วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เป้าหมายคือโรงไฟฟ้าวัดเลียบ ไม่ใช่สะพานพุทธ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๘๘) MO Memoir : Sunday 15 February 2558

ปีนี้จะเป็นปีครบรอบ ๗๐ ปีของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ และครบรอบ ๔๐ ปีของการสิ้นสุดสงครามเวียดนาม บังเอิญว่ามีเอกสารเก่าที่ค้นเจอเมื่อ ๒-๓ ปีที่แล้วเกี่ยวกับการโจมตีทิ้งระเบิดเป้าหมายในกรุงเทพ ก็เลยถือโอกาสคัดมาบางส่วนมาเล่าสู่กันฟัง
  
เอกสารแรกชื่อ Air Objective Folder Thailand จัดทำขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีค.ศ. 1943 (พ.ศ. ๒๔๘๖) เป็นเอกสารที่รวบรวมเป้าหมายทางทหารต่าง ๆ ในกรุงเทพ ส่วนอีกอันหนึ่งเป็นรูปภาพที่ค้นเจอจาก http://www.awm.gov.au หรือพิพิธภัณฑ์ที่ระลึกถึงสงครามของทหารออสเตรเลีย
  
ในช่วงเวลานั้นแนวรบระหว่างอังกฤษกับญี่ปุ่นนั้นยังอยู่ในประเทศพม่า ด้านติดพรมแดนอินเดีย เส้นทางที่ทางอังกฤษจะส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดเมืองไทยได้อย่างปลอดภัยก็คือทางทะเล โดยการบินอ้อมออกทะเล (หลีกเลี่ยงการตรวจจับทางบก) และโจมตีเส้นทางรถไฟสายใต้ของไทย แต่นั่นก็หมายถึงระยะการบินที่เรียกว่าแทบจะสุดพิสัยบินของเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ใช้อยู่ในสมรภูมิทางด้านนี้ในขณะนั้น
  
รูปที่ ๑ แผนที่กรุงเทพจากเอกสาร Air Objective Folder Thailand, Issues February 1, 1943 เป้าหมายที่ 26 คือโรงไฟฟ้าวัดเลียบ และเป้าหมายที่ 61 คือสะพานพุทธ

รูปที่ ๒ ภาพถ่ายที่ตั้งโรงไฟฟ้าวัดเลียบ และคำบรรยายเป้าหมาย

ในการรบนั้น นอกจากแนวภูเขาแล้ว แม่น้ำที่มีความกว้างมากจัดเป็นปราการธรรมชาติที่สำคัญในการเคลื่อนทัพทางบก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ สมรภูมิแนวรบด้านตะวันออกระหว่างเยอรมันกับรัสเซีย (Eastern front) แม่น้ำมีบทบาทสำคัญมากในการวางแนวตั้งรับ (เพราะดินแดนดังกล่าวไม่มีภูเขาสูงขวางกั้น) หลายการรุกที่สำคัญในแนวรบด้านนี้เป็นการเคลื่อนจากแนวแม่น้ำเส้นหนึ่งไปยังอีกเส้นหนึ่ง เมืองที่เป็นสมรภูมิรบที่สำคัญถ้าไม่ใช่เมืองที่เป็นชุมทางรถไฟ ก็เป็นเมืองที่มีสะพานข้ามแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ ในช่วงแรกที่เยอรมันบุกรัสเซียนั้นมีการส่งกองกำลังทางอากาศเข้าทำลายเป้าหมายต่าง ๆ เว้นแต่สะพาน เพราะเยอรมันต้องการใช้สะพานต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นจุดในการยกพลข้ามแม่น้ำ ส่วนทางฝ่ายรัสเซียเองนั้นก็ต้องตัดสินใจว่าจะทำลายสะพานต่าง ๆ ทิ้งหรือไม่ เพื่อชะลอการเคลื่อนทัพของเยอรมัน แต่ถ้าทำลายสะพานเสียก็จะทำให้เกิดปัญหาในการยกพลตีโต้กลับยึดเอาดินแดนของตนอีกฝั่งแม่น้ำกลับคืน ตรงนี้เป็นปัญหาที่ผู้นำทัพต้องตัดสินใจ (สภาพรัสเซียในเวลานั้นถนนในรัสเซียไม่อยู่ในสภาพที่ดีและใช้ได้ทั้งปี การเดินทางอาศัยรถไฟเป็นหลัก เมืองที่เป็นชุมทางรถไฟโดยเฉพาะในแนวเหนือ-ใต้จัดเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เช่น Kursk)
  
ตัวอย่างของกรณีของการตัดสินใจผิดพลาดเรื่องการทำลายสะพานในระหว่างการรบในสมรภูมิที่ใกล้บ้านเราเห็นจะได้แก่กรณีของการทำลายสะพานข้ามแม่น้ำ Sittang (คงเป็นแม่น้ำที่ไทยเรียกแม่น้ำสะโตง) ในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๒ (พ.ศ. ๒๔๘๕) ที่กองทัพอังกฤษตัดสินใจทำลายสะพานข้ามแม่น้ำดังกล่าวเพื่อหยุดการรุกของกองทัพญี่ปุ่นเข้าสู่กรุ่งย่างกุ้ง แต่การระเบิดสะพานดังกล่าวทิ้งกระทำเร็วเกินไป เพราะยังมีทหารกองพลที่ ๑๗ ของกองทัพอังกฤษติดค้างอยู่อีกฟากหนึ่งของสะพาน ทำให้ต้องสูญเสียกองพลดังกล่าวไป (วันที่การทำลายสะพานอิงจากหนังสือ "Forgotten Voices of Burma" ของ Julian Thompson, 2010)


รูปที่ ๓ ภาพถ่ายสะพานพุทธ และคำบรรยายเป้าหมาย แต่ดูเหมือนว่าคำบรรยายเป้าหมายจะใช้ชื่อสะพานผิดว่าเป็นสะพานพระราม ๗ (Rama VII)

กรณีของการเก็บสะพานไว้ใช้ประโยชน์ในการตีรุกโต้กลับเห็นจะได้แก่ปฏิบัติการ Operation Magket-Garden ที่กองทัพสัมพันธมิตรวางแผนจะยึดสะพานข้ามแม่น้ำ ๓ แห่งในยุโรปตะวันตกพร้อม ๆ กันโดยใช้พลร่มส่งทางอากาศของกองทัพสหรัฐและอังกฤษ (แต่ทำสำเร็จแค่ ๒ สะพาน อีกสะพานหนึ่งที่เมื่อ Arnhem ยึดไม่สำเร็จ จนมีการเอาไปสร้างเป็นภาพยนต์เรื่อง "A Bridge to Far") เหตุที่สะพานทั้งสามนี้ไม่ถูกทำลายคงเป็นเพราะเป็นสะพานที่อยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ และจำเป็นต้องใช้ในการเคลื่อนทัพเข้าประชิดพรมแดนเยอรมัน
  
กรณีหนึ่งที่สำคัญของการทำลายสะพานไม่ทันเวลาได้แก่ Ludendorff bridge ที่เมือง Remagen ที่กองทัพสหรัฐยึดสะพานได้ก่อนที่กองทัพเยอรมันจะทำลายสะพานดังกล่าวได้ทันเวลา ทำให้สามารถส่งทหารส่วนหนึ่งข้ามแม่น้ำไรน์ได้ก่อนที่สะพานดังกล่าวจะพังลงในอีกประมาณสิบวันถัดมา (แต่นั่นก็เพียงพอสำหรับยึดฝั่งตรงข้าม) และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแผนการรบของกองกำลังพันธมิตรในแนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์นี้มีการนำไปสร้างเป็นภาพยนต์เรื่อง "The Bridge at Remagen"
  
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศไทยเองมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ ๒ สะพานด้วยกัน สะพานแรกที่สร้างคือสะพานพระราม ๖ ซึ่งเป็นสะพานสำหรับรถไฟ เป็นเส้นทางเชื่อมทางรถไฟสายใต้กับตะวันตกเข้ากับสายเหนือและสายตะวันออก ในเวลานั้นที่ตั้งสะพานพระราม ๖ ต้องถือว่าอยู่ห่างไกลตัวเมือง อีกสะพานหนึ่งเห็นจะได้แก่สะพานพุทธที่เป็นสะพานสำหรับยวดยานและคนสัญจร สะพานนี้จัดได้อย่างอยู่กลางเมืองหลวง
  
การเดินทางไปยังจังหวัดต่าง ๆ ที่อยู่ห่างไกลของประเทศไทยในเวลานั้นถือได้ว่าวิธีการที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดคือเส้นทางรถไฟ รองลงมาคงเป็นทางเรือ เพราะเส้นทางถนนยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าใดนัก (แผนการเดิมที่ไทยเคยมีคือใช้สถานีรถไฟเป็นศูนย์กลาง แล้วสร้างถนนกระจายออกจากสถานีรถไฟ ดังนั้นจึงไม่ได้เน้นไปที่การสร้างถนนเชื่อมระหว่างจังหวัดต่าง ๆ)



รูปที่ ๔ ภาพจาก http://www.awm.gov.au/view/collection/item/P01932.004/ พร้อมคำบรรยายภาพดังนี้  Bangkok, Thailand. 1945-10. When the Allies began bombing raids on Thailand (then Siam), the Siamese opened this lift bridge and left it open for the duration of the war, consequently this bridge was never bombed. Photographed by the War Graves Commission survey party. (Donor B. Evans)

ด้วยเหตุนี้เส้นทางรถไฟจึงเป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญเป้าหมายหนึ่งในการทำลายเพื่อหยุดยั้งการส่งกำลังบำรุงของกองทัพญี่ปุ่นเข้าไปในพม่า ถัดมาก็เป็นประตูน้ำที่อยู่ในเส้นทางตามคลองต่าง ๆ ที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาไปจนถึงแม่น้ำแม่กลอง
  
กรณีของสะพานพุทธก็เป็นประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะมีเรื่องเล่ากันไปต่าง ๆ นานาว่าทำไปถึงไม่โดนทิ้งระเบิด จะว่าไปแล้วการทิ้งระเบิดสะพานพุทธในช่วงท้ายสงครามนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพราะสะพานพระราม ๖ ก็ยังถูกทิ้งลงกลางสะพานได้อย่างแม่นยำ ทางกองทัพสัมพันธมิตรก็มีระเบิดบังคับวิทยุทิ้งจากเครื่องบินที่เรียกว่า Azon bomb มาใช้ในช่วงท้ายของสงคราม และก็ถูกนำใช้ในประเทศไทยด้วย (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Memoir ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๗๘๕ วันเสาร์ที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๗ เรื่อง "การทิ้งระเบิดเส้นทางรถไฟไปจังหวัดระนอง(ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำตอนที่ ๖๒)")
  
เว็บของ Autralian War Memorial เป็นเว็บไซด์หนึ่งที่มีภาพประวัติศาสตร์ของสมรภูมิต่าง ๆ ที่มีทหารออสเตรเลียเข้าร่วมร่ม ซึ่งรวมทั้งสมรภูมิในมลายูและพม่าด้วย รูปหนึ่งที่ไปพบก็คือรูปสะพานพุทธที่นำมาแสดงในรูปที่ ๔ ข้อมูลในรูประบุว่ารูปนี้ถ่ายเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (หลังสงครามสิ้นสุดแล้ว) คำบรรยายรูปกล่าวไว้ว่าไทยตัดสินใจเปิดสะพานพุทธขึ้นค้างไว้ตลอดช่วงสงคราม (สะพานบ้านเราแต่ก่อนจะมีสะพานพุทธและสะพานกรุงเทพที่เปิดได้เพื่อให้เรือขนาดใหญ่เดินทางลำน้ำเจ้าพระยาได้) ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สะพานพุทธ "ไม่ถูกทิ้งระเบิด" ("ไม่ใช่เป้าหมายของการทิ้งระเบิด" น่าจะตรงกว่า)
  
รูปที่ ๕ ภาพจาก http://www.awm.gov.au/view/collection/item/SUK14261/ พร้อมคำบรรยายภาพดังนี้ Bangkok, Thailand. 1945-04-14. RAF Liberator aircraft of the Strategic Air Force, Eastern Air Command, dropped eighty 1,000 lb bombs on the Thai government electric power plant. The power house, which was built of concrete and bricks, was destroyed. Adjacent buildings and a large warehouse were extensively damaged.

เป้าหมายของการทิ้งระเบิดที่ถูกต้องที่อยู่บริเวณนั้นเห็นจะได้แก่โรงไฟฟ้าที่อยู่ข้างวัดเลียบ (รูปที่ ๒) ที่ได้รับการระบุว่าเป็นโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในขณะนั้น และนี่คงเป็นเหตุผลว่าทำไมสถานที่ต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ บริเวณนั้น ไม่ว่าจะเป็นสะพานพุทธ โรงเรียนสวนกุหลาบ หรือย่านการค้าต่าง ๆ จึงพลอยโดยลูกหลงไปด้วย
  
รูปที่ ๕ และ ๖ เป็นภาพหลังการทิ้งระเบิดโรงไฟฟ้าที่วัดเลียบ โดยระบุวันที่ว่าเป็นวันที่ ๑๔ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕ (พ.ศ. ๒๔๘๘) ซึ่งขาดเพียงเดือนเศษ ๆ ก็จะครบรอบ ๗๐ ปีแล้ว คำบรรยายรูปที่ ๖ จะเห็นใช้คำว่า "Menan River" ซึ่งก็คือแม่น้ำเจ้าพระยานั่นเอง

รูปที่ ๖ ภาพจาก http://www.awm.gov.au/view/collection/item/SUK14260/ พร้อมคำบรรยายภาพดังนี้ Bangkok, Thailand. 1945-04-14. On Saturday, RAF Liberator bomber aircraft of Strategic Air Force, Eastern Air Command, bombed the Thai Government electric power plant in daylight. This very heavy raid may have seriously disrupted the city's transport. The plant supplies the whole of the south side with light and power besides the tramway network and has an output of 19,000,000 units per year. The RAF bombers were making a 2,200 mile round trip to Bangkok and going in to attack singly from several directions loosed eighty 1,000 lb bombs in a dense concentration on the power house which lies on the east bank of the Menan River. A 5,000 ft column of smoke was visible to the crews thirty miles away from the city.

ไม่มีความคิดเห็น: