วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

ดอกไผ่ ดอกหนาด และจำปาดะ MO Memoir : Saturday 1 March 2557

ผลไม้อะไรเอ่ย รูปร่างเหมือนขนุนมาก แต่ลูกเล็กกว่าแถมกลิ่นก็แรงกว่าด้วย
  
คำตอบก็คือ "จำปาดะ"
 
ช่วงกลางอาทิตย์ที่แล้ว ผมไปยืนดูเขาทอดจำปาดะขายอยู่ที่ถนนพญาไท หน้าคณะเภสัช จุฬาฯ จำปาดะมันเหมือนขนุนแต่ลูกเล็กกว่า เนื้อในมันก็คล้ายกัน (มันเป็นพืชในตระกูลใกล้เคียงกัน) แต่จะไม่เหลืองแบบขนุน ที่แตกต่างกันมากก็คือกลิ่นที่แรงมากของมัน กินได้ทั้งแบบผลไม้สดและเอาไปทอดกิน อันที่จริงจะว่าไปแล้วตัวผมเองก็ไม่ถูกกับผลไม้ชนิดนี้เท่าใดนัก ตรงที่ไม่ชอบกลิ่นที่แรงของมัน (แต่ไม่ยักรังเกียจกลิ่นทุนเรียน) จำปาดะจัดว่าเป็นผลไม้ท้องถิ่นของมาเลเซีย อินโดนีเซีย และทางภาคใต้ของบ้านเรา
  
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้คำนิยามของ จำปาดะเอาไว้ว่า
  
จำปาดะ น. (ถิ่น-ปักษ์ใต้) ชื่อต้นไม้ขนาดกลางชนิด Artocarpus integer Merr. ในวงศ์ Moraceae คล้ายต้นขนุน เยื่อหุ้มเมล็ดเนื้อเหลว กลิ่นฉุน กินได้; เรียกขนุนพันธุ์ที่มียวงสีจำปา เนื้อนุ่มว่า ขนุนจำปาดะ. (ดู ขนุน ๑).

รูปที่ ๑ ร้านขายจำปาดะทอด เสาร์-อาทิตย์นี้คงเป็นวันสุดท้ายแล้วที่เขาเปิดขายที่นี่ เพราะวันจันทร์เขาก็จะปิดเวทีปทุมวันและเปิดให้รถเดินทางผ่านได้ตามปรกติแล้ว
รูปที่ ๒ จำปาดะที่เขาชุบแป้งทอดเสร็จเรียบร้อยแล้ว

--------------------------------------------------------------------------------------------

หลังจากสร้างบ้านเสร็จ บริเวณรอบตัวบ้านไปจนถึงขอบรั้วก็ปล่อยมันไว้อย่างนั้น ไม่มีการเทปูนทำพื้นหรือทำสนามหญ้าใด ๆ จะมีเฉพาะปูอิฐตัวหนอนตรงทางเข้าประตูเพื่อให้รถเข้ามาจอดได้ อันที่จริงตอนแรกกะจะไม่ปูอิฐด้วยซ้ำ ให้เป็นดินเปิดโล่ง ๆ เพื่อให้ต้นไม้มันมีที่สำหรับเติบโตและรากมีที่สำหรับหายใจ นอกจากนี้ยังเป็นผิวเปิดสำหรับให้น้ำฝนไหลซึมลงดินแทนที่จะไหลลงท่อระบาย ทั้งนี้เพื่อเป็นการสะสมน้ำไว้ในดินให้ต้นไม้ใหญ่น้ำตลอดกินตลอดทั้งหน้าแล้ง
  
ช่วงนี้ต้นไม้หลายชนิดที่ทั้งปลูกเองและขึ้นมาเองต่างก็แข่งขันกันออกดอก ไม่รู้ว่าเป็นเพราะขาดน้ำหรือได้แดดดี หนึ่งในต้นไม้ที่ซื้อมาปลูกและออกดอกก็คือต้น "หนาด"
  
อันที่จริงเรื่องต้นหนาดเคยเล่าไปครั้งหนึ่งแล้วใน Memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๔๘๗ วันพฤหัสบดีที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ เรื่อง "มันเทศกับใบหนาด" ตอนนั้นก็เป็นการเอารูปต้นหนาดกับใบหนาดมาให้ดู นี่ก็ผ่านไปกว่าปีครึ่ง ต้นหนาดต้นนั้นก็โตจนกระทั่งต้องฟันยอดทิ้งไปหลายครั้ง แถมยังมีการไหลไปโผล่ขึ้นตามที่ต่าง ๆ ทำให้ต้องคอยถอนทิ้งเป็นระยะ คือรากของต้นหนาดจะมีส่วนที่มันแผ่ออกไปทางด้านข้างใต้ผิวดินชั้นบน พอเจอที่เหมาะเจาะมันก็จะแตกเป็นต้นใหม่งอกออกมาก ต้นใหม่ที่งอกออกมาจะห่างจากนั้นเก่ามากเหมือนกัน แสดงว่ารากมันแผ่ไปไกลเหมือนกัน มาปีนี้มันออกดอกให้เห็น เป็นดอกสีเหลืองเล็ก ๆ ดังที่เอามาให้ดูในรูปที่ ๓ และ ๔ นี่ก็รอดูว่าพอดอกมันเหี่ยวแห้งแล้วจะเป็นยังไงต่อไป จะกลายเป็นเมล็ดพันธุ์งอกใหม่ไปทั่วอีกหรือไม่
  
อีกต้นหนึ่งที่บ้านที่เห็นมีพฤติกรรมแพรพันธุ์แบบนี้คือตะขบ ตอนแรกนึกว่ามันเป็นต้นที่งอกมาจากเมล็ดที่ร่วงหล่น แต่พอดึงรากขึ้นมากลายเป็นว่ารากนั้นเป็นรากที่แผ่ออกมาจากต้นใหญ่


รูปที่ ๓ ดอกต้นหนาด
รูปที่ ๔ พยายามถ่ายภาพให้เห็นดอกต้นหนาดชัด ๆ ฝีมือกับกล้องที่มีก็ทำได้เพียงแค่นี้

--------------------------------------------------------------------------------------------
"ดอกไผ่บาน สัญญาณของการจากลา"

ปรกติต้นไผ่มันก็ไม่ได้ออกดอกอะไร มันขยายพันธุ์ด้วยการแตกหน่อออกไปข้าง ๆ ถ้าต้องการนำไปปลูกที่อื่นก็ต้องขุดหน่อที่แตกออกทางด้านข้างนี้ไปปลูก
  
ว่ากันว่าเมื่อใดก็ตามที่ไผ่ออกดอก พอดอกติดผลแล้วผลร่วงหล่นลง ไผ่ก็จะแห้งตายทั้งกอ เรียกว่าตายขุย ส่วนผลที่ร่วงหล่นก็จะกลายเป็นต้นไผ่งอกใหม่ต่อไป
  
จากเว็บ http://www.thaikasetsart.com/วงจรชีวิตของไผ่/ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการออกดอกของไผ่ไว้ดังนี้
  
"ต้นไผ่ส่วนมากออกดอกครั้งเดียว หลังจากออกดอกแล้วก็จะตายทั้งกอในปีเดียวกันนั้น หรืออย่างช้าก็อาจจะอยู่ ได้ราว 1-2 ปี ภายหลังการออกดอกเท่านั้น การตายของต้นไผ่ชาวบ้านเรียกว่า “ตายขุย” แต่พอถึงฤดูฝน ขุย(เมล็ด) ไผ่นี้จะแตกเป็นต้นเล็กๆ ขึ้นมาอีกต่อไป ถ้าสภาพเหมาะสม แต่มีไผ่บางชนิดที่หลังจากออกดอกออกผลแล้วก็ไม่ตาย และก็มีบางชนิดแต่หายากที่ออกดอกทุกปี หรือเกือบทุกปี โดยทั่ว ๆ ไปแล้วช่วงของการออกดอกของต้นไผ่กินระยะเวลานานมากและไม่แน่นอน สาเหตุของการออกดอกยัง เป็นเรื่องที่ลึกลับที่ต้องวิจัยศึกษาค้นคว้ากันต่อไป
...
ส่วนไผ่ในประเทศไทยยังไม่ปรากฏหลักฐานการค้นคว้ามาก่อน จึงไม่อาจจะทราบได้ว่า ไผ่ชนิดใดมีช่วงอายุประมาณเท่าใดจึงจะออกดอก แต่เป็นที่น่ายินดียิ่งที่ไม้ไผ่ในประเทศไทยมีการออกดอกแบบประปรายเป็นส่วนใหญ่ ออกดอกไม่พร้อมกัน มิฉะนั้นแล้วอาจจะทำให้ไม้ไผ่เหล่านั้น สูญพันธุ์เร็วยิ่งขึ้น ถ้ามิได้มีการเอาใจใส่บำรุงรักษาอย่างถูกหลักวิธีเช่นในต่างประเทศ
  
ในประเทศไทยปกติไผ่จะเริ่มออกดอกราว ๆ เดือน พฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์ และเมล็ดเริ่มแก่และร่วงหล่น ลงสู่พื้นดินในเดือนกุมภาพันธ์-เดือนเมษายนของทุก ๆ ปี"
รูปที่ ๕ กอไผ่เลี้ยงที่เอามาปลูกไว้ข้างผนังบ้านให้มันป้องกันแสงแดดที่ส่องโดนตรง ๆ ในช่วงบ่าย

รูปที่ ๖ ดอกไผ่
 
รูปที่ ๗ ดอกไผ่อีกมุมหนึ่ง

ไผ่ที่ผมปลูกเอาไว้ที่บ้านเป็นไผ่เลี้ยง ซื้อมาจากงานเกษตรที่จัดที่เทคโลยีราชมงคล (ภาคตะวันออก) วิทยาเขตบางพระ ชลบุรี เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๔ กะเอามาปลูกแทนกอเดิมที่ตายหมดเนื่องจากน้ำท่วมบ้านร่วมเดือน ที่เลือกไผ่เลี้ยงก็เพราะต้องการไม้ไผ่ไว้ใช้งาน เช่นทำราวตากผ้า ทำไม้สอยสำหรับตะกร้อสอยมะม่วงหรือกรรไกรตัดกิ่งไม้ และไว้ทำไม้ค้ำยันต้นไม้อื่น ไผ่เลี้ยงลำมันไม่ใหญ่มาก ขนาดกำลังเหมาะมือ หน่อหนึ่งเอาไปปลูกไว้ริมรั้วพ้นหลังคาบ้าน ให้มันโตได้เต็มที่ ส่วนอีกหน่อหนึ่งเอาไปปลูกไว้ข้างบ้านด้านทิศตะวันตก ให้มันช่วยบังแดดในช่วงบ่าย ตอนบ่าย ๆ บ้านจะได้ไม่ร้อนมากเกินไป
  
เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา กอที่ปลูกเอาไว้ติดบ้าน ตอนแรกนึกว่าใบมันร่วงเหลือแต่กิ่งเปล่า ๆ เพราะเข้าหน้าแล้งและไม่ค่อยได้รดน้ำเท่าใดนัก ยกเว้นวันเสาร์-อาทิตย์ที่พอจะมีเวลารดน้ำต้นไม้บ้าง แต่พอสังเกตดูดี ๆ ก็พบว่ามันออกดอกต่างหาก จะเรียกว่าโชคดีก็ได้ที่ได้มีโอกาสเห็นต้นไผ่ออกดอก เพราะกว่าที่ไผ่จะออกดอกนั้น ก็ต้องรอกันนานเหมือนกัน ว่ากันว่าอยู่ในราว ๓๐-๖๐ ปี ขึ้นอยู่กับพันธุ์

"ดอกไผ่บาน สัญญาณของการจากลา" แต่การจากลาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการจากลาแบบลาลับ แต่เป็นการจากลาแบบหลีกทางให้ของไผ่กอเดิม เพื่อให้ไผ่รุ่นใหม่ได้เติบโตขึ้นมาแทนที่ เพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์ของมันต่อไป

--------------------------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น