เมื่อวานพึ่งจะอ่านวิทยานิพนธ์ปริญญาโทที่จะสอบในวันจันทร์ที่ ๒๙ มีนาคมนี้จบไปทั้ง ๔ เล่ม พบว่าใน ๔ เล่มนั้นคุณภาพงานเขียนวิทยานิพนธ์ ๓ เล่มนั้นเป็นได้อย่างมากเพียงแค่ฉบับ "ร่างครั้งแรก" ไม่คู่ควรกับการเป็นฉบับส่งให้กรรมการสอบอ่านเลย ดูเหมือนผู้เขียนทำแบบขอไปที ขอให้มีส่ง หวังว่ากรรมการคงจะไม่อ่านกัน คงเป็นเพียงแค่มาฟังการนำเสนอในห้องสอบแล้วก็ให้คะแนนไปตามที่ได้ยินได้ฟัง นี่ก็ยังสงสัยอยู่เลยว่าตัวอาจารย์ที่ปรึกษาเองมีโอกาสได้อ่านมาก่อนหรือเปล่า หรือรอฟังแต่ผลที่นิสิตนำมาเสนอ พอได้ผลเป็นที่น่าพอใจแล้วก็ปล่อยให้ไปเขียนกันเองโดยไม่สนเลยว่านิสิตจะเขียนอะไรลงไป บ่อยครั้งที่พบว่าอาจารย์ที่ปรึกษาทำเพียงแค่ "ได้เห็น" คือตาเห็น แต่ไม่ได้อ่านสิ่งที่นิสิตในที่ปรึกษาเขียน งานนี้กะว่าจะขอส่งวิทยานิพนธ์ทั้ง ๓ เล่มคืนนิสิตให้กลับไปทำให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยนัดสอบใหม่จะดีกว่า
บางคนคงเคยได้ยินแล้วว่ากรรมการสอบวัดคุณสมบัตินิสิตปริญญาเอกชุดที่ผมเป็นกรรมการร่วมอยู่นั้น เคยให้นิสิตปริญญาเอกผู้หนึ่งสอบวัดคุณสมบัติไม่ผ่านถึง ๒ ครั้ง ซึ่งเป็นผลให้นิสิตผู้นั้นต้องพ้นสภาพนิสิตไปตามระเบียบของมหาวิทยาลัย งานนี้กรรมการชุดนั้นทุกคนโดยหัวหน้าหน่วยงานเรียกตัวไปถามเป็นรายคนว่าทำไมถึงให้ตก ปรากฏว่ากรรมการทุกคนตอบตรงกันโดยไม่ได้นัดหมายว่างานที่นิสิตคนดังกล่าวทำส่งมานั้น "ชุ่ย" กล่าวคือสิ่งที่เขาส่งมาในรายงานกับสิ่งที่เขานำเสนอในการสอบครั้งแรกนั้นมันเป็นคนละเรื่องกัน พอโดนซักก็บอกว่าเขาเปลี่ยนแนวทาง (เหตุผลฟังไม่ขึ้น) เพราะถ้าจะเปลี่ยนเรื่องไปเลยก็ต้องแจ้งกรรมการสอบว่าขอยกเลิกเอกสารเก่า และส่งเอกสารใหม่มาให้ และนัดวันสอบใหม่ ไม่ใช่มาบอกกันในห้องสอบ ทำให้รู้ได้เลยว่ากะว่ากรรมการคงไม่อ่านเอกสาร เลยเอาอะไรต่อมิอะไรมายัดไส้ต่อเข้าด้วยกัน ดูเผิน ๆ เป็นเหมือนเอกสารสมบูรณ์ แต่พออ่านดูจะรู้ว่าเรื่องราวมันไม่เกี่ยวข้องกันเลย พอสอบใหม่ครั้งที่สองก็ยังทำแบบเดิมอีก (คงกะว่ากรรมการสอบคงนึกไม่ถึงว่าจะทำซ้ำเดิมอีก) งานนี้ก็เลยเจอดีเข้าไป
อันที่จริงแล้วก่อนหน้านี้เมื่อกว่า ๑๐ ปีที่แล้วผมเคยให้นิสิตปริญญาโทที่เรียนมา ๔ ปีแล้วสอบวิทยานิพนธ์ตก กล่าวคือนิสิตคนดังกล่าวพอสอบโครงร่างเสร็จก็หายหน้าไปเลย พอเทอมสุดท้ายปี ๔ ก็โผล่หน้ามาให้อาจารย์ที่ปรึกษาเห็น ตอนสอบก็บอกว่าได้ทำไอ้นั่น ได้ทำไอ้นี้ ผลที่ได้ออกมาเป็นอย่างนี้ พอขอดูงานที่ทำจริงก็ปรากฏว่าไม่มี วิทยานิพนธ์ของเขาเป็นเพียงแค่นำเอาข้อความในคู่มือการใช้ซอร์ฟแวร์มาตัดต่อเข้าด้วยกันแค่นั้นเอง ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย งานนั้นดูเหมือนว่าจะมีผมกับกรรมการสอบอีกท่านที่ได้อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับนั้นมาทั้งเล่มก่อนสอบ ที่น่าแปลกก็คือตัวประธานสอบกับอาจารย์ที่ปรึกษาขอให้นิสิตสอบผ่าน ด้วยเหตุผลเพียงแค่ว่าเขาเรียนมา ๔ ปีแล้ว (โดยที่ไม่ได้ทำวิทยานิพนธ์เป็นชิ้นเป็นอันเลยหรือ) งานนี้กรรมการสอบก็เลยตอบกลับไปว่าถ้าเช่นนั้นก็ไปหากรรมการสอบชุดใหม่เองก็แล้วกัน
สำหรับผู้ที่พึ่งจะมาเห็นบันทึกฉบับนี้ (อาจจะโดยเปิดเข้าดูเอง หรือมาตามที่ผมแจ้งไว้ในวิทยานิพนธ์ที่ส่งกลับคืนไปว่าให้มาอ่าน) ก็ขอแจ้งให้ทราบว่าก่อนหน้านี้ได้เคยกล่าวถึงเรื่องทั่วไปในการเขียนเอาไว้บ้างแล้วใน
MO Memoir 2551 Saturday 20 September 2551 การเขียนเอกสารอ้างอิง
MO Memoir 2552 Friday 6 February 2552 การเขียนวิทยานิพนธ์
MO Memoir 2552 Friday 3 April 2552 ทำให้เรียบร้อย
ซึ่งผู้ที่ต้องการให้ผมเป็นกรรมการสอบ (สำคัญมากเพราะจะไม่ทำให้กรรมการสอบอารมณ์เสียก่อนเข้าห้องสอบ) หรือผู้ที่ต้องมาแก้ไขเพื่อให้ผมตรวจใหม่นั้น กรุณาอ่านและทำตามด้วย จะเป็นประโยชน์แก่กันทั้งสองฝ่าย
ที่จะเล่าต่อไปนี้ไม่ใช่รูปแบบที่ "ต้องทำ" แต่เป็นรูปแบบที่ "ควรทำ" หรือเป็นสิ่งที่ "ต้อง" ตรวจทาน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้อ่านรู้สึกว่าผู้เขียนวิทยานิพนธ์นั้นมีความพิถีพิถันและความตั้งใจในการทำงาน ไม่ได้ทำแบบขอไปทีโดยนึกว่ากรรมการสอบนั้นเป็นเพียงแค่ตรายาง คือคิดว่ายังไงก็ต้องผ่านเพราะว่าได้เป็น (แค่) ลูกมือทำผลแลปให้อาจารย์เอาไปเขียน paper แล้ว อาจารย์ที่ปรึกษาก็ต้องให้จบอยู่ดี (ทำนองว่ายื่นหมูยื่นแมวนั่นแหละ) โดยที่ตัวเองไม่ต้องไปสนหรือรู้ว่าได้ทำอะไรลงไป เรื่องแบบนี้ผมเจอบ่อยจนถึงกับปฏิเสธไม่ขอเป็นกรรมการสอบของนิสิตของอาจารย์หลายราย
๑. การเว้นบรรทัดระหว่างหัวข้อกับย่อหน้าแรกใต้หัวข้อ และการเว้นวรรคระหว่างเลขหัวข้อกับชื่อหัวข้อ
ในวิทยานิพนธ์นั้นมักจะมีหัวข้อต่าง ๆ อยู่หลายหัวข้อ ภายใต้หัวข้อเหล่านั้นก็จะเป็นคำบรรยาย สิ่งที่ต้องทำคือตรวจสอบว่ารูปแบบที่คุณใช้นั้น พอขึ้นหัวข้อใหม่แล้ว ก่อนที่จะขึ้นย่อหน้าแรกคุณมีการเว้นบรรทัดหรือไม่ ถ้าคิดจะเว้น ๑ บรรทัดก็ทำให้ตลอดทั้งเล่ม ถ้าจะไม่เว้นก็ทำให้เหมือนกันทั้งเล่ม และทุกบทก็เหมือนกันด้วย ตัวอย่างเช่น
๓.๒ ชื่อหัวข้อเรื่อง ........
เนื้อหาในเรื่องนี้มีอยู่ว่า ...........
ซึ่งตรงนี้มีการเว้นบรรทัด แต่พออ่านไปกลับไปเจอ
๔.๑ ชื่อหัวข้อเรื่อง ...........
เนื้อหาในเรื่องนี้มีอยู่ว่า ............
กลับกลายเป็นว่าไม่เว้นบรรทัดระหว่างหัวข้อกับย่อหน้าแรก
นอกจากนี้ยังเคาะวรรคไม่เท่ากันอีก กล่าวคือระหว่างเลข ๓.๒ กับชื่อหัวข้อมีการเคาะวรรค ๒ วรรค แต่ระหว่างเลข ๔.๑ กับชื่อหัวข้อมีการเคาะวรรคแค่วรรคเดียว จะทำแบบใดก็เลือกเอาแบบหนึ่งให้เหมือนกันทั้งเล่ม
๒. ไม่ยอมตรวจหาคำที่พิมพ์ผิด
ที่แปลกใจก็คือวิทยานิพนธ์ที่ผมกำลังจะสอบในวันจันทร์พรุ่งนี้มีที่พิมพ์ผิดเยอะมาก ทั้ง ๆ ที่คำที่พิมพ์ผิดเหล่านี้ตัวโปรแกรมที่ใช้พิมพ์ (ซึ่งเชื่อว่าเกือบทุกคนคงใช้ Microsoft Office และมีส่วนน้อยที่ใช้ Latex) นั้นสามารถตรวจพบได้ แต่ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเขาถึงไม่ยอมใช้มันตรวจ หรือว่าไม่ได้สนใจว่ามันบอกว่าพิมพ์ผิด ที่ผมยังสงสัยคือทำไมโปรแกรม Open Office ที่ผมใช้พิมพ์ Memoir นี้มันไม่แสดงคำที่พิมพ์ผิด ทั้ง ๆ ที่ผมตั้งค่าเอาไว้ให้มันตรวจหาคำพิมพ์ผิดระหว่างพิมพ์เอาไว้ด้วย
สักสิบกว่าปีที่แล้วผมก็เคยเจอแบบนี้ พอถามนิสิตกลับไปว่าทำไมถึงไม่ใช้โปรแกรมแก้ไขคำที่พิมพ์ผิด เขาก็ตอบกลับมาว่ามันมีเยอะมากและเสียเวลาแก้ไขมาก ผมก็เลยถามกลับไปว่าแล้วคุณคิดว่าเวลาของกรรมการสอบนั้นมันไม่มีค่าหรือไง ในการที่ต้องมานั่งอ่านและตรวจแก้ไขคำที่พิมพ์ผิดให้คุณ ทั้ง ๆ ที่คุณใช้โปรแกรมตรวจหาในไฟล์ของคุณจะง่ายกว่าและเสียเวลาน้อยกว่ามาก
อีกรายหนึ่ง (แลปเดียวกับพวกเรา แต่อยู่คนละกลุ่มกัน) ที่อยู่ในรุ่นเดียวกับคนในย่อหน้าข้างบนก็มาอีกแบบหนึ่ง คือเขาไม่ยอมไปตรวจหาเอง ใช้วิธีการแก้ไขเฉพาะที่กรรมการตรวจเจอเท่านั้น (แต่กรรมการบอกไว้ชัดเจนว่าให้ไปตรวจดูทั้งเล่มใหม่หมดด้วย ไม่ใช่ตรวจแก้เฉพาะตรงที่กรรมการวงแดงเอาไว้) โดยคิดว่ากรรมการคงไม่ตรวจเพิ่มอีก งานนี้ผมก็เลยยังไม่ยอมลงชื่อในฉบับสมบูรณ์ ส่งกลับไปให้แก้ไขจนกระทั่งวันสุดท้ายของการส่ง ก็ยังพบว่ามีที่ผิดที่เขายังไม่ไปแก้ไขอีก ตอนที่เขามาหาผมที่ห้องทำงานพร้อมกับเพื่อนของเขอเพื่อขอให้ผมลงชื่อนั้น เขาก็สัญญาว่าขอให้อาจารย์ลงชื่อให้เขาส่งงานให้ได้ก่อน เพราะวันนี้วันสุดท้ายแล้ว แล้วเขาจะแก้ไขให้ พอผมลงชื่อในเอกสารและยื่นส่งคืนให้เขา พอเขารับเอกสารไปเรียบร้อยเขาก็พูดต่อหน้าผมและเพื่อนของเขาที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ว่า "แล้วอาจารย์คิดหรือว่าหนูจะกลับมาให้เห็นอีก" ผมฟังแล้วก็ไม่ได้พูดอะไรออกไปและไม่ได้เล่าให้อาจารย์ท่านใดฟัง
ปรากฏว่าเขาไปได้งานเป็นอาจารย์ที่สถาบันแห่งหนึ่ง บังเอิญว่าทางสถาบันนั้นมีทุนให้อาจารย์ที่ยังไม่จบระดับปริญญาเอกให้เรียนต่อปริญญาเอกในประเทศ เขาก็สมัครมาเรียนที่เดิมโดยขอกลับมาเรียนกับอาจารย์ที่ปรึกษาคนเดิมของเขา บังเอิญว่าอดีตอาจารย์ที่ปรึกษาของเขาเอาเรื่องนี้เข้าที่ประชุมเพื่อวางตัวอาจารย์ผู้สอนและผู้ดูแล งานนี้ผมเลยขอปฏิเสธพร้อมทั้งเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองให้ฟัง ส่วนท่านอื่นจะตัดสินใจอย่างไรนั้นผมไม่มีความเห็นและไม่ขอออกความเห็นใด ๆ ทั้งสิ้น
สุดท้ายได้ยินมาว่าเขาได้ทุนไปเรียนต่อเอกต่างประเทศ และในขณะนี้จบการศึกษาและกลับมาทำงานเป็นอาจารย์ได้หลายปีแล้ว
๓. เคาะวรรคไม่สม่ำเสมอ
อันนี้เจอเป็นประจำกับพวกที่เขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษ คือแต่ละคำในแต่ละประโยคนั้นเคาะวรรคไม่สม่ำเสมอ บางทีก็เคาะวรรค ๑ วรรค บางทีก็ ๒ วรรค ตอนที่ผมเรียนพิมพ์ดีดนั้น ครูผู้สอนก็ย้ำเสมอว่าเพื่อให้งานออกมาดูสวยงาม ระยะระหว่างคำในแต่ละประโยคให้เว้น 1 วรรค ส่วนระยะระหว่างประโยค (หลังจุด full stop จนถึงอักษรตัวแรกของประโยคถัดไป) ให้เว้น ๒ วรรค
แต่พอมาใช้คอมพิวเตอร์นั้น ผมก็ยังใช้เกณฑ์นี้อยู่ อาจมียกเว้นบ้างในกรณีที่ใช้การกั้นหน้าสม่ำเสมอซ้าย-ขวา ถ้าพบว่าการเว้นวรรค ๒ วรรคระหว่างประโยคนั้นทำให้การตัดประโยคขึ้นบรรทัดใหม่นั้นดูไม่สวยงาม ก็อาจมีการเปลี่ยนเป็น ๑ วรรคหรือเป็น ๓ วรรคระหว่างประโยค แต่ก็เป็นการกระทำเพียงบางจุดเท่านั้น ไม่ใช่เอาแน่เอานอนไม่ได้
คำที่อยู่หน้าเครื่องหมาย "," บางทีก็ไม่เคาะวรรค เช่น
....... for example, .....
แต่บางทีก็เคาะวรรค เช่น
....... for example , .....
โดยส่วนตัวแล้วผมชอบแบบแรก (ที่ไม่เคาะวรรค) มากกว่า
๔ เล็กบ้าง-ใหญ่บ้าง เต็มบ้าง-ย่อบ้าง
ที่พบเป็นประจำคือคำว่า table และ figure ที่อยู่ในประโยคและไม่ได้เป็นคำแรกของประโยค
กล่าวคือจะเขียนแบบ ..... as shown in figure ...... (ตัวเล็ก) หรือ ..... as shown in Figure ..... (ตัวใหญ่) ก็เลือกเอาแบบใดแบบหนึ่ง
อีกแบบคือ ..... as shown in figure ..... (แบบไม่ย่อ) หรือ ..... as shown in fig. ..... (แบบย่อ แต่อย่างลืมใส่จุด (.) ด้วยนะ) ก็เลือกเอาแบบใดแบบหนึ่ง
อีกอันหนึ่งที่เจอก็คือไม่เติม "s" เมื่อมีมากกว่า 1 กล่าวคือ
ถ้าเป็นรูปเดียวเช่น ..... as shown in figure 4.4 .... ก็ไม่ต้องเติม s
แต่ถ้ามีสองรูปเช่น ..... as shown in figures 4.4 and 4.5 ต้องเติม s ท้ายคำ figure
และถ้ามีมากกว่าสองรูปเช่น ..... as shown in figures 4.4 - 4.7 ก็ต้องมี s และใช้เครื่องหมาย hyphen (-) คั่นระหว่างรูปแรกและรูปสุดท้ายได้เลย ไม่ใช่เขียนเป็น ..... as shown in figure 4.4, 4.5, 4.6, and 4.7 ...
คำว่า Figure x.x ที่กำกับรูปหรือคำว่า Table x.x ที่กำกับตาราง ควรใช้ตัวพิมพ์เข้ม เพื่อเน้นให้เด่นจากข้อความปรกติและตัวคำบรรยายรูปภาพหรือตาราง เช่น
Figure 4.4 Flow diagram of ....
Table 4.1 Parameters ....
และควรมีการเว้น ๑ บรรทัดระหว่างข้อความกับรูปภาพหรือตารางด้วย โดยชื่อรูปควรอยู่ใต้รูป และชื่อตารางควรอยู่เหนือตาราง
๕. ย่อหน้าไม่สม่ำเสมอ
บางคนนั้นเวลาที่มีหัวข้อย่อย ก็จะทำการย่อหน้าลึกเข้าไปทางขวาเรื่อย ๆ ตัวอย่างเช่น
xxxxx5.1 Effects of .....
xxxxxเนื้อหาหัวข้อ 5.1
xxxxxxxxxx5.1.1 Effects of .....
xxxxxxxxxxเนื้อหาหัวข้อ 5.1.1 .....
แต่บางคนก็จะคงระยะย่อหน้าไว้คงที่เสมอ เช่น
xxxxx5.1 Effects of .....
xxxxxเนื้อหาหัวข้อ 5.1
xxxxx5.1.1 Effects of .....
xxxxxเนื้อหาหัวข้อ 5.1.1 .....
เรื่องการย่อหน้าเข้ามานี้ บางที่ก็มีระเบียบบังคับไว้เลยว่าถ้าเป็นหัวข้อย่อยก็ให้ถอยลึกเข้ามาเรื่อย ๆ ทำให้บางรายที่มีหัวข้อย่อหลายหัวข้อต้องย่อหน้าเข้ามากว่าครึ่งหน้า (เห็นแล้วดูไม่ได้เลย ไม่รู้คนคิดระเบียบนั้นคิดได้อย่างไร) ถ้าไม่มีระเบียบการเขียนกำหนดไว้ ก็ให้เลือกเอาแบบใดแบบหนึ่งให้เหมือนกันทั้งเล่ม
๖. มีจุด full stop ปิดท้ายด้วย
เป็นเรื่องประจำที่พบว่าผู้ที่เขียนวิทยานิพนธ์นั้นลืมใส่จุด full stop (.) ไว้ที่ท้ายประโยค จุดหนึ่งที่เห็นลืมกันมากที่สุดคือในส่วนเอกสารอ้างอิงที่เป็นฉบับภาษาอังกฤษ ที่ต้องมีจุด full stop ปิดท้ายด้วย และที่ชื่อรูปภาพและชื่อตารางด้วย
๗. ไม่ยอมเคาะวรรค
ระหว่างภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ ระหว่างคำกับตัวเลข ระหว่าง คำ/ตัวเลขกับเครื่องหมายเปิดวงเล็บ หรือระหว่างเครื่องหมายปิดวงเล็บกับคำ/ตัวเลข ควรมีการเว้นวรรค 1 วรรคเพื่อให้ข้อความดูสวยงามและอ่านง่าย เช่น
รูปที่๓.๒แสดงให้เห็นว่า ..... ให้เขียนเป็น รูปที่ ๓.๒ แสดงให้เห็นว่า ..... (มีวรรค 1 วรรคอยู่หน้าเลข ๓ และหลังเลข ๒)
Figure4.1 shows that ...... ให้เขียนเป็น Figure 4.1 shows that ..... (มีวรรค 1 วรรคอยู่หน้าเลข 4)
ข้อมูล(ซึ่งได้มา ...... นั้น)แสดงให้เห็นว่า..... ให้เขียนเป็น ข้อมูล (ซึ่งได้มา ...... นั้น) แสดงให้เห็นว่า..... (มีวรรค 1 วรรคอยู่หน้าเครื่องหมายเปิดวงเล็บและหลังเครื่องหมายปิดวงเล็บ)
๘. คำอธิบายสัญลักษณ์
สำหรับงานที่มีสมการคณิตศาสตร์มากนั้น ควรมีการรวบรวมสัญลักษณะต่าง ๆ มาอธิบายไว้ข้างหน้า โดยต้องเรียงลำดับสัญลักษณ์ต่าง ๆ ตามตัวอักษรจาก A-Z ต่อจากนั้นจึงเป็นคำอธิบาย superscript และ subscript และตามด้วยคำอธิบายอักษร Greek ไม่ใช่ใส่เอาแบบตามใจชอบแล้วให้คนอ่านไปหาเอาเองว่าซ่อนไว้ตรงไหน
และควรระบุด้วยว่าตัวแปรแต่ละตัวมีหน่วยเป็นอะไรหรือเป็นตัวแปรที่ไม่มีหน่วย หน่วยบางหน่วยนั้นสามารถเขียนแบบกลาง ๆ ได้ เช่นพื้นที่ผิวภายนอกต่อหน่วยปริมาตร อาจเขียนเป็น m2/m3 หรือ l2/l3 (ความยาวกำลัง 2 ต่อความยาวกำลัง 3 เมื่อ l คือความยาว) ก็ได้
๙. ตกลงว่าจะพิมพ์สีหรือขาวดำ
ปัญหานี้พบประจำเวลาที่ทำรูปกราฟต่าง ๆ บนคอมพิวเตอร์ชอบที่จะทำเป็นรูปสี แต่ตอนพิมพ์วิทยานิพนธ์กลับใช้เครื่องพิมพ์ที่พิมพ์ได้แต่สีดำ ผลที่ตามมาคือไม่สามารถอ่านภาพได้ เส้นที่เป็นสีอ่อนจะหายไป เส้นที่เป็นสีเข้มจะดูเหมือนกันหมด หรือรูปที่เป็นการแรเงาไล่สีจะดูออกมาดำไปหมด
ดังนั้นถ้าคิดจะใช้เครื่องพิมพ์ที่พิมพ์ได้แต่สีดำ การสร้างกราฟหรือรูปภาพต่าง ๆ บนคอมพิวเตอร์ก็ควรจะทำให้เป็นสีดำ (หรือภาพขาว-ดำ) ซึ่งจะทำให้เห็นก่อนว่าถ้าพิมพ์ออกมาแล้วจะอ่านได้หรือเปล่า
อนึ่งพึงระลึกว่าข้อความเรื่องการจัดรูปแบบใน memoir นี้เขียนโดยใช้โปรแกรม OpenOffice แต่เมื่อนำไปลงใน blog แล้วอาจมีรูปแบบที่เพี้ยนไปได้ (เนื่องจากตัว blog เองไม่ได้มีฟังก์ชันให้จัดรูปแบบได้เหมือนโปรแกรมพิมพ์งานทั่วไป)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น