วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558

ใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร ปลอดภัยกว่า MO Memoir : Thursday 19 March 2558

วัสดุอะไรก็ตามที่เห็นว่ามันไม่ปลอดภัยที่จะนำมาใช้ในการบรรจุอาหาร ต้อง "สั่งห้าม" การใช้ครับ ต้องออกเป็นกฎหมายบังคับใช้เลย ทำทำนองเดียวกับบุหรี่และสุราที่ทำการควบคุมการจำหน่ายไปเลย ไม่ใช่ทำเพียงแค่ออกมาเพียงแค่ "รณรงค์" ทำเพียงแค่รณรงค์มันเหมือนกับว่าข้อกล่าวหานั้นมันคงจะ "ไม่จริง" ก็เลยไม่กล้ารณรงค์ให้ออกเป็นกฎหมาย

เมื่อช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเห็นมีข่าวหน่วยงานของรัฐหน่วยงานหนึ่งคือ "กรมอนามัย" รณรงค์เลิกใช้กล่องโฟม โดยอ้างว่าเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ที่ทำให้ผมแปลกใจก็คือ "กรมอนามัย" เป็น "หน่วยงานของรัฐ" ชื่อของกรมก็บอกอยู่แล้วว่ามีหน้าที่อะไร ดังนั้นถ้าหากว่าเห็นสิ่งใดเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทางกรมก็น่าจะผลักดันให้ออกกฎหมาย "ห้ามใช้" ไม่ใช่ทำเพียงแค่ "เชิญชวน" และจะว่าไปแล้วเหตุผลที่มีการกล่าวอ้างถึงอันตราย (การปนเปื้อนของสารสไตรีนในอาหารที่บรรจุในกล่องโฟม) นั้นก็ทางกรมไม่ได้แสดงหลักฐานชัดเจนว่าทางกรมได้มีการทดสอบและพิสูจน์แล้วว่าเกิดขึ้นจริง เพราะถ้าทางกรมมีหลักฐานยืนยันแน่นอน ก็ควรที่จะผลักดันให้มีการออกเป็นกฎหมายบังคับห้ามการนำมาใช้ไปเลย 

รูปที่ ๑ กล่องบรรจุอาหารที่ซื้อมาจากตลาดนัดในหน่วยงาน เดิมร้านนี้เขาใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร พอทางหน่วยงานเขารณรงค์ไม่ให้ใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร เขาก็เปลี่ยนมาเป็นกล่องพลาสติกใส ชื่อพลาสติกที่ใช้ผลิตระบุเอาไว้ในวงกลมเหลือง
 
อันที่จริงเรื่องเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์กล่องโฟมผมเคยเขียนเอาไว้แล้วครั้งหนึ่งเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว (Memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๗๗ วันพุธที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ เรื่อง "เรื่องของสไตรีน (คิดสักนิดก่อนกด Share เรื่องที่ ๑)" ซึ่งตอนนั้นผมได้กล่าวถึงการพิจารณาข้อมูล ที่มีการให้ข้อมูลมาเป็นจุด ๆ ที่ "ดูเหมือน" ว่าสัมพันธ์กัน ที่ทำให้คนรับข้อมูลที่ไม่มีความรู้ที่ดีพอนั้นเข้าใจผิดได้ และปัญหาก็คือข้อมูลที่ให้มักเป็นข้อมูลที่ดูเหมือนเป็น "ข้อมูลทางเทคนิค" จากคนที่เป็น "ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง" ที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าสิ่งที่เขาอ้างนั้นถูกต้องหรือไม่
  
รูปที่ ๒ พลาสติกมันใสก็เลยถ่ายรูปยากหน่อย (ด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือ) พลาสติกที่ใช้ทำกล่องนี้ก็คือพอลิสไตรีนครับ ตัวเดียวกับที่ใช้ทำ "กล่องโฟม"

ในกรณีของการโจมตีกล่องโฟมที่ใช้บรรจุอาหารนั้น พอจะสรุปข้อมูลการโจมตีได้ดังนี้

(ก) สไตรีนที่ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตพอลิสไตรีนที่มาทำเป็นกล่องโฟมนั้นเป็นสารก่อมะเร็ง อันนี้ผมไม่เถียง เพราะมันมีรายงานผลการทดลองและวิจัย
(ข) พอลิสไตรีนทำจากสไตรีน อันนี้ผมก็ไม่เถียง เพราะบ้านเราก็มีโรงผลิตอยู่ให้เห็น
(ค) สไตรีนละลายได้ดีในน้ำมันพืช อันนี้ก็ไม่เถียง เพราะใครเรียนเคมีอินทรีย์มาก็รู้กันทั้งนั้นว่าโมเลกุลไม่มีขั้วละลายได้ดีในตัวทำละลายที่เป็นโมเลกุลไม่มีขั้ว
(ง) อาหารบรรจุกล่องโฟมจะปนเปื้อนสไตรีน ดังนั้นการบริโภคอาหารบรรจุกล่องโฟมจะทำให้เป็นมะเร็งเร็วขึ้น

ข้อมูลในข้อ (ง) ผมมองว่าเป็นข้อมูลที่น่าสงสัยมากที่สุด เพราะยังไม่เคยเห็นผลการทดลองพิสูจน์ เป็นเพียงแค่ข้อสรุปที่เกิดขึ้นจากการนำเอาข้อ (ก)-(ค) มายำรวมกันเพื่อให้ได้ข้อ (ง)

ผมมองว่าประเด็นมันอยู่ตรงที่หลังจากนำสไตรีนมาผลิตเป็นพอลิสไตรีน และนำพอลิสไตรีนมาผลิตเป็นกล่องโฟมอีกทีนั้น
(๑) มันยังมีสไตรีนหลงเหลืออยู่ในกล่องโฟมหรือไม่ และ
(๒) ถ้ามันมีสไตรีนหลงเหลือติดมากับกล่องโฟม สไตรีนดังกล่าวอยู่ในรูปที่เป็นพิษและสามารถรั่วไหลออกมาปะปนกับอาหารจนก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภคได้หรือไม่
ถ้ามันมีการพิสูจน์ว่าข้อ (๒) มันเป็นจริง มันก็จะเป็นการปิดฉากการใช้กล่องโฟมในการบรรจุอาหารไปเลยครับ ทดลองพิสูจน์กันเลยดีกว่าว่าข้อ (๒) มันเป็นจริงหรือไม่ ถ้าพบว่ามันเป็นจริงก็สามารถที่จะออกกฎหมายบังคับการใช้กล่องโฟมในการบรรจุอาหารได้เลย ไม่ต้องมาเสียเวลารณรงค์

เราลองมาพิจารณาโลหะโครเมียม (chromium - Cr) เป็นตัวอย่างก็ได้ครับ โครเมียมจัดเป็นโลหะหนักที่มีพิษสูงตัวหนึ่ง จำให้ต้องมีการควบคุมปริมาณโครเมียมในน้ำทิ้งอย่างเข้มงวด แต่วัสดุชนิดหนึ่งที่มีโลหะโครเมียมผสมอยู่ในปริมาณสูงและมีการนำมาใช้งานกันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและยาคือเหล็กกล้าไร้สนิม (stainless steel) เบอร์ 316 หรือที่เรียกว่า SS-316 นั่นแหละครับ มันประกอบด้วยโครเมียมสูงถึง 18% (เหล็กกล้าไร้สนิมเบอร์ 304 หรือ SS-304 ที่นำมาทำเครื่องครัวใช้กันตามบ้านเรือนก็ประกอบด้วยโครเมียมถึง 18% เช่นกัน)

แต่ไม่ยักมีใครออกมาโวยวายว่าถ้าบริโภคอาหารหรือยาที่สัมผัสกับภาชนะใด ๆ ก็ตามที่ทำจากเหล็กกล้าไร้สนิม จะได้รับโลหะโครเมียมเข้าสู่ร่างกาย

ทีนี้ถ้าผมเขียนเรื่องพิษของโครเมียมดูบ้าง โดยจะเขียนแบบข้อ (ก) - (ง) ในหน้าที่แล้วดูบ้างนะครับ

(i) โครเมียมเป็นโลหะหนักที่เป็นพิษ (อันนี้เป็นที่รู้กันทั่วไปในทางการแพทย์)
(ii) โครเมียมใช้ในการผลิตเหล็กกล้าไร้สนิมเบอร์ 304 และ 316 (อันนี้เป็นที่รู้กันทั่วไปในทางวิศวกรรม)
(iii) ไอออนของโครเมียมที่เป็นพิษนั้นสามารถละลายน้ำได้ (อันนี้เป็นที่รู้กันทั่วไปในทางด้านสิ่งแวดล้อม)
(iv) อาหารที่บรรจุในภาชนะทำจากเหล็กกล้าไร้สนิมจะปนเปื้อนโครเมียม ดังนั้นการบริโภคอาหารบรรจุในภาชนะที่ทำจากเหล็กกล้าไร้สนิมจะทำให้ได้รับโครเมียมเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น (คือตายเร็วขึ้น)

ข้อ (iv) ได้จากการนำข้อ (i) - (iii) มายำรวมกันแบบเดียวกับข้อ (ง) ของกรณีสไตรีน ว่าแต่เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้แล้วความรู้สึกของคุณระหว่างข้อสรุป (ง) กับ (iv) เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร

ตลาดนัดในหน่วยงานเขารณรงค์ให้เลิกใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร ผู้ค้าเขาก็เลยเปลี่ยนจากกล่องโฟมเป็นกล่องพลาสติกใส ร้านที่ผมซื้อกินเป็นประจำเขาก็เปลี่ยนจากกล่องโฟมเป็นกล่องพลาสติกใส แต่พอพลิกดูใต้กล่องว่ามันทำจากพลาสติกอะไร พบว่ามันคือ "พอลิสไตรีน" เหมือนเดิม เพียงแต่มาในรูปแบบที่แตกต่างกัน (รูปที่ ๑ และ ๒)
  
รูปที่ ๓ ลวดเย็บกระดาษที่ปัจจุบันนำมาใช้กับภาชนะบรรจุอาหารอย่างแพร่หลาย
  
ตกลงว่าไอ้ที่บอกว่ามันอันตรายคือ "โฟม" หรือ "สไตรีน" หรือ "พอลิสไตรีน" ตอนกล่าวหากล่องโฟมว่ามีสารพิษ ย่อยสลายยาก ก็เน้นไปที่สไตรีนที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตพอลิสไตรีนและนำมาทำเป็นกล่องโฟมอีกที แต่พอมันมาในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ใช่กล่องโฟม กลับมองไม่เห็นกัน

ตัวที่ผมเห็นว่าอันตรายมากกว่า โดยเฉพาะสำหรับเด็ก ๆ แต่ไม่ค่อยมีการรณรงค์ห้ามการใช้กันเท่าใดนักคือ "ลวดเย็บกระดาษ" ลวดเย็บกระดาษไม่ใช่สิ่งของที่จะต้องมีการสัมผัสกับอาหาร ดังนั้นมันจึงไม่มีมาตรควบคุมด้านสารพิษ ตัวลวดเองก็เห็น ๆ กันอยู่ว่ามันไม่ได้มีแต่เหล็ก แต่ยังมีการเคลือบผิวเอาไว้ด้วยเพื่อกันสนิมและให้มีสีต่าง ๆ สารที่นำมาเคลือบก็พิจารณาจากการใช้งานเพื่อการเย็บกระดาษเป็นหลัก ไม่ได้มีการพิจารณาเพื่อการนำมาใช้กับบรรจุภัณฑ์และมีการสัมผัสกับอาหารโดยตรง ตอนนี้ก็เห็นใช้กันเกร่อทั่วไปหมด ไม่ว่าจะเป็นกับกล่องชานอ้อย หรือกระทงใบตองธรรมชาติ (ไม่ว่าจะเป็นกระทงของหวานหรือของคาว) บอกตามตรงเลยว่าบางทีก็อยากสนับสนุนผู้ค้าที่ใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เช่น ใบตอง มาทำเป็นผลิตภัณฑ์บรรจุอาหาร แต่พอเห็นเขาใช้ลวดเย็บกระดาษในการเย็บใบตองแล้ว ก็ตัดใจไม่ซื้อ เพราะไม่อยากให้ตัวเองและครอบครัวเสี่ยงตายกับการกินลวดเย็บกระดาษและสารเคมีที่เคลือบลวดเย็บกระดาษเข้าไป

ตอนนี้ก็รอดูอยู่ว่าจะมีหน่วยงานไหนหรือจะมีใครทำ Inforgraphic รณรงค์เรื่องการไม่ใช่ลวดเย็บกระดาษกับบรรจุภัณฑ์อาหารหรือเปล่า เห็นมีแต่ของอย. ออกมาเมื่อหลายปีที่แล้ว แต่ก็ไม่เห็นมีใครสนใจรณรงค์ทำต่ออีก
  
รูปที่ ๔ หน้าเว็บข่าวเตือนอันตรายจากลวดเย็บกระดาษจากสำนักงานอาหารและยา
เป็นเรื่องปรกติที่ของใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่ของเก่านั้นมักจะโจมตีของเก่าว่าไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องปรกติที่ของใหม่ที่จะเข้ามาแทนควรจะต้องไม่มีปัญหาอย่างที่ของเก่ามี เช่นกรณีของกล่องชานอ้อยที่มีความพยายามผลักดันให้เข้ามาแทนที่กล่องโฟม พึงสังเกตหน่อยนะครับว่าเขาพยายามเข้ามาแทนที่ "กล่อง" แต่ไม่พยายามเข้าไปแทนที่ "ถ้ว" หรือ "แก้ว" ที่ใช้บรรจุอาหารที่เป็นพวกน้ำ ตรงนี้น่าตั้งคำถามนะครับว่าทำไม
  
แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้แปลว่าของใหม่ที่ถูกผลักดันให้เข้ามาแทนที่นั้นจะไม่มีข้อเสีย เพียงแต่เขาอาจจะละไว้ไม่กล่าวถึงหรือยังไม่มีใครคำนึงถึง ตรงนี้คงจะขอเปิดประเด็นสำหรับการพิจารณาเอาไว้ว่าจะจริงเท็จแค่ไหน การทำการเกษตรในบ้านเรานั้นมีการใช้สารเคมีไม่ว่าจะเป็นในรูปของปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชกันอย่างแพร่หลาย ในส่วนของผลิตภัณฑ์อาหารนั้นมีการตรวจสอบการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรที่ตกค้างอยู่ในอาหารอยู่เป็นประจำ แต่ในกรณีของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ไม่ได้นำไปใช้เป็นอาหาร แต่นำมาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีการสัมผัสกับอาหารโดยตรง เช่น "กล่องชานอ้อย" นั้นมีการตรวจสอบกันมากน้อยแค่ไหน ตรงนี้ยังไม่เคยเห็นข้อมูล (แต่ดูเหมือนถ้าเป็นตะเกียบไม้ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งจะเคยมีการตรวจสอบ)
  
ในบ้านเรานั้นก็มีการปลูกอ้อยในพื้นที่ปนเปื้อนโลหะหนักที่เป็นพิษต่อคน เพื่อให้ต้นอ้อยดูดซับโลหะหนักมาเก็บไว้ในลำต้น ซึ่งอ้อยที่ได้นั้นก็ต้องส่งไปยังโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ไม่ส่งไปยังโรงงานผลิตน้ำตาลเพื่อการบริโภค ในอุตสาหกรรมน้ำตาลเองก็นำเอาชานอ้อยไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตน้ำตาล (โรงงานต้องการความร้อนในการระเหยน้ำจากน้ำอ้อยเพื่อให้ได้น้ำตาลทราย) ดังนั้นคำถามที่น่าจะถามก็คือชานอ้อยที่นำมาผลิตกล่องชานอ้อยนั้นมาจากไหน มีการตรวจสอบการปนเปื้อนสารพิษหรือไม่ โดยหน่วยงานใด เพราะจะว่าไปแล้วพวกสารเคมีทางการเกษตรที่ใช้กันนั้นมีความเป็นพิษต่อร่างกายที่รุนแรงไม่น้อยหน้าใครเช่นกัน

ผมไม่ว่าอะไรนะ ถ้าจะรณรงค์ให้ใช้กล่องชานอ้อยแทนการใช้กล่องโฟม ด้วยเหตุผลที่ว่ามันย่อยสลายโดยธรรมชาติได้ง่ายกว่ากล่องโฟม แต่ด้วยเหตุผลที่ว่ามัน "ปลอดภัยมากกว่า" นี่ซิ ที่ผมสงสัยอยู่ ด้วยเหตุผลนี้แหละทำให้ผมตั้งชื่อ Memoir ฉบับนี้ว่า "ใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร ปลอดภัยกว่า"

หน่วยงานวิชาการใด ๆ ที่มีหน้าที่ (หรือคิดว่ามีหน้าที่) รับผิดชอบต่อความปลอดภัยของคนในสังคมนั้น เวลาที่จะประกาศเชิญชวนหรือออกข้อห้ามใด ๆ ผมเห็นว่าควรที่จะสามารถชี้แจงเหตุผลได้ครบถ้วน รอบด้าน ไม่ใช่นำเอาสิ่งที่แชร์กันต่อ ๆ กันมาทางอินเทอร์เน็ต (ซึ่งไม่รู้ว่าเริ่มต้นที่ไหน) มาใช้เป็นเหตุผลโดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือความสมเหตุสมผลของข้อสรุป เพราะถ้าเกิดความผิดพลาดหรือไม่สามารถตอบข้อโต้แย้งได้ เหตุการณ์นั้นก็อาจมากเพียงพอที่จะทำลายความน่าเชื่อถือที่หน่วยงานนั้นสะสมมาเป็นเวลานานได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น