วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๒๕ Gate valve กับ Globe valve MO Memoir : Saturday 24 June 2554


ผมสังเกตเห็นว่าอัตราการไหลของน้ำหล่อเย็นเข้าเครื่อง XRD (X-ray Diffraction) มันสูงผิดปรกติ คือสูงถึงกว่า 5 m3/hr ทั้ง ๆ ที่ตามข้อกำหนดนั้นอยู่ที่ 4 m3/hr กว่า ๆ เท่านั้นก็เลยไปถามสาวน้อยชาวไร่ข้าวโพดดูว่าเป็นเพราะเหตุใด ก็ได้คำตอบกลับมาว่าปั๊มน้ำหล่อเย็นตัวเดิมเสีย พอเปลี่ยนตัวใหม่อัตราการไหลก็เลยสูงขึ้นกว่าเดิม

อัตราการไหลที่สูงกว่าข้อกำหนดนั้นแม้ว่าจะทำให้การระบายความร้อนดีขึ้น แต่ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ กล่าวคืออาจทำให้เกิด erosion (การสึกหรอเนื่องจากการขัดสี) หรือความดันที่สูงจะทำให้ข้อต่อสายยางต่าง ๆ หลุดออกได้ เนื่องจากน้ำที่เราใช้เป็นน้ำกลั่น ดังนั้นปัญหาเรื่อง erosion จากของแข็งคงจะต่ำ แต่ที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือข้อต่อท่อน้ำจะหลุดในระหว่างการใช้งาน ซึ่งถ้าหากข้อต่อท่อน้ำที่อยู่บริเวณอุปกรณ์ไฟฟ้าของเครื่องเกิดหลุดขึ้นมา ก็คงเกิดปัญหาใหญ่น่าดู

ผมเลยบอกให้สาวน้อยชาวไร่ข้าวโพดปรับปรุงระบบท่อน้ำหล่อเย็นโดยการติดตั้งท่อ bypass เข้าทางด้านขาออกของปั๊ม โดยให้มีท่อติดตั้งวาล์วสำหรับเปิดให้น้ำบางส่วนให้ไหลวนกลับเข้าถังเก็บน้ำโดยตรงโดยไม่ต้องไปยังเครื่อง XRD ก่อน ซึ่งจะทำให้ปรับอัตราการไหลของน้ำไปยังเครื่อง XRD ได้ แผนผังของระบบแสดงไว้ในรูปที่ ๑ ข้างล่าง


รูปที่ ๑ แผนผังระบบน้ำหล่อเย็นของเครื่อง XRD เส้นสีน้ำเงินคือเส้นที่ให้ติดตั้งเพิ่มเติม


เช้าวันจันทร์ที่ผ่านมาผมเห็นนิสิตคนหนึ่งกำลังใช้เครื่องอยู่ บังเอิญสังเกตเห็นอัตราการไหลของน้ำว่าทำไปมันสูงจัง ก็เลยถามเขาว่าทำไปไม่ไปเปิดวาล์ว bypass เพื่อลดอัตราการไหลของน้ำหล่อเย็น เขาก็ตอบว่าไม่ทราบว่าต้องทำอะไรเพราะทางอาจารย์เป็นคนทำให้หมด ทำให้ผมพึ่งรู้ว่าเขาเป็นนักศึกษาจากสถาบันอื่นเข้ามาใช้เครื่องมือโดยอาจารย์ที่จบจากแลปของเราเป็นคนพามา (ตอนแรกผมคิดว่าคนที่ผมพบนั้นเป็นนิสิตของแลปเรา)

คืออาจารย์ท่านนี้เคยใช้เครื่องมือเครื่องนี้ แต่หลังจากที่ท่านจบแล้วแล้วเรามีการปรับปรุงเครื่องมือในส่วนของระบบน้ำหล่อเย็น แต่ไม่มีใครบอกท่าน ท่านก็เลยไม่ทราบว่ามีการปรับปรุงวิธีการใช้งานเพราะคงไม่มีใครบอกท่าน แต่ตอนนี้ผมก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่ามีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบกันหรือไม่ในหมู่ผู้ใช้งาน ว่า operating procedure ของเครื่อง XRD มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อที่คนอื่นที่จะมาใช้งานจะได้ทราบทั่วถึงกัน

พอผมทราบว่านักศึกษาผู้นั้นเป็นเพียงแค่คนมาเฝ้าเครื่องรอดูผลการวิเคราะห์ ผมก็เลยเดินไปที่ปั๊มน้ำหล่อเย็นเพื่อที่จะเปิดวาล์ว bypass พอลองหมุนวาล์ว bypass ให้เปิดขึ้นเพียงเล็กน้อยและไปอ่านค่าอัตราการไหลก็พบว่าค่าอัตราการไหลน้ำหล่อเย็นเข้าเครื่อง XRD ลดงวบลงทันที เลยต้องรีบไปปิดวาล์ว bypass คราวนี้ผมสังเกตเห็นว่ามันมีอะไรไม่ถูกต้องอยู่

สิ่งที่เห็นว่ามันไม่ถูกต้องคือชนิดของ "วาล์ว" ที่เขาติดตั้งกับท่อ bypass

อันที่จริงสาวน้อยชาวไร่ข้าวโพดเขาไม่ได้เป็นคนติดตั้งเองหรอก เขาไปวานให้น้องอีกคนหนึ่งไปซื้ออุปกรณ์และทำการติดตั้ง แต่แม้ว่าสาวน้อยชาวไรข้าวโพดจะลงมือติดตั้งเองผลที่ออกมาก็คงไม่ต่างกัน

คือวาล์วที่เขาซื้อมาติดตั้งนั้นเป็น gate valve หรือที่ช่างประปาเรียกว่า "ประตูน้ำ" ที่มักจะติดตั้งกันทางด้านขาเข้าและขาออกของมิเตอร์วัดน้ำตามบ้านต่าง ๆ วาล์วแบบนี้ออกแบบมาเพื่อการเปิดเต็มที่หรือปิดเต็มที่ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการปรับอัตราการไหล วาล์วที่ทำหน้าที่ปรับอัตราการไหลได้ดีกว่าคือ globe valve หรือ ball valve


รูปที่ ๒ (ซ้าย) gate valve หรือที่ช่างประปาเรียกว่าประตูน้ำ ขนาด 1/2" (หรือขนาด 4 หุน) (ขวา) globe valve ขนาด 1/4 นิ้ว (2 หุน) พึงสังเกตว่า globe valve จะมีลักษณะลำตัวที่กลมและมีลูกศรชี้บอกทิศทางการไหลตรงลูกศรสีน้ำเงิน ในขณะที่ gate valve จะมีลักษณะลำตัวที่มีลักษณะแบน (ตามเส้นประสีแดง) และจะให้ไหลเข้าออกทางด้านไหนก็ได้


เรื่องการเลือกใช้วาล์วนี้ผมเขียนไว้ใน Memoir ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓๒ วันจันทร์ที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๒ เรื่อง "วาล์วและการเลือกใช้ (ตอนที่ 1)" (นำขึ้น blog ในวันอาทิตย์ที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๒)

วาล์วตัวด้านซ้ายในรูปที่ ๒ คือวาล์วท่อ bypass น้ำหล่อเย็นที่ติดตั้งอยู่ ซึ่งเป็นชนิด gate valve ส่วนวาล์วด้านขวาคือ globe valve ที่ผมไปรื้อค้นจากกองอุปกรณ์ในแลปแล้วเอามาวางให้สาวน้อยชาวไร่ข้าวโพดดู

ผมเอา globe valve ตัวดังกล่าวมาวางให้สาวน้อยชาวไร่ข้าวโพดดูและบอกเพียงแค่ว่าติดวาล์วผิดชนิด ที่ถูกชนิดต้องเป็นชนิดที่ผมเอามาเป็นตัวอย่างนี้ แต่ไม่ได้บอกว่ามันถูกหรือผิดอย่างไร ถ้าไม่รู้ว่ามันถูกหรือผิดอย่างไรก็ลองถามเพื่อน ๆ ในห้องพักคนชราดูเอาเองก็แล้วกัน ถ้าหาคำตอบไม่ได้ก็ลองไปเปิดดูคำตอบใน blog ของผมก็ได้ เรื่องนี้มันอยู่ในหัวข้อบทความแนะนำ

ผมเอาไปให้เขาตั้งแต่เช้าวันจันทร์ จวบจนวันศุกร์ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าจะยังไม่ได้คำตอบว่ามันผิดอย่างไร ก็เลยขอออก Memoir ฉบับนี้ออกมาเล่าสู่กันฟัง


แถมความรู้เกี่ยวกับภาษาช่างให้อีกนิดนึง ภาษาช่างนั้นขนาด 1/8" เรียกว่า 1 หุน ดังนั้น 1" จะเท่ากับ 8 หุน ท่อ 1/2" จะเรียกว่าท่อ 4 หุน และท่อ 3/4" จะเรียกว่าท่อ 6 หุน การเรียกเช่นนี้ยังมีใช้กันอยู่ทั่วไป เวลาทำงานกับช่างก่อสร้างทั่วไปจะรู้ว่าเขาพูดถึงอะไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น