขออภัยด้วยค่ะที่รบกวนเวลาพักผ่อนส่วนตัว

ค่ะ ในกระบวนต้องการเปลี่ยนสารตั้งต้นที่เป็นของแข็งไปเป็น Syngas โดยตัวอย่างขยะที่นำมาเป็นสารตั้งต้น ส่วนใหญ่เป็นชีวมวลค่ะเป็นพวกเศษอาหาร ไม้ มีพลาสติกและสิ่งทอประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์

ส่วนการที่ tar ลดลง จากการที่อ่านเปเปอร์หนูเข้าใจว่า tar ถูกทำลาย จึงทำให้ผลิตภัณฑ์แก๊สมากขึ้นด้วยค่ะ

ดังรูปที่แนบมาแสดงการการเกิดปฏิกิริยาของ Tar โดยใช้ Ni/Dolomite เป็นตัวเร่งปฏิกิริยามีสมการบอกไว้แบบนี้ค่ะ



NiO + H2 -------> Ni(0) + H2O (1)
Ni(0) + CxHy(tar) -------> NiCx + Hy (2)
NiCx + Hy + steam -------> Ni + CO + H2 (3)

ตอนมีนิกเกิลอยู่กับ Dolomite หนูก็พอเข้าใจได้ค่ะ แต่ในเปเปอร์ที่หนูอ่านอยู่ เขาไม่ได้ใช้นิกเกิลด้วย มีเพียง CaO และ MgO ในเปเปอร์หลาย ๆ ฉบับก็ให้ผลการทดลอง tar ก็ลดลง แต่ไม่ได้บอกว่าเกิดขึ้นอย่างไร
หนูอยากทราบว่า หากไม่มีนิกเกิลแล้ว จะสามารถอธิบายในทำนองเดียวกันกับตอนมีนิกเกิลด้วยได้ไหมคะ

คือ tar จะถูกดูดซับบน active surface ของ CaO และ MgO ได้ แล้วเมื่อเจอน้ำจึงทำปฏิกิริยา steam reforming ให้ CO และ H2 ออกมา หรือทำปฏิกิริยา cracking (อุณหภูมิการทำปฏิกิริยาใน reactor 750-900ºC)

อีกอย่างแล้วทำไมในที่นี้เขาจึงเขียนว่า Dolomite เป็นตัวซัพพอร์ตคะ
ขอขอบคุณอีกครั้งค่ะ และขอให้สุขภาพอาจารย์เป็นปกติโดยไวนะคะ

ด้วยความนับถือ

ส่วนคำตอบที่ตอบไปนั้น มีรายละเอียดดังข้างล่าง (มีการขยายความเพิ่มขึ้นจากคำตอบจริงที่ตอบไป) ผมเอาคำตอบที่ตอบอีเมล์ทั้งสองฉบับมาเขียนใหม่

Pyrolysis เป็นกระบวนการทำให้สารเคมีสลายตัวด้วยความร้อน สำหรับสารอินทรีย์กระบวนการนี้จะทำให้โมเลกุลสารอินทรีย์ที่มีขนาดใหญ่นั้นแตกตัวออกเป็นโมเลกุลที่เล็กลง โมเลกุลขนาดเล็กที่เกิดขึ้นนั้นอาจหลุดออกจากระบบในรูปของโมเลกุลอิสระ หรือมีการจับรวมตัวกันเป็นโมเลกุลที่ใหญ่ขึ้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับภาวะการเกิดปฏิกิริยา เช่นในปฏิกิริยา ethane cracking หรือ propane cracking ที่เกิดในภาวะแก๊สนั้น จะมีการใส่ไอน้ำผสมเข้าไปกับสารตั้งต้น บทบาทหน้าที่ของไอน้ำมีทั้ง (ก) ให้ความร้อนเบื้องต้นแก่สารตั้งต้นก่อนที่จะเข้าไปรับความร้อนใน furnace (ข) ลดความเข้มข้นของสารตั้งต้นและผลิตภัณฑ์ที่เกิด ทำให้โอกาสที่ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจะจับตัวเป็นโมเลกุลที่ใหญ่ขึ้นนั้นลดลง และ (ค) ทำปฏิกิริยากับ coke (สารประกอบคาร์บอนโมเลกุลใหญ่ที่เป็นของแข็ง) เพื่อให้ coke สลายตัวกลายเป็นแก๊สไป

Thermal cracking ก็เป็นการทำให้สารสลายตัวด้วยความร้อน คำ ๆ นี้จะเห็นใช้กันในวงการกลั่นน้ำนันและปิโตรเคมี การผลิตโอเลฟินส์จากไฮโดรคาร์บอน การผลิตน้ำมันเบน (พวกเบนซินและดีเซล) จากน้ำมันหนักก็ใช้ปฏิกิริยา thermal cracking นี้ ในกรณีเหล่านี้จะทำปฏิกิริยาในภาวะที่ไม่มีแก๊สออกซิเจนในระบบ ความร้อนที่ต้องใช้ในการทำปฏิกิริยาจะเป็นแหล่งพลังงานภายนอกที่จ่ายให้กับเครื่องปฏิกรณ์

Gasification ถ้าแปลออกมาตรง ๆ ก็คือการทำให้เป็นแก๊ส ศัพท์นี้เรามักจะใช้ในกรณีที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นแก๊ส (ที่อุณหภูมิห้อง) เป็นหลัก สารตั้งต้นอาจเป็นของเหลว (เช่นไฮโดรคาร์บอน) หรือของแข็ง (เช่นถ่านหิน) ก็ได้ ปฏิกิริยานี้อาจเกิดในภาวะที่ไม่มีออกซิเจนหรือมีออกซิเจนจำกัดก็ได้
ในการทำให้โมเลกุลขนาดใหญ่แตกตัวเป็นโมเลกุลที่เล็กลงนั้น ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความไม่อิ่มตัวเพิ่มสูงขึ้น (เช่นการทำให้ไฮโดรคาร์บอนอิ่มตัวแตกตัว จะได้สารประกอบโอเลฟินส์เกิดขึ้น) ถ้าหากผลิตภัณฑ์ที่ได้นั้นมีขนาดเล็กก็มักจะหลุดรอดลอยออกไปเป็นแก๊ส โอกาสที่จะจับรวมตัวกันเป็นโมเลกุลใหญ่จะน้อย แต่ของแข็งและ/หรือของเหลวที่ตกค้างอยู่จะมีโอกาสมากกว่าที่จะจับตัวกันเป็นโมเลกุลที่ใหญ่ขึ้น สำหรับพวกสารอินทรีย์แล้วโครงสร้างสุดท้ายที่มีความไม่อิ่มตัวสูงสุดที่คาดหวังได้คงจะเป็นแกรไฟต์ (C)
ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ได้จะมีสารอะไรบ้างนั้นก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของสารตั้งต้นที่มีอยู่ในระบบ เช่นในกระบวนการ thermal cracking ของอีเทนหรือโพรเพน (มีแต่อะตอม C กับ H) ที่มีการเติมไอน้ำเข้าไปในระบบด้วย ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจึงมี CO CO2 CH3OH ได้ (ออกซิเจนมาจากไอน้ำ)
ปฏิกิริยา pyrolysis นี้มีการนำมาใช้กับขยะที่เป็นสารประกอบอินทรีย์เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แก๊สเชื้อเพลิง โดยหลักการแล้วจะทำในภาวะที่ไม่มีออกซิเจนหรือมีออกซิเจนจำกัด ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดปฏิกิริยาการเผาไหม้ (combustion) ความร้อนที่ใช้ในปฏิกิริยานั้นอาจเป็นแหล่งความร้อนจากภายนอก หรือการให้สารอินทรีย์บางส่วนเกิดการเผาไหม้เพื่อผลิตความร้อนขึ้นในระบบ ในกรณีหลังนี้ปฏิกิริยา pyrolysis จะเกิดในภาวะที่มีการป้อนออกซิเจนเข้าไปอย่างจำกัด เพื่อให้เผาไหม้สารอินทรีย์ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น (เพียงเพื่อผลิตความร้อน) เพื่อให้ความร้อนที่เกิดขึ้นไปทำให้สารอินทรีย์ส่วนที่เหลือเกิดการสลายตัว

ในที่นี้ผมขอใช้คำว่า "ขยะที่เป็นสารอินทรีย์" แทนคำว่า "ขยะชีวมวล" เพราะที่ผ่านมานั้นเห็นว่าคำว่าขยะชีวมวลอาจทำให้บางคนเข้าใจความหมายแตกต่างกัน ขยะชีวมวลที่เป็นของเหลือทิ้งจากผลิตผลทางการเกษตรจากการปลูกพืชต่าง ๆ (เช่น ลำต้น กิ่ง ใบ) จะมีองค์ประกอบพวกเซลลูโลสเป็นหลัก ในขณะที่ขยะบางแบบที่ทิ้งจากอาคารบ้านเรือนนั้นอาจเป็นพวกขยะพลาสติก (มันก็ผลิตขึ้นจากสารประกอบอินทรีย์) แต่การที่สายโซ่เซลลูโลสและสายโซ่พอลิเมอร์นั้นมันแตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรต้องระวังในการนำผลการทดลองที่ได้จากขยะชนิดหนึ่งไปใช้กับขยะอีกชนิดหนึ่ง เพราะพฤติกรรมการสลายตัวนั้นมันไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันด้วย

แม้แต่ตัวพลาสติกเองก็ยังมีความแตกต่างกันเพราะพลาสติกหลัก ๆ ที่ใช้กันในบ้านเรือนนั้นมีทั้ง พอลิเอทิลีน (PE) พอลิโพรพิลีน (PP) พอลิสไตรีน (PS) พอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) และพอลิเอทิลีนเทอฟาทาเลต (PET) ซึ่งต่างมีการสลายตัวที่ยาก-ง่ายแตกต่างกันและได้ผลิตภัณฑ์ต่างกัน พวก PE PP PS นั้นมีแต่อะตอม C กับ H พวก PVC จะมีอะตอม C H และ Cl ส่วน PET นั้นจะมีอะตอม C H และ O ในโมเลกุล พลาสติกพวกไนลอนก็จะมีอะตอม N เพิ่มขึ้นมาอีก ขยะที่เป็นกล่องนม กล่องน้ำผลไม้ ถุงพลาสติกบรรจุอาหารที่เป็นพลาสติกลามิเนตหลายชั้น ก็มีชั้นของโลหะอะลูมิเนียมด้วย ในขณะที่ขยะที่เป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาตินั้นจะมีอะตอม C H และ O เป็นหลัก และยังอาจมีแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบอยู่ในตัวพืชด้วย

เรื่องการสลายตัวของพลาสติกนี้เคยเล่าเอาไว้ใน Memoir ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๗๘ วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๔ เรื่อง "การเปลี่ยนพลาสติกเป็นน้ำมัน" เอาไว้บ้างแล้ว ซึ่งตรงนั้นได้กล่าวเอาไว้บ้างแล้วว่าการสลายตัวของพลาสติกนั้นขึ้นอยู่กับโครงสร้างของพลาสติกอย่างไรบ้าง ในความเห็นของผมนั้นถ้าเป็นพวก PE หรือ PP น่าจะทำ pyrolysis ได้ง่ายกว่าตัวอื่น

สมมุติว่าในปฏิกิริยาหนึ่งนั้น สาร A สามารถสลายตัวไปเป็นผลิตภัณฑ์ B หรือ C ได้โดยตรง (ปฏิกิริยาคู่ขนาน) และพบว่าถ้าเติมสาร M ลงไปแล้วทำให้การเกิด B "ดีขึ้น" จะอธิบายบทบาทหน้าที่ของสาร M ในปฏิกิริยาดังกล่าวได้อย่างไร
ตรงนี้เราก็ต้องมาพิจารณาดูก่อนว่าคำว่า "ดีขึ้น" นั้น นิยามอย่างไร

ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองจากเมื่อเติมสาร M แล้วพบว่าการเกิด B "ดีขึ้น" เมื่อเทียบกับ "C" เป็นเมื่อเติมสาร M แล้วพบว่าสัดส่วนของ B ต่อ C ในผลิตภัณฑ์ที่ได้ (หรือค่าการเลือกเกิด - selectivity นั่นเอง) สูงขึ้น เราก็จะสามารถตั้งสมมุติฐานได้ดังนี้ (นิยามของค่า selectivity คือปริมาณผลิตภัณฑ์ชนิดใดชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นต่อปริมาณผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ซึ่งในตัวอย่างนี้คือ B/(B+C))

๑. การเกิด B เพิ่มมากขึ้นในขณะที่การเกิด C คงที่
๒. การเกิด B เพิ่มมากขึ้นในขณะที่การเกิด C ลดลง
๓. การเกิด B เพิ่มมากขึ้นและการเกิด C ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย แต่การเกิด B เพิ่มในอัตราที่สูงกว่า
๔. การเกิด B คงที่ แต่การเกิด C ลดลง
๕. การเกิด B ลดลง และการเกิด C ก็ลดลงด้วย แต่การเกิด C นั้นลดลงมากกว่า
สิ่งที่เราต้องนำมาพิจารณาว่าเป็นไปตามกรณีใดคือค่า conversion (ค่าการเปลี่ยนคือ ปริมาณสารตั้งต้นที่ทำปฏิกิริยาไปต่อปริมาณสารตั้งต้นทั้งหมด)

ในกรณีที่ ๑ และ ๓ นั้นเราจะเห็นค่า conversion เพิ่มขึ้น
ในกรณีที่ ๒ นั้นเราจะเห็นค่า conversion เพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าปฏิกิริยาการเกิด B ที่เพิ่มขึ้นกับปฏิกิริยาการเกิด C ที่ลดลงนั้น อันไหนโดดเด่นมากกว่ากัน
ในกรณีที่ ๔ และ ๕ นั้นค่า conversion จะลดลง

สิ่งที่ผมต้องการบอกให้ต้องคำนึงถึงก็คือ เวลาที่เราเติมสารใดสารหนึ่งเข้าไปในระบบแล้วเห็นการเกิด C ลดลง (ลดลงเมื่อเทียบกับปริมาณ A ทั้งหมดที่เกิดปฏิกิริยา) ก็อย่าด่วนสรุปว่าสารที่เติมเข้าไปนั้นจะไปยับยั้งการเกิด C เสมอไป มันอาจจะ ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการเกิด C หรือเข้าไปช่วยเพิ่มการเกิด C หรือไปลดการเกิด C ก็ได้ทั้งนั้น

CaO และ MgO ไม่ใช่ cracking catalyst ซึ่ง cracking catalyst นั้นเป็นกรด แต่กรดก็สามารถทำให้โมเลกุลไม่อิ่มตัวโมเลกุลเล็กต่อกันเป็นโมเลกุลใหญ่ขึ้น (เช่นพอลิเมอร์ไรซ์เซชันหรือ alkylation) ในระหว่างการ pyrolysis ก็จะเกิดพวกโมเลกุลไม่อิ่มตัวเหล่านี้เกิดขึ้น ที่ผมสงสัยคือ CaO และ MgO ที่เป็นเบสทั้งสองตัวอาจเข้าไปสะเทินกรดที่ทำให้โมเลกุลเล็กรวมตัวเป็น tar (มองในแง่หนึ่ง carbocation ก็จัดว่าเป็นกรดลิวอิสที่แรงเหมือนกัน)

ในภาวะมี H2 สูง Ni เป็น hydrogenation cat คือเติม H2 ไปที่พันธะ C=C ให้เป็น C-C ที่แตกหักเป็นโมเลกุลเล็กลงได้ง่ายกว่า
ในภาวะ H2 ต่ำ Ni ทำให้โมเลกุลเล็กต่อกันกลายเป็น coke ได้

ในขณะเดียวกัน Ni ก็เป็น steam reforming cat ทำให้ไฮโดรคาร์บอนทำปฏิกิริยากับน้ำ สลายตัวเป็นโมเลกุลเล็กลงได้

กรดที่แรงมากจะเป็น cracking catalyst ทำให้พันธะ C-C แตกหักได้ง่าย กลายเป็นโมเลกุลที่เล็กลง

กรดที่มีความแรงรองลงมาทำใหเกิด cracking ไม่ได้ แต่ทำให้โมเลกุลที่มีพันธะ C=C ต่อกันเป็นโมเลกุลใหญ่ได้

กรดที่มีความแรงมากนั้นสามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาที่ต้องการกรดที่มีความแรงต่ำกว่าได้ แต่กรดที่มีความแรงต่ำไม่สามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาที่ต้องการกรดที่มีความแรงสูงได้ ส่วนปฏิกิริยาใดต้องการกรดที่มีความแรงเท่าใดนั้นดูตัวอย่างได้จากตารางที่ 1 ในหน้าถัดไป

ในกรณีที่ถามมานั้นคาดว่า cracking เกิดจากอุณหภูมิเป็นหลัก (thermal cracking) ไม่ใช่จากกรด (catalytic cracking) แต่อาจมีกรดเกิดขึ้นในระหว่างการสลายตัว ส่วนกรดที่เกิดจะมีความแรงเท่าใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับขยะที่นำมาเผาว่าประกอบด้วยธาตุอะไรบ้าง

ตารางที่ 1 ความแรงของกรดที่ต้องการในการทำให้เกิดปฏิกิริยา (เรียงจากต่ำไปสูง)
จากหนังสือ Satterfield,C.N.,"Heterogeneous catalysis in industrial practice", 2nd Ed.,McGraw Hill, 199


HR ที่ต้องการ
< +4 Dehydration of alcohols
< +0.82 Cis-trans isomerisation of olefins
< -6.63 Double-bond migration

Alkylation of aromatics

Isomerisation of alkylaromatics

Transalkylation of alkylaromatics
< -11.5 Cracking of alkylaromatics
< -11.63 Skeletal isomerisation
< -16.0 Cracking of paraffins


ในส่วนตัวนั้นจะลองตั้งสมมุติฐานเล่น ๆ ดูว่า CaO และ MgO มีบทบาทตรงไปจับกับโมเลกุลที่เป็นกรด ทำให้ยับยั้งการเชื่อมต่อเป็นโมเลกุลใหญ่ เช่น tar ก็เลยเห็นการเกิด tar ลดลง หรือไม่ก็อาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำให้ cabocation มีเสถียรภาพมากขึ้น ส่วนความจริงจะเป็นอย่างไรนั้นก็ไม่รู้เหมือนกันเพราะยังไม่คิดจะศึกษาทางด้านนี้

คำว่า support ในทางตัวเร่งปฏิกิริยานั้นเป็นตัวช่วยในการกระจายตัว active species ซึ่งในกรณีของคำถามที่ถามมานั้น active species คือ Ni ส่วนใหญ่ในทางปฏิบัตินั้น support จะไม่มีส่วนยุ่งเกี่ยวในการทำปฏิกิริยา แต่ก็มีหลายปฏิกิริยาเหมือนกันที่ support มีส่วนร่วมในการทำปฏิกิริยา สิ่งหนึ่งที่เป็นที่ทราบกันก็คือ support ที่มีความเป็นกรดบนพื้นผิวสูง (เช่นพวก Al2O3) จะสามารถเร่งปฏิกิริยาการเกิด coke (ซึ่งเป็นปฏิกิริยาข้างเคียงที่ไม่เป็นที่ต้องการ) ให้สะสมบนพื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยาได้ การแก้ปัญหาตรงนี้กระทำได้ด้วยการสะเทินตำแหน่งที่เป็นกรดบนพื้นผิว support หรือการใช้ support ที่มีพื้นผิวเป็นเบส
เท่าที่เคยทดสอบนั้น CaO เป็นออกไซด์ที่ทนต่ออุณหภูมิสูง แต่ MgO นั้นสามารถสลายตัวให้แก๊สออกซิเจนออกมาได้ในระดับหนึ่ง โดยไอออน Mg2+ จะถูกรีดิวซ์กลายเป็น Mg0 ได้ที่อุณหภูมิที่สูงพอ (แม้ว่าจะเผาในอากาศ) แต่จะไม่ถูกรีดิวซ์ทั้งหมด (ดู Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๗๗ วันศุกร์ที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เรื่อง "น้ำหนักหายได้อย่างไร") ส่วน Mg0 ที่เกิดขึ้นนั้นจะมีบทบาทอย่างไรในการทำปฏิกิริยาหรือไม่นั้นผมก็ไม่รู้เหมือนกันเพราะไม่เคยทดลอง

เขียนไปเขียนมาดูเหมือนว่าผมจะไม่ได้ตอบคำถามอะไรเขาสักเท่าใด คงทำได้เพียงให้ข้อคิดเห็นเท่านั้นเอง

วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

โพรงกระต่าย MO Memoir : Sunday 28 July 2556

เรื่องมันเริ่มจากปีที่แล้วที่อาจารย์สอนวิทยาศาสตร์มอบหมายงานให้นักเรียนชั้นป. ๔ สังเกตและบันทึกพฤติกรรมสัตว์มีกระดูกสันหลังเป็นเวลา ๑ เดือน ลูกสาวคนเล็กผมพอได้รับงานมาก็อยากได้ตัวโน้นตัวนี้มาเลี้ยง (ทั้งหมา แฮมเตอร์ และชูการ์ไรเดอร์) ตัวผมกับภรรยาก็ต้องคอยเตือนว่าจะหาอะไรมาเลี้ยงมันไม่จบแค่เดือนเดียวนะ ม้นต้องเลี้ยงยาวต่อกันไปจนกว่ามันจะตาย และที่สำคัญก็คือการเลี้ยงส้ตว์ไม่มีวันหยุด จะปิดบ้านไปเที่ยวไหนต่อไหลหลายวันโดยปล่อยให้สัตว์อยู่เฝ้าบ้านไม่ได้ ต้องมีคนหาอาหารและน้ำให้มันกินด้วย สุดท้ายก็ไปลงที่กระต่าย

สาเหตุที่ยอมให้เลี้ยงกระต่ายก็เพราะรอบ ๆ บ้านนั้นมีส่วนที่เป็นพื้นดินอยู่เยอะ มีหญ้าและต้นไม้ต่าง ๆ ขึ้นทั่วไปหมด โดยเฉพาะต้นกระถินและพืชผักสวนครัวหลายอย่างที่เอาใบและดอกมาให้กระต่ายกินได้ (พวก กระเพรา ยอดแค ดอกอัญชัญ ตำลึง ฯลฯ) ก็เลยคิดว่าจะเลี้ยงแบบปล่อยให้มันวิ่งไปรอบ ๆ บ้านหาที่อยู่ของมันกันเอง
 
กระต่ายคู่แรกไปซื้อมาจากสนามหลวง ๒ ราคาตัวละ ๙๐ บาท เป็นลูกกระต่ายเล็ก ๆ อายุประมาณ ๑-๒ เดือน ต้องซื้อกรงและซื้ออาหารมาให้มันด้วย ลูกสาวคนเล็กตั้งชื่อตัวผู้ว่า "ใหญ่" และตัวเมียว่า "จิ๋ว" ตอนแรกต้องเลี้ยงไว้ในกรงก่อนเพราะกลัวว่าแมวจากบ้านข้าง ๆ จะมาลากเอามันไป
 
พอมันมีอายุสัก ๖ เดือนก็พาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำ จากนั้นก็ปล่อยให้มันอยู่นอกกรง ให้มันวิ่งเล่นได้เองอย่างอิสระรอบ ๆ บ้าน ส่วนอาหารมันจะมากินที่จานหรือหาใบไม้กินเองก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของมัน

ไม่ทันไรเจ้าจิ๋วก็คลอดลูกครอกแรกออกมา ๔ ตัว มันใช้โพรงที่ขุดลงไปใต้ถุนบ้านเป็นรัง ลูกครอกนี้พอออกมาวิ่งเล่นได้ไม่นานปรากฏว่าถูกแมวลากไป ๑ ตัว ไปตามเอากลับมาได้แต่ก็บาดเจ็บและตาย ก็เลยเหลือแค่ ๓ ตัว อยู่ไปสักพักก็หายไปอีก ๑ ตัว คือหายไปแบบไม่มีซากให้เห็นว่าหายไปได้อย่างไร ก็เลยสงสัยว่าคงเป็นผลงานของแมวอีก
 
ต่อมาเจ้าจิ๋วก็คลอดลูกครอกที่สองอีก ๔ ตัว ลูกครอกนี้ก็เช่นเดียวกันกับครอกแรกคือถูกแมวลากเอาไป ๑ ตัว ตามกลับมาได้แต่ก็ตายในวันรุ่งขึ้น และก็มีหายสาบสูญไปอีก ๑ ตัว คือหายไปแบบไม่มีร่องรอยให้เห็นว่าหายไปได้อย่างไร ดังนั้นในขณะนั้นที่บ้านก็เลยเหลือกระต่ายอยู่ ๖ ตัว
 
ต่อมาก็พบกับปัญหาที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนถึงทุกวันนี้ คือลูกกระต่ายทั้ง ๔ ตัวนั้นค่อย ๆ หายไปทีละตัวแบบไม่เหลือซากให้เห็น แถมตัวพ่อกระต่ายก็พบนอนตายตัวแข็งอยู่ในบ้านตอนเช้า ที่เคยสงสัยว่าลูกกระต่ายที่หายไปนั้นเป็นฝีมือของแมวก็ไม่น่าจะใช่ เพราะมันตัวโตเกินกว่าที่แมวจะคาบและกระโดยขึ้นรั้วเอาไปได้ แถมแมวของบ้านข้าง ๆ ที่เคยมาป้วนเปี้ยนเฝ้ากระต่ายที่บ้านนั้นก็หายไปด้วย (แบบไม่มีร่องรอยให้เห็น) การหายตัวไปนั้นมีทั้งในช่วงกลางคืน คือตอนค่ำยังเห็นอยู่ แต่พอรุ่งเช้าก็ไม่เห็นแล้ว และในช่วงกลางวันคือตอนเช้ายังเห็นอยู่ แต่พอสาย ๆ ก็หายไปแล้ว

กระต่ายหายไปทีไรลูกสาวคนเล็กก็ร้องไห้ใหญ่ ต้องคอยปลอบ

มีการคุยกับเพื่อนบ้านบ้างเหมือนกันว่ามีตัวอะไรที่จะเอากระต่ายไปแบบไม่ทิ้งร่องรอยได้บ้าง เท่าที่เคยเห็นในบริเวณสวนรกร้างที่อยู่นอกรั้วข้างบ้านนั้นก็มีตัวตะกวดเดินอยู่ แต่อยู่มากว่า ๓๐ ปีแล้วก็ไม่เคยเห็นมันเข้ามาเดินในบ้าน เห็นแต่ไปนอนบนต้นมะพร้าวในสวน ว่ายน้ำอยู่ในท้องร่องสวน หรืออย่างมาก็มานอนบนรั้ว สัตว์อีกชนิดที่มีการพบกันในสวนข้างบ้านคืองูเหลือม แต่ตัวนี้นาน ๆ พบที และไม่เคยมีปรากฏว่าเคยโฉบเข้ามาใกล้แถบบ้าน งูที่เข้าบ้านจะเป็นพวกงูเขียวหางไหม้กับงูดินซะมากกว่า จะว่าเป็นนกขนาดใหญ่โฉบไปนั้นก็ไม่แน่ใจ เพราะจะว่าไปไม่เคยเห็นหรือได้ยินเสียงนกกลางคืนมาหากินแถวบ้าน ที่มีอยู่จะเป็นพวกนกหากินกลางวันซะมากกว่า ตอนนั้นผมยังสงสัยว่าอาจเป็นตะกวดที่เข้ามาจับกระต่ายกิน ก็เลยอุตสาห์เอาปืนลูกกรดที่ปรกติเก็บใส่กระเป๋าล็อกกุญแจเอาไว้มาเตรียมพร้อม กะว่าเห็นตัวจะจะเมื่อไรจะจัดการมันซะที แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีตัวอะไรโผล่เข้ามาให้เห็น แต่กระต่ายก็ยังหายไปอยู่
  
ตอนที่เจ้าใหญ่ตายนั้นเจ้าจิ๋วกำลังท้องครอกที่สามอยู่ และยังมีลูกครอกที่สองหลงเหลืออยู่ ๑ ตัว ตอนคลอดลูกครอกที่สามนี้เจ้าจิ๋วขุดโพรงลงไปใต้กองใบไม้ที่กองไว้เหนือกองทราย คือตัวบ้านนั้นสร้างขึ้นบนท้องร่องสวนเดิม มีการถมทั้งเศษหิน ดิน และทราย ลงไปในคูร่องสวนและปรับระดับพื้นดินเดิมให้สูงเท่าระดับถนน ดังนั้นสนามรอบบ้านบางตำแหน่งนั้นจะมีลักษณะเป็นบ่อทรายอยู่ ทำให้กระต่ายขุดโพรงได้ง่าย เจ้าจิ๋วมันไปคลอดลูกในโพรงที่มันขุด แล้วก็ไปให้นมลูกเป็นระยะ พอให้นมเสร็จมันก็จะขุดทรายปิดปากโพรงเอาไว้ ออกมาหาอะไรกินและก็นอนเฝ้าบริเวณใกล้ปากโพรง พอจะให้นมลูกทีก็ไปขุดเปิดปากโพรงใหม่ ลูกครอกนี้มีทั้งสิ้น ๖ ตัว ลูกมันอยู่ในโพรงนานเท่าไรก็ไม่รู้ มารู้เอาว่ามันมีลูกครอกนี้ก็เมื่อมันโตพอจะออกมาวิ่งเล่นนอกโพรงได้ สรุปว่าในเวลาไม่ถึงปีเจ้าจิ่วออกลูกถึง ๑๔ ต้ว
  
ทีนี้ก็เกิดเหตุการณ์ซ้ำเดิมอีก คือลูกครอกนี้หายไปในคืนเดืยวพร้อมกัน ๔ ตัวแบบไม่มีร่องรอยใด ๆ ไม่กี่วันถัดมาลูกครอกที่สามก็หายตัวไปอีกหนึ่งตัวและลูกครอกที่สองที่มีเหลืออยู่ตัวเดียวนั้นก็หายไปอีกแบบไม่มีร่องรอยเช่นเดียวกัน และไม่กี่วันต่อมาเจ้าจิ๋วก็หายไปแบบไร้ร่องรอยเช่นเดียวกัน

รูปที่ ๑ (บน) ลูกกระต่ายครอกที่สามของเจ้าจิ่วโผล่หน้าออกมาจากโพรง (ล่าง) เจ้าจิ๋วกำลังให้นมลูก

พอเหลือกระต่ายอยู่ตัวเดียวก็เลยไปซื้อมาใหม่อีก ๒ ตัวให้มันอยู่เป็นเพื่อนกัน คราวนี้ตั้งชื่อตัวที่เป็นลูกครอกที่สามที่เหลืออยู่เดียวว่า "ห่อหมก" แต่มันจะเรียกว่าเจ้า "จ้อน" ที่ซื้อมาใหม่สองตัวนั้นตั้งชื่อให้ว่า "แจงลอน" กับ "ทอดมัน" คราวนี้เลี้ยงอยู่ในกรงแล้ว คือกลางคืนจับใส่กรงเล็ก กลางวันปล่อยให้วิ่งเล่นในกรงใหญ่ที่ทำไว้ข้างบ้าน เลี้ยงไม่ทันไรปราฏกว่าเจ้าทอดมันมีอาการขนร่วง พาไปหาหมอ หมอบอกว่าติดเชื้อราก็ให้ยามากินและทา แต่ไม่กี่วันหลังจากนั้นเจ้าทอดมันก็ตาย 
   
(แจงลอนเป็นชื่ออาหารทางจังหวัดชลบุรี ทำเหมือนกับทอดมันแต่จะหวานกว่าและบางทีก็ใส่มะพร้าวด้วย แต่แทนที่จะใช้การปั้นเป็นแผ่นแล้วนำไปทอด กลับใช้วิธีปิ้งแทน คือจะเอาไปปั้นเป็นก้อนกลม ๆ รอบ ๆ ไม้ไผ่หรืออ้อยคล้าย ๆ ลูกชิ้นเสียบไม้ แล้วนำไปปิ้งให้สุก)

เจ้าห่อหมกกับแจงลอนนั้นพอโตขึ้นสักพักก็ต้องเอาไปปล่อยไว้ในกรงใหญ่ข้างบ้าน กรงข้างบ้านนี้แยกเป็นสองส่วนคือส่วนหนึ่งมีตัวกรงที่ปิดมิดชิดรอบด้านสำหรับขังมันไว้ตอนกลางคืน พอกลางวันก็ปล่อยให้มันออกมานอกกรงนี้แต่ให้อยู่ในขอบเขตรั้วกั้นอีกชั้นหนึ่ง บริเวณติดกันนั้นกั้นรั้วเอาไว้ปลูกต้นไม้สำหรับให้กระต่ายวิ่งเล่น เหตุที่ต้องกั้นเอาไว้ก่อนก็เพราะกลัวว่ากระต่ายจะมากินต้นไม้จนตายก่อนที่ต้นไม้จะมีโอกาสโต แต่ท่าทางเจ้าห่อหมกมันจะชอบมาวิ่งเล่นทางด้านนี้มาก เพราะในช่วงแรกเห็นมันพยายามทั้งปีนและกระโดดข้ามรั้วข้ามมาอีกฝั่งให้ได้ แต่สุดท้ายมันก็พบวิธีการใหม่ที่สบายกว่า ก็คือขุดโพรงมุดลอดใต้รั้วเอง 
   
ที่มันขุดได้คงเป็นเพราะบริเวณนี้เป็นตำแหน่งที่ใช้ทราบถมพื้น ตอนแรกก็เห็นมันไปลองขุดที่มุมอื่นก่อน แต่ขุดลงไปไม่ได้เพราะไปเจอกับเศษปูนที่ช่างเทเอาไว้ตอนสร้างบ้าน มันเพิ่งจะมาเจอตำแหน่งที่เหมาะสม คือขุดลอดจากรั้วฝั่งหนึ่งมาโผล่ใต้โคนต้นเผือกที่ปลูกเอาไว้ (ไม่รู้ว่าม้นจะขุดลงไปกินหัวเผือกที่ปลูกเอาไว้ด้วยหรือเปล่า) ดังนั้นในตอนนี้พื้นที่วิ่งเล่นของเจ้าห่อหมกและแจงลอนก็เลยกว้างมากขึ้น

รูปที่ ๒ (บน) โพรงที่เจ้าห่อหมกและแจงลอนขุดลอดรั้วไปอีกฝั่งหนึ่ง (ล่าง) รั้วอยู่ทางซ้าย แต่มันไม่ได้ขุดแค่ลอดรั้วได้ กลับมีการขุดรูลึกลงไปทางด้านขวาอีก มุดใต้ต้นเผือกที่ปลูกเอาไว้

Memoir ฉบับนี้ไม่มีสาระอะไร ที่เขียนก็เพราะเห็นเจ้าห่อหมกมันอุตส่าห์ขุดโพรงสำหรับการเดินทางของมันได้สำเร็จ ก็เลยถ่ายรูปเอามาฝาก เขียนค้างเอาไว้ตั้งแต่เมื่อวาน เช้าวันนี้ไปถ่ายรูปจะเอามาประกอบบันทึก ปรากฏว่าไม่เห็นทั้งเจ้าห่อหมกและแจงลอง เรียกก็ไม่ออกมา ไม่รู้ว่ามันเข้าไปนอนในบ้านใหม่ของมัน หรือหายไปอย่างไม่มีร่องรอยอีกแล้ว เมื่อวานก็ยังเห็นอยู่เลย
  
อันที่จริงช่วงนอนป่วยอยู่โรงพยาบาลมีคนอีเมล์มาถามเรื่อง Pyrolysis ซึ่งผมก็ได้ให้ความเห็นจากมุมมองของผมให้กับเขาไปบางส่วนแล้ว แต่มันยังมีอีกหลายเรื่องที่ผมเห็นว่าน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้พิจารณากัน (ผมไม่ได้ให้คำตอบแบบฟันธง แต่ให้พิจารณาสมมุติฐานที่เป็นไปได้ทั้งหมดก่อน จากนั้นจึงค่อยดูผลการทดลองหรือวิธีการทดลองประกอบว่าสมมุติฐานไหนไม่น่าเป็นจริง) ก็เลยคิดว่าจะเอาเรื่องนี้มาเขียนเป็นเรื่องยาวสักที และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็มีอีเมล์มาถามเรื่องพีคประหลาดปรากฏบนโครมาโทแกรมของ GC อีก ซึ่งผมก็ได้ให้คำแนะนำไป แต่ยังไม่มีคำตอบกลับมา ก็เลยยังไม่รู้ว่าเรื่องมันจะลงเอยอย่างไร ถ้ามีความคืบหน้าอย่างไรก็คงมีการนำเอาเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังอีกที

ท้ายสุดก็ขอฝากข้อมูลที่ไม่เหมือนกับนิทานอีสปว่าทำไมกระต่ายจึงวิ่งแข่งแพ้เต่า เป็นการโต้กลอนตอบโต้ระหว่างคนสองคน คนหนึ่งแต่งกลอนให้กระต่าย อีกคนหนึ่งแต่กลอนให้เต่า (จำมาจากเทปตลกของคุณเด๋อ ดอกสะเดา ในอดีตนั้นคณะตลกก็มีการออกเทปคาสเซสบันทึกเสียงเช่นเดียวกันกับนักร้อง เทปแบบนี้จะเรียกว่าเทปตลก แยกจากเทปเพลง)

กระต่ายน้อย วิ่งลิ่ว ปลิวทะยาน
เต่าก็คลาน ช้าช้า มาข้างหลัง
กระต่ายน้อย เห็นหลักชัย ดีใจจัง
เต่าตามหลัง เหาะโด่ง ลงหลักชัย

กระต่ายไม่ได้ขี้เกียจหรอก เต่าต่างหากที่ขี้โกง

วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เรื่องของ Appendix ที่ไม่ใช่ภาคผนวก MO Memoir : Sunday 21 July 2556

หายหน้าหายตาไปกว่าอาทิตย์ด้วยสาเหตุที่ใครต่อใครหลายคนได้ทราบกันดีอยู่แล้ว และต้องขอขอบคุณในน้ำใจที่อุตส่าห์เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจถึงโรงพยาบาล วันนี้หลุดออกจากชั้น ๙ ของโรงพยาบาลที่แวดล้อมไปด้วยนางฟ้าชุดขาวมานอนพักผ่อนที่บ้านได้แล้ว ก็ขอเล่าบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ครั้งนี้เอาไว้สักหน่อย

ผมเริ่มมีอาการปวดท้องตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้ว ตอนเช้าวันศุกร์ตอนขับรถออกจากบ้านเพื่อจะไปร่วมงานรับปริญญาสมาชิกของกลุ่มที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรผมยังไม่มีอาการใด ๆ ระหว่างทางก็เกิดการปวดท้องขึ้นมา ตอนแรกคิดว่าเป็นเพราะยังไม่ได้กินข้าวเช้า เพราะปรกติจะกินข้าวเช้าก่อนออกจากบ้าน แต่ช่วงเวลานั้นทางบ้านมีเรื่องวุ่น ๆ ผมก็เลยกะว่าจะมากินที่ทำงานแทน ถึงที่ทำงานได้กินข้าวเช้าแล้วอาการก็ยังไม่หาย แถมยังมีอาการอาเจียนอีก ตอนสายก็เลยไปหาหมอที่หน่วยอนามัยของมหาวิทยาลัย อาการตอนแรกนั้นมันปวดไปทั่วทั้งช่องท้อง หมอก็เลยสงสัยว่าคงมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ก็เลยให้ยามารับประทาน อันที่จริงผมก็เคยมีอาการแบบเดียวกันเช่นนี้มาก่อน ก็เลยไม่ได้ติดใจอะไร กินยาเข้าไปแล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น พอบ่ายสองก็เลยตัดสินใจขับรถกลับบ้านก่อนรถจะติด

ค่ำวันนั้นภรรยาเดินทางจากกลับต่างจังหวัด มาเห็นอาการผมแล้วก็ทักผมแล้วว่าสงสัยจะเป็นไส้ติ่ง ผมก็บอกไปว่าไปหาหมอมาแล้วแต่หมอบอกว่าเกี่ยวกับกระเพาะ และตอนนั้นเวลากดที่สีข้างด้านขวามันก็ไม่ได้เจ็บแตกต่างไปจากการกดที่ตำแหน่งอื่นเท่าใดนัก ก็เลยนอนพักอยู่ที่บ้านจนวันเสาร์ อาการตอนเช้าวันเสาร์นั้นอาการที่มันเคยปวดทั่วท้องมันหายไป เหลือปวดอยู่เพียงบางบริเวณเท่านั้นก็เลยคิดว่าอาการมันคงจะดีขึ้น และมีอาการปวดเป็นพัก ๆ ตอนแรกภรรยาก็มาทักแล้วว่าให้พักอยู่บ้านหรือไม่ก็ไม่หาหมอให้ตรวจไส้ติ่ง แต่ก็ยังดันทุรังยังอุตส่าห์ขับรถไปส่งลูกไปเรียนภาษาตอนเช้า แล้วมานอนพักผ่อนรอสอนตอนนิสิตภาคนอกเวลาในช่วงบ่ายอีก ปรากฏว่าสอนได้เพียงชั่วโมงเศษอาการปวดชายโครงล่างด้านขวามันกำเริบถี่ขึ้น ก็เลยต้องเลิกสอนกลางคัน ขับรถกลับบ้าน และให้ทางบ้านส่งโรงพยาบาลในเย็นวันนั้น ทางภรรยาผมก็จัดเตรียมกระเป๋าเพื่อมานอนค้างที่โรงพยาบาลด้วยเลย (ด้วยความมั่นใจแน่นอนว่าผมต้องโดนขึ้นเขียงและไม่ได้กลับบ้านแน่)

พี่ชายขับรถมาส่งให้ที่โรงพยาบาล ส่งตรงหน้าแผนกอุบัติเหตุ-ฉุกเฉินเลย สิ่งแรกที่โดยตอนขั้นตอนปรกติก็คือวัดไข้และความดัน แพทย์ประจำแผนกมาตรวจ ซักถามอาการ แล้วก็ลองกดที่ตำแหน่งต่าง ๆ ของท้องดู พร้อมถามว่าเจ็บไหม กดตรงไหน ๆ ก็ไม่เจ็บ แต่พอมาถึงชายโครงล่างด้านขวาเท่านั้นแหละ หน้าเบี้ยวเลย พอเห็นอาการเช่นนี้เข้าสิ่งที่คุณหมอทำก็คือ "กดซ้ำที่เดิมอีกพร้อมทั้งถามอีกว่าเจ็บไหม" ผมก็ตอบกลับไปว่าเจ็บมาก คุณหมอก็เลยกดซ้ำที่เดิมอีกเป็นครั้งที่สามพร้อมทั้งถามคำถามซ้ำเดิมอีก พอได้คำตอบเดิมก็หยุดกด (สงสัยต้องการมติ ๓ ใน ๕) จากนั้นก็หันไปสั่งเจาะเลือดและตรวจปัสสาวะ พร้อมทั้งถามว่ากินน้ำกินอาหารครั้งสุดท้ายเมื่อใด ได้ยินคำถามเช่นนี้ก็มั่นใจแล้วว่าโดนผ่าแน่ ส่วนเวลาที่จะโดนผ่านั้นคงจะไม่เร็วกว่าเวลาที่กินน้ำกินอาหารครั้งสุดท้ายบวกไปอีก ๖ ชั่วโมง จากนั้นก็ให้เจ้าหน้าที่นำไปนอนรอในห้องพักชั้น ๙ พร้อมทั้งสั่งงดอาหารและน้ำ เพื่อรอผ่าตัดในคืนนั้น ระหว่างนั้นก็จะยังไม่มีการให้ยาแก้ปวดใด ๆ

สามทุ่มครึ่ง เจ้าหน้าที่ก็มารับตัวพาไปห้องผ่าตัดที่ชั้น ๓ ภรรยาก็ตามมาส่งได้แค่ถึงหน้าห้องผ่าตัดแล้วก็กลับไปรอบนห้องพัก ตอนเข้าไปในห้องผ่าตัดนี้ต้องมีการเปลี่ยนรถเข็นจากรถที่พามาจากห้องพักเป็นรถพาเข้าห้องผ่าตัด ผ่านเข้าไปในห้องรอคอยการผ่าตัดก็มีการสวมหมวกคลุมผมก่อน จากนั้นก็มีวิสัญญีแพทย์หญิงมาแนะนำตัวและทักทายว่าจะทำอะไรบ้าง พร้อมทั้งขอตรวจ "ฟัน" ในปาก ถามว่ามีการใส่ฟันปลอมหรือครอบฟันที่ไม่ติดแน่นบ้างไหม ขอดูฟันเสร็จก็บอกว่าอาจมีปัญหาในการสอดท่อเล็กน้อย (เข้าใจว่าเป็นท่อช่วยหายใจที่สอดเข้าทางปาก) แต่หมอจะพยายามไม่ให้เจ็บและจะไม่ทำให้ฟันบิ่น เรื่องตรวจฟันนี้พอจะเข้าใจว่าทำไปเพื่ออะไร เพราะถ้าการเรียงตัวของฟันมีปัญหาก็จะทำให้สอดท่อได้ยาก เรื่องนี้ผมโดนภรรยาขู่เอาไว้เยอะก่อนผ่าตัด และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่ผมโดนผ่า ระหว่างเส้นทางพอเปลี่ยนเจ้าหน้าที่รับตัวแต่ละครั้งก็จะมีการถามซ้ำคำถามเดิม ๆ คงเป็นเพื่อการยืนยันว่ารับคนไข้ไม่ผิดตัว

พอห้องผ่าตัดพร้อมเจ้าหน้าที่ก็เข็นรถเข้าไปในห้องผ่าตัด ก็ต้องมีการเคลื่อนย้ายอีก จากรถเข็นเป็นเตียงผ่าตัด เตียงผ่าตัดเป็นเตียงเล็ก ๆ พอแค่นอนได้ วางแขนข้างตัวยังไม่ได้เลย จากนั้นก็มีการเปลี่ยนชุดจากชุดคนไข้เป็นชุดผ่าตัด มีการปูผ้าอะไรต่อมิอะไรก็ไม่รู้คลุมตัวเต็มไปหมด จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เอาที่วางแขนมาเสียบเข้าข้างเตียงผ่าตัด ให้นอนกางแขนแผ่ออกไปทั้งสองข้าง แล้วก็มันแขนเอาไว้ไม่ให้หล่น มันขามัดตัวเอาไว้ไม่ให้ตกจากเตียงด้วย สักพักหนึ่งก็วิสัญญีแพทย์ก็เอาหน้ากากมาครอบที่จมูก พร้อมทั้งบอกให้หายใจเข้าลึก ๆ จำได้ว่าระหว่างที่หายใจดมยานั้นยังมองดูไฟในห้องผ่าตัดอยู่เลย แล้วก็วูบไปแบบไม่รู้เรื่องรู้ราว

ตื่นมาอีกทีก็มาอยู่ในห้องพักฟื้นหลังการผ่าตัด มองไปทางปลายเท้าก็เห็นมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งนั่งอยู่ที่โต๊ะอีกฟากหนึ่งของห้อง ชำเลืองไปทางหัวเตียงข้างซ้ายก็มีเครื่องวัดอัตราเต้นหัวใจกับความดันโลหิตที่มีการวัดเป็นพัก ๆ (รู้จากแรงบีบที่แขนข้างซ้าย) มีท่อคาอยู่ในรูจมูกข้างซ้ายและมีถุงระบายอยู่ที่หน้าท้องข้างขวา จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็มาทักทายถามว่าเป็นยังไงบ้าง ตอนนั้นรู้อยู่อย่างเดียวว่าอาการปวดท้องนั้นหายไปแล้ว ลุ้นแต่ว่าจะมีอาการปวดแผลกำเริบขึ้นแทนหรือเปล่า นอนอยู่ในห้องนั้นนานเท่าใดไม่ทราบ รู้แต่ว่าพอกลับไปถึงห้องพักอีกทีก็เที่ยงคืนแล้ว มาทราบในตอนเช้าจากภรรยาว่าใช้เวลาผ่าตัวประมาณชั่วโมงเดียว พอผ่าตัดเสร็จคุณหมอผ่าตัดก็ให้คนโทรเรียกให้ลงไปดูไส้ติ่ง คุณหมอตัดใส่ขวดเล็ก ๆ มาให้ดูพร้อมกับบอกว่าไส้ติ่งแตก (ตอนที่ได้ยินเรื่องนี้ผมคิดว่าเหมือนอู่ซ่อมรถเลย ที่ต้องเอาชิ้นส่วนเก่ามาให้ดูว่ามีการถอดเปลี่ยนจริง) ผมได้ยินอย่างนี้เข้าก็รู้แล้วว่าได้อยู่โรงพยาบาลนานแน่ แต่ก็ถือว่าโชคดีที่ยังรอดมาได้ ระหว่างผ่าตัดคุณหมอถ่ายรูปเอาไว้ด้วย เป็นรูปตอนดึงไส้ติ่งที่เป็นปัญหาออกมา และเป็นรูปเจ้าตัวปัญหาที่ตัดออกมาแล้ว ก็เลยเอามาลงบันทึกไว้ในที่นี้

รูปที่ ๑ รูปนี้คุณหมอเอามาให้ดูหลังการผ่าตัด ตรงที่วงกลมเหลือภรรยาผมบอกว่านั้นเป็นรูที่มันแตกทะลุ 


รูปที่ ๒ ไส้ติ่งเจ้าปัญหาที่ตัดออกมา

เนื่องจากมีปัญหาไส้ติ่งทะลุ ทำให้ยังไม่สามารถเย็บแผลผ่าตัดได้ ต้องเปิดแผลเอาไว้ก่อนเพื่อระบายเอาของเหลวในช่องท้องออกก่อน และยังมีการใส่ผ้าก๊อซซับของเหลวเอาไว้ในแผลด้วย ระหว่างพักฟื้นนี้คุณหมอที่ทำการผ่าตัดก็มาทำความสะอาดและตรวจบาดแผลให้วันละครั้งตอนค่ำ กว่าที่คุณหมอจะตัดสินใจเย็บแผลก็เย็นวันอังคาร

วันแรกที่ออกมานั้นยังต้องงดน้ำและอาหาร ริมฝีปากแห้งมาก เรื่องหิวนั้นไม่รู้สึกหิวเพราะวันมีน้ำเกลือ (+ น้ำตาล) ให้ตลอดทั้งวันทั้งคืน แถมบางช่วงเวลายังมียาปฏิชีวนะเสริมร่วมอีก ช่วงนี้ก็ได้ภรรยาช่วยเอาน้ำใส่หลอดกาแฟมาหยดให้ที่ริมฝีปากเพื่อไม่ให้มันแห้งเกินไป ที่รำคาญมากก็คือท่อที่คาจมูกอยู่ ทำให้หายใจลำบากเล็กน้อย และยังมีปัญหาเรื่องเสมหะในคออีก บ้วนออกมาทีมีเลือดติดมาด้วย (คงมาจากบาดแผลที่ได้รับตอนสอดท่อในระหว่างการผ่าตัด) สิ่งแรกที่ดีใจที่คุณหมอเอาออกไปก่อนคือท่อที่สอดคาจมูกนี้ มาเอาออกไปตอนทำแผลในวันจันทร์ เอาออกไปทีรู้สึกมันโล่งขึ้นเยอะ แถมยังอนุญาตให้ดื่มน้ำได้ แต่ต้องเป็นแบบค่อย ๆ จิบ ไม่ใช่ซดเอาซะเต็มที่

อีกเรื่องที่เป็นปัญหาหลังผ่าตัดคือปัสสาวะไม่ออก แม้ไม่ได้กินน้ำแต่น้ำที่เข้าไปกับน้ำเกลือก็ต้องถูกขับออกอยู่ดี ภรรยาอธิบายให้ฟังว่ายาสลบมันไปทำให้กล้ามเนื้อทุกส่วนหยุดการทำงาน พวกที่ฟื้นตัวช้าหน่อยจะเป็นพวกกล้ามเนื้อระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่าย กระเพาะปัสสาวะก็เลยโดนผลกระทบไปด้วย ผลก็คือจะทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะ แต่จะปัสสาวะไม่ออกเพราะกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะยังไม่ฟื้นจากการวางยา ในกรณีผมอาจจะโชคดีหน่อยที่ไม่ได้เป็นการผ่าตัดใหญ่ โดยวางยาสลบเป็นเวลาสั้น ๆ ก็เลยไม่โดนใส่สายสวนปัสสาวะ พอช่วงสายวันหลังวันผ่าตัดก็ปัสสาวะได้ตามปรกติ ส่วนระบบขับถ่ายนั้นยังต้องรอไปอีก ๑-๒ วันกว่ามันจะเริ่มทำงาน

พอจะเย็บแผลก็ต้องกลับที่ห้องผ่าตัดอีก คราวนี้เป็นคนละห้องกับห้องผ่าตัดไส้ติ่ง มีการฉีดยาชารอบ ๆ แผลก่อนทำการเย็บ ตอนที่เจ็บก็ตอนฉีดยาชาที่แหละ (เจ็บเหมือนโดนฉีดยา) ที่เขาต้องฉีดไปรอบ ๆ แผล ระหว่างที่เย็บแผลคุณหมอก็ถามเป็นระยะว่าเจ็บไหม ซึ่งมันก็ไม่รู้สึกอะไร (คงเป็นเพราะฤทธิ์ยาชา) แต่ท่อระบายของเหลวที่ช่องท้องยังคงเอาไว้อยู่

เย็นวันพุธคุณหมอมาดูใหม่ พอเห็นแผลที่เย็บไว้เมื่อวานก็บอกให้เผื่อใจไว้นิดนึง ว่าเผลอ ๆ อาจมีการต้องรื้อรอยเย็บทั้งหมดออกแล้วเริ่มต้นใหม่ (หมายถึงเปิดแผลเพื่อทำการระบายหนองใหม่) ภรรยาผมที่ยืนดูคุณหมอทำแผลอยู่ด้วยก็หันมาพยักหน้าให้ (ทำนองว่าให้ทำใจไว้ด้วย) เพราะแผลยังมีการซึมของน้ำเหลืองอยู่และยังดูแดงอยู่มาก ผ้าก๊อซที่ใส่ไว้ซับน้ำเหลืองนั้นพอดึงออกมาก็เห็นชุ่มไปหมด สิ่งที่คุณหมอทำก็คือตัดไหมออกเส้นหนึ่งและยัดผ้าก๊อซผืนใหม่เข้าไปแทนก่อนปิดแผล แล้วบอกว่าพรุ่งนี้ค่อยมาลุ้นกันต่อ

ค่ำวันพฤหัสบดีคุณหมอมาตรวจใหม่ ปรากฏว่าผลออกมาดีเกินคาด ทำให้คุณหมอประเมินว่าถ้ายังคงเป็นอย่างนี้ไม่วันเสาร์หรืออาทิตย์ก็คงจะออกจากโรงพยาบาลได้ พอเย็นวันศุกร์คุณหมอมาตรวจอีกทีก็บอกว่าวันรุ่งขึ้นก็ออกจากโรงพยาบาลไปนอนพักที่บ้านได้ แต่ยังต้องมาทำแผล ล้างแผล เปลี่ยนผ้าก๊อช อยู่วันละครั้ง

ผมเขียน Memoir ฉบับนี้เอาไว้ตั้งแต่เช้าแล้วค้างเอาไว้ เพิ่งจะมาต่อให้จบเมื่อกลับจากทำแผลที่โรงพยาบาล ที่เขียนเรื่องนี้ก็เพื่อเป็นการบันทึกประสบการณ์ของตนเอง และเป็นการเล่าประสบการณ์การโดนผ่าตัดครั้งแรกในชีวิตจากมุมมองของผู้ที่เป็นผู้ป่วย

วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สาเหตุที่แก๊สรั่วออกจาก polymerisation reactor MO Memoir : Friday 12 July 2556

เป็นธรรมเนียมที่ช่วงเวลานี้ของปีต้องขอแสดงความยินดีกับสมาชิกของกลุ่มที่สำหรับเร็จการศึกษา และได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรมหาบัณฑิตในช่วงเช้าทั้งสองคนคือ สาวน้อยหน้าบาน (คนใหม่) และสาวน้อยร้อยห้าสิบเซนต์ (คนใหม่) ก็ขอให้ทั้งสองคนประสบความสำเร็จมีแต่ความสุขในชีวิตตลอดไป ใครที่มีแฟนอยู่แล้วก็ขอให้แฟนรีบขอแต่งเร็ว ๆ ส่วนคนที่ยังไม่มีก็ขอให้มีคนมาจีบเยอะ ๆ

หลังจากที่ค้างคาใจมาเกือบ ๒๕ ปี จนกระทั่งเมื่อปลายเดือนที่แล้วก็ได้ทราบข้อมูลส่วนที่ขาดหายไป แม้ว่าจะเป็นด้วยวาจาและก็ยังมีรายละเอียดบางส่วนขาดหายไปก็ตาม แต่ก็เชื่อว่าน่าจะมีส่วนถูกต้องซะเป็นส่วนใหญ่ คือเป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์การระเบิดของโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชนิด HDPE (High density polyethylene) แห่งหนึ่งในเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ถ้าใครเพิ่งจะมาอ่านเจอเรื่องนี้ขอแนะนำให้กลับไปอ่าน Memoir ฉบับเหล่านี้ก่อนคือ

ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๕๘ วันอาทิตย์ที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๒ เรื่อง "Ethylene polymerisation"
ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๔๑ วันเสาร์ที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๕ เรื่อง "เพลิงไหม้โรงงานผลิต HDPE เมื่อธันวาคม ๒๕๓๑"

สิ่งที่ค้างคาใจผมมาตลอดคือ เขาทำพลาดให้แก๊สรั่วออกมาได้อย่างไร

ก่อนอื่นขอทบทวนเรื่องราวเกี่ยวกับปฏิกิริยาการพอลิเมอร์ไรซ์พอลิเอทิลีนหรือพอลิโพรพิลีนใน slurry phase ก่อน

ในการพอลิเมอร์ไรซ์แบบ slurry phase นั้น สารตั้งต้นที่เป็นแก๊ส (ได้แก่ เอทิลีน โพรพิลีน ไฮโดรเจน และอาจมีโอเลฟินส์ตั้งแต่ C4 ขึ้น ร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับว่าต้องการพอลิเมอร์ชนิดไหน) ตัวทำละลาย (พวกไฮโดรคาร์บอนเช่นเฮกเซน) และตัวเร่งปฏิกิริยา (เป็นผงของแข็ง) จะถูกป้อนเข้าไปใน reactor ที่เป็นถังปั่นกวน สารตั้งต้นจะละลายเข้าไปในตัวทำละลายและแพร่ไปยังตัวเร่งปฏิกิริยาที่แขวนลอยอยู่เพื่อเกิดการต่อโมเลกุลกันเป็นโมเลกุลที่ใหญ่ขึ้น
  
ในช่วงแรกของการต่อโมเลกุลนั้นจะได้สายโซ่ที่สั้นที่เรียกว่า oligomer ซึ่งยังไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นพลาสติกได้ แต่พอสายโซ่ยาวขึ้นก็จะกลายเป็นพอลิเมอร์และสามารถนำไปใช้งานเป็นพลาสติกได้ oligomer นี้จะยังคงอยู่ในตัวทำละลาย แต่พอสายโซ่โตขึ้นเป็นพอลิเมอร์ก็จะกลายเป็นของแข็งแขวนลอยอยู่ในตัวทำละลาย
  
อุณหภูมิของตัวทำละลายนั้นส่งผลต่อการละลายของ oligomer และพอลิเมอร์ ถ้าอุณหภูมิต่ำเกินไป oligomer ก็จะแยกตัวออกจากตัวทำละลาย กลายเป็นของแข็งเกาะที่ผนัง reactor และ/หรือระบบท่อ (ขึ้นอยู่กับว่าเกิดที่ไหน) แต่ถ้าอุณหภูมิสูงเกินไป พอลิเมอร์ที่เป็นของแข็งที่เป็นผงแขวนลอยอยู่ก็จะละลายเข้าไปในตัวทำละลาย และถ้าตัวทำละลายนั้นเย็นตัวลงใหม่มันก็จะแข็งตัวเป็นก้อนเกาะที่ผนัง reactor และ/หรือระบบท่อ ไม่ได้กลับมาเป็นผงแขวนลอยเหมือนเดิม
  
ตัวทำละลายที่ใช้นั้นมักจะเป็นไฮโดรคาร์บอนที่จุดเดือดไม่สูง เช่นเฮกเซน ทั้งนี้เพราะจะทำให้แยกตัวทำละลายที่ตกค้างอยู่ในผงพอลิเมอร์ที่ได้ออกมาได้ง่าย (ใช้ความร้อนไม่ต้องมากก็ระเหยออกมาได้หมด ทำให้ผงพอลิเมอร์ที่ได้ไม่เกิดการไหม้หรือหลอม) เป็นก้อน แต่เนื่องจากอุณหภูมิของการทำปฏิกิริยา (ประมาณ 80-90ºC) นั้นสูงกว่าจุดเดือดของเฮกเซนที่ความดันบรรยากาศ (69ºC) จึงจำเป็นต้องใช้ความดันช่วยเพื่อให้เฮกเซนยังคงเป็นของเหลว ณ อุณหภูมิที่ใช้ทำปฏิกิริยา
  
จากการที่ระบบ slurry phase (ตั้งแต่ตัว reactor และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในส่วน downstream ลงไป) ต้องมีการรักษาอุณหภูมิให้พอเหมาะ คือต้องไม่ต่ำเกินไปจนทำให้ oligomer เกิดการแข็งตัว และต้องไม่สูงเกินไปจนทำให้พอลิเมอร์เกิดการละลาย ทำให้ระบบมีความเสี่ยงที่จะเกิดการอุดตัน โดยเฉพาะในระบบท่อเชื่อมอุปกรณ์ต่าง ๆ ดังนั้นจึงมักจะมีการวางท่อเชื่อมเอาไว้มากกว่า 1 เส้นทาง (เช่นอาจมี 2 หรือ 3 เส้นทาง) เผื่อว่าเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งเกิดการอุดตัน ก็จะได้ใช้เส้นทางสำรอง จากนั้นก็จะทำการตัดแยก (หรือ isolate ระบบ ในที่นี้หมายถึงไม่ให้มีการเชื่อมต่อ ซึ่งอาจหมายถึงการปิดกั้นหรือไม่ให้มีการเชื่อมต่อกันโดยตรง) เส้นทางที่อุดตัน เพื่อที่จะทำความสะอาดเอาสิ่งที่อุดตันออก (รูปที่ ๑)


รูปที่ ๑ แผนผังอย่างง่ายของระบบ slurry phase reactor สำหรับการพอลิเมอร์ไรซ์พอลิเอทิลีนหรือพอลิโพรพิลีน เนื่องจากท่อระบาย slurry ออกจาก reactor มีโอกาสเกิดการอุดตันได้ง่าย ดังนั้นจึงมักมีการวางแนวท่อไว้มากกว่า ๑ แนว ถ้าแนวท่อหลักเกิดการอุดตันก็จะใช้แนวท่อสำรอง จากนั้นจึงทำการตัดแยก (isolate) ระบบท่อที่อุดตัน และถอดท่อที่อุดตันนั้นออกมาทำความสะอาด ก่อนจะประกอบกลับคืนเดิม

เพื่อที่จะทำให้สามารถทำการตัดแยกระบบท่อที่อุดตันเพื่อถอดมาทำความสะอาดได้นั้น จึงมักมีการติดตั้งวาล์วเอาไว้ทางด้านต้นทางและปลายทางของระบบท่อ สำหรับระบบ slurry แล้ว ball valve จะมีความเหมาะสมมากกว่า gate valve เพราะไม่ต้องกังวลเรื่อง slurry จะไปสะสมบริเวณร่องเหมือน gate valve ซึ่งจะทำให้ตัว gate ปิดไม่สนิทได้ (ในการบรรยายนั้นเรียกวาล์วตัวนี้ว่า block valve คำว่า block valve เป็นตัวบอกหน้าที่ของวาล์วว่าทำหน้าที่ปิดกั้นการไหล ไม่ได้บอกว่าเป็นวาล์วประเภทใด การเลือกว่าควรจะใช้วาล์วประเภทใด (gate, globe, ball, หรือ butterfly) ขึ้นอยู่กับความดัน อุณหภูมิ และชนิดของของไหลที่ไหลอยู่ในท่อนั้น


รูปที่ ๒ เมื่อถอดท่อที่อุดตันออกเพื่อทำความสะอาดควรต้องใส่ blind flange ตรงตำแหน่งที่ถอดท่อออกมาทั้งสองด้าน
  
การอุดตันของท่อนั้นอาจเป็นการอุดตันที่ทำให้เส้นทางการไหลมีขนาดเล็กลง หรืออาจมากจนทำให้ slurry ไหลผ่านไม่ได้ ในการถอดเอาท่อออกมาทำความสะอาดนั้นก็จะทำการปิดวาล์วด้านต้นทางและปลายทางของท่อที่จะทำการถอด จากนั้นจึงถอดท่อที่ต้องการทำความสะอาดออกมา และใส่ blind flange เอาไว้ตรงจุดที่ถอดท่อออกมา (รูปที่ ๒) 
   
แต่จะว่าไปแล้วเรื่องการตัดแยกระบบหรือที่เรียกว่า isolate นั้นมีวิธีการทำได้หลายวิธี แต่ขอเอาไว้วันหลังจะเขียนเรื่องนี้เป็นเรื่องต่างหาก การใส่ blind flange (รูปที่ ๓) นี้ก็ถือว่าเป็นวิธีปฏิบัติมาตรฐานวิธีการหนึ่งของการทำงานในการ isolate ระบบ

รูปที่ ๓ Blind flange หรือที่ภาษาไทยเรียกหน้าแปลนตาบอด ในภาพคือตัวที่อยู่ทางซ้ายที่มีนอตขันอยู่ ๔ ตัว ใช้สำหรับปิดปลายท่อที่ไม่ต้องการให้มีการรั่วไหล ในที่นี้แม้ว่าจะมีวาล์วอยู่ แต่วาล์วก็ใช้มือเปล่าเปิดได้ (จะโดยตั้งใจหรือหมุนเล่นก็ตาม) เอารูปนี้มาให้ดูเพราะเชื่อว่าหลายคนคงไม่รู้จักว่า blind flange หน้าตาเป็นอย่างไร

เมื่อทำการตัดแยกระบบแล้วก็จะถอดท่อส่วนที่ตันนั้นออกมา ในขณะที่ถอดออกมานั้นก็ต้องระวังของเหลวและแก๊สที่ยังค้างอยู่ในระบบท่อจะรั่วไหลออกมาด้วย (ในขณะนี้ท่อยังมีความดันอยู่) เมื่อถอดออกมาได้แล้วก็จะจัดการเอาพอลิเมอร์ที่แข็งตัวเกาะติดผนังท่อออก เช่นด้วยการใช้ปืนฉีดน้ำความดันสูงฉีด

ระบบที่ผมเขียนมาข้างต้นนั้นไม่ได้เป็นระบบของโรงงานที่เกิดอุบัติเหตุ แต่คาดว่าน่าจะคล้ายคลึงกัน เพราะใช้กระบวนการผลิตแบบเดียวกัน (slurry phase polymerisation) และกระบวนการเช่นนี้มักเกิดปัญหาทำนองนี้ และวิธีการที่เขียนมาข้างต้นก็เป็นวิธีการสำหรับจัดการกับปัญหาที่เกิดในระบบท่อที่อยู่ระหว่าง reactor กับ pressure vessel ตัวถัดไป ในช่วงท่อที่มีวาล์วเปิด-ปิดอยู่หัวท้าย แต่ถ้าปัญหาเกิดขึ้นที่ช่วง upstream ของ block valve ตัวแรก ก็คงวุ่นน่าดู
  
จากที่ได้รับฟังมาเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ก่อนการเกิดอุบัติเหตุนั้นอยู่ระหว่างการผลิต "พอลิโพรพิลีน" (ถ้าสงสัยว่าโรงงานที่ออกแบบมาผลิตพอลิเอทิลีนเอามาผลิตพอลิโพรพิลีนได้อย่างไรก็ลองย้อนกลับไปดู Memoir ฉบับที่ ๕๘) และในคืนที่เกิดเหตุนั้นเกิดปัญหาท่อเกิดการอุดตันถึงขั้นที่ slurry ไหลผ่านไม่ได้ ที่ผมบอกว่าน่าจะถึงขั้นอุดตันจนไหลไม่ได้นั้นผมคาดการณ์เอาจากวิธีการแก้ปัญหาที่ใช้ในคืนนั้น (จากที่ได้รับฟังมา)
  
ในการแก้ปัญหานั้นดูเหมือนว่าพนักงานปฏิบัติงานจะมีการถอดชิ้นส่วนท่อออก แต่การอุดตันยังคงมีอยู่ (ไม่ชัดเจนว่าเป็นส่วนไหน) จากนั้นก็ค่อย ๆ เปิด block valve เพื่อจะให้ความดันภายใน reactor ช่วยดันให้สิ่งที่อุตตันนั้นเคลื่อนตัวออกจากระบบท่อ (ในขณะใช้งานนั้น ความดันที่ปลายท่อทั้งสองด้านจะแตกต่างกันไม่มาก แต่พอเปิดปลายท่อด้านหนึ่งออกสู่บรรยากาศ ผลต่างระหว่างความดันในถังกับความดันบรรยากาศก็ถือได้ว่าสูงอยู่ ทำให้คิดว่าน่าจะใช้ประโยชน์จากผลต่างความดันนี้ในดันให้สิ่งที่อุดตันเคลื่อนตัวออก แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อการอุดตันนั้นมากจนไหลไม่ได้) สิ่งที่เขาคาดคือสิ่งที่อุดตันอยู่นั้นจะค่อย ๆ เคลื่อนตัวออกมาอย่างช้า ๆ
  
แต่สิ่งที่เกิดจริงคือสิ่งที่อุดตันนั้นหลุดออกมากระทันหัน ทำให้เฮกเซนในระบบที่เป็นของเหลวภายใต้ความดัน พอรั่วออกมาสู่ความดันบรรยากาศก็เกิดการระเหยกลายเป็นไอปกคลุมบริเวณทันที ตรงนี้ไม่ทราบเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมจึงไม่สามารถปิดวาล์วดังกล่าวได้ แต่ที่ทราบคือไอเฮกเซนแผ่กว้างออกไป จนไปถึงเตา cracker ที่ใช้ในการผลิตไฮโดรเจนจาก LPG แล้วก็เกิดการจุดระเบิดจากตำแหน่งนั้น
  
เรื่องราวนอกเหนือจากนี้เป็นอย่างไรก็ได้เล่าเอาไว้ใน Memoir ๒ ฉบับที่กล่าวถึงข้างต้น

และโดยธรรมเนียมปฏิบัติ Memoir ฉบับนื้ก็จะเป็นไฟล์ pdf ฉบับสุดท้ายที่ส่งตรงให้กับสาวน้อยหน้าบาน (คนใหม่) และสาวน้อยร้อยห้าสิบเซนต์ (คนใหม่) ถ้าอยากทราบว่าในกลุ่มมีอะไรเกิดขึ้นบ้างก็ยังติดตามได้จาก blog ของกลุ่มโดยตรง