พักหลัง ๆ มานี้พบว่าคุยกับนักเรียนที่พึ่งจะจบม.ปลายมาใหม่ ๆ ไม่ค่อยจะรู้เรื่อง
สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะคุยกันคนละภาษา โดยเฉพาะการเรียกชื่อสารเคมีที่เป็นสารอินทรีย์
ดูเหมือนว่าตำราเรียนวิชาเคมีของนักเรียนม.ปลายในปัจจุบันจะใช้การเรียกชื่อสารตามระบบ IUPAC กันทั้งหมด ทำให้นักเรียนที่จบออกมาในปัจจุบันจะชินกับการเรียนชื่อสารเคมีด้วยระบบ IUPAC
แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าคนอื่นในโลกเขาปรับเปลี่ยนไปตามกระทรวงศึกษาธิการ
เห็นในวงการกลั่นน้ำมันหรือปิโตรเคมีมากว่า ๒๐ แล้ว ก็ไม่เห็นมีใครเขาปรับเปลี่ยนการเรียกชื่อต่าง ๆ ให้เป็นไปตามระบบ IUPAC ตำราเก่า ๆ (กว่า ๔๐ ปีที่แล้ว) เคยเรียกกันอย่างไร ปัจจุบันก็ยังคงเรียกกันอยู่อย่างนั้น
ตัวอย่างเช่น C5H5CH3 หรือโทลูอีน (Toluene) ซึ่งปัจจุบันคนในวงการก็ยังคงเรียกชื่อนี้อยู่ แต่พอคุยกับนักเรียนที่จบม.ปลายมาใหม่ ๆ กลับไม่รู้จักว่าคืออะไร แต่พอบอกว่ารู้จักสาร Methylbenzene ไหม เขาก็รู้ทันที หรือในกรณีของไซลีน (Xylene C5H4(CH3 )2) ซึ่งพวกเขาจะรู้จักในนาม Dimethylbenzene ที่มี ๓ ไอโซเมอร์คือ 1,2 1,3 และ 1,4 แต่จะไม่รู้จักการเรียกว่า ortho- meta- และ para-
แต่ชื่อตามระบบ IUPAC นี้ไม่เคยได้ยินใครในวงการเขาพูดกันเลย
ขอยกตัวอย่างอีกตัวอย่างได้แก่ Acetic acid ซึ่งชื่อ IUPAC คือ Ethanoic acid ซึ่งการเรียกชื่อตามระบบ IUPAC นี้พอจะพบเห็นได้ในตำราเรียนวิชาเคมี แต่ลองหาคำ ๆ นี้ดูในฉลากข้างขวดสารเคมีในรูปข้างบนว่าเจอไหม
กำลังสงสัยว่าต่อไปนิสิตคงมีปัญหาเรื่องการทำการทดลอง เพราะหาสารเคมีไม่เจอ เพราะไม่มีฉลากข้างขวดสารเคมีตัวไหนระบุชื่อตรงกับที่ตัวเองต้องการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น