"สิ่งที่อาจารย์จะต้องทำใจเผื่อไว้ก็คือ ในมุมมองของผู้บริหารนั้นทั้งสองคนต่างเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัย ดังนั้นไม่ว่าใครจะได้รางวัล ผู้บริหารก็สามารถเอาไปคุยโอ้อวดได้โดยไม่ต้องสนว่าคนที่ได้รางวัลนั้นได้มาโดยวิธีใด ไม่ว่าจะโดยชอบหรือมิชอบก็ตาม นอกจากนี้ทั้งสองคนต่างเป็นคนทำ paper ให้กับมหาวิทยาลัย ถ้าเก็บทั้งสองคนไว้ได้ มหาวิทยาลัยก็จะมี paper มาก การจัดอันดันของมหาวิทยาลัยก็จะดี ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารมีอะไรจะไปคุยโอ้อวด แต่ถ้าต้องเสียคนใดคนหนึ่งไป จำนวน paper ของมหาวิทยาลัยก็จะลดลง อันดับในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยก็จะต่ำลง ซึ่งเป็นผลเสียต่อชื่อเสียงผู้บริหาร ดังนั้นอย่าแปลกใจถ้าหากพบว่า ในกรณีของอาจารย์ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยเขาจะพยายามดึงเรื่องไม่ยอมทำอะไร เพื่อให้เรื่องมันเงียบหายไป ดังนั้นถ้าอาจารย์ไม่ต้องการให้เรื่องมันเงียบหายไป อาจารย์ก็ต้องขอให้อาจารย์อีกมหาวิทยาลัยหนึ่งเขาทำเรื่องร้องเรียนไปถึงอธิการบดีของเขา และให้ส่งเรื่องมาทางนี้ เพราะทางโน้นก็เป็นผู้เสียหายจากการกระทำของบุคคลคนนั้นเช่นกัน"
ข้อความข้างต้นผมเรียบเรียงขึ้นมาใหม่จากข้อความที่ได้บอกแก่อาจารย์ผู้หนึ่งที่เป็นรุ่นน้อง หลังจากได้รับฟังเรื่องการถูกกลั่นแกล้งของเขา ซึ่งผมทราบเรื่องดังกล่าวเมื่อตอนต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง
เรื่องมีอยู่ว่าอาจารย์ผู้นี้ได้รับทุนวิจัยจากสกว. ซึ่งในเงื่อนไขการรับทุนดังกล่าวผู้รับทุนก็ต้องสัญญาว่าจะผลิต paper กี่ paper และใน paper เหล่านั้นก็ต้องมีการกล่าวขอบคุณสกว. ด้วย ในขณะเดียวกันทางสกว. ก็จะมีการพิจารณาผลงานและมอบรางวัลให้กับผู้มีผลงานดีเด่น โดยดูจากจำนวนครั้งที่ได้รับการอ้างอิง เรียกว่าใครมีจำนวนครั้งที่ได้รับการอ้างอิงมากที่สุดก็จะได้รางวัลไป
ช่วง ๒-๓ เดือนที่ผ่านมาอาจารย์ผู้นั้นพบว่าจาก paper ที่ส่งไปตีพิมพ์และทาง reviewer มีความเห็นให้ทำการแก้ไขนั้น มีผู้สวมรอยเป็นอาจารย์ผู้นั้น โดยใช้อีเมล์ที่มีชื่อ-นามสกุลของอาจารย์ผู้นั้น แต่ไปใช้เมล์ที่ไม่ใช่ของมหาวิทยาลัย (ใช้เป็นของ gmail หรือ hotmail) เขาไปทำการตอบคำถามและแก้ไขบทความตามที่ reviewer ได้ให้ความเห็นมา การแก้ไขดังกล่าวทำได้ดีซะจน reviewer กล่าวชมกลับมา (ซึ่งตรงจุดนี้แสดงให้เห็นว่าผู้กระทำดังกล่าวมีความเชี่ยวชาญในเรื่องเดียวกันกับที่อาจารย์ผู้นั้นทำวิจัยอยู่)
ถัดจากนั้นผู้ที่สวมรอยก็เข้าไปขอแก้ไขข้อความในส่วนของกิตติกรรมประกาศ (Acknowledgement) โดยขอให้ลบข้อความกล่าวขอบคุณสกว. ออกไป การกระทำเช่นนี้จะทำให้อาจารย์ผู้นั้นไม่สามารถนำบทความดังกล่าวไปส่งเป็นผลงานที่สัญญาไว้กับสกว. ได้ ซึ่งจะทำให้สกว. มีภาพลบกับอาจารย์ผู้นั้น
มีการกระทำข้างต้นอยู่ ๒-๓ บทความ แต่ที่หนักที่สุดคือในบทความสุดท้ายที่มีการปลอมเป็นอาจารย์อีกมหาวิทยาลัยหนึ่งที่ทำวิจัยร่วมกับอาจารย์ผู้นั้น โดยผู้ที่สวมรอยคราวนี้ปลอมตัวเป็นอาจารย์อีกมหาวิทยาลัยหนึ่ง ส่งอีเมล์ไปถึงสำนักพิมพ์ ขอให้ "ลบ" ชื่ออาจารย์ตัวจริงที่เป็นเจ้าของบทความออกจากบทความนั้น (แสดงว่าตั้งใจจะให้คนสองคนทะเลาะกันโดยที่ต่างไม่รู้เรื่องอะไรเลย)
แต่คนที่ทำชั่วก็พลาดจนได้ เพราะเขาทิ้งร่องรอยการติดตามเอาไว้ในอีเมล์ ทำให้ระบุได้ว่าเขา "น่า" จะเป็นใคร ซึ่งก็เป็น "อาจารย์" ที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่อยู่ในอีกสถาบันหนึ่งที่มีระดับเทียบเท่าคณะ พอตรวจสอบประวัติ "อาจารย์" คนดังกล่าวจากหน้าเว็บของสถาบันนั้นก็พบว่า จบเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง วิทยานิพนธ์สมัยเรียนก็ได้รางวัล จบปริญญาเอกจากต่างประเทศ แถมยังเคยได้รับรางวัลประเภทนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ดีเด่นจากหน่วยงานแห่งหนึ่งที่ให้ทุนวิจัยด้วย ตอนแรกที่อาจารย์ผู้เสียหายเขามาเล่าให้ผมฟังนั้น เขายังบอกว่าไม่น่าเชื่อเลยว่าจะเป็นคน ๆ นี้ได้ ทั้ง ๆ ที่คน ๆ นี้เขาเป็นคนเก่งแล้วเขาจะทำไปทำไป
ผมบอกกับอาจารย์ผู้เสียหายคนนั้นว่า อาจารย์ยังมีความเข้าใจไม่ถูกต้องอยู่ที่ว่าคนเก่งจะไม่โกง ผมมีประสบการณ์กับนิสิตที่เรียนเก่งมาเยอะ ผมไม่แปลกใจเลยว่าคนที่เรียนเก่งจะทำเช่นนี้ เพราะเขาต้องการเป็น "ที่หนึ่ง" ที่เหนือคนอื่นอยู่เสมอ เมื่อใดก็ตามที่เขารู้สึกว่าเขาจะไม่ได้เป็น "ที่หนึ่ง" เขาจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เป็น "ที่หนึ่ง" ไม่ว่าวิถีทางนั้นจะถูกต้องตามทำนองคลองธรรมหรือไม่ เพราะตอนนี้สังคมเรายกย่องกันว่าใครได้รางวัลอะไร โดยไม่ได้สนใจว่ารางวัลที่ได้มานั้นได้มา "โดยชอบ" หรือไม่ (และเมื่อทำการตรวจสอบจำนวนครั้งที่ได้รับการอ้างอิง ก็พบว่าบุคคลคนนั้นมีจำนวนครั้งที่ได้รับการอ้างอิง "น้อยกว่า" ของอาจารย์ผู้ถูกกลั่นแกล้งอยู่เพียงไม่กี่ครั้ง)
จากนั้นผมก็ได้บอกกับอาจารย์ผู้เสียหายดังกล่าวตามที่เขียนไว้ในย่อหน้าแรก
แล้วเหตุการณ์มันก็ดูเหมือนจะเป็นดังที่ผมเตือนให้ระวังไว้ เพราะทางผู้บริหารของสถาบันที่คนก่อเรื่องทำงานอยู่ไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ ทางมหาวิทยาลัยก็ดูเหมือนจะไม่กระตือรือร้นอะไร อ้างว่าตรวจสอบโน่นไม่ได้ ตรวจสอบนี่ไม่ได้
แต่อาจารย์ผู้ได้รับความเสียหาย (ของทั้งสองมหาวิทยาลัย) ก็ไม่ยอมแพ้ เดินเรื่องหาหลักฐานด้วยตนเอง จนในที่สุดได้ก็หลักฐานมัดตัวผู้ก่อเรื่องชัดเจน จนทางผู้บริหารไม่สามารถโต้เถียงว่าคน ๆ นั้นไม่ได้ทำพฤติกรรมดังกล่าว แต่ก็ยังพยายามจะไม่ทำอะไรโดยการให้ผู้ก่อเรื่องนั้นลาออกไปจากมหาวิทยาลัยอย่างเงียบ ๆ
ผมได้ยินเหตุการณ์นี้แล้วก็เลยสงสัยว่า ถ้าเช่นนั้นทางมหาวิทยาลัยมีการร่างจรรยาบรรณของคนทำหน้าที่อาจารย์ขึ้นมาทำไป มีการตั้งระเบียบการถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการไว้ทำไม เพราะพอเกิดเรื่องก็ไม่ยอมทำ ถ้าผู้บริหารมหาวิทยาลัยเป็นเช่นนี้ต่อไปจะให้ความเป็นธรรมต่อคนในองค์กรหรือจะพูดว่าจะอยู่ในตำแหน่งผู้ชี้นำคนในสังคมได้อย่างไร
งานนี้มีการโทรมาต่อว่าอาจารย์ผู้เสียหายว่า "คนล้มอย่าข้าม" ด้วย ผมเห็นว่ามันเป็นคนละเรื่องกัน คนล้มอย่าข้ามนั้นมันเปรียบกับการซ้ำเติมผู้อื่นที่ได้รับความเดือดร้อน โดยที่ผู้นั้นไม่ได้มาทำร้ายอะไรเรา แต่สิ่งที่บุคคลคนนั้นทำมันเป็นการลอบทำร้ายผู้อื่นแล้วโดยเขาจับได้ คน "ทำผิด" หรือ "ทำชั่ว" จะได้รับการอภัยได้ก็ต่อเมื่อ "สำนึกผิด" และ "ได้รับการลงโทษ" แล้วเท่านั้นจึงจะถูกต้อง ไม่ใช่ว่าพอโดนจับได้ก็ขอโทษทีแล้วหายกัน ถ้าสังคมมีแต่ความคิดเช่นนี้เมื่อไรมันก็อยู่ไม่ได้ เพราะเป็นการสนับสนุนให้คนกระทำผิด เพราะถ้าจับไม่ได้ก็ได้กำไร จับได้ก็แต่ขอโทษทีแล้วก็หายกัน ไม่ได้ถูกลงโทษอะไร ก็ถือว่าเสมอตัว
ผมยังได้บอกอาจารย์ผู้เสียหายคนนั้นว่าถ้าพบว่าคนในสถาบันนั้นทำเรื่องทำนองนี้ละก็อย่าแปลกใจเลย เพราะว่าคนในสถาบันนั้นเขามีประวัติเช่นนี้มาตั้งแต่เริ่มตั้งสถาบันแล้ว พฤติกรรมรู้กันทั่วทั้งมหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยอื่น ๆ อีกหลายสถาบัน เรียกว่าก่อเรื่องราวตั้งแต่ตอนเริ่มตั้ง อยู่ได้ด้วยเงินโครงการที่ได้มาชนิดที่เรียกว่าอาจารย์สถาบันอื่นกล่าวว่า "เรื่องอย่างนี้คนดี ๆ ในสถาบันการศึกษาเขาไม่ทำกัน" และถ้าเขาต้องการโปรโมตตัวเองด้วยรางวัลที่จะได้มาโดยวิธีการแบบนี้ผมว่าก็ไม่เห็นเป็นเรื่องน่าแปลก อยากจะบอกว่างานนี้พฤติกรรมมันถ่ายทอดจากรุ่นก่อตั้งมาจนถึงรุ่นปัจจุบันเลย
มันทำให้ผมนึกสงสัยว่าในเมื่ออาจารย์ของสถาบันมีพฤติกรรมเช่นนี้ แล้วตัวลูกศิษย์จะเป็นเช่นไร เพราะจะว่าไปคนที่ก่อเรื่องนั้นก็จบจากสถาบันนั้นเหมือนกัน
อาทิตย์ที่แล้วผมได้ไปที่สภาวิศวกร ได้พบกับวิศวกรอาวุโสหลายท่านที่มีระดับเป็นวุฒิวิศวกรและเป็นสาขาเดียวกันกับของอาจารย์ผู้เสียหายและบุคคลผู้ก่อเรื่องนั้น ในการพบปะพูดคุยกันนั้นวิศวกรอาวุโสท่านหนึ่งก็ยังได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าวของผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อกรณีเช่นนี้ให้ฟัง งานนี้เรียกว่าคงเป็นที่รับรู้กันทั่วไปในวงการแล้ว
เรื่องเช่นนี้ต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้รู้กันทั่ววงการวิชาชีพ คนเช่นนี้ขืนปล่อยเอาไว้จะเป็นอันตรายต่อสังคมและผู้อื่นได้ ต้องช่วยกันเตือนคนรู้จักให้ระมัดระวังเอาไว้ถ้าเจอะเจอ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น