วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

ตะขบกับชะมวง และต้นไม้ไม่กินพวกเดียวกันเอง MO Memoir : Sunday 15 September 2556

"ต้นไม้ไม่กินพวกเดียวกันเอง"

คำกล่าวนี้ผมได้ยินมาหลายปีแล้วจากชาวสวนผู้หนึ่ง ดูเหมือนจะเป็นทางรายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับการทำสวนผสม ความหมายของเขาก็คือการปลูกต้นไม้นั้นควรปลูกหลากหลายพันธ์ ใบของต้นไม้ชนิดหนึ่งสามารถใช้เป็นปุ๋ยของต้นไม้อีกชนิดหนึ่งได้ แต่ไม่ควรเป็นต้นไม้ชนิดเดียวกันเอง
  
จะว่าไปพื้นที่สวนทางฝั่งธนบุรีและนนทบุรีที่อยู่ทางด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีลักษณะเช่นนี้ สวนแถวนี้มีลักษณะเป็นสวนรูปแบบดั้งเดิม คือเป็นสวนที่ปลูกต้นไม้หลายหลาย มีผลไม้และของกินออกมาวางขายกันทั้งปี ไม่ได้ปลูกผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งเหมือนพื้นที่สวนในจังหวัดอื่นที่มีการปลูกขึ้นภายหลัง ชาวสวนเองก็เรียนรู้ต่อ ๆ กันมาว่าถ้าปลูกต้นไม้ชนิดนี้ก็ต้องมีอีกชนิดควบคู่กันไปด้วย เช่นถ้าปลูกทุเรียนก็ต้องมีทองหลางเอาไว้บังร่มให้ทุเรียน เพราะทองหลางเป็นต้นไม้ใหญ่ สวนของคนอื่นที่อยู่หลังบ้านผมก็มีอยู่ต้นหนึ่ง กะว่าน่าจะสูงร่วมยี่สิบเมตรได้
 
ต้นไม้ทั้งในบ้านผมเองและพื้นที่เพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันนั้นต่างก็ปลูกต้นไม้กันหลากหลาย มีทั้งไม้ดอกซึ่งนอกจากจะให้ความสวยงามแล้วยังเป็นแหล่งอาหารให้กับแมลงและนกบางชนิด พอมีแมลงก็จะมีนกกินแมลงมาอาศัย และก็ยังมีไม้ผลเล็ก ๆ ที่เป็นอาหารนกด้วย หนึ่งในน้ำก็คือ "ตะขบ"

รูปที่ ๑ (ซ้าย) ต้นตะขบที่โผล่มาขึ้นหลังบ้านหลังน้ำท่วมปี ๒๕๕๔ (ขวา) รูปบนคือลูกตะขบที่ยังดิบอยู่ ส่วนรูปล่างเป็นลูกที่สุกแล้ว สีแดงสดสวย
  
ต้นตะขบที่บ้านนั้นมันโผล่มาหลังน้ำท่วม จัดว่าเป็นไม้เนื้ออ่อนที่โตเร็ว เพียงแค่ไม่ถึงสองปีมันโตจนชนหลังคาบ้านหลายครั้งแล้วจนต้องตัดยอดออก (กลัวงูเลี้อยเข้าบ้านทางหน้าต่างชั้นสอง) ก่อนตัดกิ่งก็ต้องมาเล็งดูก่อนว่ามีนกมาทำรังอยู่หรือเปล่า ต้นตะขบนี้ออกดอกเล็ก ๆ สีขาว แล้วก็กลายเป็นลูกสีเขียว พอสุกก็จะเป็นสีแดง (รูปที่ ๑) ลูกสีแดงนี้เก็บกินเป็นผลไม้ได้ ตอนที่ลูกสาวคนเล็กยังเป็นเด็กเล็กอยู่นั้นก็ชอบให้อุ้มไปเก็บลูกตะขบกิน ต้นตะขบที่พาลูกไปเก็บกินลูกนั้นก็เป็นต้นที่ขึ้นอยู่ด้านหลังหอสมุดของมหาวิทยาลัยบูรพาตรงแถว ๆ ลานจอดรถ แต่ตอนนี้ก็ไม่เหลือแล้ว เพราะทางมหาวิทยาลัยเอาพื้นที่ดังกล่าวไปสร้างเป็นอาคารเรียน
  
ได้ยินผู้ใหญ่พูดกันมานานแล้วว่าถ้าอยากให้รอบ ๆ บ้านมีนกอาศัยอยู่ก็ให้ปลูกตะขบ เพราะผลของมันเป็นอาหารของนกที่กินผลไม้ และก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะที่ผ่านมาถึงเวลาเช้าเมื่อใดเป็นอันต้องได้ยินเสียงนกร้องเป็นประจำ ไม่จำเป็นต้องหานกสวยงามมาขังไว้ในกรง

รูปที่ ๒ (ซ้าย) ต้นชะมวงข้างบ้าน (ขวา) ใบของมันที่นำมาต้มกิน

ข้างบ้านเก่ายังมีไม้ยืนต้นอีกต้นหนึ่งที่ใบของมันนำมาใช้เป็นอาหารได้ คือ "ชะมวง" ไม้ชนิดนี้คนทางภาคตะวันออกแถวจันทบุรีและตราด และคนทางใต้จะรู้จักกันดี เขาจะนำใบชะมวง (ใบอ่อนที่ไม่แก่เกินไป) มาต้มทำแกง ส่วนใหญ่ที่เห็นทำกันก็ต้มกับขาหมูบ้าง ซี่โครงหมูบ้าง สามชั้นบ้าง แต่ยังไม่เคยเห็นเอาไปต้มกับสัตว์ชนิดอื่นนอกจากหมู และยังไม่เคยเห็นเอาไปผัดหรือทำอย่างอื่นนอกจากต้ม ใบชะมวงเมื่อต้มแล้วจะให้น้ำแกงที่ออกรสเปรี้ยว (ส่วนจะเป็นแกงจืดหรือเผ็ดก็แล้วแต่คนทำ) รสเปรี้ยวของใบชะมวงจะแตกต่างไปจากรสเปรี้ยวของมะนาวและใบมะขาม ผมชอบแบบที่เป็นแกงจืดมากกว่าเพราะซดน้ำแกงกินอร่อยดี
  
ถ้าไม่นับแปลงผักและพืชกระถางแล้ว พวกที่ปลูกลงดินตอนนี้ก็ดูเหมือนจะอยู่กันเองได้ เวลาตัดแต่งกิ่งไม้แต่ละทีผมก็เอากรรไกรตัดกิ่งไม้ซอยกิ่งให้มันเป็นท่อนเล็ก ๆ เอาเศษกิ่งเศษใบเล็ก ๆ ของต้นไม้ชนิดหนึ่งไปโยนใส่โคนต้นของต้นไม้อีกชนิดหนึ่ง เพื่อทดสอบคำกล่าวข้างต้น ก็พบว่าต้นไม้มันก็อยู่ของมันได้ งอกงามได้ดีโดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มเติม แสดงว่ามันเป็นดังคำกล่าวที่คนทำสวนเขาบอกต่อ ๆ กันมาจริง ๆ
  
เรื่องต้นไม้ไม่กินพวกเดียวกันเองนี้เคยได้ยินรายการทางสถานีวิทยุเสียงจากอเมริกา (Voice of America หรือ VOA) ที่เปิดฟังเป็นประจำตอนเช้า ๆ เวลาขับรถไปทำงาน มีอยู่วันหนึ่งเขาอ่านรายงานของนักวิจัยชาวสหรัฐว่าพบว่าต้นไม้ที่ขึ้นในป่าที่มีพืชหลากหลายสายพันธุ์นั้นจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าป่าที่มีสายพันธุ์น้อยกว่า พอได้ยินคำกล่าวนี้ก็นึกถึงคำกล่าวที่บอกเล่าต่อ ๆ กันมาของชาวสวนบ้านเรา แสดงว่าชาวบ้านในบ้ายเรานั้นเขารู้เขาเห็นกันมานานมากแล้ว ก่อนที่นักวิจัยผรั่งจะรู้อีก
  
สวนรอบบ้านผมนั้นถ้าเอาคนจัดสวนตามบ้านจัดสรรมาดูก็คงจะบอกว่าหาความสวยงานอะไรไม่ได้ เพราะปลูกต้นไม้ไม่เป็นระเบียบ ไม่มีไม้มงคลประเภทนั้นประเภทนี้ปลูกเอาไว้ตามมุมโน้นมุมนี้ของบ้าน ที่เลือกปลูกก็เน้นการใช้ประโยชน์เป็นหลัก เน้นพืชสวนครัวและพืชที่คนอื่นเขาไม่ปลูกกันมากกว่า เพื่อให้ลูก ๆ ได้เห็น แต่ก็ยังต้องมีมุมไม้ดอกอยู่บ้างเพื่อความสวยงา,และเรียกแมลงให้เข้ามาในบ้าน จะได้ช่วยผสมเกสรดอกไม้ต่าง ๆ และเรียกนกกินแมลงให้แวะเข้ามา

รูปที่ ๓ (ซ้าย) ดอกเทียนหยด (ขวา) ดอกกุหลาบ ทั้งคู่ปลูกเอาไว้ข้างชิงช้าหน้าบ้าน

ปิดท้ายก็ขอเอารูปดอกเทียนหยดและดอกกุหลาบที่กำลังออกดอกอยู่มาฝาก ทั้งคู่ปลูกเอาไว้ใกล้กับชิงช้าโยกที่ตั้งไว้หน้าบ้าน (มุมโปรดสำหรับนั่งกินกาแฟตอนเช้า ๆ ของผม) เทียนหยดมันออกดอกทั้งปี เรียกแมลงเข้ามาหาน้ำหวานกินเป็นประจำ บางทีก็มีผึ้งแวะเข้ามาด้วย

ท้ายสุดก็ขอขอบคุณสมาชิกกลุ่มโดยเฉพาะสาวน้อยจากเมืองวัดป่ามะม่วงและสาวน้อยจากเมืองขุนแผนที่เข้ามาช่วยงาน open house ของกลุ่มเราในวันเสาร์ที่ผ่านมา ที่ตั้งใจจะรับ ๒ คนจากทั้งหมด ๔ คนก็ได้ตามนั้น (อีก ๒ คนตั้งใจจะรับในรอบถัดไป) ตอนนี้ก็ได้แต่รอดูว่าเมื่อถึงเวลาจริงจะมากันกี่คน เพราะคงต้องรออีกปีหนึ่งเนื่องจากมหาวิทยาลัยเลื่อนเปิดการศึกษาในปีการศึกษาหน้าออกไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น