วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2565

สถานีรถไฟบางเค็ม MO Memoir : Wednesday 29 June 2565

การมีรถไฟทางคู่ ทำให้รถไฟที่วิ่งสวนกันไม่ต้องรอหลีกกัน และด้วยการที่เส้นทางถนนมีการพัฒนาขึ้นมาก ทำให้คนส่วนใหญ่ย้ายการเดินทางไปเป็นทางรถยนต์แทน ไม่เหมือนกับเมื่อก่อนที่บางท้องที่จะใช้เรือเดินทางมายังสถานีรถไฟ เพื่อเดินทางต่อไป เช่นที่สถานีวัดงิ้วรายที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟเข้ากรุงเทพและล่องใต้ และเรือที่ล่องขึ้นลงตามแม่น้ำท่าจีนไปยังจังหวัดสุพรรณบุรี ทำให้บางสถานีถูกลดสถานะเหลือเป็นแค่เพียงป้ายหยุดรถสำหรับรถบางขบวน (เช่นสถานีบ้านฉิมพลี สถานีรถไฟคลองมหาสวัสดิ์) ก็เลยทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า จำเป็นไหมที่สถานีที่ยังมีขบวนรถจอดอยู่แต่ไม่ได้มีผู้ใช้งานมากเหมือนในอดีต จำเป็นต้องสร้างอาคารสถานีที่มีขนาดใหญ่เหมือนกับสถานีที่ยังมีผู้ใช้งานมากอยู่ เพราะที่ไปถ่ายรูปมาหลายสถานี มันเหมือนกับว่าตัวอาคารใช้แบบก่อสร้างเดียวกัน หรือว่าเมื่อรถไฟทางคู่เสร็จสมบูรณ์ การเดินทางด้วยรถไฟก็จะมีความรวดเร็วขึ้นอีก ทำให้อาจมีผู้โดยสารมากขึ้นกว่าเดิม เลยต้องสร้างสถานีรองรับเอาไว้ก่อน

แม้ว่ารถไฟทางคู่ทำให้ขบวนรถที่วิ่งสวนกันไม่ต้องหยุดรอหลีก แต่ความจำเป็นเพื่อให้ขบวนรถจอดรอหรือให้คันมาข้างหลังแซงไปข้างหน้าก็ยังคงมีอยู่ อย่างเช่นที่ไปเจอที่สถานีวัดงิ้วราย ที่รถสินค้าต้องจอดรอให้พ้นชั่วโมงเร่งด่วนก่อนถึงจะวิ่งผ่านกรุงเทพไปได้ แต่ขบวนรถโดยสารยังวิ่งเข้าตามเวลาปรกติ ก็เลยต้องมีรางหลีกเพื่อให้ขบวนรถโดยสารที่ตามหลังมาวิ่งแซงขึ้นไป หรือในกรณีที่เส้นทางข้างหน้าไม่สามารถผ่านได้ ก็ต้องมีสถานีที่สามารถรองรับรถไฟหลายขบวนมาจอดรอได้ เช่นเหตุการณ์ช่วงประมาณต้นปีนี้ที่มีปัญหาคอสะพานพระราม ๖ ทรุดตัว ทำให้รถไฟสายใต้ไม่สามารถวิ่งเข้ากรุงเทพได้ ต้องไปจอดออเรียงแถวกันที่สถานีบางบำหรุที่เป็นสถานีสุดท้ายก่อนถึงสะพานพระราม ๖ ซึ่งในอดีตสถานีนี้เป็นสถานีชุมทางสำหรับทางรถไฟขนถ่านหินที่แยกไปยังโรงจักรพระนครเหนือ ทำให้มีรางสำหรับจอดขบวนรถหลายราง แต่ตอนนี้มึเพียงแค่ให้ขบวนรถวิ่งสวนกันคนละทางแค่นั้นเอง (ไม่นับรวมของขบวนรถไฟฟ้าสายสีแดงนะ)

รูปที่ ๑ จากแผนที่ทหารจัดทำโดยกองทัพอังกฤษช่วงปีค.ศ. ๑๙๔๕ (พ.ศ. ๒๔๘๘ หรือช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่ ๒) สอบเทียบกับตำแหน่งแผ่นที่ปัจจุบัน ตรงที่ระบุว่าเป็นสถานี "คลองประดู่" ก็คือสถานี "บางเค็ม" ในปัจจุบัน

ช่วงปีนี้ไม่ค่อยจะได้เขียนบทความวิชาการอะไรเท่าไรนัก อาจเป็นเพราะว่าที่อยากเขียนก็เขียนไปเกือบหมดแล้ว เพราะเห็นว่าความรู้ที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นได้นั้น ยิ่งรีบให้ก็ยิ่งดี ประจวบกับตั้งแต่ปลายปีที่แล้วที่ผ่านมา รับงานวิจัยเข้ามา ๒ เรื่องที่ตัวเองเป็นผู้วิจัยหลัก ก็เลยเอาสมาธิไปจดจ่อกับเรื่องงานมากกว่า ทำให้ไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งหนึ่งที่อยากทำ นั่นก็คือการไปถ่ายรูปสถานีรถไฟตามเส้นทางต่าง ๆ ก่อนที่มันจะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งก็พบว่าสำหรับเส้นทางสายใต้ที่อยู่ใกล้กรุงเทพนั้น จำนวนไม่น้อยถูกรื้อทิ้งไปแล้ว ด้วยความจำเป็นในการสร้างรถไฟทางคู่และการปรับรูปแบบชานชลา ทำให้ต้องมีการย้ายตำแหน่งสถานีและแนวราง และยกระดับพื้นชานชลาให้สูงกว่าเดิม

รูปที่ ๒ แผนที่ทหาร L509 จัดทำในปีพ.ศ. ๒๔๙๘ โดยกองทัพสหรัฐอเมริกา สถานีบางเค็มจะอยู่ตรงบริเวณดาวสีแดง จะเห็นว่าทางด้านฝั่งตะวันออกของทางรถไฟไปจนจรดอ่าวไทย ยังเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำหรือป่าชายเลนอยู่

เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาต้องไปร่วมงานสัมมนาภาควิชาที่หัวหิน เนื่องด้วยขับรถไปเองก็เลยสามารถแวะถ่ายรูประหว่างทางได้ และสถานีที่แวะเข้าไปคือสถานีบางเค็มที่อยู่ตรงเขตรอยต่อระหว่างจังหวัดสมุทรสงครามและเพชรบุรี วันที่เข้าไปถ่ายรูปนั้นไม่เหลือตัวอาคารสถานีเดิมให้เห็นแล้ว มีการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟเพื่อให้คนและรถมอเตอร์ไซค์ผ่านไปได้ ส่วนรถยนต์ต้องไปวิ่งทางอื่น จริงอยู่ที่การก่อสร้างสะพานลอยข้ามมันช่วยลดอุบัติเหตุตรงจุดตัดทางรถไฟ และไม่ต้องเสียเวลารอเวลาที่รถไฟผ่านมา แต่ถ้ามองจากมุมมองของผู้ใช้เส้นทางที่ใช้แรงขาปั่นรถซาเล้งหรือคนสูงอายุที่ประสงค์จะเดินข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งแล้ว มันเหมือนกับการสร้างกำแพงสร้างความยากลำบากให้พวกเขาในการเดินทางข้ามไปยังอีกฝั่งหนึ่งที่เห็นอยู่ใกล้ ๆ

ฉบับนี้ก็ถือว่าเป็นการดูรูปถ่ายสถานที่ธรรมดาแห่งหนึ่งเล่น ๆ ก็แล้วกัน เอาไว้พอการก่อสร้างแล้วเสร็จค่อยกลับมาดูกันใหม่ว่า สถานที่นี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

รูปที่ ๓ มองไปทิศทางมุ่งใต้ สะพานที่เห็นคือสะพานสำหรับคนเดิมข้ามและรถมอเตอร์ไซค์วิ่งข้าม 


รูปที่ ๔ ยังเป็นมุมมองไปยังทิศทางมุ่งใต้ แต่เดินเลยตัวสะพานข้ามทางรถไฟ จะเห็นมีทางแยกเบี่ยงซ้ายออกไปด้วย

รูปที่ ๕ ตัวสถานีเดิมไม่เหลือร่องรอย ของเก่าที่ยังเหลือคือเสารับ-ส่งห่วงทางสะดวก โครงสร้างที่เห็นคือชานชลาที่จะยกสูงระดับเดียวกับตัวรถ รูปนี้มองไปยังทิศทางที่มาจากปากท่อ

รูปที่ ๖ มองย้อนลงทิศทางมุ่งใต้ ทั้งตัวอาคารและชานชลายังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

รูปที่ ๗ มีรถไถสำหรับเดินทางไปตามรางรถไฟจอดอยู่ด้วย 

 

รูปที่ ๘ ป้ายชื่อเก่าที่ยังคงเก็บรักษาไว้

รูปที่ ๙ ตารางเวลารถไฟที่หยุดที่สถานีนี้

รูปที่ ๑๐ เครื่องชั่งน้ำหนักสัมภาระ ที่ยังเห็นได้อยู่ตามสถานีรถไฟเก่า ๆ ตามเส้นทางนอกเมือง

รูปที่ ๑๑ อีกมุมมองที่มองย้อนขึ้นไปทางเส้นทางที่มาจากปากท่อ

ไม่มีความคิดเห็น: