Hot plate
Magnetic stirrer
Hot plate & Magnetic stirrer
Hot plate ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นเตาสำหรับให้ความร้อน Magnetic stirrer ก็เป็นเครื่องกวนด้วยแม่เหล็ก ส่วน Hot plate & Magnetic stirrer ก็ทำหน้าที่ได้ทั้งให้ความร้อนและกวนด้วยแม่เหล็กได้ จะว่าไปแล้วทั้ง 3 เครื่องถ้ามาจากบริษัทผู้ผลิตเดียวกันก็มักจะมีหน้าเหมือน ๆ กัน แตกต่างกันตรงจำนวนปุ่มควบคุม
คำถามก็คือว่าถ้าเช่นนั้นในห้องปฏิบัติการมีแค่เครื่อง Hot plate & Magnetic Stirrer อย่างเดียวก็พอใช่ไหม
จะว่าไปแล้วการเลือกใช้อุปกรณ์ไหนควรดูความต้องการเป็นหลัก ถ้าต้องการให้ความร้อนอย่างเดียวก็ควรเลือกใช้ Hot plate โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องการให้ความร้อนที่สูงด้วย เพราะถ้านำเอา Hot plate & Magnetic stirrer มาใช้ทำหน้าที่เป็น Hot plate ที่อุณหภูมิสูง ความร้อนที่เกิดขึ้นจากขดลวดความร้อนจะทำให้ตัว Hot plate & Magnetic stirrer ร้อนไปทั้งเครื่องได้ และความร้อนที่เกิดขึ้นก็อาจมากพอที่จะทำให้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับส่วนที่ทำหน้าที่กวนด้วยแม่เหล็กเสียหายหรืออายุการใช้งานสั้นลงได้ ถ้าต้องการกวนอย่างเดียวก็ควรใช้ Magnetic stirrer และถ้าต้องการทั้งกวนและให้ความร้อนในเวลาเดียวกันก็ควรใช้ Hot plate & Magnetic stirrer
จากประสบการณ์ที่ผ่านมานั้นพบว่าผู้ใช้จำนวนไม่น้อยที่เลือกหยิบใช้ Hot plate & Magnetic stirrer ทั้ง ๆ ที่ไม่ต้องการทั้งทำการกวนและให้ความร้อนในเวลาเดียวกัน คิดอยู่เพียงอย่างเดียวว่าเผื่อเอาไว้ก่อน มีเกินดีกว่ามีขาด และฉันไม่ได้เป็นผู้จ่ายค่าซ่อมแซมอุปกรณ์
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเมื่อนำเอา Hot plate & Magnetic stirrer ไปใช้เป็นเตาความร้อนสูง จะทำให้อายุการใช้งานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมความเร็ว) หดสั้นลง บางยี่ห้อนั้นอาจพบว่าตัวเรือนของ Hot plate & Magnetic stirrer จะร้อนมากจนมือเปล่าไม่สามารถจับได้ ส่วนคนที่เอาไปใช้เพื่อทำหน้าที่กวนอย่างเดียวก็เคยเจอเหมือนกันที่เผลอเปิดส่วนให้ความร้อนทิ้งไว้ (ทั้ง ๆ ที่ไม่ต้องการใช้) หรือไม่ก็หลอดไฟที่แสดงว่าขดลวดความร้อนเปิดอยู่มันไม่ทำงาน (เช่นหลอดขาด) ก็เลยนึกว่าขดลวดความร้อนไม่ได้เปิดใช้งานอยู่ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงมันกำลังถูกใช้งานอยู่
อีกเรื่องหนึ่งที่เคยประสบคือการเลือกชนิดของวัสดุที่ใช้ทำเป็นแผ่น plate ด้านบน ที่เห็นขายกันอยู่ทั่วไปจะมีอยู่ 4 แบบคือ อะลูมิเนียม เหล็ก และเซรามิค
อะลูมิเนียมกับเหล็กมีข้อดีตรงที่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว (thermal shock) (เช่นเกิดจากการเปิดเครื่องใช้งานโดยเปิดขดลวดความร้อนเต็มที่ทันทีโดยไม่มีการอุ่นเครื่อง หรือมีของเหลวหกลงไปบนแผ่น plate ที่กำลังร้อนจัดอยู่) ไม่แตกหัก ร้อนเร็ว แต่มีข้อเสียด้านไม่ทนสารเคมีเหมือนเซรามิค แผ่น plate ที่เป็นอะลูมิเนียมจะร้อนได้เร็วกว่าที่เป็นเหล็ก แต่แผ่น plate ที่เป็นเหล็กจะทนอุณหภูมิได้สูงมากกว่า ถ้าเป็นเหล็กล้าไร้สนิมก็แพงหน่อย ถ้าเป็นเหล็กธรรมดาก็ถูกหน่อยแต่พอใช้ไปนาน ๆ เข้ามันจะพุกร่อนจนร่อนออกทั่วไปหมด
เซรามิคมีข้อดีตรงที่ทนอุณหภูมิสูงและทนต่อสารเคมีได้ดีกว่าชนิดที่เป็นโลหะ แต่ไม่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว เพราะจะทำให้แผ่น plate เซรามิคแตกร้าวได้ วิธีป้องกันไม่ให้แผ่น plate เซรามิคเกิดการแตกร้าวคือค่อย ๆ เพิ่มอุณหภูมิของแผ่น plate ให้สูงขึ้นช้า ๆ ระมัดระวังอย่าให้มีของเหลวหกรดไปบนแผ่น plate ที่กำลังร้อนจัด (เช่นต้มน้ำในบีกเกอร์ที่ใส่น้ำไว้จนเต็ม พอน้ำเดือดก็ล้นออกจากบีกเกอร์หกใส่แผ่น plate) การแตกร้าวนี้มักไม่ได้เกิดขึ้นทันทีที่เกิดเหตุการณ์ครั้งแรก แต่เกิดจากการทำซ้ำเดิมหลาย ๆ ครั้งจนวัสดุมันทนไม่ได้ ถ้าแผ่น plate มันแตกตั้งแต่ครั้งแรกที่เกิด thermal shock ก็ดีอย่างคือผู้ใช้จะรู้ทันทีว่าอย่างทำอย่างนั้นอีก แต่นี้มันมักเกิดหลังจากการเกิด thermal shock หลาย ๆ ครั้งกับตัวมัน ผู้ใช้ก็เลยไม่คิดว่าตัวเองใช้งานไม่ถูกวิธี เพราะก่อนหน้านี้ก็ทำอย่างนี้มาตลอด แต่ไม่เห็นว่ามันจะเป็นอะไร
ครั้งหนึ่งเคยต้องไปเป็นกรรมการจัดหาครุภัณฑ์สำหรับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในโครงการเงินกู้ต่างประเทศโครงการหนึ่ง หลังจากที่มีการนำครุภัณฑ์ไปใช้แล้วก็มีเสียงบ่นมาว่าของที่จัดหามาให้ไม่ทนทาน ใช้ได้ไม่ทันไรแผ่น plate ก็แตกหมดแล้ว สืบไปสืบมาก็พบว่าสาเหตุหลักคือผู้ใช้ไม่รู้จักวิธีการใช้อุปกรณ์อย่างถูกต้อง
รูปที่ 1 Hot plate ชนิดแผ่น plate เซรามิก
รูปที่ 2 Hot plate ชนิดแผ่น plate โลหะ (เหล็ก)
รูปที่ 3 Hot plate & Magnetic stirrer ชนิดแผ่น plate เซรามิค ที่แผ่น plate เกิดการแตกร้าวจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิรวดเร็วเกินไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น