ก็ผ่านไปได้ด้วยดีสำหรับงานทอดไข่เจียวเมื่อเที่ยงวันพฤหัสบดีที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ที่ว่าผ่านไปได้ด้วยดีก็เพราะดูเหมือนว่าจะไม่มีใครมีอาการใด ๆ เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากอาหารเป็นพิษ จะมีบ้างก็คงเป็นพวกที่เที่ยวชิมฝีมือคนโน้นคนนี้ซะจนเลี่ยนน้ำมันทอดไข่
จะว่าไปแล้วจากงานดังกล่าวทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรจากพวกคุณ และจะว่าไปแล้วพวกคุณควรจะได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างจากการทอดไข่วันดังกล่าวด้วย ซึ่งจะว่าเป็นแล้วมันเป็นเหมือนการจำลองการเรียนรู้การทำงานจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง
ในวันดังกล่าวนั้นผมเชื่อว่าหลายคนทำไข่เจียว "ไม่เป็น" หรือ "ไม่แน่ใจว่าทำเป็น" ก็เลยมีการมายืนมุงดูคนที่ทำก่อนหน้า งานนี้ถ้าให้มาทำทีละคนแบบไม่ให้คนมายืนดูคนอื่นทำ รับรองได้ว่ามีรายการเละเทะมากกว่าที่ผ่านมาอีก และแม้ว่าจะมีการมายืนมุงดูแล้วก็ยังปรากฏว่าคนที่ทำทีหลัง (บางคนเท่านั้น) ก็ยังทำได้ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคนิคการตีไข่ (ทำไมบางคนถึงตีแล้วไม่ฟู) การเทไข่ใส่ลงในกระทะ (ทำไมบางคนเทลงไปตรง ๆ แต่บางคนกลับเทแบบวนไปรอบ ๆ) ฯลฯ ตรงจุดนี้ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนรู้จักสังเกตมากน้อยเท่าใด เพราะบางครั้งคนทำก็บอกแต่เพียงว่า "ตีไข่ให้ขึ้นฟอง" แต่ทำไมบางคนตีแล้วไม่ขึ้นฟอง บางคนตีแล้วฟองขึ้นเยอะมาก ทั้ง ๆ ที่ใช้ส้อมตีใข่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ไม่ได้มีการบอกกล่าวคือถ้าจับส้อมด้วยมุมที่ต่างกัน (ทำให้มุมการตีแตกต่างกัน) ก็จะทำให้ได้ผลออกมาต่างกันได้
ถ้าเปรียบการทอดไข่เจียวเป็นเหมือนกับการทำการทดลอง พวกคุณก็คงจะได้เรียนรู้แล้วว่าการเรียนภาคทฤษฎีนั้นแม้ว่ามันจะดูง่าย แต่พอลงมือปฏิบัติจริง ๆ นั้นกลับไม่ได้ดังที่คาดหวังไว้ และแม้ว่าแต่ละคนจะใช้สารตั้งต้นเดียวกัน (ไข่ไก่เหมือนกัน และน้ำปลาขวดเดียวกัน) แต่พอลงมือทำก็ปรากฏว่าออกมาไม่เหมือนกัน บางคนลงมือทำครั้งแรกก็ออกมาดูดีเลย
ตรงจุดนี้คงพอมองเห็นแล้วใช่ไหมว่า ทำไมเวลาเรียนรู้การทำการทดลองจึงต้องให้มาคอยเฝ้าดูการทำแลปของรุ่นพี่ ถ้ายังนึกไม่ออกก็ลองไปเขียนวิธีทอดไข่เจียว ใส่รายละเอียดทุกอย่างให้ครบชนิดที่เรียกว่าคนที่ไม่เคยทำมาก่อน พออ่านแล้วต้องทำได้เหมือนกันทุกครั้งโดยไม่มีข้อสงสัยใด ๆ การเรียนรู้การทำแลป (หรือการใช้เครื่องมือ) มันก็เป็นอย่างนี้ อย่าไปคาดหวังว่าคู่มือต่าง ๆ มันจะเขียนได้ละเอียด เก็บรายละเอียดต่าง ๆ เอาไว้ได้หมด เพราะบางอย่างนั้นคนทำก็ทำด้วยความเคยชินโดยไม่นึกว่ามันจะส่งผลกระทบต่อผลลัพท์ที่ได้ รายละเอียดเรื่องราวเหล่านั้นก็จะไม่มีการบันทึกเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร จะเรียนรู้ได้โดยการเฝ้าติดตามดูและลองปฏิบัติตามเท่านั้น
รูปที่ 1 ปุ่มปรับความร้อนแบบหมุนของกระทะไฟฟ้า เวลาทอดไข่เจียวควรอยู่ที่ตำแหน่งไหน แล้วตัวเลขที่แสดงนั้นหมายถึงอะไร มีอะไรระบุไว้หรือไม่
อีกเรื่องก็คือการทำงานโดยไม่รู้จักใช้ความรู้สึก เชื่อว่าทุกคนที่มาทอดไข่ในวันนั้น (หวังว่า "ทุกคน" นะ) คงจะรู้ว่าการทอดไข่เจียวนั้นต้องใช้น้ำมันที่ร้อน แต่ปัญหาคือต้อง "ร้อน" เท่าใด หลายคนใช้วิธีดูตัวเลขที่ปุ่มปรับความร้อน (ตรงนี้ผมขอใช้คำว่า "ความร้อน" แทน "อุณหภูมิ" นะ เพราะมีอะไรเป็นตัวหรือเปล่าว่าตัวเลขที่อยู่บนนั้นเป็นตัวเลขอุณหภูมิ มันอาจเป็นตัวเลขความต่างศักย์ไฟฟ้าก็ได้ เหมือนกับหม้อแปลงที่เราใช้ปรับอุณหภูมิตอนทำแลป) บางคนก็ตั้งตัวเลขนั้นให้สูงกว่า 100 เล็กน้อย (ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะเหตุใด)
คนทำอาหารทั่วไปนั้นเขาไม่ได้มีการวัดอุณหภูมิน้ำมันหรอกว่าร้อนเท่าใด (เว้นแต่พวกร้านอาหารที่ใช้เตาคุมอุณหภูมิเพื่อให้อาหารออกมาเหมือน ๆ กันหมด) เขาใช้ประสบการณ์และความรู้สึกว่าสำหรับอาหารเช่นนี้ควรเร่งไปแรงเท่าใด (ในกรณีที่ใช้เตาแก๊ส) และรู้ได้อย่างไรว่าน้ำมันนั้นร้อนพอแล้ว (งานนี้เราทำได้โดยการสังเกตการเดือดของน้ำมันหรือทดสอบโดยการหยดไข่ที่ตีแล้วลงไปเล็กน้อย)
ในการทำแลปก็เช่นเดียวกัน ในบางครั้งเมื่อเราเริ่มต้นในการทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน หรือไม่มีข้อมูลมาก่อนว่าควรเริ่มตรงจุดใด เราก็ต้องใช้การสังเกตและความรู้สึกในการทำงาน พูดอย่างนี้บางคนอาจคิดว่ามันไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่จะว่าไปแล้ววิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถวัดอะไรทุกอย่างได้ (เช่นวัดความอร่อยหรือความหอมของอาหาร การวัดความเจ็บปวด ความทรมานจากบาดแผล การวัดความรู้สึกว่าสภาพอากาศที่ปรับแล้ว หรือเสื้อผ้าที่สวมใส่นั้น ทำให้รู้สึกสบายตัวหรือไม่ ฯลฯ)
บางเรื่องนั้นมันเรียนลัดได้ อ่านตำราได้ แต่หลายเรื่องนั้นต้องลงมือทำด้วยตนเองถึงจะรู้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น