วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๒๙ ปัญหา Autoclave (อีกแล้ว) MO Memoir : Friday 15 July 2554


Memoir ที่เกี่ยวข้องกับฉบับนี้คือ

ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๕๕ วันจันทร์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เรื่อง "การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๑๓ อย่าด่วนสรุปเมื่อไฟตัด" และ

ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๕๗ วันพุธที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เรื่อง "การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๑๔ การปรับอุณหภูมิเตา Autoclave" (ฉบับหลังนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน)


เรื่องมันเริ่มจากการที่สาวเทคนิคเมืองนครบ่นทาง face book ว่าอุณหภูมิของ Autoclave มันตก ลักษณะมันเหมือนกับไม่มีไฟจ่ายเข้าระบบหรือไม่ heater ของ Autoclave มันก็เสีย

ตอนแรกเขามาบอกผมว่า variac เสียจะขอลองเปลี่ยน ผมก็เลยบอกให้ลองไปเอาตัวสำรองของกลุ่มมาใช้ ซึ่งพอต่อตัวใหม่เข้าไปผลก็ยังเหมือนเดิม

พอเช้าวันพุธพอมีเวลาหน่อยก็เลยได้ไปตรวจสอบ โดยเริ่มจากต้นทางออกไป ผมเริ่มจากการปรับตำแหน่งอุณหภูมิ set point ของเครื่อง Temp controller ให้ต่ำลงสุดก่อน จากนั้นก็เปิดเครื่อง Temp controller และ Temp indicator ซึ่งก็พบว่ามีไฟเข้าระบบทั้งสองเครื่อง

จากนั้นก็หมุนปุ่มปรับตั้งค่า set point ที่เครื่อง Temp controller ให้สูงขึ้น ซึ่งเมื่อหมุนให้ค่า set point สูงเกินกว่าค่าอุณหภูมิของ autoclave ในขณะนั้นก็สังเกตเห็นว่ามีไฟแดงที่แสดงว่ามีการส่งสัญญาณไปยัง magnetic switch เพื่อให้ magnetic switch จ่ายไฟไปยัง variac

แต่ปรากฎว่า ไม่มีเสียงแสดงการทำงานของ magnetic switch


รูปที่ ๑ การต่อสายไฟด้านหลังของ magnetic switch ที่ใช้กับ Autoclave


ตอนแรกก็คิดว่า magnetic switch เสีย เพราะมันถูกใช้งานมานานแล้ว และก็มีชิ้นส่วนเคลื่อนไหวด้วย แต่พอผมลองขยับตัว Temp controller เพื่อจะเข้าตรวจตัว magnetic switch ที่วางอยู่ข้างหลังนั้น สาวน้อยนักแสดงก็ทักขึ้นมาว่ามีสายไฟอะไรหลุดอยู่ (สายสีเขียวขั้วสีแดง ที่ลูกศรสีแดงชี้ในรูปที่ ๑)

พอไล่วงจรดูก็พบว่าสายไฟดังกล่าวมาจาก magnetic switch

ปัญหาก็คือมันหลุดออกมาจากตำแหน่งไหน ที่ผ่านมาก็ไม่เคยจำซะด้วยว่าสายไฟเส้นไหนต่อกับขั้วไหน

งานนี้ต้องใช้วิธีตรวจสอบแผนผังวงจรของ Temp controller และตรวจดูว่านอตตำแหน่งไหนที่ไม่แน่น ซึ่งจะเป็นตัวบ่งบอกว่าสายไฟที่หลุดนั้นน่าจะหลุดมาจากตำแหน่งใด

พอพบตำแหน่งที่คาดว่าสายไฟเส้นนั้นน่าจะหลุดออกมาแล้ว ก็ทดลองต่อกลับเข้าไป และเปิดเครื่องใหม่อีกครั้ง

ในที่สุดทุกอย่างก็กลับมาเหมือนเดิม


สำหรับคนที่ไม่อยู่ในเหตุการณ์เรื่องนี้มันก็ดูเหมือนไม่น่าจะมีความสำคัญที่จะจดจำใด ๆ

แต่สำหรับคนที่กำลังทำการทดลองต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน แล้วอุปกรณ์มามีปัญหาระหว่างการทดลอง และต้องใช้เวลากว่า ๒ วันในการตรวจหาปัญหาและทำการแก้ไขเพื่อกู้ระบบให้กลับคืนมาดังเดิม โดยพบว่าปัญหานั้นอยู่ตรงหน้าห่างไปแค่ศอกเดียว และแก้ไขได้โดยการใช้ไขควงเพียงตัวเดียว

ไม่รู้ว่าควรจะหัวเราะหรือร้องไห้ดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น