วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

Full metal jacket MO Memoir : Monday 10 May 2553

ในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ถนนราชดำเนิน ถนนวิภาวดีรังสิต และบริเวณแยกศาลาแดงและสวนลุมพินีที่มีทั้งผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนั้น เราจะได้ยินข่าวหนึ่งเกี่ยวกับการพิสูจน์ชนิดกระสุนที่ยิงเข้าใส่ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตว่าเป็นกระสุนความเร็วสูง และพบเศษซากโลหะทองแดงและตะกั่วในตัวผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต


หลายคนคงนึกแต่เพียงว่าหัวกระสุนนั้นทำจากโลหะตะกั่ว แล้วโลหะทองแดงมันมาได้อย่างไร


ผิวด้านในของรูลำกล้องปืนทั่วไป (ที่ไม่ใช่ปืนลูกซอง) จะมีลักษณะเป็นร่องเกลียวที่ดูเหมือนเกลียวตัวเมียร่องตื้น ๆ ร่องเกลียวในรูลำกล้องปืนนั้นกว่าจะเวียนครบหนึ่งรอบก็กินระยะทางหลายนิ้ว ปืนลูกกรดขนาด .22LR นั้นเกลียวลำกล้องกว่าจะเวียนครบ 1 รอบก็ต้องใช้ความยาวลำกล้อง 14 นิ้ว ลำกล้องปืน 9 มม พารา ที่ผมมีอยู่นั้นก็เป็นชนิด 6 เกลียวที่เวียนครบรอบที่ระยะ 10 นิ้ว

เพื่อให้แก๊สที่เกิดจากการระเบิดของดินปืนผลักดันให้หัวกระสุนพุ่งไปข้างหน้าได้เต็มที่ ตัวหัวกระสุนปืนจะต้องแนบสนิทไปกับผิวของรูลำกล้อง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าววัสดุที่ใช้ทำหัวกระสุนจึงต้องมีความแข็งน้อยกว่าวัสดุที่ใช้ทำลำกล้องปืน (ซึ่งใช้เหล็กกล้าคาร์บอนหรือสแตนเลส) และขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหัวกระสุนจะใหญ่กว่าขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายในของลำกล้องปืนเล็กน้อย ดังนั้นเมื่อแก๊สร้อนจากการระเบิดของดินปืนดันหัวกระสุนไปข้างหน้า หัวกระสุนจะถูกรีดให้เคลื่อนไปตามผิวด้านในของลำกล้องปืน แต่เนื่องจากผิวด้านในของลำกล้องนั้นมีร่องเกลียวอยู่ หัวกระสุนก็จะเคลื่อนตัวแบบหมุนไปตามร่องเกลียวในขณะที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้า และเมื่อหัวกระสุนเคลื่อนพ้นปากลำกล้องออกไปก็จะมีการหมุนรอบแกนยาวของหัวกระสุนในขณะที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้า การหมุนรอบตัวเองของหัวกระสุนนั้นทำให้หัวกระสุนมีการเคลื่อนที่ที่มีเสถียรภาพดีขึ้น และเคลื่อนที่ไปได้ไกลมากกว่าการที่ไม่มีการหมุนรอบตัวเอง การที่หัวกระสุนต้องถูกรีดให้หมุนไปตามเกลียวในลำกล้องปืน ทำให้เกิดรอยบนผิวด้านนอกของหัวกระสุน รอยที่เกิดบนหัวกระสุนนี้เป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละลำกล้องปืน ซึ่งเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานใช้เป็นข้อพิสูจน์ว่ากระสุนนัดนั้นถูกยิงมาจากลำกล้องปืนกระบอกไหน


รูปที่ 1 ตัวอย่างเกลียวในลำกล้องปืนและรอยที่เกิดบนหัวกระสุน (ภาพจาก http://www.sott.net/articles/show/

159511-The-Assassination-of-Robert-Kennedy-Part-5-Sirhan-Sirhan)


ตะกั่วเป็นโลหะที่มีราคาถูก ขึ้นรูปได้ง่าย อ่อนกว่าเหล็ก และยังมีความหนาแน่นสูง จึงเป็นโลหะที่นิยมนำมาใช้ทำหัวกระสุนมากที่สุด แต่ความที่ตะกั่วนั้นอ่อนมากเกินไป ทำให้เมื่อเร่งความเร็วของหัวกระสุนที่ทำจากตะกั่วให้สูงมากขึ้นเรื่อย ๆ หัวกระสุนจะไม่จับกับเกลียวลำกล้อง แต่จะถูกเกลียวลำกล้องบาดขาดออกจากผิวหัวกระสุน ทำให้หัวกระสุนไม่จับเข้ากับเกลียวลำกล้องและเคลื่อนที่ไปโดยไม่หมุนไปตามการหมุนของร่องเกลียว

เพื่อให้กระสุนสามารถจับเข้ากับเกลียวลำกล้องได้เมื่อหัวกระสุนเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงขึ้น จึงต้องมีการนำเอาโลหะที่มีความแข็งแรงกว่าตะกั่ว แต่ต้องอ่อนกว่าเหล็กที่ใช้ทำลำกล้อง มาหุ้มส่วนแกนของหัวกระสุนเอาไว้ โลหะที่นำมาใช้กันมากที่สุดในงานนี้คือทองแดง

เมื่อนำเอาทองแดงมาหุ้มหัวกระสุนแล้ว แกนในของหัวกระสุนก็ไม่จำเป็นต้องเป็นตะกั่วเสมอไป อาจเป็นวัสดุอื่นเช่นเหล็กกล้าก็ได้เพื่อทำให้หัวกระสุนเจาะทะลุเกราะได้ดีขึ้น หัวกระสุนที่ใช้กันในทางพลเรือนนั้นแกนในมักจะเป็นตะกั่วล้วน ส่วนหัวกระสุนที่ใช้กับอาวุธสงครามนั้นมีทั้งแบบที่แกนในเป็น ตะกั่วล้วน แกนเหล็ก และแกนเหล็กผสมตะกั่ว

การนำทองแดงมาหุ้มหัวกระสุนนั้นไม่จำเป็นต้องหุ้มแกนเอาไว้ทั้งหมด แต่ตำแหน่งที่สำคัญที่ต้องหุ้มคือตำแหน่งที่สัมผัสกับลำกล้อง หัวกระสุนที่เป็นตะกั่วล้วนไม่มีทองแดงหุ้มนั้นเป็นหัวกระสุนที่เรามักเรียกว่า "กระสุนซ้อม" ทั้งนี้เพราะมันมีราคาถูกสุดและอำนาจไม่รุนแรงเหมือนกระสุนที่หัวหุ้มทองแดง แต่มันก็ยิงคนตายเหมือนกัน กระสุนแบบนี้ถ้าเป็นแบบหัวมนชื่อทางการคือ Lear Round Nose (LRN) ถ้าเป็นแบบหัวแบน (เป็นตะกั่วรูปทรงกระบอก) จะเรียกว่า Lead Wad Cutter (LWC) แต่ถ้าหุ้มหัวกระสุนเอาไว้จนมองไม่เห็นแกนที่อยู่ข้างใน (แต่ถ้าดูที่ก้นกระสุนจะยังเห็นแกนตะกั่วที่อยู่ข้างใน) จะเรียกว่า Full Metal Jacket (FMJ) ตัวอย่างหัวกระสุนทั้งสามชนิดแสดงไว้ในรูปที่ 2


รูปที่ 2 (ซ้าย) กระสุนขนาด 9 มม พาราและ .22LR ชนิด FMJ (กลาง) กระสุนขนาด9 มม พาราและ .22LR ชนิด LRN และ (ขวา) กระสุนขนาด .38 Special ชนิด LWC


รูปที่ 3 ภาพตัดขวางหัวกระสุนชนิด FMJ ขนาด (นับจากซ้าย) (ก) 7.62 mm ที่ใช้กับปืนอาก้า (AK-47) ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นแกนเหล็กหุ้มทองแดง โดยเติมเต็มที่ว่างด้วยตะกั่ว (ข) 5.45 mm ที่ใช้กับปืน AK-74 ดูเหมือนว่าจะเป็นแกนเหล็กหุ้มทองแดง ส่วนที่ว่างนั้นก็เป็นโพรงอากาศไป (ค) 5.56  45 mm NATO ที่ใช้กับปืน M-16 รุ่นแรกและ HK-33 จะเติมเต็มภายในเปลือกทองแดงด้วยตะกั่วจนเต็ม และ (ง) 7.62  51 mm NATO ซึ่งก็เติมเต็มภายในเปลือกทองแดงด้วยตะกั่ว แต่มีที่ว่างบริเวณหัวกระสุนอยู่นิดนึง (รูปจาก http://www.bajaarizona.org/fklr/fklr.html)


เมื่อหัวกระสุนพุ่งพ้นปากลำกล้องออกไปนั้น ในช่วงแรกหัวกระสุนจะเคลื่อนที่ในรูปแบบที่ส่วนหัวของหัวกระสุนมีการหมุนแกว่งรอบแกนยาวของหัวกระสุน และเมื่อผ่านพ้นไปเป็นระยะหนึ่งการแกว่งนี้ก็จะลดลง หัวกระสุนจะทรงตัวได้ดีขึ้น อำนาจการเจาะทะลุจะดีขึ้น การแกว่งนี้ส่งผลต่อพฤติกรรมของหัวกระสุนเมื่อวิ่งกระทบเป้าหมาย ในกรณีที่เป็นเป้าหมายที่แข็ง (เช่นแผ่นโลหะ) ที่วางตั้งฉากกับทิศทางการเคลื่อนที่ของหัวกระสุน หัวกระสุนที่มีการแกว่ง (แม้ว่าจะมีความเร็วสูง) จะเจาะทะลุได้ไม่ดี เผลอ ๆ อาจจะแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ เมื่อกระทบเป้าเพราะส่วนยอดของหัวกระสุนไม่ได้ตกกระทบทำมุมฉากกับพื้นผิว แต่ที่ระยะไกลออกไป (แม้ความเร็วจะลดลง) แต่เมื่อหัวกระสุนทรงตัวได้ดีขึ้น มุมตกของหัวกระสุนจะตั้งฉากกับพื้นผิวของเป้า อำนาจการเจาะทะลุจะดีขึ้น

แต่ถ้าเป็นเป้าที่อ่อนเช่นเนื้อเยื่อของคนหรือสัตว์ หัวกระสุนที่มีการแกว่งเมื่อเจาะทะลุเข้าไปในร่างกายแล้วจะเกิดการตีลังการหมุน ทำให้เกิดการคว้านเนื้อเยื่อให้เป็นแผลที่ใหญ่ขึ้น ในจังหวะที่หัวกระสุนเกิดการตีลังกานี้ถ้าหากหัวกระสุนมีความแข็งแรงไม่เพียงพอ หัวกระสุนจะแตกกระจายออก ทำให้บาดแผลฉีกขาดรุนแรงมากขึ้นไปอีก (เพราะสามารถถ่ายเทพลังงานให้เป้าหมายได้มากขึ้น) รูปที่ 4 ข้างล่างแสดงให้เห็นการแตกกระจายของหัวกระสุนที่ตกกระทบเป้าหมายที่ความเร็วต่าง ๆ กัน


รูปที่ 4 การแตกของหัวกระสุนชนิด NATO M855 (หรือ SS109) 5.6 x 45mm ที่ใช้กับปืน M-16 รุ่นใหม่และอาวุธที่ใช้กระสุนตระกูลนี้รุ่นใหม่ (ภาพจาก http://www.bajaarizona.org/fklr/fklr.html) จะเห็นว่าการยิงในระยะไม่ไกลนัก หัวกระสุนจะแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย โดยส่วนที่ยังคงรักษารูปร่างไว้ได้ดีที่สุดคือเปลือกทองแดง ส่วนแกนในจะแตกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ


กระสุนชนิดเดียวกันที่ผลิตด้วยมาตรฐานเดียวกัน (ยิงจากปืนชนิดเดียวกันได้) แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันก็สามารถให้ผลที่แตกต่างกันได้ รูปที่ 5 ข้างล่างเป็นหัวกระสุนมาตรฐานนาโต้ที่ผลิตจากผู้ผลิตต่างกัน ความแตกต่างที่สำคัญของหัวกระสุนทั้งสองคือความหนาของเปลือกทองแดงซึ่งทำให้หัวกระสุนเมื่อกระทบเป้าแล้วอาจแตกกระจายเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ หรือยังคงรูปอยู่เหมือนเดิมก็ได้


รูปที่ 5 กระสุนขนาด German 7.62 x 51 mm FMJ NATO (ซ้าย) ของเยอรมัน และ (ขวา) ของอเมริกา เนื่องจากกระสุนของเยอรมันใช้เปลือกทองแดงที่บางกว่าในบางตำแหน่ง ทำให้หัวกระสุนเกิดการแตกเมื่อกระทบเป้า ในขณะที่หัวกระสุนของอเมริกายังคงรูปอยู่ได้ (ภาพจาก http://www.bajaarizona.org/fklr/fklr.html)


การหุ้มหัวกระสุนด้วยโลหะทองแดงนั้นมีรูปแบบการหุ้มหลายรูปแบบ บางชนิดจะหุ้มส่วนท้ายแต่เปิดส่วนหัวไว้ให้เห็นตะกั่วที่อยู่ข้างใน แถมบางทีตรงส่วนปลายนั้นยังทำเป็นหลุมเอาไว้อีก กระสุนชนิดนี้ออกแบบมาเพื่อใช้ยิงเป้าหมายที่อ่อนเช่นคนหรือล่าสัตว์ เพราะหัวกระสุนจะบานออกเป็นรูปดอกเห็ดได้ง่าย ทำให้ถ่ายเทพลังงานให้เป้าหมายได้ดี ไม่ทะลุออกไปโดนสิ่งที่ไม่ต้องการที่อยู่หลังเป้า (บ้านเราบางทีเรียกว่ากระสุนหัวระเบิด) แต่กระสุนชนิดนี้ถูกห้ามใช้ในทางทหารตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ (ลงนามกันไว้เมื่อราว ๆ 100 ปีที่แล้วที่กรุงเฮก) เนื่องจากก่อให้เกิดบาดแผลรุนแรงเกินไป กระสุนที่ใช้ในทางทหารได้ต้องเป็นชนิด FMJ เท่านั้น (ส่วนหัวหุ้มทองแดงเอาไว้ทั้งหมด)

เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้หวังว่าคงพอจะเข้าใจแล้วว่าที่มีรายงานว่าพบเศษโลหะทองแดงในตัวผู้เสียชีวิต และสรุปว่าถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูงนั้น เขาสรุปได้อย่างไร

รายละเอียดเพิ่มต่าง ๆ เพิ่มเติมสามารถไปอ่านได้ในเว็ปที่นำเอารูปภาพมาแสดง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น