วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2557

วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๕ (ตอนที่ ๒๒) MO Memoir : Tuesday 28 January 2557

เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ NH3-TPD ที่ผมคุยกับสาวน้อยจากบ้านสวนเมื่อเย็นวานนี้

๑. ในการวิเคราะห์ NH3-TPD นั้น หลังจากที่เราทำการไล่น้ำออกแล้ว เราจะผ่านแก๊สผสม He + NH3 ที่ความเข้มข้นหนึ่งไปบนตัวอย่าง ณ อุณหภูมิหนึ่ง เป็นระยะเวลาช่วงหนึ่ง
 
อุณหภูมิที่ทำการดูดซับนั้นขึ้นอยู่กับว่าตัวอย่างของเรามีความเป็นกรด "แรง - strength" แค่ไหน ในกรณีของตัวเร่งปฏิกิริยาที่ความแรงของตำแหน่งที่เป็นกรดนั้นต่ำมาก ก็ต้องใช้อุณหภูมิในการดูดซับที่ต่ำ แต่ถ้าตำแหน่งที่เป็นกรดนั้นมีความแรงสูง ก็สามารถใช้การดูดซับที่อุณหภูมิที่สูงได้ แต่ปรกติที่ทำกันก็คือไม่ต่ำกว่าอุณหภูมิห้อง
 
ส่วนระยะเวลานานเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับพื้นที่ผิวและความเป็นรูพรุนของตัวเร่งปฏิกิริยา สำหรับรูพรุนขนาดเล็กและพื้นที่ผิวสูง ก็จะใช้เวลามากหน่อยกว่าจะอิ่มตัว (ต้องรอให้โมเลกุล NH3 แพร่เข้าไปข้างในได้ทั่วถึง)

๒. ปรกติแล้วหลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนการดูดซับ เราจะทำการไล่โมเลกุล NH3 ที่ไม่ถูกดูดซับแบบ chemisorption ออก (คือพวกที่ค้างอยู่ในเฟสแก๊สในรูพรุน ส่วนพวกที่เป็น physisorption นั้นไม่ควรจะมีเพราะการเกิด physorption นั้นจะไม่เกิดที่อุณหภูมิสูงกว่าจุดเดือดของสาร และอุณหภูมิที่เราใช้กันนั้นก็สูงกว่าอุณหภูมิจุดเดือดของ NH3 ด้วย) ด้วยการแทนที่แก๊สผสม He + NH3 ด้วย He และให้ไหลผ่านตัวอย่างของเราเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง
 
ยกตัวอย่างเช่นสมมุติว่าเราทำการดูดซับ NH3 ที่อุณหภูมิ 100ºC ตำแหน่งที่เป็นกรดที่จะจับโมเลกุล NH3 ได้นั้นจะต้องเป็นตำแหน่งที่จะคายโมเลกุล NH3 ออกที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 100ºC และถ้าเราทำการไล่โมเลกุล NH3 ที่ไม่ถูกดูดซับที่ 100ºC ออกได้หมด เมื่อเราเริ่มขั้นตอนการคายซับที่อุณหภูมิใด ๆ ก็ตามที่อุณหภูมิที่ "ต่ำกว่า" 100ºC เราไม่ควรจะเห็นพึคการคายซับ NH3 ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 100ºC
แต่การที่มีบางรายเห็นพีคที่อุณหภูมิต่ำกว่า 100ºC นั่นอาจเป็นเพราะ
 
(ก) การแปลผลผิดพลาด เช่นแปลสัญญาณ base line drift เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิว่าเป็นพีค
 
(ข) ตัวเร่งปฏิกิริยามีอุณหภูมิลดลงในขณะที่ยังไล่ NH3 ออกไปไม่หมด ทำให้ NH3 ที่ค้างอยู่ในเฟสแก๊สในรูพรุนนั้นดูดซับลงบนตำแหน่งที่เป็น weak acid site ที่ไม่สามารถจับโมเลกุล NH3 ที่อุณหภูมิ 100ºC เอาไว้ได้ พอเริ่มไล่ NH3 ออกจากพื้นผิวที่อุณหภูมิต่ำกว่า 100ºC ก็เลยทำให้เห็นพีค NH3 ปรากฏที่อุณหภูมิที่ต่ำกว่า 100ºC ได้

๓. ในระหว่างการดูดซับ NH3 นั้น ความเข้มข้น NH3 ใน bulk fluid ที่อยู่นอกรูพรุนจะสูงกว่าความเข้มข้น NH3 ในรูพรุน โมเลกุล NH3 จะแพร่เข้าไปในรูพรุน ส่วนหนึ่งจะเกิดการดูดซับแบบ chemisorption โดยส่วนที่เหลือจะเป็นส่วนที่ค้างอยู่ในเฟสแก๊ส
 
ในขั้นตอนการไล่ NH3 ส่วนเกินนั้น พอเราเปลี่ยนแก๊สจากแก๊สผสม He + NH3 เป็น He บริสุทธิ์ ความเข้มข้นของ NH3 ภายในรูพรุนจะสูงกว่าภายนอกรูพรุน โมเลกุล NH3 จะค่อย ๆ แพร่ออกมาจากรูพรุน ดังนั้นในช่วงเวลาไล่ NH3 ส่วนเกินนี้จนหมดถ้าอุณหภูมิตัวอย่างของเรานั้นยังคงอยู่ที่อุณหภูมิที่ใช้ในการดูดซับ (เช่น 100ºC) จะไม่มีการดูดซับ NH3 เพิ่มบนพื้นผิว และแม้ว่าจะเริ่มการคายซับที่อุณหภูมิที่ต่ำกว่าอุณหภูมิที่ใช้ในการดูดซับ เราก็จะไม่เห็นพีค NH3 ที่อุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิที่ใช้ในการดูดซับ
 
แต่ถ้าในระหว่างที่ไล่ NH3 ส่วนเกินออกไปยังไม่หมด อุณหภูมิตัวอย่างเราเกิดลดต่ำกว่าอุณหภูมิที่ใช้ในการดูดซับ (เช่นไล่ NH3 ส่วนเกินออกพร้อมกับลดอุณหภูมิตัวอย่าง) ก็จะทำให้มีการดูดซับ NH3 บนพื้นผิวตัวอย่างเพิ่มขึ้นอีกได้ และพอมาเริ่มไล่ NH3 ออก เราก็จะเห็นพีค NH3 ปรากฏที่อุณหภูมิที่ใช้ในการดูดซับได้

๔. ส่วนเวลาที่ต้องใช้ในการไล่ NH3 ส่วนเกินนั้นควรเป็นเท่าไร คงต้องหาจากการทดลอง แต่โดยหลักก็คือตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีรูพรุนขนาดเล็กจะใช้เวลาในการไล่นานกว่าตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีรูพรุนขนาดใหญ่กว่า
หรือไม่ก็ต้องดูจากสัญญาณ TCD ด้านขาออกว่านิ่งแล้วหรือยัง (ถ้าเครื่องทำได้)
 
ที่ผ่านมาตอนที่กลุ่มเราทำ pyridine adsorption และใช้ FT-IR วัดนั้น จะใช้การตรวจวัดสัญญาณการดูดกลืน IR ของ pyridine ในเฟสแก๊ส สัญญาณนี้หายไปเมื่อใดก็จะเริ่มเพิ่มอุณหภูมิตัวอย่างได้

๕. ดังนั้นวิธีการที่ถูกต้องกว่าก็คือถ้าเราดูดซับ NH3 ที่อุณหภูมิเท่าใด ก็ให้ไล่ NH3 ส่วนเกินที่อุณหภูมิที่ทำการดูดซับนั้น และเมื่อไล่ NH3 ส่วนเกินเรียบร้อยแล้วก็ให้เริ่มทำการคายซับที่อุณหภูมินั้นเลย ไม่จำเป็นต้องลดอุณหภูมิตัวอย่างให้ลดต่ำลง

๖. การแปลผล NH3-TPD ต้องระวัง เพราะเครื่องที่เราใช้นั้นมักทำให้เกิดสัญญาณสองสัญญาณซ้อนกันอยู่ คือ
 
(ก) สัญญาณที่เกิดจาก base line drift เนื่องจากอุณหภูมิระบบเปลี่ยน และ
 
(ข) สัญญาณที่เกิดจาก NH3 หลุดออกจากพื้นผิว
 
สัญญาณจาก base line drift นั้นเอาแน่เอานอนไม่ได้ เวลาทำการทดลองซ้ำจึงมักทำให้ได้รูปร่างกราฟที่ไม่ซ้ำเดิม แต่ควรจะได้ตำแหน่งพีค NH3 ที่หลุดออกมานั้นคงเดิม
 
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเราจึงทำการวัดปริมาณ NH3 หรือ pyridine ที่พื้นผิวตัวอย่างดูดซับเอาไว้ได้ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการคำนวณพื้นที่พีคที่ได้จากการคายซับว่าเป็นเท่าใด โดยพื้นที่พีคที่คำนวณได้จากการคายซับจะต้องไม่มากกว่าพื้นที่พีคที่ได้จากการดูดซับ
 
ตรงนี้ขอให้ดู Memoir ๓ เรื่องต่อไปนี้ประกอบ (รวมทั้งที่ถูกกล่าวถึงใน Memoir ๓ ฉบับนี้ด้วย) คือ
 
ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๐๓ วันพุธที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เรื่อง "การวัดปริมาณ-ความแรงของตำแหน่งที่เป็นกรดบนพื้นผิว"
ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๖๗ วันจันทร์ที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เรื่อง "NH3-TPD - การลาก base line"
ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๓๖ วันอาทิตย์ที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕ เรื่อง "ความเข้มข้นของแก๊สที่ใช้ในการดูดซับ"

ส่วนการวัดความสามารถในการดูดซับ pyridine ของตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อหาปริมาณทั้งหมดของตำแหน่งที่เป็นกรดบนพื้นผิวด้วยเครื่อง GC ควรทำอย่างไรนั้น ให้มาปรึกษาผมอีกที เพราะมันมีสิ่งที่ต้องคำนึงในการทดลองอยู่เหมือนกัน

วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

ไม่รู้จะสอนยังไงแล้ว (๕) MO Memoir 2557 Jan 27 Mon

ที่ผมแปลกใจก็คือคนที่เป็นผู้สอบผู้ที่มาหัดใช้เครื่องมือ คอยตรวจดูว่าคนที่มาหัดใช้นั้นทำผิดขั้นตอนใดบ้าง ผู้มาหัดใช้ทำผิดเมื่อไรก็ให้สอบตกทันที กลับกลายเป็นว่าคนที่เป็นผู้สอบนั้นเป็นคนที่ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการใช้ที่ถูกต้องซะเอง แถมยังทำให้เห็นกันจะจะในระหว่างการสอบซะด้วย
 
ในเช้าวันศุกร์ที่ ๒๔ มกราคม ที่ผ่านมา ผมบังเอิญแวะไปดูสาวน้อยจากเมืองวัดป่ามะม่วงเข้าไปสอบการใช้เครื่องวัด NH3-TPD โดยรุ่นพี่ป.โท ที่เป็นคนสอบนั้นก็ใช้เครื่องวัด Single point BET อยู่ข้าง ๆ ที่ผมแปลกใจก็คือเห็นปุ่มหมุนของเครื่อง Single point BET นั้นถอดวางอยู่หน้าเครื่อง ก็เลยถามคนที่ใช้อยู่นั้นว่าทำไมไม่ใส่กลับเข้าไปให้เรียบร้อย เขาก็บอกผมว่าเกลียวมันหวาน แต่พอลองเอาประแจหมุนให้เขาดูก็ไม่เห็นว่ามีปัญหาเกลียวหวาน เขาก็บอกว่าจำผิดว่าเป็นของอีกเครื่องหนึ่ง (คือเครื่องวัด NH3-TPD) ผมก็เลยบอกเขาไปว่าให้ใส่กลับคืนไปให้เรียบร้อย แต่เขากลับตอบมาว่าขอทำการวิเคราะห์ให้เสร็จเรียบร้อยก่อนแล้วจะใส่กลับคือ

ที่ทำให้ผมเสียความรู้สึกมากก็คือปรกติถ้าเราจะใช้เครื่องมือใดก็ตาม เราควรจะตรวจสอบความเรียบร้อยของเครื่องมือและระบบก่อน ถ้าพบว่าเครื่องมันมีปัญหา มันไม่เรียบร้อย ก็ควรที่จะทำให้มันเรียบร้อยก่อนการใช้งาน ไม่ใช่ฝืนใช้ทั้ง ๆ ที่มันไม่เรียบร้อย ส่วนใครเป็นคนทำให้มันมีปัญหานั้นค่อยว่ากันอีกที งานนี้ผมเดาว่าถ้าวันนั้นผมไม่เข้าไปพบ มันก็คงจะอยู่ในสภาพเดิมโดยไม่มีการแก้ไข

ตกเย็นก่อนกลับบ้านก็แวะไปดูอีกที คราวนี้ปรากฏว่ามีนิสิตป.เอก คนหนึ่งมาอยู่ร่วมกับนิสิตป.โท คนที่ใช้เครื่อง Singel point BET ผมก็ถามนิสิตป.โท ว่าทำไมยังไม่ใส่ปุ่มกลับเข้าคืนเดิม เขาก็ตอบกลับมาว่าจะขอทำการวิเคราะห์ให้เสร็จก่อน แล้วพี่ป.เอก จะจัดการให้ ผมก็บอกนิสิตป.เอก ผู้นั้นไปว่าคุณมาทำให้เขาทำไม งานนี้ปล่อยให้เขาทำเอง แล้วผมก็กลับ ในใจผมคิดว่างานง่าย ๆ แค่นี้ยังทำเองไม่ได้ ต้องให้คนอื่นทำให้ แล้วจบออกไปจะทำอะไรเป็น
 


รูปที่ ๑ ปุ่มเจ้าปัญหาของเครื่องวัด Single point BET รูปบนถ่ายเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ส่วนรูปล่างถ่ายเมื่อเช้านี้
 
สุดท้ายผมก็ไม่รู้หรอกว่าจะมีการใส่ปุ่มกลับคืนเข้าไปหรือไม่ รู้แต่ว่าเช้าวันนี้เรื่องยังไม่จบ

เช้าวันนี้แวะมาดูเครื่องดังกล่าว เห็นมีคนสวมปุ่มคืนตำแหน่ง แต่พอลองดึงดูเบา ๆ ปรากฏว่าปุ่มหลุดติดมือออกมาได้ง่าย ๆ เลย แสดงว่าปุ่มนั้นมันสวมอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ขันยึดให้ติดแน่นตรงตำแหน่ง ก็เลยเอาปุ่มมาวางถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกสักหน่อย (รูปที่ ๑ ขวา) จากนั้นก็ลองทดสอบดูก่อนว่านอตที่ใช้ยึดปุ่มนั้นมันเสียอย่างที่เขาอ้างกับผมเมื่อวันศุกร์หรือเปล่า ก็ปรากฏว่าถ้าวางตำแหน่งนอตให้ถูกต้องกับร่องที่บากเอาไว้บนแกนหมุน แล้วขันให้แน่น ก็สามารถยึดปุ่มได้แน่น แสดงว่าปัญหามันไปอยู่ตรงที่คนที่สวมปุ่มกลับเข้าไปนั้น (ซึ่งเป็นใครก็ไม่แน่ชัด) ทำเพียงแค่สวมกลับเข้าไปเฉย ๆ หรืออาจจะขันนอต แต่ไม่ได้สนใจว่าตำแหน่งนอตของปุ่มหมุนนั้นอยู่ตรงตำแหน่งหรือไม่

เรื่องทำนองนี้มียังมีอยู่อีกหลายเรื่อง แต่กับเครื่องของกลุ่มอื่นที่กลุ่มเราไม่ได้เข้าไปใช้ ผมก็เลยไม่อยากเข้าไปยุ่ง เพราะเคยโดนสวนกลับมาว่าที่ผ่านมารุ่นพี่เขาก็ทำกันอย่างนี้ และเขาก็ยืนกรานจะทำอย่างนี้ (เช่นกรณีของเครื่อง Single point BET ก่อนที่เราจะเข้าไปใช้) สำหรับสมาชิกของกลุ่มเราก็ขอย้ำอีกทีว่าเรื่องปุ่มหมุนของเครื่อง TPx นี้เพิ่งจะกล่าวเอาไว้เมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง ใน Memoir ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๗๑๓ วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๖ เรื่อง "เพียงแค่วางนอตให้ตรงตำแหน่งก็เท่านั้น (การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๕๙)"

ส่วนพวกคุณเองก็ตามก่อนที่จะวิเคราะห์ตัวอย่างใดโดยใช้วิธีการของคนก่อนหน้า (สมาชิกเก่าของกลุ่มเรา) ก็สอบถามผมก่อนได้ว่าทำไมจึงต้องทำเช่นนั้น ขั้นตอนการเตรียมตัวอย่างแต่ละขั้นตอนที่กลุ่มเราใช้นั้นมันมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ของมันอยู่ว่าทำไมเราจึงเลือกทำอย่างนั้น (ซึ่งมักจะไม่ค่อยเหมือนกับของกลุ่มอื่นที่ใช้เหตุผลแต่เพียงว่าทำตามรุ่นพี่) ซึ่งเราได้เคยทำการทดสอบเอาไว้แล้ว เพียงแต่มันอาจเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ใน Memoir ของกลุ่ม หรือเป็นเพียงแค่ประสบการณ์จำอยู่ในหัวสมองผมแค่นั้นเอง

วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2557

รถรางสายปากลัด ที่พระประแดง (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๕๖) MO Memoir : Sunday 26 January 2557

" ........ หรือถ้าจะไปทางลัดก็ต้องนั่งรถรางไปลงที่เทเวศน์แล้วข้ามเรือจ้างไปฝั่งธน จะมีสถานีรถยนต์รางของเจ้าคุณวรพงษ์วิ่งตัดสวนต่าง ๆ ไปออกทุ่งนาตรงไปตลาดบางบัวทอง รถรางของท่านเจ้าคุณท่านนี้สร้างตัวรถแบบเดียวกับรถยนต์รางที่ปากลัดพระประแดง คือไม่มีฝาไม่มีตัวถัง รถเปิดโปร่ง มีม้านั่งเป็นแถว ๆ ไป เวลานี้เขาเลิกเสียหมดแล้ว ผมยังนึกเสียดายอยู่ ........"



ข้อความข้างบนผมนำมาจากนิยายเรื่อง "ชีวิตคุณย่า" เขียนโดย เหม เวชกร ที่สำนักพิมพ์วิริยะมานำตีพิมพ์ใหม่ในหนังสือชุด "ภูติ ผี ปิศาจ ไทย ๑๐๐ ปี เหม เวชกร" ตอนใครอยู่ในอากาศ พิมพ์ครั้งที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๗ และได้เคยนำมาลงแล้วครั้งหนึ่งตอนที่เขียนเรื่องกับรถไฟสายบางบัวทอง() นิยายเรื่องนี้ทำให้ทราบว่าตู้โดยสารของรถยนต์รางที่พระประแดงนั้นมีลักษณะเดียวกันของรถไฟสายบางบัวทอง 
   

พระราชดำรัสตอบพระบรมวงศานุวงษ์ของรัชกาลที่ ๕ (รูปที่ ๑) ทำให้ทราบว่ารถรางสายนี้เปิดดำเนินการในปีพ.ศ. ๒๔๕๑ ประกาศของกระทรวงนครบาล (รูปที่ ๒) ทำให้ทราบว่ารถรางสายนี้เก็บค่าโดยสาร ๖ สตางค์สำหรับที่นั่งชั้นธรรมดา และเก็บเพิ่มเป็นสองเท่าสำหรับที่นั่งชัน ๑ และในหนังสือ "The Railway Atlas of Thailand,Laos and Cambodia" ของ B.R. Whyte กล่าวไว้ว่ารถไฟสายนี้หยุดกิจการในปีพ.ศ. ๒๔๘๔ ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ จะเริ่มขึ้นในประเทศไทย



บริเวณพื้นที่ราบลุ่มที่เกิดจากการทับถมของตะกอนที่แม่น้ำพัดพามา แม่น้ำที่อยู่ในบริเวณนี้มักมีลักษณะคดเคี้ยวไปมา เช่นบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทยที่มีแม่น้ำท่าจีนอยู่ทางตะวันตก แม่น้ำเจ้าพระยาอยู่บริเวณตอนกลาง และแม่น้ำบางปะกงอยู่ทางตะวันออก (รูปที่ ๓) 
  

สำหรับการเดินทางทางน้ำแล้วลักษณะลำน้ำที่คดเคี้ยวนี้ทำให้เสียเวลาในการเดินทาง แต่สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพทางการเกษตรเช่นปลูกพืชต่าง ๆ ลักษณะลำน้ำที่คดเคี้ยวก็มีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้น้ำทะเลไหลย้อนลึกเข้ามาในพื้นดินในช่วงที่เวลาน้ำลง (ส่วนของแม่น้ำที่อยู่ใกล้ทะเล เช่นแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ไหลผ่านกรุงเทพ เวลาที่น้ำลงน้ำในแม่น้ำจะไหลออกทะเล แต่เวลาที่น้ำขึ้นจะเห็นน้ำในแม่น้ำไหลย้อนกลับมา ซึ่งน้ำที่ไหลย้อนเข้ามานี้จะพาน้ำเค็มเข้ามาด้วย) 
   

ในบริเวณที่อยู่ทางจากทะเลและไม่ได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้น-น้ำลงที่ทำให้มีน้ำเค็มไหลย้อนเข้ามาในแผ่นดิน ส่วนไหนของแม่น้ำที่คดเคี้ยวก็มักจะมีการขุดคลองตรงบริเวณคอคอดเพื่อย่นระยะทางในการเดินทางด้วยเรือ แต่เมื่อเข้ามาสู่บริเวณใกล้ทะเลแล้ว ปัจจัยเรื่องน้ำเค็มไหลย้อนจะส่งผลมากกว่า ดังนั้นในอดีตนั้นตัวแม่น้ำเจ้าพระยาเองจึงมีการขุดคลองลัดบริเวณคอคอดต่าง ๆ เพื่อย่นระยะทางในการเดินทาง ซึ่งคลองหลายคลองที่ขุดนั้นได้กว้างขึ้นจนกลายเป็นแม่น้ำ ส่วนลำแม่น้ำเดิมก็ตื้นเขินแคบลงจนกลายเป็นคลองไป คลองขุดในอดีตเดิมที่อยู่ใกล้ทะเลมากที่สุดปัจจุบันคือแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงปากคลองบางกอกน้อย (ตรงสถานีรถไฟธนบุรีหรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์) ไปจนถึงปากคลองบางกอกใหญ่ (บริเวณพระราชวังเดิมหรือวัดกัลยาณมิตร) ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมก็กลายเป็นคลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่



จะมีเว้นอยู่ที่หนึ่งก็คือบริเวณนครเขื่อนขันธ์หรือพระประแดงในปัจจุบัน


   

รูปที่ ๑ "พระราชดำรัสตอบพระบรมวงศานุวงษ์ ข้าทูลลอองธุรีพระบาทฝ่ายหน้า" ของรัชกาลที่ ๕ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๒๕ หน้า ๗๔๙-๗๕๓ วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๑ (ร.ศ. ๑๒๗)





รูปที่ ๒ ประกาศกระทรวงนครบาล ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๖ หน้า ๑๘๒๒ วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ (ร.ศ. ๑๒๘) ประกาศนี้ทำให้ทราบว่ารถรางโดยสารนั้นมีที่นั่งโดยสารสองชั้น และค่าโดยสารที่จัดเก็บ





รูปที่ ๓ แผนที่แม่น้ำท่าจีน (ซ้าย) แม่น้ำเจ้าพระยา (กลาง) และแม่น้ำบางปะกง (ขวา) จะเห็นว่าแม่น้ำเจ้าพระยามีความคดเคี้ยวน้อยกว่าแม่น้ำอีกสองสาย ทั้งนี้เป็นเพราะมีการขุดคลองลัดบริเวณที่คดเคี้ยวหลายตำแหน่งเพื่อให้ลำน้ำตรงขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปคลองที่ขุดเหล่านี้ก็กว้างขยายขึ้นกลายเป็นลำแม่น้ำขึ้นมาแทน ในขณะที่ลำแม่น้ำเดิมก็หดแคบลงและถูกลดฐานะลงไปเป็นคลองแทน จะมีเว้นก็แต่บริเวณพระประแดงที่มีการปล่อยเอาไว้เช่นนั้น (แม้ว่าจะมีคลองให้เรือขนาดเล็กผ่านได้) ทั้งนี้ด้วยเหตุผลทางด้านความมั่นคงและป้องกันไม่ให้น้ำเค็มไหลย้อนเข้ามาในบริเวณพื้นที่เกษตรกรรมได้มากเกินไป (แต่ในปัจจุบันมีการขุดคลองลัดโพธิ์ที่เป็นคลองขนาดใหญ่ช่วยในการระบายน้ำ แต่ก็ยังต้องมีระบบประตูน้ำคอยควบคุม)





รูปที่ ๔ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. ๒๔๘๐ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๔ หน้า ๑๘๗๘-๑๘๘๑ เส้นทางรถรางที่เชื่อมสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในกรอบสีน้ำเงิน



บริเวณนี้มีคลองลัดหลวง (รูปที่ ๔) สำหรับให้เรือขนาดเล็กผ่านได้ แต่ไม่ให้เรือขนาดใหญ่ผ่าน สาเหตุที่ต้องเก็บบริเวณนี้เอาไว้ก็เพราะไม่เพียงแต่การมีคลองขนาดใหญ่จะทำให้น้ำเค็มไหลย้อนเข้าไปในแผ่นดินได้ลึกและรวดเร็วในช่วงน้ำลง (ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายได้ และยังทำให้มีปัญหาเรื่องนำบริโภคได้) แต่ยังทำให้เรือรบข้าศึกเข้าประชิดพระนครได้รวดเร็วขึ้น ดังนั้นถ้ามองจากแง่ชัยภูมิทางทหารแล้ว การตั้งป้อมปืนบนฝั่งบริเวณคอคอดนี้เพื่อรับมือกับกองเรือรบข้าศึกที่มาตามลำแม่น้ำจะทำให้รับมือกับข้าศึกได้ถึงสองครั้ง คือครั้งแรกที่ข้าศึกแล่นเข้ามา และครั้งที่สองถ้าข้าศึกนั้นผ่านไปได้ ข้าศึกนั้นจะต้องกลับมาโผล่อีกทางฝั่ง
  

อันที่จริงตรงพระประแดงนี้ก็มีแผนการขุดคลองลัดพร้อมระบบประตูน้ำควบคุม (คงเพื่อช่วยในการระบายน้ำออกทะเล) มานานก่อนไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง แต่ก็ไม่ได้ทำสักทีจนกระทั่งเมื่อไม่นานนี้ที่มีคลองลัดโพธิ์เกิดขึ้น)
  


รูปที่ ๕ ส่วนขยายของแผนที่ในกรอบสีน้ำเงินของรูปที่ ๔ ระบุว่าปลายทางด้านบนอยู่ตรง "ท่าตรงข้ามถนนตก" ส่วนปลายทางด้านล่างอยู่บริเวณที่ว่าการอำเภอพระประแดง





รูปที่ ๖ แผนที่กรุงเทพมหานครจัดทำโดยกองทัพอังกฤษในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในแผนที่ฉบับนี้ปรากฏเส้นทางรถรางปลายทางด้านทิศเหนืออยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมสี่แดงด้านล่างของรูป



รถยนต์รางที่ปากลัด พระประแดงนี้ เป็นรถรางสายสั้น ๆ ความยาวประมาณ ๑๙๐๐ เมตร แต่ช่วยย่นระยะทางการเดินทางทางเรือระหว่างสองฟากฝั่งสถานีรถรางที่ยาวถึง ๒๐ กิโลเมตร หนังสือของ B.R. Whyte ในแผนที่ 29 ท้ายเล่มให้แนวเส้นทางรถไฟดังกล่าวเอาไว้คร่าว ๆ แต่แนวเส้นทางเทียบสถานที่จริงนั้นไปค้นเจอจากแผนที่แนบท้ายราชกิจจานุเบกษาที่ประกาศตั้งเทศบาลเมืองพระประแดส (รูปที่ ๔ และ ๕) และแผนที่บริเวณกรุงเทพมหานคร จัดทำโดยกองทัพอังกฤษ()



ที่เสียดายก็คือยังไม่พบว่ามีรูปถ่ายของรถรางดังกล่าวปรากฏให้เห็นเหมือนของรถไฟสายบางบัวทองหรือสายพระพุทธบาท

  

รูปที่ ๗ แผนที่กรุงเทพมหานครจัดทำโดยกองทัพอังกฤษในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นส่วนต่อด้านล่างของแผนที่ในรูปที่ ๖ ในแผนที่ฉบับนี้ปรากฏส่วนที่เหลือของเส้นทางต่อจากรูปที่ ๖ ในกรอบสี่เหลี่ยมสี่แดงด้านบนของรูป และทางรถไฟสายปากน้ำทางด้านขวา (ที่เขียนในแผนที่ว่า SIAM STATE RAILWAY)



หมายเหตุ

(๑) Memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๙๘ วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๖ เรื่อง "รถไฟสายบางบัวทอง (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๓๘)"

(๒) รายละเอียดของแผนที่ชุดนี้เคยให้ไว้แล้วใน Memoir ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๗๒๗ วันพฤหัสบดีที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๗ เรื่อง "รถไฟเล็กลากไม้สายตะวันออก (ศรีราชา) ภาค ๖ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๕๔)"




รูปที่ ๘ (บน) ภาพขยายในกรอบสีแดงของรูปที่ ๖ (ล่าง) ภาพขยายในกรอบสีแดงของรูปที่ ๗ ลูกศรสีแดงชี้แนวเส้นทางรถราง

วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

รถไฟสายหัวหวาย-ท่าตะโก นครสวรรค์ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๕๕) MO Memoir : Friday 24 January 2557

ท่าตะโก อำเภอ ขึ้น จ. นครสวรรค์ ตั้งที่ว่าการ ต. ท่าตะโก อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ อ. หนองบัว อยู่ทางทิศตะวันตกของ อ. วิเชียรบุรี จ. เพชรบูรณ์ อยู่ทางทิศเหนือของ อ. ตาคลี อยู่ทางทิศตะวันออกของ อ. เมืองนครสวรรค์ คมนาคมจากเมืองไปอำเภอโดยทางหลวงจังหวัด ผ่านสถานีรถไฟนครสวรรค์ (หนองปลิง) ระยะทาง ๔๕ กม. ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ลุ่ม ตอนอื่น ๆ ลุ่มบ้าง ดอนบ้าง ทำนาได้ทั่ว ๆ ไป แต่ที่ดอนต้องทำนาน้ำฝน พลเมือง ๗๕,๒๐๖ คน (.. ๒๕๑๘) นำนาเป็นพื้น
  
อ. ท่าตะโก มี ๙ ตำบล คือ ๑. ท่าตะโก ๒. เขาพนมเศษ ๓. ดอนคา ๔. ทำนบ ๕. พนมรอก ๖. วังมหากร ๗. วังใหญ่ ๘. สายลำโพง ๙. หัวถนน .. (อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตสถาน)
  
ข้อความข้างต้นนำมาจาก "สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑๔ ทะเบียน-ธรรมราชา" พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๒๗-๒๕๒๘ โดยบริษัท ประยูรวงศ์ จำกัด หน้า ๘๕๘๙ แผนที่หน้า ๘๕๙๐ (รูปที่ ๑)
  
ที่หยิบเอาอำเภอนี้ขึ้นมาก็เพราะตอนที่ทำการย้ายหนังสือของพ่อไปเก็บอีกบ้าน เพื่อยกชั้นวางหนังสือให้กับลูก ได้มีโอกาสเอาหนังสือดังกล่าวมาพลิกดูรูปต่าง ๆ ข้างใน บังเอิญเล่มนี้กล่าวถึงอำเภอต่าง ๆ ในประเทศไทยไว้หลายอำเภอ และมีแผนที่ประกอบด้วย ทำให้รู้ว่าแต่ก่อนนั้นพื้นที่ในแต่ละอำเภอเป็นอย่างไร และในส่วนของ อ. ท่าตะโก จ. นครสวรรค์ นั้น แผนทีก็แสดงให้เห็นด้วยว่าเคยมีรถไฟเดินทางไปถึง (รูปที่ ๒)
 
รูปที่ ๑ หนังสือสารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานเล่ม ๑๔ (เล่มซ้าย) ที่นำข้อมูลเกี่ยวกับอำเภอท่าตะโกมาเล่าให้ฟัง ส่วนเล่ม ๑๘ (ขวา) เคยนำเอาเรื่อง "ปลุกผี" มาเล่าให้ฟังไปเมื่อต้นเดือนนี้เอง

รูปที่ ๒ แผนที่อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ จากหนังสือสารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑๔ ทะเบียน-ธรรมราชา พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๒๗-๒๕๒๘ โดยบริษัท ประยูรวงศ์ จำกัด หน้า ๘๕๙๐ ปรากฏเส้นทางรถไฟเล็กหัวหวาย-ท่าตะโกมาสิ้นสุดที่ตำบลท่าตะโก ไม่มีเส้นทางต่อขึ้นไปเหนืออีก แผนที่ที่แสดงนี้คงเป็นแผนที่เก่าที่ใช้ในการพิมพ์ครั้งแรก (หนังสือไม่ยักบอกว่าพิมพ์ครั้งแรกเมื่อใด) แต่ในเวลาที่พิมพ์ครั้งที่ ๒ เส้นทางรถไฟนี้ได้หายไปแล้ว (บ้านเราใช้ขนาดรางกว้างมาตรฐาน 1 เมตร (metre gauge) ถ้าใช้รางแคบกว่านี้จะเรียกว่ารถไฟเล็ก)

รูปที่ ๓ แผนที่เส้นทางรถไฟสายเหนือช่วงจังหวัดนครสวรรค์ แสดงแนวเส้นทางรถไฟสายหัวหวาย-ท่าตะโก ซึ่งปัจจุบันเป็นถนนไปแล้ว B.R. Whyte ทำเครื่องหมายไว้ว่าสงสัยว่าเส้นทางนี้จะมีต่อขึ้นเหนือเลยอำเภอท่าตะโกขึ้นไปอีก แผนที่นี้อยู่ในส่วนท้ายของหนังสือ "The Railway Atlas of Thailand, Laos and Cambodia" โดย B.R. Whyte

รูปที่ ๔ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์ที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ในท้องที่อำเภอตาคลีและอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ๒๔๘๔ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๘ วันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ หน้า ๖๑๔-๖๑๖ ขณะนั้นเป็นช่วงประเทศไทยจะเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒ เพียงไม่กี่เดือน

รถจักรไอน้ำของประเทศไทยนั้นใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงหลัก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการลำเลียงไม้ที่ตัดจากป่ามายังสถานีรถไฟ ด้วยเหตุนี้จึงมีการสร้างทางรถไฟเพื่อขนไม้ฟืนจากป่าในบริเวณข้างเคียงมายังสถานีรถไฟที่อยู่บนเส้นทางหลัก สถานีรถไฟหัวหวายก็เป็นหนึ่งในสถานีนั้น ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๑ น่า ๓๐๕ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ ประกาศพระบรมราชโองการ พระราชทานพระบรมราชาณุญาต ให้ใช้รถไฟหลวงทางขนาดย่อมที่ตำบลหัวหวาย เพื่อรับส่งสินค้า (สมัยรัชกาลที่ ๖) ได้ให้รายละเอียดว่าเดิมเป็นทางรถไฟขนาดรางกว้าง ๖๐ เซนติเมตร ระยะทางยาวถึง ๒๘ กิโลเมตร จากเดิมที่ใช้เฉพาะการรถไฟเพื่อบรรทุกไม้ ก็อนุญาตให้ชาวบ้านใช้เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าด้วย เส้นทางนี้ในหนังสือของ B.R. Whyte ระบุว่าสร้างและเปิดใช้ในปีค.ศ. ๑๙๐๗ (พ.ศ. ๒๔๕๐ หรือปลายรัชกาลที่ ๕)
  
ที่น่าเสียดายคือ แผนที่ที่แสดงแนวเส้นทางรถไฟลำเลียงไม้เส้นนี้กลับยังไม่มีปรากฏ

รูปที่ ๕ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์ที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ในท้องที่อำเภอตาคลีและอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ พ.ศ. ๒๔๘๙ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ ๒๕ เล่ม ๖๓ วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ หน้า ๒๔๙-๒๕๑ เหมือนเป็นการเอาประกาศตอนพ.ศ. ๒๔๘๔ มาปัดฝุ่นใช้ใหม่ เพราะยังใช้รูปเดิมแนวทางเดิม แสดงว่าช่วงสงครามนั้นคงไม่มีการก่อสร้างใด ๆ แต่ตอนนี้เป็นช่วงสงครามเพิ่งจะสิ้นสุดใหม่ ๆ

ที่พอจะหาได้กลับเป็นแผนที่ที่แสดงแนวเส้นทางรถไฟสายหัวหวาย-ท่าตะโก อีกเส้นหนึ่ง (ไม่ใช้เส้นรถขนฟืน) ดังที่นำมาแสดงในรูปที่ ๒, ๗ และ ๘ เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่สร้างหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุด แต่ก็ดูเหมือนว่ามีอายุใช้งานอยู่ไม่นานก่อนที่จะถูกรื้อทิ้งไป ขนาดความกว้างของรางรถไฟสายนี้ แผนที่ในรูปที่ ๒ บอกว่าเป็นรถไฟเล็ก (ความกว้างของรางน้อยกว่า 1 เมตร) แต่แผนที่ในรูปที่ ๗ และ ๘ นั้นแสดงเป็นใช้เครื่องหมายแบบเดียวกับทางรถไฟปรกติ ส่วน "ถนนไปบ้านหนองหลวง" นั้นคงเป็นแนวทางรถไฟขนฟืนเส้นเดิม
  
ใน "http://th.wikipedia.org/wiki/สถานีรถไฟหัวหวาย" บอกว่าเส้นทางแยกไปท่าตะโกนี้มีการเปลี่ยนขนาดรางเป็น 1 เมตรในปีพ.ศ. ๒๔๘๓ และเปลี่ยนแนวทางใหม่ แต่ดูจากราชกิจจานุเบกษาที่ค้นได้แล้วคิดว่าไม่น่าจะใช่ เพราะปีพ.ศ. ๒๔๙๔ ก็ยังมีการประกาศเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทาง ดังนั้นการสร้างทางใหม่ควรจะเกิดหลังจากปีพ.ศ. ๒๔๙๔
  
รูปที่ ๖ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์ที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ในท้องที่อำเภอตาคลีและอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ พ.ศ. ๒๔๙๔ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ ๖๖ เล่ม ๖๘ วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ หน้า ๑๔๙๒-๑๔๙๔ ก็เป็นเสมือนการเอาประกาศในปี ๒๔๘๙ มาปัดฝุ่นใช้ใหม่ เพราะยังคงใช้แผนที่เดิมและแนวเดิมอยู่ แต่ครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะมีการลงมือสร้างจริง เพราะแผนที่ที่ปรากฏในอีกไม่กี่ปีถัดมา (รูปที่ ๗) ก็มีเส้นทางรถไฟให้เห็นแล้ว

ที่ผมคิดว่าเส้นทางนี้แปลกก็คือมันมีแนวทางรถไฟเล็กเดิมอยู่แล้ว แต่แทนที่จะปรับปรุงเส้นทางเดิมให้เป็นทางมาตรฐาน กลับเลือกที่จะสร้างเส้นทางใหม่ แต่ก็เปิดใช้งานได้ไม่นานก่อนจะถูกยกเลิกไปในปีพ.ศ. ๒๕๐๗
 
เรื่องของทางรถไฟสายนี้นี้มีผู้ถกเถียงเอาไว้เยอะแล้ว ลองใช้ google หาโดยใช้คำ "รถไฟเล็กหัวหวาย" แล้วไปอ่านในเว็บ portal.rotfaithai.com ได้ (ผมขอไม่คัดลอกลิงค์มาเต็ม ๆ เพราะชื่อลิงค์มันยาวมาก)
ฉบับนี้ออกมาก็เพื่อไม่ให้เป็นเรื่องราววิชาการหรือการเมืองต่อเนื่องมากเกินไป :)
   
รูปที่ ๗ แผนที่แสดงแนวเขตป่าสงวนท้ายกฎกระทรวงฉบับที่ ๒๑ (พ.ศ. ๒๕๐๑) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๗๕ ตอนที่ ๗๙ วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ หน้า ๕๕๙-๕๖๑ มีเส้นทางรถไฟปรากฏให้เห็นแล้ว
 
รูปที่ ๘ แผนที่แสดงแนวเขตป่าสงวนที่เพิกถอนท้ายกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๕๑ (พ.ศ. ๒๕๐๕) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๗๙ ตอนที่ ๑๑๕วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ หน้า ๘๖-๘๘ ยังคงใช้รูปเดิมจากประกาศพ.ศ. ๒๕๐๑ (รูปที่ ๘) แต่ทำในสิ่งที่ตรงข้ามกัน คือฉบับนี้เป็นการเพิกถอนสภาพความเป็นป่าสงวนที่ประกาศในพ.ศ. ๒๕๐๑

วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2557

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๕ (ตอนที่ ๒๑) MO Memoir : Monday 20 January 2557

เอกสารฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน ไม่นำเนื้อหาลง blog
  
เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้เกี่ยวกับผลการทดลองของอัญรัตน์เมื่อวันพุธที่ ๑๕ ถึงวันศุกร์ที่ ๑๗ ที่ผ่านมา
 
รูปที่ ๑ พีค NO จากเครื่อง GC-2014 ECD & PDD ที่อุณหภูมิการทำปฏิกิริยา SCR ต่าง ๆ ในการทดลองครั้งแรก

รูปที่ ๒ ผลการทดลองซ้ำด้วยตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ทดสอบในรูปที่ ๑


รูปที่ ๓ พีค NO จากปฏิกิริยา NH3 oxidation ด้วยตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ในรูปที่ ๒

วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2557

ใครควรเข้าใจตะวันตก MO Memoir : Sunday 19 January 2557

"ใครอยากเข้าใจตะวันตก ผมไม่รู้
แต่ใครควรเข้าใจตะวันตก, ผมว่าได้แก่คนไทยทุกคนเป็นที่สุด"

นั่นคือประโยคเริ่มต้นบทที่ ๑ ในหนังสือ "ตะวันตกวิกฤต คริสต์ศาสนา" เขียนโดย ไมเคิล ไรท์
  
ในยุคที่การสื่อสารผ่านทางอินเทอร์เน็ตแพร่หลายไปทั่วโลก แต่ก็ยังเป็นเรื่องน่าแปลกที่ทำไมเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยของเราเอง หรือเกิดขึ้นในเขตที่เราอาศัยอยู่เอง คนไทยส่วนหนึ่งกลับไม่เข้าไปสัมผัส ไม่เข้าไปตรวจสอบ ไม่เชื่อถือและตั้งข้อสงสัยรายงานข่าวสารที่สื่อในประเทศนำเสนอ แต่คนไทยจำนวนนั้น (ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย) กลับ "เชื่ออย่างหัวปักหัวปำ" กับข้อมูลที่สื่อทางชาตินำเสนอ
  
เขียนถึงจุดนี้บางคนก็คงจะอธิบายว่าทำไมคนไทยจึงตั้งข้อสงสัยกับรายงานข่าวของสื่อเมืองไทย ด้วยเหตุผลที่ว่าสื่อเมืองไทยนั้น "ซื้อได้" คือสามารถจ้างให้รายงานให้เชียร์ใคร หรือบิดเบือน ใส่ร้ายป้ายสีใครก็ได้ ถ้าเช่นนั้นมันก็มีคำถามตามมาเช่นกันก็คือ แล้วสื่อต่างชาติล่ะ มัน "ซื้อไม่ได้เลยหรือไง"

เมื่อไม่นานมานี้ระหว่างขับรถ ผมได้ฟังรายการวิทยุที่ส่งกระจายเสียงเป็นภาษาไทยมาจากต่างประเทศ ตอนท้ายของรายการก็มีการคุยกันระหว่างผู้ดูแลรายการในประเทศไทย (ที่ถ่ายทอดสัญญาณจากสถานีวิทยุต่างประเทศภาคภาษาไทยนั้น) กับคนไทยผู้จัดรายการอยู่ต่างประเทศ คำถามหนึ่งที่ผู้จัดรายการฝั่งไทยถามก็คือ เขารู้สึกว่ารายงานข่าวของทางต่างประเทศนั้นมันไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในเมืองไทย คำถามก็คือเป็นเพราะอะไร


รูปที่ ๑ หนังสือที่ใช้ในการเขียน Memoir ฉบับนี้ นับจากซ้าย (๑) "ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา" โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. ๒๕๔๓ (๒) "ตะวันตกวิกฤต คริสต์ศาสนา" โดย ไมเคิล ไรท์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. ๒๕๔๖ (๓) "พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต พ.ศ. ๒๑๘๒ " โดย วนาศรี สามนเสน แปลเป็นภาษาไทยจากภาษาอังกฤษ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ. ๒๕๔๘ และ (๔) "กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้" โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พิมพ์ครั้งที่ห้า พ.ศ. ๒๕๔๔
  
สิ่งที่ผู้รายงานข่าวภาคภาษาไทยจากต่างประเทศอธิบายมานั้นผมพอจะสรุปได้ดังนี้คือ ต้องเข้าใจว่านักข่าวต่างประเทศของสำนักข่าวต่าง ๆ นั้นมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท เช่น
  
- จ้างเพียงคนเดียว แต่ทำข่าวทั้งภูมิภาค ขึ้นอยู่กับว่าในภูมิภาคนั้นประเทศใดคิดว่าจะมีข่าวเด่น ก็จะให้นักข่าวคนนั้นไปประจำในประเทศนั้น โดยที่นักข่าวคนนั้นไม่ใช่คนที่เกิดในภูมิภาคที่เข้าไปทำงาน
  
- ในกรณีที่เห็นว่าประเทศใดประเทศหนึ่งมีความสำคัญ ก็จะจ้างเอาไว้ประจำประเทศนั้น โดยที่นักข่าวคนนั้นไม่ใช่คนของประเทศนั้น
  
- จ้างคนของประเทศที่ต้องการทำข่าว ให้ทำข่าวในประเทศของตัวเอง และส่งให้สำนักข่าวต่างประเทศ
  
แต่ที่แน่ ๆ ก็คือถ้าเป็นนักข่าวต่างประเทศ ก็เชื่อได้ว่าคงไม่มีใครไปอ่านกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เขาจะเข้าใจผิด เพราะเขาไม่รู้ว่าปัญหานั้นมันเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายอย่างไร และถ้าเป็นกรณีที่เป็นนักข่าวประจำภูมิภาคที่จะเข้าไปทำข่าวในประเทศใดประเทศหนึ่งในกรณีที่มีเหตุสำคัญ (เช่นความรุนแรง) ก็เป็นการยากที่เขาจะเข้าใจสาเหตุที่เป็นต้นตอของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งมักเป็นเรื่องสืบเนื่องติดต่อกันมานาน
  
และที่สำคัญก็คือ นักข่าวก็สามารถ "ถูกซื้อตัว" ได้เช่นเดียวกัน

ไมเคิล ไรท์ ยังเขียนต่อในบทที่ ๑ หน้าที่ ๑ ในหนังสือของเขาว่า
  
"การที่ชาวสยาม ปฏิเสธ คริสต์ศาสนา เป็นสิทธิของเขา (และผมว่าสาธุ ๆ ดี ๆ) แต่การที่ชาวสยาม ไม่ศึกษา คริสต์ศาสนา เท่ากับเป็นการหลับตารับเปลือกนอกของตะวันตกโดยไม่รู้ถึงขั้วหัวใจของฝรั่งว่า เขาคิดอย่างไร, ฝันอย่างไร, กลัวอะไร, และพ่ายแพ้อย่างไร ชาวสยามโดยมากมักมองเฉพาะความสำเร็จและหรูหราของชาวยุโรป, ไม่สนใจความสับสน, ยุ่งยากและความบกพร่องทางปัญญาของตะวันตก, ที่ล้วนเป็นบทเรียนที่สำคัญไม่แพ้ความรุ่งโรจน์ของยุโรปและอเมริกา"

ในหน้าที่ ๕-๖ ของบทที่ ๑ ไมเคิล ไรท์ ยังเขียนต่อว่า
  
"ศาสนาคริสต์สามารถอธิบายตะวันตกได้ทั้งหมด, ไม่ใช่สิ่งดีงามเพียงอย่างเดียว เพราะแม้ชาวตะวันตกจะทำผิดพระศาสนาอย่างร้ายแรงเพียงใด, ก็มักจะอ้างคริสต์ศาสนาเพื่อสนับสนุนความผิดนั้น ๆ ได้เสมอ เช่นเมื่อจะสู้รบกันก็จะอ้างทฤษฎี "สงครามยุติธรรม" (Just War); จะจับมิจฉาทิฐิไปทรมานฆ่าเสีย (Inquisition) ก็จะอ้าง "พระธรรมคำสอนที่ถูกต้อง" (Orthodoxy); หรือจะล่าเมืองขึ้น (Colonialism) ก็อ้างว่า "เพื่อเผยแพร่ศาสนานำคนป่าเถื่อนเข้าสู่ศีลธรรมและสวรรค์"
.....
แม้เรื่องที่ดูไม่เกี่ยวกับศาสนา, เช่นระบบทุนนิยมและระบบมาร์กซิสต์, ยังงอกออกมาจากศาสนาคริสต์ :- ฝ่ายนายทุนอ้างว่า "พระผู้เป็นเจ้าย่อมประทานรางวัลแก่ผู้ที่ขยันสร้างสรรค์ทำประโยชน์", ฝ่ายมาร์กซิสต์อ้างว่า "ผู้มีอำนาจวาสนาจะตกต่ำ, ผู้ยากไร้และผู้ต่ำต้อยจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน" คำอ้างเหล่านี้ล้วนมีพระคัมภีร์คริสต์ศาสนาสนับสนุน"

ที่มีเครื่องหมาย "," หรือ ";" ตามตำแหน่งต่าง ๆ นั้น ผมลอกตามหนังสือของ ไมเคิล ไรท์ มาโดยตรง

"ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา" เป็นหนังสือที่ผมซื้อมาเพราะชื่อของมัน สิ่งสำคัญที่ผมได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ก็คือเราจำเป็นต้อง "อ่านคนเขียน" ก่อน ว่าเขาเป็นใคร ตอนที่เขาเขียนเรื่องต่าง ๆ นั้นเขาผ่านประสบการณ์ใดมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขาเขียน แต่มันส่งผลถึงมุมมองและการแปลความหมายเหตุการณ์ที่เขาเขียนถึง หรือประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขาเขียน แต่เป็นมุมมองที่เขามองมาจากมุมไหน ดังนั้นในบทแรกในหน้าที่ ๔ ของหนังสือเล่มนี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ จึงเขียนไว้ว่า
  
"... แม้ว่าประวัติศาสตร์ในยุคนี้จะมีหลักฐานของชาติตะวันตกเพิ่มพูนขึ้นมาก แต่ความสนใจของนักเดินทาง พ่อค้า และนักสอนศาสนาตะวันตกมีอยู่จำกัด และไม่ช่วยให้เราเข้าใจภูมิภาพเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากทัศนะของประชาชนในภูมิภาคนี้เลย การศึกษาประวัติศาสตร์ของภูมิภาคโดยอาศัยหลักฐานภายนอกจึงไม่ทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้ได้ดีไปกว่าการสังเกตุการณ์ "จากกราบเรือหรือเมืองป้อมที่เป็นโรงเก็บสินค้า" ของฝรั่ง"

ตอนที่ผมศึกษาอยู่ทางประเทศนั้น เวลาที่ต้องศึกษาเกี่ยวกับแนวทฤษฎีใด สิ่งหนึ่งที่อาจารย์ที่ปรึกษาถามก็คือได้ไปอ่านบทความต้นฉบับแล้วหรือยัง ทั้งนี้เป็นเพราะการอ่านแนวความคิดที่คนอื่นนำมาเล่าต่อกันเป็นทอด ๆ นั้นมันทำให้แนวความคิดเดิมที่คนแรกนำเสนอเอาไว้นั้นมันผิดเพี้ยนไปได้ 
   
หนังสือสองเล่มที่ผมกล่าวมาข้างต้นนั้น ผมได้ให้นิสิตป.เอก คนแรกของผม (และก็เพียงคนเดียวที่ได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและจบไปทำงานแล้ว) ไปอ่านให้หมด ก่อนที่จะเริ่มเรียนกับผม

วัน วลิต เป็นชาวฮอลันดาชื่อ "เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremisa Van Vliet)" แต่เป็นที่รู้จักของคนไทยทั่วไปว่า "วันวลิต" เขาผู้นี้เข้ามาทำงานในกรุงศรีอยุธยาในช่วงปีพ.ศ. ๒๑๗๖-๒๑๘๕ หรือใช้เวลา ๙ ปีอยู่ในกรุงศรีอยุธยา เขาได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเมืองไทยอย่างละเอียดและยังเรียนรู้ภาษาไทยได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญก็คือได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเมืองไทยไว้ถึง ๓ เล่ม (แต่เป็นภาษาฮอลันดา)
  
"พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต พ.. ๒๑๘๒" นั้น พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เขียนไว้ในบทคำนำเสนอของหนังสือดังกล่าวว่า
  
"โดยเฉพาะคุณลักษณะของกษัตริย์แต่ละพระองค์ที่วันวลิตระบุไว้เป็นแบบฉบับในการเขียนเลยนั้น แทบจะไม่มีปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับของคนไทยเลย ....
ข้อความส่วนนี้ทำให้พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิตแตกต่างไปจากการเขียนพงศาวดารของคนไทยอย่างชัดเจน ...
อย่างไรก็ดี แม้ วันวลิต จะไม่มีข้อจำกัดในด้านนี้ แต่ก็ควรพิจารณาว่าทั้งหมดเป็นความคิดเห็นของวันวลิต ผู้เป็นปุถุชนคนหนึ่ง ที่มองจากด้านของตนเองผู้มีประโยชน์เฉพาะตนเป็นอย่างหนึ่ง หรือด้านที่เป็นข่าวสารที่ได้รับมาทางหนึ่งทางใด ดังจะพบว่าในบางรัชกาลที่วันวลิตกล่าวถึงความดีไม่ดีของพระมหากษัตริย์อยุธยา จะมีความแตกต่างไปบ้างจากการรับรู้ที่ได้จากการอ่านพงศาวดารที่คนไทยเขียน"

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็เป็นบุคคลท่านหนึ่งที่เขียนหนังสือและบทความไว้หลากหลาย หนึ่งในหนังสือที่ท่านเขียนได้แก่ "กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้" ที่เขียนขึ้นโดยอิงจากหนังสือของ วันวลิต และก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาเรื่องราวที่เขียนขึ้นโดย วันวลิต นั้น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ได้เกริ่นนำเอาไว้ว่า
"ในการอ่านเรื่องที่จะได้แปลต่อไปนี้ ผู้อ่านควรทำใจไว้ก่อนว่า ผู้ที่เขียนเรื่องนี้ขึ้น เป็นฝรั่ง ถึงจะอ่านหนังสือไทยออกขนาดอ่านจดหมายเหตุต่าง ๆ ในกรุงศรีอยุธยาได้ และพูดภาษาไทยขนาดที่จะซักถามข้อความต่าง ๆ จากคนไทยได้ แต่จิดใจก็ยังเป็นฝรั่ง เพราะฉะนั้นที่จะให้เข้าใจคนไทยและเข้าใจถึงจิตใจคนไทยอย่างแท้จริง ตลอดจนวิเคราะห์เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยได้อย่างถ่องแท้นั้น จึงเป็นของยาก แม้หนังสือต่าง ๆ ที่ฝรั่งเขียนขึ้นเกี่ยวกับเมืองไทยในปัจจุบันนี้ก็อยู่ในลักษณะเช่นเดียวกัน จะเชื่อถือไปหมดทุกข้อทุกกระทงไม่ได้ ทั้งนี้เป็นข้อสังเกตข้อแรก"

หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกในปีพ.ศ. ๒๕๑๙ หรือเมื่อ ๓๘ ปีที่แล้ว

เมื่อตอนเรียนมัธยมปลายนั้น ครูผู้สอนวิชาสังคมศึกษา (ต้องกราบขออภัยที่ผมจำชื่อของท่านไม่ได้ จำได้แต่ว่าท่านเป็นคนตัวอ้วน ร่างใหญ่) กล่าวเอาไว้ประโยคหนึ่งว่า "วิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เป็นวิชาท่องจำ แต่เป็นวิชาที่ต้องใช้เหตุผลในการทำความเข้าใจ" ซึ่งกว่าที่ผมจะเข้าใจประโยคที่ท่านกล่าว ก็ล่วงเลยเวลามาจนหลังเรียนจบปริญญาตรี
  
สภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของชุมชนนั้น ถูกกำหนดโดยลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนใด ก็อิงอยู่กับภูมิประเทศและภูมิอากาศของสังคมนั้นด้วย กฎเกณฑ์ใด ๆ ที่ไม่สามารถทำให้คนในชุมชนนั้นสามารถดำรงชีพอยู่ได้ ก็ไม่แปลกที่คนในชุมชนนั้นจะปฏิเสธ
  
เรื่องนี้ผมเคยคุยกับผู้ที่คิดว่าตัวเองเป็นผู้เคร่งศาสนาพุทธผู้หนึ่ง ที่คิดว่าศาสนาพุทธนั้นดีที่สุด ในหัวข้อที่ว่าการฆ่าสัตว์นั้นเป็นบาป ผมก็เลยย้อนถามกลับไปว่าถ้าไปบอกพวกเอสกิโมที่อาศัยอยู่ตามขั้วโลกในภูมิประเทศที่เย็นจัด พื้นเป็นน้ำแข็ง (เกือบ) ตลอดทั้งปี ที่ปลูกอะไรกิน (แทบ) ไม่ได้ หรือชนเผ่าที่เร่ร่อนอยู่ในทะเลทายในตะวันออกกลาง ว่าอย่าฆ่าสัตว์ เพราะมันบาป แล้วจะให้คนเหล่านั้นเขากินอะไร แล้วเขาจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ช่วงเวลาที่ศาสนาพุทธเกิดขึ้นและเผยแผ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้นั้น คนในภูมิภาคแถบนี้อยู่ในดินแดนที่ปลูกพืชผักกินได้ทั้งปี หรือไม่ก็มีเทคโนโยลีที่จะถนอมพืชผัก (หรือแม้กระทั่งเนื้อสัตว์) เก็บไว้กินได้ตลอดทั้งช่วงฤดูหนาว แต่ในเวลาเดียวกันนั้นคนทางยุโรปยังไม่รู้จักการถนอมพืชผัก (หรือเนื้อสัตว์) ไว้กินเช่นคนเอเชีย ดังนั้นศาสนาที่ห้ามการฆ่าสัตว์เช่นศาสนาพุทธ จึงยากที่จะได้รับการยอมรับจากผู้คนที่อาศัยอยู่ทางด้านตะวันตกของประเทศอินเดีย คนเอเชียมีเทคโนโลยีในการถนอมอาหารมาเป็นเวลานับพันปีแล้ว แต่เรากลับมาเรียนหนังสือยกย่อง ฟรานซิส เบคอน ว่าเป็นผู้คนพ้นว่าความเย็นจากหิมะช่วยเก็บเนื้อไก่ไว้ได้นานขึ้น ซึ่งเป็นการค้นพบของชาวตะวันตกเมื่อไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมานี่เอง


เรื่องที่คนไทยเห็นว่าคำพูดฝรั่งถูกต้องไปเสมอนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว เรื่องหนึ่งก็ได้เคยเล่าเอาไว้แล้วใน Memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๖๔ วันพุธที่ ๑๖ มกราคม พ.. ๒๕๕๖ เรื่อง "กระสุน Siamese type 66 (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๓๔)" ลองย้อนกลับไปอ่านดูได้