วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติตอนที่ ๔ การใช้ประแจและการขันนอต MO Memoir : Saturday 9 October 2553

เรื่องมันเกิดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ ๕ ที่ผ่านมา เมื่อมีโทรศัพท์โทรมาหาและบอกว่าไม่สามารถอัดความดันให้กับ autoclave ได้ ผมก็ตอบกลับไปว่ามันต้องมีจุดรั่วไหลที่ใดที่หนึ่งสักแห่ง แต่ก็ได้รับคำตอบกลับมาว่าหาไม่เจอ ผมก็เลยต้องลงไปดูเองและก็พบว่าจุดรั่วไหลก็คือฝาปิด autoclave นั่นเอง ที่มาของปัญหาดังกล่าวก็คือตอนปิดฝานั้นเขาขันนอตไม่ถูกลำดับ และขันตึงแน่นเกินไปในทีเดียว ดังนั้นแม้ว่าจะพบว่านอตทุกตัวที่ยึดฝา autoclave เอาไว้จะขันแน่น แต่มันก็รั่วอยู่ดี

คำว่า "Bolt" นั้นคนไทยมักเรียกว่า "นอตตัวผู้" ส่วนศัพท์บัญญัติคือ "สลักเกลียว"

ส่วนคำว่า "Nut" นั้นคนไทยมักเรียกว่า "นอตตัวเมีย" ส่วนศัพท์บัญญัติคือ "แป้นเกลียว"

แต่ในที่นี้ขอเรียกรวม ๆ กันว่า "นอต" ก็แล้วกัน

อุปกรณ์ที่ใช้ขันนอต (ไม่ว่าจะขันให้แน่นหรือถอดออก) ก็คือ "ประแจ" นั่นเอง

ในที่นี้จะกล่าวถึงประแจที่ใช้กันทั่วไป ๓ แบบคือ ประแจปากตาย ประแจแหวน และประแจเลื่อน

ประแจปากตายและประแจแหวนนั้นมีขนาดที่ตายตัว หัวประแจด้านหนึ่งจะขันนอตได้เพียงขนาดเดียว ทำให้ต้องมีประแจปากตายและประแจแหวนไว้เป็นชุด เพื่อที่จะขันนอตได้หลายขนาด ส่วนประแจเลื่อนนั้นเราสามารถปรับขนาดหัวของมันได้ ดังนั้นประแจเลื่อนตัวเดียวจึงสามารถขันนอตได้หลายขนาด

แต่ประแจเลื่อนก็มีข้อเสียคือจับหัวนอตได้ไม่แน่น และถ้าขันแรงมากเกินไปก็อาจทำให้มุมหัวนอตเยินได้

แม้ว่าประแจปากตายและประแจเลื่อนนั้นจะจับหัวนอตได้แน่นก็จริง แต่ก็ต้องเลือกขนาดที่ถูกต้อง เพราะระบบกำหนดขนาดของประแจปากตายและประแจเลื่อนนั้นมีอยู่ ๓ ระบบด้วยกัน คือ ระบบนิ้วที่ระบุขนาดเป็นนิ้ว ระบบเมตริกที่ระบุขนาดเป็นมิลลิเมตร และระบบที่ระบุขนาดเป็นเบอร์

ตัวอย่างเช่นประแจในรูปที่ ๑ ข้างล่างที่ปลายด้านหนึ่งเป็นประแจปากตายและปลายอีกด้านหนึ่งเป็นประแจแหวน ขนาดที่ระบุไว้คือเบอร์ 10


รูปที่ ๑ ประแจเบอร์ 10 ที่มีข้างซ้ายเป็นประแจปากตายและข้างขวาเป็นประแจแหวน


ประแจปากตายนั้นสามารถสอดเข้าทางด้านข้างของนอตที่จะขันได้ ส่วนประแจแหวนนั้นต้องสวมลงไปบนนอตที่จะขัน ดังนั้นถ้านอตอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถสวมประแจแหวนได้ ก็ต้องใช้ประแจปากตายในการขัน แต่ถ้านอตอยู่ในตำแหน่งที่สามารถใช้ได้ทั้งประแจปากตายและประแจแหวนล่ะ ควรใช้อันไหน

ถ้าหากไม่ต้องการขันนอตนั้นให้แน่น หรือเป็นการถอดนอตที่ไม่ได้ขันแน่น จะใช้ประแจปากตายหรือประแจแหวนก็ให้ผลที่เหมือนกัน แต่ถ้าต้องการขันนอตให้แน่น หรือเป็นการถอดนอตที่ติดแน่นอยู่ การใช้ประแจแหวนจะดีกว่าเพราะว่าประแจแหวนนั้นจับที่มุมของหัวนอตทุกมุม แรงกดที่มุมจึงกระจายไปตามมุมต่าง ๆ ในขณะที่ประแจปากตายจะจับที่มุมเพียงสองมุมเท่านั้น สมมุติว่าเราทำการขันนอตหกเหลี่ยม ดังนั้นที่แรงบิดเดียวกันถ้าเราใช้ประแจแหวน แรงนั้นจะกระจายไปตามมุมต่าง ๆ ๖ มุมของหัวนอต แต่ถ้าใช้ประแจปากตายแรงนั้นจะอยู่ที่มุมเพียง ๒ มุมเท่านั้นเอง ในขณะที่อีก ๔ มุมที่เหลือไม่ได้รับแรงใด ๆ เลย ทำให้หัวนอตมีโอกาสเยินสูงกว่าการใช้ประแจแหวน


รูปที่ ๒ การจับเข้ากับหัวนอตของ (ซ้าย) ประแจปากตาย และ (ขวา) ประแจแหวน ในกรณีที่เราหมุนในทิศทางตามเข็มนาฬิกา (ลูกศรสีน้ำเงิน) แรงกระทำจะกระทำตรงมุมที่ลูกศรสีแดงชี้


การขันนอตที่เรียงกันเป็นวงเพื่อยึดสิ่งใดก็ตาม (เช่นล้อรถยนต์ การขันหน้าแปลนเชื่อมต่อท่อหรือฝา autoclave) ไม่ใช่ว่านึกจะขันอย่างไรก็ได้ สิ่งสำคัญคือต้องให้นอตทุกตัวมีความตึงเท่ากันหรือขันแน่นเท่ากัน เพราะถ้าความตึงแตกต่างกันมากก็ก่อให้เกิดปัญหาได้ เช่นยึดล้อรถได้ไม่ตรงแนว เกิดการรั่วที่หน้าแปลนหรือฝา autoclave ได้ วิธีการขันที่ถูกต้องคือค่อย ๆ ขันให้แน่นทีละน้อย และขันนอตสลับไปมาระหว่างสองฝั่งที่อยู่ตรงข้ามกัน


รูปที่ ๓ ในการขันนอตที่เรียงกันเป็นวง เช่น (รูปซ้าย) นอตล้อรถ หรือ (รูปขวา) นอตที่ปิดฝา autoclave นั้น การขันจะเป็นการขันนอตคู่ที่อยู่ตรงข้ามกัน (ตามลำดับหมายเลขที่แสดงในรูป) โดยค่อย ๆ ขันให้ตึงทีละน้อย ๆ สลับกันไปเรื่อย ๆ จนครบทุกตัว แล้วก็วนขันรอบใหม่


ตัวอย่างเช่นในการขันนอตยึดฝา autoclave ของเราที่มีนอตยึดอยู่ ๖ ตัว เริ่มด้วยการปิดฝา autoclave โดยให้ประเก็นอยู่ในร่องอย่างถูกต้อง จากนั้นจึงขันนอตให้ตึงด้วยมือตามลำดับ 1-2-3-4-5-6 ดังแสดงในรูปที่ ๓ (ขันให้ตึงด้วยมือในที่นี้หมายถึงใช้นิ้วหมุนจนไม่สามารถหมุนได้อีก

เมื่อเราขันตึงด้วยนิ้วเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มทำการขันรอบใหม่ โดยค่อย ๆ ใช้ประแจขันตึงให้แน่นทีละน้อย ๆ โดยยังคงหลักการขันนอตตัวที่อยู่เป็นคู่ตรงข้ามกัน พอครบทุกตัวแล้วก็วนรอบใหม่ ซึ่งในแต่ละรอบนั้นจะพบว่าต้องเพิ่มแรงการหมุนขึ้นเรื่อย ๆ

ในกรณีของประเก็นหรือ o-ring ที่ใช้กันการรั่วซึมนั้น (เช่นกรณีการปิดฝา autoclave ของเรา) ถ้าเราขันแน่นมากเกินไปจะทำให้ประเก็นหรือ o-ring สูญเสียรูปร่าง ทำให้เกิดการรั่วซึมได้ แต่ถ้าเราขันไม่แน่นพอ แรงกดที่ผิวประเก็นหรือ o-ring ก็ไม่ไม่มากพอ ก็จะเกิดการรั่วซึมเช่นเดียวกัน ในงานที่สำคัญนั้นจะใช้ประแจทอร์ค ซึ่งเป็นประแจที่มีสเกลบอกแรงบิดที่ใช้ขัน หรือสามารถตั้งแรงบิดที่ใช้ขันได้ ใครที่เอารถเข้าศูนย์เพื่อเปลี่ยนยางหรือสลับยางจะเห็นช่างเขาเอาประแจแบบนี้มาขันนอตทุกตัวปิดท้ายทุกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่านอตทุกตัวขันตึงเท่ากันหมด


แต่สำหรับงานของเรานั้น คงต้องใช้ประสบการณ์และความรู้สึก ซึ่งจะได้ด้วยการลงมือปฏิบัติด้วยตนเองเท่านั้น ไม่สามารถเรียนรู้ได้จากการดู การอ่าน หรือการฟังผู้อื่นเล่าให้ฟัง แต่โดยหลักคืออย่าขันแน่นทีเดียว ให้ค่อย ๆ ขันให้แน่นทีละน้อย ๆ แล้วทดสอบการรั่วซึม ถ้าพบว่ายังมีอยู่ก็ขันแน่นเข้าไปอีก และทำการทดสอบการรั่วซึมซ้ำ


ในกรณีของหน้าแปลนบางชนิดเช่นหน้าแปลนเชื่อมต่อท่อไอน้ำที่ร้อน เมื่อเราขันแน่นในขณะที่ท่อเย็นและทดสอบว่าไม่มีการรั่วซึมแล้วนั้น แต่เมื่อท่อนั้นร้อนขึ้นก็อาจพบการรั่วซึมได้ ทั้งนี้เป็นเพราะเมื่อนอตร้อนขึ้น นอตก็จะขยายตัว (ยืดตัวยาวออก) ทำให้แรงกดที่หน้าแปลนลงลงไป ทำให้ต้องมีการกลับมาตรวจสอบการรั่วซึมเมื่อท่อร้อนขึ้นและขันยึดหน้าแปลนที่รั่วนั้นให้แน่นขึ้น แต่สำหรับระบบที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิมาก ก็ไม่ต้องกังวลกับปัญหาดังกล่าว

รูปล้อรถในรูปที่ ๓ เป็นรถของผมเอง Memoir ฉบับนี้เลยขอเปิดโอกาสให้ร่วมสนุก ให้ทายว่าล้อดังกล่าวเป็นล้อข้างไหน (หน้าซ้าย หน้าขวา หลังซ้าย หรือหลังขวา) ส่งคำตอบมาได้ที่ mo.memoir@gmail.com (ดูให้ดีนะว่าผมให้ส่งคำตอบไปที่อีเมล์ไหน ส่งผิดอีเมล์จะไม่รับพิจารณา) หนึ่งคนส่งได้แค่คำตอบเดียวเท่านั้น (ห้ามเปลี่ยนคำตอบ) และห้ามฝากเพื่อนหรือใช้อีเมล์เพื่อนตอบคำถามด้วย หมดเขตรับคำตอบเวลา ๒๓.๕๙ น ของคืนวันพุธที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๓ (ใช้เวลาที่แสดงในอีเมล์เป็นสำคัญ) ใครทายถูกจะมีรางวัลให้ (คิดว่าน่าจะเป็นของฝากจากการไปเที่ยว)


สมาชิกคนใดในกลุ่มไม่ตอบคำถามมาในเวลาที่กำหนด จะถือว่าไม่ได้อ่านบันทึกที่ส่งไปให้จนจบ


เฉลย : ล้อหลังขวา (ศุกร์ ๑๕ ตค ๕๓ ๒๒.๐๐ น)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น