ยังไม่ทันจะบ่ายสองโมงครึ่ง
ผมเดินผ่านด้านล่างของอาคาร
แม่บ้านก็บอกว่าเมื่อสักครู่มีเหตุระเบิดและมีควันลอยออกมาจากห้องแลปที่อยู่บนชั้น
๓ อันที่จริงตอนได้ยินแม่บ้านแจ้งก็รู้สึกแปลกใจอยู่เหมือนกัน
เพราะก่อนหน้านี้ผมเองก็อยู่ที่อาคารใกล้
ๆ กัน และหันออกไปทางด้านอาคารที่เกิดเหตุซะด้วย
แต่ไม่ยักจะได้ยินเสียงอะไร
ในฐานะที่ต้องสอนหนังสือในห้องแลปนั้น
ก็เลยอดไม่ได้ที่จะแวะขึ้นไปดูซะหน่อย
รูปที่
๑ ตำแหน่งที่เกิดเหตุอยู่ตรงจุดที่ลูกศรสีเหลืองชี้
สถานที่เกิดเหตุคือตู้ดูดควัน
มีเหตุการณ์ไฟไหม้ทางด้านบน
แต่เจ้าหน้าที่และนิสิตที่ทำแลปอยู่บริเวณนั้นได้ช่วยกันดับไฟเรียบร้อยแล้วด้วยการใช้เครื่องดับเพลิงแบบ
"ผงเคมีแห้ง"
ฉีด
ทำให้ผมเดาว่าฝุ่นผงที่เกิดจากผงเคมีแห้งที่ฉีดออกมานี้
(และมันลอยออกไปตามลมที่พัดลมดูดอากาศดูดออกไป)
เป็นตัวที่ทำให้คนที่อยู่นอกอาคารเข้าใจผิดว่ามันเป็นควันที่เกิดจากเพลิงไหม้
มีคนบอกผมว่ามันมีทั้งควันขาวและควันดำ
แต่ผมคิดว่าตัวควันดำคือควันที่เกิดจากเพลิงไหม้
(พลาสติกที่เป็นตัวต้นเพลิง)
ส่วนควันขาวคือผงเคมีแห้งจากเครื่องดับเพลิง
รูปที่
๒ กล่องแยกสายที่ทำจากพลาสติก
(ในกรอบสีเหลือง)
ที่เป็นจุดเกิดเหตุ
ตอนแรกที่ขึ้นไปถึงก็มีคนบอกว่าไฟไหม้มอเตอร์พัดลมดูดอากาศ
ผมได้ยินแล้วก็งง
เพราะเท่าที่ทราบก็คือตัวตู้ดูดควันที่ใช้ในห้องแลปนั้นมันมีพัดลมดูดอากาศจริง
แต่มันติดตั้งอยู่บนดาดฟ้าตึก
(ตึกสูง
๔ ชั้น)
ก็เลยปีนตรวจสอบดูก็พบว่าด้านบนนั้นไม่ได้มีพัดลมดูดอากาศหรือมอเตอร์ไฟฟ้าใด
ๆ และตัวที่เป็นต้นเหตุเพลิงไหม้ก็คือ
"กล่องแยกสายไฟ"
นิสิตที่กำลังทำซีเนียร์โปรเจคอยู่ในห้องแลปในขณะนั้นเล่าให้ฟังว่า
เขาได้ยิน "เสียง"
ดังผิดปรกติ
จึงไปตามครูผู้ดูแลห้องแลปให้มาตรวจสอบ
ก็ทันเวลากับที่เพลิงเริ่มลุกไหม้พอดี
อันที่จริง "เสียง"
ที่เกิดจากประกายไฟฟ้านั้นมันจะแตกต่างไปจากเสียงที่เกิดจากการสั่นทางกลอยู่
แต่ตรงนี้ก็คงต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้ที่ได้ยินเสียงดังกล่าวด้วยว่าเสียงที่ได้ยินนั้นเป็นเสียงที่เกิดจากประกายไฟฟ้าหรือการสั่นทางกล
ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด
ระบบไฟฟ้าของตู้ดูดควันตัวนี้แยกเป็นสองส่วน
ส่วนแรกจะมีสายไฟฟ้าจ่ายกระแสไฟฟ้าผ่านสวิตช์ตรงไปยังมอเตอร์ของพัดลมดูดอากาศที่อยู่บนดาดฟ้า
สวิตช์จ่ายกระแสไฟฟ้าให้มอเตอร์ของพัดลมนี้ถูกควบคุมอีกทีจากสวิตช์ปิด-เปิดที่ติดตั้งอยู่ทางด้านหน้าตัวตู้ดูดควัน
เวลาที่เรากดสวิตช์ที่หน้าตู้ดูดควัน
มันจะส่งสัญญาณไปทำให้สวิตช์จ่ายไฟฟ้าให้กับมอเตอร์เปิดหรือปิดวงจร
รูปที่
๓ ภาพขยายของกล่องแยกสายที่ได้รับความเสียหาย
ส่วนที่สองนั้นเป็นระบบไฟฟ้าที่ต่อเข้ากล่องแยกสายเพื่อแยกออกไปเป็นไฟฟ้าสำหรับ
ไฟแสงสว่าง สวิตช์ควบคุมการทำงานของพัดลมดูดอากาศ
และเต้ารับ
ดังนั้นจะว่าไปแล้วในตัวกล่องรับสายไฟนั้นมันไม่มีชิ้นส่วนเคลื่อนไหวหรือที่เราเรียกว่า
moving
part ใด ๆ
ในกรณีของอุปกรณ์ที่มีชิ้นส่วนเคลื่อนไหวนั้นมันมักจะมีการสั่นสะเทือนตามมาด้วย
เพียงแต่จะมากหรือน้อยให้เรารู้สึกได้หรือไม่
การสั่นสะเทือนนี้ส่งผลต่อการยึดด้วยนอต
เพราะมันสามารถทำให้นอตที่ขันไว้ไม่แน่นมากพอเกิดการคลายตัวจนหลวมได้
และถ้านอตตัวนั้นเป็นนอตที่ใช้ยึดเชื่อมต่อขั้วสายไฟฟ้า
การคลายตัวของนอตนั้นก็จะทำให้ขั้วโลหะของขั้วไฟฟ้าสัมผัสกันไม่เต็มพื้นที่
ความต้านทานกระแสไฟฟ้าจะสูงขึ้น
ทำให้ขั้วสัมผัสนั้นร้อนจัด
หรืออาจเกิดประกายไฟฟ้ากระโดยข้ามระหว่างผิวโลหะได้
แต่ในกรณีนี้จากการปรึกษากับผู้ที่เป็นวิศวกรไฟฟ้า
ทำให้สงสัยว่าเนื่องจากกล่องแยกสายไฟดังกล่าวติดตั้งมาตั้งแต่ปีพ.ศ.
๒๕๔๖
(๑๒
ปีที่แล้ว)
และไม่เคยได้รับการตรวจสอบ
อาจเป็นไปได้ว่าเป็นการสั่นที่เกิดจากความถี่ของไฟฟ้ากระแสสลับ
(แบบที่ทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าส่งเสียงดังหึ่ง
ๆ ออกมาได้)
พอเวลาผ่านไปนานเข้าก็เลยทำให้ขั้วต่อสายไฟบางขั้วนั้นคลายตัว
และสายเส้นนั้นบังเอิญอาจเป็นสายที่จ่ายไฟฟ้าไปยังเต้ารับ
(ดูจากที่มีสายไฟสามเส้น)
ประจวบกับในขณะนั้นมีการใช้เตาเผาอยู่พอดี
จึงทำให้มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านขั้วนั้นสูงจนทำให้พลาสติกที่เป็นลำตัวของกล่องแยกสายไฟร้อนจนลุกไหม้
ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงข้อสัณนิษฐานเบื้องต้นที่มีการพูดคุยกัน
ส่วนความจริงจะเป็นเช่นใดนั้นก็คงต้องรอการตรวจสอบจากช่างไฟฟ้าอีกที
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น