วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

ไม่รู้จะสอนยังไงแล้ว (๕) MO Memoir 2557 Jan 27 Mon

ที่ผมแปลกใจก็คือคนที่เป็นผู้สอบผู้ที่มาหัดใช้เครื่องมือ คอยตรวจดูว่าคนที่มาหัดใช้นั้นทำผิดขั้นตอนใดบ้าง ผู้มาหัดใช้ทำผิดเมื่อไรก็ให้สอบตกทันที กลับกลายเป็นว่าคนที่เป็นผู้สอบนั้นเป็นคนที่ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการใช้ที่ถูกต้องซะเอง แถมยังทำให้เห็นกันจะจะในระหว่างการสอบซะด้วย
 
ในเช้าวันศุกร์ที่ ๒๔ มกราคม ที่ผ่านมา ผมบังเอิญแวะไปดูสาวน้อยจากเมืองวัดป่ามะม่วงเข้าไปสอบการใช้เครื่องวัด NH3-TPD โดยรุ่นพี่ป.โท ที่เป็นคนสอบนั้นก็ใช้เครื่องวัด Single point BET อยู่ข้าง ๆ ที่ผมแปลกใจก็คือเห็นปุ่มหมุนของเครื่อง Single point BET นั้นถอดวางอยู่หน้าเครื่อง ก็เลยถามคนที่ใช้อยู่นั้นว่าทำไมไม่ใส่กลับเข้าไปให้เรียบร้อย เขาก็บอกผมว่าเกลียวมันหวาน แต่พอลองเอาประแจหมุนให้เขาดูก็ไม่เห็นว่ามีปัญหาเกลียวหวาน เขาก็บอกว่าจำผิดว่าเป็นของอีกเครื่องหนึ่ง (คือเครื่องวัด NH3-TPD) ผมก็เลยบอกเขาไปว่าให้ใส่กลับคืนไปให้เรียบร้อย แต่เขากลับตอบมาว่าขอทำการวิเคราะห์ให้เสร็จเรียบร้อยก่อนแล้วจะใส่กลับคือ

ที่ทำให้ผมเสียความรู้สึกมากก็คือปรกติถ้าเราจะใช้เครื่องมือใดก็ตาม เราควรจะตรวจสอบความเรียบร้อยของเครื่องมือและระบบก่อน ถ้าพบว่าเครื่องมันมีปัญหา มันไม่เรียบร้อย ก็ควรที่จะทำให้มันเรียบร้อยก่อนการใช้งาน ไม่ใช่ฝืนใช้ทั้ง ๆ ที่มันไม่เรียบร้อย ส่วนใครเป็นคนทำให้มันมีปัญหานั้นค่อยว่ากันอีกที งานนี้ผมเดาว่าถ้าวันนั้นผมไม่เข้าไปพบ มันก็คงจะอยู่ในสภาพเดิมโดยไม่มีการแก้ไข

ตกเย็นก่อนกลับบ้านก็แวะไปดูอีกที คราวนี้ปรากฏว่ามีนิสิตป.เอก คนหนึ่งมาอยู่ร่วมกับนิสิตป.โท คนที่ใช้เครื่อง Singel point BET ผมก็ถามนิสิตป.โท ว่าทำไมยังไม่ใส่ปุ่มกลับเข้าคืนเดิม เขาก็ตอบกลับมาว่าจะขอทำการวิเคราะห์ให้เสร็จก่อน แล้วพี่ป.เอก จะจัดการให้ ผมก็บอกนิสิตป.เอก ผู้นั้นไปว่าคุณมาทำให้เขาทำไม งานนี้ปล่อยให้เขาทำเอง แล้วผมก็กลับ ในใจผมคิดว่างานง่าย ๆ แค่นี้ยังทำเองไม่ได้ ต้องให้คนอื่นทำให้ แล้วจบออกไปจะทำอะไรเป็น
 


รูปที่ ๑ ปุ่มเจ้าปัญหาของเครื่องวัด Single point BET รูปบนถ่ายเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ส่วนรูปล่างถ่ายเมื่อเช้านี้
 
สุดท้ายผมก็ไม่รู้หรอกว่าจะมีการใส่ปุ่มกลับคืนเข้าไปหรือไม่ รู้แต่ว่าเช้าวันนี้เรื่องยังไม่จบ

เช้าวันนี้แวะมาดูเครื่องดังกล่าว เห็นมีคนสวมปุ่มคืนตำแหน่ง แต่พอลองดึงดูเบา ๆ ปรากฏว่าปุ่มหลุดติดมือออกมาได้ง่าย ๆ เลย แสดงว่าปุ่มนั้นมันสวมอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ขันยึดให้ติดแน่นตรงตำแหน่ง ก็เลยเอาปุ่มมาวางถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกสักหน่อย (รูปที่ ๑ ขวา) จากนั้นก็ลองทดสอบดูก่อนว่านอตที่ใช้ยึดปุ่มนั้นมันเสียอย่างที่เขาอ้างกับผมเมื่อวันศุกร์หรือเปล่า ก็ปรากฏว่าถ้าวางตำแหน่งนอตให้ถูกต้องกับร่องที่บากเอาไว้บนแกนหมุน แล้วขันให้แน่น ก็สามารถยึดปุ่มได้แน่น แสดงว่าปัญหามันไปอยู่ตรงที่คนที่สวมปุ่มกลับเข้าไปนั้น (ซึ่งเป็นใครก็ไม่แน่ชัด) ทำเพียงแค่สวมกลับเข้าไปเฉย ๆ หรืออาจจะขันนอต แต่ไม่ได้สนใจว่าตำแหน่งนอตของปุ่มหมุนนั้นอยู่ตรงตำแหน่งหรือไม่

เรื่องทำนองนี้มียังมีอยู่อีกหลายเรื่อง แต่กับเครื่องของกลุ่มอื่นที่กลุ่มเราไม่ได้เข้าไปใช้ ผมก็เลยไม่อยากเข้าไปยุ่ง เพราะเคยโดนสวนกลับมาว่าที่ผ่านมารุ่นพี่เขาก็ทำกันอย่างนี้ และเขาก็ยืนกรานจะทำอย่างนี้ (เช่นกรณีของเครื่อง Single point BET ก่อนที่เราจะเข้าไปใช้) สำหรับสมาชิกของกลุ่มเราก็ขอย้ำอีกทีว่าเรื่องปุ่มหมุนของเครื่อง TPx นี้เพิ่งจะกล่าวเอาไว้เมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง ใน Memoir ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๗๑๓ วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๖ เรื่อง "เพียงแค่วางนอตให้ตรงตำแหน่งก็เท่านั้น (การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๕๙)"

ส่วนพวกคุณเองก็ตามก่อนที่จะวิเคราะห์ตัวอย่างใดโดยใช้วิธีการของคนก่อนหน้า (สมาชิกเก่าของกลุ่มเรา) ก็สอบถามผมก่อนได้ว่าทำไมจึงต้องทำเช่นนั้น ขั้นตอนการเตรียมตัวอย่างแต่ละขั้นตอนที่กลุ่มเราใช้นั้นมันมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ของมันอยู่ว่าทำไมเราจึงเลือกทำอย่างนั้น (ซึ่งมักจะไม่ค่อยเหมือนกับของกลุ่มอื่นที่ใช้เหตุผลแต่เพียงว่าทำตามรุ่นพี่) ซึ่งเราได้เคยทำการทดสอบเอาไว้แล้ว เพียงแต่มันอาจเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ใน Memoir ของกลุ่ม หรือเป็นเพียงแค่ประสบการณ์จำอยู่ในหัวสมองผมแค่นั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น