วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ทำความรู้จักกระบวนการผลิตเอทิลีน ตอนที่ ๙ Charge gas compression ภาค ๑ MO Memoir : Sunday 29 May 2559

ห่างหายไปเกือบ ๒ เดือนกว่าจะกลับมาเขียนเรื่องนี้ต่อใหม่ แต่ก่อนอื่นเราลองมาทบทวนกระบวนการผลิตกันก่อนสักนิด เพื่อจะได้เห็นภาพเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เป็นข้อจำกัด เพราะมันส่งผลต่อการทำงานระหว่างหน่วย upstream และ downstream
 
ปฏิกิริยาการแตกตัวของไฮโดรคาร์บอนโมเลกุลใหญ่ไปเป็นเอทิลีนนั้นเกิดได้ดีขึ้นถ้าระบบมี "ความดันต่ำ" และหนึ่งในวิธีการที่ทำให้ความดันในการเกิดปฏิกิริยาต่ำนั้นก็คือการเติมไอน้ำเข้าไปในระบบเพื่อเจือจางไฮโดรคาร์บอนในระบบ
 
แต่ความดันที่ต่ำนั้นก็ส่งผลต่อการสลายตัวของผลิตภัณฑ์ไปเป็น coke (สารประกอบ polyaromatic rings) ที่เป็นของแข็งสะสมค้างในระบบท่อของ pyrolysis heater ด้วย โดยจะไปทำให้เกิด coke ได้มากขึ้น และเมื่อมี coke สะสมในระบบมากถึงระดับหนึ่ง ก็จำเป็นต้องมีการหยุดเดินเครื่อง pyrolysis heater เพื่อกำจัด coke ที่สะสม (กรณีของโรงงานที่มีกำลังการผลิตระดับ 230,000 tpa ที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ มี pyrolysis heater อยู่ด้วยกัน 7 ตัว)
 
แก๊สร้อนที่ออกจาก pyrolysis heater จะถูกลดอุณหภูมิให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วด้วยการผ่านเข้า transfer line exchanger เพื่อหยุดปฏิกิริยาการสลายตัวของผลิตภัณฑ์ และส่งต่อเข้า quench tower ที่ลดอุณหภูมิของแก๊สให้ต่ำลงด้วยการสัมผัสกับน้ำโดยตรง ดังนั้นแก๊สที่ผ่านออกมาจาก quench tower จะเป็นแก๊สที่อิ่มตัวไปด้วยน้ำ
 
จากนั้นจะทำการเพิ่มความดันให้กับแก๊สนั้นด้วยการใช้คอมเพรสเซอร์เพื่อส่งเข้าหน่วยกลั่นแยกต่อไป

และคำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือควรจะเพิ่มความดันให้สูงขึ้นเป็นเท่าใดดี

เวลาที่เราส่งของเหลวจากหน่วยหนึ่งไปยังอีกหน่วยหนึ่ง เป็นเรื่องปรกติที่เราจะต้องใช้ปั๊มช่วยในการส่ง (จะมียกเว้นบ้างการเช่นให้ไหลด้วยแรงโน้มถ่วง หรือใช้ความดันช่วยส่งจากภาชนะต้นทางไปยังภาชนะปลายทาง) เมื่อเทียบกับคอมเพรสเซอร์แล้ว ปั๊มนั้นราคาถูกกว่า การใช้งานและการบำรุงรักษาง่ายกว่าเยอะ ดังนั้นในกรณีถ้าเป็นแก๊สจะเป็นการดีกว่าถ้าเราสามารถออกแบบระบบให้มีความดันด้าน upstream ที่สูง และค่อย ๆ ลดต่ำลงไปเรื่อย ๆ ทางด้าน downstream เพื่อที่จะได้ติดตั้งคอมเพรสเซอร์เพิ่มความดันเพียงชุดเดียวทางด้าน upstream และปล่อยให้แก๊สนั้นไหลต่อไปได้เองไปทางด้าน downsteam ที่มีความดันต่ำกว่า
 
คอมเพรสเซอร์เป็นเครื่องจักรที่ซับซ้อนและราคาแพงกว่าปั๊ม ยิ่งเป็นคอมเพรสเซอร์เครื่องใหญ่ ๆ ด้วยแล้ว การมีคอมเพรสเซอร์อีกเครื่องหนึ่งเป็นเครื่องสำรองเหมือนกันเวลาติดตั้งปั๊มนั้นคงไม่มีใครทำ ด้วยเหตุนี้การทำงานของคอมเพรสเซอร์จึงต้องมีความสามารถในการไว้วางใจได้สูง (มี reliability สูง) เรียกว่าตัวคอมเพรสเซอร์เองต้องสามารถเดินเครื่องได้ต่อเนื่องยาวติดต่อกันนับตั้งแต่เริ่มเดินเครื่องไปจนถึงโรงงานมีการหยุดการเดินเครื่องเพื่อการซ่อมบำรุง (จะเรียกว่าควรต้องสามารถเดินเครื่องได้ตลอด 24 ชั่วโมงติดต่อกันทั้งปีก็ได้ ไม่ใช่แบบว่าผ่านไป 6 เดือนก็ต้องมีการหยุดเดินเครื่องเพื่อเปลี่ยนชิ้นส่วน)
 
ในกระบวนการผลิตเอทิลีนนั้น การแยกไฮโดรคาร์บอนต่าง ๆ ออกจากกันใช้กระบวนการกลั่นเป็นหลัก ในกระบวนการนี้จะทำการลดอุณหภูมิแก๊สเพื่อเปลี่ยนให้เป็นของเหลวก่อน จากนั้นจึงป้อนเข้าสู่กระบวนการกลั่นแยก เริ่มจากการแยกแก๊สเบาที่อุณหภูมิต่ำก่อน และค่อย ๆ แยกแก๊สที่หนักขึ้นเรื่อง ๆ ที่อุณหภูมิที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ
 
ทึ่ความดันสูง แก๊สจะควบแน่นเป็นของเหลวได้ที่อุณหภูมิที่สูงขึ้น ดังนั้นถ้าเราทำการกลั่นแยกแก๊สที่ความดันสูง เราจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายของระบบทำความเย็น คือไม่ต้องใช้ระบบทำความเย็นที่ทำอุณหภูมิได้ต่ำมาก ซึ่งส่งผลต่อการต้องใช้วัสดุที่สามารถทนอุณหภูมิต่ำได้ แต่เราจะไปสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการเพิ่มความดันให้กับแก๊สนั้น และค่าใช้จ่ายเรื่องตัวอุปกรณ์ที่ต้องรับความดันสูงได้นั้นแทน (เช่นตัวอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องมีผนังที่หนาขึ้น)
 
ระบบลดอุณหภูมิแก๊สให้ลดต่ำลงจนติดลบมาก ๆ นั้นมันได้มีแค่ระบบทำความเย็นเพียงระบบเดียวแบบที่เราเห็นกันในตู้เย็น แต่ประกอบด้วยระบบทำความเย็นหลายระบบทำงานประสานกัน กล่าวคือระบบทำความเย็นที่ลดอุณหภูมิลงต่ำไม่มากจะใช้ในการทำความเย็นให้กับสาร refrigerant ที่ใช้ทำความเย็นในระบบทำความเย็นที่อุณหภูมิต่ำลงไปอีก และเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการอุณหภูมิลดต่ำลงแค่ไหน ดังนั้นถ้าเราไม่ต้องลดอุณหภูมิให้ต่ำลงไปมาก ระบบทำความเย็นก็จะมีความซับซ้อนที่น้อยลงไปด้วย
 
ลองดูตัวอย่างของแก๊สมีเทน (methane CH4) ก็ได้ครับ ทึ่ความดัน 1 atm มีเทนจะควบแน่นเป็นของเหลวที่อุณหภูมิ -161.5ºC แต่ที่ความดัน 32.8 atm มีเทนจะควบแน่นเป็นของเหลวที่อุณหภูมิ -90ºC ในทำนองเดียวกันเอทิลีน (ethylene C2H4) ทึ่ความดัน 1 atm จะควบแน่นเป็นของเหลวที่อุณหภูมิ -103.7ºC แต่ที่ความดัน 32.8 atm เอทิลีนจะควบแน่นเป็นของเหลวที่อุณหภูมิ -6.1ºC 
  
หมายเหตุ : คำนวณอุณหภูมิจุดเดือดจากค่าความดันไอ โดย (จาก https://en.wikipedia.org)
มีเทนใช้สมการ log P(mmHg) = 6.61184 - 389.93/(266.00 + T(ºC))
เอทิลีนใช้สมการ log P(mmHg) = 6.74756 - 585.00/(255.00 + T(ºC))

อย่างที่ทราบกัน แก๊สเมื่อถูกอัดให้มีปริมาตรเล็กลงอย่างรวดเร็ว จะมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น และแก๊สที่มีอุณหภูมิสูงชอบที่จะขยายตัวเพิ่มปริมาตร ดังนั้นการอัดแก๊สให้มีความดันเพิ่มขึ้นจะประสบกับปัญหานี้คือเมื่อเราพยายามเพิ่มความดันให้กับแก๊ส แก๊สก็จะมีแรงต้านมากขึ้น (จากการที่มันมีอุณหภูมิสูงขึ้น) ด้วยเหตุนี้เพื่อที่จะลดแรงต้านทานดังกล่าว การเพิ่มความดันที่สูงให้กับแก๊สจึงไม่กระทำในขั้นตอนเดียว แต่จะประกอบด้วยขั้นตอนย่อย ๆ (stage) ตั้งแต่สองขั้นตอนขึ้นไป โดยก่อนที่แก๊สจะเข้าสู่ขั้นตอนการอัดขั้นตอนถัดไปนั้น จะมีการลดอุณหภูมิแก๊สให้เย็นลงก่อนที่จะถูกอัดเพิ่มความดันซ้ำ
 
centrifugal compressor ที่ใช้กันทั่วไปออกแบบมาเพื่อใช้ในการเพิ่มความดันให้กับแก๊ส ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับแก๊สที่มีหยดของเหลวหรืออนุภาคของแข็งแขวนลอยปะปนอยู่ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับตัวคอมเพรสเซอร์จึงจำเป็นต้องมีการแยกเอาอนุภาคหยดของเหลวหรือของแข็งที่แขวนลอยปะปนอยู่ออกไปก่อน วิธีการหนึ่งที่ใช้กันทั่วไปก็คือการติดตั้ง suction drum ซึ่งก็เป็นเพียงแค่ถังเปล่า ๆ ใบหนึ่ง อาศัยหลักการขยายพื้นที่หน้าตัดการไหลของแก๊ส เมื่อพื้นที่หน้าตัดใหญ่ขึ้น ความเร็วในการไหลก็ลดลง ทำให้หยดของเหลวหรืออนุภาคของแข็งที่แขวนลอยอยู่นั้นตกลงสู่เบื้องล่าง หรือในบางครั้งอาจมีการติดตั้ง mist eliminator เพื่อช่วยในการดักจับหยดของเหลวขนาดเล็ก หรือไม่ก็อาศัยการเปลี่ยนทิศทางกระทันหันของการไหล ซึ่งหยดของเหลวและอนุภาคของแข็งที่หนักกว่าจะไหลไปในทิศทางหนึ่ง ส่วนแก๊สที่เบากว่าก็จะไหลไปในอีกทิศทางหนึ่ง (คล้าย ๆ การทำงานของไซโคลน)
 
ในกรณีของปั๊มเรามีเรื่องของ Net Positive Suction Head หรือที่เรียกว่าย่อ NPSH (ที่เกี่ยวข้องกับความดันด้านขาเข้าปั๊ม) เป็นปัจจัยหนึ่งในการกำหนดความสามารถในการทำงานของปั๊ม ในกรณีของคอมเพรสเซอร์ก็เช่นกัน ความดันด้านขาเข้าหรือ suction pressure ก็เป็นตัวกำหนดความสามารถของคอมเพรสเซอร์ในการอัดแก๊ส ความดันด้านขาเข้าที่สูงจะช่วยให้แก๊สไหลเข้าคอมเพรสเซอร์ได้ดีขึ้น ยิ่งคอมเพรสเซอร์ที่มีอัตราการไหลที่สูงก็ยิ่งต้องการความดันด้านขาเข้าที่สูงขึ้นตามไปด้วย และถ้าความดันนี้ต่ำเกินไปก็จะทำให้คอมเพรสเซอร์เกิดการ surge (หรือ surging) ขึ้นได้ (ถ้ายังไม่รู้ว่า surge คืออะไร สามารถอ่านย้อนหลังได้ใน memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๗๘ วันเสาร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ เรื่อง "Centrifugal compressor กับการเกิด Surge และการป้องกัน"


รูปที่ ๑ ตัวอย่าง process flow diagram (PFD) ของระบบอัดแก๊ส 3 ขั้นตอนแรก (จากทั้งหมด 5 ชั้นตอน) ของโรงงานผลิตเอทิลีนแห่งหนึ่ง
 
เล่ามาถึงจุดนี้แล้วพอจะมองเห็นข้อขัดแย้งในการทำงานระหว่า pyrolysis heater กับคอมเพรสเซอร์หรือเปล่าครับ

ถ้าต้องการให้ปฏิกิริยา pyrolysis ของไฮโดรคาร์บอนดำเนินไปข้างหน้าได้ดี ความดันในการทำงานของ pyrolysis heater ก็ควรมีค่าต่ำ ตรงนี้มันส่งผลทำให้ความดันด้านขาออกจาก quench tower ที่อยู่ก่อนเข้าคอมเพรสเซอร์ต้องต่ำลงไปด้วย ซึ่งไปส่งผลต่อความสามารถในการดูดแก๊สเข้าของคอมเพรสเซอร์ ดังนั้นจึงต้องหาความสมดุลระหว่างความดันต่ำสุดที่ pyrolysis heater จะทำงาน ที่ทำให้ความดันแก๊สด้านขาออกจาก quench tower ก่อนเข้าคอมเพรสเซอร์นั้นยังคงสูงพอที่จะทำให้คอมเพรสเซอร์ทำงานได้อย่างราบรื่น 
  
นอกจากนี้โดยทั่วไปนั้นโรงงานจะมีหน่วย pyrolysis heater หลายหน่วยที่ส่งแก๊สมายัง quench tower เดียวกัน และไหลเข้าสู่คอมเพรสเซอร์เครื่องเดียวกัน แต่ในระหว่างการเดินเครื่องนั้นอาจต้องทำการหยุดเดินเครื่อง pyrolysis heater บางตัวเพื่อทำการ decoking (กำจัด coke ที่สะสมใน tube) ดังนั้นการออกแบบคอมเพรสเซอร์จึงต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงค่าอัตราการไหลที่เปลี่ยนแปลงไปตามจำนวน pyrolysis heater ที่เดินเครื่องอยู่ด้วย

รูปที่ ๑ เป็น process flow diagram (PFD) ของโรงงานผลิตเอทิลีนแห่งหนึ่งที่ใช้กระบวนการอัดแก๊ส 5 ขั้นตอนในการเพิ่มความดันแก๊สจากความดันประมาณ 1.38 bar.a ให้สูงขึ้นเป็น 37.4 bar.a (ความดันสัมบูรณ์) รูปที่นำมาแสดงเป็นเพียงแค่ 3 ขั้นตอนแรกของการอัด (เคยเห็นโรงงานที่สร้างภายหลังออกแบบกระบวนการอัดที่มีขั้นตอนการอัดเพียงแค่ 4 ขั้นตอน แต่ทั้งนี้จะมีกี่ขั้นตอนก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่าง ๆ ในการทำงาน) แก๊สที่มาจาก quench tower ที่อิ่มตัวไปด้วยน้ำ จะรวมเข้ากับแก๊สที่ไหลเวียนกลับมาจากหน่วยอื่น และไหลเข้า 1st stage suction drum เพื่อแยกเอาของเหลวออกก่อน (หยดน้ำและไฮโดรคาร์บอนหนัก) ที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการอัดขั้นตอนแรก แก๊สที่ผ่านการอัดในขั้นตอนแรกจะถูกลดอุณหภูมิและไหลเข้าสู่ 2nd state suction drum ที่ทำหน้าที่แยกของเหลวที่เกิดจากการควบแน่นออกก่อนที่แก๊สจะไหลเข้าสู่การอัดในขั้นตอนที่สาม และแก๊สที่ออกจากการอัดในขั้นตอนที่สองก็จะเข้าสู่การระบายความร้อนและการแยกของเหลวออกเช่นเดียวกันก่อนไหลเข้าสู่ขั้นตอนการอัดขั้นที่สาม
 
แก๊สที่ออกจากขั้นตอนที่สามนั้น ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนที่สี่จะมีท่อแยกป้อนแก๊สกลับไปยังด้านขาเข้าของขั้นตอนแรก (ท่อที่เรียกว่า minimum flow bypass) ท่อนี้มีไว้เพื่อป้องกันการเกิด surging กล่าวคือในกรณีที่ความดันด้านขาเข้าของคอมเพรสเซอร์ตัวแรกต่ำเกินไป หรืออัตราการของแก๊สที่มาจาก quench tower นั้นต่ำเกินไป (เช่นมีการหยุดเดินเครื่อง pyrolysis heater หลายตัว) ก็จะทำการเปิดวาล์วเพื่อให้แก๊สด้านขาออกจากขั้นตอนการอัดขั้นตอนที่สามไหลย้อนมายังด้านขาเข้าของขั้นตอนการอัดขั้นตอนแรก ด้วยวิธีการนี้จะสามารถคงปริมาณแก๊สที่ไหลผ่านระบบคอมเพรสเซอร์ให้คงที่ได้ แม้ว่าภาพโดยรวมแล้วปริมาณแก๊สก่อนเข้าระบบคอมเพรสเซอร์และที่ออกไปจากระบบคอมเพรสเซอร์จะลดลงก็ตาม
 
คอมเพรสเซอร์ชุดนี้ใช้ไอน้ำความดันสูงเป็นตัวขับเคลื่อน (ที่ระบุไว้ใน PFD คือไอน้ำที่ความดัน 1500 psi) โดยแต่ละขั้นตอนการอัดนั้นอยู่บนเพลาเดียวกัน

ส่วนที่ว่าทำไม่ต้องมีการระบุว่าอุณหภูมิแก๊สด้านขาออกจากขั้นตอนการอัดแต่ละขั้นตอนก่อนเข้าเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนนั้นจึงมีการกำหนดไว้ไม่ให้เกิน 93ºC เพราะมีเรื่องเสถียรภาพของแก๊สที่ทำการอัดเข้ามาเกี่ยวข้อง ตรงนี้ขอเก็บเอาไว้เล่าต่อในฉบับต่อไปก็แล้วกัน

วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

MO Memoir รวมบทความชุดที่ ๕ Questionnaire, Data sheets และ Flare system MO Memoir : Tuesday 24 May 2559

ทิ้งห่างไปเดือนกว่าเพิ่งจะได้มีเวลาทำฉบับรวมบทความชุดที่ ๕ คราวนี้เป็นการรวมเรื่องเกี่ยวกับแบบฟอร์มต่าง ๆ ที่นำมาจากเอกสารการอบรมเมื่อกว่า ๓๐ ปีที่แล้ว และปิดท้ายด้วยเรื่องระบบเผาแก๊สทิ้ง (Flare system) เพื่อให้ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่และเพิ่งจะเริ่มทำงานได้มีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเพิ่มเติมขึ้นมา รวม ๆ เนื้อหาแล้วก็ร่วม ๒๐๐ หน้าเหมือนเดิม
 
ขนาดไฟล์แม้ว่าจะลดความละเอียดของรูปให้เหลือ 30% เมื่อแปลงเป็น pdf แล้วก็ยังรู้สึกว่ามีขนาดใหญ่อยู่ ทั้งนี้คงเป็นเพราะไฟล์ต้นฉบับหลายไฟล์นั้นใส่ภาพที่ค่อนข้างจะละเอียดเพื่อรักษาความคมชัดเอาไว้ พอเอามารวมกันก็เลยได้ไฟล์ใหญ่หน่อย แต่คงจะไม่มีปัญหาถ้าหากคิดจะเซฟเก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือเอาไว้อ่านเล่นเวลาว่าง 

ส่วนเนื้อหาข้างในนั้นมีอะไรบ้าง ก็ขอเชิญอ่านจากไฟล์ที่แนบมาก็แล้วกัน

ดาวน์โหลดไฟล์ pdf กดที่ลิงก์นี้


 วันพุธที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๙ ปฏิบัติการเคมีวิเคราะห์นิสิตวิศวกรรมเคมีปี ๒ ตอนเรียนเย็น (บันทึกภาพตอน ๒๐.๓๐ น)

วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เมื่อความดันในถังเก็บของเหลวที่ความดันบรรยากาศ (Atmospheric tank) สูงกว่าความดันบรรยากาศ MO Memoir : Saturday 21 May 2559

เหตุการณ์ใน Memoir ฉบับนี้เป็นเหตุการณ์ที่ตรงข้ามกับฉบับเมื่อวาน โดยเป็นกรณีที่ความดันภายในถังเก็บของเหลวที่ความดันบรรยากาศ สูงกว่าความดันบรรยากาศมากเกินไปเรื่อง เนื้อหาและรูปต่าง ๆ ที่นำมาเล่ายังคงมาจากหนังสือ "What went wrong? Case history of process plant disasters" ของ Prof. Trever A. Kletz ที่กล่าวถึงเมื่อวาน
 
รูปที่ ๑ ฝาถังปลิวออกเนื่องจากการระเบิดภายในถัง โชคดีที่ตกลงบริเวณที่ว่างที่กว้างพอที่สามารถรองรับฝาถังทั้งฝาได้

เมื่อวานได้เล่าถึงวิธีการดันให้ฝาถังที่ยุบตัวค่อย ๆ คืนกลับสู่สภาพเดิมด้วยการใช้แรงดันน้ำ แต่วิธีการดังกล่าวก็ยังมีข้อต้องพึงระวังคือความดันภายในสูงสุดที่ใช้ในการออกแบบถัง ที่มักมีค่าอยู่ที่ประมาณ 8 นิ้วน้ำ ดังนั้นถ้าหากระดับน้ำในถังเมื่อวัดจากรอยต่อระหว่างลำตัวและฝาถังสูงเกินกว่า 8 นิ้ว ก็อาจทำให้ฝาถังฉีกขาดออกเนื่องจากความดันที่สูงเกินไปได้ (แต่การใช้น้ำ ถ้าหากความดันสูงเกินไป ฝาถังจะไม่ระเบิดปลิวออกเหมือนกับการใช้อากาศอัด)
 
โดยทั่วไปถังประเภทนี้จะมีท่อระบายอากาศ (ท่อ vent) อยู่บนฝาถัง ส่วนจะมีท่อให้ของเหลวที่เติมเข้าไปมากเกินไปนั้นไหลล้นออกมา (ท่อ overflow) หรือเปล่าคงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง (ถ้ามีท่อไหลล้น ท่อนี้ควรที่จะอยู่ใกล้ขอบด้านบนของส่วนลำตัว) ถ้าหากไม่มีท่อไหลล้น เมื่อเกิดการเติมของเหลวเข้าไปในถังมากเกินไป ของเหลวก็จะไหลล้นออกมาทางท่อระบายอากาศ ถ้าท่อระบายอากาศมีขนาดเล็กเกินไปเมื่อเทียบกับอัตราการไหลของของเหลวเข้าถัง และ/หรือระดับความสูงของท่อระบายอากาศสูงเกินไป (เมื่อวัดจากขอบผนังด้านบนของถังขึ้นมาจนถึงตำแหน่งสูงสุดของท่อ ไม่รวมส่วนวกกลับ) ก็มีโอกาสที่จะเกิดความดันที่สูงเกินกว่าที่ถังจะรองรับได้เกิดขึ้น (ตำแหน่งของท่อระบายแก๊สนี้มักจะอยู่บนฝาถังใกล้กับส่วนลำตัว เว้นแต่คาดว่าในถังอาจมีแก๊สไฮโดรเจน (หรือแก๊สที่เบากว่าอากาศ) เกิดขึ้น ก็จะต้องมีท่อระบายแก๊สที่ตำแหน่งสูงสุดของฝาถัง)
 
บทที่ ๕ เรื่อง "Storage tanks" ในหนังสือ "What went wrong?" ของ Prof. Kletz ได้กล่าวเตือนเหตุการณ์ overpressuring ด้วยของเหลวนี้เอาไว้ก่อนที่จะเล่าเรื่องวิธีการแก้ปัญหาฝาถังยุบตัว เพียงแต่ตอนที่เล่าวิธีการแก้ปัญหาฝาถังยุบตัวนั้นไม่ได้เอ่ยย้อนกลับไปให้คำนึงเรื่องการ overpressuring ด้วยของเหลว
 
รูปที่ ๒ ถังอาจเกิดปัญหาความดันในถังสูงเกินไป (overpressurising) เนื่องจากของเหลวได้ ถ้าหากขนาดของท่อระบายของเหลวไหลล้นนั้นเล็กเกินไป หรือความสูงของท่อระบาย (เมื่อวัดจากขอบบนของส่วนลำตัว ซึ่งเป็นจุดที่เชื่อมต่อกับฝาถัง) นั้นสูงมากเกินไป

Level glass เป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ใช้บ่งบอกระดับของเหลวในถังเก็บ ถ้าไม่รู้จักว่า level glass หน้าตาเป็นอย่างไร สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน Memoir ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๔๒ วันอาทิตย์ที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๕ เรื่อง "การวัดระดับของเหลวในถัง"
 
ถังเก็บของเหลวใบหนึ่งมีปัญหาเรื่องท่อให้ของเหลวไหลออกอุดตัน โอเปอร์เรเตอร์จึงคิดที่จะแก้ไขปัญหาด้วยการเพิ่มความดันให้กับของเหลวในถังด้วยการใช้แรงดันอากาศอัดเข้าไปในช่องว่างระหว่างผิวของเหลวกับฝาถัง โดยคาดหวังว่าความดันที่เพิ่มขึ้นจะช่วยดันให้สิ่งอุดตันในท่อหลุดออก วิธีการที่เขาทำก็คือเอาสายยางอากาศอัดความดันที่มีความดัน7 bargต่อเข้ากับปลายด้านบนของ Level glass (มันจะมี vent plug อยู่) จากนั้นก็เปิดให้อากาศอัดความดันไหลเข้าไปในถัง แต่ผลที่เกิดขึ้นคือฝาถังปลิวออกแทน

โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว ผมว่าเหตุการณ์ทำนองนี้บางทีก็ต้องเห็นใจผู้ปฏิบัติงานอยู่เหมือนกัน เป็นเรื่องปรกติทั่วไปที่คนที่ถูกฝึกมาเพื่อปฏิบัติงานกับคนที่ฝึกมาเพื่อออกแบบหรือก่อสร้างนั้นจะมีความรู้กันคนละด้านกัน (ทำนองเช่นคนขับรถแข่งได้เก่ง กับคนที่ออกแบบรถแข่งที่ดีได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเดียวกันนะ) นอกจากนี้เรายังอาจต้องพิจารณาด้วยว่าการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีเงื่อนไขจำกัดเรื่องเวลาด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะที่โรงงานกำลังเดินเครื่องอยู่ ซึ่งเป็นการยากที่จะต้องหยุดเดินเครื่องทุกครั้งเพื่อแก้ปัญหาอะไรสักอย่าง ในตัวอย่างนี้ผมคิดว่ามุมมองของผู้อ่านส่วนใหญ่คงคิดว่าการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำอีกก็คือควรให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานว่าอุปกรณ์นั้นรองรับความดันได้เท่าใด ซึ่งนั้นก็เป็นวิธีการหนึ่ง 
  
แต่ในอีกมุมมองของผมนั้นเห็นว่าควรที่จะต้องให้ผู้ออกแบบมีความรู้ด้วยว่าในระหว่างการทำงานนั้นอาจมีเหตุการณ์ใดที่อาจให้เกิดปัญหาขึ้นได้ และเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นั้นเกิด หรือถ้าเกิดขึ้นแล้วต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหา จึงต้องคำนึงถึงการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเอาไว้ในการออกแบบอุปกรณ์ (เช่นในกรณีที่คิดว่าท่อมีโอกาสอุดตัน ก็ต้องออกแบบให้มีเส้นทางสำรอง และในขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันไม่ให้เส้นทางสำรองอุดตันในระหว่างที่ยังไม่มีการใช้งานด้วย กรณีเช่นนี้ผมเคยเห็นกับระบบ slurry polymerisation บางระบบ)
 
รูปที่ ๓ การอัดอากาศอัดความดันเข้าทางปลายท่อเปิดด้านบนของ level glass โดยคาดหวังจะใช้ความดันอากาศช่วยดันสิ่งอุดตันในท่อให้ของเหลวไหลออก ส่งผลให้ฝาถังปลิวออก

ในกรณีที่ไม่ต้องการให้มีอากาศไหลเข้ามาในถังมากเกินไป (เช่นในกรณีของถังที่ใช้เก็บของเหลวที่เป็นเชื้อเพลิงต่าง ๆ ที่ไอของเหลวนั้นเมื่อผสมกับอากาศในสัดส่วนที่พอเหมาะแล้วเกิดการระเบิดได้) หรือไม่ต้องการให้ไอของเหลวในถังรั่วไหลออกมานอกถังมากเกินไป การติดตั้ง breather valve เข้าที่ท่อระบายอากาศก็สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง การทำงานของ breather valve นั้นวาล์วจะเปิดให้อากาศไหลเข้าถังเมื่อความดันในถังลดลงถึงระดับหนึ่ง และจะเปิดให้ไอระเหยในถังระบายออกเมื่อความดันในถังเพิ่มสูงถึงระดับหนึ่ง (แต่ระดับความดันทั้งสองก็ยังอยู่ในระดับที่ยังไม่ทำอันตรายต่อถัง) ซึ่งถ้าหากไม่มีการติดตั้ง breather valve แล้ว เมื่อความดันในถังลดลงต่ำกว่าความดันบรรยากาศนอกถัง อากาศก็จะไหลเข้าถังทันที และเมื่อความดันในถังสูงกว่าความดันบรรยากาศนอกถัง ไอระเหยของของเหลวในถังก็จะระบายออกสู่นอกถังทันที
 
ในกรณีที่เห็นว่าการไหลย้อนของอากาศเข้าไปในถังนั้นมีโอกาสก่อให้เกิดอันตรายมากกว่าการรั่วไหลของไอระเหยของของเหลวในถังออกมาข้างนอก (เช่นในกรณีของถังที่เก็บเชื้อเพลิงที่มีความดันไอค่อนข้างสูง อากาศที่ไหลเข้าไปในถังจะสะสมข้างในจนอาจถึงสัดส่วนที่พร้อมที่จะระเบิดได้ถ้าได้รับพลังงานกระตุ้น แต่ไอเชื้อเพลิงที่รั่วไหลออกมานอกถังจะฟุ้งกระจายออกไป ยากที่จะสะสมจนมีความเข้มข้นมากพอที่จะระเบิดได้) กรณีเช่นนี้ก็อาจทำการติดตั้งระบบจ่ายแก๊สเฉื่อย (เช่นไนโตรเจน) เข้าไปในถัง โดยเมื่อความดันในถังลดต่ำเกินไปก็จะปล่อยให้ไนโตรเจนไหลเข้ารักษาความดันเอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ breather valve เปิดระบายอากาศเข้า เว้นแต่ความดันในถังจะลดต่ำเร็วจนป้อนไนโตรเจนชดเชยไม่ทัน ก็จะยอมให้ breather valve เปิดรับอากาศเข้าสู่ภายในถังได้
 
รูปที่ ๔ ไอของสารที่เป็นเชื้อเพลิงที่อยู่ในถังบรรจุใบหนึ่ง ไหลย้อนผ่านทางท่อไนโตรเจนเข้าสู่ถังอีกใบหนึ่งที่อยู่ระหว่างการซ่อมบำรุง เมื่อช่างเชื่อมโลหะเริ่มการเชื่อมโลหะบนถังที่ทำการซ่อมบำรุง ความร้อนจากการเชื่อมทำให้ไอผสมเชื้อเพลิง-อากาศในถังที่ทำการซ่อมบำรุงเกิดการระเบิด ส่งผลให้ฝาถังปลิวออก (รูปที่ ๑)

โรงงานแห่งหนึ่งใช้ระบบดังที่กล่าวมาข้างต้นในการรักษาความดันให้กับถังเก็บเชื้อเพลิงใบหนึ่ง เมื่อความดันในถังลดต่ำลง Reducing valve ก็จะเปิดให้ไนโตรเจนไหลเข้าถัง และเมื่อความดันในถังเพิ่มสูงขึ้น Reducing valve จะปิดตัวและ Pressure/Vacuum valve จะเปิดออกเพื่อระบายความดันส่วนเกินออกไป

แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีไอระเหยของเชื้อเพลิงไหลย้อนเข้าไปในท่อจ่ายไนโตรเจนได้เช่นกัน

เมื่อโรงงานทำการก่อสร้างถังเก็บใบใหม่เพิ่มเติม โดยใช้ต่อไนโตรเจนต่อจากระบบท่อเดิม แม้ว่าถังยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างแต่ผู้รับเหมาก็ได้ทำการเชื่อมต่อท่อไนโตรเจนเข้ากับถังใบใหม่โดยปิดวาล์วไว้ ด้วยคิดว่าไนโตรเจนเป็นแก๊สที่ไม่อันตรายเพราะไม่ติดไฟ (แต่ก็เป็นแก๊สที่ทำให้คนตายเนื่องจากขาดอากาศมาเยอะแล้ว) แต่วาล์วตัวดังกล่าวมีการรั่วซึม ทำให้เมื่อความดันในถังเพิ่มขึ้น (จะเนื่องด้วยมีการสูบของเหลวเข้าถังหรืออุณหภูมิสูงขึ้นก็ตามแต่) ไอระเหยของเชื้อเพลิงจึงสามารถไหลย้อนเข้ามาทางท่อไนโตรเจนที่เชื่อมต่อกับถังใบเดิม และรั่วไหลเข้าสู่ถังใบใหม่ที่กำลังก่อสร้างอยู่ โดยที่ตัว Pressure/Vacuum valve ยังไม่เปิด ทำให้เมื่อช่างเชื่อมเริ่มทำการเชื่อมท่อขาเข้าที่อยู่ทางด้านล่างของถัง ก็เกิดการระเบิดขึ้นในถังที่ทำให้ฝาถังปลิวออกไป 
  
แล้วผลเป็นอย่างไรหรือครับ ตามรูปที่ ๑ นั่นแหละครับ โชคดีที่ตำแหน่งที่ฝาถังตกลงไปนั้นมันกว้างพอและ ณ เวลานั้นไม่มีใครไปปรากฏตัวอยู่ตรงนั้น

วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เมื่อความดันในถังเก็บของเหลวที่ความดันบรรยากาศ (Atmospheric tank) ต่ำกว่าความดันบรรยากาศ MO Memoir : Friday 20 May 2559

เนื้อหาในบันทึกฉบับนี้นำมาจากหนังสือที่เขียนโดย Prof. Trevor A. Kletz ๒ เล่มด้วยกัน
 
เล่มแรกคือ "What went wrong? Case history of process plant disasters" จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Gulf Publishing เล่มที่ผมมีเป็นการพิมพ์ครั้งที่ ๒ ในปีค.ศ. ๑๙๘๘ (พ.ศ. ๒๕๓๑) หนังสือนี้พิมพ์ครั้งแรกในปีค.ศ. ๑๙๘๕ [1]
 
เล่มที่สองคือ "Lessons from disaster. How organisations have no memory and accidents recur" จัดพิมพ์โดย Institute of Chemical Engineers ปีค.ศ. ๑๙๙๓ (พ.ศ. ๒๕๓๖) [2]
 
Prof. Kletz นั้นทำงานอยู่กับบริษัท ICI มาก่อน หลังจากที่เกษียณอายุแล้วจึงได้มาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Loughobrough ประเทศอังกฤษ
 
สำหรับผู้ที่กำลังเรียนหนังสืออยู่หรือเพิ่งจะเริ่มทำความรู้จัก Atmospheric tank ขอแนะนำให้อ่าน Memoir ๒ ฉบับก่อนหน้านี้ประกอบ เพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้น
ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๓๐๑ วันศุกร์ที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เรื่อง "การควบคุมความดันในถังบรรยากาศ (Atmospheric tank)"
ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๙๑๒ วันอาทิตย์ที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๗ เรื่อง "Breathe valve กับFlame arrester"
 
รูปที่ ๑ ถังใบนี้ถูกอัดด้วยความดันบรรยากาศในขณะที่ทำการระบายของเหลวออกจากถัง ทั้งนี้เป็นเพราะ flame arrester ที่ติดตั้งอยู่บนท่อระบายอากาศจำนวน ๓ ท่อไม่ได้รับการทำความสะอาดเป็นเวลานานกว่า ๒ ปี [2]
 
Atmospheric tank ส่วนใหญ่ออกแบบมาเพื่อรับความดันภายในไม่เกิน 8 นิ้วน้ำ (ความดัน 8 นิ้วน้ำไม่ใช่ความดันที่สูงเลย ขวดบรรจุน้ำดื่มขนาด 600 ml ก็มีความสูงกว่า 8 นิ้วแล้ว) และรับความดันสุญญากาศ (คือความดันภายในต่ำกว่าบรรยากาศ) ไม่เกิน 2.5 นิ้วน้ำ (ความดันที่ก้นถ้วยกาแฟ) ในทางวิศวกรรม ความดันต่ำ ๆ จะใช้หน่วยเป็นเทียบเท่าความสูงของน้ำ ส่วนจะเป็นนิ้วน้ำหรือเซนติเมตรน้ำก็แล้วแต่ประเทศผู้ใฃ้
 
เวลาที่ของเหลวไหลออกจากถัง ปริมาตรช่องว่างเหนือของเหลวจะเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องมีอากาศจากภายนอก (หรือแก๊สอื่น) ไหลเข้าไปข้างในเพื่อรักษาความดันภายในถังไว้ไม่ให้ต่ำเกินไป ไม่เช่นนั้นถังจะถูกแรงกดอากาศภายนอกบีบอัดให้ถังยุบตัว (ทั้งลำตัวและฝา) ในทางกลับกันเวลาที่มีการเติมของเหลวเข้าไปในถัง ปริมาตรช่องว่างเหนือของเหลวจะลดลง จำเป็นต้องให้อากาศ (หรือแก๊ส) ที่อยู่เหนือผิวของเหลวระบายออกไป เพื่อป้องกันไม่ให้ความดันภายในถังสูงเกินไป ไม่เช่นนั้นฝาถังจะถูกแรงดันภายในถังดันให้เปิดออก (การออกแบบถัง จะให้รอยเชื่อมต่อระหว่างลำตัวกับฝาถังเป็นจุดอ่อน เวลาที่ความดันภายในถังสูงเกินไปรอยเชื่อมนี้จะฉีกขาดก่อน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ส่วนลำตัวเกิดความเสียหาย ซึ่งจะทำให้ของเหลวที่บรรลุอยู่ภายในรั่วไหลออกมาภายนอกได้)
 
รูปที่ ๒ รูระบายอากาศ (vent) อุดตันเนื่องจากพอลิเมอร์ที่เกิดขึ้น [1] ของเหลวที่บรรจุอยู่ในถังได้รับการเติมตัวยับยั้ง (inhibitor) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการพอลิเมอร์ไรซ์ แต่ตัวยับยั้งนั้นอยู่แค่ในส่วนที่เป็นของเหลวเท่านั้น ไอระเหยของของเหลวในถังจึงมีโอกาสเกิดการพอลิเมอร์ไรซ์กลายเป็นของแข็ง และเมื่อเกิดขึ้นที่บริเวณรูระบาย จึงทำให้เกิดปัญหาในการรักษาความดันในถัง

ถังเก็บสารใบหนึ่งฝาถังเกิดการยุบตัวเนื่องจากความดันในถังลดต่ำลงเกินไป (เฉพาะส่วนฝาที่เกิดการยุบตัว ส่วนลำจตัวไม่ได้รับความเสียหาย) วิศวกรผู้ดูแลตัดสินใจที่จะทำให้ฝาถังกลับคืนสภาพเดิมด้วยการใช้ความดันน้ำ วิธีการของเขาก็คือทำการเติมน้ำให้เต็มถังก่อน เมื่อเขากลับมาตรวจการทำงานอีกครั้งหลังจากที่เติมน้ำเต็มถังแล้วก็พบว่าโอเปอร์เรเตอร์กำลังทำการต่อปั๊มไฮดรอลิกทำงานด้วยมือ (ที่ใช้ในการทดสอบความแข็งแรงของท่อ) เข้ากับตัวถัง เขาจึงสั่งให้ถอดปั๊มดังกล่าวออก แล้วก็นำท่อตรงยาวประมาณ 1 m มาต่อเข้ากับท่อระบายอากาศให้สูงขึ้นไปในแนวดิ่ง จากนั้นจึงค่อย ๆ ใช้สายยางเติมน้ำลงไปทางท่อที่ต่อเอาไว้อย่างช้า ๆ (รูปที่ ๓) และระหว่างที่ค่อย ๆ ทำการเติมน้ำเข้าไปนั่นเอง ฝาถังก็ค่อย ๆ ถูกดันกลับคืนสู่สภาพเดิม
  
รูปที่ ๓ การแก้ปัญหาฝาถังยุบตัวด้วยการเติมน้ำลงไปจนเต็มถัง จากนั้นต่อท่อในแนวดิ่งเข้าที่ท่อระบายอากาศ และค่อย ๆ เติมน้ำลงไปทางท่อที่ต่อเอาไว้อย่างช้า ๆ [1]

สิ่งที่ต้องการเพื่อให้ฝาถังกลับคืนสู่ตำแหน่งเดิมคือ "ความดัน" ซึ่งในที่นี้มีตัวเลือกอยู่ ๒ ตัวกันคือความดันจากของเหลวและความดันจากแก๊ส
 
โดยปรกติในเมื่อสร้างถังเสร็จนั้นก็จะทำการทดสอบความแข็งแรงของโครงสร้างและฐานรากด้วยการเติมน้ำเข้าไปจนเต็ม (แม้ว่าถังนั้นจะใช้บรรจุของเหลวที่มีความหนาแน่นต่ำกว่าน้ำก็ตาม) ดังนั้นการเติมน้ำเข้าไปจนเต็มถังจึงไม่ใช่ปัญหา (เพียงแค่ถ้าเป็นถังขนาดใหญ่ก็อาจจะเห็นว่ามันเปลืองน้ำเท่านั้นเอง) ของเหลวนั้นไม่สามารถอัดให้มีปริมาตรเล็กลงได้ ในขณะที่ค่อย ๆ เติมน้ำเข้าไปในถังนั้นความดันเหนือผิวของเหลวในถังจะเพิ่มขึ้น (ตามความสูงของน้ำที่อยู่ในท่อในแนวดิ่ง) และเมื่อปริมาตรในถังเพิ่มขึ้นเนื่องจากฝาถังถูกดันให้เคลื่อนตัวขึ้นข้างบน ความดันที่กระทำต่อฝาถังก็จะลดลงทันที ดังนั้นจึงเป็นเสมือนกับการค่อย ๆ ให้ความดันอย่างช้า ๆ ดันฝาถังกลับ

การใช้น้ำยังปลอดภัยกว่าการใช้อากาศอัดความดัน เพราะอากาศนั้นถูกอัดให้มีปริมาตรเล็กลงได้ เมื่อปริมาตรในถังเพิ่มขึ้นเนื่องจากฝาถังถูกดันให้เคลื่อนตัวขึ้นข้างบน ความดันที่กระทำต่อฝาถังจะไม่ลดลงในสัดส่วนเดียวกันกับปริมาตรที่เพิ่มขึ้น และถ้าใช้ความดันอากาศที่ความดันสูงเกินไป แทนที่ฝาถังจะค่อย ๆ ถูกดันกลับคืนสู่ตำแหน่งเดิมอาจกลายเป็นว่าฝาถังปลิวออกเนื่องจากความดันในถังนั้นสูงจนสามารถฉีกรอยเชื่อมระหว่างส่วนฝาถังกับลำตัวให้ขาดออกจากกันได้ ดังนั้นถ้าคิดจะใช้อากาศอัดความดัน จึงควรต้องคำนึงถึงประเด็นนี้ให้ดีด้วย

เรื่องนี้ยังไม่จบนะครับ  ยังมีต่อ

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

วตฺตา จ MO Memoir 2559 May 19 Thu

วตฺตา จ : รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไรอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษา
 
ข้อความข้างต้นผมนำมาจาก https://th.wikipedia.org/wiki/กัลยาณมิตร เป็นหนึ่งในคุณสมบัติ ๗ ข้อของ "กัลยาณมิตร" (กัลยาณมิตรธรรม 7)
 

เมื่อกว่า ๓๐ ปีที่แล้ว สำหรับนิสิตปี ๑ ของคณะเรา มีการซ้อมเชียร์กัน ๓ ช่วงเวลาด้วยกัน คือ "เชียร์เที่ยง" ที่จัดกันตอนเที่ยงหลังอาหารเที่ยง เลิกก่อนเข้าเรียนช่วงบ่าย เชียร์เที่ยงนี้เน้นไปที่การซ้อมร้องเพลงมหาวิทยาลัยและเพลงประจำคณะ หลังเลิกเรียนตอนเย็นก็มี "เชียร์เย็น" ที่เน้นไปที่การร้องเพลงเล่น สังสรรค์ เป็นการทำความรู้จักกันระหว่างรุ่นเดียวกันและรุ่นพี่ เชียร์เย็นนี้มักเป็นพวกที่ไม่ได้ไปเล่นกีฬาใด ๆ เป็นพวกทำหน้าที่เป็นกองเชียร์ให้กับนักกีฬา เพลงที่ร้องกันบางเพลงก็ออกทะลึ่งนิด ๆ แต่ไม่ถึงกับหยาบคายหรือหยาบโลน 
 
และสุดท้ายก็คือ "เชียร์ดึก" ที่มักจะจัดกันในซอบหลืบลับหูลับตาของคณะ
 
เพลงเชียร์ดึกนี้เรียกว่าเป็นเพลงที่ฟังแล้วไม่ต้องคิดอะไรมากเลยก็ได้ เพราะมันออกมาตรง ๆ ไม่อ้อมค้อม ไม่ต้องผวนคำ แต่การร้องเพลงเชียร์ดึกนี้มันก็มีกติกาของมันอยู่เหมือนกัน คือไม่ร้องให้ผู้หญิงได้ยิน ไม่นำไปร้องให้คนอื่นที่ผ่านไปผ่านมาได้ยิน เรียกว่าเหมาะสำหรับร้องกันในวงเหล้าหรือระหว่างหมู่เพื่อนฝูงที่สนิทกันมากกว่า ตัวเนื้อเพลงนั้นจะมีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือเปล่าผมเองก็ไม่ทราบ รู้แต่ว่ามันมีการสอนกันแบบปากต่อปาก จำต่อ ๆ กันมา
 
ผู้ชายวิศวสมัยนั้น แม้ว่าเมื่ออยู่ในกลุ่มเพื่อนสนิท สังสรรกันเองในสถานที่ที่ไม่มีคนอื่นภายเห็น ก็อาจจะเล่นกันแรง พูดจากันด้วยคำหรือประโยคแบบที่เรียกว่าคนภายนอกฟังแล้วอาจรับไม่ไหว แต่เขาก็รู้กันนะครับว่า คำพูดใด พฤติกรรมใด มันควรจำกัดอยู่ระหว่างเพื่อนฝูงที่สนิทกันเท่านั้น ไม่ควรนำมาเผยแพร่ข้างนอก (เพื่อนไม่แกล้งกัน) และถ้ามีใครสักคนกำลังจะทำอะไรที่ไม่เหมาะสม (เช่นการกระทำที่ทำให้ภาพลักษณ์ของตัวผู้กระทำเอง หรือสถาบันเกิดความเสียหาย ไม่ว่าการกระทำนั้นจะกระทำโดยตั้งใจหรือเผลอเรอก็ตาม ) ก็มักจะมีเพื่อนฝูงในกลุ่มคอยสะกิดเตือนกันว่าอย่าทำ 
  
นั่นเป็นเหตุการณ์สมัยที่สื่อสังคมออนไลน์ยังไม่เกิด
  
------------------------------
 
บางสิ่งบางอย่าง "ภาพนิ่ง" มันบอกไม่ได้ แต่ "คลิปวิดิโอ" นั้นมันบอกได้ 
  
เคยมีกรณีของนิสิตหญิงกลุ่มหนึ่งไปสังสรรค์กันระหว่างหมู่เพื่อนผู้หญิงด้วยกัน และมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย พอสนุกสนานกันได้ที่ก็มีการออกมาเต้นรำทำท่าทำทางกัน เท่านั้นยังไม่พอเพื่อนฝูงในกลุ่มรายหนึ่งไม่เพียงแต่ทำการบันทึกคลิปวิดิโอการเต้นนั้นเอาไว้ แล้วยังเอามาเผยแพร่บนหน้า facebook ของเขา แถมยังทำการ tag บุคคลที่ปรากฏอยู่ในคลิปวิดิโอดังกล่าว (ในคลิปเห็นได้ชัดว่าผู้ออกมาแสดงท่าทางคงจะมีอาการมึนเมาบ้างแล้ว) โชคดีของนิสิตหญิงคนที่ปรากฏตัวอยู่ในคลิปตรงที่เพื่อนคนอื่นใน facebook ของเขาพอเห็นคลิปวิดิโอนั้นเข้าก็รีบบอกให้นิสิตหญิงผู้นั้นไปบอกให้เพื่อนคนโพสคลิปนั้นรีบนำคลิปดังกล่าวออกจากหน้า facebook ซึ่งเพื่อนของเขาก็รีบดำเนินให้ตามคำร้องขอ

การโพสท่าถ่ายรูปบางท่าและ/หรือด้วยเครื่องแต่งกายบางรูปแบบนั้น สำหรับคนบางอาชีพถือได้ว่าเป็นเรื่องปรกติที่ทำกันทั่วไป แต่สำหรับคนจำนวนไม่น้อยแล้ว ด้วยหน้าที่การงานหรือบทบาทในสังคม การโพสท่าร่วมกับการแต่งกายเช่นนั้นมันดูไม่เหมาะสม
 
เคยมีกรณีของบัณฑิตหญิงรายหนึ่ง โพสท่าถ่ายรูปแต่งตัวออกแนว sexy นิด ๆ เรียกว่าถ้าเทียบกับภาพที่เหล่านางแบบหรือสาวพริตตี้ต่าง ๆ ขอบโพส รูปที่เขาโพสออก facebook ก็ยังดูเรียบร้อยอยู่ แต่ด้วยบทบาทหน้าที่การงานและทางสังคมของเขานั้น ภาพนั้นค่อนข้างจะสุ่มเสี่ยง โชคดีที่เขามีเพื่อนที่เห็นรูปดังกล่าวแล้วคิดว่ามันไม่ค่อยจะเหมาะสม จึงได้เตือนให้เขาลบรูปนั้นทิ้งไป รูปนั้นจึงหายไปภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่เขาโพส

--------------------------
 
กรณีที่ยกมาข้างต้นนั้นผมเห็นว่าสองคนนั้นโชคดีที่มีเพื่อนที่ดี ที่เห็นว่าถ้ามีการเผยแพร่ใด ๆ ที่สุ่มเสี่ยงอาจทำให้เจ้าตัวเกิดความเสียหายได้ (จะเนื่องด้วยสามารถทำให้ผู้อื่นที่เห็นเกิดความเข้าใจผิด หรืออาจมีการนำไปขยายผลในทางที่ผิดก็ตามแต่) ก็รีบทำการตักเตือนให้ยุติการเผยแพร่ดังกล่าว เพื่อนที่น่ากลัวกว่าคือพวกที่คอยยุส่ง (พวกที่โพสทำนองเช่น ไม่ต้องกังวล คนอื่นไม่เข้าใจนายไม่เป็นไร พวกเราเข้าใจนายดี มันต้องอย่างนี้ เจ๋งสุดยอด เอาอีก ฯลฯ) ใครที่เต็มไปด้วยเพื่อนพวกนี้ควรต้องระวังคำยุส่งของเขาให้ดี เพราะความเสียหายถ้าเกิดขึ้นแล้วมันเฉพาะเจาะจงลงไปที่ตัวผู้กระทำ คนที่คอยยุส่งไม่ได้รับผลกระทบนั้นไปด้วย และความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วนั้นมันยากที่จะแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากระทำโดยเผยแพร่ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ที่สามารถกระจายออกไปได้เร็ว ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ก็มีตัวอย่างเช่นนี้ให้เห็น
 
เวลาเล่น facebook จะกดไลค์กดแชร์ข้อความอะไรก็ตาม ก็ควรที่จะอ่านประโยคต่างๆ และการใช้คำในข้อความเหล่านั้นให้ดีเสียก่อน ถ้าคิดจะกดไลค์หรือกดแชร์ก็ควรพิจารณาด้วยว่าข้อความเช่นนั้นมันเหมาะที่จะให้ทุกคนที่เป็นเพื่อนกันอยู่บน facebook เห็นหรือไม่ หลากหลายข้อความนั้นมันใช้ภาษาที่เหมาะที่จะแบ่งปันกันในระหว่างเพื่อนฝูงที่สนิทกันจริง ๆ มากกว่าที่จะให้ทุกคนที่เป็นเพื่อนอยู่บน facebook เห็นหมด เพราะถ้าสิ่งที่กดไลค์หรือกดแชร์นั้นมันมีข้อความที่ไม่เหมาะสม คนอื่นที่มาเห็นเข้าคงห้ามไม่ให้คิดไม่ได้ว่านั่นเป็นตัวตนอีกด้านหนึ่งของเราที่เราเก็บซ่อนเอาไว้ไม่แสดงออกมาเวลาที่เจอหน้ากันตรง ๆ

อยู่ในสถาบันการศึกษายังมีครูบาอาจารย์ที่ทำหน้าที่คอยว่ากล่าวตักเตือน เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของเขา แต่อยู่ในสถานที่ทำงานนั้นแม้แต่เพื่อนกันก็ยังแทงข้างหลังกันได้ วิธีการหนึ่งที่เห็นใช้กันก็คือการยุส่ง อยากทำอะไรก็เชียร์ให้ลงมือทำไปเลย อย่าไปกังวลใด ๆ แต่ถ้าทำผิดพลาดเกิดเรื่องขึ้นมาแล้วจะคอยซ้ำเติม 
  
เหมือนเล่นตระกร้อนั่นแหละครับ ชงตั้งลูกให้ขึ้นสูงแบบสวย ๆ แล้วหาจังหวะเตะตบลงพื้นแรง ๆ

------------------------------
 
การเรียนในมหาวิทยาลัยมันทำได้อย่างมากแค่บอกว่าความรู้อยู่ที่ไหนบ้าง ไม่สามารถให้รายละเอียดได้ทั้งหมด มันมีสิ่งที่ต้องไปศึกษาเอาเองอีกเยอะ
 
ปัญหาคือเมื่อต้องไปค้นหาความรู้เอาเองนั้น มันมีแหล่งให้ค้นหรือเปล่า ในบ้านเราเมื่อสักกว่ายี่สิบปีที่แล้ว แหล่งข้อมูลมีจำกัดมาก ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็ยังไม่มีให้ค้น บริษัทใหญ่ ๆ ยังไม่มีต้นฉบับเอกสารมาตรฐานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการทำงานให้พนักงานได้มีโอกาสศึกษาเลย ดังนั้นวิศวกรสมัยนั้นแม้ว่าใครอยากจะทราบว่าแต่ละเรื่องมันมาได้อย่างไร บางทีเขาก็ไม่สามารถค้นได้ ไม่เหมือนคนที่ได้ไปเรียนต่างประเทศ ที่เป็นแหล่งต้นตอของข้อมูลที่สามารถสืบค้นได้ง่าย แต่วิศวกรรุ่นเก่า ๆ เหล่านั้นเขาก็แก้ปัญหากันมาได้ด้วยการใช้ประสบการณ์ และถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นด้วยวาจา ซึ่งมันทำให้ข้อมูลมันมีการผิดเพี้ยนหรือหายไปตามเวลา สมัยผมจบเข้าทำงานใหม่ ๆ ก็เรียนกันแบบนี้ คือเดินตามวิศวรุ่นพี่ แล้วเขาก็อธิบายการทำงานให้ฟังด้วยวาจา
 
วิศวกรบ้านเราเมื่อจบไปทำงานแล้ว การศึกษาก็ยังคงมีความจำเป็นอยู่อยู่ เพียงแต่อาจจะไม่ได้ลงลึกไปในบางด้าน อาจจะเน้นไปทางกว้างแทน หรือไม่ก็เฉพาะเจาะจงไปยังกระบวนการที่เขารับผิดชอบ นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวใหม่ ๆ ในอีกหลากหลายมิติให้ต้องศึกษา ดังนั้นจึงไม่แปลกที่พอถามอะไรเขาลึก ๆ ทางเทคนิคลงไปบางเรื่องแล้วเขาตอบไม่ได้ ยิ่งเป็นคนที่ไม่ได้จับงานด้านนั้นมานานด้วย เรื่องพวกนี้มันก็ลืมกันได้ และเมื่อเขาผ่านพ้นงานช่วงนั้นมาแล้ว เขาก็คงหาเวลายากที่จะกลับไปหาคำตอบที่ค้างคาใจ เพราะด้วยหน้าที่ของเขาทำให้เขามีปัญหาใหม่ที่ต้องแก้ไข

แต่บางครั้งการที่ใครสักคนตอบว่า "ไม่รู้" นี่ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่รู้นะครับ แต่เป็นเพราะว่าเขาอยากรู้ว่าคนที่ถามเขานั้น "รู้จริง" หรือเปล่า

ในฐานะที่ทำงานเป็นอาจารย์ผู้หนึ่ง ผมจะบอกนิสิตเสมอว่าถ้าเราเข้าใจ "หลักการ" เราจะสามารถมองเห็น "วิธีการ" ได้หลากหลายวิธี ดังนั้นการสอนนั้นจึงควรที่จะยก "หลักการ" ขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงค่อยยก "ตัวอย่างวิธีการ" เพื่อให้ผลออกมาเป็นไปตามหลักการนั้น ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนได้รู้ว่า มันยังมีวิธีการอื่นอีก การยกแต่วิธีการโดยไม่อธิบายถึงหลักการ ก็นำไปสู่การใช้ "สูตรสำเร็จ" ที่ทำให้ผู้รับรู้เข้าใจผิดได้ว่ามันใช้งานได้ในทุกกรณี ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่อันตราย 
  
และในเมื่อมันมีวิธีการเพื่อให้ได้ผลตามหลักการนั้นหลายวิธี ก็ควรที่ต้องบอกถึงข้อเด่น-ข้อด้อยของวิธีการต่าง ๆ เหล่านั้นด้วย บางวิธีการนั้นทำได้ง่าย แต่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้นต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ในขณะที่บางวิธีการนั้นวุ่นวายมากกว่า แต่มีความเสี่ยงต่ำกว่า จึงมีความปลอดภัยที่สูงกว่า แต่การจะเลือกใช้วิธีการไหนนั้น ก็ต้องคำนึงถึงสถานการณ์และสภาพแวดล้อม

สำหรับนิสิตปี ๔ ของภาควิชา เช้าวันนี้ก็คงเป็นวันสุดท้ายในชีวิตการเรียนระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยของพวกคุณ คงเหลือแต่รอฟังผลสอบเท่านั้น สิ่งที่อยากจะฝากไว้ก็คือขอให้มี "สติ" และใช้ "ปัญญา" ไตร่ตรอง ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรลงไป บางครั้งสิ่งที่เราคิดว่าเป็น "กระแส" ที่ใคร ๆ เขาทำกันนั้น เอาเข้าจริง ๆ อาจเป็นเพียงแค่คนส่วนน้อยเท่านั้นที่ทำ เพียงแต่เขาแสดงออกมาเยอะและใช้เทคนิคการนำเสนอชักจูงจนเราทำให้เราหลงไปได้ว่าคนส่วนใหญ่เป็นกัน ลองกลับไปดูที่ facebook ของพวกคุณ (ถ้ามี) ก็ได้ครับว่าคุณมีเพื่อนในนั้นกี่คน และมีสักกี่คนที่โพสข้อความต่าง ๆ เป็นประจำ

ขอให้ทุกคนโชคดี ประสบแต่ความสุขความสำเร็จในชีวิตหน้าที่การงานและครอบครัวต่อไป