รูปที่ 1 รูปซ้ายแสดงส่วนประกอบของกระสุนปืนซึ่งประกอบด้วย (1) หัวกระสุน, (2) ปลอก, (3) ดินขับ, (4) ริม และ (5) แก๊ป ส่วนรูปซ้ายแสดงกระสุนขนาด 9 mm para โดยกระสุนนัดซ้ายมือคือชนิดหัวมน (jacketed round nose) และกระสุนนัดขวามือคือชนิดหัวรู (jacketed hollow point)
ส่วนที่ 1 คือส่วนหัวกระสุน (bullet หรือ projectile) เป็นส่วนที่พุ่งเข้ากระทบเป้าหมาย หัวกระสุนอาจเป็นโลหะชิ้นเดียวหรือเป็นโลหะเม็ดเล็ก ๆ หลายเม็ดอยู่รวมกันในเปลือกหุ้มอีกชั้น (ที่เรียกว่าลูกปราย) ซึ่งแบบหลังนี้จะนิยมใช้กับปืนลูกซองมากกว่า สำหรับปืนพกทั่วไปแล้วหัวกระสุนมักจะเป็นโลหะชิ้นเดียว
ส่วนหัวกระสุนจะทำจากโลหะที่มีน้ำหนักมาก (ส่วนใหญ่จะเป็นตะกั่ว) เพื่อให้เก็บพลังงานได้มาก และโลหะนั้นต้องมีความแข็งน้อยกว่าเหล็กที่ใช้ทำลำกล้องปืน (เพื่อป้องกันไม่ให้เกลียวลำกล้องสึกหรอเมื่อหัวกระสุนเคลื่อนที่ผ่าน) หัวกระสุนพื้นฐานที่มีราคาถูกสุดนั้นจะทำจากตะกั่วเพียงอย่างเดียว จะเห็นเป็นหัวโลหะสีเทา ๆ แต่ถ้าต้องการให้หัวกระสุนเคลื่อนที่ได้เร็วมากขึ้น หรือในกรณีที่ใช้แกนกลางหัวกระสุนที่เป็นเหล็ก (เพื่อหวังผลในการเจาะเกราะหรือที่กำบัง) จะมีการหุ้มหัวกระสุนไว้ด้วยโลหะอีกชนิดหนึ่ง ที่นิยมกันมากที่สุดคือทองแดง (ปลอกทองแดงที่หุ้มหัวกระสุนเรียกว่า jacket) หัวกระสุนพวกนี้จะเห็นเป็นหัวทองแดงหุ้มอยู่ ข้อดีของทองแดงคือมีความแข็งมากกว่าตะกั่ว ทำให้หัวกระสุนจับกับเกลียวลำกล้องและหมุนไปตามร่องเกลียวได้ และทองแดงก็ยังมีความแข็งน้อยกว่าเหล็กที่ใช้ทำลำกล้อง
น้ำหนักของหัวกระสุนจะใช้หน่วยเป็นเกรน (grain) ซึ่งจะขึ้นอยู่กับชนิดของโลหะที่ใช้และความยาวของหัวกระสุน กระสุนที่ใช้ตะกั่วล้วนจะหนักมากกว่ากระสุนที่มีเปลือกทองแดงหุ้ม และกระสุนที่มีความยาวหัวกระสุนมากกว่าก็จะหนักมากกว่าด้วย
รูปร่างของหัวกระสุนมีหลายแบบด้วยกันขึ้นอยู่กับการใช้งาน ที่แสดงในรูปที่ 1 เป็นกระสุนแบบหัวมน (round nose) ซึ่งจัดว่าเป็นรูปร่างมาตรฐานสำหรับกระสุนปืนพก (ถ้าเป็นปืนยาวหรือปืนไรเฟิลจะเป็นหัวเรียวแหลม เพื่อให้เคลื่อนที่ผ่านอากาศด้วยความเร็วสูงได้ดี) นอกจากนั้นก็มีแบบหัวรู (hollow point) ที่ออกแบบให้บานออกเป็นรูปดอกเห็ดเมื่อกระทบเป้า (บ้านเรามักเรียกว่าหัวระเบิด) เพื่อหัวกระสุนจะได้ถ่ายเทพลังงานจากหัวกระสุนให้กับเป้าหมายได้เต็มที่ หัวกระสุนชนิดนี้มักออกแบบมาเพื่อยิงคนหรือล่าสัตว์ แบบหัวตัด (wad-cutter) ที่ออกแบบมาเพื่อการยิงเป้า เพราะเมื่อเจาะเป้ากระดาษแล้วจะเห็นวงกระสุนเจาะได้ชัดเจน) เป็นต้น การเลือกชนิดหัวกระสุนนอกจากจะขึ้นอยู่กับเป้าหมายแล้ว ยังขึ้นอยู่กับอาวุธปืนที่ใช้ด้วย ปืนพกที่เป็นปืนลูกโม่ (revolver) จะไม่มีปัญหาเรื่องการเลือกชนิดหัวกระสุนว่าจะใช้แบบไหน แต่ถ้าเป็นปืนพกกึ่งอัตโนมัติ (บ้านเราจะเรียกว่าปืนออโต้ ทางอเมริกาจะเรียก pistol) แล้ว รูปร่างของจะส่งผลต่อการทำงานของปืนว่าสามารถป้อนกระสุนได้เรียบร้อย ไม่มีการติดขัดหรือไม่ ผู้ที่มีปืนออโต้จึงมักต้องทดลองเอากระสุนที่ต้องการใช้มายิงกับปืนดูว่ายิงได้ราบเรียบหรือเปล่า ไม่ใช่ว่ายิงไปได้นัดเดียวแล้วปืนติดขัด
การระบุขนาด (caliber) ของกระสุนจะใช้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของหัวกระสุนหรือของลำกล้องเป็นหลัก การระบุขนาดจะมีอยู่ 2 แบบคือแบบนิ้วและแบบมิลลิเมตร การระบุแบบนิ้วมักจะเป็นทางอเมริกา โดยจะบอกขนาดเป็น จุดทศนิยมและมีตัวเลขตามหลัง โดยละคำว่านิ้วเอาไว้ เช่น .22 (อ่านจุดสองสอง) .38 (อ่านจุดสามแปด) .357 (อ่านจุดสามห้าเจ็ด) .45 (อ่านจุดสี่ห้า) เป็นต้น ที่เห็นข่าวในบ้านเรามีการแปลผิดบ่อยคือคิดว่าหน่วยเป็นมิล เช่นกระสุน .22 ไปแปลว่าเป็นกระสุนขนาด .22 มิลลิเมตร การอ่านแบบมิลลิเมตรนั้นจะนิยมกันมากทางยุโรป โดยจะมีการระบุหน่วย mm เอาไว้ท้ายตัวเลขด้วย เช่น กระสุน 11 mm กระสุน 9 mm เป็นต้น
ส่วนที่ 2 คือส่วนปลอก (case) ซึ่งเป็นส่วนที่บรรจุดินขับและจับหัวกระสุนเอาไว้ ปลอกกระสุนปืนส่วนใหญ่จะมีลักษณะลำตัวเป็นทรงกระบอก (เช่นพวก .38 special (อ่านจุดสามแปดสเปเชี่ยล) .357 magnum (อ่านจุดสามห้าเจ็ดแมกนั่น) หรือ 11 มม) หรืออาจเรียวสอบเล็กน้อย (คือทางด้านที่จับหัวกระสุนเอาไว้จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าอีกทางด้านหนึ่งเล็กน้อย เช่น 9 มม พารา) เพื่อให้การป้อนลูกกระสุนเข้าสู่รังเพลิงทำงานได้เรียบร้อย กระสุนปืนพกบางแบบและกระสุนปืนยาวส่วนใหญ่ ปลอกกระสุนจะมีลักษณะเป็นรูปคอขวด ที่จะมีส่วนลำตัวที่อ้วนกว่าส่วนที่จับหัวกระสุนเอาไว้ (เป็นแบบขวดน้ำนั่นแหละ) ทั้งนี้เพื่อให้บรรจุดินขับได้มากโดยที่กระสุนทั้งนัดไม่ยาวเกินไป (แต่อ้วนขึ้นแทน)
ส่วนที่ 3 คือดินขับ (propellant) ซึ่งเป็นส่วนที่จะเกิดการเผาไหม้ให้แก๊สร้อนปริมาณมากเพื่อขับดันหัวกระสุนให้เคลื่อนที่ออกไป ชนิดของดินขับและอัตราการเผาไหม้จะเป็นตัวกระหนดความเร็วของหัวกระสุน ดินขับที่ใช้กับปืนสั้นจะถูกออกแบบให้เผาไหม้ได้หมดก่อนที่กระสุนจะเคลื่อนที่พ้นปากลำกล้อง ส่วนดินขับสำหรับปืนยาวจะเผาไหม้ช้ากว่าเพราะกระสุนมีเวลาอยู่ในลำกล้องนานกว่า ดินขับนั้นจะไม่เกิดการระเบิดถ้าจุดติดด้วยเปลวไฟหรือจากการกระแทกที่ไม่รุนแรง (ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตัวกระสุนเอง) ต้องจุดระเบิดด้วยเชื้อประทุหรือแก๊ปที่ทำให้เกิดคลื่นกระแทก (shock wave) มาทำให้ดินขับระเบิด
ส่วนที่ 4 คือริมหรือขอบจานท้าย (rim) ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยในการบรรจุและคัดปลอกกระสุนออก กระสุนปืนลูกโม่นั้นมักจะมีขอบจานท้ายที่โผล่ยื่นล้ำออกมา (ดูตัวอย่างได้จากกระสุน .22 LR ที่จะกล่าวถึงในช่วงต่อไป) โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าส่วนปลอก ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกกระสุนทั้งนัดจมลงไปในตัวช่องของลูกโม่ กระสุนพวกนี้เรียกว่าพวกมีริม ส่วนกระสุนปืนออกโต้ส่วนใหญ่แล้ว (เช่น 11 มม หรือ 9 มม) ส่วนริมหรือจานท้ายนั้นจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเดียวกันกับตัวปลอก (เช่นในรูปที่ 1 ข้างบน) คือถ้าเอากระสุนวางนอนราบไปกับพื้นก็จะเห็นทั้งปลอกและจานท้ายแนบพื้นตลอดทั้งนัด กระสุนพวกนี้เรียกว่าพวกไม่มีขอบจานท้าย (rimless) ซึ่งเหมาะกับการบรรจุกระสุนเรียงซ้อนกันในซองกระสุน (magazine) เพราะลดปัญหาการติดขัดในการป้อนกระสุน แต่กระสุนพวกนี้จะมีร่องเล็ก ๆ อยู่รอบ (ที่เห็นเป็นส่วนคอดเหนือส่วนริมในรูปที่ 1) เพื่อเอาไว้สำหรับให้ขอรั้งปลอกกระสุน (extractor) กระชากปลอกกระสุนออกจากรังเพลิง
ส่วนที่ 5 คือแก๊ป (primer) ซึ่งเป็นส่วนที่บรรจุสารเคมีที่ว่องไวในการกระแทก ส่วนนี้จะทำจากโลหะบางที่มีความอ่อน เมื่อส่วนแก๊ปถูกกระแทกอย่างแรง (ด้วยแรงตอกของเข็มแทงชนวน) สารเคมีที่อยู่ในแก๊ปก็จะเกิดการระเบิดให้ความร้อนและคลื่นกระแทกวิ่งผ่านรูที่อยู่ท้ายปลอกกระสุนเข้าไปจุดระเบิดดินขับที่อยู่ในปลอกอีกทอดหนึ่ง ตำแหน่งที่อยู่ของแก๊ปก็ถูกนำมาใช้จำแนกประเภทกระสุน ถ้าอยู่ตรงกลางดังแสดงในรูปที่ 1 ก็จะเรียกว่ากระสุนชนวนกลาง (centre fire cartridge) แต่ถ้าบรรจุอยู่ที่ขอบจานท้าย (มีเฉพาะกับกระสุนชนิดมีขอบจานท้ายเท่านั้น) ก็จะเรียกว่ากระสุนชนวนริม (rim fire cartridge) กระสุนส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเป็นกระสุนชนวนกลางเกือบทั้งหมด ส่วนกระสุนชนวนริมจะใช้กับกระสุนขนาดเล็ก กระสุนชนวนริมที่ใช้กันมากที่สุดในบ้านเรา (และอาจทั้งโลก) คือกระสุนขนาด .22 LR (อ่านจุดสองสองแอลอาร์ โดย LR ย่อมาจาก Long Rifle) รองลงไปคือขนาด .22 Magnum
ถ้าไม่นับกระสุนปืนลมแล้ว กระสุน .22 LR ก็น่าจะเป็นกระสุนที่มีราคาถูกที่สุด และเหมาะกับผู้ที่หัดเริ่มยิงปืน เพราะเสียงไม่ค่อยดัง และกระสุนไม่มีแรงสะท้อนรุนแรง เด็กเล็ก ๆ ก็สามารถหัดยิงได้ ปืนที่ใช้กระสุนชนิดนี้มีทั้งปืนสั้นลูกโม่ ปืนสั้นออโต และปืนยาว ภาษาชาวบ้านทั่วไปจะเรียกกระสุนชนิดนี้ว่า "ลูกกรด" และเรียกปืนยาวที่ยิงกระสุนชนิดนี้ว่า "ปืนลูกกรด" ที่เคยพานิสิตไปฝึกหัดกันที่กรมการรักษาดินแดนก็เป็นปืนที่ใช้กระสุนชนิดนี้ กระสุนชนิดนี้ยังใช้ในการแข่งขัดปืนยาวมาตรฐานระยะยิง 50 เมตร (ทั้งท่า นอน นั่ง และยืนยิง) และพวกปืนสั้นยิงช้า 50 เมตรด้วย ปืนยาวที่เหล่าทัพต่าง ๆ นำมาให้เช่ายิงในงานการชาดสวนอัมพร ก็เป็นปืนที่ใช้กระสุนชนิดนี้
จริง ๆ แล้วกระสุนตระกูลนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิดที่มีขนาดหน้าตัดเท่ากันและความยาวกระสุนทั้งนัดไม่เท่ากันคือ ขนาด .22 Short ซึ่งปัจจุบันยังพอหลงเหลืออยู่กับพวกนักกีฬาปืนสั้นยิงเร็ว ขนาด .22 Long ซึ่งมีปลอกยาวกว่า .22 Short และดูเหมือนว่าจะสูญพันธ์ไปแล้ว และ .22 LR ซึ่งมีความยาวกระสุนทั้งนัดมากที่สุดในกลุ่ม 3 ตัวนี้ ปืนที่ใช้ยิงกระสุน .22 LR ได้ก็สามารถนำกระสุน .22 Short และ .22 Long มายิงได้
รูปที่ 2 มิติและรูปร่างของกระสุนขนาด .22 LR
พึงสังเกตว่าจานท้ายของกระสุน .22 LR (รูปที่ 2) ไม่มีร่องเหมือนกับในรูปที่ 1 แต่จานท้ายมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง (.272 นิ้ว) ใหญ่กว่าปลอกกระสุน (.224 นิ้ว) นอกจากนี้กระสุน .22 LR ยังมีความพิเศษเฉพาะตัวอีกอย่างคือหัวกระสุนมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเดียวกันกับปลอกกระสุน (.224 นิ้วเท่ากัน) ในขณะที่กระสุนปืนชนิดอื่นจะมีหัวกระสุนที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าปลอก (เส้นผ่านศูนย์กลางของปลอกเท่ากับเส้นผ่านศูนย์กลางของหัวกระสุนบวกกับสองเท่าความหนาของปลอกกระสุน)
เวลาที่ดินขับเกิดการระเบิดในปลอกกระสุนนั้น ความดันและอุณหภูมิในปลอกกระสุนจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก (เช่นอาจสูงถึงกว่า 30,000 psi สำหรับกระสุน 9 มม หรือกว่า 50,000 psi สำหรับกระสุนปืนไรเฟิลแรงสูง) ทำให้ตัวปลอกกระสุนบวมขยายตัวออก ตัวปลอกกระสุนเองนั้นจะไม่สามารถรับแรงดันขนาดนี้ได้ วิธีการแก้ปัญหาคือการทำให้รังเพลิง (Firing chamber - ช่องสำหรับบรรจุกระสุนก่อนที่จะทำการยิง) มีขนาดที่ใหญ่กว่าขนาดปลอกกระสุนเล็กน้อย ถ้าช่องว่างระหว่างปลอกกระสุนกับผนังรังเพลิงน้อยเกินไป ก็จะทำให้บรรจุกระสุนได้ลำบากและแรงดันที่เกิดขึ้นในปลอกกระสุนจะทำให้ปลอกกระสุนบวมคับติดรังเพลิง ไม่สามารถนำกระสุนออกมาจากรังเพลิงได้ (เดี๋ยวพอไปยิงปืนลูกกรดแล้วก็จะพบเอง) บางครั้งต้องหาอุปกรณ์ไปแงะหรือกระทุ้งเอาปลอกออก หรือรอให้ปลอกกระสุนเย็นลงจะได้หดตัวเล็กลง แต่ถ้าช่องว่าระหว่างกระสุนและผนังรังเพลิงมีมากเกินไป ก็จะทำให้ปลอกกระสุนที่ยิงแล้วบวมจนฉีกขาดได้ และแก๊สร้อนที่เกิดขึ้นแทนที่จะพุ่งออกจากทางปากลำกล้องก็จะพุ่งย้อนออกมาหาผู้ยิงได้ (ถ้าเป็นปืนลูกโม่นะ)
กระสุนคู่ที่มีปัญหาคือกระสุน .22 LR กับ .22 Magnum กระสุนทั้งสองชนิดใช้หัวกระสุนที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเดียวกัน ยิงลอดรูลำกล้องขนาดเดียวกัน แต่กระสุน .22 Magnum มีความยาวปลอกกระสุนมากกว่าและมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางปลอกกระสุนใหญ่กว่า (กล่าวคือหัวกระสุน .22 Magnum มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าปลอกกระสุน แต่ .22 LR มีขนาดเท่ากัน) รังเพลิงสำหรับกระสุน .22 Magnum จึงใส่กระสุน .22 LR ได้ แต่ช่องว่างระหว่างผนังรังเพลิงกับปลอกกระสุนจะมากเกินไป ถ้านำกระสุน .22 LR ไปยิงในปืน .22 Magnum จึงเสี่ยงที่ปลอกกระสุนจะฉีกขาดออก อันนี้ไม่เหมือนกับกรณี .22 Short .22 Long และ .22 LR (เส้นผ่านศูนย์กลางหัวกระสุนเท่ากับเส้นผ่านศูนย์กลางปลอกกระสุน) หรือระหว่าง .38 Special กับ .357 Magnum (เส้นผ่านศูนย์กลางหัวกระสุนเล็กกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางปลอกกระสุน) ซึ่งต่างก็มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหัวกระสุนและขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของปลอกกระสุนเท่ากัน แต่ความยาวกระสุนแตกต่างกัน จึงสามารถนำกระสุนที่สั้นกว่าไปใส่ในปืนที่ออกแบบมาเพื่อยิงกระสุนที่ยาวกว่าได้
เมื่อเทียบกับกระสุน .22 LR แล้ว กระสุน .22 Magnum หาซื้อยากกว่า ราคาแพงกว่าหลายเท่า และมีสนามยิงปืนไม่มากที่ยอมให้ยิงชนิดกระสุนนี้ได้ (สนามยิงปืนส่วนใหญ่จะไม่อนุญาตให้ยิงกระสุน Magnum หรือต้องมีการขออนุญาตเป็นพิเศษ และมักไม่มีกระสุน Magnum ขาย) คนที่มีปืนชนิดนี้อยู่จึงหาทางประหยัดด้วยการเอากระสุน .22 LR มาซ้อมยิงแทน (บางสนามยิงปืน นายสนามเป็นคนแนะนำซะเอง) ซึ่งก็พบว่ามันยิงได้ เพราะปลอกกระสุนไม่ได้ระเบิดคารังเพลิงทุกนัด แล้วก็แนะนำต่อ ๆ กันมา แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ควรเสี่ยง เพราะถ้าเกิดปลอกกระสุนฉีกขาดขึ้นมา ความบาดเจ็บที่ได้รับจะไม่คุ้มกับค่ากระสุนที่ประหยัดได้
กระสุนปืน M16 หรือ HK33 (กระสุนขนาด 5.56 × 45 mm NATO - ขนาดหัวกระสุน 5.56 มิลลิเมตร ปลอกกระสุนยาว 45 มิลลิเมตร) นั้นก็เป็นกระสุนขนาดคาลิเบอร์ .22 เช่นเดียวกันกับกระสุน .22 LR แต่น้ำหนักและความเร็วแตกต่างกัน กระสุน .22 LR ทั่วไปจะมีหัวกระสุนหนัก 40 เกรน วิ่งด้วยความเร็วประมาณ 1,000 ฟุตต่อวินาที (ต่ำกว่าความเร็วเสียงเล็กน้อย) มีพลังงานปากลำกล้องประมาณ 150 ฟุต-ปอนด์ ในขณะที่กระสุนปืน M16 (จะเรียกอย่างนี้ก็ได้เพราะกระสุนชนิดนี้มันเกิดขึ้นมาเพื่อใช้กับปืน M16 เป็นแบบแรก ก่อนที่จะมีผู้ผลิตปืนแบบอื่นที่ใช้กระสุนชนิดนี้) จะมีน้ำหนักอย่างต่ำ 55 เกรนและวิ่งด้วยความเร็วประมาณ 3 เท่าเสียง พลังงานของหัวกระสุนปืน M16 จึงมากกว่าพลังงานของหัวกระสุน .22LR ประมาณ 10 เท่า (คือมีประมาณ 1,500 ฟุต-ปอนด์)
ปืน M16 และกระสุนปืน M16 นั้นถูกนำมาใช้ครั้งแรกในสงครามเวียดนาม (สหรัฐไม่แน่ใจว่ามันจะใช้ในการรบได้ หรือได้ดีหรือเปล่า ก็เลยใช้วิธีเอาไปให้ทหารเวียดนามใต้เอาไปใช้ในการรบจริง ได้ผลอย่างไรก็กลับมารายงานด้วย เรียกว่าใช้ทหารเวียดนามใต้เป็นหนูทดลอง) เรื่องของที่มาของปืนและขนาดของกระสุนจัดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง เพราะสงครามเวียดนามเป็นรูปแบบการรบที่กองทัพสหรัฐไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน นอกจากนั้นยังมีเรื่องการวิ่งเต้นทางการเมือง เรื่องของศักดิ์ศรีของประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง เรียกว่าสหรัฐอเมริกาเองเป็นคนแนะนำและชักชวนให้กลุ่ม NATO ทำอย่างหนึ่ง แต่ตัวเองเล่นหักหลังไปทำอีกอย่างหนึ่งแทนที่เคยบอกว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ งานนี้ประเทศหนึ่งที่ควรจะเจ็บใจมากที่สุดก็คืออังกฤษนั่นเอง (ปรับปรุงครั้งที่ 1 พุธ 29 เมษายน 2552)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น