ในเดือนสิงหาคมปีพ.ศ. ๒๕๔๓ (เมื่อ ๑๐ ที่แล้ว) มีภาพยนต์เรื่องหนึ่งชื่อ "The Perfect Storm" หรือชื่อภาษาไทยว่า "มหาพายุคลั่งสะท้านโลก" เข้าฉายในบ้านเรา
เนื้อหาในภาพยนต์ดังกล่าวเกี่ยวกับการต่อสู้ของเรือประมงลำหนึ่งกับพายุที่ก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นเนื่องจากมีพายุเกิดขึ้น ๓ ลูกและเข้ามารวมตัวกัน ใบปิดโฆษณาก็เป็นดังภาพข้างล่าง
ที่ยกเรื่องนี้มาเล่าก็เพราะตอนดูหนังเรื่องนี้ก็ยังสงสัยอยู่ว่าเคยมีเหตุการณ์พายุเกิดขึ้น ๓ ลูกแล้วมารวมกันเป็นพายุลูกใหญ่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่พอได้เห็นภาพถ่ายดาวเทียมและแผนที่อากาศของเช้าวันนี้ก็ทำให้พอจะมองเห็นภาพดังกล่าวแล้วมันน่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นจริง
รูปข้างบนเป็นภาพถ่ายดาวเทียมเวลาประเทศไทย ๐๘.๐๐ น ในช่วงรังสีอินฟราเรด แหล่งที่มาของภาพดังกล่าวปรากฏอยู่ในรูปภาพแล้ว
ที่วงกลมสีแดงไว้ ๓ วงคือพายุโซนร้อนและไต้ฝุ่น ๓ ลูกที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ไล่จากซ้ายไปขวาคือ ซ้ายคือพายุโซนร้อน Lionrock (1006) กลางคือพายุโซนร้อน Namtheun (1008) และขวาคือพายุไต้ฝุ่น Kompasu (1007) ซึ่งในภาพจะมองเห็นตาของพายุชัดเจน และดูเหมือนว่าบริเวณแถบเส้นศูนย์สูตรกำลังมีการก่อตัวอีก ๒ ลูก
ส่วนรูปในหน้าถัดไปเป็นแผนที่อากาศจัดทำโดยกรมอุตุนิยมวิทยา (www.tmd.go.th) แสดงสภาพอากาศเมื่อเวลาประเทศไทย ๐๗.๐๐ น เส้นสีน้ำเงินคือเส้นความดันบรรยากาศ ตัวเลขที่กำกับอยู่คือความดัน (หน่วยเป็น hPa หรือเฮกโตปาสคาล) ถ้าสูงกว่า 1000 ก็จะเป็นพวกหย่อมความกดอากาศสูง (H) ถ้าต่ำกว่า 1000 ก็จะเป็นพวกหย่อมความกดอากาศต่ำ (L)
การจำแนกระดับความรุนแรงของพายุนั้น จะเริ่มจากหย่อมความกดอากาศต่ำก่อน จากนั้นจึงเป็นพายุดีเปรสชั่น ในขณะนี้พายุจะยังไม่มีชื่อเรียก
แต่ถ้าความเร็วลมเพิ่มสูงถึง 63 km/m เมื่อใดจะจัดเป็นพายุโซนร้อน และจะเริ่มมีชื่อเรียก และถ้าความเร็วลมเพิ่มสูงถึง 118 km/h จะเรียกว่าเป็นไต้ฝุ่น
ส่วนตัวเลข ๔ ตัวหลังชื่อนั้นเป็นเลขรหัสบอกปีค.ศ.ที่เกิด และลำดับที่เกิดในปีค.ศ. นั้น โดยเลขสองตัวแรกเป็นปีค.ศ. และเลขสองตัวหลังเป็นลำดับที่เกิด
ตัวอย่างเช่น Lionrock (1006) คือพายุที่เกิดในปีค.ศ. 2010 และเป็นพายุลูกที่ 06 ของปีค.ศ. นี้
การตั้งชื่อพายุเดิมจะตั้งตามบัญชีรายชื่อจากอักษร A ไปจนถึง Z พอใช้ครบทุกบัญชีแล้ว (มีอยู่หลายบัญชี) ก็จะวนกลับมาใหม่
เดิมทีนั้นชื่อพายุจะใช้เป็นชื่อผู้หญิงเท่านั้น (เขาเปรียบพฤติกรรมของพายุเหมือนอารมณ์ของผู้หญิงที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เวลาอาละวาดออกมาแต่ละทีก็รุนแรงน่าดู) และเป็นชื่อภาษาอังกฤษ แต่ต่อมาโดนประท้วง ก็เลยมีการตั้งชื่อเป็นผู้ชายด้วย แต่ก็ยังเป็นภาษาอังกฤษอยู่ดี
ต่อมามีการปรับปรุงโดยใช้ชื่อเป็นภาษาท้องถิ่นของบริเวณที่เกิดพายุเหล่านั้น โดยคาดหวังว่าการใช้ภาษาท้องถิ่นจะเข้าถึงประชาชนได้ง่ายกว่าเวลามีการประกาศเตือนพายุ โดยให้ประเทศที่อยู่ในบริเวณนั้นร่วมกันตั้งชื่อ และชื่อพายุจะเรียงตามลำดับอักษรของประเทศที่ตั้งชื่อ (ไม่ได้เรียงตามชื่อพายุ)
พายุนั้นถ้าอยู่ในทะเลจะทวีความรุนแรงขึ้นได้เรื่อย ๆ และถ้าขึ้นบกเมื่อไรจะอ่อนกำลังลง เพราะไม่ได้รับความชื้นจากน้ำทะเล และในซีกโลกเหนือ พายุจะเคลื่อนตัวจากตะวันตกไปทางตะวันออก และจะโค้งขึ้นไปทางเหนือ (ผลจากการหมุนของโลก)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น