วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2556

รถไฟหัตถกรรม (เหมืองแร่) สถานีควนหินมุ้ย อำเภาหลังสวน จังหวัดชุมพร (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๕๑) MO Memoir : Tuesday 24 December 2556

ในยุคที่การขนส่งทางรถยนต์ในประเทศยังมีข้อจำกัด ไม่ว่าด้านถนนหรือรถยนต์ การขนส่งทางรถไฟดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับการเดินทางทางบก โดยเฉพาะในสมัยที่ยังมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ รถจักรไอน้ำก็สามารถใช้ไม้ฟืนจากแหล่งต่าง ๆ มาเป็นเชื้อเพลิงได้โดยไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันเหมือนรถยนต์ เรียกว่าที่ไหนมีป่าไม้ รถไฟก็วิ่งได้ ในยุคสมัยนั้นข้อดีอีกอย่างของทางรถไฟคือสามารถเดินทางได้ทุกฤดูกาล
  
การใช้รถไฟหรือรถรางในการลำเลียงไม้หรือแร่ธาตุจากเหมือง มายังจุดรวบรวมหลักซึ่งอาจเป็นเส้นทางรถไฟหลักหรือท่าเรือก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้กันในอดีต นั่นจึงเป็นที่มาของรถไฟหัตถกรรมในบ้านเรา ซึ่งในปัจจุบันดูเหมือนว่าจะไม่เหลือรถไฟประเภทนี้ให้เห็นแล้ว (เว้นแต่ที่ตั้งเอาไว้เป็นอนุสาวรีย์) เพราะเมื่อป่าไม้และการทำเหมืองสิ้นสุด ความจำเป็นในการใช้รถไฟเพื่อกิจการดังกล่าวก็ยุติไปด้วย ทำให้เส้นทางรถไฟหัตถรรมที่มีอยู่นั้นถูกรื้อถอนออกไป แม้ว่าในบางพื้นที่พอป่าไม้เปลี่ยนไปเป็นไร่อ้อย รถไฟที่เคยใช้ขนไม้ก็เปลี่ยนมาเป็นขนอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลแทน แต่พอถนนและรถบรรทุกเริ่มแพร่หลายมากขึ้น รถไฟเหล่านั้นก็สูญหายไป
  
ในอดีตทางการได้มีการอนุญาตให้เอกชนสร้างและเดินรถไฟหัตถกรรมไว้หลายเส้นทาง ซึ่งสามารถสืบค้นได้จากราชกิจจานุเบกษา ที่น่าเสียดายประกาศในราชกิจจานุเบกษารุ่นเก่านั้นมักจะไม่มีแผนที่แนบ โดยเฉพาะประกาศที่ออกก่อนช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ยากที่จะระบุตำแหน่งที่แน่นอนของเส้นทางเหล่านั้น
  
ราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๔๕ หน้า ๑๑๑๓-๑๑๑๔ วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ "แจ้งความกรมรถไฟหลวง เรื่องสร้างและเดิรรถไฟหัตถกรรม" ลงประกาศบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้สร้างและเดิรรถไฟหัตถกรรม ๒ บริษัทด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือบริษัทเพ็นนินซูลาทินโนไลเอบิลลิตี้ โดยบอกว่าเริ่มจากสถานีควนหินมุ้ย ไปถึงเหมืองแร่ในหูด ตำบลนาขา อำเภอขันเงิน (รูปที่ ๑)
  
สถานีควนหินมุ้ยเป็นสถานีรถไฟสายใต้ ปัจจุบันตั้งอยู่ใน ตำบลนาขา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร อยู่ระหว่างอำเภอสวี กับอำเภอหลังสวน (รูปที่ ๒) ในราชกิจจานุเบกษาบอกว่าอยู่ในอำเภอขันเงิน ซึ่งในปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอหลังสวน 
   
ในหนังสือ "The Railway Atlas of Thailand, Laos and Cambodia" โดย B.R. Whyte หน้า ๑๑๖-๑๑๗ กล่าวถึงเส้นทางรถไฟของบริษัท Peninsular Tin N.L. Co. เอาไว้ว่า ทางรถไฟเส้นนี้เริ่มจากสถานีควรหินมุ้ยไปทางทิศตะวันตกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย (WNW) เป็นระยะทางประมาณ ๘๐๐ เมตร จากนั้นจึงเปลี่ยนทิศเป็นตะวันตกเฉียงเหนือ (NW) เป็นระยะทาง ๓๒๗๐ เมตร ก่อนจะเปลี่ยนทิศไปทางตะวันตกค่อนไปทางเหนือ (WNW) อีกครั้งเป็นระยะทาง ๑๐๘๐ เมตร ไปสิ้นสุดที่เหมืองแร่ที่ปัจจุบันคือบ้านในเหมือง จากนั้นเส้นทางก็มีการขยายไปทางตะวันตกและมีเส้นทางแยกขึ้นไปทางด้านทิศเหนือ ทำให้เส้นทางมีรูปร่างเหมือน "pitchfork - คราด" บริษัทล้มเลิกกิจการไปในวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๑ (ค.ศ. ๑๙๕๘)
  
ในแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๘๓ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๘๐ ตอนที่ ๙๐ วันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๖ หน้า ๕๕๐-๕๕๑ ที่ประกาศให้ป่าพรุใหญ่ จังหวัดชุมพร เป็นป่าสงวนแห่งชาตินั้น มีปรากฏทางรถไฟเล็กไปเหมืองแร่จากบริเวณสถานีควนหินมุ้ย ทำให้สงสัยว่าแม้ว่าบริษัททำเหมืองจะเลิกกิจการไปตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๐๑ แต่เส้นทางดังกล่าวก็ยังคงอยู่มาจนถึงปีพ.ศ. ๒๕๐๖


รูปที่ ๑ จากราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๔๕ หน้า ๑๑๑๓-๑๑๑๔ วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ "แจ้งความกรมรถไฟหลวง เรื่องสร้างและเดิรรถไฟหัตถกรรม" (คำว่า "เดิร" ในที่นี้สะกดตามราชกิจจานุเบกษาที่ใช้ "ร" ไม่ได้ใช้ "น"


รูปที่ ๒ แผนที่เส้นทางรถไฟของบริษัทเพ็นนินซูลาทินโนไลเอบิลลิตี้ จากหนังสือ "The Railway Atlas of Thailand, Laos and Cambodia" โดย B.R. Whyte ในส่วนของแผนที่ท้ายเล่ม แสดงแนวเส้นทางที่ไปยังบ้านในเหมือง (แยกไปทางด้านซ้ายล่าง) และทางแยกที่แยกขึ้นไปทางทิศเหนือ (แยกไปทางด้านซ้ายบน)


รูปที่ ๓ แผนที่ท้ายกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๘๓ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๘๐ ตอนที่ ๙๐ วันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๖ หน้า ๕๕๐-๕๕๑ ปรากฏเส้นทางรถไฟไปเหมืองแร่อยู่ในวงแดง
  
เมื่อเทียบเส้นทางที่ B.R. Whyte กล่าวไว้ในหนังสือ "The Railway Atlas of Thailand, Laos and Cambodia" ของเขากับแผนที่ปัจจุบัน (รูปที่ ๔) ทำให้ระบุได้ว่าแนวทางรถไฟเดิมควรจะเป็นถนนที่ขนานไปกับเส้นสีแดงที่แสดงในภาพ คือเริ่มจากจุดที่ (1) สถานีรถไฟควนหินมุ้ยไปทางทิศตะวันตกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย (WNW) เป็นระยะทางประมาณ ๘๐๐ เมตร จนมาถึงจุดที่ (2) จากนั้นจึงเปลี่ยนทิศเป็นตะวันตกเฉียงเหนือ (NW) มาตัดถนนสาย ๔๑ ในปัจจุบันที่จุดที่ (3) ไปเป็นระยะทาง ๓๒๗๐ เมตรจนถึงจุดที่ (4) ก่อนจะเปลี่ยนทิศไปทางตะวันตกค่อนไปทางเหนือ (WNW) อีกครั้งเป็นระยะทาง ๑๐๘๐ เมตร ไปสิ้นสุดที่เหมืองแร่ที่ปัจจุบันคือบ้านในเหมืองหรือจุดที่ (5)
  
ส่วนเส้นทางแยกที่มุ่งขึ้นเหนือ (ลูกศรสีเหลือง 6) นั้นไม่ชัดเจนว่าเริ่มต้นจากไหนและไปสิ้นสุดที่ไหน


รูปที่ ๔ แนวทางรถไฟเดิมจากสถานีรถไฟควนหินมุ้ย เทียบกับแผนที่ปัจจุบัน

ในแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอเมืองชุมพร อำเภอสวี อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร และอำเภอไชยา อำเภอท่าฉาง อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. ๒๕๐๒ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๘๖ ตอนที่ ๘๗ วันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๒ หน้า ๓๘๕-๓๘๘ ที่เป็นการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางหลวงที่ปัจจุบันคือสาย ๔๑ นั้น ปรากฏเส้นทางรถไฟตัดแนวเวนคืนดังกล่าว (รูปที่ ๕) โดยระบุว่าสถานีควนหินมุ้ยนั้นอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนถนนที่ระบุว่าเป็นทางยุทธศาสตร์เชื่อมระหว่างอำเภอหลังสวนกับจังหวัดชุมพรนั้น น่าจะเป็นถนนสาย ชพ ๗๐๒๘ ในปัจจุบัน (ดูรูปที่ ๔ ถนนเส้นที่เหลืองที่อยู่ใต้เส้นประสีแดง)

เส้นทางรถไฟของบริษัทเหมืองแร่สายนี้มีไปปรากฏในอีกที่หนึ่งคือแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงฉบับที่ ๒๔๘ (พ.ศ. ๒๕๑๐) เรื่องประกาศให้ป่าตังอาและป่าคลองโชน ในท้องที่ตำบลตะโก อำเภอสวี จังหวัดชุมพร เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๘๔ ตอนที่ ๑๑๙ วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๐ หน้า ๑๐๐๔-๑๐๐๕ (รูปที่ ๖) แนวเส้นทางที่ปรากฏนั้นวางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ ขนานกับทางรถไฟสายใต้ โดยอยู่ทางด้านตะวันตกของทางรถไฟสายใต้ เส้นทางนี้น่าจะเป็นส่วนของเส้นทางที่แยกจากบ้านในเหมืองขึ้นมาทางทิศเหนือตามที่ B.R. Whyte กล่าวไว้ในหนังสือของเขา


รูปที่ ๕ แผนที่แนบท้ายราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๘๖ ตอนที่ ๘๗ วันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๒ ปรากฏเส้นทางรถไฟทำเหมืองแร่ตัดแนวเขตที่จะทำการเวนคืน

รูปที่ ๖ แผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงฉบับที่ ๒๔๘ (พ.ศ. ๒๕๑๐) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๘๔ ตอนที่ ๑๑๙ วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๐ หน้า ๑๐๐๔-๑๐๐๕ ปรากฏแนวทางรถไฟของบริษัทเหมืองแร่เดิมในแนวเหนือ-ใต้อยู่ทางทิศตะวันตกของทางรถไฟสายใต้โดยห่างออกมาประมาณกิโลเมตรเศษ

เมื่อเทียบตำแหน่งของส่วนแยกขึ้นมาทางทิศเหนือ (รูปที่ ๖) กับแผนที่ปัจจุบัน (รูปที่ ๗) เส้นทางดังกล่าวน่าจะอยู่ตรงบริเวณจุดที่ 3 ในรูปที่ ๗ ตำแหน่งที่เป็นโรงเรียนเกษตรกรรมชุมพรในรูปที่ ๖ นั้นคือตำแหน่งของวิทยาลัยการเกษตรและเทคโนโลยีการเกษตรในรูปที่ ๗ แผนที่ดังกล่าวยังปรากฏแนวท่อน้ำเหมืองแร่ (อยู่หน้าคำว่า "อำเภอหลังสวน") ด้วย


รูปที่ ๗ จุดที่ 1 คือสถานีรถไฟควนหินมุ้ย จุดที่ 2 คือบ้านในเหมือง ส่วนจุดที่ 3 คาดว่าเป็นบริเวณตำแหน่งแนวเส้นทางรถไฟที่ไปปรากฏในแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงฉบับที่ ๒๔๘ (.. ๒๕๑๐) ที่แสดงในรูปที่ ๖

เส้นทางรถไฟหัตถรรมนั้นไม่ว่าจะเป็นรถไฟสำหรับการทำเหมืองแร่หรือป่าไม้ มักจะเป็นการบุกเบิกเข้าไปในบริเวณที่ยังไม่มีผู้คนเข้าไปอยู่อาศัยหรือมีคนอยู่น้อย สิ่งที่ตามมาก็คือการเกิดชุมชนขึ้นจากการมีรถไฟดังกล่าว เพราะนอกจากอุตสาหกรรมเหล่านั้นต้องการแรงงานคนในการทำเหมืองแร่หรือป่าไม้แล้ว ตัวอุตสาหกรรมเองยังบุกเบิกพื้นที่ที่เดิมเป็นป่านั้นให้คนเข้าไปจับจองเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่ทางการเกษตร โดยผู้อยู่อาศัยก็ได้อาศัยรถไฟเหล่านี้ในการเดินทางเชื่อมต่อกับตัวเมืองที่อยู่ภายนอก และเมื่อเวลาเปลี่ยนไป เมื่อเส้นทางรถไฟถูกรื้อถอนไป แนวเส้นทางรถไฟเดิมนั้นก็มักกลายเป็นถนนให้ผู้คนทั่วไปสัญจรแทน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น