สาวน้อย ๑๕๐ เซนติเมตรของเราทดลองใช้ sampling loop ขนาด 0.1 ml นี้ในช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า "ไม่มีพีค"
ผมดูลักษณะสัญญาณแล้วรู้สึกว่ามันแปลก ๆ ดูราบเรียบไปหน่อย ก็เลยให้สาวน้อย ๑๕๐ เซนติเมตรทดลองดับเปลวไฟ (ผ่านคำสั่งทางคอมพิวเตอร์) และคอยดูว่าสัญญาณเป็นอย่างไร ผลออกมาปรากฏว่าสัญญาณก่อนดับเปลวไฟและหลังดับเปลวไฟนั้นเป็นเส้นเดียวกัน ก็เลยสงสัยว่าในความเป็นจริงนั้น แม้ว่าคอมพิวเตอร์จะแจ้งว่าเปลวไฟ "ลุกติด" อยู่ แต่ในความเป็นจริงนั้น "ไม่มีเปลวไฟลุกติด" ก็เลยให้สาวน้อย ๑๕๐ เซนติเมตรทดลองจุดเปลวไฟใหม่ ปรากฏว่าไม่สามารถจุดติดได้ ก็เลยต้องหยุดการทดลองเอาไว้ก่อน
รูปที่ ๑ โครงสร้งของ Flame Photometric Detector (FPD) ของ Shimadzu
รูปจาก http://www.shimadzu.com/products/lab/gc/5iqj1d0000002ozn.html
คือตัว FPD นี้มันมีอยู่ ๒ ส่วน ส่วนที่เป็นเปลวไฟที่ทำหน้าที่เผาตัวอย่างนั้นจะอยู่ข้างใต้ตัวตรวจวัดแสง ตัวอย่างจะไหลผ่านเปลวไฟ เกิดการลุกไหม้ และเคลื่อนที่ผ่านทางหัวฉีด (nozzle ในรูปที่ ๑) เข้ามาอยู่ในช่องว่างที่แก๊สตัวอย่างที่ผ่านเปลวไฟแล้วนั้นจะเกิดการเปล่งแสงออกมา แสงความยาวคลื่นเฉพาะที่เปล่งออกมาจะถูกตรวจวัดด้วยหลอด photomultiplier
กราฟสัญญาณ FPD ที่เราเห็นคือสัญญาณที่มาจากหลอด photomultiplier ตัวนี้
ดังนั้นตัวหลอด photomultiplier จะส่งสัญญาณออกมาตลอดเวลาตราบเท่าที่หลอดมันยังใช้งานได้ ดังนั้นถ้าสัญญาณออกมาเสมือนกับว่าไม่มีสารที่ต้องการวัด (ในกรณีของเราคือ SO2) อยู่ในตัวอย่าง นั่นอาจเป็นเพราะ
(ก) เปลวไฟของ FPD นั้นลุกติด แต่แก๊สตัวอย่างของเราไม่มี SO2 ผสมอยู่ หรือ
(ข) แก๊สตัวอย่างของเรานั้นมี SO2 ผสมอยู่ แต่เปลวไฟของ FPD นั้น "ดับ"
ในกรณีของเหตุการณ์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานั้นพบว่าเป็นกรณีดังข้อ (ข)
พอวันอังคารผมขอให้บุศมาสทดลองใหม่ โดยเริ่มจุดเปลวไฟในขณะที่ detector ยังมีอุณหภูมิสูงไม่มาก (ประมาณ 120-130ºC) ซึ่งก็พบว่าสามารถจุดไฟติดได้ จากนั้นก็ให้ค่อย ๆ เพิ่มอุณหภูมิ detector และคอลัมน์ไปยังค่าที่ต้องใช้ในการวิเคราะห์ และเมื่อทำการฉีดตัวอย่างก็พบว่ามีพีคปรากฏแล้ว แต่ก็ยังมีขนาดเล็กและยังมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อทำการฉีดซ้ำ
ตอนแรกคิดว่า sampling loop มีขนาดเล็กเกินไปหรือไม่ก็คงจะตัน เพราะสังเกตเห็นฟองแก๊สเมื่อปรับให้แก๊สไหลผ่าน sampling loop นั้นรู้สึกว่าจะออกมาช้ากว่าปรกติ ก็เลยคิดว่าจะเปลี่ยนกลับไปเป็นขนาด 0.5 ml แต่ตอนที่ถอด sampling loop 0.1 ml ออกมานั้นพบว่ารูทางเข้าและรูทางออกของ sampling loop นั้นมีขนาดเล็กลง ทั้งนี้เป็นเพราะผลที่เกิดจากการตัดท่อโลหะ (รูตรงรอยตัดจะเล็กว่าขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายในเนื่องจากเนื้อโลหะตรงรอยตัดถูกบีบเข้าตรงกลาง) ก็เลยคิดว่าปัญหาน่าจะมาจากการที่รูทางเข้าออกนั้นมีเศษโลหะมาปิด ทำให้แก๊สไหลเข้า-ออกไม่สะดวก จึงต้องเอาเข็มแหลม ๆ มาคว้านรูเพื่อกำจัดเศษโลหะที่ปิดรูอยู่ออกไป แล้วก็ใส่ sampling loop กลับคืนเดิม
พอทดลองฉีดตัวอย่างใหม่ก็ได้สัญญาณออกมาดังที่แสดงในรูปที่ ๒ ซึ่งจากโครมาโทแกรมที่ได้ก็คงไม่ต้องบรรยายอะไรอีกแล้ว
รูปที่ ๒ พีค SO2 ความเข้มข้น 30 ppm ที่ได้จากการฉีดด้วย sampling loop ขนาด 0.1 ml สองครั้ง
ในที่สุดงานก็จะได้เดินหน้าต่อไปสักที
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น