วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ชื่อหายก็เคยเกิดเรื่องแล้ว แล้วถ้าชื่อเกินล่ะ MO Memoir : Tuesday 26 May 2558

สำหรับผู้ที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ตำแหน่งทางวิชาการยังไม่ขึ้นไปจนถึงตำแหน่งสูงสุดนั้น ความก้าวหน้าในการเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญดังนี้คือ

() การมีผลงานทางวิชาการเผยแพร่ และ
() สัดส่วนงานของตัวเองในผลงานที่มีการเผยแพร่ไปนั้น

ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ มีหนังสือตอบกลับจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการทำงานของสถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ที่เกิดจากการยุบรวมทบวงมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยของกระทรวงศึกษาธิการเข้าด้วยกัน) โดยอ้างไปถึงหนังสือหนังสือทบวงมหาวิทยาลัยในปีพ.ศ. ๒๕๔๓ (เรียกว่าถามไป ๓ ปีกว่าถึงได้คำตอบ) เรื่องการแบ่งสัดส่วนผลงานทางวิชาการระหว่างอาจารย์และนิสิตผู้มีชื่อปรากฏในผลงานนั้น
   
รายละเอียดของเรื่องราวเป็นอย่างไรก็ลองอ่านเองในรูปที่แนบมาให้ดูก็แล้วกัน ซึ่งเป็นตัวอย่างกรณีของ "ชื่อหาย"

ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี เคยมีนักวิจัยอาวุโสท่านหนึ่งกระซิบถามผมถึงเรื่องการทำงานของนักวิจัยอาวุโสอีกท่านหนึ่ง ว่าทำงานเองหรือเปล่า หรือจ้างให้คนอื่นทำให้ เพราะเวลาให้นำเสนอผลงานวิจัยที่รับทุนไป ถามอะไรก็ตอบไม่ได้ หรือให้บรรยายเรื่องหนึ่งก็ไปบรรยายในอีกหัวข้อหนึ่งแทน ผมก็ตอบกลับไปตามที่ผมทราบมาก็คือ 
   
"เป็นอย่างที่อาจารย์คิดนั่นแหละครับ"

เมื่อกลางปีที่แล้วผมมีโอกาสได้อ่านวิทยานิพนธ์ของนิสิตปริญญาเอกรายหนึ่งก่อนเขาสอบ ซึ่งตามเกณฑ์การสำเร็จการศึกษาแล้วเขาต้องมีผลงานตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติอย่างน้อย ๑ เรื่อง ซึ่งนิสิตคนนี้ก็ผ่านตามเกณฑ์ดังกล่าว และยังมีผลงานที่นำไปนำเสนอในที่ประชุมวิขาการตามที่ต่าง ๆ (ทั้งในและต่างประเทศ) อีก ๕-๖ แห่ง
  
แต่ที่สะดุดตาผมมากก็คือ "ชื่อ" ชื่อหนึ่งของผู้ที่มีส่วนร่วมในผลงานวิชาการที่เป็นผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ เพราะเมื่อเทียบชื่อบทความที่เอาไปนำเสนอและตีพิมพ์ และชื่อผู้มีส่วนร่วมที่ปรากฏในบทความที่เอาไปนำเสนอและตีพิมพ์นั้น ต่างสอดคล้องกันเป็นอย่างดี แสดงให้เห็นการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เว้นแต่บทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาตินั้นมีรายชื่อหนึ่งปรากฏโผล่ขึ้นมา โดยเท่าที่ผมทราบก็คือบุคคลในรายชื่อนั้นไม่ได้ทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องใด ๆ กับบทความนั้น ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเป็นที่ปรึกษาร่วมในงานวิจัยของนิสิต และชื่อบุคคลดังกล่าวก็ยังไม่มีปรากฏในกิตติกรรมประกาศของวิทยานิพนธ์ของเขาด้วย
  
ก่อนสอบวันหนึ่งผมมีโอกาสได้พบกับนิสิตรายนั้น ผมก็เลยมีโอกาสได้ถามเขาเรื่องนี้ คำตอบที่เขาให้มาก็คือ
  
"อาจารย์ที่ปรึกษาบอกให้ใส่เข้าไป"
"ในฐานะอะไรเหรอ" ผมถามต่อ
"อาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่าในฐานะผู้ให้ทุน"
  
ทันทีที่ผมถาม นิสิตก็ตอบกลับได้ทันที แสดงว่าเขาก็ตั้งข้อสงสัยตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว และได้มีการซักถามตัวอาจารย์ที่ปรึกษาของเขาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำไมต้องใส่ชื่อบุคคลดังกล่าว และใส่ในฐานะอะไร แต่เมื่ออาจารย์ที่ปรึกษาบอกให้ใส่เข้าไป นิสิตก็เลยจำเป็นต้องใส่ (กลัวว่าจะไม่จบ) นิสิตผู้นั้นได้รับทุนวิจัยจากแหล่งอื่น และระหว่างการทำวิจัยก็ไม่ได้มีการติดต่ออะไรกับอาจารย์ผู้นั้นเลย
    


และจะว่าไปแล้วถ้าอยู่ในฐานะ "ผู้ให้ทุน" (ซึ่งนิสิตก็ไม่รู้ว่าทุนนั้นไปที่ไหน แต่ไม่ได้มาที่เขาแน่) มันก็ควรไปปรากฏอยู่ในส่วนของ "กิตติกรรมประกาศ" ไม่ใช่ในส่วนผู้เขียนบทความ หรือแม้แต่ผู้ที่ให้คำปรึกษาแนะนำ ข้อคิดเห็นต่าง ๆ ในการทำวิจัย โดยบุคคลผู้นั้นไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในงานวิจัยดังกล่าวโดยตรง ก็มักจะไปมีชื่อปรากฏแค่ส่วนของ "กิตติกรรมประกาศ" แค่นั้นเช่นกัน ไม่ใช่มาปรากฏเป็นชื่อเข้าของบทความ
  
สาเหตุนั้นเกิดจากผู้ที่มีชื่อปรากฏ "เกิน" มานั้นไปขอรับทุนวิจัย โดยทุนดังกล่าวมีเงื่อนไขว่าต้องมีการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ขึ้นมา และต้องมีบทความวิชาการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ และเพื่อจะให้ผู้ให้ทุนพิจารณา ก็เลยมีการสัญญาจำนวนบทความวิจัยที่จะทำ (ซึ่งแน่นอนว่าจะใส่ตัวเลขเยอะ ๆ เอาไว้ก่อน)
  
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือไม่สามารถหาผู้ที่ทำวิจัยในสาขาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันมาร่วมในคณะนักวิจัยได้ ก็เลยใช้วิธีการทำนองว่าไปดึงใครต่อใครให้เข้ามาร่วม (โดยไม่สนว่าจะทำงานในสาขาที่แตกต่างกันมากแค่ไหน) โดยมีข้อแม้ว่าถ้าหากอาจารย์ผู้มาร่วมงานนั้นมีการตีพิมพ์ผลงานในรูปแบบวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่มีชื่อของเขาปรากฏด้วยเมื่อใด ก็มารับเงิน (ที่ตั้งอยู่ในงบประมาณทุนที่ขอ) ไปจากเขา ส่วนระหว่างนั้นอาจารย์คนดังกล่าวจะไปทำอะไรเรื่องอะไรเขาไม่สน และนั่นก็เป็นที่มาตรงที่ว่าทำไปชื่อบุคคลที่ "เกิน" มานั้นไม่มีปรากฏในผลงานที่เอาไปนำเสนอในที่ประชุมวิชาการ หรือถูกกล่าวถึงในวิทยานิพนธ์ของนิสิตผู้ทำงานวิจัยดังกล่าวเลย

งานนี้ก็คงได้แต่รอดูว่า ถ้าอาจารย์ที่ปรึกษาของเขานำเอาผลงานฉบับดังกล่าวไปยื่นขอเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการ นิสิตคนดังกล่าว (ซึ่งสำเร็จการศึกษาไปแล้ว) จะทำอย่างไร อาจจะมีกรณีแปลก ๆ เกิดขึ้นใหม่อีกก็ได้

วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ปลั๊กพ่วงจำเป็น MO Memoir : Monday 25 May 2558

พื้นที่ส่วนนี้ของภาควิชาแยกออกมาอยู่ในอีกอาคารหนึ่งที่ไม่ค่อยจะได้รับความสนใจจากทางส่วนกลางเท่าใดนักแม้ว่าจะมีนิสิตปริญญาโท-เอกทำวิจัยอยู่จำนวนไม่น้อย เครื่องทำน้ำเย็นสำหรับดื่มเครื่องเก่านั้นติดตั้งมานานเท่าใดก็จำไม่ได้แล้ว รู้แต่ว่าหลังติดตั้งก็แทบจะไม่มีการล้าง-เปลี่ยนเรซินเลย จนกระทั่งท้ายสุดมันก็ถึงเวลาอันควรที่ต้องจากไป
  
เนื่องจากอาคารเดิมไม่ได้มีการเตรียมพื้นที่สำหรับเครื่องทำน้ำเย็น ตอนติดตั้งเครื่องเดิมนั้นก็ไปได้ทำเลอยู่ทางเข้าห้องน้ำหญิง เพราะอีกด้านหนึ่งของกำแพงที่อยู่ในห้องน้ำหญิงนั้นมีเต้าเสียบและก๊อกน้ำ การติดตั้งก็ทำเพียงแค่เจาะผนังฝังท่อลอดสำหรับสอดสายยางและสายไฟเครื่องทำน้ำเย็น เนื่องจากปลั๊กไฟเดิมนั้นมันมีขนาดเล็ก (แบบสองขา เป็นยุคก่อนประเทศไทยจะมีมาตรฐานปลั๊กตัวผู้) มันก็เลยสามารถสอดผ่านรูท่อที่เจาะเอาไว้ได้
  
แต่เครื่องทำน้ำเย็นเครื่องใหม่มันมาพร้อมกับปลั๊กตัวผู้ตามมาตรฐานใหม่ของประเทศไทย ซึ่งมีขนาดใหญ่จนไม่สามารถสอดผ่านรูที่กำแพงที่ทำไว้เดิมได้ หลังการติดตั้งเสร็จจึงมีเพียงแค่การต่อท่อน้ำเข้าเครื่องเท่านั้น
  
ในที่สุดก็มีผู้ใจดี (ใครก็ไม่รู้) ช่วยมาเชื่อมต่อไฟฟ้าให้กับเครื่องทำน้ำเย็น โดยเดินสายไฟมาจ่ายให้กับปลั๊กตัวผู้ของเครื่องทำน้ำเย็น แต่วิธีการที่เขาใช้น่ะซิ แม้ว่ามันจะใช้งานได้จริง แต่ก็หวังว่ามันคงเป็นเพียงแค่ชั่วคราว แล้วมันเป็นยังไงน่ะเหรอ ก็ขอให้พิจารณาเอาเองจากรูปที่ ๑ และ ๒ ที่ถ่ายมาให้ดู
  
รูปที่ ๑ ผู้ใจดีคนไหนก็ไม่รู้ หาทางเดินสายไฟมาให้กับเครื่องทำน้ำเย็น ทำให้ผู้คนในชั้น ๕ มีน้ำเย็นสำหรับดื่ม
  
รูปที่ ๒ แต่หวังว่าคงเป็นแค่ชั่วคราวเท่านั้นนะ

การไม่ปฏิบัติงานตามขั้นตอนความปลอดภัยในบางครั้ง (ย้ำนะครับว่าแค่บางครั้ง) อาจจะยอมให้ทำได้ แต่ต้องกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งยวดและเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่คิดว่าจะนำมาปฏิบัติเป็นประจำ การไม่ปฏิบัติงานตามขั้นตอนความปลอดภัยนั้นอาจเป็น การละเว้นการปฏิบัติในบางขั้นตอน การละเว้นการใช้อุปกรณ์บางอุปกรณ์ และการดัดแปลง/สร้างอุปกรณ์ใช้ชั่วคราวเพื่อให้งานดำเนินไปได้ อย่างเช่นในกรณีหลังสุดนี้อาจยอมให้ทำได้ถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วนและไม่ได้มีความประสงค์ที่จะใช้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน แต่ทางที่ดีแล้วถ้าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายผมเห็นว่าก็ไม่ควรเสี่ยง
  
ภาพที่ถ่ายมาให้ดูนั้นบังเอิญว่าวันนี้ไปเห็นเข้าในตอนเย็นแล้ว เลยยังไม่มีเวลาหาเต้ารับให้ ถ้าไม่มีใครไปจัดการให้ก่อน ก็จะไปทำให้เอง

วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

แม่สอด-แม่สะเรียง เรื่องของเส้นทางสาย ๑๐๕ MO Memoir : Sunday 24 May 2558

สำหรับผู้ที่ใช้รถยนต์เดินทางไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ เวลาที่คุณเดินทางคุณเคยตั้งคำถามไหมครับว่า เส้นทางที่คุณใช้เดินทางนั้นเดิมมันเป็นอย่างไร แต่ตรงนี้ผมคิดว่าคงขึ้นอยู่กับนิยามของคำว่า "ไปเที่ยว" ของแต่ละคน คือมุ่งมันไปที่ "จุดหมายปลายทาง" เพียงอย่างเดียว หรือมีการรวม "เส้นทางการเดินทาง" เข้าไปด้วย
  
เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาก็ได้มีโอกาสทำในสิ่งที่อยากจะทำอีกครั้ง คือการได้ขับรถท่องเที่ยวไปตามที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะเส้นทางที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ใช้ในการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทาง ครั้งนี้เส้นทางที่เลือกเอาไว้ก็คือเส้นทางจาก อ.แม่สอด จังหวัดตาก ไปตามทางหลวงแผ่นดินสาย ๑๐๕ ไปสิ้นสุดที่ อ.แม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  
แผนที่ที่ใช้ในการเดินทางครั้งนี้ผมใช้แผนที่สองฉบับ ฉบับแรกเป็นแผนที่ขยายเฉพาะจังหวัดตาก-แม่สอด ส่วนแผนที่ฉบับที่สองเป็นฉบับที่ใหม่กว่าคือแผ่นที่ภาคเหนือ มาตราส่วน ๑:๗๕๐,๐๐๐ ทั้งสองฉบับจัดทำโดยศูนย์แผนที่พรานนกวิทยา ที่ผมเลือกแผนที่ของสำนักพิมพ์นี้ก็เพราะมันเป็นแผนที่ที่แสดงภูมิประเทศประกอบ เพราะจากประสบการณ์นั้นมันสอนให้รู้ว่าเวลาการเดินทางจะใช้เท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศด้วย เส้นทางที่ขึ้น-ลงเขานั้นจะใช้เวลามากกว่าเส้นทางบนพื้นราบอยู่ประมาณ ๓-๔ เท่า (แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพเส้นทางบนเขาและประสบการณ์การขับรถ) และยังช่วยในการวางแผนการเติมน้ำมันก่อนการเดินทางด้วย (ปรกติผมจะประมาณว่ากินน้ำมันมากกว่าขับพื้นราบประมาณเท่าตัวหรือกว่านั้น)
  
จะว่าไปแล้วเส้นทางถนนเลียบชายแดนของบ้านเราก็เพิ่งจะมีการพัฒนากันไม่นานนี้ เรียกว่าเป็นช่วงหลังสงครามการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ยุติลงก็ได้ (หลังปีพ.ศ. ๒๕๓๐) เพราะก่อนหน้านั้นการตัดถนนยังมุ่งเน้นไปที่การเชื่อมตัวจังหวัดและอำเภอที่สำคัญเข้าด้วยกัน บางเส้นทางที่มีการสู้รบนั้นก็เป็นการตัดถนนเพื่อความมั่นคงหรือส่งกำลังบำรุง (ที่มักเรียกกันว่าถนนสายยุทธศาสตร์) และพอการสู้รบยุติก็มีการปรับปรุงให้เป็นเส้นทางการเดินทางหลัก
  
สำหรับเส้นทางสาย ๑๐๕ ช่วงจาก แม่สอด-แม่สะเรียง นี้ ผมได้นำเอาข้อมูลจากแผนที่ฉบับที่เก่าสุดที่ผมมี คือแผ่นที่ทหารรหัส L509 ที่จัดทำขึ้นโดยใช้ข้อมูลราว ๆ ปีพ.ศ. ๒๕๐๐ (รูปที่ ๑) ตามด้วยแผนที่ที่จัดพิมพ์เผยแพร่ในปีพ.ศ. ๒๕๐๘ (รูปที่ ๒ และ ๓) แผนที่ทางหลวงประเทศไทยที่จัดทำขึ้นประมาณช่วงปีพ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๓๕ (รูปที่ ๔ และ ๕) และแผนที่ที่จัดทำขึ้นในช่วงประมาณปีพ.ศ. ๒๕๕๐ (รูปที่ ๖) มาให้ดูเปรียบเทียบกัน 
   
รูปที่ ๗-๑๐ เป็นภาพบรรยากาศบางส่วนของเส้นทางสาย ๑๐๕ จากบ้านท่าสองยางไปยัง อ.สบเมย (ถ่ายเอาไว้เมื่อวันอังคารที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ช่วงเวลาหลังเที่ยง บ้านท่าสองยางกับตัวอำเภอท่าสองยางอยู่คนละที่กันนะครับ บ้านท่าสองยางอยู่เลยตัวอำเภอมาอีกประมาณ ๕๐ กิโลเมตร ใกลักับเขตแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนตัวอำเภอท่าสองยางนั้นอยู่ที่บ้านแม่ต้านใกล้กับอ.แม่ระมาด) ในวันที่เดินทางนั้นถนนเส้นนี้พอเลยจากบ้านท่าสองยางไปไม่มากนักก็จะพบกับการก่อสร้างเพื่อขยายเส้นทางเป็นช่วง ๆ บางช่วงของเส้นทางยังคงสภาพเดิม ๆ อยู่เช่นที่ถ่ายมาให้ดูในรูปที่ ๗ และ ๘ แต่บริเวณผ่านหมู่บ้านมักจะมีการปรับปรุงสภาพเส้นทางให้บ้างแล้วเช่นที่บ้านแม่อมกิในรูปที่ ๙ แต่ถนนบางช่วง เช่นช่วงก่อนถึงบ้านสบเงาก็ยังคงสภาพแบบเดิม ๆ อยู่ แต่ดีหน่อยตรงนี้เป็นเส้นทางบนพื้นราบ ไม่ใช่เส้นทางบนเขา (ออกจากบ้านท่าสองยางได้ไม่นาน เส้นทางก็จะเริ่มไต่ขึ้นเขา และมาลงเขาก็แถวอุทยานแห่งชาติสบเงา)
  
เส้นทางสายนี้ออกจากแม่สอดแล้วก็มีปั๊มน้ำมันที่ อ.แม่ระมาด ที่ อ.ท่าสองยางนั้นก็มีปั๊มชาวบ้านอยู่ริมถนนก่อนถึงทางเข้าตัวอำเภอ (ถ้าขับขึ้นมาจากแม่ระมาด) มีแก๊สโซฮอล์ 95 และดีเซลให้เติม พอเลยตัวอำเภอไปหน่อยแห่งมีปั๊มน้ำมันบางจากอยูระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าน่าจะเปิดใช้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า พ้นจากนี้ไปแล้วก็ต้องไปเติมที่แม่สะเรียง (ถ้าไม่รังเกียจปั๊มหลอดของชาวบ้าน ถ้าจำเป็นจริง ๆ ก็ยังพอหาเติมแก้ขัดได้)
  
ตามเส้นทางนี้มีจุดหนึ่งที่ผมแวะไปก็คือบ้านแม่สามแลบ ที่เป็นพรมแดนไทยด้านแม่น้ำสาละวิน (เรียกว่าไปสุดพายับที่สาละวินก็ได้) ขับรถชมวิวเข้าไปเรื่อง ๆ พักกินข้าวกันสักชั่วโมง แล้วก็ขับกลับ
  
อันที่จริงตอนขากลับก็ขับกลับทางเส้นทางเดิม และได้ถ่ายคลิปวิดิโอ (ใช้กล้องโทรศัพท์มือถือ) ถ่ายเอาไว้ด้วย โดยเลือกถ่ายเอาไว้เฉพาะเส้นทางตอนที่มันโหด ๆ เก็บเอาไว้เป็นที่ระลึก ถ้ามีโอกาสก็อาจจะนำมาเผยแพร่ให้ดูกัน
   

รูปที่ ๑ แผนที่ทหารรหัส L509 จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกองทัพสหรัฐกับกรมแผนที่ทหารของไทย ข้อมูลในแผนที่คาดว่าเป็นในปีค.ศ. ๑๙๕๗ (พ.ศ. ๒๕๐๐) ตามแผนที่นี้ เส้นทางถนนพหลโยธินที่มุ่งหน้าขึ้นเหนือมายังจังหวัดตากนั้น บอกว่าผิวจราจรไม่ได้เป็นแบบพื้นผิวแข็ง (hard surface) เดาว่าคงยังเป็นลูกรังอยู่ และถนนไปยังอ.แม่สอดก็ยังไม่มี
  
รูปที่ ๒ แผนที่จังหวัดตาก จากหนังสือแผนที่ ๗๑ จังหวัดของประเทศไทย โดยเจษฎา โลหะอุ่นจิตร พ.ศ. ๒๕๐๘
   
รูปที่ ๓ แผนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตัดมาเฉพาะช่วงที่ต่อเนื่องกับจังหวัดตาก นำจากหนังสือแผนที่ ๗๑ จังหวัดของประเทศไทย โดยเจษฎา โลหะอุ่นจิตร พ.ศ. ๒๕๐๘ เช่นกัน ตามแผนที่นี้จะเห็นว่าถนนมายังแม่สะเรียงจากทางเชียงใหม่นั้นยังอยู่ระหว่างการสร้าง และเส้นทางเชื่อมระหว่าง ในแผนที่นี้ที่ระบุว่าเป็นแม่น้ำแม่เมย (Maemeay river) ทางมุมซ้ายบนของภาพ ที่ถูกควรจะเป็นแม่น้ำสาละวิน การใช้ลำน้ำเป็นเส้นทางเดินทางจากแม่สะเรียงมายังท่าแม่สอด ตามแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำเมย (แต่จากสภาพแม่น้ำที่เห็นคิดว่าคงได้เฉพาะบางช่วงฤดูกาลเท่านั้น)
   
รูปที่ ๔ แผนที่ประเทศไทย จัดทำโดยศูนย์แผนที่พรานนกวิทยา ต้นฉบับได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมปี ๒๕๕๔ ฉบับนี้น่าจะเป็นหลังปีพ.ศ. ๒๕๓๐ เพราะมีการวางแนวการก่อสร้างเส้นทางมอเตอร์เวย์ (ทางหลวงสาย ๗) ในแผนที่แล้ว
   
รูปที่ ๕ แผนที่ส่วนนี้นำมาจากหนังสือแผนที่ทางหลวงฉบับปีพ.ศ. ๒๕๓๕ จัดทำโดยกรมทางหลวง เดาว่าเป็นแผนที่ยุคเดียวกับแผนที่ในรูปที่ ๓ พึงสังเกตว่าเส้นทางจาก (1) อ.แม่สอด ผ่าน (2) อ. แม่ระมาด (3) อ.ท่าสองยาง (4) กิ่งอ.สบเมย ไปยัง (5) อ.แม่สะเรียง นั้นยังมีชื่อเป็นทางหลวงสาย ๑๐๘๕ อยู่ และถนนนั้นเป็นทางลาดยางไปแค่ บ้านท่าสองยาง เลยบ้านท่าสองยางไปยังสบเมยและแม่สะเรียงนั้นยังเป็นทางลูกรัง ส่วน (6) คือบ้านแม่สามแลบ ที่เป็นหมู่บ้านชายแดนของไทยที่ตั้งอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน
  
รูปที่ ๖ แผนที่ทางหลวงภาคเหนือ จัดทำโดยศูนย์แผนที่พรานนกวิทยา (ประมาณปีพ.ศ. ๒๕๕๐)
  





วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ภาพบันทึกชีวิตบัณฑิตศึกษา ๑-๑๐ MO Memoir : Thursday 21 May 2558

ชีวิตนิสิตบัณฑิตศึกษาค่อนข้างจะแตกต่างไปจากชีวิตนิสิตปริญญาตรีอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปแบบการเรียนและตารางเวลาเรียน ในขณะที่การเรียนในระดับปริญญาตรีนั้นมีตารางสอนเป็นตัวกำหนดว่าต้องเรียนวิชาไหน เมื่อใด แต่สำหรับนิสิตบัณฑิตศึกษาอาจจะไม่มีการเรียนวิชาใด ๆ เลยตลอดทั้งปี ทั้งนี้เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ทำวิจัย (ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสำเร็จการศึกษา) ได้อย่างเต็มที่
  
รูปต่าง ๆ ในชุดนี้เป็น ๑๐ รูปแรกที่นำมาลงในชุด "ภาพบันทึกชีวิตบัณฑิตศึกษา" ซึ่งเป็นภาพส่วนหนึ่งที่เก็บสะสมเอาไว้ ส่วนใหญ่จะเป็นภาพชีวิตการเรียนและการทำงานของนิสิตปริญญาโท (อาจมีปริญญาเอกร่วมด้วย) ของภาควิชาวิศวกรรมเคมี ในส่วนของห้องปฏิบัติการวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยา ซึ่งมีทั้งรูปบันทึก การเรียน การทำกิจกรรมร่วมกัน และบรรยากาศการทำการทดลอง 
  
วันที่ที่ปรากฏเหนือรูปแต่ละรูปคือวันที่นำรูปดังกล่าวเผยแพร่ใน blog ส่วนวันที่ถ่ายรูปและรายละเอียดของแต่ละรูปนั้น ปรากฏอยู่ที่คำบรรยายใต้รูป
  
วันศุกร์ที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๘
วันเสาร์ที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๑ ทริปของแลปตัวเร่งปฏิกิริยา อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพชรบุรี วันที่ที่ปรากฏในรูปนั้นเป็นวันที่ที่เอากล้องถ่ายรูปมาถ่ายรูปใบดังกล่าวอีกที (รูปเคลือบฟิลม์เอาไว้ พอสแกนใหม่ภาพไม่ค่อยสวย ก็เลยใช้วิธีเอากล้องดิจิตอลมาถ่ายรูปแทน เพื่อให้ได้ไฟล์ดิจิตอล)
   
วันจันทร์ที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๘

วันพุธที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๔ นิสิตป.โท กลุ่มวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยาโลหะออกไซด์ ขณะทำการปรับแต่ง reactor (เครื่องปฏิกรณ์) ของอุปกรณ์ทดลองระบบ Selective Catalytic Reduction (SCR) ของ NO ด้วย NH3 (ระบบการกำจัดแก๊ส NO ในแก๊สปล่อยทิ้งด้วยแอมโมเนีย)
  
วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๘
วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ นิสิตป.โท กลุ่มวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยาโลหะออกไซด์ขณะเตรียมการทดลองกับ fixed-bed catalytic reactor
  
วันอาทิตย์ที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๘
วันอังคารที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ บรรยากาศการเก็บกวาดพื้นที่ระหว่างการเตรียมที่ตั้งบูทของห้องปฏิบัติการวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยา เพื่อนำแสดงผลงานวิจัย ในงานจุฬาวิชาการ บริเวณลานข้างตึกจุลจักรพงษ์กับคณะวิทยาศาสตร์
  
วันพุธที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๘
วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๘ นิสิตป.โท กลุ่มวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยาโลหะออกไซด์ทำกิจกรรมยิงปืน (ปืนยาวลูกกรด .22LR) ที่สนามยิงปืน ค่ายลูกเสือวชิราวุธ ศรีราชา ชลบุรี (พักผ่อนหลังการไปนำเสนอผลงานวิชาการ ในที่ประชุมวิชาการทางวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย ที่พัทยา ชลบุรี)
  
วันจันทร์ที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๘
วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๗ งานจับฉลากปีใหม่ที่ห้องปฏิบัติการวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยา นิสิตป.โทกลุ่มวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยาโลหะออกไซด์ถ่ายรูปร่วมกับเลขานุการของแลป (รูปนี้ถ่ายด้วยฟิลม์ขาว-ดำ)
  
วันพุธที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๘
วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ นิสิตปริญญาโทระหว่างการทำการทดลอง
  
วันเสาร์ที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘
วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๘ นิสิตปริญญาโทปี ๑ จำนวน ๓ คน (ศิษย์เก่าจาก ๓ พระจอม คือ พระนครเหนือ บางมด และลาดกระบัง) ของกลุ่มวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยาโลหะออกไซด์ ขณะทำการประกอบระบบท่อที่ใช้ในการทดลอง 
   
วันอังคารที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๘
วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๓ ปาร์ตี้ทอดไข่เจียว (ทดสอบฝีมือว่าทอดไข่เจียวเป็นหรือไม่ ซึ่งพบว่าสอบตกเกือบทุกคน)
  
วันศุกร์ที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๘
วันพฤหัสบดีที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔ นิสิตปริญญาโทขณะกำลังตัดคอลัมน์แก้ว GC เพื่อให้ได้ระยะความยาวที่เหมาะสมสำหรับติดตั้งเข้ากับเครื่องแก๊สโครมาโทกราฟ Shimadzu GC-9A

วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ในซอกเล็ก ๆ ของลิ้นชักความทรงจำ MO Memoir : Wednesday 20 May 2558

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสวันครู มีคลิปวิดิโอโฆษณาชิ้นหนึ่ง ความยาวตลอดทั้งเรื่องประมาณ ๑๐ นาที ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถที่จะออกอากาศทางโทรทัศน์ได้ในครั้งเดียว คลิปวิดิโอนั้นมีชื่อว่า "อาจารย์ใหญ่ ครูผู้ให้ - The Everlasting Teacher"
   
บ่ายวันวาน ผมได้มีโอกาสได้ชมโฆษณาชิ้นนี้เต็มตลอดทั้งเรื่องอีกครั้ง ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่มีท่อนหนึ่งที่ผมประทับใจมาก คือท่อนที่เป็นข้อความในจดหมายที่กล่าวเอาไว้ว่า

".... ที่แรกที่คนตายจะเดินทางไปถึง คือการได้เข้าไปในความทรงจำของใครสักคน แต่จะเป็นความทรงจำที่ดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราปฏิบัติกับคน ๆ นั้น ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ....."
  

-------------------------------

"อาจารย์ อย่าเพิ่งไป ขอพูดอะไรด้วยหน่อย"

เขาเรียกผมเมื่อผมกำลังจะเคลื่อนรถออกไป หลังจากรับบัตรเข้าที่จอดรถจากเขา

"มีอะไรหรือครับ" ผมถามเขา

"ขอบคุณอาจารย์มากเลยค่ะ"

ประโยคนี้ของเขาทำเอาผมงง เขาจำผิดคนหรือเปล่า ก็ผมไม่เคยไปช่วยอะไรเขาเลย เจอหน้ากันก็ตอนรับบัตรเข้าอาคารจอดรถ หรือไม่ก็ตอนคืนบัตรเมื่อออกจากอาคารจอดรถ

"เรื่องที่อาจารย์เปิดกระจกรถลงจนสุด และกล่าวทักทายทุกครั้งที่เจอ"

-------------------------------

เมื่อปี ๒๕๓๗ เมื่อผมกลับมาทำงานใหม่ ๆ ต้องเข้ารับการอบรมบุคคลากรใหม่ อาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เคยทำหน้าที่เป็นผู้บริหารมหาวิยาลัยให้ข้อคิดว่า ทุกคนในหน่วยงานต่างมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ การปฏิบัติหน้าที่ของเขาก็เพื่อให้กิจกรรมต่าง ๆ มันเดินไปตามที่มันควรเป็น เมื่อเขาปฏิบัติหน้าที่ตามที่เขาได้รับมอบหมาย เราก็ต้องเคารพและให้เกียรติต่อการทำหน้าที่ของเขา แม้กระทั่งยามที่ทำหน้าที่แจก-รับบัตรให้กับรถที่วิ่งผ่านเข้า-ออกมหาวิทยาลัย (แต่ก่อนจะมีการแจก-รับบัตรให้กับรถที่ผ่านเข้าออกมหาวิทยาลัย แต่เพิ่งจะเลิกไปหลังการชุมนุมใหญ่ปี ๒๕๕๖) คนจำนวนไม่น้อยที่ขับรถผ่าน ทำเพียงแค่ลดกระจกลงเพียงนิดเดียวเพียงแค่ให้สอดบัตรผ่านได้ ทำเหมือนกับเขาไม่มีตัวตนในสังคม

-------------------------------

"อาจารย์จะไม่ดู portfolio ของผมหน่อยหรือครับ"
   
เป็นคำถามที่ผมได้ยินเป็นประจำเวลาสอบสัมภาษณ์นักเรียนที่สอบผ่านข้อเขียนเพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย เขาคงแปลกใจที่กรรมการสอบไม่ได้แสดงความสนใจใน porfolio รวบรวมผลงานของเขาเลย ทั้ง ๆ ที่เขาอุตส่าห์เตรียมมาเป็นอย่างดี (ตามความคิดของเขา)
  
นักเรียนที่ถามคำถามอย่างนี้มักจะโดนกรรมการถามคำถามกลับ และสิ่งที่เขาแสดงออกเมื่อได้ยินคำถามนั้นมันก็บอกอะไรต่อมิอะไรได้หลายอย่าง คำถามนั้นก็คือ
  
"ถามจริง ๆ เถอะ ถ้าทำแล้วไม่ได้ใบประกาศ จะทำไหม"

-------------------------------

"หนูเข้าใจคำพูดที่อาจารย์บอกไว้เมื่อ ๒ ปีที่แล้วแล้วค่ะ" นิสิตหญิงปริญญาโทปีสองกว่าผู้หนึ่งบอกกับผม
  
เมื่อสองปีก่อนหน้านั้น เมื่อเขากำลังจะจบการศึกษาระดับปริญญาตรี และกำลังคิดจะมาเรียนต่อระดับปริญญาโทที่ภาควิชา เขาได้มาคุยกับผมเรื่องเรียนต่อ สิ่งหนึ่งที่ผมบอกเขาไปก็คือ
  
"เรื่องความรู้ความสามารถของพวกคุณ ผมไม่มีข้อสงสัย เพราะปั้นเองมากับมือตั้ง ๓ ปี พวกคุณจะสมัครเรียนกับอาจารย์คนใดเขาก็พร้อมที่จะรับอยู่แล้ว เป็นตัวเลือกอันดับแรก ๆ ของพวกอาจารย์ด้วย แม้แต่ตัวผมเอง เว้นแต่ว่าช่วงที่ผ่านมาคุณจะเคยก่อเรื่องเอาไว้เยอะจนเขาไม่อยากจะรับ แต่การเรียนโทไม่เหมือนเรียนตรีนะ"
  
แล้วผมก็บอกเขาต่อไปว่า
  
"จากประสบการณ์ของผมเองที่ผ่านมา ทำให้บางครั้งที่ผมคิดว่า เราเก็บความทรงจำดี ๆ ที่มีต่อกันตลอดช่วงเวลา ๓ ปีที่ผ่านมาให้มันคงอยู่อย่างนั้นตลอดไปดีไหม ดีกว่าที่จะทำให้ไม่อยากจะเจอหน้ากันตลอดชีวิตเพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก ๒ ปีข้างหน้า"

-------------------------------

ในงานเลี้ยงรุ่นเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว เพื่อนคนหนึ่งร้องทัก
  
"นี่มึงพูด "ครับ" กับนิสิตด้วยเหรอ เด็กที่ไปทำงานด้วยมันเล่าให้ฟัง"
  
"ก็พูดอย่างนี้จนเคยชิน" ผมตอบกลับไป

-------------------------------

"ถึงเขาจะจากไป แต่เขาก็ยังคงอยู่นะอาจารย์" ผู้ที่นั่งข้าง ๆ ผมเอ่ยขึ้นในขณะที่กำลังฟังการสวดศพที่วัดหลักสี่เมื่อหลายปีมาแล้ว
  
"ใช่ครับ" ผมตอบกลับเพียงสั้น ๆ

-------------------------------

เมื่อเกือบ ๒๐ ปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศได้รับการสนับสนุนครุภัณฑ์เพื่อการเรียนการสอนและการวิจัยจากโครงการเงินกู้สองโครงการด้วยกัน ระยะเวลานั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ฝ่ายพัสดุที่ทำหน้าที่ประสานงานทั้งกับหน่วยงานภายนอก หน่วยงานภายใน ติดต่อกรรมการผู้ออกข้อกำหนด ผู้เปิดซอง ผู้ตรวจรับ ให้คำปรึกษาทางเทคนิค ฯลฯ ต้องทำหน้าที่ต่าง ๆ วุ่นวายไปหมด เพราะไม่เพียงแต่งานเอกสารที่มีเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัวอย่างกระทันหัน แต่ยังต้องรองรับอารมณ์ผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ที่พอไม่ได้ดังใจก็มาลงที่งานพัสดุ
  
ผมเองก็ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับงานดังกล่าว ในส่วนการออกข้อกำหนด การตรวจรับ และกรรมการทางเทคนิค ทำให้ได้มีโอกาสติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่หญิงสาวผู้หนึ่งของทางคณะ ที่เวลาไปติดต่อทีไรก็เห็นทำงานวุ่นอยู่ทุกที
  
แต่ไม่ว่างานที่อยู่ตรงหน้าของเธอนั้นจะวุ่นวายสักแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นมีให้กับทุกคนที่ต้องเข้าไปติดต่อด้วยก็คือ "คำพูดที่ไพเราะและรอยยิ้ม"
  
น่าเสียดายที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นต้องจบชีวิตก่อนเวลาอันควรจากอุบัติเหตุ แต่สิ่งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้ทำไว้ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่คือ "การบริจาคอวัยวะ" ให้ผู้อื่นที่ต้องการ เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้มีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ยืนยาวต่อไป

-------------------------------

"วันนั้นนึกไม่ถึงจริง ๆ นะว่าจะวนรถกลับไป" ภรรยาผมพูดถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นบนถนนสุขุมวิทช่วงจากบางแสนไปบางพระ หลังจากเกิดเหตุการณ์นั้นไม่กี่วัน
   
"ก็สิ่งที่ทำลงไปในวันนั้นมันไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี" ผมตอบกลับไป

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อหลายปีมาแล้ว ผมขอไม่เล่าว่ามันเป็นเรื่องอะไร แต่จะขอเก็บเอาไว้ในซอกเล็ก ๆ ของลิ้นชักความทรงจำของตัวเอง ว่าครั้งหนึ่งในชีวิตก็ได้มีโอกาสทำบางสิ่งบางอย่าง ที่ได้ทำให้ใครสักคนที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยพบปะอะไรกันมาก่อน ยิ้มได้ทั้งรอยยิ้มและแววตา

-------------------------------

วันนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็นวันสุดท้ายของชีวิตการเรียนในระดับปริญญาตรี และอาจเป็นวันสุดท้ายในชีวิตการเรียนของใครต่อใครอีกหลายคน สำหรับนิสิตป.ตรีรหัส ๕๔ ของภาควิชา เชื่อว่าแต่ละคนคงจะมีแผนการณ์ต่าง ๆ อยู่ในใจแล้วว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะทำอะไรต่อไป เป้าหมายในชีวิตของตนนั้นคืออะไร
  
แต่มีสิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้ให้กับทุกคนก็คือ
  
"อย่าลืมหาโอกาสทำอะไรบ้างบางอย่าง ที่มันจะทิ้งความทรงจำที่ดีเกี่ยวกับตัวคุณเองไว้ในหัวใจผู้อื่น"
  
ขอให้โชคดีทุกคน