วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การระเบิดที่โรงกลั่นน้ำมันเนื่องจากน้ำมันไหลล้นจาก tank เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๔๒ MO Memoir : Sunday 31 August 2557

ในวันพฤหัสบดีที่ ๒ ธันวาคม พ.. ๒๕๔๒ เกิดการระเบิดและเพลิงไหม้บริเวณ tank farm ของโรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ๗ ราย
  
สิ่งที่ผมทราบจากข่าวที่มีการเผยแพร่ในขณะนั้นและจากคนที่พอรู้จักที่ทำงานอยู่ในวงการ ทราบแต่เพียงว่าความผิดพลาดเกิดจากน้ำมันเบนซินล้นออกมาจากถังเก็บ (tank) แล้วเกิดการระเบิดขึ้น มาได้รับฟังรายละเอียดเพิ่มเติมมากขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๖ โดยผู้บรรยายที่มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารของบริษัทที่โรงกลั่นดังกล่าวเป็นของบริษัทลูกในเครือ แต่ข้อมูลก็ไม่ชัดเจนเท่าใดนั้น มาชัดเจนอีกครั้งหนึ่งเมื่อเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเมื่อมีโอกาสได้รับฟังจากการบอกเล่าของวิศวกรอาวุโสท่านหนึ่งที่ทำหน้าที่ด้านความปลอดภัย และในขณะเวลาที่เกิดเหตุนั้นก็เป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในโรงกลั่นที่อยู่ติดกับโรงกลั่นที่เกิดเหตุ

รูปที่ ๑ Slide ต้นเรื่องที่ผมได้นั่งฟังการบรรยายมาเมื่อปีที่แล้ว

เดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ก็จะครบรอบ ๑๕ ปีของเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว ผมไม่ทราบว่าบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวมีการส่งผ่านจากคนรุ่นที่ทันเห็นเหตุการณ์ไปยังคนรุ่นใหม่หรือไม่อย่างไร แต่จากประสบการณ์นั้นพบว่ามันจะหายไปกับกาลเวลา มันเจือจางไปตามจำนวนคนที่รับทราบเหตุการณ์จริงที่เกษียณอายุหรือออกไปจากวงการ สิ่งที่เขียนในบันทึกนี้มาจากคำบอกเล่าอย่างไม่เป็นทางการ แม้ว่าผมจะไม่สามารถยืนยันได้ว่าถูกต้อง 100% แต่ก็เชื่อว่าควรจะมากกว่า 90%
  
คำบอกเล่าที่ผมได้รับฟังมานั้นเป็นเสมือนการสนทนากันระหว่างผู้ที่อยู่ในวงการ ดังนั้นคำศัพท์บางคำศัพท์นั้นถ้าเป็นผู้ที่อยู่นอกวงการอาจจะไม่เข้าใจความหมาย ด้วยเหตุนี้ผมจะพยายามแทรกคำอธิบายคำศัพท์บางคำที่มีการกล่าวถึงเพื่อให้ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่เห็นภาพเหตุการณ์ได้ชัดเจนขึ้น โดยส่วนที่เป็นคำอธิบายเพิ่มเติมจะใช้ตัวอักษรสี "น้ำตาล" บางประโยคนั้นผมขอนำเอาคำพูดของท่านวิทยากรที่ทำการบรรยายมาใช้โดยตรง เพราะทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนดี
  
เหตุการณ์เป็นอย่างไรนั้นขอเริ่มเรื่องเลย ดูรูปที่ ๒ ประกอบไปด้วยก็แล้วกัน

รูปที่ ๒ แผนผังของหน่วยที่เกิดอุบัติเหตุ

ในกระบวนการกลั่นน้ำมันนั้น มีหลากหลายปัจจัยที่ทำให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้นั้นมีการเบี่ยงเบนไปจากข้อกำหนด (specification หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่าสเป็ก - spec.) ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบของน้ำมันดิบที่เข้ามากลั่น หรือภาวะการทำงานของหน่วยต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นน้ำมันที่กลั่นได้จึงต้องถูกส่งไปยังถังเก็บ (tank) ก่อนเพื่อรอการตรวจสอบคุณภาพ ถ้าคุณภาพเป็นไปตามข้อกำหนดก็สามารถส่งน้ำมันดังกล่าวออกจำหน่ายได้ ถ้าคุณภาพออกมาต่ำกว่าข้อกำหนด (under spec.) ก็อาจต้องนำกลับไปกลั่นใหม่ หรือไม่ก็นำไปผสม (blend) กับน้ำมันที่มีคุณภาพสูงกว่าข้อกำหนด (over spec.) เพื่อให้ได้คุณภาพตามข้อกำหนดก่อนจำหน่าย
  
การ blend คือการนำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการผลิตมาผสมกันเพื่อให้ได้คุณภาพสุดท้ายตามข้อกำหนด (หรือที่เรียกว่า spec) เช่นนำเอาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพต่ำกว่าข้อกำหนด (under spec) มาผสมกับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงกว่าข้อกำหนด (over spec) หรือทำการผสมผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติอยู่ในช่วงตามข้อกำหนด แต่มีความไม่สม่ำเสมออยู่ (เช่นติดขอบเขตบนกับขอบเขตล่างของข้อกำหนด) ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติสม่ำเสมอไม่ว่าจะอยู่ในส่วนไหนของ tank
  
บริเวณที่เป็นพื้นที่การผลิตนั้นเรียกว่า "on site process" (หรือเรียกสั้น ๆ ว่า on site) ส่วนบริเวณที่เป็นพื้นที่เก็บผลิตภัณฑ์หรือสารตั้งต้นนั้นเรียกว่า "off site process" (หรือเรียกสั้น ๆ ว่า off site) บริเวณของ Tank farm (คือบริเวณที่ตั้งของกลุ่ม tank เก็บน้ำมัน) นั้นจัดเป็นบริเวณ off site
  
ในคืนที่เกิดเหตุนั้น ทางโรงกลั่นจะทำการส่งถ่ายน้ำมันเบนซิน (หรือที่เรียกว่า oil movement) จาก on site ไปยัง tank farm ที่อยู่ off site โดยโอเปอร์เรเตอร์ (operator - พนักงานปฏิบัติการ) จะทำหน้าที่กำหนดเส้นทางการไหล (หรือที่ภาษาโรงกลั่นเรียกว่า "จับ line" คือการเลือกเส้นทางการไหลจาก on site ไปยัง tank ที่กำหนดที่อยู่ off site) โอเปอร์เรเตอร์ที่ทำหน้าที่ในคืนดังกล่าวจัดว่าเป็นผู้ที่มีประสบการณ์สูงผู้หนึ่ง (เรียกว่าเก๋าก็ได้ - ผู้บรรยายพูดให้ฟัง) โดยในการจับ line เพื่อให้น้ำมันเบนซินไหลไปยัง tank ที่ต้องการนั้น (ขอเรียกว่า tank A) ต้องมีการเปิด-ปิดวาล์วหลายตัว แต่ในคืนนั้นมีวาล์วตัวหนึ่ง "เปิด" ค้างอยู่จากการทำงานก่อนหน้า แต่ไม่ได้ถูก "ปิด"

เป็นเรื่องปรกติที่จะพบว่าการวางท่อในโรงงานนั้น (โดยเฉพาะหน่วยที่สามารถใช้ทำงานร่วมกันหรือทดแทนกันได้) จะมีการวางท่อเชื่อมต่อไปมาถึงกัน เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการทำงาน แต่ก็นำมาซึ่งความซับซ้อนและวุ่นวายของระบบ อย่างเช่นในกรณีนี้คือการที่ต้องมีวาล์วที่เกี่ยวข้องหลายตัว โดยวาล์วที่นำไปยัง tank ที่ต้องการนั้นต้องอยู่ในตำแหน่งเปิด และวาวล์ในเส้นทางที่ไม่ต้องการให้น้ำมันไหลไปนั้นต้องอยู่ในตำแหน่งปิด

การเปิดของวาล์วตัวนั้นไม่ได้เป็นปัญหาในการที่จะให้น้ำมันไหลจาก process unit ไปยัง tank A แต่ทำให้มีการไหลของน้ำมันบางส่วนจาก process unit ไปยัง tank ที่ใครต่อใครคิดว่ามันไม่มีการใช้งาน (ขอเรียกว่า tank ฺB) ขณะนั้นเป็นเวลาดึกแล้ว และด้วยอัตราการไหลของน้ำมันไปยัง tank (หรือที่เรียกว่า rundown) นั้น โอเปอร์เรเตอร์ก็คำนวณว่ากว่าน้ำมันจะเต็ม tank A ก็คงประมาณวันรุ่งขึ้นช่วงกะกลางวัน
  
ในขณะนั้นทางโรงกลั่นเองอยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบควบคุมและระบบสัญญาณต่าง ๆ หรือเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนถ่ายโลกของ offsite หรือ line movement จาก local ไปยัง control room ซึ่งเป็นการทำการคู่ขนาน (คืนในส่วนของ local ก็ยังใช้งานอยู่ และในส่วนของ control room ก็ใช้งานได้ด้วยเช่นกัน) ทำให้ในช่วงนั้นเกิด fault alarm (สัญญาณเตือนที่ผิดพลาด) บ่อยครั้ง สิ่งหนึ่งที่ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมตัวใหม่นำมาใช้คือการคำนวณความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการไหลของน้ำมันไปยัง tank กับระดับน้ำมันใน tank ถ้าพบว่าอัตราการไหลกับระดับน้ำมันไม่สัมพันธ์กัน (เช่นอัตราการไหลสูงแต่ระดับน้ำมันไม่สูงขึ้น) อยู่นอกขอบเขตที่ยอมรับได้ คอมพิวเตอร์ก็จะสั่งให้ปั๊มที่กำลังส่งถ่ายน้ำมันนั้นหยุดการทำงาน แนวความคิดของระบบนี้ก็เพื่อให้โอเปอร์เรเตอร์ได้ตรวจสอบการทำงานของระบบว่าอัตรา run down มากไปหรือน้อยไป

ระบบควบคุมการทำงานหน่วยผลิตใด ๆ ของโรงงานนั้นมีทั้งชนิดที่ติดตั้งอยู่บริเวณหน่วยผลิตนั้น (ที่เรียกว่า local) หรืออยู่ที่ห้องควบคุมกลาง (central control room ที่ย่อว่า CCR แต่มักเรียนสั้น ๆ ว่า control room) ก่อนสมัยยุคดิจิตอลคอมพิวเตอร์จะมีการใช้งานกันแพร่หลาย การควบคุมแบบ local ก็เรียกได้ว่าเป็นเรื่องปรกติที่พบเห็นได้ทั่วไป

วาล์วที่ควรจะปิดแต่กลับเปิดค้างอยู่นั้นไม่ได้ก่อปัญหาในการส่งถ่ายน้ำมันไปยัง tank A เพียงแต่ทำให้ปริมาณน้ำมันใน tank A นั้นเปลี่ยนแปลงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะน้ำมันบางส่วนมีการไหลไปยัง tank ฺ ในขณะที่ระดับน้ำมันใน tank A ค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้น ระดับน้ำมันใน tank B ก็ค่อยเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย เมื่อคอมพิวเตอร์ที่ห้องควบคุมตรวจพบว่าอัตราการ run down น้ำมันไปที่ tank A นั้นไม่สัมพันธ์กับปริมาณน้ำมัน (ดูจากระดับความสูงของน้ำมันใน tank) ที่เพิ่มขึ้น ระบบ interlock (ระบบควบคุมที่ป้องกันการทำงานถ้าพบว่าเงื่อนไขการทำงานบางเงื่อนไขไม่เป็นไปตามข้อกำหนด) ก็หยุดการทำงานของปั๊มที่ run down นั้นมันนั้น
  
แต่ด้วยความมั่นใจ โอเปอร์เรเตอร์ที่อยู่ในห้องควบคุมคิดว่าเป็นสัญญาณเตือนที่ผิดพลาด (fault alarm) ก็เลยไปสั่งเดินเครื่องปั๊มใหม่ (manual start up คือ bypass หรือปิดระบบควบคุมและสั่งการเดินเครื่องเอง)
  
ปัญหาเรื่องสัญญาณเตือนที่ผิดพลาดหรือที่เรียกว่า fault alarm นั้นเป็นเรื่องที่ประสบได้ทั่วไปในการควบคุมกระบวนการผลิตของโรงงาน การเกิด fault alarm บ่อยครั้งจะส่งผลให้โอเปอร์เรเตอร์ที่อยู่ที่ห้องควบคุมนั้นปักใจเชื่อว่าสัญญาณที่เห็นนั้นเป็นสัญญาณที่ผิดพลาด และมักจะทำการ reset หรือปิดสัญญาณเตือนนั้นโดยไม่มีการตรวจสอบว่าเป็นสัญญาณเตือนที่แท้จริงหรือไม่ และก็มีเหมือนกันว่า fault alarm ของบางหน่วยที่เกิดขึ้นเป็นประจำนั้น ทำให้โอเปอร์เรเตอร์เชื่อว่า alarm ที่เกิดขึ้นจากหน่วยอื่นที่มีเหตุการณ์ผิดปรกติเกิดขึ้นจริงนั้นเป็น fault alarm ไปด้วย
  
สำหรับโรงงานขนาดใหญ่ การหยุดเดินเครื่องทั้งโรงงานเพื่อทำการเปลี่ยนระบบควบคุมจากระบบเก่ามาเป็นระบบใหม่นั้นเป็นเรื่องที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก (จากผลิตภัณฑ์ที่ควรจะผลิตได้แต่ไม่สามารถผลิตได้ในช่วงเวลาที่หยุดการทำงาน) ดังนั้นจึงมักทำการเปลี่ยนระบบไปในขณะที่โรงงานกำลังเดินเครื่องอยู่ โดยในการนี้ต้องมีการคู่ขนานระบบเก่าและระบบใหม่เข้าด้วยกัน คือระบบเก่าก็ยังคงใช้งานได้อยู่ในขณะที่กำลังติดตั้งระบบใหม่ และเมื่อระบบใหม่เริ่มใช้งานได้แล้วและตรวจสอบแล้วว่าสามารถทำงานได้ทัดเทียมระบบเก่า ก็จะทำการปลดแยกระบบเก่าออกไป
  
และในช่วงระหว่างกระบวนการเปลี่ยนถ่ายระบบนี้ การมี fault alarm เกิดขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

ในคืนดังกล่าว tank B เต็มก่อน tank A ทำให้ตัวตรวจวัดระดับของ tank B ส่งสัญญาณเตือนระดับความสูงของของเหลวในถังสูงเกินไปหรือที่เรียกว่า High level alarm (HLA) โอเปอร์เรเตอร์ที่ประจำอยู่ที่ห้องควบคุมคิดว่า High level alarm ดังกล่าวเป็น fault alarm ก็เลยทำการreset High level alarm นั้น ทำให้ระดับของเหลวใน tank B ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งตัวตรวจวัดระดับของเหลวส่งสัญญาณเตือนระดับความสูงของของเหลวในถังสูงถึงขีดสุดหรือที่เรียกว่า High High level alarm (HHLA มีคำว่า high สองตัวนะ) ออกมา โอเปอร์เรเตอร์ที่อยู่ใน control room ก็คิดว่า High High level alarm นั้นเป็นสัญญาณfault alarm เช่นกันก็เลยทำการ reset alarm High High level alarm นั้นอีก
  
สาเหตุที่โอเปอร์เรเตอร์ทำการ reset ทั้ง High level alarm และ High High level alarm ก็เพราะขณะนั้นทางโรงกลั่นไม่มีแผนการทำงานใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ tank B สิ่งที่ทุกคนเชื่อก็คือ tank B ไม่มีการใช้งาน ก็เลยคิดไปว่าสัญญาณเตือนที่เกิดขึ้นนั้นเป็น fault alarm

ในหน่วยที่สำคัญนั้นสัญญาณเตือนอันตรายเมื่อพารามิเตอร์ตัวใดตัวหนึ่งกำลังจะออกไปนอกขอบเขตมักจะมีการตั้งไว้ ๒ ระดับ เช่นในกรณีของระดับความสูงของน้ำมันใน tank ในกรณีนี้ สัญญาณ high นั้นเป็นสัญญาณที่บอกให้ทราบว่าระดับน้ำมันใน tank นั้นสูงเกินกว่าระดับใช้งานตามปรกติ โดยที่ระบบยังพอรองรับได้อยู่ ในกรณีเช่นนี้ระบบควบคุมอาจจะยังไม่ตัดการทำงานใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบดังกล่าว เพื่อเปิดโอกาสให้โอเปอร์เรเตอร์ทำการควบคุมกระบวนการเพื่อนำระบบกลับมาให้อยู่ในช่วงปรกติ แต่ถ้าระดับน้ำมันในถังแม้ว่าพ้นจากระดับ High alarm ยังคงเพิ่มต่อเนื่องไปอีกจนอาจล้น tank เก็บได้ ตัวตรวจวัดก็จะส่งสัญญาณ High High alarm ออกมา
  
ในบางหน่วยนั้นสัญญาณพวก High High (สัญญาณด้านต่ำหรือ Low Low ก็มีนะ) จะเชี่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงพารามิเตอร์นั้น (เช่นถ้าเป็นการใช้ปั๊มถ่ายของเหลวเข้า tank ก็อาจทำการเชื่อมต่อสัญญาณ HHLA เข้ากับปั๊มตัวดังกล่าว) และใช้สัญญาณ High High นั้นหยุดการทำงานของอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้น้ำมันไหลเข้า tank B อย่างต่อเนื่องจนล้น tank B ออกมาข้างนอก มาอยู่ในบริเวณเขื่อนกักเก็บหรือ dike รอบ ๆ tank
  
แต่เนื่องจากวาล์วระบายน้ำฝนออกจากบริเวณรอบ tank1 B นั้นเปิดทิ้งไว้ (วาล์วตัวนี้อยู่ที่ระดับพื้นดิน ทำให้เปิดปิดยาก บางทีก็จะถูกเปิดทิ้งเอาไว้ เพื่อระบายน้ำฝนออกจากบริเวณรอบ tank ผ่านกำแพงที่ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ของเหลวที่ไหลออกมากจาก tank แพร่กระจายไปทั่ว) ทำให้น้ำมันไหลลงระบบท่อระบายน้ำที่เป็นแบบ open ditch
  
บริเวณที่ตั้งของ tank เก็บสารเคมีที่เป็นของเหลว (ที่ไม่ใช่น้ำ) ขนาดใหญ่นั้น มีข้อกำหนดว่าต้องมีการป้องกันการแพร่กระจายของสารเคมีออกไปนอกบริเวณที่ตั้งของ tank ในกรณีที่มีการรั่วไหล (ที่อาจปิดกั้นไม่ได้) หรือ tank ได้รับความเสียหายจนไม่สามารถกักเก็บของเหลวได้ การป้องกันดังกล่าวกระทำโดยการสร้างกำแพงหรือคันดินล้อมรอบบริเวณที่ตั้ง tank นั้น ความสูงของกำแพงหรือคันดินจะขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ที่ใช้และปริมาตรของ tank ที่ตั้งอยู่
  
ในกรณีที่มีอยู่เพียง tank เดียวก็ต้องคำนวณว่าถ้าหาก tank ดังกล่าวพังลงมาจนไม่สามารถกักเก็บของเหลวได้ ของเหลวจะต้องไม่ล้นกำแพงหรือคันดินที่ล้อมรอบ tank นั้นอยู่ กล่าวคือถ้ากำแพงหรือคันดินนั้นสร้างเอาไว้ใกล้ tank กำแพงหรือคันดินนั้นก็ต้องสูงหน่อย แต่ถ้าสร้างห่างออกมาจาก tank ก็มีความสูงลดลงได้ แต่จะเปลืองพื้นที่มากขึ้น
  
ในกรณีที่กำแพงหรือคันดินนั้นสร้างล้อมรอบกลุ่ม tank เอาไว้หลาย tank ตามข้อกำหนดเดิมนั้นปริมาตรของเหลวที่กำแพงหรือคันดินเหล่านั้นจะต้องกักเก็บไว้ได้คือปริมาตรรวมของทุก tank รวมกัน แต่ต่อมาพบว่าโอกาสที่ทุก tank จะเกิดความเสียหายจนพังพร้อม ๆ กันนั้นน้อยมาก ก็เลยมีการเปลี่ยนเป็นให้ใช้ปริมาตรของ tank ตัวที่มีความจุมากที่สุดของกลุ่ม tank นั้นเพียง tank เดียวพอ หรือพิจารณาจากจำนวน tank ที่มีโอกาสมากที่สุดที่จะเกิดความเสียหายพร้อมกัน (กล่าวคืออาจกำแพงหรือคันดินอาจล้อมรอบ tank เอาไว้ ๖ tank แต่ถ้าคิดว่า tank มีโอกาสเสียหายพร้อมกันมากที่สุด ๓ tank เท่านั้น ก็ให้คิดปริมาตรของเหลวที่กำแพงหรือคันดินนั้นต้องกักเก็บเอาไว้ได้จากเพียงแค่ ๓ tank นั้น)
  
แต่กำแพงหรือคันดินดังกล่าวก็ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังเวลาฝนตก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการติดตั้งวาล์วระบายน้ำฝนออกจากบริเวณด้านใน โดยวาล์วนี้จะติดตั้งไว้ที่ระดับพื้นดิน เพื่อที่จะได้ระบายน้ำฝนออกไปได้หมดโดยไม่เหลือน้ำท่วมขัง และด้วยตำแหน่งที่ตั้งของวาล์วดังกล่าว (ที่อยู่ที่ระดับพื้นดินทำให้เปิด-ปิดลำบาก และยังมีสิ่งสกปรกเข้าไปข้างในได้ง่าย) ประกอบกับสภาพอากาศถ้าหากอยู่ในช่วงที่มีฝนตกเป็นประจำ ก็อาจทำให้วาล์วดังกล่าวถูกเปิดทิ้ง (หรือปิดไม่สนิท) เอาไว้ได้
  
open ditch คือรางระบายน้ำแบบเปิด มีพื้นที่หน้าตัดเป็นรูปสีเหลี่ยมคางหมูที่เอาด้านสั้นของด้านคู่ขนานอยู่ข้างล่าง ไม่มีฝาปิด ดังนั้นรถจึงวิ่งข้าม open ditch ไม่ได้ ตรงจุดตัดระหว่างถนนกับ open ditch ก็เลยต้องทำท่อลอด (วงท่อแล้วถมดินทับ) หรือไม่ก็ใช้ฝาคอนกรีตปิดคลุมด้านบนของ open ditch เอาไว้ ตรงจุดนี้เรียกว่า culvert

รูปที่ ๓ Open ditch และ culvert ความสูงของผนัง open ditch นั้นสามารถทำให้ไอน้ำมันสะสมอยู่ใน open ditch ได้โดยไม่ฟุ้งกระจายออกไปได้ง่าย และฝาปิดด้านบนของบริเวณ culvert นั้นก็ช่วยป้องกันไม่ให้ไอน้ำมันฟุ้งกระจายออกไปอีก ทำให้บริเวณใต้ culvert มีความหนาแน่นของไอน้ำมันมากกว่าส่วน open ditch ได้

น้ำมันเบนซินที่รั่วไหลออกมาจาก tank B นั้นทำให้เกิดเป็น vapour cloud (กลุ่มหมอกไอน้ำมัน) รอบ ๆ tank B ส่วนที่ไหลเข้าไปตาม open ditch ก็ไปก่อให้เกิด vapour cloud ใน open ditch โดยเฉพาะบริเวณที่เป็น culvert หรือจุดตัดระหว่าง open ditch กับถนนที่เป็นบริเวณที่มีการปิดล้อม (อากาศไม่มีการถ่ายเท) ทำให้ไอน้ำมันเกิดสะสมในบริเวณที่เป็น culvert ดังกล่าว

รูปที่ ๔ สไลด์ประกอบการบรรยายเหตุการณ์ที่ผมได้ไปรับฟังมาเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว

นั่นคือเหตุการณ์ช่วงประมาณ ๒.๐๐ - ๓.๐๐ น ของวันที่เกิดเหตุ

คืนนั้นประมาณตี ๒ ตี ๓ สถานการณ์เป็นเช่นนี้ ถ้ดจากนั้นมีรถปิ๊กอัพคันหนึ่งเดินทางผ่านเข้ามาใน tank farm รถคันดังกล่าววิ่งฝ่าเข้าไปใน vapour cloud โดยไม่รู้ตัว ทำให้เกิดเป็น flash fire (จากการจุดระเบิดของอุปกรณ์ในตัวรถยนต์)เกิด blast ขึ้นใน culvert (เพราะมีไอน้ำมันอยู่หนาแหน่น) ฝา culvert ที่เป็นคอนกรีตปลิวลอยขึ้นไปแล้วตกลงมา รถดับเพลิงของโรงกลั่นน้ำมันเองไม่มีโอกาสใช้งาน เพราะอยู่ในกองเพลิง

ไอเชื้อเพลิงถ้ารั่วในที่โล่งแจ้งนั้นมีโอกาสที่จะติดไฟหรือระเบิดต่ำ เพราะไอสามารถฟุ้งกระจายจนความเข้มข้นลดต่ำลงมากได้ เว้นแต่มีการรั่วไหลในปริมาณมากที่แผ่กว้างออกเป็นบริเวณกว้างและฟุ้งกระจายไปไม่ทัน การระเบิดที่เกิดจากไอเชื้อเพลิงที่แผ่กว้างออกไปเป็นบริเวณกว้างเช่นนี้เรียกว่า Unconfined Vapour Cloud Explosion (UVCE) และมักเป็นการระเบิดที่รุนแรง
  
ถ้าเป็นการรั่วไหลในบริเวณพื้นที่ปิดล้อมหรือกึ่งปิดล้อมที่มีการระบายอากาศที่ไม่ดี ไอเชื้อเพลิงที่รั่วออกมาไม่มากก็สามารถสะสมจนถึงความเข้มข้นที่ระเบิดได้ ทำให้มีโอกาสสูงกว่าที่จะเกิดการระเบิดแม้ว่าจะมีไอเชื้อเพลิงรั่วไหลออกมาไม่มาก การระเบิดเช่นนี้เรียกว่า Confined Vapour Cloud Explosion (VCE) และมักมีความรุนแรงต่ำว่า UVCE ที่มีเชื้อเพลิงรั่วไหลออกมาในปริมาณที่สูงกว่ามาก
  
ข่าวและภาพในในช่วงถัดไปนี้นำมาจาก

ส่วนคลิปวิดิโอภาพข่าวเหตุการณ์ดูได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=2QfNHwuqusk






ความผิดพลาดของโศกนาฏกรรมครั้งนี้อยู่ที่ไหน ผมว่ามันขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการหาอะไร
  
ถ้าเราต้องการหาคนผิดเพื่อเอามาลงโทษในฐานะที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต (ซึ่งเป็นเรื่องปรกติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง) เราก็คงจะได้คำตอบรูปแบบหนึ่ง
  
ถ้าเรามองหาความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นซ้ำอีก (ซึ่งเป็นเรื่องที่วิศวกรที่ทำงานด้านความปลอดภัยควรต้องกระทำ) เราก็คงจะได้คำตอบในอีกรูปแบบหนึ่ง
  
ถ้ามองในมุมมองของผู้ที่ไม่ได้มีประสบการณ์การทำงานโดยตรง (ในงานที่เกี่ยวข้องหรือคล้ายคลึงกัน เช่น ชาวบ้านทั่วไป หรือนักวิชาการที่ไม่เคยลงมือปฏิบัติจริง) เราก็คงจะได้คำตอบในรูปแบบหนึ่ง
  
ถ้ามองในมุมมองของผู้บริหารองค์กร เราก็คงจะได้คำตอบอีกรูปแบบหนึ่ง
  
และถ้ามองในมุมมองของผู้ปฏิบัติงานที่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว เราก็คงจะได้คำตอบในอีกรูปแบบหนึ่ง

ถ้าปัญหามันอยู่ที่ขั้นตอนการปฏิบัติงานหรืออุปกรณ์ การเอาคนที่ "กระทำผิด" ออกไปแล้วเปลี่ยนคนใหม่เข้ามาแทน มันก็ไม่ได้ป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำอีก
  
ถ้าปัญหามันอยู่ที่คน ก็ควรต้องหาทางว่าทำอย่างไร (เช่นด้วยการฝึก ทบทวน หรือปรับปรุงอุปกรณ์) จึงจะลดหรือป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นซ้ำอีก

แต่โดยความเห็นส่วนตัวแล้วผมเห็นว่า มุมมองที่สามารถลดโอกาสหรือป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นซ้ำอีกนั้น น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด

วันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2557

โน๊ตเพลง "พี่ชายที่แสนดี" "หลับตา" และ "หากรู้สักนิด" MO Memoir : Saturday 30 August 2557

ผมว่าสิ่งหนึ่งที่คนในช่วงชีวิตของผมโชคดี คือช่วงที่เป็นวัยรุ่น (หรือในช่วงยุค '80นั้น) เป็นยุคที่วงการดนตรีของไทยเต็มไปด้วย นักแต่งเพลง นักร้อง และนักดนตรี ที่มีความสามารถ ศิลปินในยุคนั้นก็ยังมีการกลับมาเปิดการแสดงในปัจจุบัน และเพลงที่แต่งในยุคนั้นก็มีการนำกลับมาร้องใหม่ด้วยนักร้องหน้าใหม่ (แต่ขอบอกตามตรงว่าโดยความรู้สึกส่วนตัวแล้ว สู้ของเดิมไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องพลังเสียงหรือการถ่ายทอดอารมณ์) แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่านักแต่งเพลงในยุคสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็น คุณ เรวัต พุทธินันทน์ คุณ อิทธิ พลางกูร หรือ คุณ จรัล มโนเพ็ชร ต่างต้องมาจากไปก่อนเวลาอันควร
  
ช่วงปี ๒๕๒๙ ก็มีนักร้องหญิงหน้าใหม่ผู้หนึ่งคือ คุณ รวิวรรณ จินดา หรือที่แฟนเพลงเรียกกันด้วยชื่อเล่นว่า "อุ้ย" ออกอัลบั้มชุดแรกคือ "รุ้งอ้วน" ซึ่งเพลง "รุ้งอ้วน" ก็ได้กลายเป็นเพลงที่โด่งดังในยุคนั้น
  
แต่ก็ยังมีอีกเพลงหนึ่งที่โด่งดังในยุคนั้นไม่แพ้กัน และยังมีการนำมาร้องใหม่โดยนักร้องหน้าใหม่ เพลงนั้นก็คือเพลง "พี่ชายที่แสนดี" ผมยังคลับคล้ายคลับคลาว่าช่วงนั้นห้างมาบุญครองเพิ่งจะเริ่มเปิด (จำได้ว่าตอนมาเรียนที่จุฬาฯ ปี ๒๕๒๗ นั้น ห้างมาบุญครองยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง) และ "อุ้ย" ก็ได้มาจัดแสดงคอนเสิร์ตที่ห้างนั้นด้วย
  
ผมหาโน๊ตเพลง "พี่ชายที่แสนดี" ทางอินเทอร์เน็ตได้มา ๒ เวอร์ชัน อันหนึ่งเป็นโน๊ตสำหรับคีย์บอร์ด (อยู่ในรูปโน๊ตตัวอักษร) ซึ่งผมลองเป่าเล่นกับฟลุตดูแล้วรู้สึกว่าบางจุดเสียงมันเพี้ยน อีกอันเป็นโน๊ตสำหรับเปียนโนที่อยู่ในรูปโน๊ตสากล แต่ผมงอ่านแล้วไม่รู้เรื่องเพราะไม่มีความรู้พอ แต่ก็ได้ใช้ต้นฉบับทั้งสองนำมาเขียนใหม่ให้มันง่ายขึ้น (และคิดว่าเสียงคงไม่เพี้ยนแล้ว)
  
อีกสองเพลงที่นำมารวมไว้ในบันทึกนี้คือโน๊ตเพลง "หลับตา" ที่ของเดิมเป็นบันได้เสียง Bb major โดยนำมาปรับใหม่เป็นบันได้เสียง C major และเพลง "หากรู้สักนิด" ที่ของเดิมเป็นบันไดเสียง G major และนำมาปรับใหม่เป็นบันไดเสียง C major เช่นกัน

เห็นคนอื่นเขาทำโน๊ตเพลงมาแบ่งปันให้ผู้อื่นได้ใช้ ผมเองก็ไปเอาโน๊ตเขามาใช้และดัดแปลง ถ้าจะไม่นำมาแบ่งปันคนอื่นบ้างมันก็กระไรอยู่ :)






วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เขียนไว้ เพื่อเตือนใจตนเอง (๕) MO Memoir : Friday 29 August 2557

ถ้าเปลี่ยนมุมมองเป็น "การเอาผลงานที่คนอื่นเป็นผู้ทำ ไปขึ้นรางวัลหรือรับผลตอบแทนนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ดี"
ก็จะเห็นว่ามันมีเหตุการณ์ที่มีพฤติกรรมทำนองเดียวกันนี้ที่นอกเหนือไปจากการ "ลอกการบ้าน" "รับจ้างทำการบ้าน" หรือ "รับจ้างทำวิทยานิพนธ์"

อันที่จริงเรื่องนี้ก็ร่างเอาไว้ตั้งแต่ต้นเดือนแล้ว ยังไม่ได้ลงมือเขียนให้จบสักที บังเอิญตอนนี้มันมีเรื่องเกี่ยวกับการลอกการบ้านของนักเรียนและการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ปรากฏเป็นข่าว ก็ถือโอกาสจบเรื่องสักที
     
การที่ครูบาอาจารย์คิดว่าการที่นักเรียนไม่ได้ทำการบ้านเอง แต่ใช้การลอกการบ้านเพื่อนมาส่ง หรือไปให้คนอื่นทำการบ้านให้เพื่อให้มีการบ้านส่งนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะในมุมมองของครูบาอาจารย์นั้นคิดว่าแม้ว่านักเรียนจะมีความรู้ในการบ้านที่ได้รับมอบหมาย แต่ความรู้ดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการลงมือปฏิบัติหรือคิดด้วยตนเอง ดังนั้นพฤติกรรมดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม

ดังนั้นการที่อาจารย์มหาวิทยาลัยให้คนอื่น (ซึ่งอาจเป็นนิสิตบัณฑิตศึกษาหรือ Postdoc) ทำวิจัยให้ โดยไม่สนใจว่าเขาจะทำอย่างไร สนแต่ว่าพอเขาได้ผลออกมาแล้วก็ให้มาบอกหน่อยว่าทำอย่างไร และได้ผลออกมาอย่างไร เพื่อที่อาจารย์ผู้นั้นจะได้นำไปพูดต่อในงานสัมมนาหรือรายงานต่อแหล่งที่ให้ทุน มุมมองของผมมันก็ไม่ได้แตกต่างไปจากการที่นิสิตนักศึกษาไปจ้างให้คนอื่นทำวิทยานิพนธ์ให้ แล้วให้ผู้รับจ้างนั้นมาอธิบายวิธีการและผลที่ได้ เพื่อให้นิสิตนักศึกษาผู้นั้นนำไปบอกต่อให้กับกรรมการสอบ

สิ่งที่เคยประสบพบเห็นก็มีตั้งแต่ปล่อยให้นิสิตบัณฑิตศึกษาทำวิจัยไปตามยถากรรม มีปัญหาอะไรก็ไม่รับฟัง บอกให้ไปหาคนอื่นหรือไปหาวิธีแก้เองเอง สิ่งเดียวที่บอกกับนิสิตของตัวเองก็คือ "ถ้าไม่มี paper ก็ไม่จบ"  

ตอนทำแลปอาจารย์อยู่ไหนก็ไม่รู้ นิสิตได้แต่ร้องโอดครวญว่าไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร ต้องไปขอให้คนอื่นช่วยเหลือ แต่ตอนที่ผลงานนิสิตที่นิสิตกระทำสำเร็จด้วยความช่วยเหลือของคนอื่น (ที่ไม่ใช่อาจารย์ที่ปรึกษาของนิสิตเอง) ได้รับรางวัล กลับปรากฎตัวอาจารย์ที่ปรึกษาเด่นชัดอยู่หน้ากล้อง เผลอ ๆ มีการจัดฉากลวงโลกด้วยเพื่อประกอบการรับรางวัล  

เคยมีผู้เปรย ๆ ให้ฟังถึงพฤติกรรมของอาจารย์บางราย ที่ไม่เคยโผล่หน้าเข้ามาดูเลยว่านิสิตทำแลปอย่างไร การทดลองมีปัญหาอย่างไร การวิเคราะห์ผลการแปลผลทำได้ถูกต้องหรือไม่ สนอย่างเดียวว่านิสิตมีผลงานให้เขาเอาไปตีพิมพ์ paper ได้หรือไม่เท่านั้น แต่พอตัวอาจารย์ได้รับรางวัลจาก "จำนวน" paper ที่ตีพิมพ์ กลับมีการจัดฉากแต่งตัวให้ช่างภาพถ่ายรูปไปทำข่าว เสมือนว่า "ปรกติ" เขาก็เข้ามาทำการทดลองหรือสอนนิสิตในห้องแลป

เดี๋ยวนี้เห็นมีรูปแบบใหม่ที่อาจารย์มหาวิทยาลัยใช้จ้างผู้อื่นให้ทำวิจัย เพื่อที่ตัวเองจะได้มี paper เอาไปขอความดีความชอบโดยไม่ต้องลงทุนศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง คือการเปิดรับ "Postdoc"

การทำ "Postdoc" นั้นเป็นการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมหลังจบปริญญาเอก มักจะเป็นการทำวิจัยเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมเฉพาะทางจากอาจารย์ผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น นั่นหมายถึงการที่ผู้ที่ไปทำ Postdoc นั้นไป "เรียนรู้" จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในสิ่งที่ "ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง" ท่านนั้นมีความรู้
แต่ที่มีโอกาสได้เห็นคือการที่อาจารย์ที่ไม่คนทำวิจัยให้ หรือไม่ก็ไม่ได้มีความรู้ที่จะเรียกได้ว่ารู้จริงในด้านที่ตนอยากมีบทความที่มีชื่อตัวเองปรากฏ ทำการจ้างผู้ที่จบปริญญาเอกที่มีประสบการณ์เฉพาะทางในด้านดังกล่าว ให้มาทำวิจัยและตีพิมพ์บทความในหัวข้อที่อาจารย์ผู้จ้างนั้นกำหนด โดยแฝงมาในรูปของการจ้าง "Postdoc" พอผู้มาทำ "Postdoc" ได้ผลงานมาแล้วก็ให้มาเล่าต่อ (หรือจะเรียกว่าสอนหนังสือให้ก็ได้) ให้อาจารย์ผู้จ้างฟัง เพื่อที่อาจารย์ที่เป็นผู้จ้างนั้นจะได้เอาไปพูดต่อได้ถึงเรื่องราวที่ปรากฏในบทความที่มีชื่อเขาปรากฏ
  
เคยมีเมธีวิจัยอาวุโสผู้หนึ่ง มากระซิบถามความเห็นผมเกี่ยวกับผลงานของเมธีวิจัยอาวุโสอีกรายหนึ่งว่าเขาทำเองหรือไม่ หรือจ้างให้คนอื่นทำ เพราะเวลามีการนำเสนอผลงาน ผู้ฟังซักถามอะไรก็ตอบไม่ได้

เคยมีพนักงานบริษัทเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ที่ทางบริษัทจ้างอาจารย์ที่มีชื่อเสียงว่ามีผลงานวิจัยมากมาย โดยคาดหวังว่าจะเอาผลงานของอาจารย์ผู้นั้นไปประยุกต์ใช้กับงานของบริษัท ทุนวิจัยนื้ทางอาจารย์เองมีการขอตั้งค่าจ้าง "ผู้ช่วยวิจัย" เพื่อใช้จ้างนิสิตบัณฑิตศึกษาที่จะมาทำวิจัยให้กับหน่วยงานของทางบริษัท ทางบริษัทเองนั้นคาดหวังว่าอาจารย์จะเป็นผู้กำกับการทำวิจัย โดยมีนิสิตบัณฑิตศึกษาเป็นลูกมือ แต่พอถึงวันประชุมความก้าวหน้าทีไรกลับปรากฏว่าตัวอาจารย์เองมานั่งซักถามเด็กตัวเองให้ทางบริษัทฟังว่า ช่วงที่ผ่านมาเด็กของตัวเองได้ทำอะไรไปบ้าง (เพราะอาจารย์ไม่รู้เลย) ทำไมถึงทำอย่างนั้น (ก็เพราะอาจารย์ไม่รู้เหตุผลเหมือนกัน) ได้ผลการทดลองออกมาอย่างไร (ก็เพราะอาจารย์ไม่เคยเห็นผลการทดลองมาก่อน เพิ่งจะมาเห็นพร้อมกับทางบริษัทในวันนำเสนอความก้าวหน้า) ผลที่ได้สรุปได้ว่าอย่างไร พอทางบริษัทถามคำถามอาจารย์ก็โยนให้เด็กตอบ พอเด็กตอบไม่ได้ก็บอกให้เด็กไปหา paper มาอ้างอิง มีปัญหาอะไรก็โยนให้เด็กของตัวเองหมด ทำเหมือนกับว่าความรับผิดทั้งหมดอยู่ที่เด็กที่อาจารย์จ้างให้มาเป็น "ผู้ช่วยวิจัย" การกระทำดังกล่าวของอาจารย์ทำให้ทางบริษัทรู้ว่าที่ผ่านมานั้นอาจารย์ผู้นั้นไม่เคยสนใจเลยว่าเด็กของตัวเองทำงานอะไรบ้าง เพิ่งจะมารู้พร้อมกับทางบริษัทเขาก็วันประชุมรายงานความก้าวหน้านั่นแหละ
  
และสิ่งที่ทางบริษัทคาดหวังคือทางตัว "อาจารย์" เองควรเป็นผู้ที่ "ทำหน้าที่รายงานความก้าวหน้า" เพราะเขาจ้าง "อาจารย์" (ซึ่งเป็นคนที่มีชื่อระบุในสัญญา) ให้ทำงาน เขาไม่ได้จ้างนิสิตบัณฑิตศึกษาที่อาจารย์ขอตั้งงบเพื่อนำมาใช้เป็น "ผู้ช่วยวิจัย" สิ่งที่อาจารย์คนดังกล่าวควรต้องทำคือไปเคลียร์กันเองกับ "ผู้ช่วยวิจัย" ให้เรียบร้อยก่อนว่างานในช่วงที่ผ่านมานั้นได้ทำอะไรไปบ้าง และได้ผลและข้อสรุปอย่างไรบ้าง จากนั้นตัวอาจารย์เองจึงนำสิ่งที่ได้นั้นมารายงานให้ทางบริษัททราบอีกที ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ทางบริษัทเองจะด่า (ลับหลัง) อาจารย์ดังกล่าวให้กับนิสิตบัณฑิตศึกษาที่ทำวิจัยกับทางบริษัทดังกล่าวให้ฟังว่าตัวอาจารย์ผู้นั้น "ไม่มีพื้นฐานความรู้ในเรื่องที่ตัวเองทำวิจัย"

ที่สนุกก็คือด้วยการทำงานแบบถ้านิสิตไม่มีผลมาให้เขาตีพิมพ์ paper ได้ นิสิตก็จะเรียนไม่จบ มันก็เลยมีผลการทดลองที่ "ดี" จนสามารถตีพิมพ์ paper ได้เกิดขึ้น ถ้ามันจบแค่การตีพิมพ์ paper นั้นก็แล้วไป แต่นี่มีการนำเอาผลงานที่ตีพิมพืใน paper ดังกล่าวไปเสนอทางบริษัทเพื่อขอทุนทำวิจัยต่อยอดเพื่อนำไปใช้งาน พอได้ทุนมาปรากฏว่า ผลการทดลองที่คนก่อนหน้านั้น (ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว) ไม่มีใครที่มาทีหลังสามารถ "ทำซ้ำได้" พอจะติดต่อกับคนที่ทำผลการทดลองที่ออกมา "ดี" นั้น เพื่อที่จะขอให้เขากลับมาทำการทดลองซ้ำว่าผลการทดลองที่ได้ตีพิมพ์ paper ไปนั้นเป็นของจริง ก็ไม่สามารถติดต่อได้อีก (เรื่องอะไรเขาจะกลับมาให้โง่)
  
วันหนึ่งมีพนักงานบริษัทที่ได้รับมอบหมายให้ทำซ้ำผลการทดลองที่อาจารย์คนดังกล่าวเอาไปตีพิมพ์ paper และเอามาเสนอให้กับทางบริษัทเพื่อนำไปพัฒนาต่อนั้น แอบมาปรึกษากับผมเรื่องผลการทดลองดังกล่าว เพราะงานดังกล่าวถูกโยนกันไปโยนกันมา เนื่องจากยังไม่มีใครในบริษัทสามารถทำซ้ำได้ (แม้แต่นิสิตบัณฑิตศึกษาของอาจารย์ผู้นั้นเอง) สิ่งแรกที่เขาเอามาให้ผมดูก็คือวิธีการทดลอง ผมอ่านเพียงแค่ไม่กี่บรรทัดผมก็ถามเขากลับไปว่า "สารเคมีตัวนี้ ที่ความเข้มข้นระดับนี้ มีขายด้วยเหรอ" หรือว่าเขาเตรียมขึ้นมาเป็นพิเศษ
  
มหาวิทยาลัยเน้นคะแนนการประเมินอาจารย์ไปที่ "จำนวน paper" โดยไม่สนใจ "process" หรือกระบวนการที่ทำให้ได้ paper นั้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดการ "abuse" ระบบการเรียนการสอน

ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน การพิจารณาต่อสัญญาจ้างงาน จำนวนผลตอบแทนที่จะได้รับจากทางมหาวิทยาลัย การมีชื่อเสียงในวงการวิจัย ได้มาจาก "จำนวน" ผลงานที่ตีพิมพ์เป็นหลัก การทำให้ได้มาซึ่งผลงานของอาจารย์ โดยไม่สนใจว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่อาจารย์นำไปเสนอผลงานนั้นมาได้อย่างไร มันจึงไม่แปลกที่จะมีกรณีที่นิสิต "เขียน" ผลแลปขึ้นมาเองเพื่อให้สนองความพึงพอใจของอาจารย์ ทำให้มันเข้ากับทฤษฎีที่อาจารย์ตั้งไว้ เพื่ออาจารย์จะได้เขียน paper ได้ และจะได้ยอมให้เขาเรียนจบ ตัวมหาวิทยาลัยเองก็ดีใจที่จะมี paper จำนวนมากออกในนามมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะได้ตำแหน่งที่สูงขึ้นในการจัดอันดับ เรียกว่าได้ประโยชน์กันทั้งตัวนิสิต อาจารย์ และทางมหาวิทยาลัยเอง
  
เคยมีนิสิตปริญญาเอกผู้หนึ่งมาปรับทุกข์กับผมเรื่องนี้ คือผลการทดลองของเขานั้นทำซ้ำได้ แต่มันไม่เป็นไปตามทฤษฎีที่อาจารย์ที่ปรึกษาของเขาตั้งไว้ เขาเคยเอาผลการทดลองนี้ไปปรึกษากับผู้อื่นมาแล้ว ซึ่งก็ได้รับคำอธิบายว่าผลการทดลองที่เขาได้มานั้นมันถูกต้องแล้ว และสามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีที่มีอยู่เดิมแล้ว ซึ่งไม่ใช่ทฤษฎีที่อาจารย์ที่ปรึกษาของเขานั้นพยายามจะตั้งขึ้นมาใหม่

ในสายวิชาชีพของเรานั้น ผู้ที่เรียนจบนั้นต้องสามารถ "คิดเป็น และทำเป็น" แต่ที่ผ่านมานั้นพบว่าตัวบัณฑิตที่จบไปนั้นจำนวนไม่น้อย "ทำอะไรไม่เป็น" พอไปทำงานก็มีการกล่าวพาดพิงว่าคนที่จบไปนั้นทำเป็นแต่งานบนกระดาษ ให้ลงมือปฏิบัติก็ทำอะไรไม่เป็น พอเรื่องนี้ได้ยินมาถึงทางภาควิชา ก็มีอาจารย์แก้ตัวแทนนิสิตว่า ที่นี่สอนให้คุณเป็นคนคิดเป็น สอนให้ใช้สมอง ไม่ได้สอนให้คุณลงมือปฏิบัติเป็น  

ผมเคยกล่าวกับอาจารย์สถาบันอื่นในที่ประชุมของสถาบันนั้นว่า อาจารย์คนใดที่กล่าวอย่างนั้นแสดงว่าอาจารย์ผู้นั้น "ทำอะไรไม่เป็น" นั่นเป็นข้อแก้ตัวของคนที่ทำได้เพียงแค่พูดไปตามที่ตำราเขียนเอาไว้

เคยได้ยินเสียงบ่นจากอาจารย์เหมือนกันว่านิสิตทำอะไรไม่เป็น แต่พอถึงการสอนวิชาปฏิบัติการทีไร อาจารย์หายหัวประจำ ให้ครูปฏิบัติการหรือ TA (ทั้ง ๆ ที่โดยตำแหน่งแล้วเขาเหล่านั้นไม่ได้มีหน้าที่อะไรในการสอนทั้งสิ้น) ดูแลนิสิตแทน แต่ตัวอาจารย์เอง claim ภาระการสอนแลปเต็มเวลาครับ
  
ตอนที่ผมทำหน้าที่เป็นหัวหน้าดูแลห้องปฏิบัติการสำหรับสอนนิสิตปริญญาตรีนั้น มีอยู่วิชาหนึ่งที่ตามตารางสอนแล้วเริ่มตอนบ่ายสอง และควรเสร็จภายในห้าโมงเย็น แต่เอาเข้าจริงกว่าจะปิดแลปก็ร่วมสองทุ่ม พอถึงเวลาเบิกค่าล่วงเวลา เจ้าหน้าที่ห้องแลปก็ขอเบิกค่าล่วงเวลาจากอาจารย์ดังกล่าวจนถึงสองทุ่ม อาจารย์ผู้สอนวิชาดังกล่าวก็ไม่พอใจ มาโวยวายกับผม หาว่าเจ้าหน้าที่เขากรอกเอกสารเท็จเพื่อจะเอาเงินค่าล่วงเวลา ผมก็เลยย้อนถามกลับไปว่าแล้วอาจารย์รู้หรือเปล่าว่าเขาเลิกแลปกันเวลาใด อาจารย์อยู่สอนจนถึงกี่โมง ถามแค่นั้นอาจารย์ผู้นั้นก็เงียบไป ก็เขาจะรู้ได้อย่างไรว่าแลปเลิกเวลาใด เขามาอธิบายวิธีการทำแลปให้นิสิตฟังเพียงแค่ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ก็ออกจากแลปไปแล้ว พอสี่โมงเย็นก็กลับบ้าน (ตามตารางสอนวิชาดังกล่าวต้องเลิกห้าโมงเย็น และเขาควรจะอยู่จนเลิกแลปด้วย) ผมเองนั้นช่วงปีดังกล่าวกลับบ้านดึกเป็นประจำ ก็เลยรู้ว่าแลปวิชานั้นมันเลิกกันตอนสองทุ่มจริง

เมื่อการพิจารณาความดีความชอบของอาจารย์นั้นเน้นไปที่จำนวน paper ที่ตีพิมพ์ ซึ่งมันขึ้นอยู่กับจำนวนนิสิตบัณฑิตศึกษาที่อาจารย์แต่ละคนมีอยู่ในมือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเรียนการสอนปริญญาตรีนั้นจึงแทบจะไม่อยู่ในสายตาของผู้บริหาร มันก็เลยดูแปลกครับที่อยู่ดี ๆ มาบอกให้ปรับปรุงวิธีการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี (ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ดี) แต่คนทำก็รู้ดีว่า ทำไปก็เอาไปหาความดีความชอบอะไรไม่ได้ การสอนปริญญาตรีเป็นงานที่เสียเวลา เอาเวลาไปทำ paper ดีกว่า เด็กจบปริญญาตรีที่จะมาเรียน โท-เอก ก็ให้คนอื่นเขาผลิตให้ดีกว่า อย่าไปเสียเวลาผลิตเอง
  
แต่มันก็มีข้อยกเว้นเหมือนกัน เช่นในหลักสูตรที่มีการจ่ายค่าสอนรายชั่วโมง พอเป็นวิชาบรรยายนี่แย่งกันใหญ่ ของฉันเนื้อหาเยอะ เดี๋ยวเด็กจะไม่มีความรู้ ต้องมีจำนวนสัปดาห์ที่ต้องสอนมาก ๆ (สอนสามชั่วโมงได้หกพันบาท หรือตกชั่วโมงละสองพันบาท) แต่พอเป็นส่วนของปฏิบัติการ (ได้ค่าสอนเพียงครึ่งเดียว แถมต้องตรวจรายงานอีก) กลับบอกว่าไม่มีอะไรจะสอน ไม่ต้องสอนแลปได้ไหม หรือขอแค่เป็นพิธีเพียงสัปดาห์เดียวก็พอ

เมื่อหน่วยงานเห็นเนื้อหาวิชาควรมีอยู่อย่างครบถ้วนบนอินเทอร์เน็ต
เมื่อผู้เรียนควรเข้าถึงเนื้อหาวิชานั้นได้จากทุกที่ผ่านทางอุปกรณ์ต่าง ๆ เพราะห้องเรียนจะไม่มีตัวจนอีกต่อไป
เมื่อผู้เรียนนั้นควรที่จะมีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง
แต่กลับมาถกเถียงกันว่าควรมีการเช็คชื่อเข้าเรียนหรือเปล่า
แถมการเชื่อมต่ออุปกรณ์สื่อสารไร้สายเข้ากับระบบเครื่องข่ายของหน่วยงานเองก็ต่อติดบ้างไม่ติดบ้าง

ผมสอนนิสิตวิชาบรรยาย ผมไม่เคยเช็คชื่อ เนื้อหาเรื่องราวที่จะสอนก็ไม่หวงอะไร แจกให้หมด แม้แต่ข้อสอบเก่า (ที่มักเป็นตัวลวงให้นิสิตทำข้อสอบไม่ได้เป็นประจำ) ถ้าสอบผ่านได้ก็ไม่ว่าอะไร

แต่วิชาปฏิบัติการผมจะเช็คชื่อและเข้มงวดเรื่องเวลาเรียน เพราะมันเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อเพื่อนร่วมชั้น และการลงมือปฏิบัตินั้นมันสอบด้วยการเฝ้ามองการกระทำ ไม่ใช่ดูจากคำตอบข้อเขียน

ผมเขียน Memoir แจกจ่ายนิสิตในที่ปรึกษาและนำขึ้น blog ให้สามารถอ่านได้จากทุกที่ มาปีนี้เป็นปีที่ ๗ แล้ว แต่หน่วยงานเพิ่งจะมารณรงค์ (แกม....) จะให้อาจารย์ในหน่วยงานทำแบบที่ผมทำมาก่อนหน้า โดยให้ไปใช้รูปแบบโปรแกรมที่เขาอยากจะใช้ (ทำนองว่าเพิ่งจะคิดทำในสิ่งที่คนอื่น ๆ หลายคนเขาทำไปก่อนหน้าแล้ว)

ทิ้งท้ายไว้หน่อยก็แล้วกันเรื่องการตรงต่อเวลา ซึ่งตอนแรกเขาคิดว่าจะใช้เรื่องการ "เข้าเรียนตรงเวลา" มาเป็นตัววัดความรับผิดชอบในหน้าที่ของนิสิต แต่ตอนนี้ไม่ใช้แล้ว ขอใช้เพียงแค่ "ส่งการบ้านให้ตรงเวลา" เท่านั้นเอง
  
สาเหตุก็คือในขณะที่ตัวผู้สอนเองกลับมีสารพัดข้ออ้างในการมาสาย และการขอไม่สอนตอน แปดโมงเช้า (อ้างว่าไม่สะดวกที่จะมา แต่กลับบังคับให้เจ้าหน้าที่ต้องมาทำงานตรงเวลา เช่นด้วยการสแกนลายนิ้วมือ) นอกจากนี้ยังไม่ยอมเลิกสอนตามเวลา สอนจนเลยกำหนดเวลา ทำให้นิสิตไปเข้าเรียนวิชาอื่นสาย อาจารย์ผู้อื่นที่จะมาใช้ห้องดังกล่าวก็ต้องเริ่มการสอนสายไปอีก เรียกว่าอะไรที่ทำแล้วเข้าตัวเอง อาจารย์ไม่ขอแตะ หาเฉพาะเรื่องที่จะเล่นงานได้เฉพาะนิสิตเท่านั้น


ที่เขียนมานี้ ก็เพื่อจะเตือนตนเองว่า อย่าเผลอทำตัวเป็นคนแบบ "ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง"

วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2557

โป้ง ชี้ กลาง นาง ก้อย MO Memoir : Wednesday 27 August 2557

แถวบางแสนรอบมหาวิทยาลัยมักจะมีตลาดนัดกลางแจ้งสลับกันเปิดขาย ด้านหลังมหาวิทยาลัยบ้าง ด้านหน้ามหาวิทยาลัยบ้าง ตอนลูกยังเรียนอนุบาลอยู่ที่นั่นนั้นครอบครัวผมก็มักจะไปจ่ายกับข้าวที่นี่เป็นประจำ ภรรยาจะเป็นคนเดินจ่ายกับข้าว ส่วนผมก็รับหน้าที่นั่งเฝ้าลูกที่ชอบไปนั่งระบายสีตุ๊กตาปูนปลาสเตอร์ ลูกจะเรียกตลาดนัดนี้ว่าตลาดระบายสี
  

มีวันหนึ่งคุณแม่ท่านหนึ่งที่พาลูกมานั่งระบายสีที่โต๊ะเดียวกันก็ถามว่าลูกผมเรียนชั้นไหน ผมก็ตอบไปว่าเรียนอนุบาลอยู่ แกก็ถามต่อว่าที่โรงเรียนอนุบาลที่ลูกผมเรียนนั้นเขาสอนเด็กให้บวกเลขได้กี่หลักแล้ว ที่โรงเรียนที่ลูกแกเรียนนั้นเขาสอนให้เด็กบวกเลขสองหลักได้แล้ว ผมก็ตอบกลับไปว่าที่โรงเรียนที่ลูกผมเรียนนี้เขาไม่เน้นวิชาการ แต่เน้นให้เด็กสนุกกับการเรียน ตอนนี้หนังสือยังอ่านได้เฉพาะคำง่าย ๆ บางคำเท่านั้นเอง แล้วแกก็ชมว่าลูกผมระบายสีตุ๊กตาได้เรียบร้อยดีจัง ในขณะที่ลูกของแกนั้นระบายซะเละเทะไปหมด








หลังจากที่ลูกเข้าเรียนชั้นประถมแล้ว อยู่มาปีหนึ่งน้องคนหนึ่งที่ลูกเพิ่งจะเข้าเรียนชั้นป. ๑ ก็มาถามผมว่า ตอนลูกผมเข้าเรียนป. ๑ นั้นเขาอ่านหนังสือได้หรือยัง ผมก็ตอบว่าเพิ่งจะมาอ่านพอได้ตอนเทอม ๒ ส่วนลูกของน้องคนนั้นเขาอ่านหนังสือเป็นเล่มได้แล้วตั้งแต่จบอนุบาล จากนั้นเขาก็ถามผมต่อว่าส่งลูกไปเรียนพิเศษที่ไหนบ้างหรือเปล่า ลูกของเขาเองนั้นต้องส่งไปเรียนพิเศษด้านศิลปะ เพราะงานศิลปะที่อาจารย์มอบหมายให้ทำนั้นออกมาไม่ค่อยจะได้เรื่อง
 

อาจเป็นเพราะว่าผมไม่ได้เดือดร้อนเรื่องหาโรงเรียนให้ลูกเรียนชั้นประถม ตอนหาโรงเรียนอนุบาลก็เลยไม่ได้เลือกโรงเรียนที่เน้นให้เด็กไปสอบเข้าป. ๑ แต่เลือกโรงเรียนที่เน้นให้เด็กสนุกกับการเรียน และเปิดโอกาสให้เขาได้มีการพัฒนาการตามวัยของเขา
  

วิชาหนึ่งที่ผมรู้สึกว่ามีความสำคัญกับเด็กเล็กคือวิชาศิลปะ วิชานี้มันไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด มันเป็นจินตนาการหรือความรู้สึกนึกคิดของแต่ละคนที่จะแสดงออกมา และยังเป็นวิชาที่ดีสำหรับการฝึกฝนกล้ามเนื้อมัดเล็ก (เช่นนิ้วมือ) การทำงานประสานกันระหว่างประสาทตาและการควบคุมมือ และเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการฝึกเพื่อการทำงานละเอียดที่ใช้มือทำ ไม่ว่าจะเป็นการระบายสีไม่ให้ล้ำแนวกรอบ การใช้มือในการปั้น วางเรียงสิ่งของ และประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ



ในห้องปฏิบัติการเคมีที่ผมทำงานอยู่นั้นมันก็มีงานหลายอย่างที่ต้องใช้การควบคุมมือและนิ้วมือและการประสานการทำงานกับสายตาที่ดี ตัวอย่างง่าย ๆ ตัวอย่างหนึ่งเห็นจะได้แก่การใช้ปิเปต
  

สมัยที่ผมเรียนหนังสือนั้นอาจารย์ผู้สอนจะสอนให้ใช้นิ้วหัวแม่มือในการควบคุมการดูดของเหลวเข้าสู่ปิเปต คือกำลูกยางไว้ในมือ ไล่อากาศออกจากลูกยาง สวมลูกยางเข้ากับด้านบนของปิเปต แล้วค่อย ๆ คลายนิ้วหัวแม่มือเพื่อดูดของเหลวเข้าปิเปต (รูปกลาง) เหตุผลที่ให้ใช้นิ้วหัวแม่มือก็เพราะสามารถควบคุมอัตราการดูดสารเข้าปิเปตได้ง่าย และพอดูดสารขึ้นมาเลยขีดที่ต้องการแล้วก็นำเอาลูกยางออก แล้วใช้นิ้วชี้ของมืออีกข้างหนึ่งปิดรูด้านบนของปิเปตเอาไว้ จากนั้นใช้กาขยับนิ้วชี้เพื่อปรับระดับของเหลวในปิเปตให้ตรงกับขีดบอกปริมาตร เหตุผลที่ใช้นิ้วชี้ก็เพราะเป็นนิ้วที่ไวต่อความรู้สึก ทำให้สามารถควบคุมการปรับระดับของเหลวทีละน้อย ๆ ได้ง่าย
  

มาช่วงหลัง ๆ พบว่านิสิตใหม่ส่วนใหญ่เวลาที่ใช้ปิเปตมักจะใช้นิ้ว ๔ นิ้วคือ ชี้ กลาง นาง และก้อย ในการบีบลูกยาง เข้าหาอุ้งมือ โดยมีนิ้วหัวแม่มือลอยอยู่ข้างบน (ท่าเหมือนกับการใช้ autopipette) และใช้นิ้วหัวแม่มือของมืออีกข้างหนึ่งคอยอุดรูด้านบนปิเปตเอาไว้ตอนถอดลูกยางออก (รูปซ้าย) ผมเคยถามเขาดูว่าทำไมถึงใช้วิธีนั้น บางคนก็บอกว่ามีอาจารย์สอนมาอย่างนั้น (ผมเดาว่าอาจารย์คนนั้นคงเป็นคนที่อายุน้อยกว่าผมหลายปีอยู่) บางคนก็บอกว่าเขาถนัดที่จะทำแบบนี้



ความเคยชินบางอย่างมันไม่ใช่ว่าจะแก้ไขไม่ได้ ตอนที่ผมหัดเป่าฟลุตใหม่ ๆ นั้นผมจะมีปัญหาเรื่องการกดนิ้วเสียงมีขั้นที่สอง คือกดผิดเป็นประจำ พอกดผิดครูผู้สอนก็จะเตือน ตอนแรกเขาก็งงเหมือนกันว่าทำไมผมถึงกดโน๊ตตัวนี้ผิดเป็นประจำ พอผมตอบเขาไปว่าผมไปชินกับการกดนิ้วของ recorder ครูผู้สอนก็เข้าใจทันที เพราะการกดนิ้วของฟลุตกับ recorder นั้นสำหรับโน๊ตหลาย ๆ ตัวนั้นค่อนข้างจะคล้ายกัน จะมีบางตัวที่แตกต่างกันค่อนข้างจะเยอะอยู่ โดยเฉพาะเสียงเรขั้นที่สองและเสียงมีขั้นที่สอง แต่มันก็ต้องใช้การฝึก แม้ว่าตอนนี้จะดีขึ้นมากแล้ว แต่ถ้าเผลอก็หลงไปบ้างเหมือนกัน ตอนที่หัดยิงปืนก็เช่นกัน ปัญหาหนึ่งที่ทำให้ยิงลงต่ำก็เพราะการขยุ้มไก (กระชากนิ้วชี้ที่ใช้เหนี่ยวไกเข้ามากระทันหัน) ครูผู้สอนก็บอกได้แต่เพียงว่าต้องใช้การฝึกหัด ค่อย ๆ ฝึกลากไกเข้าหาตัวอย่างสม่ำเสมอจนมันลั่นไปเอง แต่กว่าจะควบคุมได้ก็หมดกระสุนไปหลายกล่องเหมือนกัน (ดีที่ตอนนั้นกระสุนราคาเพียงครึ่งเดียวของตอนนี้)



คืนนี้คิดว่าบ่นมามากพอแล้ว ว่าแต่ว่าพวกคุณเอง มีความสามารถในการควบคุมการใช้นิ้วมือได้มากน้อยแค่ไหน