วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2558

เมื่อฝนแรกมา คงมีบุญตาได้เห็น ... MO Memoir : Sunday 11 January 2558

ขนาดของท่อระบายน้ำที่อยู่ตามถนนเพื่อรองรับน้ำฝนหรือน้ำทิ้งจากตัวอาคารต่าง ๆ นั้นขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่คาดการณ์เอาไว้ว่าต้องรองรับ น้ำทิ้งจากตัวอาคารต่าง ๆ มักมาตามท่อน้ำทิ้งออกจากตัวอาคารและต่อเข้ากับบ่อพักโดยตรงและมักจะไหลมาแบบเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังมักไม่ค่อยมีขยะอะไรติดมา เพราะขยะมักจะถูกดักออกตั้งแต่จุดรองรับน้ำทิ้งของอาคาร ที่เป็นปัญหามากกว่าน่าจะเป็นน้ำฝน เพราะช่วงฝนตกหนักจะมีน้ำในปริมาณมากในเวลาอันสั้น ถ้าหากระบบท่อระบายนั้นรองรับไม่ไหวก็จะเกิดการสะสมของน้ำบนผิวจราจรได้
  
ในบ้านเรานั้น ถ้าเป็นถนนประเภททางหลวงที่ตัวถนนเองนั้นจะสูงกว่าพื้นที่ข้างทางซึ่งมักจะไม่มีการสร้างท่อระบายน้ำอยู่ข้างถนน แต่ก่อนที่เห็นเป็นปรกติก็จะก่อสร้างโดยให้ถนนนั้นสูงตรงกลางและลาดต่ำลงด้านข้างแบบที่เรียกว่า "โค้งหลังเต่า" ทั้งนี้เพื่อให้น้ำฝนที่ตกลงบนถนนนั้นไหลออกไปทางไหล่ทางได้สะดวก แต่พักหลักมักจะเห็นถนนที่ทำการก่อสร้างใหม่หรือปรับปรุงใหม่นั้นมักจะได้ระดับเสมอกันทั้งด้านข้างและตรงกลาง ทำให้มีปัญหาเรื่องการสะสมของน้ำฝนบริเวณตอนกลางของถนน แต่ถ้าเป็นถนนในเมืองที่มีทางเท้า ทางเท้าก็มักจะยกขึ้นสูงกว่าผิวจราจร และถ้าทางเท้ามีขนาดกว้างพอก็มักจะวางท่อระบายน้ำไว้ใต้ทางเท้านั้น และมีช่องรองรับน้ำฝนเพื่อระบายน้ำฝนลงสู่บ่อพักของระบบท่อระบายน้ำ ช่องรองรับน้ำฝนที่เห็นตัวไปก็จะเป็นช่องเปิดในแนวดิ่งที่มีตะแกรงเหล็กขวางเอาไว้กันขยะชิ้นใหญ่หลุดรอดเข้าไป (รูปที่ ๑) ระบบนี้มันก็มีข้อดีตรงที่ว่าไม่ก่อให้เกิดปัญหากับรถจักรยานและจักรยานยนต์ (ที่มักมีปัญหากับฝาท่อระบายที่เป็นแบบตะแกรงเหล็ก) และไม่ต้องกลัวฝาบ่อพักพังเพราะรับน้ำหนักรถที่วิ่งผ่านไม่ไหวด้วย (ถนนในซอยบ้านผมไม่มีทางเท้า แต่มีรถใหญ่วิ่งได้ ฝาบ่อพักที่เป็นคอนกรีตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผิวจราจรมักจะพังเป็นประจำ กลายเป็นกับดักรถเล็กเสมอ)
  
ในกรณีของระบบท่อระบายน้ำที่อยู่ทางด้านข้างถนนนั้น ฝาบ่อพักก็มักจะเป็นกลายเป็นส่วนหนึ่งของผิวจราจรด้วย (กล่าวคือโดนรถวิ่งทับ) ฝาบ่อพักที่เป็นคอนกรีตมันดีตรงที่มักจะไม่โดนขโมยเอาไปขาย แต่มันแย่ตรงที่มักจะแตกหักได้ง่าย และทำรูรับน้ำฝนให้ไหลลงท่อให้มีช่องใหญ่ไม่ได้ ส่วนฝาบ่อพักที่เป็นเหล็กนั้นมันแตกหักยากกว่า ทำให้มันเป็นตะแกรงเพื่อให้น้ำฝนไหลลงท่อได้สะดวกก็ได้ แต่มักจะโดนขโมยเอาไปขาย และร่องตะแกรงที่มีขนาดใหญ่ยังก่อปัญหากับรถจักรยานและจักรยานยนต์ที่มีหน้ากว้างล้อที่แคบ ที่สามารถตกลงไปในร่องตะแกรงนั้นได้

รูปที่ ๑ ท่อรับน้ำฝนแบบที่เห็นกันได้ทั่วไปตามทางเท้าต่าง ๆ
  
ในกรณีของระบบท่อระบายน้ำที่อยู่ทางด้านข้างของผิวจราจร (แต่ไม่ได้อยู่ใต้ทางเท้า) ที่เห็นเป็นปรกติก็คือนอกเหนือจากจะทำให้ผิวจราจรนั้นลาดเอียงจากตรงกลางลงสู่ทางด้านข้างแล้ว ตลอดแนวความยาวด้านข้างของถนนก็จะทำเป็นร่องหรือรางน้ำเพื่อให้น้ำที่ไหลจากกลางถนนมาทางด้านข้างนั้นไหลลงสู่รูระบายน้ำของบ่อพักได้ง่ายขึ้น รูปที่ ๒ ที่เอามาให้ดูเป็นสภาพเดิมของระบบท่อระบายน้ำของถนนหลักเส้นหนึ่งของหน่วยงานที่ผมทำงานอยู่ รูปนี้ถ่ายเอาไว้เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วก่อนที่เขาจะทำการปรับปรุงระบบท่อระบายน้ำ ระบบเดิมนั้นเป็นรางรูปตัว U มีฝาคอนกรีตปิดตลอดด้านบนของราง โดยบางฝาจะมีช่องที่เป็นตะแกรงเหล็กสำหรับให้น้ำฝนไหลลงราง หรือบางตำแหน่งเขาก็วางเป็นตะแกรงเหล็กเลย ระบบเดิมก่อนการปรับปรุงนั้นมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมขังเป็นประจำภายหลังฝนตกหนัก จึงทำให้ต้องมีการแก้ไข
 

รูปที่ ๒ ระบบรางระบายน้ำเดิมก่อนการปรับปรุง (ถ่ายไว้เมื่อพฤษภาคม ๒๕๕๗)

ถ้าไม่นับปัญหาเรื่องระดับน้ำของจุดรองรับน้ำ (เช่นคลอง บึง แม่น้ำ เป็นต้น) มีระดับที่สูง สาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมขังบนผิวจราจรก็เห็นจะได้แก่การที่ (ก) ท่อระบายมีขนาดเล็ก ระบายน้ำออกสู่จุดรองรับน้ำได้ไม่ทัน หรือ (ข) น้ำไม่สามารถไหลลงสู่ท่อได้ทันเนื่องจากรูรองรับน้ำอุดตันหรือมีไม่พอ ดังนั้นต่อให้ท่อระบายที่อยู่ข้างใต้มีขนาดใหญ่แค่ไหน น้ำก็ไหลลงท่อไม่ได้อยู่ดี ปัญหาเรื่องน้ำท่วมขังผิวจราจรก็ยังคงอยู่ แต่ถ้าทำให้รูรองรับน้ำให้ไหลลงท่อนั้นมีขนาดใหญ่ ไม่เพียงแต่น้ำจะไหลลงท่อได้สะดวก ขยะต่าง ๆ ก็จะไหลลงท่อได้ง่ายด้วย แต่ในทางกลับกันถ้ารูรองรับน้ำให้ไหลลงท่อนั้นมีขนาดเล็ก ขยะต่าง ๆ ก็จะหยุดรอดเข้าไปในท่อระบายน้ำได้ยาก แต่รูรองรับน้ำก็จะอุดตันได้ง่าย
  
ขยะที่เห็นว่าก่อปัญหาให้กับรูรองรับน้ำให้ไหลลงท่อระบายนั้นมีอยู่สองชนิด ชนิดแรกคือขยะที่คนทิ้งไม่เป็นที่ ชนิดที่สองคือใบไม้ที่ร่วงหล่นตามฤดูกาล
  
เมื่อปลายเดือนที่แล้ว การปรับปรุงถนนและระบบท่อระบายน้ำ (เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมตามที่เขาบอก) ของหน่วยงานที่ผมทำงานอยู่มีความคืบหน้าไปมากแล้ว ก็เลยถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกหน่อยเพื่อเป็นการบันทึกว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อใด และมีหน้าตาเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ซึ่งก็ออกมาเป็นดังรูปที่ ๓
 
รูปที่ ๓ ระบบระบายน้ำหลังการปรับปรุง (ถ่ายไว้เมื่อธันวาคม ๒๕๕๗)

มีเพลงอยู่เพลงหนึ่งที่มีเนื้อเพลงท่อนหนึ่งกล่าวว่า "เมื่อปลายปี ดอกจามจุรี ร่วงหล่น ทิ้งใบเกลื่อนถนน เหลือเพียงลำต้น ยืนไว้" จะว่าไปแล้วผมก็ไม่เคยเห็นต้นจามจุรี (หรือก้ามปู) ทิ้งใบจนเหลือแต่ต้นเปล่า ๆ เห็นแต่เพียงแค่ช่วงฤดูหนาวนั้นมันจะมีใบร่วงมากเป็นพิเศษ ตอนกลางเดือนที่แล้วก็เป็นช่วงที่ต้นใบจามจุรีร่วงมากพอดี และถนนที่เขาทำการปรับปรุงนั้นก็มีการปลูกต้นจามจุรีเอาไว้ตลอดสองข้างทางเพื่อให้ร่มเงา ผมก็เลยถือโอกาสแวะเยื่ยมชมผลงานการปรับปรุงหน่อยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งก็ได้ตัวอย่างมาดังแสดงในรูปที่ ๔
  
จุดรองรับน้ำฝนแบบใหม่ที่นำมาใช้นี้เป็นระบบสองชั้น โดยส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างจุดรองรับกับท่อระบายที่อยู่ข้างใต้นั้นเป็นตะแกรงเหล็กแบบนูน (รูปที่ ๔ ล่าง) ที่ปิดทับเอาไว้ด้วยตะแกรงเหล็กแบบแบนอีกชั้นหนึ่ง (รูปที่ ๔ บน) และเพื่อป้องกันไม่ให้ตะแกรงเหล็กถูกขโมยเอาไปขายเป็นเศษเหล็กได้ง่าย จึงได้ทำการยึดตะแกรงเอาไว้ด้วยการใช้สกรูยึดเอาไว้ (ในวงรีสีเหลืองในรูปที่ ๔ บน) ดังนั้นใครจะมาขโมยตะแกรงเหล็กนี้จำเป็นต้องติดไขควงมาด้วย
ด้วยระบบการป้องกันตะแกรงสองชั้นจึงทำให้มั่นใจว่าปัญหาเรื่องขยะอุดตันในท่อระบายน้ำจะหมดไป เพราะขยะที่เป็นชิ้นเล็ก ๆ เช่นใบจามจุรีที่ร่วงหล่นลงมานั้น แม้ว่าจะสามารถรอดผ่านช่องว่างของตะแกรงเหล็กชั้นบนได้ แต่ก็ยากที่จะรอดผ่านตะแกรงเหล็กชั้นที่สองได้ง่าย ทำให้ถูกกักเก็บเอาไว้อย่างมีประสิทธิภาพระหว่างตะแกรงเหล็กทั้งสองชั้นนั้นซึ่งเห็นได้ชัดในรูปที่ ๔ และ ๕ ที่เอามาให้ชมกัน
 

รูปที่ ๔ สิ่งที่เกิดขึ้นกับตำแหน่งให้น้ำฝนไหลลงท่อระบาย (ถ่ายไว้เมื่อกลางเดือนธันวาคม ๒๕๕๗)

ใบไม้ที่มันลงไปสะสมในจุดรองรับน้ำฝนให้ไหลลงท่อนั้น ไม่ได้ลงไปเพราะน้ำฝนพัดพาลงไปนะครับ แต่เป็นเพราะลมพัด โดยอาจมีบางส่วนเกิดจากการกวาดเอาใบไม้ออกที่อาจทำให้มีการเขี่ยให้ใบไม้บางส่วนร่วงหล่นลงไป ซึ่งถ้าไม่มีตะแกรงชั้นล่างอยู่ ใบไม้ดังกล่าวก็จะตกลงไปสะสมในบ่อพักข้างล่าง ดังนั้นระบบนี้จึงช่วยลดปัญหาขยะสะสมในบ่อพัก
ระบบตะแกรงสองชั้นนี่จะว่าไปแล้วตามบ้านเรือนก็มีใช้กันตรงอ่างล้างจานบางแบบ ที่มีตะกร้าพลาสติกรองรับเศษอาหารที่หลุดรอดจากตะแกรงอ่างอีกชั้นหนึ่ง ก่อนปล่อยให้น้ำไหลลงท่อ ระบบอ่างล้างจานก็เป็นระบบที่ออกแบบมาให้ทำความสะอาดได้ง่าย แค่สวมครอบเอาไว้เฉย ๆ จะเทขยะทิ้งทีก็เพียงแค่ยกขึ้นแล้วเอาขยะไปเทใส่ถังขยะ ไม่จำเป็นต้องมีการถอดสกรูหรือถอดนอตใด ๆ ทั้งสิ้น


รูปที่ ๕ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาก็มีสภาพแบบนี้ทั่วไปหมดแล้ว

สิ่งที่ระบบระบายน้ำใหม่กำลังรอคอยอยู่คือการทดสอบจริง ก็ได้แต่รอว่าเมื่อใดจะมีฝนตกหนักเป็นครั้งแรกซักที (ที่ผ่านมาเรียกว่าตกสร้างความรำคาญมากกว่า) และเมื่อถึงเวลานั้นเราก็คงจะมีโอกาสที่จะได้เห็น .... (เติมเอาเองแล้วกันครับ แต่รอให้หลังฝนตกหนักก่อนจะดีกว่า) ....

งานนี้หวังว่าเขาคงไม่แก้ปัญหาใบไม้อุดตันรูรองรับน้ำฝนด้วยการตัดต้นจามจุรีทิ้งแล้วปลูกกล้วยแทนนะ :)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น