วันพุธที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2553

น้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซปิโตรเลียมเหลว (ลักษณะและคุณภาพ) MO Memoir : Wednesday 24 March 2553

เมื่อช่วงที่ผ่านมามีคำถามหนึ่งเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจากผู้ที่ไม่ใช่วิศวกรเคมี ผมเห็นว่าคำตอบของคำถามนี้ค่อนข้างจะยาวและน่าจะมีประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นวิศวกรเคมีหรือผู้ที่ไม่ใช่วิศวกรเคมี เลยขอนำคำตอบนั้นมาขยายความและนำมาให้พวกคุณรับทราบกัน

น้ำมันเชื้อเพลิงนั้นเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานกลางกำหนดแบบที่เรียกได้ว่าเป็นมาตรฐานกลางของโลกก็ได้ เพราะส่วนใหญ่ประเทศผู้ผลิตรถก็ไม่ได้มีบ่อน้ำมัน ประเทศผู้มีบ่อน้ำมันก็ไม่ได้ผลิตรถ ดังนั้นเพื่อให้ผู้ผลิตรถยนต์สามารถส่งรถยนต์ไปขายที่ไหนในโลกก็ได้ และให้น้ำมันเชื้อเพลิงนั้นสามารถใช้กับรถยนต์ยี่ห้อใดก็ได้ ก็ต้องทำให้น้ำมันเชื้อเพลิงในภูมิภาคของโลกที่มีอากาศเหมือนกันควรต้องมีคุณสมบัติมาตรฐาน (เช่นเลขออกเทน) ที่เหมือนกัน และรถยนต์ก็ต้องออกแบบเครื่องยนต์ให้สามารถใช้น้ำมันที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานกลางได้

ดังนั้นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขายในประเทศ (ไม่ว่าจะออกมาจากโรงกลั่นใดก็ตาม) จะต้องมีลักษณะและคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานกลาง สำหรับประเทศไทยนั้นหน่วยงานที่เป็นผู้ประกาศกำหนดลักษณะและคุณภาพของเชื้อเพลิงได้แก่กรมธุรกิจพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนั้นไม่ว่าแต่ละโรงกลั่นจะซื้อน้ำมันจากแหล่งใดมากลั่น แต่ละโรงกลั่นจะต้องผลิตน้ำมันให้เป็นไปตามมาตรฐานที่หน่วยงานที่กล่าวมาข้างต้นกำหนด

ในที่นี้ผมเลยพยายามรวบรวมมาตรฐานต่าง ๆ เท่าที่ค้นเจอในส่วนที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันเชื้อเพลิง (ที่เป็นของเหลว) และก๊าซปิโตรเลียมเหลว เพื่อที่จะได้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในท้องตลาดนั้นมีอะไรบ้าง และจะยกบางข้อในประกาศนั้นขึ้นมาเพื่อให้เห็นตัวอย่างการเขียนกฎ ระเบียบ


. ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพน้ำมันของเบนซิน พ.. ๒๕๕๒

ประกาศนี้กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเบนซินออกเทน ๙๑ และออกเทน ๙๕ (น้ำมันที่ส่งออกจากโรงกลั่นและมาขายอยู่ตามปั๊มน้ำมันทั่วไป)

สำหรับน้ำมันออกเทน ๙๑ นั้น มีการกำหนดปริมาณสารเติมแต่งที่เป็น MTBE (methyl tertiary butyl ether) อยู่ในช่วงร้อยละ ๐-๑๑.๐ โดยปริมาตร (แสดงว่าไม่ต้องมีก็ได้)

แต่สำหรับน้ำมันออกเทน ๙๕ นั้น มีการกำหนดปริมาณสารเติมแต่งที่เป็น MTBE อยู่ในช่วงร้อยละ ๕.๕- ๑๑.๐ โดยปริมาตร (แสดงว่าจำเป็นต้องมี MTBE)

สำหรับน้ำมันที่มีสารออกซิเจนเนต (คือ MTBE ในที่นี้) เป็นส่วนผสม ประกาศนี้ยอมให้มีน้ำปนอยู่ในน้ำมันได้ไม่เกินร้อยละ ๐.๗ โดยน้ำหนัก (แสดงว่าน้ำมันออกเทน ๙๑ ที่ไม่มี MTBE จะต้องไม่มีน้ำปนอยู่)

และถึงแม้ว่าน้ำมันเบนซินที่ขายในบ้านเรานั้นจัดเป็นน้ำมันไร้สารตะกั่ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปริมาณตะกั่วในน้ำมันจะเป็นศูนย์ ประกาศนี้ยอมให้มีประมาณตะกั่วไม่สูงกว่า ๐.๐๑๓ กรัมต่อลิตร (ก่อน ๑ มกราคม ๒๕๕๕) และหลังวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๕ จะต้องไม่สูงกว่า ๐.๐๐๕ กรัมต่อลิตร


. ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพน้ำมันของน้ำมันเบนซินพื้นฐาน พ.. ๒๕๕๑

ประกาศนี้กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเบนซินสำหรับใช้ผสมเอทานอลแปลงสภาพเพื่อผลิตเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ น้ำมันนี้ไม่ใช่น้ำมันที่ขายตามปั๊ม แต่ขายให้คนอื่นเอาไปผสมกับเอทานอลในข้อ (๓) เพื่อผลิตเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ในข้อ (๔) โดยแบ่งออกเป็น

น้ำมันเบนซินพื้นฐานชนิดที่ ๑ (เลขออกเทนไม่ต่ำกว่า ๘๗)

น้ำมันเบนซินพื้นฐานชนิดที่ ๒ (เลขออกเทนไม่ต่ำกว่า ๘๙)


. ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของเอทานอลแปลงสภาพ พ.. ๒๕๔๘

ประกาศนี้กำหนดลักษณะและคุณภาพของเอทานอลที่จะนำไปผสมกับน้ำมันในข้อ (๒) เพื่อผลิตเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ซึ่งประกาศนี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับโรงกลั่นน้ำมัน แต่ควรจะเกี่ยวข้องกับผู้ผลิตเอทานอลที่โรงกลั่นน้ำมั้นจะนำมาใช้ผลิตแก๊สโซฮอล์


. ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพน้ำมันของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ พ.. ๒๕๕๑

กำหนดลักษณะและคุณภาพน้ำมันของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่ได้จากการนำน้ำมันในข้อ (๒) และเอทานอลแปลงสภาพในข้อ (๓) มาผสมกัน เพื่อผลิตเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่ขายตามปั๊มน้ำมันต่าง ๆ โดยแยกออกเป็น ๓ กลุ่มคือ


กลุ่มที่ ๑ ได้แก่พวกที่มีเอทานอลผสมอยู่ร้อยละ ๑๐ โดยปริมาตร หรือที่เรียกว่า อี ๑๐ ซึ่งมี

น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี ๑๐ ออกเทน ๙๑ (เอทานอล 10%)

น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี ๑๐ ออกเทน ๙๕ ชนิดที่ ๑ (เอทานอล 10% อะโรแมติก 35%)

น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี ๑๐ ออกเทน ๙๕ ชนิดที่ ๒ (เอทานอล 10% อะโรแมติก 38%)


กลุ่มที่ ๒ ได้แก่พวกที่มีเอทานอลผสมอยู่ร้อยละ ๒๐ โดยปริมาตร หรือที่เรียกว่า อี ๒๐ ซึ่งมี

น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี ๒๐ ออกเทน ๙๕ (เอทานอล 20%)


กลุ่มที่ ๓ ได้แก่พวกที่มีเอทานอลผสมอยู่ร้อยละ ๘๕ โดยปริมาตร หรือที่เรียกว่า อี ๘๕ ซึ่งมี

น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี ๘๕ ออกเทน ๙๕ (เอทานอล 85%)


. ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพน้ำมันของน้ำมันดีเซล พ.. ๒๕๕๓

น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (ธรรมดา) หรือ High Speed Diesel (HSD) เป็นน้ำมันที่ใช้เติมรถยนต์รถบรรทุกทั่วไป (น้ำมันที่ขายตามปั๊มทั่วไป) น้ำมันตัวนี้จะมีสีเหลือง

น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (บี ๕) คือน้ำมันผสมไบโอดีเซล 5% (เป็นน้ำมันที่ขายตามปั๊มทั่วไป จะผสมสีแดง)

น้ำมันดีเซลหมุนช้า หรือน้ำมันขี้โล้ ใช้กับเครืองยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ (เช่นเครื่องยนต์เรือขนาดใหญ่)

นอกจากนี้ยังมีน้ำมันดีเซลหมุนเร็วตามโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องราชอาณาจักร (ผสมสีเขียว) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วตามโครงการช่วยเหลือน้ำมันให้ชาวประมง (ผสมสีม่วง) ซึ่งน้ำมันสองประเภทหลังนี้อาจมีลักษณะและคุณภาพไม่เป็นไปตามรายละเอียดแนบท้ายประกาศ (สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (ธรรมดา) ข้อหนึ่งข้อใดหรือหลายข้อก็ได้

น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (ธรรมดา) ยังกำหนดให้มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเทอร์ของกรดไขมันในปริมาณระหว่างร้อยละ ๑.๕-๒.๐ โดยปริมาตรด้วย (จัดเป็นพวกบี ๒)

น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (ธรรมดา) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (บี ๕) ปัจจุบันกำหนดให้มีค่าซีเทนไม่ต่ำกว่า ๔๗ แต่ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๕ เป็นต้นไปจะกำหนดให้มีค่าซีเทนไม่ต่ำกว่า ๕๐


. ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพน้ำมันของไบโอดีเซลสำหรับเครื่องยนต์การเกษตร (ไบโอดีเซลชุมชน) พ.ศ. ๒๕๔๙

ไม่ได้กำหนดปริมาณของเอสเทอร์หรือน้ำมันพืชที่ผสมอยู่ เป็นน้ำมันที่สนับสนุนให้ชาวบ้านทำขายกันเอง (เช่นโดยการเอาน้ำมันก๊าดหรือน้ำมันดีเซลผสมกับน้ำมันพืชโดยตรง)

นิยามของ "เครื่องยนต์การเกษตร" ตามประกาศหมายถึง เครื่องยนต์สูบเดียว ๔ จังหวะ สูบนอน ระบายความร้อนด้วยน้ำ (ดังนั้นไม่ควรเอาน้ำมันนี้มาใส่รถยนต์)


. ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพน้ำมันของไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเทอร์ของกรดไขมัน พ.ศ. ๒๕๕๒ (บี ๑๐๐)

น้ำมันไบโอดีเซลบี ๑๐๐ ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลหมุนเร็ว

และเป็นไบโอดีเซลที่นำไปผสมกับน้ำมันดีเซลเพื่อผลิตเป็น บี ๒ และ บี ๕

น้ำมันตัวนี้กำหนดให้มีค่าซีเทนไม่ต่ำกว่า ๕๑


. ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพน้ำมันของน้ำมันก๊าด พ.. ๒๕๔๗

เป็นน้ำมันก๊าดใช้ในอุตสาหกรรม

ประกาศนี้ไม่ครอบคลุมน้ำมันสำหรับเครื่องยนต์ไอพ่น (ซึ่งเป็นน้ำมันในช่วงน้ำมันก๊าด)


. ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพน้ำมันของน้ำมันเตา (ฉบับที่ ๒) .. ๒๕๔๗

แบ่งน้ำมันเตาออกเป็น ๕ ประเภทไล่จากน้ำมันเบา (ความหนาแน่นต่ำสุดและความหนืดต่ำสุด) ไปหาน้ำมันหนัก (ความหนาแน่นสูงและความหนืดสูง) ดังนี้

น้ำมันเตาชนิดที่ ๑

น้ำมันเตาชนิดที่ ๒

น้ำมันเตาชนิดที่ ๓

น้ำมันเตาชนิดที่ ๔

น้ำมันเตาชนิดที่ ๕

ที่แปลกกว่าประกาศของน้ำมันตัวอื่นคือ ประกาศของน้ำมันเตานั้นมีการกำหนดปริมาณความร้อน (แคลอรี่/กรัม) ของน้ำมันเอาไว้ด้วย (ประกาศอื่นไม่มี)


๑๐. ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไบโอดีเซลสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลหมุนเร็ว พ.ศ. ๒๕๔๙ (บี ๑๐๐)

ประกาศนี้เป็นประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยต่างจากข้อ (๗) ตรงที่ว่ามีการระบุไบโอดีเซลว่าเป็น "เมทิล" เอสเทอร์ของกรดไขมันและ "เอทิล" เอสเทอร์ของกรดไขมัน (ประกาศไบโอดีเซลในข้อ ๗ เป็น "เมทิล" เอสเทอร์เท่านั้น) ที่แปลกคือดูเหมือนว่าจะประกาศที่คล้ายกับข้อ (๗) แต่ไม่ได้มีการยกเลิกประกาศข้อ (๗)



๑๑. ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันหล่อลื่น พ.. ๒๕๔๗

เป็นน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน ซึ่งสามารถนำไปผสมสารเติมแต่งต่าง ๆ เพื่อให้มีคุณสมบัติสูงกว่ามาตรฐานได้


๑๒. ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของก๊าซปิโตรเลียมเหลว พ.ศ. ๒๕๔๗

ประกาศนี้ใช้กับก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquified Petroleum Gas - LPG) ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น ไม่ใช่ก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ประกาศนี้ไม่ได้กำหนดว่าก๊าซปิโตรเลียมเหลว ควรประกอบด้วยโพรเพนและบิวเทนในสัดส่วนเท่าใด แต่ใช้วิธีกำหนดความดันไอ ณ อุณหภูมิ ๓๗.๘ องศาเซลเซียสไม่ให้เกิน ๑๓๘๐ กิโลปาสคาล


ประกาศเหล่านี้มีการเพิ่มเติม แก้ไข หรือยกเลิก เป็นระยะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น