วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2554

ตรงตามแบบ MO Memoir : Friday 8 April 2554

เหตุเกิดระหว่างการก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีแห่งหนึ่งที่มาบตาพุด ช่วงปีพ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๓๒ ในระหว่างตรวจงาน piping (งานวางท่อในโรงงาน) อยู่นั้น นายช่างผู้หนึ่งสังเกตเห็นคนงานก่อสร้างกำลังทุบพื้นคอนกรีตอยู่ ด้วยความสงสัยก็เลยเดินเข้าไปถาม


นายช่าง : ทุบพื้นทำไมหรือ

คนงาน : ท่อมันติดพื้น ติดท่อ drain ไม่ได้

นายช่าง : ท่อ drain ของอะไร

คนงาน : ท่อของ control valve

นายช่าง : ???


เชื่อว่าคงไม่เข้าใจบทสนทนาข้างบนว่ามันเกี่ยวข้องกับอะไร ก็ของให้ลองดูรูปที่ ๑ ข้างล่างประกอบก็แล้วกัน


รูปที่ ๑ (ซ้าย) แบบที่คนออกแบบกะให้เป็น (ขวา) สิ่งที่เกิดขึ้นจริงเมื่อก่อสร้าง


เป็นเรื่องปรกติที่ในโรงงานจะวางท่อใน process areaไว้บน pipe rack เหนือศีรษะ เพื่อที่จะได้ใช้พื้นที่ข้างล่างในการติดตั้งอุปกรณ์และเพื่อการสัญจร ในกรณีที่มีอุปกรณ์บางชิ้นที่ต้องมีการใช้งาน/ตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอเช่นวาล์วควบคุมที่มีขนาดใหญ่ ดังนั้นแทนที่จะติดตั้งวาล์วไว้บน pipe rack ก็จะมีการเดินท่อให้วาล์วมาอยู่ในระดับพื้นดิน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ปฏิบัติงานในการเข้าถึงวาล์วดังกล่าวดังแสดงในรูปที่ ๑

บริเวณท่อที่โค้งต่ำลงมาเป็นรูปตัวยู (U) นี้เป็นจุดที่มีของเหลวมาสะสมได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการทำงานจึงมักมีการติดตั้ง drain valve ซึ่งเป็นวาล์วขนาดเล็ก (โดยทั่วไปจะมีขนาดประมาณ 3/4 นิ้ว) อยู่ ณ ตำแหน่งต่ำสุดของท่อ เพื่อใช้ในการระบายของเหลวที่อาจค้างอยู่ในท่อรูปตัวยูนั้นออกให้หมดก่อนที่จะทำการถอดวาล์วควบคุมตัวใหญ่ออก โดยปลายด้านล่างสุดของท่อ drain จะมี plug หรือหน้าแปลนปิดเอาไว้ และจะอยู่สูงจากพื้นพอประมาณ เพื่อไว้สำหรับต่อท่อระบายของเหลวทิ้งหรือนำภาชนะมารองรับของเหลวที่จะระบายออก

ในรายการนี้วิศวกรคนที่ ๑ เป็นคนออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพื้นและความสูงของ pipe rack วิศวกรคนที่ ๒ เป็นคนออกแบบการวางท่อ โดยมีวิศวกรคนที่ ๓ เป็นคนควบคุมการก่อสร้างตามแบบ

งานนี้ไม่รู้ว่าพลาดกันได้อย่างไร เพราะพอตรวจการถ่ายระดับความสูงของงานโยธาก็ไม่พบปัญหา พอตรวจดูแบบก่อสร้างท่อก็ไม่พบว่ามันผิดอย่างไร ทีนี้คนงานโยธา (ที่ทำพื้นและ pipe rack) ก็เป็นคนงานกลุ่มหนึ่ง คนงานทำระบบ piping ก็เป็นคนงานอีกกลุ่มหนึ่ง แต่ละกลุ่มก็เป็นคนงานที่ดีมาก สั่งอย่างไรก็ทำอย่างนั้นตามแบบเป๊ะ ๆ

ทีนี้พอคนงานทำระบบ piping ติดตั้งท่อในแนวดิ่งโดยตัดท่อที่มีความยาวตามแบบ ก็พบว่าตำแหน่งติดตั้ง control valve นั้นอยู่ต่ำใกล้พื้น ทำให้ไม่สามารถติดตั้ง drain valve และท่อ drain ทางด้านล่างของ control valve ได้ คนงานผู้นั้นก็เลยตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการทุบพื้นคอนกรีตให้เป็นหลุมลงไป เพื่อที่จะได้ติดตั้ง drain valve และท่อ drain ได้

การแก้ปัญหาที่ถูกต้องนั้นคือต้องตัดท่อในแนวดิ่งให้สั้นลง (อย่าไปสนใจเลยว่าแบบก่อสร้างของใครผิด) จะได้ยกตำแหน่งวาล์วควบคุมให้สูงขึ้นจากพื้นจนสามารถติดตั้ง drain valve และท่อ drain ได้

โชคดีที่เจอปัญหานี้เข้าก่อน เพราะถัดจากนั้นไม่นานก็พบว่าแนวการเดินท่ออีกเส้นหนึ่งในแนวราบออกมาจาก pipe rackนั้น พุ่งตรงเข้าหา "เสาโครงสร้าง" ตอนนั้นก็มีรายการพูดกันว่าถ้าทำงานกันแบบ "เถรตรง" อย่างนี้คงมีรายการทุบเสาเกิดขึ้นด้วย


เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปในบ้านเรา คนออกแบบไม่เคยมาดูบริเวณก่อสร้างจริง หรือไม่คิดจะมาดูงานในระหว่างก่อสร้าง คนคุมงานก่อสร้างก็ถือว่าต้องทำตามแบบโดยไม่ต้องสนใจว่าแบบนั้นถูกหรือผิด คนก่อสร้าง (ซึ่งปรกติก็คือผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย) ก็จะทำงานตามแบบไปให้เสร็จ (อันที่จริงมันก็ไม่ใช่หน้าที่เขาในการตรวจดูว่าแบบที่ออกนั้นถูกต้องหรือเหมาะสมหรือไม่) อันที่จริงปัญหานี้แก้ได้ไม่ยากถ้าหากคนออกแบบยอมออกจากห้องทำงาน (ที่ติดแอร์เย็นฉ่ำ) มาตรวจดูพื้นที่จริงบ้าง และพร้อมที่จะยอมรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากผู้ที่ควบคุมการก่อสร้างหน้างาน เพื่อที่จะได้นำแบบนั้นไปปรับปรุง/แก้ไขให้ดีขึ้นหรือเหมาะสมยิ่งขึ้น

ที่วันนี้ยกเรื่องนี้มาเล่าก็เพราะ สังเกตเห็นโคมไฟหลังคาทางเดิน (ในคณะเราที่ไม่รู้ว่าเมื่อไรมันจะสร้างเสร็จกันสักที) โคมหนึ่งมันอยู่เหนือตู้สวิทช์ไฟฟ้าพอดี (รูปที่ ๒ ข้างล่าง) ซึ่งเวลาที่เปิดไฟ แสงสว่างมันก็ส่องลงหลังตู้โดยแทบไม่ออกมายังทางเดิน (ก็มันออกมาแทบไม่ได้) สาเหตุที่เขาติดโคมไฟตรงตำแหน่งนี้เดาว่าตอนออกแบบนั้นออกแบบให้ติดตั้งโคมไฟห่างกันเป็นระยะที่เหมาะสม โดยไม่ได้มีการดูว่าตำแหน่งนั้นมีสิ่งของอะไรติดตั้งอยู่ก่อนหรือไม่


รูปที่ ๒ โคมไฟสำหรับส่องหลังคาตู้


หาเจอไหมครับว่าโคมไฟโคมกับตู้ใบนี้อยู่ที่ไหน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น