หายหน้าหายตาไปกว่าอาทิตย์ด้วยสาเหตุที่ใครต่อใครหลายคนได้ทราบกันดีอยู่แล้ว
และต้องขอขอบคุณในน้ำใจที่อุตส่าห์เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจถึงโรงพยาบาล
วันนี้หลุดออกจากชั้น ๙
ของโรงพยาบาลที่แวดล้อมไปด้วยนางฟ้าชุดขาวมานอนพักผ่อนที่บ้านได้แล้ว
ก็ขอเล่าบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ครั้งนี้เอาไว้สักหน่อย
ผมเริ่มมีอาการปวดท้องตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้ว
ตอนเช้าวันศุกร์ตอนขับรถออกจากบ้านเพื่อจะไปร่วมงานรับปริญญาสมาชิกของกลุ่มที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรผมยังไม่มีอาการใด
ๆ ระหว่างทางก็เกิดการปวดท้องขึ้นมา
ตอนแรกคิดว่าเป็นเพราะยังไม่ได้กินข้าวเช้า
เพราะปรกติจะกินข้าวเช้าก่อนออกจากบ้าน
แต่ช่วงเวลานั้นทางบ้านมีเรื่องวุ่น
ๆ ผมก็เลยกะว่าจะมากินที่ทำงานแทน
ถึงที่ทำงานได้กินข้าวเช้าแล้วอาการก็ยังไม่หาย
แถมยังมีอาการอาเจียนอีก
ตอนสายก็เลยไปหาหมอที่หน่วยอนามัยของมหาวิทยาลัย
อาการตอนแรกนั้นมันปวดไปทั่วทั้งช่องท้อง
หมอก็เลยสงสัยว่าคงมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
ก็เลยให้ยามารับประทาน
อันที่จริงผมก็เคยมีอาการแบบเดียวกันเช่นนี้มาก่อน
ก็เลยไม่ได้ติดใจอะไร
กินยาเข้าไปแล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น
พอบ่ายสองก็เลยตัดสินใจขับรถกลับบ้านก่อนรถจะติด
ค่ำวันนั้นภรรยาเดินทางจากกลับต่างจังหวัด
มาเห็นอาการผมแล้วก็ทักผมแล้วว่าสงสัยจะเป็นไส้ติ่ง
ผมก็บอกไปว่าไปหาหมอมาแล้วแต่หมอบอกว่าเกี่ยวกับกระเพาะ
และตอนนั้นเวลากดที่สีข้างด้านขวามันก็ไม่ได้เจ็บแตกต่างไปจากการกดที่ตำแหน่งอื่นเท่าใดนัก
ก็เลยนอนพักอยู่ที่บ้านจนวันเสาร์
อาการตอนเช้าวันเสาร์นั้นอาการที่มันเคยปวดทั่วท้องมันหายไป
เหลือปวดอยู่เพียงบางบริเวณเท่านั้นก็เลยคิดว่าอาการมันคงจะดีขึ้น
และมีอาการปวดเป็นพัก ๆ
ตอนแรกภรรยาก็มาทักแล้วว่าให้พักอยู่บ้านหรือไม่ก็ไม่หาหมอให้ตรวจไส้ติ่ง
แต่ก็ยังดันทุรังยังอุตส่าห์ขับรถไปส่งลูกไปเรียนภาษาตอนเช้า
แล้วมานอนพักผ่อนรอสอนตอนนิสิตภาคนอกเวลาในช่วงบ่ายอีก
ปรากฏว่าสอนได้เพียงชั่วโมงเศษอาการปวดชายโครงล่างด้านขวามันกำเริบถี่ขึ้น
ก็เลยต้องเลิกสอนกลางคัน
ขับรถกลับบ้าน
และให้ทางบ้านส่งโรงพยาบาลในเย็นวันนั้น
ทางภรรยาผมก็จัดเตรียมกระเป๋าเพื่อมานอนค้างที่โรงพยาบาลด้วยเลย
(ด้วยความมั่นใจแน่นอนว่าผมต้องโดนขึ้นเขียงและไม่ได้กลับบ้านแน่)
พี่ชายขับรถมาส่งให้ที่โรงพยาบาล
ส่งตรงหน้าแผนกอุบัติเหตุ-ฉุกเฉินเลย
สิ่งแรกที่โดยตอนขั้นตอนปรกติก็คือวัดไข้และความดัน
แพทย์ประจำแผนกมาตรวจ
ซักถามอาการ แล้วก็ลองกดที่ตำแหน่งต่าง
ๆ ของท้องดู พร้อมถามว่าเจ็บไหม
กดตรงไหน ๆ ก็ไม่เจ็บ
แต่พอมาถึงชายโครงล่างด้านขวาเท่านั้นแหละ
หน้าเบี้ยวเลย
พอเห็นอาการเช่นนี้เข้าสิ่งที่คุณหมอทำก็คือ
"กดซ้ำที่เดิมอีกพร้อมทั้งถามอีกว่าเจ็บไหม"
ผมก็ตอบกลับไปว่าเจ็บมาก
คุณหมอก็เลยกดซ้ำที่เดิมอีกเป็นครั้งที่สามพร้อมทั้งถามคำถามซ้ำเดิมอีก
พอได้คำตอบเดิมก็หยุดกด
(สงสัยต้องการมติ
๓ ใน ๕)
จากนั้นก็หันไปสั่งเจาะเลือดและตรวจปัสสาวะ
พร้อมทั้งถามว่ากินน้ำกินอาหารครั้งสุดท้ายเมื่อใด
ได้ยินคำถามเช่นนี้ก็มั่นใจแล้วว่าโดนผ่าแน่
ส่วนเวลาที่จะโดนผ่านั้นคงจะไม่เร็วกว่าเวลาที่กินน้ำกินอาหารครั้งสุดท้ายบวกไปอีก
๖ ชั่วโมง
จากนั้นก็ให้เจ้าหน้าที่นำไปนอนรอในห้องพักชั้น
๙ พร้อมทั้งสั่งงดอาหารและน้ำ
เพื่อรอผ่าตัดในคืนนั้น
ระหว่างนั้นก็จะยังไม่มีการให้ยาแก้ปวดใด
ๆ
สามทุ่มครึ่ง
เจ้าหน้าที่ก็มารับตัวพาไปห้องผ่าตัดที่ชั้น
๓ ภรรยาก็ตามมาส่งได้แค่ถึงหน้าห้องผ่าตัดแล้วก็กลับไปรอบนห้องพัก
ตอนเข้าไปในห้องผ่าตัดนี้ต้องมีการเปลี่ยนรถเข็นจากรถที่พามาจากห้องพักเป็นรถพาเข้าห้องผ่าตัด
ผ่านเข้าไปในห้องรอคอยการผ่าตัดก็มีการสวมหมวกคลุมผมก่อน
จากนั้นก็มีวิสัญญีแพทย์หญิงมาแนะนำตัวและทักทายว่าจะทำอะไรบ้าง
พร้อมทั้งขอตรวจ "ฟัน"
ในปาก
ถามว่ามีการใส่ฟันปลอมหรือครอบฟันที่ไม่ติดแน่นบ้างไหม
ขอดูฟันเสร็จก็บอกว่าอาจมีปัญหาในการสอดท่อเล็กน้อย
(เข้าใจว่าเป็นท่อช่วยหายใจที่สอดเข้าทางปาก)
แต่หมอจะพยายามไม่ให้เจ็บและจะไม่ทำให้ฟันบิ่น
เรื่องตรวจฟันนี้พอจะเข้าใจว่าทำไปเพื่ออะไร
เพราะถ้าการเรียงตัวของฟันมีปัญหาก็จะทำให้สอดท่อได้ยาก
เรื่องนี้ผมโดนภรรยาขู่เอาไว้เยอะก่อนผ่าตัด
และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่ผมโดนผ่า
ระหว่างเส้นทางพอเปลี่ยนเจ้าหน้าที่รับตัวแต่ละครั้งก็จะมีการถามซ้ำคำถามเดิม
ๆ คงเป็นเพื่อการยืนยันว่ารับคนไข้ไม่ผิดตัว
พอห้องผ่าตัดพร้อมเจ้าหน้าที่ก็เข็นรถเข้าไปในห้องผ่าตัด
ก็ต้องมีการเคลื่อนย้ายอีก
จากรถเข็นเป็นเตียงผ่าตัด
เตียงผ่าตัดเป็นเตียงเล็ก
ๆ พอแค่นอนได้ วางแขนข้างตัวยังไม่ได้เลย
จากนั้นก็มีการเปลี่ยนชุดจากชุดคนไข้เป็นชุดผ่าตัด
มีการปูผ้าอะไรต่อมิอะไรก็ไม่รู้คลุมตัวเต็มไปหมด
จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เอาที่วางแขนมาเสียบเข้าข้างเตียงผ่าตัด
ให้นอนกางแขนแผ่ออกไปทั้งสองข้าง
แล้วก็มันแขนเอาไว้ไม่ให้หล่น
มันขามัดตัวเอาไว้ไม่ให้ตกจากเตียงด้วย
สักพักหนึ่งก็วิสัญญีแพทย์ก็เอาหน้ากากมาครอบที่จมูก
พร้อมทั้งบอกให้หายใจเข้าลึก
ๆ จำได้ว่าระหว่างที่หายใจดมยานั้นยังมองดูไฟในห้องผ่าตัดอยู่เลย
แล้วก็วูบไปแบบไม่รู้เรื่องรู้ราว
ตื่นมาอีกทีก็มาอยู่ในห้องพักฟื้นหลังการผ่าตัด
มองไปทางปลายเท้าก็เห็นมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งนั่งอยู่ที่โต๊ะอีกฟากหนึ่งของห้อง
ชำเลืองไปทางหัวเตียงข้างซ้ายก็มีเครื่องวัดอัตราเต้นหัวใจกับความดันโลหิตที่มีการวัดเป็นพัก
ๆ (รู้จากแรงบีบที่แขนข้างซ้าย)
มีท่อคาอยู่ในรูจมูกข้างซ้ายและมีถุงระบายอยู่ที่หน้าท้องข้างขวา
จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็มาทักทายถามว่าเป็นยังไงบ้าง
ตอนนั้นรู้อยู่อย่างเดียวว่าอาการปวดท้องนั้นหายไปแล้ว
ลุ้นแต่ว่าจะมีอาการปวดแผลกำเริบขึ้นแทนหรือเปล่า
นอนอยู่ในห้องนั้นนานเท่าใดไม่ทราบ
รู้แต่ว่าพอกลับไปถึงห้องพักอีกทีก็เที่ยงคืนแล้ว
มาทราบในตอนเช้าจากภรรยาว่าใช้เวลาผ่าตัวประมาณชั่วโมงเดียว
พอผ่าตัดเสร็จคุณหมอผ่าตัดก็ให้คนโทรเรียกให้ลงไปดูไส้ติ่ง
คุณหมอตัดใส่ขวดเล็ก ๆ
มาให้ดูพร้อมกับบอกว่าไส้ติ่งแตก
(ตอนที่ได้ยินเรื่องนี้ผมคิดว่าเหมือนอู่ซ่อมรถเลย
ที่ต้องเอาชิ้นส่วนเก่ามาให้ดูว่ามีการถอดเปลี่ยนจริง)
ผมได้ยินอย่างนี้เข้าก็รู้แล้วว่าได้อยู่โรงพยาบาลนานแน่
แต่ก็ถือว่าโชคดีที่ยังรอดมาได้
ระหว่างผ่าตัดคุณหมอถ่ายรูปเอาไว้ด้วย
เป็นรูปตอนดึงไส้ติ่งที่เป็นปัญหาออกมา
และเป็นรูปเจ้าตัวปัญหาที่ตัดออกมาแล้ว
ก็เลยเอามาลงบันทึกไว้ในที่นี้
รูปที่
๑ รูปนี้คุณหมอเอามาให้ดูหลังการผ่าตัด
ตรงที่วงกลมเหลือภรรยาผมบอกว่านั้นเป็นรูที่มันแตกทะลุ
รูปที่
๒ ไส้ติ่งเจ้าปัญหาที่ตัดออกมา
เนื่องจากมีปัญหาไส้ติ่งทะลุ
ทำให้ยังไม่สามารถเย็บแผลผ่าตัดได้
ต้องเปิดแผลเอาไว้ก่อนเพื่อระบายเอาของเหลวในช่องท้องออกก่อน
และยังมีการใส่ผ้าก๊อซซับของเหลวเอาไว้ในแผลด้วย
ระหว่างพักฟื้นนี้คุณหมอที่ทำการผ่าตัดก็มาทำความสะอาดและตรวจบาดแผลให้วันละครั้งตอนค่ำ
กว่าที่คุณหมอจะตัดสินใจเย็บแผลก็เย็นวันอังคาร
วันแรกที่ออกมานั้นยังต้องงดน้ำและอาหาร
ริมฝีปากแห้งมาก
เรื่องหิวนั้นไม่รู้สึกหิวเพราะวันมีน้ำเกลือ
(+
น้ำตาล)
ให้ตลอดทั้งวันทั้งคืน
แถมบางช่วงเวลายังมียาปฏิชีวนะเสริมร่วมอีก
ช่วงนี้ก็ได้ภรรยาช่วยเอาน้ำใส่หลอดกาแฟมาหยดให้ที่ริมฝีปากเพื่อไม่ให้มันแห้งเกินไป
ที่รำคาญมากก็คือท่อที่คาจมูกอยู่
ทำให้หายใจลำบากเล็กน้อย
และยังมีปัญหาเรื่องเสมหะในคออีก
บ้วนออกมาทีมีเลือดติดมาด้วย
(คงมาจากบาดแผลที่ได้รับตอนสอดท่อในระหว่างการผ่าตัด)
สิ่งแรกที่ดีใจที่คุณหมอเอาออกไปก่อนคือท่อที่สอดคาจมูกนี้
มาเอาออกไปตอนทำแผลในวันจันทร์
เอาออกไปทีรู้สึกมันโล่งขึ้นเยอะ
แถมยังอนุญาตให้ดื่มน้ำได้
แต่ต้องเป็นแบบค่อย ๆ จิบ
ไม่ใช่ซดเอาซะเต็มที่
อีกเรื่องที่เป็นปัญหาหลังผ่าตัดคือปัสสาวะไม่ออก
แม้ไม่ได้กินน้ำแต่น้ำที่เข้าไปกับน้ำเกลือก็ต้องถูกขับออกอยู่ดี
ภรรยาอธิบายให้ฟังว่ายาสลบมันไปทำให้กล้ามเนื้อทุกส่วนหยุดการทำงาน
พวกที่ฟื้นตัวช้าหน่อยจะเป็นพวกกล้ามเนื้อระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่าย
กระเพาะปัสสาวะก็เลยโดนผลกระทบไปด้วย
ผลก็คือจะทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะ
แต่จะปัสสาวะไม่ออกเพราะกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะยังไม่ฟื้นจากการวางยา
ในกรณีผมอาจจะโชคดีหน่อยที่ไม่ได้เป็นการผ่าตัดใหญ่
โดยวางยาสลบเป็นเวลาสั้น
ๆ ก็เลยไม่โดนใส่สายสวนปัสสาวะ
พอช่วงสายวันหลังวันผ่าตัดก็ปัสสาวะได้ตามปรกติ
ส่วนระบบขับถ่ายนั้นยังต้องรอไปอีก
๑-๒
วันกว่ามันจะเริ่มทำงาน
พอจะเย็บแผลก็ต้องกลับที่ห้องผ่าตัดอีก
คราวนี้เป็นคนละห้องกับห้องผ่าตัดไส้ติ่ง
มีการฉีดยาชารอบ ๆ แผลก่อนทำการเย็บ
ตอนที่เจ็บก็ตอนฉีดยาชาที่แหละ
(เจ็บเหมือนโดนฉีดยา)
ที่เขาต้องฉีดไปรอบ
ๆ แผล ระหว่างที่เย็บแผลคุณหมอก็ถามเป็นระยะว่าเจ็บไหม
ซึ่งมันก็ไม่รู้สึกอะไร
(คงเป็นเพราะฤทธิ์ยาชา)
แต่ท่อระบายของเหลวที่ช่องท้องยังคงเอาไว้อยู่
เย็นวันพุธคุณหมอมาดูใหม่
พอเห็นแผลที่เย็บไว้เมื่อวานก็บอกให้เผื่อใจไว้นิดนึง
ว่าเผลอ ๆ
อาจมีการต้องรื้อรอยเย็บทั้งหมดออกแล้วเริ่มต้นใหม่
(หมายถึงเปิดแผลเพื่อทำการระบายหนองใหม่)
ภรรยาผมที่ยืนดูคุณหมอทำแผลอยู่ด้วยก็หันมาพยักหน้าให้
(ทำนองว่าให้ทำใจไว้ด้วย)
เพราะแผลยังมีการซึมของน้ำเหลืองอยู่และยังดูแดงอยู่มาก
ผ้าก๊อซที่ใส่ไว้ซับน้ำเหลืองนั้นพอดึงออกมาก็เห็นชุ่มไปหมด
สิ่งที่คุณหมอทำก็คือตัดไหมออกเส้นหนึ่งและยัดผ้าก๊อซผืนใหม่เข้าไปแทนก่อนปิดแผล
แล้วบอกว่าพรุ่งนี้ค่อยมาลุ้นกันต่อ
ค่ำวันพฤหัสบดีคุณหมอมาตรวจใหม่
ปรากฏว่าผลออกมาดีเกินคาด
ทำให้คุณหมอประเมินว่าถ้ายังคงเป็นอย่างนี้ไม่วันเสาร์หรืออาทิตย์ก็คงจะออกจากโรงพยาบาลได้
พอเย็นวันศุกร์คุณหมอมาตรวจอีกทีก็บอกว่าวันรุ่งขึ้นก็ออกจากโรงพยาบาลไปนอนพักที่บ้านได้
แต่ยังต้องมาทำแผล ล้างแผล
เปลี่ยนผ้าก๊อช อยู่วันละครั้ง
ผมเขียน
Memoir
ฉบับนี้เอาไว้ตั้งแต่เช้าแล้วค้างเอาไว้
เพิ่งจะมาต่อให้จบเมื่อกลับจากทำแผลที่โรงพยาบาล
ที่เขียนเรื่องนี้ก็เพื่อเป็นการบันทึกประสบการณ์ของตนเอง
และเป็นการเล่าประสบการณ์การโดนผ่าตัดครั้งแรกในชีวิตจากมุมมองของผู้ที่เป็นผู้ป่วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น