วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

Full metal jacket (๒) MO Memoir : Sunday 30 November 2557

ไม่เพียงแต่กีฬาที่มีกติกาในการเล่น การทำสงครามก็มีกฎเกณฑ์ข้อห้ามเหมือนกัน
  
สงครามแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งในการกระทำของมนุษย์ ในแง่หนึ่งนั้นคือการหาวิธีการทำลายล้างอีกฝ่ายหนึ่งให้ย่อยยับไป แต่ในอีกแง่หนึ่งก็มีการกำหนดกติกาข้อห้ามเพื่อไม่ให้การทำลายล้างนั้นรุนแรงเกินไป
  
ข้อตกลงระหว่างประเทศเรื่องกติกาการทำสงครามมีมาตั้งแต่ปีค.ศ. ๑๘๙๙ (พ.ศ. ๒๔๔๒ หรือช่วงรัชกาลที่ ๕) โดยประเทศมหาอำนาจในขณะนั้นได้มาประชุมตกลงเงื่อนไขและกติกาในการทำสงคราม ข้อตกลงนั้นเรียกว่า "Hague Convention 1899" (เนื่องจากเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นที่กรุง Hague) การยอมรับกติกานั้นแต่ละประเทศไม่จำเป็นต้องยอมรับทุกข้อ ประเทศไหนไม่ยอมรับกติกาข้อไหน เมื่อไปทำสงครามกับประเทศที่แม้ว่าจะยอมรับกติกาข้อนั้น ประเทศคู่สงครามนั้นก็มีสิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามกติกาข้อนั้น
  
ในขณะที่ชาติมหาอำนาจต่าง ๆ ในยุคนั้นที่มาประชุมตกลงกันนั้นต่างยอมรับกติกาต่าง ๆ ทุกข้อ จะมีเพียงแต่ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ยอมรับกติกาบางข้อ และไม่ยอมรับที่จะลงนามรับรองว่าจะปฏิบัติตามกติกาหลายข้อด้วยกัน
  
กติกาข้อหนึ่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ให้การรับรองคือข้อที่เรียกว่า "Declaration (IV,3)" ที่เกี่ยวข้องกับหัวกระสุนที่แผ่บานได้เมื่อกระทบเป้า (expanding bullet) ส่วนรายละเอียดเป็นยังไงนั้นดูได้ในรูปที่ ๑ ในหน้าถัดไป
  
สำหรับผู้ที่ยังไม่มีความรู้เรื่องโครงสร้างหัวกระสุนปืน ขอแนะนำให้ไปอ่าน Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๖๒ วันจันทร์ที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เรื่อง "FullMetal Jacket" ก่อน เพื่อที่จะได้เข้าใจสิ่งที่จะเล่าต่อไปนั้นได้ง่ายขึ้น
  
อำนาจการทำลายล้างของหัวกระสุนต่อเป้าหมายที่เป็นบุคคลนั้นขึ้นอยู่กับว่าหัวกระสุนสามารถ "ถ่ายทอด" พลังงานของตัวมันเองให้กับเป้าหมายได้มากน้อยเท่าใด ถ้าหัวกระสุนสามารถ่ายทอดพลังงานได้มาก อำนาจการทำลายล้างก็จะสูงตามไปด้วย พลังงานของหัวกระสุนเองขึ้นอยู่กับ "ความเร็ว" และ "มวล" (ก็คือพลังงานจลน์นั่นแหละ) แต่ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถในการถ่ายทอดพลังงานนั้นขึ้นอยู่กับ "พื้นที่หน้าตัด" (คิดในแนวตั้งฉากกับทิศทางการเคลื่อนที่) ที่ระดับพลังงานจลน์เท่ากัน หัวกระสุนที่มีพื้นที่หน้าตัดที่ใหญ่กว่าจะถ่ายทอดพลังงานให้กับเป้าหมายได้มากกว่า
  
ที่หัวกระสุนหนักเท่ากัน วิถีการเคลื่อนที่ของหัวกระสุนที่หน้าตัดใหญ่กว่ามักจะโค้งมากหัวกระสุนที่มีพื้นที่หน้าตัดเล็กกว่า (เนื่องจากแรงต้านของอากาศ) โดยเฉพาะในระยะไกล ทำให้ยิงถูกเป้าหมายในระยะไกลได้ยากขึ้น ดังนั้นจึงได้มีการพัฒนาหัวกระสุนให้มีรูปทรงเรียว (หรือพื้นที่หน้าตัดเล็ก) เพื่อที่จะแหวกอากาศได้ดีขึ้น (รักษาพลังงานจลน์ในตัวมันเองเอาไว้ได้ดีขึ้น เพราะลดการสูญเสียเนื่องจากแรงต้านทานของอากาศ) แต่ให้หัวกระสุนนั้นบานขยายตัวออก (เพื่อเพิ่มพื้นที่หน้าตัด) เมื่อกระทบเป้า ซึ่งอาจทำได้ด้วยการใช้หัวกระสุนที่ไม่ได้หุ้มทองแดงเอาไว้ทั้งหมด โดยเปิดส่วนปลายยอดเอาไว้ (มีส่วนที่เป็นตะกั่วโผล่ให้เห็น) หรือไม่ก็มีรู (เจาะลึกลงมาตามแนวแกนยาว)
  
นอกจากนี้ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องพิจารณาคืออำนาจ "ทะลุทะลวง" ซึ่งจะตรงข้ามกับความสามารถในการถ่ายทอดพลังงาน หัวกระสุนที่จะทะลุทะลวงเป้าหมายได้ลึกควรที่จะรักษาพื้นที่หน้าตัดของหัวกระสุนเอาไว้ได้ (ไม่บานขยายตัวออก) เพื่อให้แรงกระทำต่อหน่วยพื้นที่มีค่ามากที่สุด ซึ่งถ้าหัวกระสุนบานเร็วเกินไป ก็จะไม่สามารถเจาะลึกไปถึงเป้าหมายสำคัญ (เช่นอวัยวะภายในของสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ หนังหนา หรือบุคคลที่อยู่หลังที่กำบัง) หัวกระสุนปืนสั้นขนาด 11 มม กับขนาด 9 มม ที่มีพลังงานเท่ากันและรูปแบบเดียวกัน กระสุนขนาด 11 มม จะถ่ายทอดพลังงานให้กับเป้าหมายที่เป็นคนได้ดีกว่า แต่อำนาจเจาะทะลุทะลวงจะต่ำกว่า ถ้ายิงคนที่ไม่ได้อยู่ที่ในที่กำบังเรามีสิทธิเห็นอำนาจหยุดยั้งที่สูงกว่าของกระสุน 11 มม แต่ถ้ายิงคนที่อยู่หลังที่กำบัง เราอาจเห็นผลที่กลับกัน เพราะกระสุน 9 มม เจาะทะลุที่กำบังได้ดีกว่า

รูปที่ ๑ Declaration (IV,3) ของ Hague convention 1899 ซึ่งเกี่ยวข้องกับรูปแบบหัวกระสุนที่ใช้ในการรบ นำมาจากหน้าเว็บของ International Committee of the Red Cross (ICRC)

ยิ่งหัวกระสุนบานออกมาเท่าใด การถ่ายทอดพลังงานให้กับเป้าหมายก็จะมากขึ้น บาดแผลที่เกิดขึ้นกับเป้าหมายที่เป็นสิ่งมีชีวิตก็จะรุนแรงตามไปด้วย ในกรณีของการล่าสัตว์นั้นผู้ล่ามีวัตถุประสงค์หลักคือการ "ฆ่า" และหัวกระสุนไม่ควรจะทะลุเป้าหมายออกไป หัวกระสุนล่าสัตว์จึงมักจะเน้นไปที่การบานออก ดังเช่นตัวอย่างที่นำมาแสดงในรูปที่ ๒

รูปที่ ๒ หัวกระสุนขนาด .223 Remington (ซ้าย) รุ่น Varmint X ที่ไม่มีการหุ้มทองแดงจนถึงปลายบนสุดของหัวกระสุน ส่วนปลายนั้นเป็นวัสดุพอลิเมอร์โดยมีแกนตะกั่วอยู่ข้างใน ตัวนี้เป็นหัวกระสุนน้ำหนักเบา ความเร็วสูง ออกแบบมาเพื่อการล่าสัตว์เล็ก (ที่เรียกว่า varmint) ที่เคลื่อนที่ได้รวดเร็ว (กลาง) รุ่น Power max bonded เป็นหัวกระสุนแกนตะกั่วที่มีการเว้นการหุ้มทองแดงไว้ไม่ให้ปิดจนคลุมปลายหัวกระสุน (ขวา) รุ่น Power core ที่มีการทำรูไว้ที่ปลายหัวกระสุนแต่หัวกระสุนเป็นโลหะทองแดงทั้งหัว สองแบบหลังใช้กับการล่าสัตว์ที่ใหญ่ขึ้น ต้องการการถ่ายทอดพลังงานสูงขึ้น จึงออกแบบให้หัวกระสุนบานออกเมื่อกระทบเป้า (รูปจาก http://www.winchester.com/)

แต่ในการทำสงครามนั้นมีการใส่มุมมองที่ว่าเป็นการทำให้ฝ่ายตรงข้าม "หมดสภาพที่จะทำการรบได้ต่อไป" ซึ่งหมายถึงการบาดเจ็บจนไม่สามารถสู้รบต่อไปได้ ดังนั้นจึงได้เกิดแนวความคิดขึ้นมาว่าหัวกระสุนที่ใช้ในการสงครามนั้นไม่ควรที่จะทำให้เกิดบาดแผลที่ฉกรรจ์เกินไปที่ยากแก่การรักษา (ถ้าผู้ถูกยิงยังมีชีวิตอยู่) โดยในยุคที่มีความคิดนี้เกิดขึ้น (คือเมื่อปลายศตวรรษที่ ๑๙ หรือกว่าเมื่อร้อยปีมาแล้ว) สิ่งที่มีให้เปรียบเทียบกันในยุคนั้นคือหัวกระสุนที่เคลือบทองแดงเอาไว้ทั้งหมด ที่เรียกว่า Full Metal Jacket กับหัวกระสุนที่ไม่ได้หุ้มทองแดงเอาไว้ทั้งหมด คือเปิดส่วนปลายยอดเอาไว้ หรือมีการบาก (หรือตัด) ร่องที่หัวกระสุน และเมื่อเปรียบเทียบบาดแผลที่ผู้ถูกยิงได้รับก็พบว่าหัวกระสุนแบบ Full Metal Jacket นั้นทำให้เกิดบาดแผลที่ฉกรรจ์น้อยกว่า (พูดให้ดีหน่อยก็คือดูแล้วมีมนุษยธรรมมากกว่า) ก็เลยมีการออกข้อตกลงห้ามใช้หัวกระสุนที่บานขยายตัว (expand) หรือแบนตัว (flatten) ได้ง่ายในร่างกายมนุษย์ โดยยกตัวอย่างหัวกระสุนที่ไม่ได้หุ้มเปลือกโลหะแข็งเอาไว้ทั้งหัว และ/หรือหัวกระสุนที่มีการบากหรือทำร่อง

กติกาเรื่องหัวกระสุนนี้ใช้กับการยิงกันระหว่างทหารกับทหารที่ทำการรบ ไม่ได้ครอบคลุมการใช้งานกับหน่วยงานภาคพลเรือนเช่นเจ้าหน้าที่ตำรวจนะ

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศหนึ่งที่ไม่ลงนามรับรองข้อตกลงข้อนี้ แต่ก็บอกว่าจะปฏิบัติตาม (กันครหา) ซึ่งหลังจากข้อตกลงดังกล่าวบังคับใช้ก็ยังไม่มีปัญหาใด ๆ จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้น
  
ปัญหาหนึ่งของฝ่ายสัมพันธมิตรที่เกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่ ๒ คือการส่งกำลังบำรุง โดยเฉพาะอาวุธปืนประจำกายทหาร เพราะสหรัฐอเมริก อังกฤษ (และประเทศในเครือจักรภพ) และฝรั่งเศส ต่างก็ใช้อาวุธประจำกายแตกต่างกันและใช้กระสุนที่แตกต่างกัน ดังนั้นหลังจากสงครามสิ้นสุดและมีการจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือที่เรียกว่านาโต้นั้น ก็ได้มีความพยายามที่จะให้สมาชิกทุกชาติใช้อาวุธปืนแบบเดียวกันและกระสุนแบบเดียวกัน จะได้ตัดปัญหาเรื่องการส่งกำลังบำรุง อเมริกาในฐานะหุ้นส่วนใหญ่คาดหวังว่าตนเองจะเป็นฝ่ายชนะทั้งอาวุธปืนและกระสุนปืน ซึ่งจะทำให้ประเทศอื่นในยุโรปต้องมาซื้ออาวุธและกระสุนจากอเมริกา
  
ผลออกมาปรากฏว่าอเมริกาชนะเรื่องชนิดของกระสุน คือกำหนดให้กระสุนมาตรฐานคือ 7.62 x 51 mm NATO (ถ้าเป็นกระสุนเชิงพาณิชย์จะเรียก .308 Win ซึ่งคำว่า Win ย่อมาจาก Winchester ที่เป็นผู้ออกแบบ ตัวเลข 7.62 มีหน่วยเป็นมิลลิเมตรคือเส้นผ่านศูนย์กลางหัวกระสุน ส่วน 51 คือความยาวปลอกกระสุนซึ่งมีหน่วยเป็นมิลลิเมตรเช่นกัน) ซึ่งเป็นกระสุนที่มีอาณุภาพเทียบเท่ากับกระสุน .30-06 ที่อเมริกาใช้อยู่ แต่ในส่วนของอาวุธประจำกายนั้นปรากฏว่าเบลเยี่ยมเป็นฝ่ายชนะการออกแบบด้วยปืน FN FAL
  
ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปที่อยู่ในกลุ่มนาโต้ทำการกติกาคือรับเอาปืน FN FAL เข้าเป็นอาวุธประจำกาย อเมริกากลับเป็นเพียงประเทศเดียวที่ไม่ทำตามข้อตกลง พยายามหันไปพัฒนาอาวุธประจำกายสำหรับทหารตัวเองขึ้นมา จนในที่สุดก็ออกมาเป็นปืน M-14 ซึ่งก็ทันให้ทหารสหรัฐถือเข้าสู้รบในสงครามเวียดนามเพื่อไปพบกับคู่ปรับที่ทำให้สหรัฐต้องกลับมาทบทวนแนวความคิดเรื่องอาวุธประจำกายทหารราบใหม่ (จากเดิมที่เคยมีการกล่าวเตือนแล้วแต่ไม่สนใจ) และทำให้ต้องยุติการผลิตปืน M-14 หลังจากนำเข้าประจำการได้ไม่นาน คู่ปรับนั้นคือ AK-47 หรือที่เราเรียกว่าอาก้าที่เป็น "Assault rifle" (ปืน M-14 จัดว่าเป็น Battle rilfe)
  
คู่มือที่อเมริกานำมาต่อกรกับอาก้าคือปืน M-16 ที่เป็น Assault rifle เช่นเดียวกับอาก้า โดยเปิดตัวมาพร้อมกับกระสุนชนิดใหม่คือ .223 Remington (บริษัท Remington เป็นผู้ออกแบบกระสุนบางทีจะย่อว่า Rem) ซึ่งต่อมากระสุนนี้ได้กลายเป็นกระสุนมาตรฐานนาโต้ที่มีชื่อว่า 5.56 x 45 mm NATO (5.56 คือขนาดคาลิเบอร์ส่วน 45 คือความยาวปลอก ทั้งคู่มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร) และกระสุนตัวใหม่นี้แหละที่ทำให้เกิดปัญหากับ Declaration (IV,3) ของ Hague Convention 1899


รูปที่ ๓ ผู้แต่งหนังสือที่ผมนำเอารูปมาประกอบ หนังสือเล่มนี้พิมพ์ที่โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในปีพ.ศ. ๒๕๑๙ เล่มจริงอยู่ที่ชั้น ๔ หอสมุดกลางของมหาวิทยาลัย
  
กระสุน .223 Rem ที่เปิดตัวมากับปืน M-16 เป็นหัวกระสุนแกนตะกั่วหุ้มทองแดงแบบ Full Metal Jacket (FMJ) หนัก 55 เกรน (ประมาณ 3.5 กรัม) วิ่งด้วยความเร็วที่ปากลำกล้องสูงถึงสามเท่าเสียง (ประมาณ 990 เมตรต่อวินาที) ด้วยลักษณะหัวกระสุนที่เล็ก และเมื่ออยู่ในระยะที่หัวกระสุนยังมีการแกว่งไปมาอยู่ในระหว่างการเคลื่อนที่นั้น (ที่เรียกว่า yaw) เมื่อหัวกระสุนกระทบกับเป้าหมายที่มีลักษณะอ่อนนุ่นเช่นเนื้อเยื่อคน หัวกระสุนจะเกิดการพลิกตีลังกา ทำให้พื้นที่หน้าตัดในทิศทางการเคลื่อนที่สูงขึ้น การถ่ายทอดพลังงานจึงสูงตามไปด้วย นอกจากนี้ถ้าหากการพลิกตีลังกานั้นเกิดขึ้นในขณะที่หัวกระสุนยังมีความเร็วสูง (เช่นจากการยิงในระยะใกล้) หัวกระสุนจะแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย (ดูตัวอย่างการแตกออกเป็นชิ้นเล็กน้อยของหัวกระสุนได้ใน Memoir ฉบับที่ ๑๖๒ ที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้) บาดแผลที่เกิดขึ้นจะฉกรรจ์มาก
  
รูปที่ ๔ และ ๕ เป็นรูปที่ผมนำมาจากตำรา "นิติเวชศาสตร์" เขียนเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๑๙ โดยนายแพทย์ทรงฉัตร และนายแพทย์ณรงค์ จากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล (รูปที่ ๓) ที่แสดงให้เห็นลักษณะบาดแผลที่เกิดขึ้นจากการยิงลำตัวในระยะห่างที่แตกต่างกัน (รูปที่ ๔) ซึ่งเป็นบาดแผลที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของหัวกระสุนที่ไม่ได้กระทบกับกระดูกก่อนเคลื่อนที่ลึกเข้าไปในร่างกาย และบาดแผลที่เกิดจากการยิงกระทบกระโหลกศีรษะ (รูปที่ ๕) ซึ่งเป็นบาดแผลที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของหัวกระสุนกระทบกับกระดูกก่อนที่จะเคลื่อนลึกเข้าไปในร่างกาย บาดแผลทางเข้าที่เกิดจากการยิงระยะใกล้นั้นจะมีผลของลำแก๊สร้อนความเร็วสูง (ที่เป็นตัวขับดันให้หัวกระสุนเคลื่อนที่) รวมอยู่กับบาดแผลที่เกิดจากการเจาะทะลุของหัวกระสุน



รูปที่ ๔ บาดแผลที่เกิดจากการทดลองยิงศพในส่วนลำตัวด้วยกระสุนไรเฟิลขนาด .223 (กระสุนปืน M-16)
  
บาดแผลในรูปที่ ๔ จะเห็นได้ชัดว่าในระยะห่างเพียงแค่ ๕ เมตร แม้ว่ารูทางเข้าจะเล็ก (คือขนาดประมาณเส้นผ่านศูนย์กลางของหัวกระสุนคือประมาณ ๕-๖ มิลลิเมตร) เพราะไม่ได้รับผลกระทบจากแก๊สร้อนที่พุ่งออกจากปากลำกล้อง แต่บาดแผลด้านทางออกนั้นจะมีขนาดใหญ่มาก (ในรูปมีขนาดประมาณ ๑๐ เซนติเมตร) ส่วนรูปที่ ๕ เป็นกรณีของการยิงเข้าศีรษะในระยะประชิดจากทางด้านหน้าไปด้านหลัง ในกรณีนี้หัวกระสุนจะกระทบเข้ากับกระโหลกศีรษะที่เป็นของแข็งก่อนที่จะเจาะลึกเข้าไปข้างใน ดังนั้นหัวกระสุนจึงมีโอกาสสูงที่จะแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยก่อนที่จะทะลุลึกเข้าไปข้างใน ซึ่งแตกต่างจากกรณีของรูปที่ ๔ ที่หัวกระสุนมีโอกาสที่จะเจาะลึกเข้าไปในระดับหนึ่งก่อนแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย




รูปที่ ๕ บาดแผลที่เกิดจากการทดลองยิงศพในส่วนศีรษะด้วยกระสุนไรเฟิลขนาด .223 (บน) บาดแผลทางเข้า (ล่าง) บาดแผลทางออก

อ่านมาถึงจุดนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับ Declaration (IV,3) ของ Hague Convention 1899 หรือเปล่าครับ ในข้อตกลงดังกล่าว "ระบุ" ถึงกระสุนที่ไม่ "expand" หรือ "flatten" ได้ง่าย ถ้าแปลเป็นไทยก็คงออกมาเป็น "สูญเสียรูปร่าง" แต่ความหมายของ "สูญเสียรูปร่าง" ในที่นี้หมายถึงยังคงเป็นชิ้นเดียวกันอยู่ และยังระบุถึงกระสุนที่ไม่ได้หุ้มเปลือกแข็งส่วนแกนเอาไว้ทั้งหมด (คือไม่มีหุ้มส่วนปลายแหลม) ในกรณีของกระสุน .233 Rem นี้ เป็นกระสุนที่มีการหุ้มเปลือกแข็งที่เรียกว่า Full Metal Jacket (FMJ) เอาไว้ทั้งหมด ดังนั้นมันจึงไม่ผิดข้อตกลง แต่กระสุนกลับมีพฤติกรรมที่ "disintegrate" หรือ "แตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย" ซึ่งก็ไม่มีการกล่าวถึงในข้อตกลง ดังนั้นถ้ามองตามตัวอักษรก็จะบอกว่าการใช้กระสุนชนิดนี้ไม่ผิดกติกา แต่ถ้าไปพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของการมีข้อตกลงดังกล่าวที่ไม่ต้องการให้เกิดบาดแผลฉกรรจ์ที่รุนแรงเกินไป กระสุนชนิดนี้ก็น่าที่จะเข้าข่ายผิดกติกา แต่เอาเข้าจริง ๆ ใครถูกใครผิดขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นฝ่ายชนะมากกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น