วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เรื่องของสไตรีน (คิดสักนิดก่อนกด Share เรื่องที่ ๑) MO Memoir : Wednesday 13 February 2556

เรื่องมันเกิดเมื่อผมเห็นบุคคลที่ ๓ share ข้อมูลบนหน้า facebook ของบุคคลที่ ๒ โดยที่ข้อมูลดังกล่าวมีการระบุว่าจัดทำขึ้นโดยบุคคลที่ ๑ แล้วมันมาปรากฏบนหน้า facebook ของผม
  
ถ้าคนที่กด share นั้นเป็นคนทั่วไปที่ไม่น่าจะมีความรู้พื้นฐานใด ๆ กับเรื่องที่กด share ผมก็คงจะปล่อยให้มันผ่านเลยไป แต่นี่เขาเป็นคนที่มีความรู้ทั้งทางด้านเคมีและวิศวกรรมเคมี ผมก็เลยไม่รู้ว่าที่เขากด share นั้นเขาได้อ่านก่อนหรือเปล่า หรืออ่านโดยไม่ได้ฉุกคิด
  
เรื่องดังกล่าวก็คือเรื่องของกล่องโฟมที่ทำจากสไตรีน
  
บุคคลที่ ๑ ในบทความที่มีการกด share นั้น ที่มีการระบุว่าเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ จะมีตัวตนจริงหรือไม่นั้น หรือมีตัวตนจริงแต่จะเป็นผู้เขียนบทความที่บุคคลที่ ๒ นำมาเผยแพร่นั้นหรือไม่นั้น ผมไม่ทราบและไม่สามารถพิสูจน์ได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแต่บุคคลที่ ๑ ผมจึงขอลบชื่อบุคคลที่ ๑ ออกจากเนื้อหาที่นำมาให้ดูกัน
  
ก่อนอื่นอยากให้พวกคุณลองอ่านบทความดังกล่าวก่อน

โดย นพ. fff แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ บริษัท jjj (หมายเหตุ : เป็นบริษัทผลิตบรรจุภัณฑ์บรรจุอาหาร) ได้ให้ความรู้ว่า กล่องโฟมที่ใช้ตามท้องตลาดทั่วไป (Styrofoam) เป็นของเสียเหลือทิ้งสีดำ ๆ จากกระบวนการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ประกอบด้วยสารสไตรีน (Styrene) มีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในเพศหญิง
  
อาหารตามสั่งที่บรรจุกล่องโฟมจึงเป็นแหล่งสะสมสารสไตรีน ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ทำให้สมองมึนงง สมองเสื่อมง่ายหงุดหงิดง่าย มีผลทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ และเป็นสารก่อมะเร็งอีก 3 ชนิด ถ้าเป็นผู้ชายรับประทานเข้าไปมาก ๆ มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ขณะที่ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม และทั้งสองเพศมีโอกาสสูงต่อการเป็นมะเร็งตับ แม้จะไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำก็ตาม
  
สำหรับสไตรีน ถือเป็นสารอันตรายที่สหรัฐฯ เพิ่งประกาศขึ้นบัญชีสารก่อมะเร็ง หญิงมีครรภ์ที่รับประทานอาหารบรรจุในกล่องโฟม ลูกมีโอกาสสมองเสื่อมเป็นเอ๋อ อวัยวะบางส่วนพิการ ส่วนคนทั่วไปถ้ารับประทานอาหารกล่องโฟมทุกวัน วันละอย่างน้อย 1 มื้อ ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งสูงกว่าคนปกติถึง 6 เท่า
  
ทั้งนี้ ผู้บริโภคมีโอกาสได้รับสารสไตรีนในกล่องโฟมได้ง่ายถึง 5 ปัจจัยได้แก่
  
1. อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นหรือเย็นลง ทำให้สไตรีนซึมเข้าสู่อาหารได้สูง
2. ถ้าปรุงอาหารโดยใส่น้ำมัน น้ำส้มสายชูแอลกอฮอล์ จะดูดสารสไตรีนจากกล่องโฟมได้มากกว่าปกติ
3. ถ้าซื้ออาหารใส่กล่องทิ้งไว้นาน ๆ ไม่ได้รับประทาน อาหารจะดูดสารสไตรีนได้มาก
4. ถ้านำอาหารที่บรรจุโฟมเข้าไมโครเวฟ สไตรีนจะไหลออกมาในปริมาณมาก
5. ถ้าอาหารสัมผัสพื้นที่ผิวกล่องโฟมมาก ๆ รวมถึงร้านไหนตัดถุงพลาสติกใสรองอาหาร ขอบอกว่าได้รับสารก่อมะเร็ง 2 เด้ง ทั้งสไตรีนและไดออกซินจากถุงพลาสติกเลยทีเดียว
  
นพ. fff กล่าวเตือนด้วยว่า อาหารตาม สั่งหรือข้าวราดแกงกับไข่ดาวหรือไข่เจียวร้อน ๆ อาจจะไปละลายผนังกล่องโฟม เสมือนรับประทานอาหารคลุกสไตรีนไปด้วย ถึงกระนั้นไข่ดิบที่วางขายในแผงไข่พลาสติก สารสไตรีนมีโอกาสวิ่งเข้าในเปลือกไข่ได้เช่นกัน ถ้าเลือกไข่ดิบควรเลือกซื้อจากแผงไข่กระดาษจะปลอดภัยที่สุด
  
กล่องพลาสติกหรือปิ่นโตปลอดภัยกว่าเยอะ!
  
อันที่จริงในเนื้อหาที่มีการกด share ดังกล่าวมีรูปประกอบด้วย แต่ผมขอไม่เอามาลง เพราะเกรงว่าจะเป็นการขยายข้อความออกไปโดยไม่เหมาะสม

ไม่ทราบว่าพวกคุณอ่านแล้วสังเกตอะไรบ้างไหม ผมจะเขียนจุดที่ผมสังเกตเห็นเป็นข้อ ๆ ไป

. เริ่มจากประโยค "โดย นพ. fff แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ บริษัท jjj"

อย่างแรกที่ผมสงสัยก็คือ ผู้ที่เรียนมาทางแพทย์นั้นจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ได้หรือ ทำไมบริษัท yyy ดังกล่าวถึงไม่ใช้ผู้ที่เรียนมาทางด้านวัสดุศาสตร์หรือด้านอุตสาหกรรมอาหารโดยตรงมาทำหน้าที่นี้ การที่บทความดังกล่าวนำผู้ที่มีคำนำหน้าชื่อว่า "แพทย์" มาใช้นั้นมีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝงอยู่หรือไม่ หรือต้องการใช้คำนำหน้าชื่อว่า "แพทย์" ในการให้ผู้อ่านเชื่อถือข้อมูลในบทความ เพราะเนื้อหาช่วงต่อไปของบทความนั้นมันพาดพิงไปถึงสุขภาพของคน
  
อย่างที่สองก็คือตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญนั้นได้มาอย่างไร เป็นเพียงแค่ตำแหน่งหนึ่งของพนักงานบริษัทหรือไม่ (คือใครก็ได้ที่บรรจุเข้างานในตำแหน่งนี้จะถูกเรียกว่าผู้เชี่ยวชาญ) โดยปรกติในวงการทั่วไปนั้นการจะเรียกใครว่าผู้เชี่ยวชาญนั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีผลงานที่เป็นที่ "ยอมรับ" กันทั่วไปในวงการ มันไม่ได้มีตำแหน่งนี้อย่างชัดเจน แต่เป็นการยอมรับกันในระหว่างผู้ที่อยู่ในวงการนั้น ๆ

. ยังคงอยู่ที่ประโยค "โดย นพ. fff แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ บริษัท jjj"

บริษัท jjj นั้นเป็นบริษัทที่ผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุอาหาร ดูจากบทความแล้วคงห้ามไม่ให้คิดไม่ได้ว่าบริษัทดังกล่าวคงจะผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารที่พยายามเข้าแทรกตลาดแทนการใช้กล่องโฟม ดังนั้นบทความดังกล่าวจึงดูเหมือนว่าผู้เขียนนั้นเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเนื้อความในบทความนั้นเป็นจริง (อันที่จริงเนื้อหามันจะจริงหรือไม่นั้น ไม่สำคัญ แต่ต้องทำให้คนอ่านเชื่อว่ามันเป็นจริง)
  
การให้ข้อมูลรูปแบบนี้เป็นวิธีการทำตลาดในรูปแบบหนึ่ง คือแทนที่จะบอกว่าของตัวเองนั้นดีกว่าของคู่แข่งอย่างไร กลับใช้วิธีการให้ข้อมูลที่ทำให้ผู้อื่นคิดไปเองว่าผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งนั้นไม่ดี ลักษณะการทำตลาดแบบนี้เกิดขึ้นได้กับการหาข้อดีให้กับสินค้าของตัวเองไม่ได้ เรื่องทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งราว ๒๐ ปีที่แล้วในกรณีของขวดบรรจุน้ำมันพืช ตอนนั้นมีการปล่อยข่าวให้ข้อมูลดังนี้
  
(ก) vinyl chloride (H2C=CHCl) เป็นสารก่อมะเร็ง
(ข) vinyl chloride ละลายได้ในน้ำมันพืช
(ค) vinyl chloride ใช้ทำขวด PVC
  
ถ้าจะถามว่าข้อความ (ก)-(ค) เป็นจริงหรือไม่นั้น คำตอบก็คือเป็นจริง แต่คนที่ได้รับข้อมูลนำไปทำเป็นข้อสรุปว่า "ถ้ากินน้ำมันพืชที่บรรจุขวด PVC แล้วจะเป็นมะเร็ง" เป็นจริงหรือไม่นั้น คำตอบก็คือ "ไม่เป็นจริง" เพราะกว่าจะมาเป็นขวด PVC นั้นต้องเอา vinyl chloride (มันเป็นแก๊ส) ไปทำเป็นเม็ดพลาสติก PVC ก่อน (เป็นของแข็งแล้ว) จากนั้นจึงนำเม็ดพลาสติก PVC มาขึ้นรูปเป็นขวดอีกที ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่ากว่าจะมาขึ้นรูปเป็นขวด vinyl chloride นั้นก็ระเหยหายไปจากเม็ดพลาสติกหมดแล้ว (ตรงนี้อาจมีคนเถียงว่าไม่หมดจริง เพราะถ้าวิเคราะห์แบบ trace analysis ก็อาจมีสิทธิ์เจออยู่ ซึ่งผมก็คงจะไม่อยากเถียง แต่ว่าปริมาณที่ตรวจพบนั้นส่งผลอย่างไรหรือไม่ล่ะ) 
   
การทำการตลาดในรูปแบบนี้เป็นรูปแบบการเลือกให้ข้อมูลที่เป็นจริงในบางจุด โดยไม่สนว่าสิ่งที่ผู้บริโภคสรุปเอาเองจากข้อมูลที่ได้รับนั้นจะถูกต้องหรือไม่ สนแต่ว่าใครได้ประโยชน์จากข้อสรุปที่ผู้บริโภคคิดนั้น
  
สภาพตลาดน้ำมันพืชในขณะนั้นคือทุกรายบรรจุขวด PVC บังเอิญมีรายหนึ่งพยายามเข้าตลาดด้วยการบรรจุขวด PET ที่มีราคาสูงกว่า PVC ผลที่ตามมาคือผู้ผลิตรายอื่นต้องเปลี่ยนมาบรรจุน้ำมันพืชในขวด PET ที่มีราคาแพงกว่าขวด PVC แทน ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินค่าน้ำมันพืชแพงขึ้นทั้ง ๆ ที่ได้ของเท่าเดิม
  
ประเด็นที่น่าคิดก็คือในความเป็นจริงนั้น vinyl chloride ก็สามารถละลายในน้ำได้เช่นเดียวกัน แล้วทำไมผู้ให้ข้อมูลจึงไม่มีการกล่าวถึงการใช้น้ำที่ไหลผ่านท่อ PVC กลับมุ่งเน้นไปที่น้ำมันพืชเพียงอย่างเดียว

. เข้าเรื่องวิศวกรรมเคมีกันหน่อย "กล่องโฟมที่ใช้ตามท้องตลาดทั่วไป (Styrofoam) เป็นของเสียเหลือทิ้งสีดำ ๆจากกระบวนการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ประกอบด้วยสารสไตรีน (Styrene)"

สำหรับคนที่อยู่ในวงการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีแล้ว คงต้องบอกว่าประโยคนี้ "หาความจริงไม่ได้"
     
ในการกลั่นน้ำมันนั้น ส่วนที่หนักที่สุดจะมีการนำไปให้ความร้อนเพื่อให้โมเลกุลแตกออกเป็นน้ำมันเบา หรือไม่ก็นำไปทำยางมะตอย ตัวสไตรีนเองนั้น "ถ้ามี" อยู่ในหอกลั่น มันก็จะออกไปกับน้ำมันเบนซินหมดแล้ว ไม่เหลืออยู่เป็นของเหลือทิ้ง และในโรงกลั่นน้ำมันเองก็ไม่มีการผลิตหรือแยกเอาสไตรีนออกมาทำเป็นโฟมด้วย
  
ถ้าจะเริ่มนับจากโรงกลั่นน้ำมันเส้นทางการผลิตสไตรีน (C6H5-CH=CH2) จะเริ่มจากการเอา n-paraffin C6-C8 ไปเข้ากระบวนการ Platforming ผลิตเป็นอะโรมาติก Benzene (C6H6), Toluene (C6H5-CH3) และ Xylenes (C6H4(CH3)2) ที่ในวงการเรียกกันย่อ ๆ ว่า BTX ก่อน จากนั้นจะนำเบนซีนไปทำปฏิกิริยา alkylation (ปฏิกิริยาเติมหมู่อัลคิล) กับเอทิลีน (ethylene H2C=CH2) เพื่อผลิตเป็นเอทิลเบนซีน (ethyl benzene C6H5-CH2CH3) จากนั้นจึงนำเอทิลเบนซีนที่ได้ไปทำปฏิกิริยา cracking หรือ dehyrogenation ก็จะได้สไตรีนเป็นผลิตภัณฑ์

. คุณเป็นหมอจริงหรือเปล่า "สารสไตรีน (Styrene) มีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในเพศหญิง"

ดูรูปที่ ๑ ข้างล่างนะ หวังว่าคงจะเปรียบเทียบกันได้ว่าโมเลกุลสไตรีนกับเอสโตรเจนที่เป็นฮอร์โมนเพศหญิงนั้นมันคล้ายกันหรือเปล่า


รูปที่ ๑ (ซ้าย) สไตรีน (styrene - C6H5-CH=CH2) (ขวา) เอสโตรเจน (Estrogen หรือ Oestrogen)

ถ้าจะบอกว่ามันคล้ายกันเพราะมีส่วนที่เป็นวงแหวนเบนซีนเหมือนกัน ก็คงต้องขอขอบคุณมากที่ยังไม่ให้เหตุผลว่ามันคล้ายกันเพราะมีพันธะ C-C และ C-H เหมือนกัน
  
ข้อความตรงนี้เป็นข้อความที่ผมคาใจอยู่มาก ด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกัน

(ก) ถ้าผู้เขียนเป็นหมอจริง ทำไมจึงไม่รู้ว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนมีโครงสร้างโมเลกุลอย่างไร
(ข) ถ้าผู้เขียนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์จริง ทำไมไม่รู้ว่าสไตรีนมีโครงสร้างโมเลกุลอย่างไร
(ค) ถ้าผู้เขียนเป็นผู้มีความรู้ทางด้านเคมีจริง ทำไมจึงดูไม่ออกว่าโครงสร้างโมเลกุลของสารทั้งสองมันเหมือนหรือไม่เหมือนกัน
   
ข้อความประโยคนี้มันทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเนื้อหากับตัวผู้เขียน เพราะถ้าคนเขียนเขียนโดยไม่รู้ว่าในความเป็นจริงนั้นโมเลกุลสารทั้งสองไม่เหมือนกัน (ค้นอินเทอร์เน็ตก็ได้) แสดงว่าคนเขียนไม่ใช่ผู้ที่เรียนมาทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องผ่านการเรียนวิชาเคมีมา ดังนั้นเขาก็ไม่ควรที่จะถูกเรียกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์
   
แต่ถ้าคนเขียนเขียนโดยที่รู้ว่าในความเป็นจริงนั้นโมเลกุลสารทั้งสองไม่เหมือนกัน แต่คาดหวังว่าผู้อ่านคงจะไม่สังเกตและทำการตรวจสอบ ก็แสดงว่าบทความที่เขียนขึ้นมานี้เขียนขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ที่ไม่น่าจะส่อไปในทางที่ดี
   
ตกลงว่าผู้เขียนนั้นมีความรู้ทางด้านวิชาเคมีบ้างหรือไม่ ถ้าเขาไม่มีความรู้ทางด้านนี้ ทำไมเขาจึงเขียนบทความที่เกี่ยวข้องสารเคมี และถ้าเขามีความรู้ทางด้านวิชาเคมี ทำไมถึงจงใจให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ตรงนี้เป็นประเด็นที่น่าคิด
   
พึงสังเกตด้วยว่าในประโยคนี้กล่าวว่า "คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน" แล้วทิ้งเอาไว้แค่นั้น โดยไม่มีการกล่าวถึงเรื่องนี้อีกว่า ถ้ามันเป็นโมเลกุลที่มันคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนแล้วมันมีปัญหาอะไร จะส่งผลในด้านบวกหรือลบ แต่ที่สำคัญคือคนที่อ่านประโยคนี้แล้ว มองภาพโมเลกุลที่คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนไปในทางบวกหรือลบ

. แล้วบรรจุภัณฑ์ทางการแพทย์ล่ะ "ร้านไหนตัดถุงพลาสติกใสรองอาหาร ขอบอกว่าได้รับสารก่อมะเร็ง 2 เด้ง ทั้งสไตรีนและไดออกซินจากถุงพลาสติกเลยทีเดียว"

พอลิเมอร์ที่นำมาทำเป็นถุงพลาสติกใส่อาหาร (เช่นตามร้านค้าที่ทำอาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ) นั้นมีอยู่ ๓ ชนิดด้วยกันคือ พอลิเอทิลีน ซึ่งแยกออกเป็น LDPE LLDPE และ HDPE และพอลิโพรพิลีนหรือ PP HDPE และ PP นั้นเอามาทำเป็นถุงร้อนได้ (ถุงร้อนคือถุงพลาสติกที่ใส่ของร้อนได้) โดยถุง PP จะใสกว่าถุง HDPE (บางทีพ่อค้าแม่ค้าเรียกถุงขุ่น) พลาสติกพวกนี้ยังนำไปใช้ผลิตเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ด้วยเช่น ถุงน้ำเกลือ ขวดยา กระบอกฉีดยา เป็นต้น
           
ไดออกซินเป็นสารพิษตระกูลหนึ่ง (ว่าแต่ตอนแรกที่พวกคุณได้อ่านนั้น รู้หรือเปล่าว่ามันคืออะไร) ที่เกิดขึ้นได้ในระหว่าง "การเผาไหม้" สารอินทรีย์บางชนิดหรือเผาด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม แม้แต่เผากระดาษหรือชานอ้อยก็มีสิทธิเกิดขึ้นได้ ตรงนี้ต้องขอย้ำว่ามันเกิดขึ้นเมื่อมีการเผาไหม้ มันไม่ได้เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตชิ้นงาน
ผมไม่ทราบว่าข้อมูลที่เขากล่าวว่า "ไดออกซินจากถุงพลาสติก" นั้นเอามาจากไหน ถ้าเขาจะอ้างว่ามันมีอยู่ในพลาสติกพวกนี้อยู่แล้ว ดังนั้นเขาก็ควรกล่าวไปถึงถุงพลาสติกต่าง ๆ ที่ใช้ใส่อาหารที่ขายกันอยู่ทั่วไป รวมทั้งพวกที่เอาไปทำเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้กันในโรงพยาบาลต่าง ๆ ด้วย ทำไมจึงหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงพวกหลังนี้ กลับพยายามดึงเข้าหากล่องโฟมเพียงอย่างเดียว

. ไม่ได้มีเพียงแค่กล่องโฟม "กล่องพลาสติกหรือปิ่นโตปลอดภัยกว่าเยอะ!"

กินบะหมี่สำเร็จรูปจากถ้วยพลาสติกก็มีคนโพสต่อ ๆ กันว่าจะมีพลาสติกไปเคลือบกระเพาะ (แต่กินโยเกิร์ต นมขวด หรือไอติมจากถ้วยพลาสติกกลับไม่มีการกล่าวถึง) กินน้ำจากขวด PET ใช้ซ้ำก็มีคนโพสต่อ ๆ กันว่ามีสารก่อมะเร็งละลายออกมาจากขวด PET กินน้ำมันพืชบรรจุขวด PVC ก็มีคนบอกต่อ ๆ กันว่าจะเป็นมะเร็ง ... และตอนนี้ก็เป็นการกินอาหารจากกล่องโฟม ก็มีคนโพสต่อ ๆ กันว่าจะเป็นโน่นเป็นนี่จากสไตรีน
  
ภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากพอลิสไตรีนไม่ได้มีเฉพาะกล่องโฟมเท่านั้น ภาชนะพลาสติกใสชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งหรือใช้ได้หลายครั้งก็มีที่ทำจากพอลิสไตรีนด้วย รูปที่ ๒ ที่เอามาให้ดูนั้นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ผมหาได้ในบ้าน ถ้วยเล็ก ๆ มุมซ้ายบนของรูปเป็นถ้วยพลาสติกที่ใช้สำหรับบรรจุอาหารที่เป็นของเหลว (เช่นขนม) ผลิตภัณฑ์อาหารบางชนิด หรือไม่ก็บรรจุเครื่องดื่ม (เช่นน้ำดื่ม น้ำส้ม ที่บรรจุลงกล่องของว่างแจกจ่ายกันในงานศพหรือบนเครื่องบิน) ส่วนกล่องสี่เหลี่ยมคือกล่องบรรจุช็อกโกแลต และโถฝาเขียวด้านขวาคือโถบรรจุสารพัดอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผลไม้กวน ผลไม้แช่อิ่ม กะปิ ฯลฯ 
   
แก้วพลาสติกที่เสริมน้ำและเครื่องดื่มบนเครื่องบินนั้น เท่าที่ผมเคยสัมผัสเขาก็ใช้แก้วที่ทำจากพอลิสไตรีน เพราะมันให้ความใสและการคงรูปที่ดี
   
ในส่วนตลาดสินค้าเหล่านี้ บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากชานอ้อยหรือวัสดุธรรมชาติยังไม่สามารถเข้าไปแทนที่ได้
  
รูปที่ ๒ ตัวอย่างบรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำจากพอลิสไตรีน

ถาดใส่ไข่นั้นทำจากกระดาษหรือชานอ้อยได้ แต่ไม่มีใครเขาทำกล่องใส่ช็อกโกแลต และทำไมบทความดังกล่าวถึงไม่กล่าวด้วยล่ะว่าถ้าซื้อช๊อกโกแลตบรรจุกล่องทำจากพอลิไสตรีน จะมีสไตรีนรั่วซึมแพร่เข้าไปในเนื้อช็อคโกแลต และทำไมไม่รณรงค์ให้สายการบินยุติการใช้แก้วพลาสติกที่ทำจากพอลิสไตรีนในการให้บริการแก่ผู้โดยสารบนเครื่องบินด้วย

ที่เขียนมาทั้งหมดนั้นเป็นข้อสังเกตบางประการที่ผมมีต่อบทความที่มีคนกด share ส่งต่อมาให้ผม บังเอิญมันเป็นเรื่องที่ผมพอมีความรู้อยู่บ้างก็เลยสามารถตั้งข้อสังเกตได้
  
การให้ข้อมูลที่ "ถูกต้องและเป็นจริง" เพื่อให้คนตื่นตัวหรือระมัดระวังนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่การให้ข้อมูล (ไม่ว่าจะจริงหรือเท็จ) เพื่อให้ผู้รับข้อมูลเกิดความคิดเพื่อให้สร้างประโยชน์แก่ผู้ให้ข้อมูลนั้นผมถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีจริยธรรม ข้อมูลที่ได้มานั้นควรมีการตรวจสอบก่อนว่าต้นตอมาจากที่ไหน เชื่อถือได้หรือไม่ ไม่ใช่เห็นเพียงผ่าน ๆ ก็กดส่งต่อเลย เวลาที่สอนวิชาสัมมนาผมมักบอกนิสิตเสมอว่า "สิ่งสำคัญของการเรียนวิธีการนำเสนอนั้นไม่ได้อยู่ตรงที่ว่าพูดอย่างไรให้คนอื่นเชื่อ แต่อยู่ตรงที่ฟังอย่างไรไม่ให้ถูกหลอก" ทำอย่างไรผู้ฟังจึงจะสามารถมองข้ามเทคนิคและลูกเล่นต่าง ๆ ที่ผู้นำเสนอนำมาหลอกล่อ โดยสามารถเล็งเห็นแต่เนื้อหาแก่นแท้ที่เป็นจริงเท่านั้น โดยไม่เกิดการหลงประเด็นและ/หรือเข้าใจผิด

ในบทความนี้ผมเริ่มใช้หัวข้อ "คิดสักนิดก่อนกด Share (เรื่องที่ ๑)" เพราะคิดว่าคงมีเรื่องทำนองนี้ออกมาให้เขียนอยู่เรื่อย ๆ ส่วนเรื่องต่อไปจะมีเมื่อไรนั้นก็ไม่รู้เหมือนกัน