บ่ายวันวานหลังกินกาแฟเสร็จก็กะว่าจะเข้าประชุมสักหน่อย แต่ปรากฏว่ามีนิสิตป.เอกมาปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับเรื่องโดนไฟฟ้าดูดเวลาทำแลป คือเขาบอกว่าเวลาจับที่บริเวณตัวอุปกรณ์หรือโครงเหล็กที่เขาใช้ติดตั้งอุปกรณ์นั้น มักจะโดนไฟฟ้าดูดเป็นประจำ เขาได้ยินมาว่าทางกลุ่มเราก็เคยเจอปัญหานี้ และได้ทำการแก้ปัญหาโดยการติดตั้งสายดิน เขาก็ได้ไปมอง ๆ ดูตำแหน่งที่ทางกลุ่มเราติดตั้งสายดินเอาไว้ (รูปที่ ๑) แต่ไม่เข้าใจว่าจะทำอย่างไร ก็เลยแวะมาปรึกษา
รูปที่ ๑ เส้นสีแดงคือสายดินที่ต่อจากโครงเหล็ก (ตรงตำแหน่งกรอบสีเหลืองล่าง) ไปยังสายดินของระบบไฟฟ้าของอาคาร (ในกรอบสีเหลืองบน) สายนี้เดินเอาไว้ราว ๆ ปี ๒๕๔๗
สิ่งแรกที่ผมบอกเขาคือให้ไปเอามิเตอร์วัดไฟฟ้ามา จะเอามาวัดดูว่ามีไฟฟ้ารั่วสักกี่โวลต์ วิธีการวัดก็ไม่ยากอะไร ก็แค่เอาปลายข้างหนึ่งของสายวัดขูดเข้ากับโครงเหล็ก (ที่ต้องขูดเพราะต้องขัดเอา สี สนิม หรือออกไซด์ที่เคลือบผิว ออกไปก่อน) และเอาปลายของสายอีกเส้นหนึ่งต่อเข้ากับท่อน้ำทิ้งของแลป (ที่เป็นท่อเหล็กโผล่มาจากพื้น ที่ต้องต่อเข้ากับท่อก็เพราะบริเวณอุปกรณ์ของเขาไม่มีระบบไฟฟ้าที่มีสายดิน)
สิ่งที่เห็นคือสามารถวัดความต่างศักย์ได้ถึง 60 V (ปรกติไฟแค่ 10 กว่าโวลต์ก็ทำให้สะดุ้งได้แล้ว)
ผมเห็นดังนั้นก็เลยแหย่พวกเขาไปเล่น ๆ ว่า จะว่าไปแล้วอุปกรณ์เหล่านี้ก็ไม่ใช่ของผม ผมเองก็ไม่ได้มายุ่งเกี่ยวอะไรกับอุปกรณ์เหล่านี้ (ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ ก่อสร้าง หรือติดตั้ง) แถมผมเองก็ไม่ได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของพวกคุณด้วย (ที่มาปรึกษาผมน่ะเป็นนิสิตป.เอก ๓ คนจาก ๓ อาจารย์ที่ปรึกษา) แล้วทำไมผมต้องมาวุ่นวายกับปัญหาของพวกคุณด้วย (คิดอยู่ในใจว่าก็อาจารย์ของพวกเขาเองยังไม่สนใจเลยว่านิสิตของพวกเขาต้องเสี่ยงอันตรายอย่างไรบ้างในขณะที่ทำการทดลองเลย สนแต่ว่าจะมีผลแลปให้หรือเปล่าเท่านั้นเอง) แต่อาศัยที่ว่าสนิทกันและรู้ว่าเขาคงไม่รู้ว่าจะไปพึ่งใครแล้ว ก็เลยแนะนำพวกเขาว่าควรทำอย่างไร (ที่สนิทกันก็เพราะผมไปนั่งกินกาแฟที่ห้องพักพวกเขาเป็นประจำ)
ตอนแรกพวกเขาก็บอกว่าจะให้ช่างมาจัดการแก้ไขให้ ผมก็ยืนนิ่ง ๆ อยู่ครู่หนึ่งและบอกพวกเขาไปว่าถ้าเป็นปัญหาของกลุ่มผม ผมจะให้สมาชิกของกลุ่มผมลงมือทำเอง โดยผมจะยืนเฝ้ากำกับคอยบอกว่าจะให้ทำอะไร อย่างไร เขาก็เลยเปลี่ยนใจลงมือจัดการทันทีโดยมีผมคอยให้คำแนะนำ (คิดอยู่ในใจว่า เรียนมาถึงระดับนี้แล้ว งานแค่นี้ทำเองไม่ได้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจบแล้วจะไปทำงานอะไรได้)
สิ่งแรกที่ผมบอกให้พวกเขาไปทำก็คือไปหาสายไฟฟ้ายาว ๆ มาสักเส้น พอได้มาแล้วก็ต้องหาตำแหน่งที่จะต่อปลายสายข้างหนึ่งเข้ากับโครงติดตั้งอุปกรณ์ แต่ปรากฏว่าไม่สามารถหาตำแหน่งที่จะต่อปลายสายไฟเข้าอย่างมั่นคงได้ ก็เลยต้องมองไปที่ตำแหน่งอื่น และไปพบที่ตำแหน่งนอตขันกลอนประตูตู้เก็บของ (รูปที่ ๒ ซ้าย) ซึ่งตัวตู้ทำจากเหล็ก และเมื่อวัดความต่างศักย์ไฟฟ้าก็พบว่ามีการรั่วไหลมายังตัวตู้ด้วย
จากนั้นก็เริ่มต่อสายไฟโดยต่อปลายข้างหนึ่งเข้ากับจุดต่อสายดินเดิม (รูปที่ ๒ ขวา) เสร็จแล้วก็ต่อปลายอีกข้างหนึ่งเข้ากับนอตของกลอนประตูตู้
การเดินสายดินนั้นทางอเมริกันจะเรียกว่า ground ส่วนอังกฤษจะเรียกว่า earth ก่อนหน้านี้ในแลปของเรามีการเดินสายดินเช่นนี้กับโครงติดตั้งอุปกรณ์อยู่ ๒ โครงด้วยกัน ตัวที่ติดตั้งไปเมื่อวานเป็นตัวที่สาม
รูปที่ ๒ รูปซ้ายแสดงตำแหน่งที่ต่อสายดิน (สายเส้นสีขาว) โดยต่อเข้ากับตู้เหล็กเก็บของ (กรอบสีเหลือง) ส่วนรูปขวาแสดงการต่อสายไฟเส้นสีขาวเข้ากับจุดต่อสายดินที่แสดงในรูปที่ ๑
เมื่อต่อเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ทำการทดลองวัดความต่างศักย์ไฟฟ้าที่ตำแหน่งต่าง ๆ ของโครงติดตั้งอุปกรณ์ และตัวอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีส่วนที่เป็นโลหะสัมผัสตรงกับโครงติดตั้งอุปกรณ์ ก็พบว่าความต่างศักย์ไฟฟ้าลดลงจาก 60 V ลงเป็นเกือบศูนย์โวลต์ ที่ต้องวัดที่ตำแหน่งต่าง ๆ ก็เพื่อให้มั่นใจว่าตัวโครงติดตั้งอุปกรณ์และตัวอุปกรณ์ที่วางอยู่บนโครงนั้น (ที่มีการสัมผัสตรงระหว่างโลหะ) มีการเชื่อมต่อทางไฟฟ้าถึงกันหมด ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้ติดตั้งสายดินเพียงตำแหน่งเดียวก็พอ แต่ถ้าพบว่ามีบางตำแหน่งยังมีไฟฟ้ารั่วไหลอยู่ ก็ต้องติดตั้งสายดินเพิ่มอีก
ตอนนี้ปัญหาที่ยังเหลืออยู่คือยังมีอุปกรณ์ไฟฟ้าบางชิ้นที่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่ามีไฟฟ้ารั่วไหลอยู่ที่ผนังลำตัวของอุปกรณ์ชิ้นนั้น สาเหตุที่พบว่าตัวอุปกรณ์ไฟฟ้ามีไฟฟ้าอยู่ที่ผนังลำตัวนั้นอาจเป็นเพราะการเหนี่ยวนำ การรั่วไหล หรือการที่อุปกรณ์ชิ้นนั้นใช้ผนังลำตัวเป็น ground ของวงจรไฟฟ้า เนื่องจากสายไฟฟ้าของอุปกรณ์ประเภทนี้มักจะมีสายดินมาให้แล้ว วิธีการที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาเช่นนี้คือการเดินปลั๊กไฟที่มีสายดิน ไม่ใช่เดินแบบมีเพียงแค่สาย neutral และ live ดังนั้นสิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นยังต้องทำเพิ่มเติมคือการปรับปรุงแก้ไขระบบสายไฟฟ้าที่เดินมายังระบบอุปกรณ์ทดลองของเขาให้เป็นระบบที่มีสายดิน
งานนี้พอทำเสร็จแล้วผมก็แหย่พวกเขาเล่นต่อว่า ตอนเรียนจบจะมีการกล่าวขอบคุณผมในวิทยานิพนธ์บ้างไหมเนี่ย (ในส่วน acknowledgement) ที่ผ่าน ๆ มานั้นผมช่วยแก้ปัญหาให้กับนิสิตที่มีอาจารย์อื่นเป็นที่ปรึกษาไปไม่รู้กี่หลาย แต่ละรายไม่รู้กี่เรื่อง และเป็นเรื่องที่อาจารย์ที่ปรึกษาเขาไม่สนใจด้วย แต่พอเรียนจบก็ไม่เห็นมีการกล่าวขอบคุณสักคำ (เหตุผลหลักก็คือผมไม่ได้เป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของพวกเขา ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการสอบของพวกเขา)
พวกเขาก็รับปากกับผมว่ามีแน่นอน ซึ่งงานนี้ก็ต้องคอยดูกันต่อไป และเพื่อเป็นการบันทึกความทรงจำว่าใครได้กล่าวอะไรออกไป ก็เลยต้องออกบันทึกฉบับนี้มาในชุด "ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ" แทนที่จะเป็น "การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ" กับพวกเขานั้นตัวผมเองนั้นก็ไม่ได้คิดติดใจอะไรพวกเขาเรื่องนี้หรอก คนรู้จักกันมาหลายปี ใครมีปัญหาอะไรต่างก็ต้องช่วยเหลือกันอยู่ดีโดยไม่หวังผลตอบแทน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น