วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สุภาพสตรีกับคอมพิวเตอร์ ในสวนสาธารณะ MO Memoir : Sunday 8 February 2558

"One day ladies will take their computers for walks in the park and tell each other, “My little computer said such a funny thing this morning." " (Allan Turing)
  
ถ้าแปลเป็นไทยก็คงจะได้ว่า "สักวันหนึ่ง สุภาพสตรีจะออกไปเดินเล่นในสวนสาธารณะกับคอมพิวเตอร์ของพวกเขา และจะคุยระหว่างกันว่า "เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องเล็ก ๆ ของฉันเล่าสิ่งตลก ๆ ให้ฟังเมื่อเช้าวันนี้" "

ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ (ค.ศ. ๑๙๐๐ - ๑๙๙๙) นับว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความแตกต่างทางเทคโนโลยีเป็นอย่างมากระหว่างช่วงต้นกับช่วงปลายคริสต์ศตวรรษ
 
มีคนกล่าวว่าคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เป็นยุครุ่งโรจน์ของเคมี คริสต์ศตววษที่ ๒๐ เป็นยุคของฟิสิกส์ และคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ จะเป็นยุคของเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นเช่นนั้น
 
วิชาเคมีมีการพัฒนาอย่างมากในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ มีการค้นพบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ว่าสารไหนทำปฏิกิริยากับสารไหนแล้วจะได้ผลิตภัณฑ์อย่างไร แต่สิ่งที่ขาดไปก็คือคำอธิบายว่าทำไปจึงได้ผลเช่นนั้น สิ่งที่ตามมาก็คือทำให้วิชาเคมีต้องเต็มไปด้วยการท่องจำ ชื่อบุคคลต่าง ๆ ที่ถูกนำตั้งชื่อการทำปฏิกิริยาที่เขาค้นพบ (เพราะมันไม่มีคำอธิบายกฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้น รวมทั้งการที่ทำไมกฏฎเกณฑ์เหล่านั้นถึงมีข้อยกเว้น) สาเหตุหลักในเรื่องนี้น่าจะเป็นเพราะยังขาดแบบจำลองโครงสร้างอะตอมที่ดีที่จะนำมาใช้ในการอธิบายการทำปฏิกิริยาและการสร้างพันธะทางเคมีของระหว่างอะตอมต่าง ๆ
  
พัฒนาการด้านแบบจำลองโครงสร้างอะตอมที่เริ่มในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ไม่เพียงแต่ช่วยให้คำอธิบายแก่กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในการทำปฏิกิริยาเคมีที่ตั้งกันมาในคริสต์ศตวรรษก่อนหน้า ความรู้ความเข้าใจทางด้านโครงสร้างอะตอมและโมเลกุลนำไปสู่ความรู้ทางด้านการถ่ายทอดพันธุกรรม ซึ่งต่อไปสู่การดัดแปลงพันธุกรรมที่กำลังเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันในแง่ต่าง ๆ ในปัจจุบัน 
  
นอกจากนี้พัฒนาการของแบบจำลองโครงสร้างอะตอมไม่เพียงแต่นำไปสู่การพัฒนาที่สำคัญทางด้านพลังงานนิวเคลียร์ แต่ยังนำไปสู่การพัฒนาที่ทำสำคัญทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการพัฒนาสารกึ่งตัวนำที่ทำให้เราสามารถผลิตคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็กลงมากแต่มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น
  
ในช่วงปีค.ศ. ๑๙๙๙ (พ.ศ. ๒๕๔๒) นิตยสาร TIME ได้ทำการรวบรวมเหตุการณ์และบุคคลสำคัญของศตวรรษที่ ๒๐ ในด้านต่าง ๆ เอาไว้ และฉบับวันที่ ๒๙ เดือนมีนาคมก็เป็นการรวบรวม ๑๐๐ นักคิดที่ความคิดของเขาส่งอิทธิพลต่อการพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์ สำหรับด้าน Computer Science นั้นทางนิตยสาร TIME ยกตำแหน่งนี้ให้กับ Alan Turing นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ ที่เป็นผู้ที่นำเสนอแนวความคิดที่สำคัญที่เป็นรากฐานในการทำงานของคอมพิวเตอร์
  
ก่อนหน้ายุคของ Alan Turing ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ อังกฤษก็มี Charles Babbage ที่นำเสนอแนวความคิดเรื่อง Difference Engine ที่เป็นเครื่องจักรกลที่สามารถทำการคำนวณแทนมนุษย์ แต่เครื่องจักรดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นในยุคของ Babbage ต้องรอให้ครบรอบวันเกิด ๒๐๐ ปี เครื่อง Difference Engine จึงได้รับการเปิดตัวที่ Science Museum ในกรุงลอนดอน (ซึ่งมันตั้งอยู่ข้าง ๆ College ที่ผมเรียนอยู่ ณ เวลานั้นผมก็เลยได้มีโอกาสแวะไปเยี่ยมชม)
  
Alum Turing เป็นหนึ่งในทีมนักถอดรหัสของอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ทำงานที่ Bletchley park ซึ่งผลงานของทีมนักถอดรหัสดังกล่าวถูกเก็บเป็นความลับเอาไว้เป็นเวลานาน แม้แต่เครื่องดิจิตอลคอมพิวเตอร์ที่สามารถโปรแกรมได้เครื่องแรกของโลก (เครื่อง Colossus) ที่ถูกสร้างขึ้นที่นี้ก็ยังถูกเก็บเอาไว้เป็นความลับ
  
สำหรับคนที่ยังเคยได้ยินชื่อว่า Alan Turing เป็นใครและมีผลงานที่สำคัญอะไร ก็ขอเชิญอ่านได้จากบทความที่นิตยสาร TIME ฉบับวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ นำเสนอ ส่วนจะมีเนื้อหาตรงกับที่ปรากฏในภาพยนต์เรื่อง Imitation Game ที่กำลังฉายอยู่ในโรงภาพยนต์มาช่วงเวลาหนึ่งแล้วหรือไม่นั้น ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะยังไม่คิดจะไปดูภาพยนต์เรื่องดังกล่าว
  





วันที่ ๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๔ (พ.ศ. ๒๔๙๗) หรือ ๑๐ ปีกับอีก ๑ วันนับจากวัน D-day ที่กองทัพสัมพันธมิตรนำทัพโดยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และแคนาดา ยกพลขึ้นบกที่ประเทศฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่ ๒ Alla Turing (เจ้าของประโยคที่ผมนำมาขึ้นต้นบทความฉบับนี้) จบชีวิตของเขาเองด้วยการกินแอปเปิลทาไซยาไนด์ ซึ่งเป็นผลจากกฎหมายของอังกฤษในช่วงเวลานั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น