วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2557

หน่วยวัดความสวย และเรื่องของปากกับใจที่ไม่ตรงกัน MO Memoir 2557 Mar 10 Mon

Memoir ฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงเรื่องของหน่วยวัด (measuring unit) และได้เกริ่นถึงหน่วยวัดทางวิศวกรรมหรือ Engineering unit ที่ผมกล่าวไว้ว่าเป็นหน่วยที่ทำให้ผู้ใช้งานมองเห็นภาพได้ชัด แต่สำหรับพวกวิศวกรอย่างเราแล้ว เราไม่ได้มีหน่วยวัดเฉพาะสิ่งที่เป็น "รูปธรรม" เท่านั้น แต่เรายังมีหน่วยวัดสำหรับสิ่งที่เป็น "นามธรรม" ด้วย

และสิ่งที่เป็น "นามธรรม" สิ่งหนึ่งที่วิศวกรรุ่นพี่ของพวกเราได้จัดตั้งหน่วยวัดขึ้นมาก็คือ "ความสวย"


หมายเหตุ : ภาพประกอบนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับบทความนี้ กรุณาอย่าพยายามเชื่อมโยง :)

การวัด "ความสวย" เป็นความรู้ที่มีการถ่ายทอดกันมาในระหว่างการซ้อมเชียร์เย็น (ตอนนี้ไม่มีแล้ว แต่ก่อนมีทั้ง เชียร์เที่ยง เชียร์เย็น และเชียร์ดึก โดยเชียร์ดึกนั้นสงวนเฉพาะนิสิตชายเท่านั้น และไม่บังคับด้วย) ทั้งนี้เพื่อให้มีมาตราฐานในการให้คะแนน "ความสวย" ของสาว ๆ คณะต่าง ๆ มีความจำเป็นต้องเดินผ่าน "สามแยกสุภาพบุรุษ" ที่รุ่นพี่จัดให้นิสิตปี ๑ ไปนั่งรวมกลุ่มกันอยู่ทั้งชั้นปี สามแยกนี้มักถูกสาว ๆ เรียกว่า "สามแยกปากหมา" (ไม่ขออ้อมค้อม ก็เขาเรียกกันอย่างนี้)

แต่จะว่าแล้ว ผมว่าสาว ๆ คงชอบที่จะโดน "หมาเห่า" มากกว่าที่โดน "หมาเมิน" หรือหมาไม่นองนะ

การวัด "ความสวย" นั้นตามหลักของวิศวกรนั้น มีการวัดในมิติที่แตกต่างกัน ๓ มิติ โดยแต่ละมิตินั้นจะให้คะแนนคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไปดังนี้
  
มิติที่ ๑ : ระยะทาง
  
กติกาง่าย ๆ คือความสวย "แปรผกผัน" กับระยะทางที่มองเห็น เช่นสาวคนหนึ่งมีความสวย ๑๕๐ เมตรนั่นหมายถึงสาวผู้นั้นจะดูสวยสำหรับเรา ถ้านั่งอยู่คนละฟากความยาวของสนามฟุตบอล แต่ถ้าคะแนนความสวยคือ ๖๐ เซนติเมตรหรือประมาณ ๒ ช่วงแขน (คือต่างคนต่างยื่นมือถึงกันได้สบาย) แสดงว่าเขาดูสวยเมื่อนั่งอยู่ตรงข้ามกับเรา เช่นนั่งกินข้าวคนละฟากฝั่งโต๊ะ

มิติที่ ๒ : มุม
  
มุมมองที่ดูว่าสวยขึ้นอยู่กับโครงสร้างของใบหน้าและทรงผม เกณฑ์การวัดคือมุมมองตรงหน้าคือ ๐ องศา มุมมองด้านหลังคือ ๑๘๐ องศา ส่วนจะให้วัดตามเข็มหรือทวนเข็มนาฬิกาก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะรุ่นพี่ไม่ได้สอนไว้ ความเห็นส่วนตัวแล้วถ้ามุมมองที่ดูว่าสวยนั้นอยู่ในช่วงเบี่ยงไปทางซ้ายหรือทางขวาไม่เกิน ๔๕ องศา ก็อยู่ในระดับคะแนนเดียวกัน แต่ถ้าอยู่ในช่วงเบี่ยงไปทางซ้ายหรือทางขวาเกิน ๔๕ องศาแต่ยังไม่เกิน ๙๐ องศา แสดงว่าเหมาะแก่การชำเลืองดูด้านข้าง
  
แต่ถ้าอยู่ในช่วงเบี่ยงไปทางซ้ายหรือทางขวาเกิน ๙๐ องศาไปแล้ว อาจแปลได้ว่าเส้นผมหรือทรงผมดูดี

ดังนั้นคนที่เป็นคู่รักกัน เวลากินข้าวด้วยกันทีไรแล้วแฟนชอบนั่งที่นั่งข้าง ๆ อาจไม่ได้แปลว่าเขาอยากอยู่ใกล้ชิดคุณ หรอกนะ แต่อาจแปลว่าถ้าเห็นหน้าคุณแล้วจะกินข้าวไม่ลงก็ได้

มิติที่ ๓ : ความสว่าง
  
หน่วยวัดความสว่างที่น่าจะมองเห็นภาพได้ชัดที่สุดคือ "แรงเทียน" และความสวยที่ค่าแรงเทียนต่ำแสดงว่ามองในที่มืด ๆ แล้วดูดี ความสวยที่ค่าแรงเทียนสูงแสดงว่ามองในที่สว่างแล้วดูดี สำหรับสาวที่มีความสวยเฉพาะที่ค่าแรงเทียนต่ำแสดงว่าดูดีในที่มืด (หรือแสงน้อย ๆ) พาไปออกงานกลางคืนได้ แต่ไม่เหมาะสำหรับควงไปกินข้าวตอนเที่ยงวัน สาวที่สวยจริงแล้วต้องมองดูสวยทั้งที่ค่าแรงเทียนสูงและแรงเทียนต่ำ

ที่กล่าวมาข้างต้นจัดว่าเป็น ๓ หน่วยหลักที่ทุกคนสามารถใช้ได้ในการให้คะแนนความสวย แต่สำหรับบางรายแล้วความสวยบนใบหน้าอาจมีมิติอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องอีกก็ได้ ตัวอย่างหนึ่งที่เคยประสบก็คือ "แว่นตา" ที่ทำให้ความสวยของใบหน้าของแต่ละคนเปลี่ยนไปได้เยอะ เรื่องแว่นตานี้เคยมีคนมาถามความเห็นผมเหมือนกันว่า "พอไม่ใส่แว่นแล้วดูสวยขึ้นไหม" ซึ่งผมก็พบว่าเขาดูสวยขึ้นจริง ๆ

แต่ผมต้องเป็นคนถอดแว่นตาที่ผมใส่อยู่ออกนะ ก่อนดูเขา :)

ที่เขียนมาข้างต้นผมกล่าวถึงเฉพาะ "ความสวย" นะ ไม่ได้กล่าวถึง "ความงาม" ที่เป็นสิ่งที่วัดยากกว่า และดูเหมือนว่ายังไม่มีหน่วยใด ๆ สำหรับวัด "ความงาม" ซะด้วย ในขณะที่ "ความสวย" เป็นการวัดความพึงพอใจของภาพที่ปรากฏด้วยการสายตา แต่ "ความงาม" เป็นการวัดด้วยความพึงพอใจของผู้อื่นจากการกระทำที่แสดงออก (ไม่ว่าจะเป็นทาง กาย วาจา และจิตใจ) 
   
และสำหรับสาวใดที่คะแนนความสวยตามวิธีการวัดข้างต้นออกมาไม่ดีก็อย่างพึ่งเสียใจ เพราะ "ความงาม" นั้นสำคัญกว่าและสามารถทดแทน "ความสวย" ได้ ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า "คนจะงาม งานที่ใจ ใช่ใบหน้า คนจะสวย สวยจรรยา ใช่ตาหวาน"

ต่อไปก็คงเป็นเรื่องของปากกับใจบ้าง ในห้องทำงานห้องหนึ่งมีโต๊ะทำงานอยู่หลายโต๊ะ แต่ไม่ค่อยมีคนนั่งประจำโต๊ะเท่าใดนัก ที่เห็นมีนั่งประจำก็มีแค่ชายหญิงคู่หนึ่งที่นั่งทำงานที่โต๊ะติดกัน และห้องนี้ผมเดินผ่านทีไรก็มักเจอว่ามีแค่สองคนนี้นั่งทำงานอยู่ในห้องนั้น ถ้ามีเวลาว่างก็จะโผล่หน้าเข้าไปแซวเล่นว่าคุยอะไรกระหนุงกระหนิงกันอยู่สองคน ซึ่งทั้งสองคนก็มักจะปฏิเสธอยู่เสมอว่าไม่ไดคุยเรื่องทำนองนั้น เป็นว่าคุยกันแบบทะเลาะกันมากกว่า ไม่ได้เป็นแบบที่ผมคิดหรอก ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ดูเหมือนว่ามันเป็นอย่างที่เขาบอกจริง

เรื่องคำพูดของคนว่าเชื่อถือได้แค่ไหนนั้นเคยมีรุ่นพี่วิศวคนหนึ่งเล่าให้ฟังนานแล้ว ตั้งแต่สมัยที่ผมเรียนจบใหม่ ๆ เขาบอกว่าคำพูดของใครจะเชื่อใจได้แค่ไหนนั้นให้ดูว่าผู้พูดนั้นหันหน้าไปทางไหน ถ้าหันไปทางซ้ายก็เชื่อได้ เพราะปากกับใจตรงกัน แต่ถ้าหันหน้าไปทางขวาก็เชื่อไม่ได้ เพราะปากกับใจไม่ตรงกัน
  
ผมไม่เคยได้มีโอกาสทดสอบทฤษฎีที่พี่เขาเล่าให้ฟัง เพิ่งจะมาเห็นโอกาสเมื่อไม่นานนี้ (คือเพิ่งจะนึกทฤษฎีดังกล่าวขึ้นมาได้) กล่าวคือในกรณีที่ฝ่ายชายนั่งทำงานอยู่ทางด้านซ้ายมือของฝ่ายหญิง ถ้าฝ่ายชายหันหน้า (ไปทางขวา) ไปแซวฝ่ายหญิง ทำให้ฝ่ายหญิงเบือนหน้าหนี (ไปทางขวา) ทำนองว่าไม่อยากคุยด้วย ถ้าเอาทฤษฎีข้างต้นมาจับแสดงว่าทั้งสองฝ่ายนั้น ปากพูดไปอย่าง แต่ใจคิดไปอีกอย่าง ดังนั้นคำพูดที่พูดออกมาดูเหมือนว่าทะเลาะกันนั้น แต่ในใจอาจไม่ใช่ก็ได้

ส่วนข้อสรุปจะได้เมื่อใดนั้นผมก็ไม่สามารถตอบได้ ทำได้แค่นั่งดูอยู่ห่าง ๆ เท่านั้น แต่โดยส่วนตัวแล้วชอบเรื่องที่มันจบแบบ Happy ending ดังนั้นก็คาดหวังว่าคู่นี้จะจบแบบ Happy ending เช่นกัน :)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น