วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เสื้อครุยบัณฑิตจุฬา (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๗๐) MO Memoir : Sunday 1 June 2557

สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๕ หน้า ๒๖๖๓ กล่าวว่า

"ครุย-เสื้อ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.. ๒๔๙๓ ให้คำนิยามว่า "ชื่อเสื้อคลุมประดับเกียรติญสและหน้าที่ในพระราชพิธี" เสื้อครุยที่ไทยใช้กันอยู่บัดนี้จะมีที่มาอย่างไรยังค้นหลักฐานไม่พบ ..."

ในสารานุกรมหน้า ๒๖๖๓ นี้ยังกล่าวด้วยว่า การใช้เสื้อครุยในประเทศไทยคงจะไม่ต่ำกว่าสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) ด้วยปรากฏว่าเมื่อพระองค์โปรดให้พระวิสูตรสุนทรหรือพระวิสุทธิสุนทร (โกษาปาน) เป็นราชฑูตออกไปเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เมื่อพ.ศ. ๒๒๒๘ นั้น มีผู้บันทึกจดหมายเหตุว่า "ท่านราชฑูตได้แต่งตัวเต็มยศตามธรรทเนียมไทย คือสวมเสื้อเยียรบับมีกลีบทองและดอกไม้ทอง และสวมเสื้อครุย"
  
การกำหนดลักษณะอย่างเป็นทางการของเสื้อครุยที่มีการบันทึกเอาไว้เป็นครั้งแรกนั้นน่าจะเป็น "ประกาศพระราชกำหนดเสื้อครุย" เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ หรือในสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นครุยที่เรียกว่า "ครุยเสนามาตย์" โดยมีการกำหนดลำดับชั้นและผู้มีสิทธิ์ที่จะสวมเอาไว้ด้วย (ดูรูปที่ ๑)
  
สำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ในปีพ.ศ. ๒๔๗๓ รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศ "พระราชกำหนดเสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย" ในวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ มีความในพระราชปรารภว่า "จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยซึ่งได้สถาปนาขึ้นไว้เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๙ บัดนี้ได้ขยายหลักสูตรการศึกษาวิชา นิสิตที่เล่าเรียนสำเร็จตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยและได้รับปริญญานั้น ควรมีโอกาสใช้เสื้อครุยมหาวิทยาลัยเป็นที่เชิดชูเกียรติให้เข้ารูปเยี่ยงนิสิตในสถานอุดมศึกษาทั้งหลายในนานาประเทศ" รูปร่างหน้าตาเสื้อครุยจุฬาเป็นอย่างไรนั้น หลาย ๆ คนก็คงจะได้เห็นกันมาแล้ว แต่ที่เอามาให้ดูในรูปที่ ๒ เป็นรูปที่แสดงไว้ในสารานุกรมไทยฉบับที่ ๕ ส่วนรายละเอียดต่างของพระราชกำหนดเสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยนั้นก็ดูเอาเองในราชกิจจานุเบกษาที่แนบท้ายมาให้ดูก็แล้วกัน

จะเห็นนะครับว่าเสื้อครุยบัณฑิตของจุฬากรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ก็ถอดแบบมาจากเสื้อครุยเสนามาตย์นั่นเอง

เอกสารประกอบการเขียน
๑. สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๕ คมนาคม-คุรุสภา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๐ (พิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๗ แต่ตอนพิมพ์ครั้งที่ ๒ นี้ดูเหมือนว่าเป็นการพิมพ์ซ้ำโดยไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจากฉบับพิมพ์ครั้งแรก) พิมพ์ที่ไพศาลการพิมพ์ ๑๕๖/๒๑ ซอยมิตรพัฒนา ถนนจรัญสนิทวงศ์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพ ๑๐๗๐๐ ISBN 974-8120-39-2


รูปที่ ๑ ครุยเสนามาตย์ (จาก สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๕)


รูปที่ ๒ ครุยบัณฑิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (จาก สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๕)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น