วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๒๑ เมื่อความแรงของพีค GC ลดลง MO Memoir : Wednesday 15 June 2554


ปัญหาเรื่องสัญญาณพีค GC ที่ออกมาแตกต่างไปจากเดิมของเครื่อง Shimadzu GC-9Aนี่ผมเคยเล่าไว้ครั้งหนึ่งใน Memoirปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๖๕ วันอังคารที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๔ เรื่อง "การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๑๕ เมื่อพีค GC ออกมาผิดเวลา" ซึ่งตอนนั้นพีคมันแตกต่างไปจากเดิมทั้งเวลาที่ออกมาและความแรงของสัญญาณที่ลดลง แต่คราวนี้เป็นเรื่องของพีคที่ออกมาตามเวลาเดิมแต่ความแรงของสัญญาณลดลงไป

สาวน้อยผมยาวนักแสดงละคร (ซึ่งตอนนี้ได้ข่าวว่ากำลังจะผันตัวไปเป็น pretty งานประชุมวิชาการ) นำเรื่องนี้มาถามผมหลายสัปดาห์แล้ว เรื่องที่ทำไมเขาตั้งภาวะการทำงานของเครื่อง GC-9A ที่ภาวะเดียวกันกับที่สาวน้อยหน้าใสจากบางละมุงเคยใช้ พีคที่ได้นั้นปรากฏออกมาในเวลาเดียวกัน แต่ความแรงของสัญญาณนั้นแตกต่างกันถึงเท่าตัว คือสัญญาณที่สาวน้อยนักแสดงได้นั้นมันต่ำกว่าที่สาวน้อยหน้าใสเคยทำได้ถึงครึ่งหนึ่ง

ตอนแรกผมก็คิดว่า sensitivity ของ FID (Flame Ionisation Detector) น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ก็เลยลองให้สาวน้อยนักแสดงลองปรับส่วนผสมระหว่างอากาศและไฮโดรเจน ก็ปรากฏว่ายังไม่ดีขึ้น

ในกรณีนี้เนื่องจากเวลาที่พีคปรากฏนั้นตรงกัน ผมจึงคิดว่าปัญหาไม่น่าจะอยู่ด้านก่อนถึงทางเข้าคอลัมน์ แต่ต้องเป็นด้านขาออกจากคอลัมน์ไปแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีความเป็นไปได้ ๒ จุดคือ (ก) ภาวะการทำงานของ detector นั้นแตกต่างกัน หรือ (ข) มีการรั่วของ carrier gas ด้านขาออกจากคอลัมน์

ซึ่งเมื่อทดลองปรับการทำงานของ FID แล้วก็ไม่พบว่าจะดีขึ้น ก็เลยลองมาตรวจสอบจุดเชื่อมต่อคอลัมน์ดู พอผมลองเอามือหมุนนอตตัวที่ใช้ยึดด้านขาออกของคอลัมน์เข้ากับจุดต่อเข้า FID ก็พบว่าผมสามารถใช้มือเปล่าหมุนคลายนอตตัวดังกล่าวออกมาได้ ก็เลยบอกให้สาวน้อยนักแสดงลองขันนอตตัวนี้กลับเข้าไปให้แน่น ทดสอบการรั่ว และทดลองฉีดสารตัวอย่างใหม่อีกครั้ง


รูปที่ ๑ ตำแหน่งนอตตัวที่พบว่าหลวมอยู่เล็กน้อย (วงกลมเหลือ) เพราะสามารถใช้มือหมุนคลายออกมาได้


ตอนนี้ก็ทราบว่าได้ความแรงของสัญญาณและเวลาที่ออกมาเหมือนก่อนหน้าแล้ว แต่สาเหตุที่ทำให้นอตดังกล่าวคลายตัวได้นั้นผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น