วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๒๗ การตัดคอลัมน์แก้ว GC MO Memoir : Sunday 10 July 2554

มีใครก็ไม่รู้เคยเอ่ยเอาไว้ว่า "ประสบการณ์แปรผันตรงกับจำนวนสิ่งของที่ทำพัง"

ด้วยความซนของผมที่พยายามจะลองแก้ปัญหา GC-9A ที่ขึ้นสัญญาณเตือนว่า "OVER TCD" (ทั้ง ๆ ที่เครื่องของเรามันไม่มี TCD) โดยพยายามจะทำตามที่ช่างเขาแนะนำที่บอกว่าให้ลองทำความสะอาด detector (FID) ดู ก็เลยทำให้คอลัมน์แก้วของเครื่องแตกไปนิดนึงตรงตำแหน่งนอตขันยึดคอลัมน์ด้านขาเข้าพอดี ซึ่งทำให้ผมมีประสบการณ์การเรียนรู้เพิ่มขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง

งานนี้ก็เลยต้องเป็นภาระของสาวน้อยนักแสดง (ที่กำลังผันตัวไปเป็นสาว pretty ที่มีสาวน้อยร้อยห้าสิบเซนฯเป็นหัวหน้าทีม) ต้องรับหน้าที่นำคอลัมน์ดังกล่าวไปซ่อม ซึ่งโชคดีที่มีคนรับซ่อมให้ฟรี (ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นเพราะเสน่ห์หรือความสงสาร) โดยเขาตัดบริเวณที่แตกออกไป และต่อท่อแก้วใหม่ให้มันยาวกว่าเดิม

สาเหตุที่เขาต้องต่อให้ยาวกว่าเดิมก็เพราะเผื่อเอาไว้ให้เราตัดให้ได้ขนาดที่ใส่เข้ากับเครื่อง GC ได้ ซึ่งเราต้องมาตัดเอาเองที่แลป ด้วยเหตุนี้สาวน้อยนักแสดงจึงได้เรียนวิธีตัดคอลัมน์แก้วมา และได้มีโอกาสสาธิตวิธีการดังกล่าวให้กับผมและเพื่อนฝูงดู (ตามรูปที่ ๑)

คอลัมน์ GC นั้นมีรูปร่างเป็นไปตามการออกแบบของผู้ผลิต GC ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะพบว่าแม้ว่าจะเป็นเครื่อง GC ของบริษัทเดียวกัน แต่ต่างรุ่นกันก็ใช้คอลัมน์รูปร่างต่างกัน โดยเฉพาะในส่วนของคอลัมน์แก้ว เพราะมันไม่สามารถใช้ท่อโลหะต่อเชื่อมได้ ต้องเอาปลายทั้งสองข้างของคอลัมน์ต่อตรงเข้ากับ Injector port และ Detector port ใครสงสัยก็ลองไปดูคอลัมน์แก้วของรุ่น Shimadzu GC-8A ที่เราพึ่งจะติดตั้งใหม่และของรุ่น 9A ตัวที่เป็นเรื่องของวันนี้ ไม่เหมือนกับคอลัมน์โลหะที่ GC บางยี่ห้อจะมีข้อต่อที่เป็นท่อโลหะขนาดเล็ก (ประมาณ 1/16") ที่มี dead volume ต่ำสำหรับเชื่อมต่อคอลัมน์โลหะเข้ากับ Injector port และ Detector port ดังนั้นถ้าใครจะสั่งคอลัมน์ใหม่ อย่าลืมระบุทั้งยี่ห้อและรุ่นของเครื่อง GC ที่ใช้ด้วย


รูปที่ ๑ ผู้เชี่ยวชาญการตัดคอลัมน์แก้วของกลุ่มกำลังสาธิตวิธีการที่ถูกต้อง โดยมีกองเชียร์คอยลุ้นตลอดเวลา


วิธีการตัดทำโดยการใช้ "ตะไบแทงเลื่อย" ซึ่งมีลักษณะเป็นแท่งเรียวเล็กรูปสามเหลี่ยม (ดูรูปที่ ๒) ฝนเนื้อแก้วตรงตำแหน่งที่ต้องการตัดให้เป็นรอย พอกะว่าได้รอยลึกพอแล้วก็ทำการหักเลย ดูเหมือนว่าจะให้ลึกมากเอาไว้ก่อนท่าจะดี จะได้มั่นใจว่ามันแตกตามแนวเส้นรอบวงตรงตำแหน่งที่ฝนเอาไว้ ("ฝน" ในที่นี้เป็นคำกริยานะ หมายถึงการที่เอาตะไบไปถูกพื้นผิวเพื่อให้พื้นผิวสึกหรอออกไป)


รูปที่ ๒ ตะไบแทงเลื่อยที่ควรนำมาใช้ในการตะไปแก้วให้เป็นรอย แต่วันนั้นเราใช้ตะไบอย่างอื่นแทน ตอนแรกที่เขาบอกผมว่าใช้ตะไบหน้าตาเป็นรูปสามเหลี่ยมผมก็นึกออกทันที แต่นึกชื่อไม่ออก บังเอิญเย็นนั้นได้ไปซื้อของที่ร้านอุปกรณ์ก่อสร้าง ก็เลยถือโอกาสซื้อมาหนึ่งตัวและได้ถามชื่อตะไบด้วย ปรกติตะไบชนิดนี้จะใช้ในการลับคมเลื่อย แต่ถ้าเป็นตะไบเรียว ๆ แบบนี้แต่หน้าตัดเป็นวงกลม เขาเรียกว่า "ตะไบหางหนู"


รูปที่ ๓ ผลงานที่ผ่านการตัดเรียบร้อยแล้วในวงกลมเหลือง ส่วนที่เห็นเป็นแก้วดำ ๆ ด้านซ้ายคือ "glass insert" คือของเดิมนั้นจะมีการต่อ glass insert ทางด้านขาเข้าคอลัมน์ เพื่อให้ปลายเข็ม syringe ปักลงใน glass insert เวลาที่ฉีดสารสารจะได้ไหลตรงเข้าไปในคอลัมน์เลย แต่หลังจากที่เราซ่อมแล้ว เราต่อคอลัมน์ด้านขาเข้าไปจนถึงใต้ injection port ทำให้สามารถฉีดสารเข้าคอลัมน์ได้โดยไม่ต้องใส่ glass insert


งานนี้ก็เลยต้องขอมอบตรารับรองของกลุ่มที่เพิ่งจะออกแบบเสร็จ ให้กับผลงานของสาวน้อยนักแสดงเป็นรายการแรก ทั้งในส่วนของผลงานและวิธีการทำงาน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น