วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

๑๑ ปีที่เวียนวน (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๙๑) MO Memoir : Monday 9 March 2558

"สนามเด็กเล่นหลังเวลาเลิกเรียน" จะเรียกว่ามันเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายก็ได้ แต่ก็เป็นความวุ่นวายที่เปี่ยมไปด้วยความสุข

คนทั่วไปมักคิดว่าโรงเรียนนี้มีเพียงโรงเรียนเดียว (ตอนแรกผมก็คิดอย่างนั้น) แต่อันที่จริงโรงเรียนนี้มันมี ๒ โรงเรียน แยกเป็นฝ่ายประถม (ป.๑ ถึง ป. ๖) และฝ่ายมัธยม (ม. ๑ ถึง ม. ๖) มีผู้บริหารคนละชุดกัน
เด็กป. ๑ จะเลิกเรียนราว ๆ ๑๔.๔๐ น จากนั้นก็จะไปกินของว่างกันที่โรงอาหาร (เป็นชั้นเดียวที่มีของว่างยามบ่ายกิน) แล้วก็กลับมาเก็บของที่ห้องเรียนและเลิกเวลา ๑๕.๐๐ น ส่วนชั้นเด็กโตขึ้นก็จะเลิกเรียนเวลา ๑๕.๐๐ น หรือไปถึงประมาณ ๑๕.๓๐ น
 
โรงเรียนนี้ไม่มีการเรียนพิเศษวิชาการในช่วงเย็น ที่เปิดให้เรียนก็จะเป็นพวกกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสค้นพบตัวเองว่าถนัดในด้านไหน เช่น กีฬา ดนตรี ศิลป งานฝีมือ ฯลฯ พวกนี้ซะมากกว่า ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าอาจารย์จะไม่สอนเต็มที่ในห้องเรียน (จากการที่ได้พูดคุยกับผู้ปกครองที่ลูกเรียนในบางโรงเรียนก็พบว่าบางแห่งอาจารย์มีการกั๊กสิ่งที่ควรสอนในห้องเรียนเอาไว้บางส่วนมาสอนตอนเรียนพิเศษหลังเลิกเรียน (เก็บค่าเล่าเรียนเพิ่ม) ซึ่งเป็นการบังคับทางอ้อมให้นักเรียนต้องเรียนพิเศษกันทุกคน) และการเรียนพิเศษเขาก็ไม่ได้เรียนกันมากมายอะไร เพียงแค่ชั่วโมงเดียวก็เลิกแล้ว เรียกว่าพอบ่ายสี่โมงครึ่งทางโรงเรียนก็ประกาศให้นักเรียนทุกคนลงมาจากตึก และพอห้าโมงเย็นก็เรียกให้ทุกคนมารวมตัวกันหน้าโรงเรียนเพื่อรอให้ผู้ปกครองมารับกลับบ้าน
 
ลูกผมตอนเรียนอนุบาลก็ได้เรียนโรงเรียนที่มีแนวทางการเรียนแบบเดียวกับโรงเรียนที่ได้เข้าเรียนต่อชั้นประถม คือไม่ได้เน้นยัดความรู้ (ที่ผู้ใหญ่ต้องการให้เด็กเรียนรู้) ให้กับเด็ก แต่เน้นไปที่การพัฒนาการตามวัยของเด็ก ให้รักการเรียน รู้จักค้นหา มีจินตนาการ ให้เด็กค้นพบตัวเองว่าชอบอะไร ตอนที่มาสอบเข้าโรงเรียนนี้ยังอ่านหนังสือได้เพียงแค่คำง่าย ๆ บางคำเท่านั้น อาศัยครูคุมสอบอ่านข้อสอบให้ฟัง แต่พอผ่านไปเพียงแค่เทอมเดียว ก็สามารถไล่ทันเด็กคนอื่นที่อ่านหนังสือได้ (เรียกว่าคล่องก็ได้) ตั้งแต่ก่อนเข้าป. ๑
 
การเรียนรู้ของเด็กนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ความรู้จากตำรา เด็ก ๆ ยังต้องเรียนรู้การดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่น และผมเองก็มองว่าการเล่นของเด็กนั้นไม่เพียงแค่เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ของเขา แต่ยังเป็นการออกกำลังกายของเขาด้วย
 
เด็กนั้นมีความสามารถในการสร้างการละเล่นของเขาขึ้นมาเอง กำหนดกติกากันเอง และเป็นเรื่องปรกติที่เห็นเขาเล่นกันเพื่อความสนุกสนาน มากกว่าการเล่นเพื่อเอาชนะหรือเพื่อแสดงตนให้เห็นว่าเก่งกว่าคนอื่น (แบบที่พ่อแม่จำนวนไม่น้อยต้องการเช่นนั้น)
 
โรงเรียนที่ลูกผมเรียนกับที่ทำงานผมก็อยู่ใกล้กัน ตอนเช้าก็ต้องส่งลูกมาให้ทันเข้าแถวก่อน ๗.๕๐ น แล้วผมก็เลยไปทำงานต่อ วันไหนมาเร็วก็จอดรถก่อน ตอนลูกเล็ก ๆ ก็เดินแบกกระเป๋ามาส่งลูกที่หน้าโรงเรียน จากนั้นก็ให้เขาสะพายกระเป๋าเข้าโรงเรียนไป ส่งถึงทางเข้าห้อง แล้วผมก็เดินต่อไปยังที่ทำงาน ถ้ามาถึงสายก็จอดรถใกล้ประตูแล้วให้เขาเดินเข้าไปเอง


สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ผมพบว่าอาจารย์ของโรงเรียนนี้พยายามจะให้ผู้ปกครองทำความเข้าใจก็คือ อย่าไปดูคะแนนเฉลี่ยของเด็กว่าได้มากหรือน้อยเท่าใด หรือไปแปลผลคะแนนสอบว่าเด็ก "เก่ง" หรือ "ไม่เก่ง" แต่ให้มองว่าเขา "ถนัด" หรือ "ไม่ถนัด" เมื่อพบว่าเขาทำคะแนนได้ดีในด้านใด ก็แสดงว่าเขามีความถนัดในด้านนั้น และก็ควรที่จะส่งเสริมเขาให้มีการพัฒนาทางที่เด็กคนนั้นถนัด ไม่ใช่ทางด้านที่ผู้ปกครองต้องการ บ่อยครั้งที่ผมเห็นผู้ปกครองที่เห็นเด็กทำคะแนนสอบไม่ได้ดังใจก็มาลงเอาที่เด็ก หรือไม่ก็ใช้คะแนนสอบของลูกมาเป็นตัวคุยโอ้อวดข่มทับกับ
 
ภรรยาของผมเคยเกริ่มกับผมว่าควรจะให้ลูกไปเรียนพิเศษตามที่ต่าง ๆ เหมือนกับลูกคนอื่นที่ผู้ปกครองเขาเอามาพูดคุยโอ้อวดกันไหน ผมก็ตอบไปว่าผมเจอมากับตัวเองหลายรายแล้ว เด็กที่ถูกยัดเยียดความต้องการของผู้ปกครองให้ตั้งแต่เล็ก พอโตขึ้นมาถึงแม้ว่าจะสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในคณะที่ได้ชื่อว่าเป็นชั้นนำของประเทศ สุดท้ายเมื่อเขาไม่สามารถรับความกดดันได้อีกในขณะที่กำลังเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย ผลนั้นลงเอยอย่างไร
 
ผมถึงเคยกล่าวว่าผมจะไม่รู้สึกแปลกใจถ้าเห็นข่าวนิสิตฆ่าตัวตายเพราะผลการเรียนไม่ได้ดังใจ (ของใครสักคน)








 





  


เลิกงานตอนสี่หรือห้าโมงเย็นผมก็เดินมารับลูกกลับบ้าน วันไหนเขาเหนื่อยก็จะขอกลับบ้านเร็ว แต่ส่วนใหญ่มักจะพบว่าติดพันอยู่กับเพื่อน ๆ เรียกว่าถ้ายังมีเพื่อนอยู่ก็ยังเล่นกันไม่เลิก เรียกว่าสนามเด็กเล่นสนามเดียวมีเด็กเล่นอะไรต่อมิอะไรกันไม่รู้กี่อย่าง แต่เขาก็เล่นกันได้ และเล่นกันได้อย่างมีความสุข ผมเองก็ฆ่าเวลาด้วยการเอาหนังสือไปนั่งอ่านรอสลับกับดูเด็กเล่นวิ่งเล่นอยู่ในสนาม
 
ปรกติผมก็ทำหน้าที่เป็นผู้รับ-ส่งลูกเกือบทุกวัน จะมียกเว้นบางในบางวันที่งานสอนเลิกค่ำ หรือไม่ก็ติดธุระไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ (ซึ่งในแต่ละปีก็มีไม่กี่วัน) ที่ต้องวานให้คนอื่นทำหน้าที่รับ-ส่งเอง เวลาหลังเลิกเรียน ลูกคนโตนั้นถ้าไม่ปีนป่ายเล่นทรายอยู่ที่สนามเด็กเล่น ก็จะไปกินขนมที่โรงอาหารหรือขึ้นไปอ่านหนังสืออยู่บนห้องสมุดกับเพื่อน ส่วนลูกคนเล็กก็มักจะเกาะแกะช่วยงานอาจารย์ประจำชั้นหลังเลิกเรียน จนถึงเวลาปิดห้องเรียนหรือไม่ก็ครูลงจากตึก จึงค่อยลงมา พอโตขึ้นหน่อยก็ไปอยู่ตามห้องกิจการนักเรียนและห้องวงโยธวาทิต และกว่าจะเข้าบ้านได้ก็มีบ่อยครั้งที่ต้องไปแวะซื้อของต่าง ๆ สำหรับให้ลูกทำการบ้านและงานฝีมือก่อนจะเข้าบ้าน โชคดีที่ทางเข้าปากซอยมีร้านขายเครื่องเขียนใหญ่อยู่สองร้าน จึงไม่ค่อยมีปัญหาในการหาซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ 
  
สภาพภายนอกของโรงเรียนส่วนใหญ่ยังเหมือนเดิม มีการตกแต่งซ่อมแซมในบางส่วน สิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดเห็นจะได้แก่การมีอาคารหลังใหม่ปรากฏขึ้นมาเนื่องในโอกาสที่โรงเรียนมีอายุครบ ๕๐ ปี โดยได้รื้ออาคารเอนกประสงค์หลังเดิมทิ้งไป (เป็นเพียงแค่โรงเรือนมีหลังคา) ส่วนสภาพห้องเรียนภายในก็มีการปรับปรุงและพัฒนาไปตามการศึกษา ซึ่งตรงนี้ต้องขอชื่นชมผลงานของคณะผู้บริหารสมาคมผู้ปกครองที่ทำหน้าที่ได้ดีมาตลอด

โรงเรียนนี้ผมเดินเวียนเข้าออกเพื่อรับส่งลูกตั้งแต่คนโตเข้าเรียน ป. ๑ จนกระทั่งถึงเดือนนี้ที่คนเล็กจบ ป. ๖ และจะย้ายไปยังฝั่งโรงเรียนมัธยมในปีการศึกษาหน้า และเดือนนี้ก็คงจะเป็นเดือนสุดท้ายที่จะได้เข้าไปนั่งรอรับลูกกลับบ้านในโรงเรียนนี้ หลังจากที่ทำเป็นกิจวัตรประจำติดต่อกันมาเป็นเวลา ๑๑ ปี


เรื่องนี้ก็อาจมีส่วนที่ทำให้หน้าที่การงานไม่ได้ก้าวหน้าไปไหนในช่วงเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา แต่จะว่าไปแล้วมันก็เป็นการตัดสินใจเลือกของผมเอง และผมก็พบว่ามันเป็นการตัดสินใจเลือกที่ไม่ผิด เพราะความสุขจากการที่เราได้อะไรมาเป็นของเรา กับการที่เราได้ทำให้ลูกของเราได้อะไรมานั้น มันไม่เหมือนกัน :)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น