เมื่อวันพุธที่ ๑๘ ที่ผ่านมา มีนิสิตป.เอกคนหนึ่งมาถามผมเรื่องขดลวดเตาความร้อนที่ขาดว่าควรทำอย่างไรดี ผมดูแล้วก็แนะนำให้เปลี่ยนใหม่เลยเพราะตำแหน่งที่ขาดมันเป็นบริเวณที่ให้ความร้อน ไม่ใช่บริเวณที่เป็นสายไฟฟ้า
คำถามต่อไปที่ผมถามเขาก็คือเตาความร้อนนั้นมีขดลวดกี่เส้น เขาตอบว่ามีอยู่ ๒ เส้น คำถามต่อไปคือสองเส้นนั้นต่อกันอยู่แบบอนุกรมหรือแบบขนาน คำตอบคือต่อแบบขนาน ผมก็เลยแนะนำให้เขาเปลี่ยนใหม่ทั้งสองเส้นเลย
รูปที่ 1 ตัวอย่างเตาให้ความร้อนที่ใช้ในแลปของเรา ลักษณะเป็นเตาสองซีกเปิดได้ ทำจากอิฐทนไฟและเซาะร่องเพื่อร้อยขดลวดความร้อน
เตาให้ความร้อนที่แสดงในรูปที่ 1 นั้นเกือบทุกตัวในแลปนิสิตเป็นคนทำกันเอง โดยไปซื้ออิฐทนไฟมาเซาะร่องด้วยตะไบ และไปซื้อขดลวดความร้อนมาร้อยตามกำลังความร้อนที่ต้องการ ส่วนประกอบที่จ้างเขามีแต่ตัวเปลือกหุ้มด้านนอกที่ไปให้ร้านเขาดัดแผ่นเหล็กและทำบานพับและตัวยึด ผมกลับมาทำงานใหม่ ๆ ยังต้องมาช่วยนิสิตออกแบบเตาและสร้างเตากันเลย ไม่เห็นมีใครบ่นอะไรสักคำ สนุกกับการได้ลงมือทำด้วยซ้ำ ต้นทุนเตาให้ความร้อนที่เราประกอบกันเองนั้น (ไม่คิดค่าแรง) ก็อยู่ในระดับหลักพันต้น ๆ แต่ถ้าไปจ้างเขาทำก็ดูเหมือนว่าจะอยู่ในระดับหลายหมื่น นิสิตสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน นิสิตปัจจุบันถ้าบอกให้ไปทำอะไรแล้วจะหน้ามุ่ยทันที ชอบแต่จะซื้อเอาอย่างเดียว ถ้าผลการทดลองหาซื้อได้ก็คงหาซื้อไปแล้ว
อุณหภูมิที่เตาให้ความร้อนจะทำได้ขึ้นอยู่กับกำลัง (วัตต์) และจำนวนขดลวดความร้อนที่จะร้อยเข้าไป ในบ้านเรานั้นใช้ไฟฟ้า 220V ถ้าใช้ขดลวดความร้อนชนิดที่ใช้กับไฟฟ้า 110V (พวกที่ขนชิ้นส่วนมาจากต่างประเทศ) ก็ต้องเอาขดลวดสองเส้นมาต่ออนุกรมกันก่อน เพราะขืนไม่ต่ออนุกรมกันก็จะมีกระแสไหลเข้ามากเกินไปจนทำให้ขดลวดขาดได้ แต่ถ้าเป็นขดลวดความร้อนชนิดที่ใช้กับไฟฟ้า 220V ก็ไม่จำเป็นต้องเอามาต่ออนุกรมกัน อาจเอามาต่อแบบอนุกรมหรือขนานกันก็ได้
การต่อขดลวดแบบอนุกรมนั้น กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านขดลวดทั้งสองที่ต่ออนุกรมกันอยู่เท่า ๆ กัน แต่การต่อขดลวดแบบขนานนั้นจำเป็นที่ขดลวดทั้งสองควรมีความต้านทานเท่ากัน เพราะถ้าขดลวดทั้งสองมีความต้านทานแตกต่างกัน ขดลวดที่มีความต้านทานต่ำกว่าจะมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านมากกว่า และจะร้อนจัดมากกว่า (ความร้อนที่เกิดเท่ากับ I2R หรือแปรผันตามกระแสกำลังสอง) และเส้นที่ความต้านทานต่ำกว่าจะขาดก่อน
เหตุผลที่ผมบอกให้นิสิตคนข้างบนเปลี่ยนขดลวดความร้อนใหม่ทั้งสองเส้นเลยนั้น เพราะอีกเส้นหนึ่งเห็นสภาพก็บอกได้เลยว่าใช้งานมานานแล้ว คงใช้ได้อีกไม่นานก็คงจะขาดแล้วก็ต้องเปลี่ยนใหม่ และเวลาไปหาซื้อก็ควรตรวจดูด้วยว่าร่องใส่ขดลวดในเตานั้นเขาทำไว้ยาวเท่าไร จะได้ซื้อขดลวดความร้อนได้ถูกขนาด ลวดความร้อนที่เห็นใช้กันอยู่ในแลปนั้นมีลักษณะแบบขดสปริง ถ้ามันยาวกว่าความยาวร่องก็ใช้วิธีกดให้มันยุบตัวลงไป อย่าไปตัดให้มันสั้นลง แต่ถ้ามันสั้นกว่าความยาวร่องก็จะใช้วิธีดึงให้ยืดตัวออกมา
เรื่องสอนให้นิสิตลงมือปฏิบัตินี่ตอนหลังจะสอนเฉพาะนิสิตที่ตัวเองดูแล ส่วนผู้ที่ผมไม่ได้เป็นผู้ดูแลก็ไม่อยากจะไปยุ่งอะไรกับเขา เว้นแต่ว่าเขาจะมาขอร้องให้ไปช่วย รายสุดท้ายที่โดนมาเมื่อไม่กี่ปีที่แล้วเป็นนิสิตหญิงป.โทผู้หนึ่ง เขามาปรึกษาผมเรื่องอุปกรณ์มีปัญหา ผมก็เข้าไปดูปัญหาให้และบอกให้เขาทำตามที่ผมบอก เขากลับตอบผมว่าขอไปเรียกเพื่อนผู้ชายให้มาทำให้ ผมก็ตอบเขาไปว่าไม่ต้องไปเรียกหรอก จะสอนให้เขาลงมือปฏิบัติเอง คราวหลังจะได้ทำเองเป็น จะได้ไม่ต้องคอยพึ่งคนอื่น ปรากฏว่าเขาเชิดหน้าใส่และเดินจากไป หลังจากเหตุการณ์วันนั้นเป็นต้นมา เดินสวนกันในแลปทีใดเขาก็ทำเหมือนกับมองไม่เห็นผม แต่ผมก็ไม่ได้ว่าอะไรนะ เพราะผมไม่ได้เป็นกรรมการสอบเขานี่ หลัง ๆ พอเห็นคนในกลุ่มอื่นเขาทำอะไรกัน ถ้ามันไม่ก่ออันตรายให้กับคนรอบข้างที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่แล้ว ก็จะไม่เข้าไปแทรกแซง ไม่มาถามก็จะไม่บอก ปล่อยให้ทำกันเองก็แล้วกัน แต่จะว่าไปแล้ว พวกที่มาขอให้ผมช่วยแก้ไขปัญหา พอแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ ก็ไม่เห็นกล่าวขอบคุณสักคำ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น