วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

GC-2014 ECD & PDD ตอนที่ ๙ ตำแหน่งวาล์วตัวที่ ๒ และตัวที่ ๔ MO Memoir : Friday 22 July 2554

Memoir ฉบับนี้อิงไปยังรูปที่ ๒ แผนผังการไหลของแก๊สของเครื่อง GC-2014 ECD & PDD ที่แสดงไว้ใน Memoir ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๗๙ วันพุธที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๔ เรื่อง "GC-2014 ECD & PDD ตอนที่ ๑ แผนผนังระบบเก็บแก๊สตัวอย่าง" โดยจะขยายรายละเอียดเฉพาะส่วนที่ทำหน้าที่ฉีดสารเข้า PDD


วาล์วตัวที่ ๓ คือ 10-port valve ที่รับแก๊สตัวอย่างมาจากวาล์วตัวที่ ๑ และเป็นที่ติดตั้ง sampling loop สำหรับฉีดสารเข้า PDD ส่วนวาล์วตัวที่ ๔ คือ 6-port valve ที่ทำหน้าที่ควบคุมให้แก๊สที่มาจากวาล์วตัวที่ ๓ ให้ไหลไปยัง PDD หรือระบายทิ้งออกไป

ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุม (GCsolution) นั้นจะบอกตำแหน่งวาล์วเป็น "0" หรือ "1" ซึ่งไม่ใช่การ "เปิด" หรือ "ปิด" เพราะทั้ง 10-port valve และ 6-port valve มันไม่มีการปิดเปิด มันเป็นการเปลี่ยนเส้นทางการไหล ดังนั้นในที่นี้ผมจะไม่ใช้คำว่า "เปิด" หรือ "ปิด" แต่จะใช้คำว่าตำแหน่งที่ "0" หรือตำแหน่งที่ "1" แทน (ในตัวโปรแกรมจะบอกว่า "0" คือ "OFF" และ "1" คือ "ON"

จากการทดสอบในเช้าวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ทำให้เราสามารถระบุตำแหน่ง "0" และ "1" ของวาล์ ๓ และ ๔ ได้ ซึ่งขอแสดงไว้ในรูปที่ ๑-๔ ก็แล้วกัน


รูปที่ ๑ วาล์ว ๓ ในตำแหน่ง "0" ซึ่งเป็นตำแหน่งให้แก๊สตัวอย่างไหลเข้า sampling loop


รูปที่ ๒ วาล์ว ๓ ในตำแหน่ง "1" ซึ่งเป็นตำแหน่งฉีดแก๊สตัวอย่างใน sampling loop เข้าคอลัมน์ PC-2 Chromosorb พึงสังเกตเส้นประที่มีการไหลกลับทิศทาง โดยเฉพาะแก๊สที่ไหลเข้าคอลัมน์ PC-2 Chromosorb


รูปที่ ๓ วาล์ว 4 ในตำแหน่ง "0" ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ให้แก๊สที่มาจากวาล์ว 3 ไหลเข้า PDD

รูปที่ ๔ วาล์ว 4 ในตำแหน่ง "1" ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ให้ตัดแก๊สที่มาจากวาล์ว 3 ไม่ให้ไหลเข้า PDD พึงสังเกตว่าในตำแหน่งนี้ แก๊ส He จากถังจะจ่ายตรงไปยังคอลัมน์ MC-4 Chromosorb 103 เพียงคอลัมน์เดียว โดยไม่มีการไหลผ่านคอลัมน์อื่นมาก่อน และเนื่องจากความดันที่จ่ายมานั้นคงที่ ดังนั้นเมื่อวาล์ว 4 อยู่ในตำแหน่งนี้ อ้ตราการไหลของ carrier gas ที่มาจาก APC-4 ไปยัง PDD จึงน่าจะมีค่ามากที่สุด


สิ่งหนึ่งที่เราพบก็คือ ในจังหวะที่วาล์ว ๓ หรือ ๔ เปลี่ยนตำแหน่งนั้น จะทำให้เกิดสัญญาณที่ดูเหมือนพีคมาก และในการเปลี่ยนตำแหน่งแต่ละครั้งจะมีสัญญาณที่ดูเหมือนพีคนี้ ๑-๓ ครั้งห่างจากตำแหน่งเวลาที่สั่งเปลี่ยนตำแหน่งวาล์ว ตอนนี้สัณนิฐานว่าน่าจะเกิดจากการที่อัตราการไหลของ carrier gas เปลี่ยนแปลงไป เพราะถ้าดูจาก flow diagram ของระบบแล้วจะพบว่าเมื่อวาล์วแต่ละตัวอยู่ที่ตำแหน่งต่าง ๆ กันนั้น เส้นทางการไหลของแก๊สไปยัง PDD จะแตกต่างกัน โดยในบางตำแหน่งนั้นจะผ่านคอลัมน์เพียงคอลัมน์เดียว (MC-4 Chromosorb 103) ก่อนเข้า PDD แต่ในบางตำแหน่งนั้นจะมีการไหลผ่านคอลัมน์ถึง ๓ คอลัมน์คือเริ่มจาก PC-2 Chromosorb ตามด้วย MC-3 Chromosorb 103 และ MC-4 Chromosorb 103 ก่อนเข้า PDD แต่เนื่องจากความดันแก๊สต้นทางที่มาจาก APC-4 นั้นคงที่ ดังนั้นจึงทำให้สงสัยว่าอัตราการไหลของแก๊สควรจะมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเส้นทางการไหลเปลี่ยนไป ซึ่งในขณะนี้เรากำลังทำการตรวจสอบอยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น