วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เครื่องแบบนิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๔๓) MO Memoir : Thursday 16 May 2556

"พระราชกฤษฎีกา" คือ บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด เพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยคำแนะนำของ "คณะรัฐมนตรี" มีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมาย และพระราชกำหนด
  
การตราพระราชกฤษฎีกา รัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องจะอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนดนั้นๆ เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณา โดยร่างพระราชกฤษฎีกานั้น จะต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนดที่เกี่ยวข้อง

เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว จะต้องนำร่างพระราชกฤษฎีกา ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงตราพระราชกฤษฎีกานั้น ๆ นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
  
จากนั้นจึงนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้ต่อไป

ข้อความข้างบนนำมาจาก http://www.th.wikipedia.org

ช่วงนี้ใกล้เปิดภาคการศึกษาใหม่แล้ว เห็นผู้ที่กำลังจะเข้ามาเป็นนิสิตใหม่เลือกซื้อเครื่องแบบกันใหญ่ คำถามที่ต่างมีในใจคือเครื่องแบบอย่างไหนที่เรียกว่าถูกระเบียบ

ในตัวคนขายเองเขาหวังอย่างเดียวว่าขอให้มีคนจ่ายเงินซื้อของของเขา เพราะเขาไม่รับเปลี่ยนหรือคืน  ดังนั้นถ้าคนซื้อไปแล้วจะใช้ได้หรือไม่ได้เขาก็ไม่สน ถ้าคนซื้อไปถามเขาว่าชุดที่จะซื้อเป็นชุดที่ถูกระเบียบไหม เขาย่อมต้องตอบว่าถูกระเบียบ (โดยไม่จำเป็นต้องสนว่ามันถูกจริงหรือเปล่าหรือระเบียบว่าไว้อย่างไร) หรือไม่ก็ตอบเลี่ยง ๆ ว่ารุ่นพี่เขาก็ใส่กันอย่างนี้ (แต่ไม่ได้หมายความว่าชุดที่รุ่นพี่ใส่นั้นถูกระเบียบนะ)

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สะกดแบบปัจจุบันมีการันต์) น่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเดียวในประเทศไทยที่มีการกำหนดรูปแบบเครื่องแต่งกายนิสิตด้วยการออก "กฎหมาย" ในรูปของ "พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเครื่องแบบนิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย" (สะกดตามพระราชกฤษฎีกาไม่มีการันต์) เท่าที่ค้นเจอฉบับแรกออกในปีพ.ศ. ๒๔๙๘ และฉบับที่สองที่เข้ามาแทนที่ฉบับปีพ.ศ. ๒๔๙๘ ออกในปีพ.ศ. ๒๔๙๙ หรือในปีถัดมา ส่วนจะมีฉบับใหม่กว่านี้หรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะยังค้นไม่เจอ
 
สิ่งหนึ่งที่อยากให้สังเกตคือในพระราชกฤษฎีกานี้ไม่ได้กำหนดเฉพาะ "รูปแบบ" แต่ยังมีการกำหนด "มิติ" หรือขนาดของเครื่องแบบเมื่อเทียบกับสรีระของร่างกายด้วย เช่นแขนเสื้อของนิสิตหญิงจะอยู่สูงกว่าข้อศอก ๖ เซนติเมตร และมีสิ่งหนึ่งที่หายไปคือ "หมวก" นอกจากนี้ยังไม่มีการระบุด้วยว่าเป็นนิสิตระดับใด (ตรี โท หรือเอก) แต่เข้าใจว่าอาจเป็นเพราะสมัยนั้นมีการสอนแต่ปริญญาตรี ก็คงจะเป็นที่เข้าใจทั่วไปว่าเป็นข้อกำหนดเฉพาะนิสิตระดับปริญญาตรี

เอามาให้อ่านกันเล่น ๆ ก่อนเปิดเทอม เพราะเปิดเทอมทีไรเห็นมีรุ่นพี่ชอบไปเข้มงวดกับรุ่นน้องเรื่องระเบียบต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองนั้นก็ไม่เคยคิดที่จะปฏิบัติตามระเบียบเลย

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเครื่องแบบนิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๙๘ 
พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเครื่องแบบนิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๙๙ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น