วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ติดไว้ให้ใครอ่าน เปิดไว้ให้ใครชม MO Memoir : Satruday 30 June 2561


ภาพนี้ถ่ายเอาไว้เมื่อวันเสาร์เมื่อ ๔ สัปดาห์ที่แล้ว หลังจากที่ทางมหาวิทยาลัยมีการติดตั้งจอภาพ (โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่ออะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน) หลายต่อหลายที่ในมหาวิทยาลัยได้ไม่นาน
 
จุดติดตั้งบางที่ผมว่ามันก็ใช้ได้นะ คือมันอยู่ในสถานที่ที่คนมีเวลาที่จะรับรู้ข้อมูลทั้งหมดที่เขาต้องการสื่อ แต่บางที่เช่นที่ถ่ายมาให้ดูนี้ ผมว่ามันแปลก ๆ อยู่ตรงที่ มุมนี้มันไม่ใช่จุดที่มีคนมานั่งพักจับกลุ่มคุยกัน (ถ้าจะมีบ้างก็โน่น อาคารที่อยู่หลังจอภาพ) หรือป้ายหยุดรอรถ จะมีก็แต่คนเดินผ่านไปผ่านมา ก็เลยสงสัยว่าจะมีสักกี่รายที่จะรับทราบข้อมูลที่มีการแสดงบนจอดังกล่าวได้ครบถ้วน ก่อนที่เขาจะเดินผ่านไป
 
จากที่พบเจอกับตัว จอภาพที่แสดงภาพเคลื่อนไหวเหมาะสมครับสำหรับสี่แยกที่รถติดไฟแดงนาน ๆ เพราะมันทำให้คนที่อยู่บนรถมีอะไรดู บางสี่แยกนี้ยังเสียดายด้วยซ้ำที่มีโฆษณาไม่กี่ราย รถยังไม่ทันได้ไฟเขียวเลยก็วนกลับมาที่เดิมไม่รู้กี่รอบ แต่ถ้าเป็นป้ายโฆษณาติดข้างทางหลวงที่รถใช้ความเร็วสูงวิ่งผ่าน จะเห็นว่าเขาจะไม่มีการใช้ข้อความอะไรมากนัก เพราะผู้ที่เขาต้องการให้ได้รับข้อมูลนั้นมีเวลาไม่มากนักที่จะรับทราบข้อมูล ตัวหนังสือที่แสดงจึงมักมีขนาดใหญ่และไม่ได้มีมาก
 
เคยเห็นจอภาพของหน่วยราชการบางหน่วยที่เหมือนกันที่เห็นแล้วก็รู้สึกแปลก ๆ ตรงที่ใครจะไปรู้เรื่องว่าต้องการสื่ออะไร เพราะเหมือนกับเขาเอาสื่อประชาสัมพันธ์ที่ใช้สำหรับออกโทรทัศน์มาเปิด สื่อประชาสัมพันธ์ที่ใช้ออกโทรทัศน์นั้นมันมีบทสัมภาษณ์ได้ มีเสียงพูดบรรยายได้ แต่จอภาพที่ติดตั้งอยู่ข้างอาคารมันมีแต่รูป ไม่มีเสียง มันก็เลยเหมือนกับเปิดหนังใบ้เพื่อให้คนที่ผ่านมาเห็นเดาเอาเองว่าคนในหนังนั้นพูดอะไรกันอยู่
 
ทำให้ "เสร็จ" กับทำให้ "สำเร็จ" นั้นไม่เหมือนกัน ทำให้เสร็จนั้นมันก็เหมือนกับการทำเพื่อให้ได้ชื่อว่าได้ทำแล้ว โดยไม่สนว่าจะได้ผลอะไรออกมาหรือไม่ ส่วนการทำให้สำเร็จนั้นต้องไปคำนึงด้วยว่าจะได้ผลตามที่ต้องการเอาไว้หรือไม่ งานนี้ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใครเป็นคนกำหนดสถานที่ติดตั้ง และใช้เกณฑ์อะไรในการกำหนดสถานที่

วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2561

รู้ทันนักวิจัย (๑๒) พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยการใช้ตัวเลขสัดส่วน MO Memoir : Wednesday 27 June 2561

มีหลายหน่วยปฏิบัติการในโรงงาน ที่เมื่อแรกเริ่มเดินเครื่องนั้นจะมีประสิทธิภาพที่สูง แต่พอใช้งานไปเรื่อย ๆ ประสิทธิภาพการทำงานก็จะลดต่ำลง ในกรณีที่การลดลงนั้นเป็นไปอย่างช้า ๆ อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ก็อาจจะทำการออกแบบเผื่อเอาไว้ให้ระบบสามารถทำงานได้ไปจนถึงกำหนดเวลาหยุดเดินเครื่องโรงงาน แล้วจึงค่อยทำการเปลี่ยน แต่ถ้าการลดลงนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว (เอาเป็นว่าในระดับชั่วโมงหรือไม่กี่วัน) ก็ต้องพิจารณาการติดตั้งหน่วยสำรอง (โดยเฉพาะกรณีที่ไม่สามารถหยุดการทำงานของกระบวนการทั้งหมดได้) หรือหยุดเดินเครื่องกระบวนการ (ถ้าทำได้) เพื่อที่จะการฟื้นคืนสภาพการทำงานของหน่วยนั้นเป็นระยะ ตัวอย่างของหน่วยผลิตเหล่านี้ได้แก่ หน่วยผลิตที่มีการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีการเสื่อมสภาพ (แบบผันกลับได้ หรือ reversible deactivation) อย่างรวดเร็ว หอดูดซับ (Adsorber) ที่ใช้ตัวดูดซับที่เป็นของแข็งทำการดูดซับสิ่งปนเปื้อนออกจากของเหลวหรือแก๊สที่ไหลผ่านเบดสารดูดซับ หรือเครื่องกรอง (filter) ที่ใช้ในการแยกอนุภาคของแข็งออกจากของเหลวหรือแก๊ส
 
ในที่นี้ขอยกตัวอย่างโดยสมมุติว่าหน่วยปฏิบัติการนี้เป็น catalytic fixed-bed reactor ที่ใช้ในการทำปฏิกิริยาหนึ่ง ในระหว่างการใช้งานนั้นตัวเร่งปฏิกิริยาจะมีการเสื่อมสภาพ (deactivation) จึงจำเป็นต้องมีการฟื้นฟูสภาพ (regeneration) เป็นระยะเพื่อให้ได้ความว่องไวกลับคืนมา รูปที่ ๑ ข้างล่างเป็นข้อมูลสมมุติความว่องไวในการทำปฏิกิริยา (แกน y) ของตัวเร่งปฏิกิริยา ๓ ชนิดเมื่อเวลา (แกน x) ผ่านไป และความว่องไวที่ได้กลับคืนมาเมื่อทำการฟื้นคืนสภาพที่ระยะเวลาต่าง ๆ


รูปที่ ๑ การเปลี่ยนแปลงความว่องไวในการทำปฏิกิริยาของตัวเร่งปฏิกิริยา ๓ ตัวเมื่อเวลาผ่านไป
 
ตารางที่ ๑ ข้อมูลของกราฟในรูปที่ ๑
จากรูปที่ ๑ จะเห็นได้ว่าลำตัวความว่องไวของตัวเร่งปฏิกิริยาเรียงตามลำดับ A > B > C แต่ถ้าพิจารณาอัตราเร็วของการเสื่อมสภาพก็พบว่าอัตราเร็วในการเสื่อมสภาพของตัวเร่งปฏิกิริยานั้นเรียงตามลำดับ A > B > C เช่นกัน และแม้จะทำการฟื้นคืนสภาพก็พบว่าไม่สามารถกลับคืนไปยังสภาพเริ่มต้นของการใช้งานก่อนหน้าได้ แต่ถึงกระนั้นก็ตามจะเห็นว่าไม่ว่าที่เวลาใด ๆ ความว่องไวของตัวเร่งปฏิกิริยาก็ยังคงเรียงตามลำดับ A > B > C เสมอ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือสำหรับเครื่องปฏิกรณ์ที่มีขนาดและใช้น้ำหนักตัวเร่งปฏิกิริยาเท่ากัน และทำการเปรียบเทียบด้วยสภาวะการทำปฏิกิริยาเดียวกัน ตัวเร่งปฏิกิริยา A จะให้ "ปริมาณ" ผลิตภัณฑ์ได้มากที่สุด ในขณะที่ตัวเร่งปฏิกิริยา C จะให้ "ปริมาณ" ผลิตภัณฑ์ต่ำสุด
 
แต่ถ้าเปลี่ยนข้อมูลการนำเสนอเป็นในแง่ "เสถียรภาพ" (stability) หรือ "ความสามารถในการฟื้นคืนสภาพเดิม" แทน กล่าวคือแทนที่แกน y ของกราฟจะเป็นข้อมูลความสามารถที่แท้จริงในการทำปฏิกิริยา ก็แสดงในรูปของ "สัดส่วนความสามารถในการทำปฏิกิริยา" เมื่อเทียบกับความสามารถในการทำปฏิกิริยาเมื่อแรกใช้ หรือ y/y0 เมื่อ y คือค่าความว่องไวในการทำปฏิกิริยาที่เวลา t ใด ๆ และ y0 คือค่าความว่องไวในการทำปฏิกิริยาที่เวลา t = 0 แล้วนำมาเขียนกราฟใหม่ เราก็จะได้กราฟดังรูปที่ ๒
 
เห็นการเปลี่ยนแปลงไหมครับ
 
ถ้าว่ากันตามรูปที่ ๒ แล้วยกเอาคำว่า "เสถียรภาพ" มาเป็นตัวเปรียบเทียบก็จะเห็นว่าการลดลงของค่าความว่องไวเมื่อเทียบกับค่าที่เวลา "t = 0" เรียงตามลำดับ C < B < A หรือตัวเร่งปฏิกิริยา C นั้นมีเสถียรภาพสูงกว่าตัวเร่งปฏิกิริยา B และตัวเร่งปฏิกิริยา B มีเสถียรภาพสูงกว่าตัวเร่งปฏิกิริยา A
หรือถ้ายกเอาคำว่า "ความสามารถในการฟื้นคืนสภาพเดิม" โดยเทียบกับค่าที่เวลา "t = 0" ก็จะได้ข้อสรุปแบบเดียวกันคือตัวเร่งปฏิกิริยา C นั้นสามารถฟื้นกลับคืนสภาพเดิมได้ดีกว่าตัวเร่งปฏิกิริยา B และตัวเร่งปฏิกิริยา B สามารถพื้นคืนสภาพเดิมได้ดีกว่าตัวเร่งปฏิกิริยา A

คำถามก็คือ ถ้าคุณต้องเป็นผู้ตัดสินใจสิ่งที่จะเลือก "เอาไปใช้งานจริง" คุณควรที่จะพิจารณาข้อมูลตัวไหน ระหว่าง ประสิทธิภาพในการทำงานจริง (ที่เป็นข้อมูลดิบ) ความสามารถในการฟื้นคืนสภาพเสถียรภาพ หรือเสถียรภาพในระหว่างการใช้งาน (ที่สองพารามิเตอร์หลังใช้ข้อมูลที่ผ่านการปรับแต่งด้วยกระบวนการทางคณิตศาสตร์


รูปที่ ๒ กราฟการเปลี่ยนแปลงความว่องไว เมื่อแสดงในรูปของสัดส่วนความสามารถในการทำปฏิกิริยาที่เวลา t ใด ๆ เทียบกับเมื่อเริ่มใช้งานครั้งแรก

ตารางที่ ๒ ข้อมูลตัวเลขของรูปที่ ๒ ได้ได้จากการปรับค่าข้อมูลในตารางที่ ๑ ใหม่ โดยให้ค่าที่เวลา 0 มีค่าเป็น 1.000 (หรือเป็น 100%) แล้วเทียบค่าที่เวลาต่าง ๆ ว่าเป็นสัดส่วน (หรือกี่ %) กับค่าที่เวลา 0

วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2561

มองต่างมุม มองต่างเวลา (คิดสักนิดก่อนกดแชร์ เรื่องที่ ๑๒) MO Memoir : Sunday 24 June 2561

รูปข้างล่างมาจาก facebook ชื่อว่า Japan Inside ของวันที่ ๒๑ มิถุนายนปีนี้ โดยมีคำบรรยายภาพว่า "One day after Earthquake, osaka" ลองพิจารณาเอาเองก่อนนะครับว่ารู้สึกอย่างไร
 
รูปภาพต้นฉบับ มีขนาด 467 x 612 pixel

หลายครั้งที่พบว่าภาพทำนองนี้มักจะไม่มีการระบุสถานที่และเวลาที่บันทึกภาพเอาไว้อย่างชัดเจน จะว่าไปเขาก็ไม่ได้บอกด้วยว่าภาพไหนเป็นภาพที่ถ่ายก่อน และภาพไหนเป็นภาพที่ถ่ายทีหลัง แต่ถ้าให้เดาผมเดาว่า คนส่วนใหญ่จะคิดภาพแรกเป็นภาพที่ถ่ายหลังจากเกิด "แผ่นดินไหว" ที่แสดงให้เห็นถนนที่เสียหายจาก "แผ่นดินไหว" และภาพที่สองเป็นภาพที่ถ่ายในวันรุ่งขึ้น ที่แสดงให้เห็นว่าถนนได้รับการซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยแล้ว
 
ถ้าหากทั้งสองภาพนั้นเป็นภาพที่ถ่ายจากสถานที่จริงโดยไม่มีการตกแต่งด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ก็คงเชื่อได้ว่าเป็นภาพที่ถ่ายกันคนละเวลา แต่จะห่างกันเท่าใดนั้นคงจะบอกไม่ได้ และเมื่อลองมองดูจากสภาพแวดล้อมของถนนแล้วด้วย ทำให้เชื่อว่าภาพทั้งสองนั้นถ่ายจากจุดยืนที่ต่างกัน ทำให้ส่วนหนึ่งของถนนในรูปบนไม่ปรากฏในรูปล่าง



เริ่มจากตรงอาคารด้านขวาของรูปบน (1) ที่ในภาพล่างนั้นเห็นเพียงแค่บางส่วน การถ่ายภาพอย่างนี้ถ้าเป็นการถ่ายภาพด้วยมุมเลนส์กว้างเท่าเดิม แสดงว่าตำแหน่งการถ่ายภาพรูปล่างนั้นอยู่ด้านหน้าของการถ่ายภาพรูปบน ยิ่งมาเปรียบเทียบด้านซ้ายของภาพก็ยิ่งเห็นความไม่ลงรอยกัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่ต้นไม้มาจากไหน (ตรงนี้มีคนตั้งคำถามใน facebook ต้นเรื่องด้วยซ้ำ) แต่ก็อาจแก้ตัวได้ว่าเป็นเพราะมุมกล้องภาพบนนั้นไม่กวาดมาถึงทางเท้าด้านซ้าย แต่ภาพถนนรูปล่างนั้นแสดงให้เห็นชัดว่าถนนบริเวณริมทางเท้านั้นเป็นคอนกรีต โดยในภาพบนก็มีการปรากฏพื้นคอนกรึตให้เห็น (มีการลาดยางทับ) การบิดเบี้ยวของผิวจราจรในรูปบนแสดงให้เห็นว่าพื้นคอนกรีตข้างใต้ก็เสียหายด้วย กรณีของถนนลาดยางนั้นอาจทำให้กลับมาเรียบเหมือนเดิมได้ในเวลาแค่วันเดียว แต่กรณีของถนนคอนกรีตนั้นไม่ใช้ ยิ่งถนนคอนกรีตในรูปล่างด้วยแล้วทำให้ดูเหมือนว่ารูปล่างเป็นรูปที่ถ่ายก่อนรูปบนเสียอีก
 
เส้นกลางถนนสีเหลืองในรูปบน แสดงให้เห็นว่าพื้นผิวการจราจรไม่ได้แบนราบเป็นช่วงแนวยาว อย่างน้อยก็จากหลุมที่มีน้ำขังที่เห็นไปจนถึงบริเวณรถคันสีขาวที่จอดเยื้องตรงบริเวณกลางรูปค่อนมาทางด้านซ้ายในรูปบน ความเสียหายแบบนี้ถ้าจะซ่อมทีก็คงต้องรื้อพื้นผิวถนนเก่ากันตลอดทั้งแนวแล้วทำผิวจราจรใหม่ แต่ในรูปล่าง (3) จะเห็นว่ามันมีบริเวณที่พื้นผิวจราจรนั้นไม่ได้มีความเสียหายใด ๆ ซึ่งดูได้จากเส้นกลางถนนสีเหลืองที่อยู่ในสภาพเรียบร้อยดี นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ดูคล้ายเสาไฟฟ้าแรงสูง (4) ในรูปบน แต่ไม่ปรากฏในรูปล่าง ทั้ง ๆ ที่มันควรจะมองเห็นได้จากมุมกล้องในรูปล่าง และยังมีพื้นผิวที่ดูเหมือนเป็นผิวดินหน้าอาคารทางด้านขวาในรูปที่เห็นเป็นสีอ่อน แต่ในรูปล่างกลับเห็นเป็นสีเข้มเหมือนพื้นลาดยาง 
  
ความเสียหายจากแผ่นดินไหว (ถ้าจริง) ที่ทำให้พื้นถนนกลายเป็นลูกคลื่นพังยับเยิน แต่ไม่ยักทำให้ทางเท้าสองฝั่งถนน เสาไฟฟ้า และอาคารต่าง ๆ ในภาพได้รับความเสียหายเลย ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกเหมือนกัน

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ทำความรู้จัก Equipment schedule (๓) Heat exchanger MO Memoir : Tuesday 19 June 2561

ฉบับนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ Equipment schedule ของ Heat exchanger หรือเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน นิยามของเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนตรงนี้จะเป็นกรณีที่มี fluid สองชนิดมาแลกเปลี่ยนความร้อนกัน (คือไม่เอาพวก fire process heater หรือหม้อน้ำ (boiler) มารวม)
 
ตารางที่ ๔ (นับต่อจากตอนที่ ๑) เป็นตัวอย่างรายละเอียด Equipment schedule สำหรับ heat exchanger และเช่นเคย เราลองมาไล่ดูทีละหัวข้อไปเรื่อย ๆ ก็แล้วกัน
 
"Item no." คือรหัสชื่อ heat exchanger ถ้าตกลงว่าจะเรียกว่า E (คือย่อมาจาก exchanger) ก็อาจใช้ตัวย่อว่า E เช่น E-202 แต่ถ้าตกลงว่าจะเรียกว่า HE (คือย่อมาจาก heat exchanger) ก็อาจใช้ตัวย่อว่า HE เช่น HE-202 ซึ่งตรงนี้ก็ไปตกลงกันเอาเองในหน่วยงาน
 
"Service name" คือให้ระบุว่า heat exchanger ดังกล่าวทำหน้าที่อะไร เช่นเป็น steam condenser, overhead condenser, off-gas cooler, economizer, air coolerเป็นต้น
 
"No. required" ให้ระบุจำนวนที่มี
 
"Type & Installation" ตัว Type ให้ระบุว่าเป็น heat exchanger แบบไหน เช่น shell & tube, double pipe, plate, fin tube (ที่ใช้กับ air cooler) เป็นต้น ส่วน Installation ให้ระบุรูปแบบการวาง ว่าเป็นในแนวตั้ง (vertical) หรือแนวนอนhorizontal)
 
"Duty/Heat transfer area" คือให้ระบุปริมาณความร้อนที่ต้องการแลกเปลี่ยนหรือพื้นที่ผิวของการแลกเปลี่ยนความร้อน
 
ช่อง "Dimension" ให้ระบุมิติคือขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอกของส่วน Shell/Channel (ส่วน tube ไม่ต้องระบุเพราะมันถูกส่วน shell หุ้มเอาไว้) และความยาวรวม (Total length)
 
ช่อง "Fluid" คือให้ระบุของไหลที่ไหลผ่าน SS คือ Shell side ส่วน TS คือ Tube side
 
"Operating condition" คือสภาวะการทำงานตามปรกติ ให้ระบุแยกเป็นความดันในส่วนของ shell และ tube ส่วนอุณหภูมิให้ระบุทั้งอุณหภูมิด้านขาเข้าและขาออกของทั้งส่วน shell และส่วน tube
 
"Design" คือให้ระบุค่าที่ใช้ในการออกแบบไม่ว่าจะเป็นของส่วน shell และส่วน tube
 
"Emergency vacuum" คือให้ระบุว่าจำเป็นต้องมีระบบฉุกเฉินป้องกันการเกิดสุญญากาศภายในหรือไม่ เช่นในกรณีที่มีไอน้ำเป็นของไหลแลกเปลี่ยนความร้อน เมื่อไม่มีการไหลของไอน้ำหรือไอน้ำในระบบควบแน่น จะทำให้เกิดสุญญากาศขึ้นภายใน จนอาจทำให้ตัวอุปกรณ์เกิดความเสียหายได้จากแรงดันภายนอกที่กระทำ
 
ถัดไปคือการระบุวัสดุที่ใช้ทำ ตัว "Tube sheet" คือแผ่นที่ใช้สำหรับสอด tube ผ่านเพื่อรองรับน้ำหนักตัว tube และให้ตัว tube (ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก) เรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ (คือรักษาระยะห่างระหว่าง tube เอาไว้ตลอดทั้งช่วงความยาวของ tube)
 
"Corrosion allowance" คือระดับการกัดกร่อนที่ยอมรับได้ โดยแยกเป็นส่วน shell (หรือช่องทางการไหลด้านนอก) ส่วน tube และส่วน tube sheet
 
"Insulation" คือจำเป็นต้องหุ้มฉนวนหรือไม่ ส่วนจะเป็นฉนวนร้อนหรือเย็นก็ไม่จำเป็นต้องระบุ เพราะมันดูได้จากช่อง operating condition อยู่แล้ว
 
ตารางที่ ๔ ตัวอย่าง Equipment schedule สำหรับ heat exchanger


"Approx weight" คือน้ำหนักโดยประมาณ ในที่นี้แยกเป็นหนักหนักเปล่ารวมมัดท่อ (ช่อง "Empty incl bundle") หรือเรียกว่าเป็นน้ำหนักประกอบรวมทั้งชุดเมื่อไม่มีของเหลวบรรจุก็ได้ น้ำหนักของมัดท่อ (ช่อง "Bundel") ที่ใช้สำหรับกรณีของเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนชนิด shell & tube ที่สามารถถอดส่วน tube ทั้งชุดออกมาจากตัว shell ได้ (เอาไว้เผื่อตอนซ่อมบำรุง) และน้ำหนักเมื่อมีน้ำบรรจุเต็ม (ช่อง "Full of water") เพื่อเอาไว้สำหรับการออกแบบฐานรองรับ
 
"Supplier" คือผู้ผลิตถังนั้น 
  
"Remarks" คือหมายเหตุ คือมีอะไรเป็นพิเศษที่ไม่ตรงกับช่องที่มีอยู่ ก็ให้มาเขียนไว้ที่นี่ เช่นอาจเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนที่จำเป็นต้องติดตั้งในระดับที่อยู่เหนือหรือต่ำกว่าระดับของบาง vessel

เสร็จจาก Memoir ฉบับนี้ก็จะหายหน้าหายตาไปพักนึง ด้วยว่าต้องไปสัมมนาต่างจังหวัดกับภาควิชา จะกลับมาเขียนอะไรอีกทีก็คงเป็นสัปดาห์หน้า (เว้นแต่ว่าระหว่างสัมมนาจะมีเรื่องอะไรน่าสนใจ หรืองานสัมมนามันน่าเบื่อ ก็อาจมีบทความเพิ่มเติมในระหว่างนั้นก็ได้) และปิดท้ายที่ว่างของหน้าด้วยภาพบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยที่เพิ่งจะถ่ายเมื่อตอนเดินกลับจากทานข้าวเที่ยงวันนี้

วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เก้งที่ห้วยกระพร้อย เสือสมิงที่หนองบัว MO Memoir : Saturday 16 June 2561

ตอนที่อ่านมาถึงบทเรื่อง "เก้งที่ห้วยกระพร้อย" ก็รู้สึกคุ้นชื่อสถานที่ขึ้นมา ก็เลยตรวจสอบดูหน่อยว่าใช่ที่เดียวกับอ่างเก็บน้ำห้วยกระพร้อยที่ได้ไปมาเมื่อวันสิ้นปี ๒๕๖๐ ที่ผ่านมาหรือเปล่า และเมื่อตรวจสอบสถานที่ต่าง ๆ ที่มีการกล่าวถึงในหนังสือกับแผนที่ปัจจุบัน ก็เชื่อได้ว่าเป็นสถานที่เดียวกัน
 
หนังสือ "ป่าสมิง" ที่เขียนโดยนักเขียน ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ เล่มนี้ซื้อมาจากงานสัปดาห์หนังสือเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๘ นักเขียนท่านนี้ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็จะมีอายุครบรอบ ๑๐๐ ปีในเดือนหน้า วันนี้ก็เลยลองขอแกะรอยสถานที่ต่าง ๆ ที่มีการกล่าวไว้ในหนังสือเล่มนั้น เทียบกับแผนที่ปัจจุบันจาก google map


ผมไป อ. บ่อพลอย จ. กาญจนบุรี ครั้งแรกก็น่าจะเมื่อกว่า ๒๐ ปีที่แล้ว ตอนนั้นไปธุระกับญาติที่ห้วยกระเจา เห็นว่ายังพอมีเวลาอยู่ก็เลยขับรถต่อไปยังถ้ำธารลอด จำได้แต่เพียงว่าถ้ำธารลอดตอนนั้นยังไม่มีทางเดินแบบในปัจจุบันที่เดินได้อย่างสบาย ต้องเดินลุยน้ำเข้าไป แผนที่การเดินทางครั้งนั้นก็มีแค่แผนที่ทางหลวงประเทศไทยของ Esso ฉบับเดียว
 
ไปถ้ำธารลอดอีกทีก็เมื่อวันสิ้นปีที่ผ่านมา ครั้งนี้แตกต่างไปจากครั้งที่แล้วมาก เพราะมี GPS คอยบอกตำแหน่งว่าขับมาถึงไหนแล้ว แถมยังสามารถดูแผนที่ได้จากโทรศัพท์มือถืออีกว่ามีเส้นทางไหนเป็นเส้นทางลัดบ้าง แต่ถึงกระนั้นก็ยังพบว่า google map ก็ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป เพราะตรงห้วยกระพร้อยนั้นตอนนี้มันเป็นอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำเต็มอ่าง แต่ในแผนที่ยังคงเป็นไร่ โดยอ่างเก็บน้ำเพิ่งจะเริ่มก่อสร้าง

มาวันนี้จะลองใช้หนังสือเล่านี้เป็นหลัก เทียบกับแผนที่ google map ในปัจจุบัน เพื่อที่จะตามรอยผู้เขียน (ในที่นี้หมายถึงคุณ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์) ว่าเดินทางผ่านถิ่นใดบ้าง และสภาพภูมิประเทศของเส้นทางในยุคสมัยนั้นเป็นอย่างไร ข้อความสีน้ำเงินคือข้อความที่คัดมาจากหนังสือ "ข้าพเจ้า" ในข้อความดังกล่าวก็คือตัวผู้เขียน

... ป่าสูงที่เราจะมุ่งหน้าเข้าไปนี้ ไม่มีคณะนิยมไพรคณะใดเข้าไปกันเลย ...
ในบท "เตรียมผจญภัย" ผู้เขียนเล่าถึงจุดหมายปลายทางที่จะเดินทางไป ตามเนื้อเรื่องนั้นการเตินทางเกิดขึ้นในช่วงปลายฤดูหนาว คือปลายเดือนกุมภาพันธ์ต่อต้นเดือนมีนาคม เสียดายที่ไม่มีรายละเอียดว่าเป็นช่วงปี พ.ศ. ใด รู้แต่ว่าออกจากกรุงเทพตอนตี ๕ วิ่งไปตามถนนเพชรเกษม ผ่านสะพานโพธิ์แก้ว (คิดว่าคงเป็นสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนที่ อ. สามพราน) ก็สามารถไปถึง อ. ท่าม่วง จ. กาญจนบุรีได้ตอน ๗ โมงเช้า เป็นเวลาที่ตลาดท่าม่วงเต็มไปด้วยผู้คนที่มีจับจ่ายซื้อสิ่งของ

... สภาพของพื้นดินที่เราผ่านเข้าไปนั้นบอกให้รู้ว่า มันเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความกันดารอย่างยิ่งยวด และร้องแรงแห้งเกรอะมาเป็นเวลานานทีเดียว เราเห็นต้นหญ้าที่ถูกห่อหุ้มด้วยฝุ่นสีแดงจับเขรอะอยู่ทั่วไป ใบของมันก็แสดงความอับเฉาและกร้านเกรียน สีเขียวที่ยังเห็นอยู่นั้นอาศัยจากหยาดน้ำค้างประพรมในตอนกลางคืนซึ่งคงจะลงหนัก เป็นการช่วยประคองชีวิตของมันให้ยืนยงคงทนอยู่ได้ ...
จากท่าม่วง ผู้เขียนไม่ได้เล่าอะไรมากนัก บอกแต่เพียงว่า "จี๊ปกลางก็ตะบึงลงจากถนนใหญ่วกเข้าไปสู่ถนนดินลูกรังที่จะมุ่งไปสู่ทุ่งนางหลอก และลำตะเพินนั้นคลุ้งไปด้วยฝุ่นแดง" และเรื่องก็ดำเนินเข้าสู่ตอน "ทุ่งนางหลอก" และ "บ่อพลอยเมืองกาญจน์"
"ทุ่งนางหลอก" ที่กล่าวถึงในหนังสือน่าจะเป็น "ทุ่งนานางหรอก" ในปัจจุบัน เพราะมีการกล่าวถึงการเดินทางข้ามลำน้ำลำตะเพิน ก่อนจะมุ่งหน้าสู่ "มะสัง" และ "หนองกระทุ่ม" และ "หนองยั้งช้าง" และเข้าสู่ อ. บ่อพลอย เส้นทางระหว่างหนองกระทุ่มและหนองยั้งช้างนี้ผู้เขียนบรรยายไว้ว่าเป็นที่ราบกว้างและลุ่ม สามารถปลูกข้าวได้ อนึ่ง "หนองยั้งช้าง" ในปัจจุบันดูเหมือนจะเป็น "หนองย่างช้าง" ไปแล้ว เรียกว่าความหมายเป็นคนละเรื่องเลย จาก "ยั้ง" ที่หมายความว่าหยุด กลายมาเป็น "ย่าง" ที่เป็นการทำให้สุกด้วยการนำเอามาวางไว้เหนือไฟ

... ข้าพเจ้าได้ชี้แจงความประสงค์ที่ผ่านเข้ามารบกวนโดยจำเป็นจะต้องอาศัยครัวของแกเป็นการชั่วคราวสักมื้อหนึ่ง หญิงผู้นั้นตอบรับด้วยความเต็มอกเต็มใจและเชื้อเชิญพวกเราให้ขึ้นไปบนบ้านกัน น้ำใจไมตรีของชาวบ้านในป่าในดงนั้นโอบอ้อมต่ออาคันตุกะของเขายิ่งนัก ซึ่งในเมืองนั้นมักจะไม่ค่อยพบกับการต้อนรับคนแปลกหน้าในทำนองนี้ ...
การเดินทางออกจาก อ. บ่อพลอย ตอน ๗ โมงเช้า อาศัยการขับรถมาตามทางเกวียน มุ่งหน้าขึ้นเหนือตัดผ่านป่ารวกและป่าไผ่ (บท "พรานวา-พรานนำ") มาถึงบ้านลำเหยในตอนบ่าย เส้นทางบ่อพลอย-บ้านลำเหยนี้ถ้าดูตามถนนปัจจุบันก็น่าจะราว ๆ ๑๕ - ๒๐ กิโลเมตร เรียกว่าขับรถไปถึงกันได้ในเวลาไม่ถึง ๒๐ นาที แต่ในยุคที่เป็นทางเกวียน (แถมยังมีการยิงสัตว์เล็กเก็บไว้เป็นเสบียงด้วย) ก็หมดไปครึ่งวัน สภาพของหมู่บ้านลำเหยและนิสัยใจคอของชาวบ้านแห่งนั้น ผู้เขียนได้บรรยายไว้ในตอน "พรานเยี่ยมแห่งโป่งรี" ที่ได้คัดส่วนหนึ่งมาแสดงไว้ข้างบน

... ห่างออกไปเล็กน้อยลำห้วยกว้างพอสมควรมีน้ำใสไหลรินอยู่ตลอดเวลา ระดับน้ำสูงพอที่จะตักตวงมาใช้ได้อย่างสะดวกสบายไม่ขาดแคนล เต็นท์ของเราหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทางด้านหลังออกไปเป็นเขาลูกเล็ก ๆ ซึ่งพรานเยี่ยมบอกว่าชื่อ "เขาจ้าว" ห้วยที่เราเห็นเคียงข้างเต็นท์นี้มีชื่อว่าห้วยอีซู ...
จากบ้านหนองรี ในที่สุดคณะผู้เขียนก็เดินทางมาถึงจุดตั้งค่ายบริเวณลำอีซู (ตอน "ลำอีซู") ที่เป็นลำน้ำไหลมาจากทางเขากำแพงที่อยู่ทางทิศตะวันตก
  

... เราบุกมาถึงห้วยกระพร้อย
ผ่านไปตามแนวป่าโปร่งชายทุ่ง พรานวาฉายไปจับตาสัตว์ที่เห็นในระยะไม่ถึง 50 เมตร
"เก้งใหญ่ นาย" พรานวาบอกพวกเรา
อาจิตเบาเครื่องแล้วคลานเข้าไปจนใกล้ ...
ห้วยกระพร้อยตอนนั้นคือบริเวณใดในปัจจุบันคงยากที่จะบอก เพราะปัจจุบันมีการสร้างเขื่อนขวางกั้นลำน้ำห้วยกระพร้อมกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ (รูปข้างล่าง หรือดูได้จากบทความวันอังคารที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๑ เรื่อง "อ่างเก็บน้ำห้วยกระพร้อย หนองปรือ กาญจนบุรี") ป่าโปร่งชายทุ่งในยุคนั้นก็คงเป็นที่ใดที่หนึ่งสักแห่งภายใต้ผืนน้ำในปัจจุบัน ในหนังสือนี้ผู้เขียนยังได้เล่าถึงการเดินทางไปพบโขลงช้างป่าที่บริเวณหุบเขากำแพง


... "ใครนะช่างดันออกมาสุ่มปลากลางดึงกลางดื่นอย่างนี้" ข้าพเจ้าคิดในใจ "ดีไม่ดีได้โดนเสือเอาไปกิน"
ความคิดของข้าพเจ้ายังไม่ทันจะดำเนินไปกี่มากน้อย จรวยซึ่งเดินเคียงข้างกับข้าพเจ้าก็ยกปืนขึ้นประทับ
"อย่ายิง อย่าคุณจรวย"
ดูเหมือนหูของจรวจจะอื้อไม่ได้ยินเสียงปรามของข้าพเจ้า และสิ่งที่เขาเห็นนั้นย่อมชัดโทนอยู่แล้วว่าเป็นคน แต่เหตุไฉนเขาจึงประทับปืนไปยังเป้าตรงนั้นอย่างเคร่งเครียด
"นั่นคน-คนสุ่มปลานะ คุณจรวย" ข้าพเจ้าแทบหอบด้วยความตระหนกพร้อมกับยึดต้นแขนเขาไว้ ขาดเสียงห้ามของข้าพเจ้า จรวยก็เหนี่ยวไกปืน แสงไต้ในมือชายคนนั้นดับวูบลงทันที ...
จากลายพาดกลอนที่หนองว้า จนมาพบกับ "เสือสมิง" ที่หนองบัว ผู้เขียนได้บันทึกตำนานเรื่องเล่าของพรานพื้นเมือง เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นประมาณสองสามปี เกี่ยวกับชายรับจ้างตัดไม้ที่ไม่รู้ที่มาที่ไป ที่วันหนึ่งมาพร้อมกับคณะตัดไม้รวกไม้ไผ่ ที่เพื่อนร่วมคณะรู้แต่ว่าชอบออกไปจับปลาตามหนอง แล้ววันหนึ่งก็หายไป เพื่อนร่วมคณะที่ติดตามไปจนถึงบริเวณหนองบัว พบแต่เพียงแค่สุ่มจับปลาทิ้งกลิ้งอยู่ริมหนอง และรอยตีนเสือใหม่ ๆ แต่ปราศจากรอยเลือดหรือรอยลากครูดถ้าหากเสือลากศพไปกิน

... "อย่ากระนั้นเลย" อาจิตพูดอย่างเอาการเอางาน ก่อนจะเดินทางกลับ ยังมีเวลาเหลือ ขอผมออกไปหนองบัวอีกครั้งจะดีไหม"
ทุกคนมองตากัน ไม่คิดว่าอาจิตจะมุถึงเพียงนั้น แต่ความสงสัยที่ติดใจของใครก็ตาม เมื่อเกิดขึ้นแล้วเขาก็ย่อมจักต้องแก้สงสัยให้ได้ อาจิตก็ปราถนาที่จะกลับไปยังหนองบัวอีกครั้งแม้ว่าจะดึกดื่นค่อนคืน ...

วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2561

วาดรูปต้นสับปะรดที่มีผลสับปะรดติดอยู่ (๓) MO Memoir : Wednesday 13 June 256

สอบสัมภาษณ์ผู้ผ่านข้อเขียนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมากว่า ๒๐ คน เป็นนักเรียนในกรุงเทพสัก ๑๐ คน ก็เลยให้เขาวาดรูปต้นสับปะรดที่มีผลสับปะรดติดอยู่ให้ดูหน่อย ผลก็ออกมาดังภาพที่เห็นนั่นแหละครับ :) :) :)

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ทำความรู้จัก Equipment schedule (๒) Vessel MO Memoir : Monday 11 June 2561

อุปกรณ์ที่เรียกว่า Vessel นั้น บางทีก็เรียกว่า Drum (ตรงนี้ไปตกลงกันในหน่วยงานกันเอาเองก็แล้วกันว่าจะเรียกว่าอย่างไร เพราะมันมักส่งผลต่อการตั้งชื่อด้วยว่าจะใช้ชื่อย่อว่า V หรือ D) และบางทีก็ครอบคลุมไปถึงหน่วยปฏิบัติการที่เรียกว่า Tower เช่นพวกหอกลั่นต่าง ๆ และบางครั้งก็อาจครอบคลุมไปถึง Tank และ Silo (และเช่นกัน ตรงนี้ไปก็ตกลงกันในหน่วยงานกันเอาเองก็แล้วกันว่าจะให้ครอบคลุมไปถึงไหน) แต่ในที่นี้ขอตัด Tank และ Silo ออกไปก่อน
 
ตารางที่ ๓ (นับต่อจากตอนที่ ๑) เป็นตัวอย่างรายละเอียด Equipment schedule สำหรับ vessel เราลองมาไล่ดูทีละหัวข้อไปเรื่อย ๆ ก็แล้วกัน
 
"Item no." คือรหัสชื่อ vessel ถ้าตกลงว่าจะเรียกว่า vessel ก็อาจใช้ตัวย่อว่า V เช่น V-101 แต่ถ้าตกลงกันว่าจะเรียกว่า drum ก็อาจใช้ตัวย่อว่า D เช่น D-101
 
"Service name" คือให้ระบุว่า vessel ดังกล่าวทำหน้าที่อะไร เช่นเป็น storage, reflux drum (แปลกที่เขาไม่ยักเรียกว่า reflux vessel) ของหอกลั่น, knock out drum (ที่ไว้ดักของเหลวออกจากแก๊ส เช่นก่อนปล่อยออกสู่ flare หรือก่อนเข้า compressor ซึ่งอันนี้ก็แปลกเหมือนกันที่เขาไม่เรียกว่า knock out vessel), oil-water separator เป็นต้น
 
"Installation" คือให้ระบุรูปแบบการวาง ว่าเป็นในแนวตั้ง (vertical) หรือแนวนอน (horizontal)
ช่อง "Fluid" ก็ให้ระบุว่าหลัก ๆ แล้วใช้เก็บอะไร เช่นถ้าเป็นถังอากาศอัดความดันก็ระบุเพียงแค่อากาศ ถ้าเป็นถังเก็บของเหลวก็ให้ระบุของเหลว (ไม่ต้องระบุว่าแก๊สที่อยู่เหนือผิวของเหลวคืออะไร)
 
"Capacity" คือปริมาตรความจุของถัง ตรงนี้ต้องตกลงกันให้ดีว่าหมายปริมาตรภายในทั้งหมด หรือคิดเฉพาะส่วน Tangent line to Tangent line
 
สองช่องถัดไปคือขนาดที่ให้ระบุ "Shell diameter" หรือขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางลำตัว และระยะ "TL to TL" ซึ่งก็คือระยะ Tangent line to Tangent line หรือส่วนโครงสร้างที่มีรูปร่างเป็นทรงกระบอก ในกรณีของเส้นผ่านศูนย์กลางนั้นที่เคยเห็นก็มีทั้งการระบุเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก (OD) และทั้งเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน (ID คือไม่รวมความหนาผนังถัง) ตรงนี้ก็ให้ไปตกลงกันเองก็แล้วกันว่าจะใช้ค่าไหนเป็นหลัก
 
ถ้าใครบังเอิญมาอ่านตรงนี้แล้วไม่รู้ว่า Tangent line คืออะไร และ Tangent line to Tangent line คือระยะจากไหนถึงไหน ตรงนี้อธิบายไว้แล้วใน Memoir ฉบับวันจันทร์ที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๑ เรื่อง "Tangent line to Tangent line"
 
ในกรณีที่เป็นถังที่มี Jacket หุ้มก็ต้องระบุแยกว่าถ้าคิดเฉพาะส่วนผนังถังด้านใน (Shell) จะมีขนาดเท่าใด และถ้าคิดรวมส่วน Jacket ด้วย จะมีขนาดเท่าใด ช่องว่างระหว่างผนัง Jacket ที่หุ้มอยู่ข้างนอกและตัว Shell ที่ถูก Jacket หุ้มเอาไว้ จะเป็นช่องทางสำหรับให้ heating หรือ cooling media ไหลผ่าน (หรือทั้งสองอย่าง) ซึ่งขึ้นอยู่กับการใช้งานของถังนั้น แต่ที่แน่ ๆ คือส่วน Jacket นั้นมันถอดล้างไม่ได้ มีอะไรสะสมอยู่บนผนังข้างในก็ต้องใช้สารเคมีเข้าไปละลายออกมา
 
ถ้าสงสัยว่าตรงช่อง "Capacity" นั้นเขาหมายถึงปริมาตรภายในทั้งหมดหรือคิดเฉพาะส่วน "TL to TL" ก็ให้เอาค่าระยะ "Shell diameter" กับ "TL to TL" มาคำนวณปริมาณส่วนที่เป็นทรงกระบอกนี้ดู ถ้าพบว่ามันเท่ากับปริมาตรส่วนนี้ก็แสดงว่าค่า "Capacity" นั้นเขาหมายถึงส่วน "TL to TL" แต่ถ้าพบว่าค่าที่คำนวณได้มันต่ำกว่า ก็แสดงว่าตัวเลข "Capacity" นั้นเขาน่าจะหมายถึงปริมาตรทั้งหมด
 
ช่อง "Pressure (Dsgn/Opr)" คือค่าความดันที่ใช้ในการออกแบบ (Dsgn) และค่าความดันใช้งาน (Opr) และเช่นกันถ้าเป็นถังที่มี Jacket หุ้มก็ต้องระบุค่าความดันของทั้งส่วนภายในถังและส่วนของ Jacket ด้วย
 
ช่อง "Temp (Dsgn/Opr)" คือค่าอุณหภูมิที่ใช้ในการออกแบบ (Dsgn) และค่าอุณหภูมิใช้งาน (Opr) และเช่นกันถ้าเป็นถังที่มี Jacket หุ้มก็ต้องระบุค่าอุณหภูมิของทั้งผนังถังด้านในและส่วนของ Jacket ด้วย

ตารางที่ ๓ ตัวอย่าง Equipment schedule สำหรับ Vessel
"Emergency vacuum design" คือให้ระบุว่าต้องมีการป้องกันการเกิดสุญญากาศกระทันหันหรือไม่ เช่นในขณะใช้งานปรกตินั้นตัว vessel จะทำงานที่ความดันสูงกว่าบรรยากาศ แต่ในบางกรณีอาจเสี่ยงที่จะเกิดสภาวะสุญญากาศขึ้นภายในได้ ทำให้ตัวถังมีโอกาสถูกแรงกดอากาศภายนอกกดให้ถังยุบตัว เช่นในกรณีของหอกลั่นที่สภาวะอุณหภูมิห้อง สารต่าง ๆ ภายในหอกลั่นจะควบแน่นเป็นของเหลว หรือพวก steam drum ที่เมื่อไอน้ำเย็นตัว จะเกิดสุญญากาศภายในถังได้
 
ช่อง "Tray" จะประยุกต์ใช้กับพวกหอชนิด tray (ที่อาจเป็นหอกลั่น (distillation column) หอดูดซึม (absorber) หอชะล้าง (scrubber) ก็ได้) ให้ระบุชนิดของ tray (ช่อง "Type") และ จำนวนและระยะห่างระหว่าง tray (ช่อง "No. & Spacing")
 
ช่อง "Packing Type & Quantity" จะประยุกต์ใช้กับพวก packed column (เช่นกัน ซึ่งอาจเป็นหอกลั่น หอดูดซึม หอชะล้าง ก็ได้) ให้ระบุชนิดของ packing และปริมาณที่บรรจุ
 
ถัดไปคือส่วนของ "Material" หรือวัสดุที่ใช้ขึ้นรูป โดยทั่วไปส่วน Shell และ Head (หรือฝาปิดหัวท้าย) ก็จะเป็นวัสดุชนิดเดียวกันอยู่แล้ว คือต้องทนต่อ fluid ที่บรรจุอยู่ภายในได้ แต่ส่วน Jacket นั้นไม่จำเป็น เช่นในกรณีของ fluid ที่ต้องการความสะอาดสูงหรือมีฤทธิ์กัดกร่อน ก็อาจต้องใช้เหล็กกล้าไร้สนิมขึ้นรูปส่วน Shell และ Head แต่ส่วนของ Jacket ที่ให้ไอน้ำหรือน้ำหล่อเย็นไหลผ่านนั้น อาจใช้เพียงแค่า carbon steel ก็พอ 
  
วัสดุที่ใช้ทำ "Tray or Internal" ที่สัมผัสกับ fluid ภายใน ก็ต้องเหมาะสมกับ fluid นั้นด้วย "Internal" ในที่นี้คืออุปกรณ์อื่นที่ไม่ใช่ tray เช่นอาจเป็น mist eliminator (ดักละอองของเหลวออกจากแก๊สที่ไหลออก) vortex breaker (ทำลายการเกิด vortex เวลาที่สูบของเหลวออกทางด้านล่างของถัง) หรือโครงสร้างใด ๆ ที่มีการติดตั้งภายในถังก็ได้
 
"Corrosion allowance" คือระดับการกัดกร่อนที่ยอมรับได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือยอมให้ผนังบางลงได้เท่าใด การคิด corrosion allowance ตรงนี้เป็นการคิดโดยสมมุติว่าเป็นการกัดกร่อนแบบสม่ำเสมอตลอดทั้งพื้นผิว ไม่ใช่การกัดกร่อนแบบ pitting ที่เกิดขึ้นเป็น "จุด" ที่ทำให้เนื้อโลหะทะลุเป็นรูเล็ก ๆ
"Insulation" คือจำเป็นต้องหุ้มฉนวนหรือไม่ โดยวัตถุประสงค์ของการหุ้มฉนวนนั้นมีทั้ง ป้องกันไม่ให้ความร้อนรั่วไหลออกหรือป้องกันอันตรายจากการสัมผัส ป้องกันไม่ให้ความร้อนรั่วไหลเข้า (เช่นถังเก็บ fluid ที่เย็น) และการป้องกันความร้อนจากแสงอาทิตย์ (เช่นกรณีของถังเก็บสารที่มีจุดเดือดต่ำและตั้งอยู่กลางแจ้ง)
 
"Approx weight" คือน้ำหนักโดยประมาณ ในที่นี้แยกเป็นหนักหนักเปล่า (ช่อง "Empty") และน้ำหนักเมื่อมีน้ำบรรจุเต็ม (ช่อง "Full of water")
 
"Supplier" คือผู้ผลิตถังนั้น 
  
"Remarks" คือหมายเหตุ คือมีอะไรเป็นพิเศษที่ไม่ตรงกับช่องที่มีอยู่ ก็ให้มาเขียนไว้ที่นี่ เช่นมีการติดตั้งใบพัดกวน มีการติดตั้ง heating/cooling coil เป็นต้น