วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2554

NOx analyser NOA-7000 ตอน การถอดทำความสะอาด detector MO Memoir : Wednesday 27 April 2554

จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับค่าการวัด NOx ที่ค่อนข้างแกว่งในสัปดาห์ที่แล้วนั้น และเมื่อเปลี่ยน NH3-adsorbent แล้วก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร ทำให้คิดว่าถึงเวลาที่ต้องตรวจทำความสะอาด NOx detector สักที ซึ่งกว่าจะได้เวลาถอดอุปกรณ์มาทำความสะอาดก็ล่วงเข้าบ่ายวันจันทร์แล้ว

ที่ผ่านมานั้นเราเคยพบสิ่งสกปรกที่เกิดจากสารที่อยู่ในแก๊ส เข้าไปควบแน่นที่ตัว NOx detector ทำให้การวัดค่าการดูดกลืนแสงมีปัญหา (กล่าวคือสัญญาณหายไป) การแก้ปัญหาดังกล่าวทำได้โดยการถอดตัว NOx detector มาทำความสะอาด ซึ่งการถอดนั้นไม่ยากเท่าไร แต่ตอนประกอบกลับต้องระวังหน่อย เพราะเคยเกิดปัญหาทำให้กระจกแตกมาแล้ว (ย้อนไปอ่านดูได้ใน Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๒๔ วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เรื่อง NOx analyser NOA-7000 (อีกครั้ง)) และตอนนั้นจำได้ว่าได้บอกให้สาวน้อย ๑๕๐ เซนติเมตรจดจำวิธีการถอดประกอบจากจากสาวน้อยหน้าใสยิ้มได้ทั้งวันเอาไว้ด้วย แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ทำกัน วันนี้ก็เลยถือโอกาสบันทึกสิ่งที่ได้กระทำไปเมื่อตอนบ่ายวันจันทร์เอาไว้กันลืม


สมมุติว่าเครื่อง NOA-7000 วางหันหน้าเข้าหาตัวเรา ฝาครอบที่ต้องถอดออกคือฝาครอบด้านหน้า (ต้องมีการปลดสายไฟเชื่อมเข้าแผงควบคุมออกด้วย) และฝาครอบด้านซ้ายมือ ซึ่งเมื่อถอดฝาครอบทั้งสองออกมาแล้วก็จะเห็นตัว NOx detector อยู่ทางมุมล่างซ้ายมือ (ดูรูปที่ ๑ ข้างล่างประกอบ) โดยมีท่อต่อเข้า ๓ ท่อ (ที่ลูกศรสีเขียวชี้)

ที่ฝาครอบด้านหน้านั้นจะมีแผงกรองฝุ่นอยู่ ๒ แผง เมื่อถอดฝาครอบด้านหน้าออกมาแล้วก็ควรที่จะใช้โอกาสนี้ทำความสะอาดแผงกรองฝุ่นทั้งสองเสียด้วย อันที่จริงแผงกรองฝุ่นนี้สามารถอดออกได้โดยไม่ต้องถอดฝาครอบ เพรามันมีนอตยึดอยู่ข้างใต้ฝาครอบด้านหน้า และมันติดตั้งโดยการเสียบเข้าจากทางด้านนอก (จากล่างขึ้นบน) ดังนั้นไม่ควรต้องรอจนถึงเวลา NOx detector เสียจึงค่อยถอดมาทำความสะอาด


รูปที่ ๑ (ซ้าย) NOx detector ก่อนการถอดสายยางและฝาครอบ (ขวา) หลังถอดฝาครอบออก


การถอดทำความสะอาดเริ่มจากการปลดสายยางนำแก๊สเข้า-ออก ณ ตำแหน่งที่ชี้ด้วยลูกศรสีเขียวออกก่อน สายยางจะมีเข็มขัดรัดเอาไว้ ถ้าเอามือบีบแล้วเจ็บนิ้วก็ให้ใช้คีมปากจิ้งจกบีบเพื่อปลดเข็มขัดรัดออกก่อน แล้วจึงค่อยปลดสายยางออก จากนั้นจึงทำการถอดนอตยึดฝาครอบ (ที่วงกลมแดงเอาไว้) ฝาครอบจะมีนอตยึดอยู่ ๔ ตัวที่วงกลมแดงเอาไว้ แต่ในรูปเห็นเพียง ๓ ตัว ก็จะมองเห็นตัวกระจกที่อยู่ข้างใน (ที่วงกลมแดง) ที่มีรอยแตกจากการซ่อมครั้งที่แล้ว ถ้าพบว่ากระจกตัวนี้สกปรกก็ให้ใช้กระดาษทิชชูเช็ดทำความสะอาดเบา ๆ อย่าไปทำให้กาวที่หยดซ่อมกระจกเอาไว้หลุดหายไป อาจใช้กระดาษทิชชูชุบน้ำกลั่นเช็ดก็ได้ แต่ควรต้องรอให้แห้งก่อนประกอบกลับคืน

ถ้าพบว่ากระจกมีคราบสกปรก ก็ต้องตรวจตัวฝาครอบด้วย เพราะเป็นช่องทางที่นำเอาแก๊สตัวอย่างเข้า-ออก ตัวฝาครอบนั้นจะมีชิ้นส่วนอยู่ ๒ ชิ้น คือส่วนลำตัวและส่วนที่เป็นแกนท่อสอดเข้าไปตรงกลาง (รูปที่ ๒) ตัวที่เป็นแกนท่อนั้นจะมีแหวนยึดอยู่ ๑ ตัว ให้คลายแหวนตัวนี้ออกก่อนจึงค่อยหมุนเอาแกนท่อตรงกลางนั้นออกมา

รูปที่ ๒ ชิ้นส่วนฝาครอบที่ประกอบด้วยส่วนลำตัวและแกนท่อสอดอยู่ตรงกลาง


รูปที่ ๓ ภาพขยายชิ้นส่วนแกนที่ถอดออกมาแล้ว แก๊สจะไหลเข้าทางรูที่ชี้ด้วยลูกศรสีเหลือง และที่ปลายอีกด้านหนึ่งจะมีรูขนาดเล็กอยู่ ๔ รู (ในภาพจะเห็นเพียงรูเดียวอยู่ที่ปลายลูกศรสีเขียว)


หลังจากทำการถอดท่อแกนกลางออกจากตัวฝาครอบแล้ว ให้ทำการตรวจสอบดูว่ามีอะไรเข้าไปตกค้างหรืออุดตันตามรูต่าง ๆ หรือไม่ โดยเฉพาะรูเล็ก ๆ ที่อยู่ที่ปลายท่อแกนกลาง (ดูรูปที่ ๓) ที่มีอยู่ ๔ รู ถ้าตรวจพบสิ่งสกปรกก็ให้ทำความสะอาด เช่นโดยการใช้ลวดแยง ถ้าจะต้องเอาไปล้างน้ำก็ควรทำให้แห้งสนิทก่อนที่จะประกอบกลับ

ในการประกอบท่อแกนกลางกลับเข้าไปนั้น ต้องระวังไม่ให้ปลายท่อโผล่พ้นผิวหน้าฝาครอบอีกด้านหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย เพราะถ้าปลายท่อโผล่ยื่นออกไป เวลาประกอบฝาครอบกลับ ปลายท่อจะไปกดกระจกจนแตกซึ่งเคยเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว พอจัดระยะปลายท่อได้เรียบร้อยแล้วก็ทำการขันแหวนยึดเพื่อให้ท่อแกนกลางคงอยู่ในตำแหน่ง

จากนั้นก็ให้ประกอบฝาครอบกลับคืนเดิม ต่อสายยางกลับคืนเดิม ปิดฝาครอบกลับคืนเดิม และเปิดเครื่องทดสอบดูว่าเครื่องจะกลับมาดีเหมือนเดิมหรือไม่


อีกอย่างหนึ่งที่ต้องขอบอกเอาไว้ก่อน คือเมื่อวานผมได้ปรับค่าอัตราการไหลของอากาศเป็น 1500 ml/min และปรับอัตราการไหลของตัวอย่างให้สูงสุดเท่าที่จะสูงได้ (ในขณะนี้ก็ประมาณ 1200 ml/min) ซึ่งจากการทดสอบเมื่อวานโดยสาวน้อยเกิน ๑๗๐ เซนติเมตรก็พบว่าค่าสัญญาณที่วัดได้นั้นนิ่งขึ้นมาก ทำให้เมื่อวานเขามีผลแลปสำหรับนำเสนอในการประชุมวันพรุ่งนี้

คนที่ซวยคือคนที่กะจะมาทำการทดลองวันนี้ แล้วไฟฟ้าดันดับตั้งแต่เช้ายันหลังเที่ยง คงต้องคอยลุ้นว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น