วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สัมมนา - มันคืออะไร MO Memoir : วันจันทร์ที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๒

เป็นเรื่องปรกติที่ข้อบังคับของหลักสูตรในประเทศไทยนั้นกำหนดให้นิสิตทุกคนที่เรียนโทหรือเอกจำเป็นต้องมีการเรียนวิชาสัมมนา สำหรับที่จุฬาฯ เองนั้นเดิมกำหนดไว้เพียงแค่ต้องเรียนกี่หน่วย แต่ปัจจุบันสำหรับนิสิตป.เอกได้เปลี่ยนเป็นแม้ว่าจะเรียนผ่านจำนวนบังคับขั้นต่ำแล้ว แต่ถ้ายังไม่สำเร็จการศึกษาก็ให้ลงเรียนทุกเทอมต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะจบ

กฎเกณฑ์ดังกล่าวก็ทำให้เกิดเรื่องน่าคิดขึ้น กล่าวคือมีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในคณะหนึ่ง มีป.เอกผู้หนึ่งสอบผ่านวิชาสัมมนา (ได้เกรด S) มาตลอดแต่มาพลาดเอาตอนเทอมสุดท้ายที่สอบวิทยานิพนธ์ (อาจเป็นเพราะเข้าเรียนไม่ครบ) แม้ว่าสอบวิทยานิพนธ์ผ่านก็ไม่ได้รับอนุมัติให้จบการศึกษา ก็เลยมีการตั้งคำถามขึ้นมาว่าถ้าก่อนหน้านั้นไม่เข้าเรียนวิชาสัมมนาและได้เกรด U มาตลอด พอเทอมสุดท้ายเกิดนึกขยันเรียนและสอบผ่าน (ได้เกรด S) และสอบวิทยานิพนธ์ผ่าน ก็จะได้รับอนุมัติให้สำเร็จการศึกษาไปใช่ไหม คำตอบก็คือใช่ ใครได้ยินเรื่องแบบนี้แล้วก็รู้ได้ทันทีเลยว่าถ้ายังไม่สอบวิทยานิพนธ์ก็ไม่ต้องสนใจวิชาสัมมนา (แต่มีข้อแม้นะว่าต้องเรียนผ่านจำนวนขั้นต่ำเรียบร้อยแล้ว) เอาไว้เทอมสุดท้ายที่จะสอบวิทยานิพนธ์ค่อยสนใจก็พอ

ทีนี้วิชาสัมมนามันเป็นอย่างไร ที่เคยมีประสบการณ์ในบ้านเราก็พอจะแบ่งออกได้เป็นรูปแบบดังนี้

รูปแบบที่ 1 อาจารย์สอนบรรยายอย่างเดียว (เช่น Seminar I ของป.โท)

รูปแบบที่ 2 เชิญบุคคลภายนอกมาบรรยาย

รูปแบบที่ 3 ให้นิสิตนำงานขึ้นมานำเสนอ แล้วเปิดให้มีการซักถาม (เช่น Seminar II ของป.โท)

รูปแบบที่ 1 และ 2 จะเหมือนกันตรงที่ผู้เข้าเรียนทำหน้าที่เป็นผู้ฟังเป็นหลัก และมักจะมีการเปิดโอกาสให้ซักถามในช่วงท้าย โดยทั่วไปหัวข้อที่นำมาสอนมักจะเป็นวิธีการนำเสนอ (จะเน้นไปที่ "พูดอย่างไรให้คนเชื่อ" แต่ไม่เคยมีใครสอนเรื่อง "ฟังอย่างไรไม่ให้ถูกหลอก" ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า) หรือเป็นหัวข้อที่ทางผู้จัดคิดว่าน่าสนใจและอยากให้ผู้เรียนได้รับรู้ (แต่จริง ๆ แล้วผู้เรียนจะสนใจหรือเปล่าก็ไม่รู้) ส่วนรูปแบบที่ 3 ที่เจอกันมานั้น นิสิตมักเอางานที่ตัวเองเกี่ยวข้องหรือจะใช้เป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์มาพูดให้เพื่อนฟัง (บางรายก็เอาไอ้ที่เตรียมไว้สอบโครงร่างมานำเสนอเลยเพราะมันง่ายดีไม่ต้องเตรียมใหม่อีก) คำถามที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำตอนเริ่มสอนสัมมนาคือการสัมมนาควรจะเป็นไปในรูปแบบใด แต่ผมว่าที่สำคัญกว่านั้นคือวิชาสัมมนาที่เราลอกเอาของต่างชาติมานั้น เขาต้องการอะไร และการที่จะบรรลุความต้องการดังกล่าวได้ ตัวผู้เข้าร่วมต้องมีความพร้อมในด้านใดบ้าง

ใน encyclopedia wikipedia (http://en.wikipedia.org/wiki/Seminar) ได้ให้คำจำกัดความของการสัมมนาไว้ดังนี้

Seminar is, generally, a form of academic instruction, either at a university or offered by a commercial or professional organization. It has the function of bringing together small groups for recurring meetings, focusing each time on some particular subject, in which everyone present is requested to actively participate. This is often accomplished through an ongoing Socratic dialogue with a seminar leader or instructor, or through a more formal presentation of research. Normally, participants must not be beginners in the field under discussion (at US universities, seminar classes are generally reserved for upper-class students, although at UK and Australian universities seminars are often used for all years). The idea behind the seminar system is to familiarize students more extensively with the methodology of their chosen subject and also to allow them to interact with examples of the practical problems that always crop up during research work. It is essentially a place where assigned readings are discussed, questions can be raised and debates conducted. It is relatively informal, at least compared to the lecture system of academic instruction.

In some European universities, a seminar may be a large lecture course, especially when conducted by a renowned thinker (regardless of the size of the audience or the scope of student participation in discussion).

ประเด็นหลักที่อยากให้พิจารณาในคำจำกัดความดังกล่าวคือคุณลักษณะการสัมมนาดังนี้

คุณลักษณะที่ 1 เป็นการพบปะกันเป็นระยะบนหัวข้อเฉพาะ และต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วม

คุณลักษณะที่ 2 มักจะดำเนินการด้วยวิธี Socratic dialogue (เดี๋ยวจะว่ากันอีกที)

คุณลักษณะที่ 3 ค่อนข้างจะไม่เป็นทางการเมื่อเทียบกับวิชาสอนบรรยายทั่วไป

จากประสบการณ์ที่ได้มีส่วนร่วมในการสอนสัมมนามาหลายปีทั้งป.โทและป.เอกนั้น เป็นเรื่องปรกติที่จะพบว่าไม่สามารถทำให้การสัมมนาเป็นไปตามคุณลักษณะทั้ง 3 พร้อมกันได้ และถ้าจะว่ากันโดยตรงคือแม้แต่เพียงข้อเดียวก็ยากที่จะกระทำได้ ทั้งนี้เพราะพื้นฐานทางสังคม วัฒนธรรม และการเรียนการสอน ของเราไม่เหมือนของต่างชาติที่เราไปลอกเขามา

ลองดูคุณลักษณะแรกก่อน โดยเฉพาะตรงที่ "ต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วม" การที่ทุกคนจะมีส่วนร่วมได้นั้นทุกคนต้องมีความสนใจและความรู้ในเรื่องนั้น แต่การสอนของเรานั้นเป็นแบบเอานิสิตจากหลาย ๆ แลปมารวมกัน ต่างคนต่างพูดเรื่องที่ตัวเองกับอาจารย์ที่ปรึกษาเข้าใจ (เป็นเรื่องปรกติที่แม้จะอยู่แลปเดียวกันแต่ต่างอาจารย์ที่ปรึกษากันก็ฟังกันไม่รู้เรื่อง) โดยไม่สนใจว่าคนฟังจะรู้เรื่องหรือเปล่า (เผลอ ๆ คนพูดเองก็ไม่รู้ว่าพูดอะไรออกมา สักแต่ว่าพูดตาที่ได้ยินมาจากรุ่นพี่หรืออาจารย์เท่านั้นเอง พอซักละเอียดลงไปก็ตอบไม่ได้) และจะว่าไปแล้วตราบเท่าที่เรื่องที่ฟังนั้นไม่เกี่ยวข้องอะไรกับตัวผู้ฟังเลย (พูดอีกอย่างคือไม่มีส่วนทำให้การทำวิทยานิพนธ์ทำได้สบายขึ้น) คนฟังก็ไม่สนใจด้วยว่าผู้พูดจะพูดเรื่องอะไร สักแต่ว่าเข้ามารายงานตัวและรอให้หมดชั่วโมงเท่านั้นเอง บางรายหนักกว่านั้นอีก เพราะอาจารย์ที่ปรึกษาสอนว่าเรื่องอะไรที่มันไม่เกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ก็อย่าไปสนใจ ให้ทุ่มให้กับการทำงานวิจัยของตัวเองเท่านั้นก็พอ

ที่นี้การทำให้การสัมมนาค่อนข้างไม่เป็นทางการ (คุณลักษณะที่ 3) ก็ทำได้ยาก การที่จะทำให้ไม่เป็นทางการนั้นระหว่างตัวผู้พูด ผู้ฟัง และตัวอาจารย์ ต้องไม่อยู่ในสภาพที่ต่างก็วางมาดเข้าใส่กัน แต่สภาพสังคมไทยนั้นเมื่ออยู่ในห้องเรียนแล้ว ตัวอาจารย์เองก็มักจะรักษาระยะห่างออกจากนิสิตอยู่ระยะหนึ่ง (ระยะในที่นี้ไม่ใช่ระยะทาง แต่เป็นระยะความสัมพันธ์) ทั้งนี้เพื่อความสะดวกของอาจารย์ในการคงอำนาจสั่งการเพราะเกรงว่าถ้าปล่อยให้ระยะนี้หดสั้นลงก็จะควบคุมนิสิตไม่ได้

ทีนี้วิธี Socratic dialogue ที่กล่าวถึงในคุณลักษณะที่ 2 คืออะไร ลองอ่านคำจำกัดความที่ให้ไว้ใน encyclopedia wikipedia (http://en.wikipedia.org/wiki/Socratic_method) ข้างล่างนี้

The Socratic Method (or Method of Elenchus or Socratic Debate), named after the Classical Greek

philosopher Socrates, is a form of philosophical inquiry in which the questioner explores the implications of others' positions, to stimulate rational thinking and illuminate ideas. This dialectical method often involves an oppositional discussion in which the defense of one point of view is pitted against another; one participant may lead another to contradict himself in some way, strengthening the inquirer's own point.

Socrates began to engage in such discussions with his fellow Athenians after his friend from youth, Chaerephon, visited the Oracle of Delphi, which confirmed Socrates to be the wisest man in Athens. Socrates saw this as a paradox, and began utilizing the Socratic method in order to answer his conundrum. Diogenes Laertius, however, wrote that Protagoras invented the “Socratic” method.

Plato famously formalized the Socratic Elenctic style in prose — presenting Socrates as the curious questioner

of some prominent Athenian interlocutor — in some of his early dialogues, such as Euthyphro and Ion, and the method is most commonly found within the so-called "Socratic dialogues", which generally portray Socrates engaging in the method and questioning his fellow citizens about moral and epistemological issues.

The term Socratic Questioning is used to describe a kind of questioning in which an original question is

responded to as though it were an answer. This in turn forces the first questioner to reformulate a new question in light of the progress of the discourse.

Socratic method ตั้งชื่อตามนักปราชญ์ชาวกรีกชื่อโสเครตีส (ตอนหลังเขาถูกผู้มีอำนาจบังคับให้ดื่มยาพิษเพื่อฆ่าตัวตาย เพราะวิธีการสอนของเขาทำให้คนเกิดความสงสัยในการกระทำต่าง ๆ ของผู้มีอำนาจ) กล่าวโดยสรุปคือวิธีการนี้เป็นการเรียนรู้ด้วยการตั้งคำถามแย้งในสิ่งที่ผู้นำเสนอคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ผลของการโต้แย้งอาจนำไปสู่ข้อสรุปใหม่หรือแนวทางใหม่ก็ได้ ผู้หนึ่งที่นำเอาวิธีการนี้มาใช้อย่างได้ผลคือ คาร์ล มาร์ก บิดาของลัทธิคอมมิวนิสต์ (เป็นคนเชื้อสายยิว แต่นับถือศาสนาคริสต์ เกิดในเยอรมัน นั่งเขียนหนังสือ Communist Manifesto ที่ British Museum Library กลางกรุงลอนดอน ซึ่งศพของเขายังคงฝังอยู่ที่นั้น แต่ทฤษฎีของเขาถูกนำไปประยุกต์ใช้เป็นแห่งแรกที่รัสเซีย)

ในความเห็นส่วนตัวของผมนั้น การบรรลุคุณสมบัติข้อที่ 2 เรื่องการดำเนินการด้วยวิธี Socratic dialogue เป็นเรื่องที่กระทำได้ยากที่สุด การหาหัวข้อที่ผู้ฟังมีความสนใจร่วมกันนั้นไม่ใช่เรื่องยาก ก็แค่จัดกลุ่มใหม่ให้นิสิตจากแลปเดียวกันมาเรียนอยู่ด้วยกัน แต่การทำอย่างนี้ก็มีข้อโต้แย้งอีกว่าให้ปน ๆ กันก็ดีอยู่แล้ว เพราะนิสิตจะได้มีความรู้เพิ่มมากขึ้น จะได้รับรู้ว่าคนอื่นเขาทำอะไรกันอยู่บ้าง ส่วนการลดบรรยากาศความเป็นทางการนั้น บ่อยครั้งที่การจัดห้องในรูปแบบที่ผ่อนคลายไม่เป็นระเบียบเกินไปก็สามารถช่วยได้ แต่สภาพห้องเรียนที่เราใช้นั้นไม่สามารถกระทำได้ เพราะถ้าขืนทำการจัดโต๊ะเก้าอี้ใหม่ กว่าจะเสร็จก็จะกินเวลามาก และต้องจัดคืนเดิมอีก เดี๋ยวคนถัดไปที่จะใช้ห้องจะว่าเอา ส่วนการที่ว่านิสิตจะเกิดอาการเกร็งกับอาจารย์ผู้สอนหรือเปล่านั้นก็ขึ้นอยู่กับอาจารย์ผู้สอนแต่ละรายว่ามีพฤติกรรมอย่างใด

การที่จะตั้งคำถามได้นั้นขึ้นอยู่กับว่าผู้รับฟังข้อมูลคิดเป็นหรือเปล่า ระบบการเรียนการสอนในบ้านเราส่วนใหญ่นั้นมักเป็นในรูปแบบที่ห้ามคิด ห้ามถาม และห้ามเถียง ให้รับฟังอย่างเดียว คำอธิบายของอาจารย์ถือเป็นสิ้นสุด ห้ามเป็นอย่างอื่น ผู้ใหญ่พูดอย่างไรก็ต้องฟัง เด็กที่เถียงผู้ใหญ่หรือถามคำถามที่ผู้ใหญ่ไม่สามารถตอบหรืออธิบายได้ก็เป็นเด็กเกเรไป การฝึกให้คนคิดเป็นนั้นเป็นกระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน สำหรับเด็กนั้นวิธีการสอนในโรงเรียนและการดูแลของผู้ปกครองจัดว่าสำคัญมาก แต่ในบ้านเรานั้นพอโตขึ้นก็วัดผลด้วยการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ละโรงเรียนแข่งกันด้วยสัดส่วนนักเรียนที่สอบเข้าได้คณะชั้นนำต่าง ๆ ซึ่งในการสอบแข่งขันนั้นจะเป็นข้อสอบแบบปรนัยที่ต้องใช้ความรวดเร็วในการทำ จึงทำให้การสอนแบบให้จำสูตรลัดต่าง ๆ เป็นที่นิยมมากกว่าการสอนให้คิดเป็น

ที่ผมเคยประสบมาและนำมาใช้อยู่ในปัจจุบันในการฝึกให้คนคิดนั้นคือการใช้วิธีการตั้งคำถาม เราอาจเริ่มจากการตั้งคำถามว่า ทำไปทำไม ทำอย่างอื่นได้ไหม ทำแล้วใครได้ประโยชน์ ถ้าเป็นในวิชาป.ตรีผมก็จะปล่อยให้นิสิตไปลองค้นคว้าหาคำตอบเอง แต่ถ้าเป็นวิชาสัมมนาโท-เอกก็จะไม่ให้ความคิดเห็นใด ๆ ปล่อยให้นิสิตไปคิดกันต่อเอง แต่ปัญหาหนึ่งคือการหาหัวข้อที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ ที่พบคือถ้าหัวข้อนั้นมีคำตอบที่แน่นอนอยู่แล้วจะทำให้ผู้เข้าร่วมไม่กล้าตอบ (อยากเรียกว่านำเสนอแนวความคิดดีกว่า) เพราะเกรงว่าถ้าตอบผิด (หรือแนวความคิดนั้นคนอื่นคิดว่าไม่ได้เรื่อง) จะโดนหัวเราะเยาะหรือด่าว่าโง่

ตอนทำปริญญาเอกที่อังกฤษนั้นไม่มีการเรียนสัมมนาด้วยซ้ำ แต่อาจารย์ที่ปรึกษามักจะบอกว่าให้พยายามไปนั่งกินกาแฟรวมกับเพื่อนคนอื่นในเวลาพักเสมอ จะได้มีการพูดคุยกัน ฟังเพื่อนบ่นบ้าง แล้วเราก็ช่วยเสนอแนวทาง ครั้งถัดไปเพื่อนก็ฟังเราบ่นบ้าง แล้วก็ช่วยเสนอแนวทาง ตอนหลังมาคิดดูก็เห็นว่าเป็นวิะีการสัมมนารูปแบบหนึ่งที่ดีเหมือนกัน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น