วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2557

โน๊ตเพลง "หนึ่งในร้อย" และ "น้ำตาแสงใต้" MO Memoir : Friday 13 June 2557


ปัญหาหนึ่งที่ผมคิดว่าใครก็ตามที่คิดจะหัดเล่นเครื่องดนตรีสักชิ้นต้องประสบคือ จะหาโน๊ตเพลงได้จากไหน เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นก็มีบันไดเสียงหรือช่วงตัวโน๊ตที่เล่นได้นั้นแตกต่างกันไป โน๊ตที่เขียนมาให้เครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่เล่นเสียงโน๊ตได้ในช่วงหนึ่ง อาจไม่สามารถใช้กับเครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่งที่เล่นโน๊ตได้ในช่วงเสียงที่แตกต่างกันหรือคร่อมกันอยู่ได้โดยตรง แถมเครื่องดนตรีมันก็มีมากมายหลากหลายชนิดด้วย

  
โน๊ตเพลงไทยในรูปแบบโน๊ตเพลงสากลที่เห็นมีแพร่หลายหาได้ง่ายทั่วไป ดูเหมือนจะเป็นโน๊ตสำหรับเปียนโนและไวโอลิน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเครื่องดนตรีสองชิ้นนี้ครอบครัวจำนวนไม่น้อยนิยมส่งให้เด็ก ๆ ที่บ้านไปเรียน ถัดไปก็น่าจะเป็นกีตาร์และกลอง (ถูกหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ ดูเอาจากที่เห็นเด็กมาเรียนดนตรีที่โรงเรียนดนตรีแถวบ้าน) ส่วนโน๊ตเครื่องเป่าที่เห็นหาได้แพร่หลายที่สุดน่าจะเป็นโน๊ตขลุ่ย แต่ก็มักจะอยู่ในรูปแบบโน๊ตเพลงไทย
  
โน๊ตรูปแบบโน๊ตเพลงไทยมันอ่านง่ายตรงที่มันใช้ชื่อบอกว่าเป็นโน๊ตเสียงอะไร แต่มันไม่ได้บอกว่าเสียงโน๊ตตัวนั้นต้องลากยาวเท่าใด พูดง่าย ๆ ก็คือถ้าไม่รู้ว่าเพลงมันมีทำนองอย่างไรมาก่อนก็คงจะเล่นยากอยู่เหมือนกัน โน๊ตรูปแบบสากลมันระบุหมดทั้งระดับเสียง จะสั้นหรือลากยาว ฯลฯ แต่มันก็วุ่นวายกว่า ถ้าไม่เคยชินก็อ่านกันไม่ทันเหมือนกัน
  
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ลูกสาวคนเล็กบอกว่าจะอยากจะเปลี่ยนไปเล่นฟลุตกับวงโยธวาทิตของโรงเรียน แต่ต้องนำฟลุตมาเอง ก็เลยถือโอกาสซื้อฟลุตใหม่ ๑ ตัว อันที่จริงฟลุตก็เป็นเครื่องดนตรีที่ผมอยากหัดเล่นมานานแล้ว ตั้งแต่จบมัธยมปลายเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว พึ่งจะมีโอกาสได้ซื้อก็ตอนนี้ ตอนเช้าลูกเอาไปหัดเป่ากับครูที่โรงเรียน ตกเย็นพ่อก็เอากลับมาหัดเป่าบ้าง เรียกว่าฟลุตตัวเดียวเล่นกันทั้งพ่อทั้งลูก แต่ตอนนี้ดูเหมือนพ่อแทบจะยึดไว้เล่นคนเดียว เพราะไปสมัครหัดเรียนเป่าฟลุตที่โรงเรียนดนตรีเดียวกับลูก ต้องทำการบ้านส่งทุกสัปดาห์ ลูกเรียนเปียนโน ส่วนพ่อก็เรียนฟลุตไป
  
ผมเองก็ไม่ได้เป็นผู้รู้ในทางดนตรีอะไร แต่ตอนเรียนมัธยมเคยอยู่วงโยธวาทิตมาก่อน ก็เลยยังพอมีความรู้เรื่องการอ่านโน๊ตเพลงอยู่บ้าง มันก็ช่วยเยอะอยู่เหมือนกัน แม้ว่าอาจจะมีบางเรื่องที่เข้าใจไม่ถูกต้องอยู่ เรื่องในวันนี้ก็ถือว่าเป็นการเขียนแบบเล่าให้คนทั่วไปฟัง สำหรับคนที่มีความรู้ทางดนตรี ถ้าผมเขียนผิดพลาดไปอย่างไรบ้างก็อย่าถือสาก็แล้วกัน
  
ฟลุตมันเล่นโน๊ตอยู่ ๓ ระดับเสียง (ดูจากคู่มือการกดคีย์ที่ให้มากับเครื่อง) ไล่จากระดับแรกที่มีเสียงต่ำสุดคือ โด เร มี ฟา ซอล ลา ที จากนั้นก็สูงขึ้นไปเป็นระดับที่สองคือ โด เร มี ฟา ซอล ลา ที และระดับที่สามที่เป็นระดับเสียงที่สูงสุดของมันคือ โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด 
   
โน๊ตระดับต่ำจะเล่นง่าย โน๊ตเพลงที่เห็นมีเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตที่เป็นเพลงสำหรับผู้เริ่มหัดเล่น (Beginner) ก็มักจะอยู่ในระดับเสียงระดับแรกนี้ พอเป็นโน๊ตสำหรับผู้ที่เริ่มเล่นเป็นบ้าง (Easy) ก็มักจะมีเสียงสูงเพิ่มไปอยู่ในระดับที่สองกลาง ๆ และโน๊ตเพลงสำหรับผู้มีฝีมือสูงขึ้นไปอีก ก็จะสามารถไปเล่นเพลงที่ใช้โน๊ตเสียงสูงในระดับที่สามได้
  
โน๊ตเพลง (ในรูปแบบโน๊ตสากล) ที่ระบุว่าเป็นโน๊ตสำหรับฟลุตที่ค้นได้ทางอินเทอร์เน็ตก็เป็นของฝรั่งทั้งหมด ส่วนโน๊ตเพลงไทย (ในรูปแบบโน๊ตสากล) ที่ค้นได้นั้นก็มักจะเป็นโน๊ตสำหรับเปียนโนหรือไวโอลิน ปัญหาที่พบก็คือโน๊ตเปียนโนหรือไวโอลินสำหรับหลายต่อหลายเพลงนั้นมีมีระดับเสียงที่ต่ำกว่าเสียง โด ต่ำสุดของฟลุตเสียอีก ถ้าจะเป่าฟลุตเพื่อเล่นเพลงดังกล่าวก็ต้องไปใช้ระดับเสียงระดับที่สอง (เสียงระดับกลาง) เป็นหลัก แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่หัดได้ไม่นาน (ผมเพิ่งเริ่มเรียนได้แค่ ๒ เดือน ก็ยังไม่แม่นเสียงระดับกลางนี้ ยังเป่าได้เสียงไม่คมชัดอยู่) แต่หลังจากที่นั่งพิจารณาโน๊ตเพลงเดียวกันที่ดาวน์โหลดมาจากเว็บต่างประเทศที่เขาบอกว่าเป็นโน๊ตสำหรับฟลุต ก็พบว่าเขามีโน๊ตสำหรับหลายระดับเสียง แต่ที่สำคัญคือความแตกต่างระหว่างระดับเสียงของโน๊ตแต่ละตัวต้องคงที่ เพลงจึงจะออกมาในทำนองเหมือนกัน แต่คนละระดับเสียง
  
ด้วยความรู้ที่มีอยู่ว่าเสียงโน๊ตนั้น เสียง ที กับ โด จะต่างกัน "ครึ่งขั้น" เสียง โด กับ เร และ เร กับ มี จะต่างกัน "หนึ่งขึ้น" เสียง มี กับ ฟา จะต่างกัน "ครึ่งขั้น" เสียง ฟา กับ ซอล ซอล กับ ลา และ ลา กับ ที จะต่างกัน "หนึ่งขั้น" ก็เลยได้ทดลองนำเอาความรู้นี้มาประยุกต์ใช้กับโน๊ตเพลงที่ตัวเองอยากเป่าเล่น แต่เสียงมันต่ำกว่า โด ต่ำที่ฟลุตเป่าได้ ด้วยการยกเสียงโน๊ตทุกตัวขึ้นไปไว้ในระดับที่ฟลุตเป่าได้ โดยเอาโน๊ตเพลงเดิมนั้นมาเขียนใหม่โดยใช้โปรแกรม musescore 
   
โน๊ตเพลงแรกที่ทดลองทำก็คือเพลง "หนึ่งในร้อย" เพลงนี้เสียงต่ำสุดของมันคือ ที (ต่ำกว่าเสียง โด ต่ำของฟลุตครึ่งเสียง) โน๊ตเพลงต้นฉบับนั้นเขามีเครื่องหมายชาร์ป (Sharp - #) กำกับไว้ที่เสียง ฟา นั่นคือโน๊ตตัว ฟา ทุกตัวที่ปรากฏต้องเป็นเสียงสูงกว่าเสียง ฟา ปรกติครึ่งเสียง งานนี้ผมทดลองโดยย้ายเสียง ที ดังกล่าวมาเป็นเสียง มี หรือยกให้สูงขึ้น ๒ ขั้นครึ่ง และทำอย่างนี้กับโน๊ตทุกตัว คือ เสียง ที เป็น มี เสียง โด เป็น ฟา เสียง เร เป็น ซอล เสียง มี เป็น ลา และเสียง ฟาชาร์ป เป็น ที ที่เลือกเปลี่ยน ที เป็น มี ก็เพราะเสียง ที กับ โด มันห่างกันครึ่งเสียง และเสียง มี กับ ฟา มันก็ห่างกันครึ่งเสียงเช่นกัน เมื่อทำเช่นนี้ก็เลยทำให้โน๊ตที่ยกระดับเสียงให้สูงขึ้นแล้วมันลงตัว คือไม่ต้องติดเครื่องหมายชาร์ป # หรือแฟลต b ทั่วไปหมด ซึ่งโดยส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบเท่าใด
  
หลังจากที่ทดลองทำกับเพลง "หนึ่งในร้อย" แล้ว ก็มาทดลองทำกับเพลง "น้ำตาแสงใต้" ดูบ้าง เพราะโน๊ตต้นฉบับเพลง "น้ำตาแสงใต้" นี้ก็มีเครื่องหมาย # กำกับไว้ที่ตัว ฟา เช่นเดียวกัน ผลที่ได้มาก็คือโน๊ตเพลงที่พอจะเป่าฟลุตเล่นได้โดยที่ระดับเสียงไม่ได้ไต่ขึ้นไปสูงมาก (ฝีมือผมเองยังไม่ถึงระดับขึ้นเป่าเสียงสูง ๆ ได้ ในเป่าทีละตัวอาจจะพอได้ แต่ถ้าอยู่ในบทเพลงก็ยังทำไม่ค่อยได้ เพราะไม่สามารถปรับความเร็วลมได้ทัน)
  
สิ่งที่ทำมานี้จะถูกต้องตามทฤษฎีดนตรีหรือไม่ก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าสำหรับคนที่อยากเล่นดนตรีเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจเช่นตัวผมเอง มีโน๊ตอย่างนี้ก็เล่นได้แล้ว ณ โอกาสนี้ก็เลยถือโอกาสนำมาเผยแพร่ เผื่อในอนาคตพวกคุณบางคนอาจจะสนใจเล่นดนตรีเพื่อการพักผ่อนก็ได้

ผมเองยังรอมาได้ตั้ง ๓๐ ปี





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น