วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2561

UVCE case 1 TPI 2531(1988) MO Memoir : Wednesday 29 August 2561

"... เอ็นจิเนียร์ ..(จับใจความไม่ได้).. เหลือแต่เหล็กของบูทรองเท้าหัวเหล็ก และยังมีเอ็นจิเนียร์อีกหลายคนที่หน้าแบบ .. แบบนี้ครับ ทุกวันนี้ยังมีชีวิตอยู่นะครับ อายุก็ใกล้ ๆ กับผม หลายคนก็ยังทำงานอยู่ที่นั่น ..."
 
ข้อความข้างต้นผมถอดมาจากส่วนหนึ่งของวิดิทัศน์บันทึกการบรรยายของผู้บริหารระดับสูงท่านหนึ่ง ที่ท่านมาบรรยายให้กับนิสิตและคณาจารย์ของภาควิชาฟัง เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๖ หรือเมื่อ ๖ ปีที่แล้ว
 
เหตุการณ์การระเบิดครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๓๑ ผมเองเพิ่งจบได้ไม่ถึงปี ตอนนั้นก็ทำงานอยู่ที่ระยองพอดี รุ่งเช้ายังมีโอกาสได้ไปดูตัวโรงงานที่ได้รับความเสียหายจากภายนอก และได้มีโอกาสได้ฟังข้อมูลจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นหนึ่งในผู้สวบสวนอุบัติเหตุ ซึ่งตอนนั้นทางบริษัทที่ผมทำงานอยู่เขาเชิญมาบรรยายให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะบริษัทที่ผมทำงานอยู่นั้นก็ใช้กระบวนการผลิตทำนองเดียวกัน
 
อีกราว ๆ ครึ่งปีถัดมาผมก็ลาออกจากงานที่ระยองเพื่อรับทุนไปศึกษาต่อ ตอนนั้นผมบอกกับอาจารย์ที่เขาอยากให้ผมรับทุนไปเป็นอาจารย์ว่า ให้ไปขอกับกรรมการผู้จัดการบริษัท เพราะเขาส่งผมไปอบรมที่ญี่ปุ่น และผมยังไม่ได้อยู่ start up โรงงานให้เขา ถ้าเขาอนุญาตให้ผมไป ผมก็ยินดีไป แกก็เลยติดต่อไปยังกรรมการผู้จัดการบริษัทที่ผมทำงานอยู่โดยตรง (เขาเป็นเพื่อนกัน) ปรากฏว่ากรรมการผู้จัดการเขาอนุญาต ผมก็เลยได้มานั่งทำงานอยู่ตรงนี้จนถึงทุกวันนี้
 
สาเหตุของเหตุการณ์ดังกล่าวค้างคาใจผมมาตลอด จนกระทั่งเรียนจบและกลับมาทำงาน ได้มีโอกาสพบกับผู้รอดชีวิตรายหนึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว (เขามาเรียนโทภาคนอกเวลาราชการที่ภาควิชา) แต่พอได้เห็นสภาพบาดแผลที่เขาได้รับจากการถูกไฟคลอก ผมก็ไม่กล้าถามเขาเรื่องนั้น ใช่แล้วครับ ผมเข้าใจความหมายของข้อความที่ผมเน้นไว้ในย่อหน้าแรก


ถ้ายังสงสัยอยู่ว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับอะไร และยังไม่มีความรู้พื้นฐานในเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง ขอแนะนำให้อ่าน Memoir ย้อนหลังต่อไปนี้ประกอบเพื่อเป็นการปูพื้นฐาน ก่อนดูคลิปวิดิทัศน์ที่แนบมา
 
ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๕๘ วันอาทิตย์ที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๒ เรื่อง "Ethylene polymerisation"
ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๔๑ วันเสาร์ที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๕ เรื่อง "เพลิงไหม้โรงงานผลิต HDPE เมื่อธันวาคม ๒๕๓๑"
ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๔๓ วันศุกร์ที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๖ เรื่อง "สาเหตุที่แก๊สรั่วออกจาก polymerisation reactor"

ฉบับที่ ๕๘ นั้นเป็นพื้นฐานว่ากระบวนการสังเคราห์พอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene หรือ HDPE) มีรูปแบบใดบ้าง และทำไมโรงงานที่ออกแบบมาเพื่อการผลิต HDPE จึงน่าจะเอามาประยุกต์ใช้ในการผลิตพอลิโพรพิลีน (Polypropylene หรือ PP) ได้ ส่วนฉบับที่ ๔๔๑ เป็นภาพที่ผมถ่ายจากด้านนอกโรงงาน และฉบับที่ ๖๓๔ เป็นการสรุปจากข้อมูลที่จดเอาไว้จากที่ได้ฟังในการบรรยายในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๖ นั้นและอิงจากข้อความที่ปรากฏในสไลด์เป็นหลัก (ในรูปที่นำมาแสดง)
 
แต่สัปดาห์นี้เพิ่งจะได้บันทึกวิดิทัศน์การบรรยายดังกล่าวที่ภาควิชาเอาไปซุกเอาไว้ และต้องขอขอบคุณคุณกิจชัยที่ไปช่วยรื้อค้นมาให้ วันนี้ก็เลยขอนำเอาการบรรยายที่ตัดมาเฉพาะเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวมาบันทึกเอาไว้เพื่อไม่ให้ไฟล์ใหญ่เกินไป การบรรยายในวันนั้นมีการพูดถึงการเกิดอุบัติเหตุสำคัญ ๗ ครั้งด้วยกัน เอาไว้จะค่อย ๆ นำมาลงให้รับชมกัน โดย ๖ ครั้งเป็นการเกิดในประเทศไทย และ ๑ ครั้งแม้ว่าจะเกิดที่ต่างประเทศ (เพลิงไหม้แท่นขุดเจาะในทะเล) แต่ก็เป็นของบริษัทไทยที่ไปทำกิจการที่นั่น

การที่เชื้อเพลิงจะลุกไหม้ได้นั้นต้องมีองค์ประกอบ ๓ ส่วนด้วยกันคือ (ก) ตัวเชื้อเพลิงและ (ข) สารออกซิไดซ์ ที่ผสมกันในสัดส่วนที่พอเหมาะ (คือเชื้อเพลิงมีไม่น้อยเกินไป หรือมีมากเกินไปจนปริมาณสารออกซิไดซ์มีไม่พอ) และมักจะเป็นส่วนผสมที่อยู่ในรูปของไอหรือเฟสแก๊ส และ (ค) แหล่งพลังงานกระตุ้น สำหรับการทำงานในโรงงานนั้นแหล่งพลังงานกระตุ้นมีมากไปหมด เพราะเต็มไปด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้า พื้นผิวที่ร้อน และเปลวไฟ ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดเพลิงไหม้จึงเน้นไปที่การลดโอกาสที่เชื้อเพลิงจะผสมกับอากาศ (ที่เป็นสารออกซิไดซ์ที่มีอยู่รอบ ๆ ตัวเราอยู่แล้ว) เป็นหลัก ด้วยการเก็บเชื้อเพลิงไว้ในระบบไม่ให้รั่วไหลออกมาผสมกับอากาศภายนอก
 
แต่สำหรับสารพวกอะเซทิลีน (acetylene) เอทิลีนออกไซด์ (ethylene oxide) และวัตถุระเบิดนั้น สารสองตัวแรกมีพลังงานในตัวเองที่สูง ส่วนวัตถุระเบิดก็มีส่วนประกอบที่เป็นสารออกซิไดซ์อยู่ในตัวมันเองอยู่แล้วสูง ดังนั้นมันจึงสามารถระเบิดได้โดยไม่ต้องพึ่งพาออกซิเจนในอากาศ การป้องกันไม่ให้สัมผัสกับอากาศก็ไม่ได้ช่วยป้องกันการระเบิด
 
ในพื้นที่ปิดล้อม (เช่นในอาคาร) หรือเสมือนว่าเป็นพื้นที่ปิดล้อม (เช่นพื้นที่กลางแจ้งที่ไม่มีการถ่ายเทอากาศที่ดี) ไอระเหยของเชื้อเพลิงที่รั่วไหลออกมาจะไม่สามารถฟุ้งกระจายออกไปได้ง่าย ทำให้ส่วนผสมนั้นมีความเข้มข้นถึงระดับ Lower Explosive Limit (LEL คือความเข้มข้นต่ำสุดของเชื้อเพลิงในอากาศที่สามารถจุดระเบิดได้) ได้เร็วแม้ว่าจะรั่วไหลออกมาในปริมาณที่ไม่มาก การระเบิดในรูปแบบนี้เรียกว่า Confined Vapour Cloud Explosion หรือบางทีก็เรียกว่า Vapour Cloud Explosion (VCE)
 
แต่ถ้าเป็นกรณีของพื้นที่เปิดเช่นที่โล่งแจ้ง ไอระเหยของเชื้อเพลิงที่รั่วไหลออกมาจะสามารถฟุ้งกระจายออกไปได้ง่าย โอกาสที่จะสะสมจนมีความเข้มข้นสูงถึงระดับ LEL จึงน้อย เว้นแต่ว่าจะมีการรั่วไหลออกมาในปริมาณมาก (จะหลายร้อยกิโลกรัมหรือหลายตันก็ไม่แปลก) แพร่กระจายปกคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างก่อนพบกับแหล่งพลังงานที่เป็นตัวกระตุ้นการเผาไหม้ การระเบิดในรูปแบบนี้เรียกว่า Unconfined Vapour Cloud Explosion หรือย่อว่า UVCE และการระเบิดแบบ UVCE นี้จะมีความรุนแรงมากกว่าการระเบิดแบบ VCE มาก เพราะปริมาณเชื้อเพลิงที่รั่วไหลออกมานั้นมากกว่า (แต่ทั้งนี้การระเบิดทั้งสองแบบก็ทำให้คนตายได้ทั้งคู่)
 
ในกรณีของการรั่วไหลของเชื้อเพลิงในที่โล่งนั้น เมื่อไอเชื้อเพลิงที่ผสมกับอากาศในสัดส่วนพอเหมาะนั้นพบกับแหล่งพลังงาน ไอผสมก็จะเกิดการลุกไหมที่แผ่ขยายออกจากจุดนั้น เนื่องจากปฏิกิริยาการเผาไหม้นั้นเป็นปฏิกิริยาคายความร้อน ความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาจะทำให้การเผาไหม้เชื้อเพลิงที่อยู่ถัดจากเปลวไฟนั้นรวดเร็วขึ้นไปอีก ดังนั้นเปลวไฟที่เริ่มลุกไหม้จากแหล่งพลังงานกระตุ้นก็จะเคลื่อนตัวออกไปด้วยความเร็วที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงที่ความเร็วเปลวไฟนี้ยังต่ำกว่าความเร็วเสียง จะเรียกว่าเป็น deflagration ความเสียหายที่เกิดจาก deflagration นี้จะเกิดจากความร้อนจากเปลวเพลิงเป็นหลัก
 
แต่เมื่อใดก็ตามที่หน้าคลื่นการเผาไหม้นั้นเร็วจนถึงระดับความเร็วเสียงหรือสูงกว่า จะเรียกว่าเป็นการระเบิดหรือ detonation ซึ่งจะมีอำนาจการทำลายล้างที่เกิดจากคลื่นกระแทกหรือ shock wave เพิ่มเติมขึ้นมาอีก ที่ทำให้โครงสร้างต่าง ๆ เสียหายตามมาด้วย
 
ที่ต้องอธิบายเพิ่มเติมตรงนี้นิดนึงก็เพราะกรณีอุบัติเหตุรถบรรทุกแก๊สหุงต้มที่พลิกคว่ำจนทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้และมีผู้เสียชีวิตเกือบ ๑๐๐ รายที่จุดลงทางด่วนถนนเพชรบุรีเมื่อคืนวันจันทร์ที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๓ นั้น แม้ว่าจะมีการรั่วไหลของแก๊สออกมาในปริมาณมาก แต่ในทางวิชาการยังจัดว่าเป็นแบบ deflagration อยู่ ยังไม่จัดว่าเป็น UVCE

ปฏิกิริยาการพอลิเมอร์ไรซ์มีการสร้างพันธะทางเคมีระหว่างโมเลกุลเข้าด้วยกัน จึงเป็นปฏิกิริยาคายความร้อน ยิ่งมีการต่อโมเลกุลเข้าด้วยกันมาเท่าใด ความร้อนที่คายออกก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ถ้าเปรียบเทียบระหว่างการผลิตพอลิเอทิลีน กับพอลิโพรพิลีน การผลิตพอลิเอทิลีนจะมีการคายความร้อนต่อหน่วยน้ำหนักพอลิเมอร์ที่ผลิตได้นั้นสูงกว่าการผลิตพอลิโพรพิลีน ดังนั้นที่กำลังการผลิตเท่ากัน (คิดในรูปของน้ำหนักพอลิเมอร์ที่ผลิตได้) โรงงานที่ผลิตพอลิเอทิลีนจะต้องมีระบบระบายความร้อนที่ใหญ่กว่าโรงงานที่ผลิตพอลิโพรพิลีน
 
และเนื่องจากกระบวนการผลิตพอลิเอทิลีน (พวก HDPE หรือ LLDPE) นั้นคล้ายคลึงกับกระบวนการผลิตพอลิโพรพิลีน (โดยเฉพาะกระบวนการที่ใช้ slurry phase) มันจึงเป็นไปได้ที่จะนำเอาโรงงานที่ออกแบบมาเพื่อผลิต HDPE ด้วย slurry phase นั้นมาใช้ในการผลิตพอลิโพรพิลีน (นี่คือที่มาของข้อความในย่อหน้าแรกของสไลด์ที่นำมาแสดงให้ดูในรูป)
 
การผลิตด้วยกระบวนการ slurry phase นั้น สารตั้งต้นที่เป็นแก๊สจะละลายเข้าไปในตัวทำละลายไฮโดรคาร์บอน (ที่เป็นของเหลวที่อุณหภูมิสูงในถังปฏิกรณ์โดยอาศัยความดันช่วย แต่ถ้ารั่วออกมาก็จะกลายเป็นไอทันที) และมีการต่อโมเลกุลให้ใหญ่ขึ้น กระบวนการนี้มีข้อดีคือตัวทำละลายนั้นทำหน้าที่เป็นแหล่งรับความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาก่อนที่จะถ่ายเทความร้อนนั้นให้กับแหล่งรับความร้อนอื่น เช่นใช้การระเหยของตัวทำละลายโดยให้ไอระเหยของตัวทำละลายนั้นถ่ายเทให้กับน้ำหล่อเย็น การใช้น้ำหล่อเย็นหล่อเลี้ยงผิวด้านนอกของเครื่องปฏิกรณ์ และการดึงเอาสารแขวนลอยบางส่วนที่อยู่ในเครื่องปฏิกรณ์นั้นมาเข้าเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนเพื่อระบายความร้อนออกก่อนป้อนกลับเข้าไปใหม่ แต่ก็ใช่ว่ากระบวนการนี้จะไม่มีข้อเสีย คือนอกจากต้องมีระบบนำกลับตัวทำละลายกลับมาใช้ใหม่แล้ว (ต้นทุนสูงขึ้น) ก็ยังมีปัญหาเรื่องท่ออุดตัน
 
กล่าวคือในขณะที่สายโซ่พอลิเมอร์ยังมีขนาดไม่ใหญ่มากจะเรียกว่าเป็น oligomer ที่ยังละลายอยู่ในตัวทำละลาย แต่พอสายโซ่ยาวมากพอก็จะกลายเป็นผงอนุภาคของแข็งแขวนลอยอยู่ในตัวทำละลาย (ที่เรียกว่าเป็น slurry) การรักษาอุณหภูมิในระบบท่อจึงมีความสำคัญ ถ้าอุณหภูมิต่ำเกินไป ตัว oligomer ก็จะแข็งตัวอุดตันท่อ แต่ถ้าอุณหภูมิสูงเกินไป อนุภาคพอลิเมอร์ก็จะละลายกลับเข้าไปในตัวทำละลายและแข็งตัวอุดตันเมื่อไหลมาถึงส่วนของระบบท่อที่เย็น หรืออาจหลอมรวมติดกันเป็นก้อนอุดตันท่อได้ และเมื่อเกิดการอุดตันก็ต้องมีการถอดระบบเพื่อกำจัดสิ่งอุดตัน
 
และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้วก็เกิดขึ้นในขณะที่ทำการกำจัดสิ่งอุดตันในท่อนั้น
 
ตอนนั้นเครื่องแบบพนักงานที่ใช้กันอยู่ทางระยองยังใช้ผ้าพอลิเอสเทอร์อยู่ (มันถูกดี) แต่ผ้าชนิดนี้พอโดนไฟคลอกก็จะละลายติดผิวหนัง บ้านที่ผมเช่าอยู่นั้นอยู่ติดกับคนหนึ่งที่ทำงานที่นั่น เขาเล่าให้ผมฟังว่า "คนที่โดนไฟคลอกนั้น พอกระชากเสื้อออกผิวหนังก็ติดเสื้อมาด้วย ยังทิ้งไว้หน้าโรงงานเลย ไม่มีใครกล้าไปเก็บ"
 
คนที่อยู่มาบตาพุดตอนนี้ทราบไหมครับว่า ก่อนจะมีเครื่องแบบดังเช่นปัจจุบัน ต้องรอให้มีคนโดนไฟคลอกก่อนครับ

วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2561

การคำนวณเชิงตัวเลข (๒๓) การแก้ปัญหาสมการเชิงอนุพันธ์สามัญปัญหาเงื่อนไขค่าเริ่มต้นด้วยระเบียบวิธี Bogacki-Shampine และ Predictor-Evaluator-Corrector-Evaluator (PECE) MO Memoir : Monday 27 August 2561

ผมมักจะตั้งคำถามนิสิตที่ทำวิจัยโดยมีการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เสมอว่า วัตถุประสงค์ของการสร้างแบบจำลองนั้นคืออะไร เพราะมันใช้เกณฑ์ในการพิจารณาความเหมาะสมที่แตกต่างกัน ในกรณีของแบบจำลองที่นำไปใช้เพื่อการออกแบบหรือจำลองกระบวนการจริงเพื่อการศึกษานั้น จะให้ความสำคัญไปที่ความถูกต้องของคำตอบที่ได้ แต่ถ้าวัตถุประสงค์เป็นเพื่อการควบคุมกระบวนการในเวลาจริง จะให้ความสำคัญไปที่ความเร็วในการคำนวณ กล่าวคืออย่างน้อยจะต้องได้คำตอบโดยประมาณว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น โดยต้องมีเวลาเหลือพอสำหรับให้ระบบควบคุมทำการปรับแก้
 
ในการแก้ปัญหาระบบสมการอนุพันธ์สามัญ ปัญหาเงื่อนไขค่าเริ่มต้นนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าระเบียบวิธีหลักที่ใช้กันส่วนใหญ่ในการแก้ปัญหาคือระเบียบวิธีในกลุ่มรุงเก-คุตตาอันดับ ๔ (4th order Runge-Kutta) ที่พัฒนาโดยใช้ระเบียบวิธีนี้เป็นพื้นฐาน ด้วยเหตุผลหลายประการได้แก่ การที่มันเป็นระเบียบวิธีที่สามารถเริ่มต้นการคำนวณด้วยตนเองได้ (เป็น single step method) เป็นระเบียบวิธีโดยแจ้ง (เป็น explicit method) ทำให้ไม่มีปัญหากับสมการที่ไม่เป็นเชิงเส้น (non-linear) ให้ความถูกต้องของคำตอบสูง และมีค่า step size ของการอินทิเกรตที่ค่อนข้างกว้าง แต่ในกรณีที่ต้องการความรวดเร็วสูงในการคำนวณโดยความถูกต้องของคำตอบเป็นรอง ระเบียบวิธีในกลุ่มนี้ก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก หรือในกรณีของสมการที่มีปัญหาเรื่อง stiffness หรือไวสูงต่อการสะสมค่าความคลาดเคลื่อนในการคำนวณ ก็อาจจะใช้การไม่ได้เลย
 
ด้วยเหตุนี้แม้แต่ในโปรแกรมสำเร็จรูปเช่น MATLAB ที่นิยมใช้กันอยู่ในขณะนี้ ก็ยังมีระเบียบวิธีสำหรับการแก้ปัญหาระบบสมการอนุพันธ์สามัญ ปัญหาเงื่อนไขค่าเริ่มต้น ให้เลือกเกือบสิบระเบียบวิธี โดย ODE45 ที่ใช้ระเบียบวิธีที่พัฒนาโดยอิงจากรุงเก-คุตตาอันดับ ๔ เป็นฐาน ก็เป็นเพียงแค่ตัวเลือกหนึ่งเท่านั้นเอง
 
วันนี้จะลองกลับมาพิจารณาตัวอย่างที่เคยยกมาใน Memoir ฉบับวันพุธที่ ๑๕ สิงหาคมและวันอาทิตย์ที่ ๑๙ สิงหาคมที่ผ่านมา โดยจะทดลองใช้ระเบียบวิธีอื่นในการแก้ปัญหาดูบ้าง
 

วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ก่อนจะมีเขื่อนแก่งกระจาน (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๔๐) MO Memoir : Sunday 26 August 2561

"การเข้าไปใช้ชีวิตกลางแจ้งทางต้นน้ำเพชรบุรี สองพี่น้อง ท่าลิงลม ตลอดจนแดนกระหร่างนั้น นับว่าเป็นยุคแรก ๆ ของพวกเรานักนิยมไพรผู้กำลังคลั่งในเรื่องปืนและป่าอย่างเข้าเส้นเลือดด้วยกันทุกคน บ้างก็เป็นตากล้องมือฉกาจ ต้องการถ่ายภาพศิลป์เมื่อยามสาวกระเหรี่ยงเปลือยกายอาบน้ำต่อหน้าต่อตา บ้างก็ไปวิสาสะไต่ถามถึงทุกข์สุขของชาวกระเหรี่ยงซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับที่ตั้งแคมป์ น้ำนั้นลึกแค่เช่าหรือจะสูงกว่าบ้างเป็นบางตอน หากแต่กรวดหินที่เกลื่อนอยู่ใต้น้ำนั้นทำให้ต้องประคับประคองตัวเดินกันอย่างลำบาก ด้วยมันลื่นเหลือประมาณ เผลอ ๆ ก็ผวาลงในน้ำเปียกปอนกันไป เรียกเสียงเฮฮาครึกครื้นกันเป็นที่สราญรมย์ ...
 
ข้อความในย่อหน้าข้างต้นนำมาจากเรื่อง "เสือดาวเพชฌฆาต" โดย ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ ในหนังสือ "พรายตะเคียนทอง" พิมพ์ครั้งที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๑ สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ สำหรับผู้ที่อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับป่าที่เขียนโดยนักเขียนท่านนี้ ก็จะพบว่าป่าแห่งหนึ่งที่ปรากฏอยู่เป็นประจำคือป่าต้นน้ำเพชร ช่วงก่อนจะมีการสร้างเขื่อนแก่งกระจาน

รูปที่ ๑ แผนที่ "Indochina and Thailand 1:250,000" จัดทำโดย the Army Map Service (PV), Corps. of Engineers, U.S. Army ฉบับชื่อ "HUA HIN" หรือ "หัวหิน" ฉบับข้อมูลปีค.ศ. ๑๙๕๑ (พ.ศ. ๒๔๙๔) ก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนแก่งกระจานไม่กี่ปี และ (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๕) คือตำแหน่งของแม่น้ำเพชรบุรีที่ให้ไว้เป็นจุดเปรียบเทียบกับตำแหน่งในรูปที่ ๒ และ ๓ โดย (๒) คือเขาจ้าว และ (๓) คือเขาไม้รวก ที่เป็นที่ตั้งของเขื่อนแก่งกระจาน

รูปที่ ๒ แผนที่ "Siam 1 inch to 1 mile / revised from air photographs by 4 Indian Field Survey Company" จัดทำโดยกองทัพอังกฤษในอินเดียในปีค.ศ. ๑๙๔๕ (พ.ศ. ๒๔๘๘) หรือปีที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุด แผนที่นี้ให้ชื่อ "THA LING LOM" คือ "บ้านท่าลิงลม" ที่ปัจจุบันกลายเป็นส่วนของอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนแก่งกระจานในปัจจุบัน

ในเรื่องเดียวกันนี้ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ ยังได้บรรยายสภาพของป่าต้นเพชรและสภาพลำน้ำเอาไว้อีกว่า
 
"... ป่าต้นน้ำเพชรสมัยก่อนนั้นแสนทุรกันดาร ต้องใช้เรือมาดเป็นพาหนะ หรือไม่ก็ต้องว่าจ้างเกวียนคลานรอนแรมกันไป ..."
"ลำน้ำเพชรที่ใสแจ๋ว จนมองเห็นฝูงปลาแหวกว่ายกันทั่วไปหมด มีทั้งปลาตะเพียน ปลาสูบ ปลางารู อันเป็นอาหารพิเศษของเราอีกชนิดหนึ่ง เนื่องจากเจ้าเพ็ชรราชฯ ทรงนำเอาอวนยาวร้อยเมตรไปด้วย พวกที่ต้องการแสดงฝีมือประมงก็ลงตีอวนกันเป็นที่สนุกสนานเพลิดเพลิน ปลาที่ได้นับร้อยตัวใหญ่เท่าแขนขา เราแบ่งให้พวกชาวกระเหรี่ยงทั้งหมู่บ้านนั้นด้วย เพราะพวกเขาขาดเครื่องมือในการจับปลา"

ข้อมูลบนหน้าเว็บของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตกล่าวเอาไว้ว่า การสร้างเขื่อนแก่งกระจานเริ่มในปีพ.ศ. ๒๕๐๔ และมาแล้วเสร็จในปีพ.ศ. ๒๕๐๙ โดยตัวเขื่อนตั้งอยู่ระหว่างบริเวณเขาเจ้า (ตำแหน่งที่ ๒ ในแผนที่) และเขาไม้รวกประชิดกัน (ตำแหน่งที่ ๓ ในแผนที่) อ่างเก็บน้ำมีพื้นที่ 46.5 ตารางกิโลเมตร ความจุ 710 ล้านลูกบาศก์เมตร

นอกจากปลาแล้ว ในเรื่อง "ล่าจระเข้" ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ยังได้บันทึกเอาไว้ว่าลำน้ำเพชรนี้ยังมีจระเข้ด้วย
 
"เราปักหลักกางเต็นท์เหนือลำน้ำเพชร สองพี่น้อง ซึ่งอยู่ห่างจากฟากฝั่งของหมู่บ้านกระเหรี่ยงประมาณสองร้อยเมตร แต่ในยามนั้นน้ำตื้นเพียงแค่น่องหรือโคนขา สามารถข้ามไปมาสะดวกมาก ในลำน้ำนั้นก็เต็มไปด้วยปลากระสูบ ปลางารู ปลาตะเพียน แหวกว่ายกันอยู่เป็นฝูง พวกเราลงอวนกันในตอนเย็นได้ปลามามากพอที่จะแบ่งปันให้ชาวกระเหรี่ยงเอาไปกิน และทำเค็มตากแห้งได้อย่างจุใจ
ในตอนพลบค่ำ เรานั่งล้อมวงอยู่รอบกองไฟ ขณะที่พรานอาวุโสอย่างเจ้าคุณสุรพันธ์ฯ และเจ้าเพ็ชรราชฯ ประทับบนแคร่ไม้ไผ่และเสวยพระกระยาหารอย่างเบิกบานพระทัย ข้าพเจ้านั่งติดอยู่กับ ม...ดิลกลาภ ซึ่งไม่ดื่มเหล้า ถัดไปก็เป็นเจ้าบุญวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจลาว ที่ลงอวนกันมาจนหน้าดำหน้าแดง ท่านดื่มนิดหน่อย ข้าพเจ้าถามถึงเรื่องจระเข้ เพราะรู้มาว่าในลำน้ำเพชรนี้ก็มีจระเข้อยู่หลายแห่ง"

เรื่องเกี่ยวกับจระเข้ในลำน้ำเพชรนี้ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ ยังกล่าวเอาไว้เรื่อง "พรายน้ำที่สองพี่น้อง" ที่เล่าเหตุการณ์เมื่อต้องไปนั่งห้างที่อยู่เหนือลำน้ำเพชรในคืนเดือนหงายคืนหนึ่งเอาไว้ดังนี้ (จากหนังสือ "ป่าอาถรรพ์" ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ โดยสำนักพิมพ์บ้านหนังสือ)
 
"ท่ามกลางแสงสว่างอย่างนั้น ข้าพเจ้ามิได้สนใจในการล่ามากกว่าจะสงสัย เพราะกระเหรี่ยงตีบอกกับข้าพเจ้าว่าต้นน้ำเพชร์นี้มีวังจระเข้ วันดีคืนดีมันอาจเพ่นพ่านมาหาเหยื่อตามวิสัย
"คุณชาย ห้างกลางน้ำของเรานี่สูงกว่าน้ำไม่กี่เมตรนะ"
"คุณชาลีกลัวอะไร ห้างแน่นหนา ปลาว่ายกันสลอน" คุณชายดิลกลาภเอนร่างหนุนย่ามเผื่อเอาแรงไว้รอยิงสัตว์ในตอนดึก
"กระเหรี่ยงตีมันบอกว่าต้นน้ำเพชร์นี่มีจระเข้ มีวัง""
 
สุดท้ายการนั่งห้างในคืนนั้นก็ไม่ได้ยิงสัตว์ แต่ได้ยิงอะไรถ้าอยากรู้ก็ลองไปหาหนังสือนี้อ่านเองเองนะครับ เทศกาลสัปดาห์หนังสือก็น่าจะยังพอมีขายอยู่
 
(หมายเหตุ : การสะกดอิงตามหนังสือต้นฉบับ ที่ใช้ทั้ง เพชร เพชร์ และเพ็ชร์)

รูปที่ ๓ ภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณเขื่อนแก่งกระจานในปัจจุบัน (ภาพจาก google map)

วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2561

บันไดหนีไฟในตัวอาคาร MO Memoir : Wednesday 22 August 2561

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเขามีการซ้อมหนีไฟในอาคารที่ผมทำงานอยู่ พอช่วงใกล้เที่ยงก็มีการทดลองกดสัญญาณเตือนไฟไหม้ เพื่อให้คนอพยพออกจากอาคาร ระหว่างเดินลงบันไดหนีไฟมาเพียงคนเดียว ก็เลยได้ถ่ายรูปบางอย่างมาฝากกัน

รูปที่ ๑ ประตูทางออกที่ชั้นล่างสุด
 
บันไดหนีไฟกับรูปลักษณ์ปรากฏของตัวอาคารเมื่อมองจากด้านนอก มักเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันไม่ค่อยได้ สำหรับอาคารสูงแล้วตัวบันไดหนีไฟมักจะถูกซ่อนเอาไว้ให้มองไม่เห็นจากทางด้านนอก แต่การวางเส้นทางบันไดหนีไฟไว้ด้านในในอาคารผลที่ตามมาก็คือแสงสว่างและการระบายอากาศ โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้ควันจากเพลิงที่ไหม้อยู่ที่ชั้นใดชั้นหนึ่งนั้นรั่วเข้าไปในเส้นทางหนีไฟได้ และการมีแสงสว่างเพื่อให้อพยพได้ เพราะมันไม่มีหน้าต่างเปิดออกสู่ด้านนอกอาคารเพื่อการระบายอากาศหรือให้แสงสว่างเข้ามา และวิธีแก้ไขที่อาคารที่ผมทำงานอยู่นั้นใช้ก็คือ การต้องให้ประตูที่เข้าสู่เส้นทางหนีไฟนั้นต้องปิดตลอดเวลา เพื่อที่จะทำการอัดอากาศบริสุทธิ์จากภายนอกเข้ามา เพื่อทำให้ความดันอากาศในทางเดินหนีไฟนั้นสูงกว่าภายในตัวอาคาร ควันไฟจะได้ไม่สามารถรั่วเข้าไปในเส้นทางหนีไฟได้ และการติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน ในกรณีที่มีการตัดกระแสไฟฟ้า
 
ตอนที่ผมกลับมาทำงานเมื่อกว่า ๒๔ ปีที่แล้ว อาคารที่ผมทำงานอยู่ในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงที่เริ่มการก่อสร้าง อาจารย์ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่างบประมาณก่อสร้างอาคารหลังนี้ได้มาแบบโดยบังเอิญ คือเป็นงบประมาณประจำปีที่เป็นเศษเหลือของแต่ละหน่วยงานที่ส่งคืนคลัง (กล่าวคือ อาจตั้งงบซื้อของชิ้นหนึ่งไว้ ๑๐๐ บาท แต่ตอนซื้อจริงซื้อได้ในราคา ๙๗ บาท เศษเหลือ ๓ บาทก็ต้องส่งคืนคลัง เอาไปทำอย่างอื่นไม่ได้) พอทั้งประเทศรวมกันเข้าก็เป็นเงินก้อนใหญ่ที่ควรต้องใช้ให้หมดในปีงบประมาณนั้น ทางหน่วยงานทราบเรื่องนี้เข้าก็เลยรีบทำแผนก่อสร้างอาคาร (รวมทั้งการออกแบบตัวอาคาร) เพื่อดึงเอางบประมาณตัวนี้มาใช้ ทำให้การออกแบบเป็นไปอย่างรีบร้อนโดยไม่ได้มีการวางแผนไว้อย่างชัดเจนว่าจะใช้ชั้นไหนของอาคารเพื่อวัตถุประสงค์ใด ผลก็คือมันก็เลยเป็นอาคารที่มีปัญหาเรื่องการใช้งานมาตั้งแต่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ เรื่องที่มาของงบประมาณสร้างอาคารที่เล่ามาข้างต้น ก็เล่าไปตามที่อาจารย์ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังมา จริงเท็จอย่างไรก็คงต้องไปดูเอกสารทางการ
 
เรื่องปัญหาการใช้งานอาคารตั้งแต่เริ่มก่อสร้างเนี่ย อดีตรองคณบดีท่านหนึ่งเคยเล่าให้ผมฟัง ท่านเล่าว่าตอนออกแบบครั้งแรกนั้นเขาเอาห้องประชุมจุคนระดับ ๒๐๐ คนไปไว้ชั้นบนสุด (ชั้น ๒๐) แล้วค่อยมาคิดได้ทีหลังว่าจะมีปัญหาเรื่องขนคนขึ้นลงเวลามีประชุมแต่ละที ก็เลยต้องมีการแก้แบบเพื่อเอาห้องประชุมลงมาไว้ชั้น ๒ แต่การนี้ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ตอนที่นำแบบไปขอความเห็นชอบจากอธิการบดี อธิการบดีก็ให้ความเห็นกลับมาว่า 
  
"ทำงานในสายวิชาชีพตัวเองแท้ ๆ"
 
แกเล่าให้ฟังพร้อมกับปิดท้ายว่า ตอนนั้นไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน

รูปที่ ๒ สภาพระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินระหว่างทางเดินลง อุปกรณ์นี้มีมาตั้งแต่สร้างอาคารเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว
 
พื้นที่ห้องทำงานของอาคารนี้แยกเป็นสองส่วนคือด้านทิศเหนือกับด้านทิศใต้ ซีกด้านทิศเหนือกับทิศใต้เชื่อมต่อกับบริเวณตอนกลางโดยโถงทางเดินที่เป็นที่ติดตั้งลิฟต์ขึ้นลง บันไดขึ้นลงระหว่างชั้น (ที่อยู่ด้านหลังลิฟต์ด้านทิศตะวันตก) และบันได้หนีไฟ (ที่อยู่ ๒ ฝั่งทางปีกด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก) ต่างก็อยู่ทางอาคารด้านทิศใต้หมด พูดง่าย ๆ ก็คือถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรก็ตามตรงโถงเชื่อมหน้าลิฟต์ ผู้ที่อยู่ทางอาคารซีกทิศเหนือจะหนีออกมาไม่ได้เลย เพราะมันไม่มีบันได
 
ด้วยเหตุนี้หลังจากอาคารสร้างเสร็จไม่นาน ก็ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข ด้วยการสร้างเส้นทางเชื่อมระหว่างอาคารซีกทิศเหนือและซีกทิศใต้เพิ่มเติม โดยเป็นเส้นทางอยู่นอกอาคารที่เชื่อมต่อมายังบันไดหนีไฟที่อยู่ที่อาคารซีกทิศใต้
 
บันไดหนีไฟของอาคารนี้อันที่จริงมันก็อยู่ด้านริมตัวอาคาร เรียกว่าจะทำให้มันเป็นแบบเปิดโล่งหรือมีช่องหน้าต่างก็ได้ แต่เขาก็เลือกทำเป็นแบบปิดทึบ แม้ผนังด้านนอกจะใช้การติดกระเบื้องแทนการทาสี แต่พอโดนฝนตกหนักสาดต่อเนื่องก็ยังมีน้ำซึมผ่านผนังเข้ามาได้ ตอนเปิดใช้อาคารใหม่ ๆ นั้นก็มีการซ้อมหนีไฟ เขาก็มีการทดสอบระบบอัดอากาศเข้าสู่ช่องทางเดินหนีไฟด้วยว่ามันทำงานหรือไม่ (ซึ่งมันก็ทำ) แต่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ตอนเดินลงบันไดผมไม่รู้สึกว่ามีการเปิดระบบอัดอากาศ ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นเพราะมันใช้ไม่ได้ หรือเขาไม่รู้ว่ามันมีอยู่

รูปที่ ๓ สภาพระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินระหว่างทางเดินลงอีกมุมหนึ่ง

แม้แต่บันไดขึ้นลงระหว่างชั้นก็อยู่กลางตัวอาคาร วันไหนไฟฟ้าดับก็ต้องเดินขึ้นลงกัน มีวันหนึ่งตอนเย็นใกล้ค่ำไฟฟ้าดับ ก็เลยทำให้เห็นปัญหาว่าไฟฉุกเฉินที่ส่องเส้นทางขึ้นลงนั้นไม่ทำงาน คือถ้าเป็นตอนกลางวันเปิดประตูทิ้งไว้มันก็มีแสงสว่างจากภายนอกที่ส่องเข้าอาคาร ส่องเข้าทางประตูมาถึงบันได แต่พอตอนกลางคืนมันไม่มีแสงส่องเข้าอาคาร ก็เลยเห็นปัญหา ต้องใช้โทรศัพท์มือถือทำหน้าที่ไฟฉายส่องทางเดิน จากนั้นไม่นานบางชั้น (แต่ภาควิชาเป็นผู้รับผิดชอบชั้นที่ตัวเองใช้งาน) ก็มีการเปลี่ยนระบบไฟแสงสว่างฉุกเฉินที่ของเดิมเสื่อมสภาพ
 
แต่ตัวบันไดหนีไฟนั้นปรกติก็ไม่มีใครเขาใช้กัน ก็เลยคงทำให้ไม่มีใครเข้าไปตรวจสอบสภาพอุปกรณ์ เมื่อวันจันทร์เดินลงมา ๑๐ ชั้น ระบบไฟแสงสว่างฉุกเฉินก็เป็นแบบที่ถ่ายรูปมาให้ดูกัน โดยมีบางชั้นถูกถอดออกไปเลย เรียกว่าถ้าไฟฟ้าดับเมื่อใด ก็คงสนุกไม่แพ้การดำน้ำในถ้ำ ที่ทัศนวิสัยเป็นศูนย์
 
อันที่จริงที่ตัวเครื่องมีป้ายกระดาษติดเอาไว้ว่า จะแก้ไขในปีงบประมาณ ๒๕๖๑ แต่ ณ วันนี้เรียกว่าอีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะสิ้นปีงบประมาณแล้ว คงได้แต่รอดูว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อใด

วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2561

รู้ทันนักวิจัย (๑๖) เริ่มต้นดีใช่ว่าจะเดินต่อไปได้ดี MO Memoir : Sunday 19 August 2561

" ... ตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นกรณีของปัญหาที่เรียกว่า "Stiff equation" กล่าวคือตัวแปรหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนไปเข้าที่ที่ค่า ๆ หนึ่งในช่วงสั้น ๆ ในขณะที่ตัวแปรอีกตัวหนึ่งนั้นมีการเปลี่ยนแปลงที่ช้ากว่า ในกรณีเช่นนี้การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของตัวแปรตัวแรกเป็นตัวกำหนด step size ของการคำนวณว่าต้องใช้ความยาวช่วงก้าวที่สั้นมากในช่วงแรก แต่แม้ว่าพอพ้นช่วงที่ตัวแปรตัวแรกนั้นแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว (อย่างเช่นในตัวอย่างที่ยกมานี้จะเห็นว่า A มีค่าใกล้ศูนย์มากแล้ว) การเปลี่ยนแปลงในช่วงหลังจะเป็นของอีกตัวแปรหนึ่งเป็นหลัก (ในที่นี้คือ B) ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ แต่กลับพบว่าถ้าเลือกระเบียบวิธีคำนวณที่ไม่เหมาะสม จะไม่สามารถเพิ่มความยาวช่วงก้าวให้กว้างมากขึ้นได้ เพราะจะทำให้การคำนวณนั้นไม่มีเสถียรภาพ ดังเช่นที่เกิดกับระเบียบวิธีรุงเก-คุตตาอันดับ 4 ในที่นี้ (คือการแกว่งของคำตอบที่คำนวณได้) แต่ไม่เกิดกับระเบียบวิธีออยเลอร์โดยนัย
  ....
ปัญหาเช่นนี้เคยเห็นกับผู้ที่ทำวิจัยด้าน simulation ที่ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่ผู้อื่นสร้างเอาไว้ (เช่นเครื่องปฏิกรณ์เคมีหรือหอกลั่น) มาใช้เป็นแบบจำลองในงานของตัวเอง ก่อนที่จะทำการปรับเปลี่ยนพารามิเตอร์ของแบบจำลองนั้นหรือผลกระทบจากภายนอกที่จะมีต่อแบบจำลองนั้น โดยการทำงานนั้นผู้วิจัยมักจะนำเอาสมการจากบทความอ้างอิงมาเขียนเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์แล้วทดสอบโปรแกรมดังกล่าวด้วยการใส่พารามิเตอร์เดียวกันกับที่ใช้ในบทความอ้างอิง แล้วดูว่าคำตอบที่ได้นั้นเหมือนกับของบทความอ้างอิงนั้นหรือไม่ ถ้าพบว่าคำตอบที่ได้นั้นออกมาเหมือนกัน ก็จะถือว่าสมการแบบจำลองที่ตัวเองจะใช้งานต่อไปนั้นได้รับการยืนยันความถูกต้อง (verification) แล้ว
 ...
ปัญหามันเกิดขึ้นจากการที่ในช่วงค่าพารามิเตอร์ที่บทความที่อ้างอิงมานั้นใช้ ระเบียบวิธีที่บทความที่อ้างอิงมานั้นเลือกมาใช้ มันเหมาะสมกับพารามิเตอร์ในช่วงดังกล่าว แต่พอมีการปรับเปลี่ยนพารามิเตอร์ (คือไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับตัวโปรแกรม ทำเพียงแค่เปลี่ยนค่าตัวเลขที่ป้อนเข้าไปเท่านั้น) การคำนวณจะเกิดปัญหา ถ้าผู้วิจัยไม่รู้ว่าปัญหาเกิดจากระเบียบวิธิที่เลือกใช้นั้นใช้ไม่ได้กับพารามิเตอร์ในช่วงที่เขาทดลอง ก็มีสิทธิที่จะแปลผลคำตอบที่ได้ว่าเป็นการค้นพบใหม่
 ...
บางครั้งสิ่งที่พบเจอจากการคำนวณก็ไม่ใช่การค้นพบใหม่ แต่เป็นผลจากความไม่รู้ว่าเครื่องมือแต่ละชนิดมีข้อจำกัดอย่างไร และสถานการณ์ไหนควรเลือกใช้เครื่องมือตัวไหน ถ้ามันมีเครื่องมือตัวเดียวที่สามารถใช้งานได้ทุกสถานการณ์ ตัวโปรแกรมก็คงไม่ต้องมีตัวเลือกให้เลือกว่าจะเลือกใช้เครื่องมือตัวไหน ค่า default เป็นเพียงแค่ค่าเริ่มต้นที่ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ ไม่ใช่พารามิเตอร์ที่ห้ามแตะต้อง ..."

ดาวน์โหลดบทความ pdf ฉบับเต็มได้ที่ลิงค์นี้







วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561

การแก้สมการเชิงอนุพันธ์สามัญด้วยการใช้ Integrating factor MO Memoir : Wednesday 15 August 2561

"... ตัวอย่างของปฏิกิริยาประเภทนี้ในงานทางวิศวกรรมเคมีได้แก่ปฏิกิริยา partial oxidation และ thermal cracking ไฮโดรคาร์บอน ในปฏิกิริยา partial oxidation นั้น ไฮโดรคาร์บอนหรือสารอินทรีย์ตัวอื่นที่เป็นสารตั้งต้น (A) จะถูกออกซิไดซ์ด้วยออกซิเจนจากอากาศที่ป้อนเข้าไป โดยมีตัวเร่งปฏิกิริยาช่วยเพื่อให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์สารประกอบ oxygenate (B) แต่ทั้งนี้เวลาที่ใช้ในการออกซิไดซ์นั้นต้องเหมาะสม คือไม่มากและไม่น้อยเกินไป (ในกรณีของ tubular reactor เวลาที่ใช้ในการออกซิไดซ์ก็คือความยาวของตัว reactor หารด้วยความเร็วที่สารตั้งต้นไหลผ่าน) ในกรณีของปฏิกิริยา thermal cracking นั้น ไฮโดรคาร์บอนโมเลกุลใหญ่ที่เป็นสารตั้งต้นจะได้รับความร้อนจนโมเลกุลแตกออกเป็นโมเลกุลที่เล็กลง ตัวอย่างของปฏิกิริยานี้ได้แก่การเปลี่ยนน้ำมันหนัก (เช่นน้ำมันเตา) ให้กลายเป็นน้ำมันเบา (เช่น เบนซินและดีเซล) และการผลิตโอเลฟินส์ (เช่นเอทิลีนและโพรพิลีน)
 
ในกรณีที่เวลาที่ใช้ในการทำปฏิกิริยานั้นสั้นเกินไป สารตั้งต้น (A) ก็จะทำปฏิกิริยาไปได้ไม่มาก อาจต้องมีการติดตั้งกระบวนการนำกลับ (recycle) เพื่อนำสารตั้งต้นที่เหลือนั้นมาใช้ใหม่ แต่ถ้าใช้เวลาในการทำปฏิกิริยานานเกินไป ผลิตภัณฑ์หลักที่ต้องการ (B) จะมีการสลายตัวต่อไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องการ (C) มากเกินไป ทำให้เกิดการสูญเสีย โดยในกรณีของปฏิกิริยา partial oxidation สาร C ก็คือ CO2 ส่วนปฏิกิริยา thermal cracking นั้น ในกรณีของการผลิตน้ำมันเบาที่ต้องการใช้เป็นเชื้อเพลิงเหลว สาร C ก็จะเป็นพวกโมเลกุลที่เป็นแก๊ส (C1 - C5) และถ้าเป็นกระบวนการผลิตโอเลฟินส์ สาร C ก็จะเป็นพวก อะเซทิลีน (acetylene C2H2) และมีเทน (methane CH4) เป็นต้น
 
ในกรณีของปฏิกิริยาเหล่านี้ ณ อุณหภูมิหนึ่ง ค่าคงที่ของการเปลี่ยนจาก A เป็น B (ค่า k1) จะมีค่าสูงกว่าค่าคงที่ของการเปลี่ยนจาก B เป็น C (ค่า k2) ดังนั้นคำถามที่มักเกิดขึ้นกับปฏิกิริยาเช่นนี้คือควรต้องใช้เวลาในการทำปฏิกิริยานานเท่าใด จึงจะได้ B มากที่สุด..."


"... ค่าคงที่อัตราการเกิดปฏิกิริยาหรือค่า k นั้นเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิในรูปของฟังก์ชัน exponential เมื่ออุณหภูมิการทำปฏิกิริยาเพิ่มสูงขึ้น ค่า k1 และ k2 ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลต่อเวลาที่จะทำให้ได้ค่า B มากที่สุด ตัวอย่างเช่นในกรณีของ tubular fixed-bed catalytic reactor เมื่อใช้งานไปเรื่อย ๆ ความว่องไวในการทำปฏิกิริยาของตัวเร่งปฏิกิริยาจะลดต่ำลง ทำให้ค่า conversion ลดต่ำลง เพื่อที่จะรักษาค่า conversion ให้คงเดิม ก็อาจต้องการทำการ 
 
(ก) ลดอัตราการไหลของสารตั้งต้นให้ต่ำลง เพื่อให้มีเวลาการทำปฏิกิริยานานขึ้น และ/หรือ
(ข) เพิ่มอุณหภูมิการทำปฏิกิริยา เพื่อให้ปฏิกิริยาเกิดเร็วขึ้น 
 
ส่วนวิธีการไหนจะเหมาะสมกว่ากันนั้น คงต้องพิจารณาเป็นรายปฏิกิริยาไป ..."

ท้ายสุดก็ต้องขอต้อนรับสมาชิกใหม่ทั้ง ๓ คนของกลุ่ม ที่เปิดเทอมไปเมื่อวาน โดย Memoir ฉบับนี้จะเป็นฉบับแรกที่จัดส่งให้ทางอีเมล์ ที่จะจัดส่งให้เรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงวันรับพระราชทานปริญญาบัตร