วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การใช้ pH probe (การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๖๘) MO Memoir : Friday 31 October 2557

pH มิเตอร์เป็นอุปกรณ์ตัวหนึ่งที่เราใช้วัดค่า pH ในการเตรียมสารต่าง ๆ อันที่จริงสิ่งที่มันวัดคือค่าแรงเคลื่อนไฟฟ้า และก่อนใช้ทุกครั้ง (หรืออย่างน้อยในแต่ละวันที่เราใช้) เราก็ควรที่จะต้องทำการสอบเทียบ (calibrate) ความถูกต้องของการวัดก่อน ด้วยการนำเอา pH probe ไปจุ่มลงในสารละลายบัฟเฟอร์มาตรฐาน แล้วปรับตัวเลขค่า pH ที่มันแสดงนั้นให้ตรงกับค่า pH ของสารละลายบัฟเฟอร์มาตรฐาน



 รูปที่ ๑ pH probe ที่เราใช้นั้นเป็นชนิดที่ต้องเติมสารละลาย KCl ถ้าหากระดับสารละลาย KCl ในตัว probe นั้นต่ำเกินไป โดยรูปเติมจะอยู่ทางด้านบนของ probe (ที่ลูกศรชี้ในรูปล่าง) ในการใช้งานจะต้องเปิดรูที่อยู่ด้านบนของตัว probe เอาไว้ด้วย เพื่อให้ความดันภายในกับภายนอกตัว probe สมดุลกัน

pH probe ที่เราใช้นั้นมีอยู่ด้วยกันสองแบบ ที่แตกต่างคือสิ่งที่บรรจุอยู่ในตัว probe พวกแรกคือพวกที่สารบรรจุอยู่ข้างในตัว probe จะอยู่ในรูปที่เป็นเจล ไม่ใช่ของเหลว ส่วนพวกที่สองนั้นจะบรรจุสารละลาย KCl เอาไว้ข้างใน (ดังรูปที่ ๑) ในแลปเราจะเห็นแบบนี้เยอะกว่า
  
ในการใช้งาน pH probe ชนิดที่บรรจุสารละลาย KCl เอาไว้ข้างในนั้นต้องให้ระดับสารละลายใน probe นั้นสูงกว่าระดับของของเหลวที่ทำการวัดค่า pH ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้สารละลายที่ทำการวัดนั้นแพร่เข้ามาในตัว probe (ผ่านทาง glass membrane ที่หัว probe) เวลาใช้งานไปเรื่อย ๆ ระดับสารละลาย KCl ก็จะลดลง เราก็จะทำการเติมสารละลาย KCl เข้าไปชดเชยผ่านทางรูที่อยู่ทางด้านบนของ probe ความเข้มข้นของสารละลาย KCl ที่จะเติมเข้าไปนั้นก็ต้องเลือกให้ถูกต้องกับตัว probe ด้วย (ต่างยี่ห้อกันอาจใช้ความเข้มข้นที่แตกต่างกัน)
  
เวลาเก็บ probe ชนิดที่ใช้สารละลาย KCl เราก็จะปิดรูสำหรับเติมสารละลายนี้เอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้สารละลายในตัว probe รั่วไหลออกมา แต่เวลาเราจะใช้งานเราจำเป็นต้อง "เปิด" รูนี้ เพื่อให้ความดันเหนือผิวสารละลาย KCl ในตัว probe นั้นเท่ากับความดันเหนือผิวสารละลายที่ทำการวัดค่า pH บ่อยครั้งที่พบว่ามีคนบอกว่ามีปัญหาค่าที่อ่านได้นั้นไม่นิ่ง (โดยเฉพาะผู้ที่ใช้เครื่องแบบดิจิตอลแสดงผลเป็นตัวเลข) มีสาเหตุมาจากการที่ไม่ได้เปิดรูดังกล่าวเอาไว้ (เหตุที่เกิดเมื่อวานก็เป็นแบบนี้)

พฤหัสบดี ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๓ ปาร์ตี้ไข่เจียว

วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การคำนวณเชิงตัวเลข (๓) ตัวอย่างการแก้ปัญหา สมการพีชคณิตไม่เชิงเส้นด้วยระเบียบวิธีนิวตัน-ราฟสัน MO Memoir : Thursday 29 October 2557

ตัวอย่างปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในการใช้ระเบียบวิธีนิวตัน-ราฟสัน (Newton-Raphson) ในการแก้สมการพีชคณิตไม่เชิงเส้น (nonlinear algebraic equation)








วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

โน๊ตเพลง "ที่สุดของหัวใจ" "รักล้นใจ" และ "รักในซีเมเจอร์" MO Memoir : Tuesday 28 October 2557

บังเอิญช่วงเดือนที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์เกี่ยวกับความรักโผล่มาบนหน้า facebook มีทั้งสมหวังและผิดหวัง ดังนั้นก่อนสิ้นเดือนนี้ก็เลยขอเอาโน๊ตเพลงที่ใช้เวลาว่างในการนั่งแปลงให้มันเล่นกับเครื่องเป่า (ที่เป่าเสียงต่ำกว่า โด ต่ำ ไม่ได้) มาลงเอาไว้ โดยเอาโน๊ตต้นฉบับมาเขียนใหม่ด้วยโปรแกรม Musescore เช่นเดิม ดังนั้นจึงอาจมีความผิดพลาดได้ ถ้าคิดว่าตรงไหนผิดก็เชิญแก้ไขได้ตามสบายเลยครับ
  
เริ่มจากเพลง "ที่สุดของหัวใจ" จากเดิมบันไดเสียง G Major มาเปลี่ยนเป็น Bb Major เพื่อยกเสียง ที ต่ำขึ้นมา
  
ตามด้วย "รักล้นใจ" จากเดิมบันไดเสียง E Major ที่มีเครื่องหมาย # เต็มไปหมด (ลองเล่นดูแล้วปรากฏว่านิ้วมันมั่วไปหมด) ก็เปลี่ยนเป็น G Major ซะจะได้เล่นได้ง่ายขึ้นหน่อย เอาไว้มีฝีมือมากพอเมื่อใดค่อยกลับไปเล่นโน๊ตต้นฉบับ
  
และ "รักในซีเมอร์" จากเดิม C Major มาเปลี่ยนเป็น F Major (เลยไม่รู้ว่าต้องเปลี่ยนชื่อเพลงเป็น "รักในเอฟเมเจอร์" ตามด้วยหรือเปล่า) เพื่อยกเสียงที่ต่ำกว่า โด ต่ำให้สูงขึ้น เพลงนี้เดิมเป็นโน๊ตตัวอักษร (ต้องขออภัยที่จำไม่ได้ว่าเอามาจากไหน) ผมใช้ฟังเพลงจาก Youtube แล้วลองใส่จังหวะเข้าไป ดังนั้นรับรองได้เลยครับว่า "ไม่ถูกต้อง" ทั้งหมด
  
โน๊ตเพลง "ที่สุดของหัวใจ" และ "รักล้นใจ" เอาตัวต้นฉบับ http://pheranote.blogspot.com/2014/07/blog-post_55.html ซึ่งเป็นโน๊ตสำหรับคีย์บอร์ด
  
ท้ายสุดก็ขอเอาโน๊ตเพลง "ลมหายใจของกันและกัน" มาลงใหม่อีกครั้ง โดยเอาของเดิม (ที่ผมไม่รู้เหมือนกันว่าจะเล่นอย่างไรดี) มาทำให้ง่ายขึ้น (มาก ๆ) ตามประสาคนหาโน๊ตเพลงเล่นเพื่อการพักผ่อน

เดือนนี้ทั้งเดือนหน้า blog เต็มไปด้วยเรื่องหนัก ๆ ก็เลยขอเอาเรื่องเบา ๆ มาแทรกบ้าง คงไม่ว่ากันนะครับ








วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่เราเคยมีนั้น มันผ่านพ้นไปนานแล้ว MO Memoir : Monday 27 October 2557


รูปถ่ายใบเล็ก ๆ ใบนั้น นิสิตกลุ่มหนึ่งที่ผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เขาทำมาให้ผมพร้อมกับเคลือบฟิลม์พลาสติกไว้อย่างดี ผมก็เก็บเอามันใส่ไว้ในกระเป๋าที่ถือติดตัวมาทำงานทุกวัน แม้กระเป๋าจะเปลี่ยนไป แต่ของในกระเป๋าบางอย่างมันก็ติดตามมาอยู่ในกระเป๋าใบใหม่ตลอด

เมื่อสัก ๓๐ ปีที่แล้วตอนที่ผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยนั้น หลักสูตรปริญญาตรีบ้านเรา สำหรับคณะส่วนใหญ่แล้วจะกำหนดให้เรียนจบได้ใน ๔ ปีการศึกษา (ก่อนผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยนั้นยังมีคณะวิศวกรรมศาสตร์บางสถาบันใช้หลักสูตรปริญญาตรี ๕ ปี) แต่ก็ให้เวลาเรียนได้ถึง ๘ ปีการศึกษา และที่ผ่านมาก็ถือว่าเป็นเรื่องปรกติที่จะจบการศึกษากันภายในระยะเวลาที่หลักสูตรตั้งใจให้เรียนจบคือ ๔ ปีการศึกษา กล่าวอีกอย่างก็คือไม่มีใครคิดว่าการใช้เวลาเรียนปริญญาตรีถึง ๘ ปีเป็นเรื่องปรกติ
  
แต่ที่น่าแปลกก็คือทีหลักสูตรปริญญาโทที่เขียนไว้ว่าเป็นหลักสูตร ๒ ปีการศึกษา แต่อาจารย์กลับบอกว่าไม่มีใครเขาจบกันใน ๒ ปีการศึกษาหรอก กว่าจะเรียนจบก็ต้องใช้เวลาเต็มที่คือ ๕ ปีการศึกษา (ตอนนั้นปริญญาโทให้เวลาเรียนได้ถึง ๕ ปีครับ มาปรับเป็นเหลือ ๔ ปีเมื่อประมาณ ๒๐ ปีที่แล้ว)
  
อย่างนี้เรียกว่าจะเรียนว่าเป็นการหลอกผู้เรียนได้ไหม ตอนเขียนหลักสูตรบอกว่าเป็นหลักสูตรเรียนจบได้ใน ๒ ปี แต่พอมีคนหลวมตัวเข้ามาเรียนกลับบอกเขาว่าคุณไม่จบใน ๒ ปีหรอก ต้องอยู่ยาวเหยียดจนถึง ๕ ปีโน่นแหละจึงจะให้จบ
  
๒๐ กว่าปีที่แล้วและย้อนหลังขึ้นไปอีก หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บ้านเราที่มีการเปิดสอนกันถึงระดับปริญญาเอกมีเพียงไม่กี่สาขาและมีเพียงไม่กี่สถาบันเท่านั้นเองที่มีการเปิดสอน และก็หาคนมาเรียนยากด้วย เหตุผลหนึ่งก็เป็นเพราะเรียนเมืองไทยใช้เวลานาน จบก็ยาก ไปเรียนต่างประเทศดีกว่า ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ
  
อาจารย์หานิสิตปริญญาโทมาเป็นลูกมือทำวิจัยให้ไม่ได้ ตัวอาจารย์เองก็ไม่อยากลงมาทำการทดลองเอง แต่ความก้าวหน้าในอาชีพอาจารย์ต้องมีผลงานวิจัย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คืออะไรต่อมิอะไรก็ไปลงที่ซีเนียร์โปรเจคของนิสิตปริญญาตรีกันหมด
   
ดังนั้นจึงไม่แปลว่านิสิตป.ตรี ปี ๔ ในยุคสมัยนั้นในหลายต่อหลายสถาบัน กว่าจะสำเร็จการศึกษากันก็อยู่ทำซีเนียร์โปรเจคกันจนสิ้นสุดภาคฤดูร้อน แถมยังมีรายการทำซีเนียร์โปรเจคกันตลอดทั้งปี (อาจารย์จะได้มีรายงานความคืบหน้า) ทั้ง ๆ ที่นิสิตลงทะเบียนเรียนวิชานี้เพียงแค่ภาคการศึกษาปลายภาคเดียวเท่านั้น
   
ถ้าจะหาคนมาเรียนต่อโทให้ได้ ก็จำเป็นต้องมีการแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ในเวลานั้นสิ่งแรกที่หน่วยงานที่ผมเข้าทำงานนำมาพิจารณาก็คือ อาจารย์ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าทำไมนิสิตปริญญาโทถึงไม่จบใน ๒ ปีการศึกษา ในเมื่อหลักสูตรมันกำหนดไว้ว่าให้เรียนจบได้ใน ๒ ปีการศึกษา อาจารย์ก็ต้องทำให้ได้อย่างนั้น อาจารย์คนไหนที่มีความพร้อมที่จะสอนนิสิตให้จบได้ตามกำหนดเวลาก็ประกาศไปเลย ใครยังไม่ค่อยพร้อมก็บอกแก่ผู้สมัครไปตามตรง ไม่ใช่ไปเที่ยวป่าวประกาศว่าเป็นหลักสูตร ๒ ปีแต่พอมีคนสมัครเข้ามาเรียนกลับบอกเขาว่าต้องอยู่กัน ๔-๕ ปี
   
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่เกิดขึ้นในตอนนั้นคือวิธีการรับนิสิตเข้าเรียนต่อ เดิมทีนั้นใช้การรับนิสิตเข้ากองกลางตามจำนวนที่ภาควิชากำหนด (ตัวเลขที่กำหนดมาได้ยังไงก็ไม่รู้เหมือนกัน) แล้วค่อยให้นิสิตไปหาอาจารย์ที่ปรึกษาเอง วิธีการนี้มีการทำมานานแล้วทั่วไปหมด และยังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ผลที่เกิดขึ้นก็คือมีการบ่นกันเป็นประจำจากอาจารย์ที่ไม่ได้มีส่วนเข้าร่วมการคัดเลือกว่า ทำไมรับแต่คนไม่มีคุณภาพเข้ามา บางปีอาจารย์มีหัวข้อเยอะก็มีเสียงบ่นจากอาจารย์ที่หานิสิตทำวิจัยไม่ได้ว่าทำไปรับนิสิตมาน้อย บางปีอาจารย์มีหัวข้อน้อยก็มีเสียงบ่นจากอาจารย์ที่มีนิสิตไปขอให้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาว่าทำไมรับนิสิตมาเยอะ (ทั้ง ๆ ที่ก็รับเท่าจำนวนเดิม) ใครเป็นคนรับเข้ามาก็ให้รับผิดชอบนิสิตเหล่านั้นเอาเอง พอเปลี่ยนมาเป็นไม่จำกัดจำนวน เป็นคืออาจารย์คนไหนอยากได้นิสิตทำวิจัยก็ให้มาสัมภาษณ์เอง คัดเลือกเอง นำเสนอความพร้อมเอง รับผิดชอบเรื่องงานวิทยานิพนธ์ของนิสิตคนนั้นไปเลย ภาควิชาทำหน้าที่เพียงแค่รวบรวมตัวเลขนิสิตที่อาจารย์แต่ละคนรับเข้ามาเท่านั้น สิ่งนี้ทำให้เกิดความพยายามปรับปรุงการเรียนการสอนและงานวิจัยให้มีความพร้อมที่จะสามารถสอนนิสิตให้จบตามระยะเวลาของหลักสูตรได้ อาจารย์คนไหนที่ขึ้นชื่อว่าชอบเก็บนิสิตไว้ทำวิจัยให้นาน ๆ ก็จะหาคนเรียนต่อด้วยไม่ได้ ทำให้อาจารย์ต้องมีการปรับปรุงตัว
  
สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นคืออาจารย์ในภาควิชาเองต่างเห็นว่านิสิตของภาควิชานั้นเป็นผู้ที่มีความสามารถสูง ถ้าได้มาเรียนต่อโท-เอกด้วยก็จะทำให้ได้ผู้เรียนที่มีความสามารถสูง ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือมีอาจารย์ทุ่มเทให้กับการเรียนการสอนในระดับ "ปริญญาตรี" เพื่อหวังสร้างความประทับใจให้กับนิสิตป.ตรีของตนเองในเรื่องความรู้ความสามารถของอาจารย์ จะได้ชักชวนนิสิตให้เข้ามาร่วมเรียนต่อกับอาจารย์ผู้นั้นในระดับปริญญาโท-เอก ได้ง่ายขึ้น
   
เวลานั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่ภาควิชาของเราเคยมี และผมก็โชคดีที่ได้มีโอกาสทำงานอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น


ช่วงเวลานั้นภาควิชาของเราเองมีผู้มาสมัครเรียนต่อโท-เอก กันเยอะครับ เรียกว่าอาจารย์มีผู้สมัครมาเป็นลูกมือทำงานวิจัยให้เยอะไปหมด เยอะจนกระทั่งมีอาจารย์เห็นว่าวิชา "ซีเนียร์โปรเจค" นั้นเป็น "ภาระ" ที่ไม่อยากสอน เพราะงานซีเนียร์โปรเจคเป็นเพียงแค่งานเล็ก ๆ ไม่มีเนื้องานมากพอที่จะเอาเขียนเป็นบทความหรือนำเสนอในที่ประชุมใด ๆ ได้
  
ผลงานวิชาการที่ได้มาจากการที่มีผู้เรียนต่อระดับปริญญาโท-เอก มากขึ้น นำมาซึ่ง ลาภ ยศ และสรรเสริญ ให้กับอาจารย์ผู้มีผลงาน ความอยากจะเป็นผู้ที่อยู่เหนือคนอื่น ไม่เป็นรองใคร อยากเป็นผู้มีชื่อเสียงในวงวิชาการ ทำให้ความคิดเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เริ่มมีการมองว่าการสอนระดับปริญญาตรีเป็นภาระ เพราะมันไม่ทำให้ได้ผลงานที่สามารถนำไปแลกเป็น ลาภ ยศ และสรรเสริญ ทำให้อาจารย์หลายรายเริ่มมีความคิดว่า การสอนระดับปริญญาตรีควรทำให้น้อยที่สุด หรือไม่ก็พยายามหาข้ออ้างว่าถ้ามีผลงานวิจัยเยอะก็ไม่ควรสอนระดับปริญญาตรี ควรให้ทำวิจัยอย่างเดียว มีการมองว่าการผลิตนิสิตระดับปริญญาตรีที่มีฝีมือดีนั้นควรให้คนอื่นเป็นคนทำ การนั่งรอดึงเอานิสิตคุณภาพสูงเหล่านั้นมาเป็นลูกมือทำวิจัยให้มันสบายกว่าการเสียเวลาทุ่มแรงกายลงไปผลิตเอง และการผลิตป.ตรี มันไม่มีผลงานที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าในตำแหน่ง
  
ประโยคในย่อหน้าข้างบนไม่ได้คิดเองเออเองนะครับ ผมได้ยินคนที่คิดอย่างนี้เขาพูดให้ผมฟังตั้งหลายครั้ง พอย้อนถามอาจารย์ที่คิดอย่างนี้กลับไปว่า "จะไม่สอนก็ได้ แต่ควรย้ายไปเป็นนักวิจัยเต็มตัว จะได้ทำวิจัยอย่างเดียวโดยไม่มีใครว่าอะไรได้ เพราะตำแหน่งหน้าที่นักวิจัยคือทำวิจัยอย่างเดียว ไม่ต้องสอน ถ้ายังอยากให้คนอื่นเรียกตัวเองว่าเป็นอาจารย์ ก็ต้องมีภาระการสอนด้วย" ก็ไม่เห็นมีใครยอมย้ายไปเป็นนักวิจัยเต็มตัวเลยสักราย

ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ เขาอยากจะเน้นการผลิตไปที่ระดับบัณฑิตศึกษาก็ได้ เพราะเขามีมหาวิทยาลัยจากทั่วทุกมุมโลกที่จะผลิตผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มีพื้นฐานดี ที่จะมาทำวิจัยให้กับเขา แต่นี่ในประเทศไทยของเราเอง จำนวนผู้จบการศึกษาในสาขาเดียวกันก็มีน้อยอยู่แล้ว แถมยังต้องแย่งชิงกับตลาดแรงงานและศาสตร์สาขาอื่นอีก ถ้าไม่คิดพัฒนาคนของตนเองให้เข้ามาเรียนต่อเพื่อสร้างชื่อเสียงให้ได้ก่อน แล้วจะไปเอาคนที่ไหนมาทำวิจัยให้
  
ดังนั้นจึงไม่น่าที่จะแปลกใจว่าทำไม่ในช่วงเวลาไม่นาน ภาควิชาของเราจึงหาผู้ที่จบที่ภาควิชานั้นเรียนต่อที่ภาควิชาเดิมได้ยาก หลายรายเลือกที่จะไปเรียนต่อในศาสตร์สาขาเดียวกันที่สถาบันอื่นภายในประเทศ (ต้องยอมรับนะครับว่าก็ยังมีบางรายก็เป็นพวกที่อยู่ใกล้แท้ ๆ แต่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย พอมาเรียนต่อโท-เอกแล้วรู้ความจริงเข้าก็ถึงขั้นพูดไม่ออก แต่ตอนนั้นก็ถอนตัวไม่ได้ซะแล้ว)
  
สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญมากในการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาคือ "ความจริงใจ" ของอาจารย์ที่มีต่อนิสิต การเรียนการสอนที่ดีนั้นผู้สอนต้องมองไปที่ "ความสำเร็จของตัวนิสิต" เองเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอา "ความก้าวหน้าในอาชีพการงานของอาจารย์" เป็นตัวตั้ง ผมเคยกล่าวต่อหน้านักวิจัยอาวุโสรายหนึ่งว่า เมื่อนิสิตเขามีผลงานได้ตามเกณฑ์มาตรฐานการสำเร็จการศึกษาแล้วก็ควรที่ต้องให้เขาจบการศึกษา แต่ถ้าหากเขาอยากจะอยู่ต่อเพื่อทำผลงานให้สูงกว่าเกณฑ์ดังกล่าว โดยความต้องการดังกล่าวเป็นความต้องการของตัวนิสิตเอง นั่นเป็นการสอนที่ประสบความสำเร็จสูง แต่ถ้าเอาความต้องการของอาจารย์เป็นที่ตั้งที่ต้องการให้นิสิตผู้เรียนมีจำนวนผลงานที่ "มากกว่า" เกณฑ์มาตรฐานการจบการศึกษา นั่นไม่ใช่การเรียนการสอน แต่เป็นการ "บังคับใช้" ให้ทำงานให้
  
แต่ดูเหมือนว่าพฤติกรรมอย่างหลังนั้นมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกที เห็นได้จากการนำเอาเกณฑ์ที่ใช้สำหรับนิสิตปริญญาเอกมาบังคับใช้ (โดยตัวอาจารย์ที่ปรึกษาเอง) กับนิสิตปริญญาโท (ด้วยข้ออ้างต่าง ๆ ที่เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้วจะเห็นว่าเหตุผลของข้ออ้างนั้นมาจากความต้องการความก้าวหน้าในอาชีพการทำงานของอาจารย์ทั้งสิ้น) และมีการเพิ่มเกณฑ์การจบระดับปริญญาเอก (โดยตัวอาจารย์ที่ปรึกษาเองเช่นกัน) ให้สูงขึ้นไปอีก

ผลที่ตามมาก็คือการบอกกันปากต่อปาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีอาจารย์บางรายที่มีทุนวิจัยหลายทุนจากหลายแหล่ง แต่หาคนสมัครเรียนด้วยไม่ได้ (หลัง ๆ ผู้สมัครแบบหลับหูหลับตาเดินเข้ามาโดยไม่รู้อะไรมีน้อยลงไปเยอะ ส่วนใหญ่เขาก็สืบหาข้อมูลเป็นการภายในจากคนที่เรียนอยู่ก่อน) คนที่ซวยสุดก็คือคนที่กำลังทำงานอยู่กับอาจารย์เหล่านั้น เพราะถ้าหากปล่อยให้คนเก่าจบไปโดยที่หาคนใหม่มาแทนไม่ได้ แล้วใครจะเป็นคนทำงานให้อาจารย์ มันก็เลยมีการเก็บตัวเอาไว้นาน ๆ เกิดขี้นอีก กลับกลายเป็นว่าคนที่ทำงานเก่ง ๆ แทนที่จะเรียนจบเร็ว อาจจะเรียนจบช้ากว่าเพื่อน เพราะโดนกักตัวเอาไว้ใช้งาน และนั่นก็เป็นมุมมองที่ทำให้ผมโพสลงใน facebook ของผมเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า
    
"ในระหว่างการประชุมวันนี้ มีการตั้งคำถามว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้นิสิตที่จบป.ตรีของภาควิชา เรียนต่อโท-เอก ที่ภาควิชาให้มากขึ้น แม้ว่าทางภาคจะสนับสนุนทุนให้มากกว่านิสิตที่มาจากสถาบันอื่น
ผมก็เลยถามกลับไปว่า ทำไมถึงอยากจะได้นิสิตที่จบป.ตรีของภาคมาเรียนต่อที่ภาค เพราะเห็นนิสิตที่จบมาจากสถาบันอื่น เรียนโทเพียงแค่สองปีก็สอบจบได้ตามกำหนดแล้ว ส่วนนิสิตของภาควิชาเองเรียนโทมาตั้งสองปีแล้วยังเห็นไม่จบกันตั้งหลายราย ยังเห็นเดินไปเดินมาอยู่เต็มไปหมด
ผลก็คือที่ประชุม "เงียบ" ก่อนที่จะคนกล่าวว่า "ผมไม่เกี่ยว เพราะผมไม่มีนิสิตของภาควิชา" แล้วก็โยนกันไปโยนกันมา"

จากภาควิชาที่มีการเปิดรับสมัครเพียงครั้งเดียวก่อนเริ่มภาคการศึกษาใหม่ จากภาควิชาที่เคยมีผู้สมัครมากเกิดความต้องการ กลายเป็นภาควิชาที่ต้องมีการเปิดรับสมัครกันหลาย ๆ รอบ เปิดรับทั้งภาคการศึกษาต้นและภาคการศึกษาปลาย ถึงกระนั้นจำนวนผู้สมัครก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของอาจารย์

ตามความคิดของผมเองผมเห็นว่าเงิน (ไม่ว่าจะเป็นในรูปของทุนการศึกษาหรือทุนวิจัยก็ตาม) ใช้สร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบนายจ้างกับลูกจ้างได้ แต่ใช้สร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบอาจารย์กับลูกศิษย์ไม่ได้
  
ผมเคยอธิบายให้นิสิตที่คิดจะรับทุน (ไม่ว่าทุนอะไรก็ตาม) ว่าเงื่อนไขของการรับทุนนั้นกับเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษามันเป็นคนละเรื่องกัน แต่ที่ผ่านมามักจะพบว่าเงื่อนไขตามสัญญาทุนนั้นมักจะ "สูงกว่า" เงื่อนไขการสำเร็จการศึกษา และก็มีอาจารย์จำนวนไม่น้อยที่ใช้เงื่อนไขตามสัญญาทุนมาเป็นข้อกำหนดในการสำเร็จการศึกษาของนิสิต ซึ่งมันเป็นคนละเรื่องกัน เพราะจะว่าไปแล้วอาจารย์สามารถให้นิสิตสอบจบได้เมื่อเขามีผลงานครบตามเงื่อนไขสำเร็จการศึกษา แล้วหลังจากนั้นนิสิตจึงค่อยมาทำงานเพิ่มเติมเพื่อให้ครบตามที่สัญญาไว้กับแหล่งทุน
  
นิสิตระดับปริญญาตรีของภาควิชาเราเองนั้น กว่าจะมาถึงวิชาซีเนียร์โปรเจค (ที่จะว่าไปแล้วตามหลักสูตรเดิมให้เรียนแค่ภาคการศึกษาปลายภาคเดียวเท่านั้น) ก็ต้องผ่านการเรียนวิชาปฏิบัติการมาเยอะแล้ว เฉพาะของภาควิชาเองก็ตั้ง ๔ วิชา (นี่ยังไม่รวมวิชาปรับพื้นฐานและวิชาพื้นฐานวิศวกรรมนอกภาควิชาอีก) ผมเองมองว่าถ้าอยากจะฝึกให้เขารู้จักคิดรู้จักลงมือปฏิบัติในการทำการทดลอง ก็ควรต้องลงไปฝึกไปสอนกันตั้งแต่ตอนนั้น ไม่ใช่จะมาเน้นเอาเฉพาะตอนที่จะให้ทำซีเนียร์โปรเจค
  
ยุคสมัยหนึ่งภาควิชาของเราก็มีการให้นิสิตส่งรายงานความก้าวหน้าและสอบวิชาซีเนียร์โปรเจคกันตั้งแต่เริ่มเรียนปี ๔ ทั้ง ๆ ที่นิสิตยังไม่ได้ลงทะเบียนเรียนวิชาดังกล่าว ผมก็ถามผู้ที่รับผิดชอบว่าการกระทำดังกล่าวนั้นสมควรหรือไม่ เพราะนิสิตเหล่านี้เรียนในหลักสูตรที่กำหนดไว้ว่าให้ทำซีเนียร์โปรเจคเพียงแค่ภาคการศึกษาเดียว ไม่ใช่ให้ทำทั้งปี และการกำหนดให้มีการส่งรายงานและสอบโดยที่ผู้เรียนยังไม่ได้ลงทะเบียนเรียนวิชาดังกล่าวนั้นเป็นการกระทำที่สมควรหรือไม่ ถ้าหากวิชาอื่นจะทำอย่างนี้บ้างด้วยการเรียกให้นิสิตมาเรียน ทำการบ้านส่ง และสอบ โดยที่นิสิตยังไม่ได้ลงทะเบียนเรียนวิชาดังกล่าว ภาควิชาจะยินยอมหรือไม่ และถ้ามีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น จะให้เหตุผลอธิบายอย่างไร ก็กลายเป็นว่าให้มีแต่แค่ส่งรายงานความก้าวหน้า ส่วนเรื่องการสอบหัวข้อนั้นเอาไว้ก่อน ค่อยไปสอบกันหลังจากสิ้นสุดภาคการศึกษาแรกไปแล้ว ส่วนการที่จะให้ทำซีเนียร์โปรเจคกันทั้งมีก็มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร โดยแยกจากเดิม ๓ หน่วยกิตในภาคการศึกษาเดียวมาเป็น ๑ หน่วยกิตในภาคการศึกษาต้นและ ๒ หน่วยกิตในภาคการศึกษาปลาย ซึ่งก็เริ่มใช้ครั้งแรกในปีการศึกษานี้

เดิมทีวิชาซีเนียร์โปรเจคมันเป็นวิชา ๓ หน่วยกิตเรียนกันในภาคการศึกษาปลายภาคเดียว แต่อาจารย์อยากจะใช้นิสิตทำงานให้ตั้งแต่ภาคการศึกษาต้น พอโดนทักท้วงว่ามันไม่ถูกต้องนะ ก็เลยทำการปรับหลักสูตรเป็น ๑ + ๒ คือภาคการศึกษาต้น ๑ หน่วยกิต ภาคการศึกษาปลาย ๒ หน่วยกิต แต่ตอนเรียนจริงไม่รู้ว่าในทางปฏิบัติมันจะเป็นแบบ ๓ + ๓ หรือเปล่า คือขนาดงานมันจะกลายเป็นเท่ากับลงเรียนวิชา ๓ หน่วยกิตทั้งในภาคการศึกษาต้นและภาคการศึกษาปลาย ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นผมว่ามันก็ไม่ถูกต้อง แต่ตอนนี้ก็ได้แต่เพียงแค่คอยดูเท่านั้นเอง
    
ถ้าอ่านมาถึงจุดนี้คิดว่าหลายคนที่เคยอยากจะมาเรียนต่อโท-เอกกับผม แล้วผมถามเขากลับไปว่า "เราเก็บความรู้สึกดี ๆ ที่มีต่อกันตลอดช่วงเวลา ๓ ปีที่ผ่านมา ให้มันคงอยู่ต่อไปตลอดกาลจะดีกว่าไหม" คงทราบเหตุผลแล้วนะครับว่า ประโยคดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร

วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2557

I2 ในสารละลาย KI กับไฮโดรคาร์บอนอิ่มตัว MO Memoir : Saturday 25 October 2557

ในตำราเคมีอินทรีย์นั้น เวลาเอ่ยถึงปฏิกิริยา halogenation ของอัลเคน (alkane) ก็มักจะกล่าวถึงเพียงแค่กรณีของ Cl2 กับ Br2 ซะเกือบทั้งหมด กรณีของ F2 กับ I2 นั้นแทบจะไม่ได้ค่อยได้รับการกล่าวถึงเท่าใดนัก ทั้งนี้เป็นเพราะ F2 มีความว่องไวในการทำปฏิกิริยาสูงมาก จนยากที่จะควบคุม ส่วน I2 นั้นก็เฉื่อยจนไม่ทำปฏิกิริยา
 
เวลาข้อสอบถามว่าถ้าเอาสารละลาย I2 ใน CCl4 หยดลงไปในหลอดทดลองที่บรรจุสารตัวอย่างที่เป็น alkane หรือ alkyl aromatic (สารประกอบที่วงแหวนอะโรมาติกมีหมู่อัลคิลเกาะอยู่เช่น โทลูอีน (Toluene C6H5-CH3) ไซลีน (Xylene C6H4-(CH3)2) และเอทิลเบนซีน (Ethyl benzene C6H5-CH2CH3) แล้ววางในหลอดทดลองในที่ร่มกับนำไปวางตากแดด สีของสารละลายจะเปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไร คำตอบก็คือมันก็จะยังคงเป็นสีม่วง (สีของ I2) เหมือนเดิม เพราะปฏิกิริยามันไม่เกิด
  
การสอนแลปเคมีอินทรีย์ช่วงหลังนั้น ได้เปลี่ยนมาใช้สารละลาย Bromine water หรือ Br2 ในน้ำแทน (สารละลายมีสีเหลืองของ Br2) เพราะต้องการลดการใช้ CCl4 แต่ Bromine water นั้นมันแยกชั้นกับไฮโดรคาร์บอน โดยไฮโดรคาร์บอนจะลอยอยู่บนสารละลาย Bromine water การทำปฏิกิริยาจะเกิดได้เฉพาะตรงรอยต่อระหว่างเฟสเท่านั้น ดังนั้นในระหว่างการทดลองจึงจำเป็นต้องทำการเขย่าหลอดทดลองไปด้วย เพื่อให้ Br2 ในชั้นน้ำละลายเข้าไปในชั้นไฮโดรคาร์บอน ถ้าไม่เกิดปฏิกิริยา ชั้นไฮโดรคาร์บอนก็จะเป็นสีเหลือง แต่ถ้าเกิดปฏิกิริยา ชั้นไฮโดรคาร์บอนก็จะใสเหมือนเดิม


รูปที่ ๑ ชั้นล่างเป็น I2 ในสารละลาย KI (เห็นข้างขวดเขียนไว้ว่าเข้มข้นประมาณ 10-4 M) ส่วนชั้นบนเป็น xylene หลอดซ้ายหลังจากที่ผสมกันแล้วก็เขย่า ส่วนหลอดขวานั้นก็ตั้งทิ้งไว้เฉย ๆ จะเห็นว่า I2 จากชั้นสารละลาย KI จะแพร่ขึ้นไปอยู่ในชั้น xylene ทำให้สีของ xylene เปลี่ยนไปเนื่องจากมี I2 เข้าไปปนอยู่ ถ้า I2 เข้าไปได้มากก็จะออกทางโทนสีม่วง
  
ที่นี้ถ้าเราเปลี่ยนมาใช้สารละลาย I2 ในสารละลาย KI ดูบ้าง (I2 จะอยู่ในรูปของ I3-) แล้วทำการทดลองอย่างเดียวกัน ผลที่ได้จะเป็นอย่างไร
  
ถ้าเราเอา I2 ไปละลายในตัวทำละลายไม่มีขั้วหรือแอลกฮอล์ (เช่นเอทานอล) เราจะได้สารละลายสีม่วงของ I2 แต่ถ้าเราเอา I2 ไปละลายในสารละลาย KI เราจะได้สารละลายสีเหลือง ส่วนจะเหลืองอ่อนหรือเข้มก็ขึ้นกับความเข้มข้นของ I2 ที่ละลายเข้าไป ยิ่งมีมากก็ยิ่งออกทางเหลืองเข้มมากขึ้น
  
พอเราใส่สารละลาย I2 ในสารละลาย KI ลงในหลอดทดลองร่วมกับไฮโดรคาร์บอนอิ่มตัว (หรืออะโรมาติกก็ได้) มันก็จะแยกชั้นเป็นสองชั้น โดยชั้นบนเป็นไฮโดรคาร์บอน (จะใส ไม่มีสี) ชั้นล่างเป็นสารละลาย I2 ในสารละลาย KI (สีเหลือง) ถ้าตั้งทิ้งไว้เราก็จะเห็นชั้นไฮโดรคาร์บอนค่อย ๆ มีสีออกทางโทนแดงเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ เนื่องจาก I2 ในสารละลาย KI แพร่เข้าไปละลายอยู่ในชั้นไฮโดรคาร์บอน แต่ถ้าอยากให้มันแพร่เร็วขึ้นก็ต้องเขย่าหลอดทดลองช่วยด้วย ผลที่ออกมาก็จะเป็นดังรูปที่ ๑ ที่ถ่ายเอาไว้เมื่อวาน บังเอิญเมื่อวานในแลปไม่มีสารละลาย I2 ในสารละลาย KI ที่ความเข้มข้นสูงเหลืออยู่ มีแต่ขวดความเข้มข้นเจือจางเหลืออยู่ขวดนึง สีที่เห็นมันก็เลยยังออกเป็นโทนสีแดงอยู่ แต่ถ้าใช้สารละลาย I2 ในสารละลาย KI ที่ความเข้มข้นสูงพอก็จะเห็นว่าสีของชั้นไฮโดรคาร์บอนอิ่มตัวนั้นจะออกทางโทนสีม่วง

เอาเรื่องนี้ไปออกข้อสอบทีไร หาคนตอบคำถามถูกไม่ค่อยจะได้ทุกที

วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ไตรเอทานอลเอมีน (Triethanolamine) MO Memoir : Thursday 23 October 2557

ไตรเอทานอลเอมีน (Triethanol amine - N-(CH2CH2-OH)3) เป็นเบสอินทรีย์ (organic base) ตัวหนึ่งที่มีความเป็นเบสแรงกว่าแอมโมเนีย (ammonia - NH3) หรือจะเรียกว่าเป็นอนุพันธ์ (derivative) ของแอมโมเนียก็ได้ ด้วยการแทนที่อะตอม H ทั้งสามอะตอมของแอมโมเนียด้วยหมู่ -CH2CH2-OH


รูปที่ ๑ (บน) ฉลากจากเจลใส่ผมและโฟมโกนหนวด (ล่าง) ครีมทาผิว ต่างก็ใช้ไตรเอทานอลเอมีนในส่วนประกอบ

ไตรเอทานอลเอมีนมีการนำมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง ที่ผมเอามาให้ดูในรูปข้างบนก็มี เจลใส่ผม โฟมโกนหนวด และโลชันทาผิว นอกจากนี้ด้วยการที่มันมีฤทธิ์เป็นเบสที่แรงกว่าแอมโมเนีย (NH3) จึงถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมในการกำจัดแก๊สกรด (พวก CO2 และ H2S) ออกจากแก๊สธรรมชาติก่อนเข้ากระบวนการกลั่นแยก (แก๊สสองตัวนี้มันมีอุณหภูมิจุดเยือกแข็งสูงกว่าสารอื่นในแก๊ส ดังนั้นจะทำให้เกิดการอุดตันขึ้นได้ในระบบเมื่อทำการลดอุณหภูมิแก๊สให้ต่ำลงก่อนทำการกลั่นแยก และยังมีฤทธิ์กัดกร่อนด้วย)
 
ในระดับอุตสาหกรรมผลิตไตรเอทานอลเอมีนจากปฏิกิริยาระหว่างเอทิลีนออกไซด์ (C2H4O) กับแอมโมเนีย (โดยมีน้ำร่วมด้วย) ดังสมการในรูปที่ ๒ ข้างล่าง (หาอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในสิทธิบัตรประเทศสหรัฐอเมริกา เช่นสิทธิบัตรเลขที่ US 1,904,013, US 4,355,181 และ US 6,696,610) ในบ้านเราเองก็มีโรงงานอุตสาหกรรมผลิตไตรเอทานอลเอมีนนี้



รูปที่ ๒ จากเอทิลีนสู่ไตรเอทานอลเอมีน เอทิลีนออกไซด์เตรียมได้จากปฏิกิริยาการออกซิไดซ์เอทิลีนด้วยออกซิเจนโดยมีตัวเร่งปฏิกิริยาตระกูลโลหะเงิน (Ag) ปฏิกิริยาระหว่างเอทิลีนออกไซด์กับแอมโมเนียจะได้สารผสมที่เป็นโมโนเอทานอลเอมีน (Monoethanolamine - MEA) ไดเอทานอลเอมีน (Diethanolamine - DEA) และไตรเอทานอลเอมีน (Triethanolamine - TEA) ส่วนจะได้สารใดมากน้อยเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับสัดส่วนระหว่างเอทิลีนออกไซด์กับแอมโมเนียที่ใช้ทำปฏิกิริยา ถ้าปริมาณแอมโมเนียมีมากกว่าเอทิลีนออกไซด์มาก ก็จะได้ MEA เป็นตัวหลัก แต่ถ้ามีเอทิลีนออกไซด์มากก็จะได้ TEA เป็นตัวหลัก

- การเปลี่ยนหมู่ไฮดรอกซิล (hydroxyl -OH) ให้กลายเป็นเฮไลด์ (-X)

ในตำราเคมีอินทรีย์ในบทแอลกอฮอล์หรืออัลคิลเฮไลด์ (alkyl halide) จะมีการกล่าวถึงปฏิกิริยาการเตรียมสารประกอบอัลคิดเฮไลด์ด้วยการแทนที่หมู่ไฮดรอกซิล -OH ของแอลกฮอลฮอล์ด้วยเฮไลด์ (Cl, Br หรือ I) ด้วยการทำปฏิกิริยากับสารประกอบ PX3, HX (hydrogen halide) หรือ SOCl2 (ไธโอนิลคลอไรด์ - Thionyl chloride) ดังตัวอย่างเช่น


รูปที่ ๓ ปฏิกิริยาการเปลี่ยนหมู่ไฮดรอกซิล -OH ให้กลายเป็นเฮไลด์ -X

ปฏิกิริยาระหว่างแอลกอฮอล์กับ PX3 นั้นใช้ได้ดีกับ PBr3 และ PI3 ส่วน PCl3 นั้นจะให้ HCl กับ P(OR)3 เป็นหลัก
 
ในกรณีของปฏิกิริยากับ HX นั้น ความว่องไวจะเรียงตามลำดับ HI > HBr > HCl >> HF และความว่องไวของแอลกอฮอล์ในการทำปฏิกิริยาดังกล่าวจะเรียงตามลำดับ tertiary > secondary > primary > CH3OH ดังนั้นในกรณีของแอลกอฮอล์ตติภูมิ (tertiary alcohol) นั้นปฏิกิริยาสามารถเกิดได้ที่อุณหภูมิห้อง แต่ถ้าเป็นแอลกอฮอล์ทุติยภูมิ (secondary alcohol) หรือแอลกฮอล์ปฐมภูมิ (primary alcohol) จำเป็นต้องมีการให้ความร้อนช่วย และถ้าเป็นการทำปฏิกิริยากับ HCl ก็มักจะต้องการตัวเร่งปฏิกิริยา (เช่น ZnCl2) ช่วยในการทำปฏิกิริยาอีก
 
- The Australia Group (AG)

The Australia Group (ย่อว่า AG) เป็นกลุ่มประเทศที่มีการรวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการเพื่อหามาตรการควบคุมการนำเข้าและการส่งออก โดยเฉพาะสารเคมีที่เป็นหรือสามารถใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตอาวุธเคมีและชีวภาพ กลุ่มนี้ได้จัดทำคู่มือรายชื่อสารเคมีที่เป็นหรือสามารถใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตอาวุธเคมีและชีวภาพ และคู่มือดังกล่าวได้รับการยอมรับจากคณะมนตรีความมั่นคงขององค์การสหประชาชาติเพื่อใช้ในการควบคุมการแพร่ขยายอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง รายละเอียดเพิ่มเติมของ AG และรายการสารเคมีต่าง ๆ (ดาวน์โหลดไฟล์ pdf ได้) ที่เข้าข่ายที่ต้องทำการควบคุมสามารถอ่านได้จาก http://www.australiagroup.net/en/index.html
 
ไตรเอทานอลเอมีนตัวหนึ่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ AG list โดยประเทศไทยเองก็เป็นผู้ผลิตรายใหญ่รายหนึ่งของโลกด้วย (รูปที่ ๔ และ ๕)


รูปที่ ๔ รายละเอียดของไตรเอทานอลเอมีนที่ปรากฏใน Autralia Group Common Control List Handbook - Vol I เล่มนี้จะเกี่ยวกับสารเคมีและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตอาวุธเคมี ถ้าเป็น Vol II จะเป็นส่วนของอาวุธชีวภาพ

 รูปที่ ๕ หน้าที่สองของรายละเอียดของไตรเอทานอลเอมีนที่ปรากฏใน Autralia Group Common Control List Handbook - Vol I หน้านี้มีการระบุรายชื่อประเทศที่เป็นผู้ผลิตไตรเอทานอลเอมีน
  
- Nitrogen mustard

มัสตาร์ด (mustard) เป็นชื่อพืช แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงพืช แต่เป็นสารเคมีที่มีกลิ่นคล้ายกลิ่นของพืชดังกล่าว สารเคมีตระกูลนี้ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธเคมีตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยออกฤทธิ์ทำให้เกิดแผลบวมพองบนผิวหนัง (ที่เรียกว่า Blister agent) สารกลุ่มนี้แบ่งได้เป็น ๒ กลุ่มคือ Sulphur mustard และ Nitrogen mustard ลักษณะโครงสร้างทั่วไปคือมีอะตอม S หรือ N เป็นศูนย์กลาง และมีหมู่อัลคิลเฮไลด์เกาะอยู่กับอะตอม S หรือ N ดังกล่าว ในกรณีของ Sulphur mustard ก็จะมีหมู่มาเกาะกับอะตอม S ได้ ๒ หมู่ ส่วนกรณีของ Nitrogen mustard ก็จะมีหมู่มาเกาะกับอะตอม N ได้ ๓ หมู่ (หมู่ที่มาเกาะไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทั้งหมด และไม่จำเป็นต้องเป็นหมู่อัลคิลเฮไลด์ทุกหมู่ด้วย)
  
สารประกอบตระกูล Sulphur mustard นอกจากจะใช้เป็นอาวุธเคมีแล้วก็ดูเหมือนว่าจะใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ ส่วนสารประกอบตระกูล Nitrogen mustard นั้นบางตัวก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้เป็นอาวุธเคมี และหลายตัวก็ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้เป็นยารักษาโรคมะเร็ง (ที่เราเรียกว่ารักษาด้วยคีโม)

แล้วไตรเอทานอลเอมีนมันไปเกี่ยวข้องอะไรกับอาวุธเคมีล่ะ คำตอบก็คือมันไปเกี่ยวข้องตรงที่ถ้าเราไปเปลี่ยนหมู่ -OH ของมันให้กลายเป็น -Cl มันก็จะกลายเป็นสารประกอบที่เรียกว่า Tris(2-chloroethyl)amine ที่มีรหัสว่า HN3 ที่จัดว่าเป็น blister agent ตัวหนึ่ง (รูปที่ ๖)


รูปที่ ๖ Tris(2-chloroethyl)amine (ชื่อรหัส HN3) เตรียมได้จากการเปลี่ยนหมู่ -OH ของไตรเอทานอลเอมีด้วยอะตอม Cl

แล้วการเปลี่ยนหมู่ -OH ให้กลายเป็น -Cl นั้นทำได้อย่างไรล่ะ คำตอบมันก็มีอยู่ในตำราเคมีอินทรีย์อยู่แล้ว

วันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2557

อีกนิดเดียว อีกนิดเดียวเท่านั้น MO Memoir : Sunday 12 October 2557

"...แก้มของน้อง มือของน้อง พี่หอมเจ้าทุกครั้งที่เจอตั้งแต่เล็กจนโต บ่อยครั้งที่เจ้ารำคาญ แต่พี่ไม่สนใจหรอก เพราะน้องเป็นน้องรักของพี่ พี่รักเจ้ามากมากเหลือเกิน ใจพี่จะขาด มาหาพี่นะคนดี น้องรัก..."

ประโยคข้างบนผมไม่ได้เขียนเองหรอกครับ แต่รู้สึกประทับใจมากทันทีเมื่อได้อ่าน เพราะมันบอกเล่าถึงความรู้สึกผูกพันที่มีมาตลอดชีวิต ของพี่สาวคนหนึ่งที่มีต่อน้องชายของเขาตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจนที่สุดและสมบูรณ์แบบในตัว
  
ตอนที่เขายังเรียนหนังสืออยู่ที่ภาควิชานั้น ผมก็เจอกับเขาบ่อยครั้ง เพราะผมขึ้นไปชงกาแฟกินที่แลปเป็นประจำ และแถวโต๊ะทำงานของเขาก็ใช้เป็นที่เก็บกาแฟที่ผมกับนิสิตปริญญาเอกที่อยู่บริเวณนั้น สลับสับเปลี่ยนกันซื้อมาเติม และเราก็ได้ใช้เวลาในการค่อย ๆ จิบการแฟร้อนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหมดแก้วนั้น สนทนากันในเรื่องต่าง ๆ
  
ในแต่ละเดือนจะมีอยู่อย่างน้อยหนึ่งครั้งที่เขาจะหายตัวไปจากแลป ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาต้องไปเฝ้าดูแลน้องชายที่เดินทางจากต่างจังหวัดมารักษาตัวที่โรงพยาบาลในกรุงเทพ
  
จนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทางครอบครัวของเขาได้ตัดสินใจแล้วว่าจะลองเสี่ยงส่งน้องชายของเขาเดินทางไปรักษายังต่างประเทศ การเดินทางไปรักษายังต่างประเทศครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ยังต้องใช้เวลานานอีกด้วย โดยอาจกินเวลานานหลายเดือน และแม้ว่าจะมีความเสี่ยงสูง แต่ก็มองไม่เห็นทางเลือกอื่นที่จะดีกว่านี้ ได้ยินมาว่าเขาเองใช้วันหยุดทั้งหมดในรอบปีที่มีอยู่นั้น ขอลาหยุดงานเพื่อการเดินทางไปดูแลน้องชายเขาในช่วงแรกของการรักษา
  
เหตุการณ์จากนั้นเป็นอย่างไรบ้างนั้น เขาก็ได้บันทึกเอาไว้บนหน้า facebook ของเขา ซึ่งผมได้ขออนุญาตเจ้าของ facebook และได้รับอนุญาตเพื่อนำมาลงเอาไว้ในที่นี้แล้ว

อังคาร ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗

ครั้งหนึ่งในชีวิตค่ะ...เดินทางพาน้องชายไปรักษาตัวที่สหรัฐอเมริกา...ขอเรากลับมาปลอดภัยและหายดี _/\_ — กำลังเดินทางไปที่ San Francisco กับ ที 'เดียว จาก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ | Suvarnabhumi Airport BKK

อาทิตย์ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๗

ธี : ทำไมฟันล่างพี่กรีสห่างจัง
กรีส : พี่ไม่ได้เหลาฟันล่างอ่ะ เหลาแต่ฟันข้างบนอ่ะ.. ธีเหลาป่ะ
ธี : ธีไม่ได้เหลาฟัน...แต่ธีหล่อเหลา
กรีส : 0,o
‪#‎น่าจะเป็นผลมาจากอาหารแซบ‬^^
— กำลังรับประทาน dinner กับ ที 'เดียว ที่ Public Market Emeryville


อาทิตย์ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๕:๒๕ น.

บันทึกความทรงจำครอบครัวธาลัสซีเมีย

"ธาลัสซีเมีย" หรือโรคเลือดจางซึ่งเกิดจากพันธุกรรม โรคนี้เรารู้จักดีผ่านทางน้องชายจนถือได้ว่าเป็นครอบครัวเดียวกันเลยทีเดียว
น้องธีรับการรักษาตามลักษณะอาการของโรคมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว ทั้งการผ่าตัดเอาม้ามออก การรับเลือดทุกเดือนและการฉีดยาขับเหล็ก....

สิ่งที่ทรมานที่สุดเห็นจะเป็นการฉีดยาขับเหล็ก ซึ่งต้องเอาเข็มคาไว้ใต้ผิวหนังเป็นเวลา 7 ชม. โดยฉีดสัปดาห์ละ 5 วันโดยประมาณ....

ในที่สุด ครอบครัวเราตกลงกันว่าจะรักษาน้องให้ถึงที่สุดและวันนี้ก็มาถึง
การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของครอบครัวเรา....
การเปลี่ยนถ่าย stem cells จากแม่สู่น้องชาย....
ให้ชีวิตใหม่กับลูกอีกครั้งนึงของผู้เป็นแม่ สิ้นสุดการมีกรุ๊ปเลือด A ของน้องธี (04/05/2536-23/09/2557) เปลี่ยนกรุ๊ปเลือดเป็น AB นับจากนี้เป็นต้นไป....

ขอให้น้องธีปลอดภัยและหายดี _/\_

ท้ายนี้...
ขอบคุณเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ (จำได้ว่าการรักษาแบบนี้เมื่อสิบปีที่แล้วยังไม่มี)
ขอบคุณพ่อกับแม่ที่พยายามทุกทางเพื่อให้น้องหายดี
ขอบคุณน้องชายที่เข้มแข็งมาจนถึงวันนี้
ขอบคุณญาติพี่น้องทุกคนที่ช่วยทั้งกำลังทรัพย์และกำลังใจ
ขอบคุณผู้ร่วมเดินทางผ่านเส้นทางการรักษาทั้งในและต่างประเทศ
ขอบคุณและสวัสดีค่ะ_/\_

— รู้สึกมีความหวังกับ ที 'เดียว ที่ โรงพยาบาลสมิตติเวช ศรีนครินทร์

สัปดาห์ที่แล้วระหว่างเดินกลับมายังตึกทำงาน

"อาจารย์คะ อาจารย์" เสียงเรียกที่คุ้นเคยดังมาจากทางข้างหลัง ผมเลยหันกลับไปดู ก็พบว่าเป็นเขานั่นเอง

เรามีเวลาสั้น ๆ บนทางเดินก่อนที่จะถึงทางแยกที่จะแยกจากกันนั้น ในการถามถึงสารทุกข์สุขดิบ และ
ผลการเดินทางไปยังต่างประเทศของเขา

ไม่กี่วันถัดมา ข้อความข้างล่างก็ปรากฏขึ้นบนหน้า facebook ของเขา


ศุกร์ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ เวลา ๒๑.๑๑ น.


ขอเป็นกำลังใจให้กับครอบครัวที่ได้อุทิศเวลากว่า ๒๐ ปีที่ผ่านมาในการดูแลบุคคลอันเป็นที่รักของเขา
ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวดังกล่าวที่ต้องสูญเสียบุคคลอันที่เป็นที่รักยิ่งของเขาไป

บางครั้ง การหมดสิ้นภาระอันหนักอึ้งที่ต้องแบกรับนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะนำมาซึ่งความสุขของผู้ที่ต้องแบกรับภาระดังกล่าวนั้นเสมอไป