ในการไทเทรตกรด-เบสนั้น แต่ก่อนจะมีการสอนกันว่าให้เอากรดใส่บิวเรตเป็นหลัก (โดยไม่คำนึงว่ากรดนั้นเป็นตัวอย่างหรือสารมาตรฐาน) และให้เอาสารละลายที่เป็นเบสใส่ใน flask
แต่ในปัจจุบันดูเหมือนว่าคำสอนดังกล่าวจะหายไป
สิ่งที่น่าคิดคือทำไมคำสอนดังกล่าวจึงหายไป
เป็นเพราะว่าคำสอนดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้อง เป็นเพียงความเชื่อ ไม่มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ หรือ
อุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอนในอดีตกับปัจจุบันไม่เหมือนกัน หรือ
คนรุ่นถัดมาไม่ให้ความสำคัญกับวิธีการปฏิบัติดังกล่าว ฯลฯ
รูป 2 รูปข้างล่างให้คำตอบว่าเพราะเหตุใดคำสอนดังกล่าวจึงหายไป
รูปที่ 1 บิวเรตที่ใช้ stop cock ที่ทำจากแก้ว
รูปที่ 2 บิวเรตที่ใช้ stop cock ทำจาก teflon
รูปที่ 1 แสดงบิวเรตที่ใช้กันในอดีต โดย stop cock นั้นจะทำจากแก้ว ส่วนรูปที่ 2 แสดงบิวเรตที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบันที่ใช้ stop cock ที่ทำจากเทฟลอน
แก้วเป็นวัสดุที่ทนกรดได้ดี (ยกเว้นกรดกัดแก้ว (HF)) แต่จะไม่ทนกับด่าง โดยเฉพาะกับด่างที่มีความเข้มข้นสูง หรือต้องสัมผัสเป็นเวลานาน เพราะด่างจะทำลายผิวแก้ว และอาจทำให้บริเวณผิวสัมผัสติดแน่น กล่าวคือถ้าเป็น stop cock ก็จะทำให้ stop cock ติดแน่นจนไม่สามารถหมุนได้ ถ้าเป็นฝาขวด reagent ก็จะทำให้ฝาขวดติดแน่นจนเปิดขวดไม่ได้ ถ้าเป็นกรณีของผิวภาชนะบรรจุก็จะเห็นผิวภาชนะบรรจุเป็นฝ้า ไม่ใสเหมือนเดิม
ปฏิกิริยาการทำลายผิวแก้วโดยด่างดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ใช้เวลาพอสมควร ปัญหาจะเกิดขึ้นถ้าเราเก็บด่างไว้ในภาชนะหรืออุปกรณ์เหล่านี้เป็นเวลานาน เช่นเมื่อใช้เสร็จแล้วไม่ทำการระบายด่างทิ้งและล้างอุปกรณ์ให้สะอาด
ดังนั้นในอดีต เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับบิวเรต ก็เลยมีการสอนกันว่าให้เอากรดใส่บิวเรตเสมอ ส่วน flask นั้นถึงจะโดนด่างทำลายพื้นผิวไปบ้างก็ไม่เป็นไร ยังใช้งานได้เหมือนเดิม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น